“เทียนวรรณ” หรือ ต.ว.ส.วัณณาโภ เป็นนามปากกาของ เทียน วัณณาโภ นักคิดนักเขียนและทนายความคนสำคัญ ผู้เขียนบทวิพากษ์ด้านนโยบายการค่างประเทศ ด้านเศรษฐกิจ และการศึกษา ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๖ เขาถูกจับขังลืมในคุกถึง ๑๖ ปีเศษโดยมีมีการไต่สวน แต่ก็ไม่ทำให้เทียนวรรณย่อท้อ เมื่อได้รับอิสรภาพก็ออกหนังสือพิมพ์ เขียนบทความวิพากษ์วิจารณ์สังคมยุคนั้น และช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมทางกฎหมาย กุหลาบ สายประดิษฐ์ นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ยกย่องเทียนวรรณว่า เป็น “บุรุษรัตน์ของสามัญชน”
เทียนวรรณ เป็นคนเกิดที่บางขุนเทียนในปลายรัชกาลที่ ๓ บิดาชื่อ เรืองสิงห์ มีเชื้อสายมอญ มารดาชื่อ โอลิต เป็นภาษาโปรตุเกส แปลว่า ส้มโอ มีชื้อสายโปรตุเกส
สมัยเป็นวัยรุ่น เทียนวรรณมีนิสัยเหมือนพ่อที่ชอบชกต่อยและดื่มสุรายาเมา แต่พออายุ ๑๖ บวชเป็นสามเณรที่วัดบวรนิเวศ ๑๓ เดือน แล้วสึกออกมาใช้ชีวิตท่องเที่ยวหาประสบการณ์ ติดเรือสินค้าไปทัศนศึกษาประเทศต่างๆในเอเชียอยู่หลายปี จนอายุ ๒๐ ก็กลับมาบวชเป็นพระที่วัดบวรฯอีก สึกออกมาเมื่ออายุ ๒๕ นิสัยก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน กลายเป็นคนชอบอ่าน ชอบคิด ชอบเขียน สนใจเหตุการณ์บ้านเมือง อยากจะช่วยคนที่ถูกข่มเหงเอารัดเอาเปรียบ และได้เปลี่ยนชื่อจาก “เทียน” เป็น “เทียนวรรณ”
เทียนวรรณศึกษากฎหมายด้วยตัวเองอย่างจริงจัง จนเปิดสำนักงานรับปรึกษาความ ช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม โดยเฉพาะจากการกระทำของข้าราชการ จึงทำให้เป็นที่เกลียดชังของผู้มีอำนาจ
เทียนวรรณมาพลาดท่าเมื่อเขียนฎีการ้องทุกข์ให้ราษฎรผู้หนึ่ง โดยไม่ได้ขออนุญาตต่อกระทรวงวังตามกฎหมายก่อน จึงถูกจับในข้อหาหมิ่นตราคชสีห์ ถูกโบย ๕๐ ทีและถูกกลั่นแกล้งส่งขังลืมในคุกโดยไม่มีการไต่สวน เทียนวรรณใช้ชีวิตในคุกด้วยการเขียนหนังสือพร้อมวิพากษ์วิจารณ์การเมืองและสังคมยุคนั้นไว้ตลอด
ถูกขังลืมตั้งแต่อายุ ๔๐ เศษจนอายุ ๕๗ ก็ได้พบอิสรภาพอย่างไม่คาดฝัน เมื่อกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ สำเร็จการศึกษากลับมาเข้าปรับปรุงกิจการศาล พอไปตรวจคุกก็ได้พบเทียนวรรณ สอบถามแล้วทรงทราบเรื่องที่ถูกกลั่นแกล้ง จึงรับสั่งให้ปล่อยตัวในทันที
กรมหลวงราชบุรีฯทรงชวนให้ทำงานด้วย แต่เทียนวรรณปฏิเสธ มีผู้อุดหนุนให้เปิดสำนักช่วยเหลือประชาชนทางกฎหมายขึ้นที่ถนนตะนาว ในชื่อ “ออฟฟิศอรรศนานุกูล”
ในปี ๒๔๔๕ ก็ได้ออกหนังสือพิมพ์รายปักษ์ชื่อ “ตุลวิภาคพจนกิจ” นำข้อเขียนที่เขียนไว้ในคุกออกเผยแพร่ และเรียกร้องให้คนไทยสนใจการค้า ไม่ใช่มุ่งแต่รับราชการอย่างเดียว แต่ในปี ๒๔๔๙ ก็ต้องปิดฉากลงเพราะหมดทุน
ในปี ๒๔๕๑ เทียนวรรณรวบรวมทุนออกหนังสือเล่มใหม่อีก เป็นรายเดือนในชื่อ “ศิริพจน์ภาค” วิจารณ์สังคมไทยในยุคนั้น เช่น การมีเมียหลายคน การเล่นการพนัน การรับสินบน ทั้งยังเสนอแนะให้รัฐบาลตั้งโรงเรียนวิชาแพทย์ วิชาช่าง ตัดถนน สร้างทางรถไฟ และการไปรษณีย์ เพื่อการพัฒนาประเทศ เรียกร้องออกกฎหมายเลิกทาส ห้ามสูบฝิ่น และบ่อนการพนัน
เทียนวรรณมีความคิดก้าวไกลล้ำยุค ทั้งยังเรียกความคิดของตัวว่าเป็น “ความฝันละเมอ” แต่การเขียนทำนายเหตุการณ์ล่วงหน้าของเทียนวรรณเป็นสิ่งที่น่าคิด อย่างที่เขียนไว้ในบทวิจารณ์เรื่องหนึ่งว่า
“เราควรจะเขียนคำทำนายไว้เสียทีเดียวว่า ญวน เขมร ลาว คงจะไม่อยู่ในอำนาจของฝรั่งเศสไปได้ในภายหน้า เพราะความคิดของคนญี่ปุ่นที่เขาคิดจะรักษาตัวเขา จำต้องคิดทอดเทหาท่าทางและกำลังพวกเขาให้มั่นคง แต่คงไม่คิดเป็นจุลจักร คงจะคิดอย่างสมัครสมานให้ประเทศติดต่อกันด้วยไมตรี ยกให้ญี่ปุ่นเป็นสมอง จีนเป็นทหาร ไทยเป็นเสบียง เมื่อสามประเทศมีไมตรีสนิทกันแล้ว และซ้ำมีสัญญาจะช่วยเหลือกัน และบำรุงกันอีกชั้นหนึ่ง คนฉลาดทั้งหลายในประเทศยุโรปก็ต้องรู้สึกว่า จะขู่ตะวันออกต่อไปไม่ได้”
เทียนวรรณเป็นตัวแทนของความคิดสมัยใหม่ ที่จุดประกายให้ปัญญาชนสยาม ในยุคที่บ้านเมืองกำลังเปลี่ยนโฉม ให้ติดตามความก้าวหน้าของโลก และพัฒนาสังคมให้มีเสรีภาพ เสมอภาค และความชอบธรรมมากขึ้น
เทียนวรรณต่อสู้เพื่ออุดมการณ์โดยไม่ย่อท้อ จนสิ้นอายุขัยในปี ๒๔๕๘ ขณะอายุได้ ๗๓ ปี