xs
xsm
sm
md
lg

จ่อเก็บภาษีน้ำ! ชาวนาลุ้นก้ำกึ่ง แค่ไหนถึงต้องจ่าย “สนามกอล์ฟ” อ่วมสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ลุ้นร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ มีผลบังคับใช้อีก 1 - 2 เดือนข้างหน้า ชาวนาสับสน ยังก้ำกึ่งระหว่าง “การเกษตร - เลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ” แค่ไหนถึงกลายเป็น “เพื่อการพาณิชย์” พบชาวนาที่มีไร่จำนวนมากส่อจ่ายอ่วม แกนนำลุ่มน้ำระบุ ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ควรยกเว้นไปเลย ไม่เช่นนั้นซ้ำเติมเกษตรกร

รายงาน ...

ถือเป็นประเด็นที่หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงข่าวเรื่องนี้ และทำเอาบรรดาเกษตรกรต่างร้อนๆ หนาวๆ ว่าจะต้องควักเงินเพิ่มหรือไม่ เมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมจัดเก็บค่าใช้น้ำจากแหล่งน้ำ

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ เปิดเผยถึงการจัดทำร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรน้ำ โดยจะเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากน้ำสาธารณะ แม่น้ำ ลำคลองบึง แหล่งน้ำใต้ดิน ทะเลสาบ และแหล่งน้ำตามธรรมชาติอื่นๆ ได้แก่

ประเภทที่ 1 ใช้น้ำเพื่อการดำรงชีพ ไม่ต้องเสียค่าใช้น้ำ

ประเภทที่ 2 ใช้น้ำด้านการเกษตรเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ เก็บค่าน้ำไม่เกิน 50 สตางค์ต่อ ลบ.ม.

ด้านการท่องเที่ยว โรงแรม สถานที่พักผ่อน ร้านอาหาร เก็บค่าน้ำ 1 - 3 บาทต่อ ลบ.ม.

และ ธุรกิจสนามกอล์ฟ การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปาสัมปทานเก็บค่าน้ำไม่เกิน 3 บาทต่อ ลบ.ม.

ประเภทที่ 3 สำหรับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การผลิตพลังงานไฟฟ้าขนาดใหญ่ และกิจการอื่นๆ ที่ใช้น้ำในปริมาณมากตามมติของ กนช. เก็บค่าน้ำไม่ต่ำกว่า 3 บาทต่อ ลบ.ม.

ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คาดว่า ในช่วงเดือนตุลาคม ถึงพฤศจิกายน 2560 ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ จากนั้นภายใน 180 วัน จะมีการออกกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้อง

โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ จะอยู่ภายใต้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

สำหรับเหตุผลที่รัฐบาลต้องเรียกเก็บค่าใช้น้ำ เพราะปัจจุบันประเทศไทยเข้าสู่ความเสี่ยงเรื่องทรัพยากรน้ำรัฐบาลจึงต้องมีกลไกการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำที่มีประสิทธิภาพ

การจัดสรรน้ำจึงเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ ซึ่งระบบการจัดสรรน้ำจะสร้างสิทธิในการเข้าถึงน้ำสาธารณะ ทั้งที่รัฐจัดสร้าง หรือพัฒนาขึ้นเพื่อให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม เมื่อดูความคืบหน้าร่าง พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ซึ่งเคยเสนอตั้งแต่ปี 2558 และอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พบว่า ในมาตรา 39 ได้แบ่งการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะ ไว้ 3 ประเภท คือ

การใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อดำรงชีพ การอุปโภคบริโภคในครัวเรือน การเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ การอุตสาหกรรมในครัวเรือน และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย

การใช้น้ำประเภทที่สอง ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการเกษตร หรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว การผลิตพลังงานไฟฟ้า การประปา และกิจการอื่น

การใช้น้ำประเภทที่สาม ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ ที่ใช้น้ำปริมาณมาก หรืออาจก่อให้เกิดผลกระทบข้ามลุ่มน้ำหรือครอบคลุมพื้นที่อย่างกว้างขวาง

อย่างไรก็ตาม รายละเอียดการใช้น้ำทั้งสามประเภทจะถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาชนทั่วประเทศอีกครั้ง โดยเฉพาะเรื่องอัตราการเก็บค่าน้ำ ก่อนจะออกเป็นกฎกระทรวง

ขณะที่ความไม่ชัดเจนในจัดเก็บค่าน้ำยังคงเกิดความสับสน เพราะในร่าง พ.ร.บ. ยังคงก้ำกึ่งระหว่าง “การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ” ซึ่งยังไม่ต้องเสียค่าน้ำ จะจำกัดพื้นที่กี่ไร่ อย่างไรจึงจะไม่เสีย

หากเป็นชาวนามีพื้นที่ไม่กี่สิบไร่ อาจจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะถือว่าปลูกข้าวเพื่อยังชีพ

แต่สำหรับชาวนาที่มีที่นามากกว่า 50 ไร่ ซึ่งถือว่า “มีอันจะกิน” อาจจะกระทบ เพราะรัฐถือว่าใช้น้ำเพื่อการพาณิชย์

โดยปกติการทำนาในพื้นที่เขตชลประทาน พบว่าในช่วงการทำนาปรัง เกษตรกรต้องใช้น้ำอย่างน้อย 1,200 ลบ.ม. ต่อ 1 ไร่ เพราะต้องมีน้ำขังในนาตั้งแต่เริ่มดำนาจนถึงข้าวออกรวง

หากการทำนา 1 ครั้ง ต้องใช้น้ำ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อไร่ เมื่อ พ.ร.บ. ทรัพยากรน้ำมีผลบังคับใช้ และมีการเรียกเก็บค่าใช้น้ำจากเกษตรกร จะต้องเสียเงินในการทำนา 1 รอบ 600 บาทต่อไร่

หากมีพื้นที่นา 50 ไร่ จะต้องเสียเงินค่าน้ำมากถึง 30,000 บาทเลยทีเดียว

นอกจากจะต้องพบกับราคาข้าวตกต่ำ ต้นทุนการผลิตทั้งค่าปุ๋ย ค่ายาสูงขึ้นแล้ว ยังต้องจ่ายค่าใช้น้ำหลักหมื่นบาทอีก เห็นแบบนี้คงต้องกุมขมับ

อีกธุรกิจหนึ่งที่ได้รับผลกระทบไม่แพ้กัน คือ “ธุรกิจสนามกอล์ฟ”

โดยหากคำนวณสนามขนาด 18 หลุม 1,200 ไร่ ใช้น้ำรดสนามหญ้าและกิจกรรมอื่นๆ 5,000 ลบ.ม.ต่อวัน เมื่อสนามกอล์ฟจะต้องจ่ายค่าใช้น้ำ 3 บาทต่อ ลบ.ม.

คำนวณแล้ว สนามกอล์ฟจะเสียค่าใช้น้ำวันละ 15,000 บาท

สุดท้าย เจ้าของสนามกอล์ฟจะต้องผลักภาระไปยังผู้ใช้บริการอยู่ดี โดยเฉพาะ “ค่ากรีนฟี” ที่ต้องเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ส่วนศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้า โรงแรม นิคมอุตสาหกรรม แม้กระทั่ง อาบอบนวด เป็นธุรกิจที่ไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากใช้น้ำประปาให้บริการลูกค้าเป็นหลัก มีส่วนน้อยมากที่ใช้น้ำจากธรรมชาติ เช่น น้ำพุร้อน น้ำแร่จากภูเขา

คงต้องจับตาปฏิกิริยาจากเกษตรกร โดยเฉพาะชาวนาว่าจะคิดอย่างไรกับการเก็บค่าใช้น้ำ เนื่องจากความไม่ชัดเจนของกฎหมาย ที่บอกแต่เพียงว่า “การเกษตรหรือการเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ”

ขณะที่ นายเตชะพัฒน์ มะโนวงค์ เลขาธิการสภาลุ่มน้ำอิง ได้ออกมาคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ ระบุว่า กลุ่มที่เกษตรกรรายย่อยทั่วไป เช่น ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ใช้น้ำทำการเกษตร ก็เพื่อดำรงชีพ

“ไม่ได้ใช้น้ำเพื่อประกอบธุรกิจ หรือภาคอุตสาหกรรม ควรได้รับการยกเว้น ไม่เช่นนั้นจะยิ่งเป็นการซ้ำเติมวิถีชีวิตเกษตรกรให้ลำบากมากขึ้น”

แต่ที่แน่ๆ ปัจจุบันการบริหารจัดการน้ำยังคงมีความบกพร่องทุกปี ปัญหาน้ำท่วมในฤดูฝน ปัญหาน้ำแล้งในฤดูร้อน ยังคงวนเวียนเป็นวัฎจักรไม่จบสิ้น โดยที่กรมชลประทานซึ่งรับผิดชอบโดยตรงยังคงเป็นฝ่ายตั้งรับตลอด

ท้ายที่สุด หากการบูรณาการองค์กรบริหารจัดการน้ำอย่าง กนช. รวมทั้งยังจัดเก็บค่าน้ำจากเกษตรกร จากชาวนาแล้ว ถ้าปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งยังไม่ได้แก้ไขอย่างยั่งยืนอีก ก็ไม่รู้จะว่ายังไงแล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น