xs
xsm
sm
md
lg

สู้เผด็จการสไตล์“เฒ่าสารพัดพิษ”!ลงแต่ข่าวไร้สาระเย้ยเซ็นเซอร์ จนผู้มีอำนาจอึดอัดเอง!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค


ในระยะ ๕๐-๖๐ ปีมานี้ เรื่องราวของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้รับการกล่าวขานมาตลอด ในฐานะนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ศิลปิน และนักการเมืองระดับนายกรัฐมนตรี มีบทบาทเด่นอยู่ในสังคม และมีสมญานามมากมาย

สมญานามที่ดูจะคุ้นหูของคนทั่วไป ก็คือ “เสาหลักประชาธิปไตย” และ “เฒ่าสารพัดพิษ”

แม้คำหลังจะฟังไม่ไพเราะไปหน่อย แต่ก็ดูจะเหมาะกับสไตล์การต่อสู้ของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งแผ่นดินผู้นี้

อย่างในปี ๒๔๙๐ ที่จอมพล ป.พิบูลสงคราม หลุดพ้นคดีอาชญากรสงคราม กลับมาครองอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง แต่ “เสาหลักประชาธิปไตย” ซึ่งทำหน้าที่ผู้อำนวยการและนักเขียนคอลัมน์ประจำของ นสพ.สยามรัฐ ก็ไม่ยอมก้มหัวให้

ความขมขื่นของ นสพ.ในยุคเผด็จการครองเมืองอย่างหนึ่งก็คือ “การเซนเซอร์” โดย นสพ.รายวันที่เข้าหน้าเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะต้องส่งต้นฉบับไปให้เจ้าพนักงานตรวจข่าวที่ตั้งขึ้นมาเซนเซอร์ก่อนที่จะเอาไปขึ้นแท่นพิมพ์ เป็นผลให้ นสพ.ที่วางตลาดในเช้าวันต่อมามีหน้าขาวแหว่งๆไปตามกัน เพราะถูกเซนเซอร์ข่าวที่คาดว่าจะขัดอารมณ์ท่านผู้นำออกไป

ในวันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๔ รัฐบาลได้ประกาศกฎอัยการศึกและประกาศเซนเซอร์ นสพ. ทำให้ นสพ.ในฉบับที่ ๔ กรกฎาคมต้องหน้าขาวกันเป็นแถว รวมทั้งสยามรัฐด้วย ฉนั้นในฉบับวันที่ ๕ กรกฎาคม สยามรัฐจึงล้อมกรอบไว้ในหน้า ๑ ด้วยข้อความว่า

แถลงการณ์ต่อท่านผู้อ่าน

เนื่องจากหนังสือพิมพ์สยามรัฐได้รับคำสั่งจากเจ้าพนักงานตรวจข่าว ให้มีการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์นี้ ในเวลาที่มีการใช้กฎอัยการศึก ข้าพเจ้าจึงขอเรียนให้ทราบทั่วกันว่า ข้าพเจ้าจะงดไม่เขียนข้อความใดๆ ลงในหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จนกว่าเหตุการณ์จะคืนสู่ปกติ และมีการเลิกใช้กฎอัยการศึก ข้าพเจ้าเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องใช้กฎอัยการศึกในขณะนี้ และข้าพเจ้าเคารพในคำสั่งของเจ้าพนักงานอันชอบด้วยกฎหมาย แต่ขณะเดียวกัน....(ถูกเซนเซ่อร์)....

คึกฤทธิ์ ปราโมช

จากนั้น นสพ.สยามรัฐฉบับวันที่ ๖ กรกฎาคม ก็ลดจาก ๘ หน้าราคา ๗๕ สตางค์ เหลือเพียง ๔ หน้าราคา ๕๐ สตางค์ และเปลี่ยนสไตล์พาดหัวไปเป็นเรื่องไร้สาระ เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกเซนเซอร์ แต่ปรากฎว่าข่าวและพาดหัวของ นสพ.สยามรัฐนี้ กลับทำให้คนฮือฮากันไปทั้งประเทศ

สยามรัฐฉบับวันที่ ๗ กรกฎาคมนอกจากจะเสนอข่าวประหลาดๆ แล้ว นี้ในล้อมกรอบบนสุดด้านซ้าย “ในฉบับวันนี้..”ที่เคยประกาศว่ามีเรื่องอะไรในฉบับบ้างนั้น กลับมีข้อความว่า

“ไม่มีเรื่องเหล่านี้”

บทนำ คอลัมน์สักวา

เก็บเล็กผสมน้อย
โดย คึกฤทธิ์ ปราโมช
แปลกแต่จริง สี่แผ่นดิน
ปัญหาประจำวัน

ซึ่งคอลัมน์เหล่านี้มีคนอ่านติดตามกันมาก โดยเฉพาะคอลัมน์ตอบปัญหาประจำวัน ของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ และนวนิยายสนั่นเมืองเรื่อง “สี่แผ่นดิน” ซึ่งเพิ่งลงได้ไม่กี่ตอนและมีคนเริ่มติดแล้ว คนที่เป็นแฟนจึงพากันเสียอารมณ์ไปตามกันและพากันสาปแช่ง

ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้สาปแช่งคนเขียนและ นสพ.สยามรัฐ

ในฉบับวันที่ ๘ กรกฎาคม สยามรัฐก็ล้อมกรอบที่หน้า ๑ อีกว่า

ท่านผู้อ่านเรื่อง
“สี่แผ่นดิน”
ตามที่ได้ติดต่อถามข่าวเรื่องนี้มาเป็นอันมากนั้น ผู้เขียนขอขอบพระคุณ แต่ขอเรียนให้ทราบว่า เมื่อทางการเลิกตรวจข่าวหนังสือพิมพ์ “สยามรัฐ” เมื่อใด ก็จะได้ลงต่อต่อไปทันที ขอไห้โปรดอดใจรอระหว่างนี้ด้วย เราเข้าใจว่าคงไม่นานนัก.

สยามรัฐยังคงพาดหัวข่าวที่ทำให้คนฮือฮากันต่อไป อย่างในฉบับวันที่ ๑๐ กรกฎาคม ๒๔๙๔ ได้เสนอข่าวด่วนที่ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์รายงานมาเองจากหัวหินว่า พระอาทิตย์ที่หัวหินขึ้นทางทะเล และตกทางภูเขา ซึ่งผิดกับที่ศรีราชาซึ่งพระอาทิตย์ขึ้นทางภูเขา ตกทางทะเล สงสัยจะมีพระอาทิตย์ ๒ ดวง แต่ยืนยันว่าโลกยังกลมอยู่เหมือนเดิม เพราะเรือกลไฟที่วิ่งเข้าหาฝั่งนั้น จะเห็นควันก่อนอื่น ต่อมาจึงเห็นปล่องและเสากระโดง แสดงว่าโลกกลม

หรืออย่างในฉบับวันที่ ๑๗ กรกฎาคมต่อมา ลงข่าวว่าพระนอนมา ๑๐๐ ปีแล้วยังไม่ยอมลุก ก็จะลุกได้ยังไงในเมื่อเป็นพระพุทธไสยาสน์

แต่แล้วการเสนอข่าวสไตล์เยาะเย้ย และงดการเสนอเรื่องที่คนอ่านเรียกร้อง เป็นการใช้คนอ่านกดดันการคุกคามเสรีภาพของหนังสือพิมพ์ ก็ถูกกดดันเข้าบ้าง โดยข่าวไร้สาระของสยามรัฐก็ยังถูกเซนเซอร์ แม้แต่ล้อมกรอบ “ในฉบับวันนี้..” ซึ่งใช้ประกาศว่า ในฉบับวันนี้ไม่มีเรื่องที่คนอ่านติดใจ ก็ถูกเซนเซอร์ด้วย ไม่ยอมให้ประกาศ ต้องปล่อยให้เป็นกรอบขาว แต่วันต่อมาสยามรัฐก็มีข้อความในล้อมกรอบนี้ว่า

ช่องว่างนี้
ให้เช่าโฆษณา
เฉพาะในขณะที่ยังใช้ประกาศกฎอัยการศึก
โดยไม่เรียกเก็บค่าแป๊ะเจี๊ยะ

แล้วก็น่าแปลกใจที่ในวันรุ่งขึ้นก็มีคนเช่าทันที เพราะในขณะนั้นคนอ่านติดตามกันมากว่าเรื่องนี้จะลงเอยกันอย่างไร ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมชจะถูกจับหรือไม่ เพราะในยุคนั้นการตั้งข้อหาให้กับคนที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาลเป็นเรื่องง่ายมาก โดยเฉพาะข้อหากบถหรือมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ จะคล่องมือมาก

ฝ่ายที่ต้องเหนื่อยใจในเรื่องนี้ดูจะไม่ใช่สยามรัฐ เพราะในวงการหนังสือพิมพ์และคนอ่านที่ยังติดตามสยามรัฐ รวมทั้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ต่างก็เอาใจช่วยสยามรัฐกันทั้งนั้น

ในที่สุด สยามรัฐฉบับวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๙๔ หลังจากถูกเซนเซอร์มาเดือนครึ่ง ก็มีข้อความยาวเหยียดล้อมกรอบอยู่ในหน้า ๓ ว่า

เราคืนสภาพ
เราได้รับหนังสือจากปลัดกระทรวงกลาโหม ลงวันที่ ๒๐ เดือนนี้ แจ้งว่า ทางการได้ยกเลิกการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์สยามรัฐตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และเราก็ได้รับข่าวต่อมาว่า ทางการเห็นสมควรยกเลิกการตรวจข่าวหนังสือพิมพ์รายวันฉบับอื่นๆ หลายฉบับในวันเดียวกัน หนังสือของปลัดกระทรวงกลาโหมฉบับนี้มีความหมายแต่เพียงว่า หนังสือของเรามิต้องส่งต้นฉบับไปให้เจ้าพนักงานตรวจเหมือนแต่ก่อน แต่ในขณะที่ยังมีการใช้กฎอัยการศึกอยู่ในจังหวัดพระนครและธนบุรี เจ้าพนักงานตรวจข่าวก็ยังคงจะมีอยู่ หากหนังสือพิมพ์ฉบับใดลงข้อความหรือข่าวที่เจ้าพนักงานตรวจข่าวเห็นว่ากระทบกระเทือนต่อสถานะการณ์ เจ้าพนักงานก็ยังมีอำนาจจะสั่งให้ส่งต้นฉบับไปรับการตรวจได้อีก จึงจะเป็นหน้าที่ของหนังสือพิมพ์แต่ละฉบับจะต้องระมัดระวังตน เสนอข่าวและข้อความที่จะไม่กระทบกระเทือนดังกล่าวแล้ว

และ

...เราได้กล่าวมาแล้วว่า เสรีภาพเป็นสิ่งที่หนังสือพิมพ์พึงปรารถนา เพราะเสรีภาพนั้นเป็นปัจจัยสำคัญในการทำหนังสือพิมพ์ที่ดี เมื่อเสรีภาพนั้นถูกบั่นทอนลงด้วยเหตุผลใดๆ ก็ดี ปฏิกิริยาก็จะบังเกิดแก่หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต่างๆ กัน รายละเอียดแห่งปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องตรงกันทุกฉบับ ย่อมจะแตกต่างกันไปสุดแล้วแต่สติปัญญาและความรู้สึกของผู้ทำหนังสือพิมพ์นั้นๆ ปฏิกิริยาที่บังเกิดแก่เรานั้นเป็นอย่างไร ท่านผู้อ่านก็ย่อมจะทราบอยู่แล้วเป็นอย่างดี ธรรมะอันใดที่เราต้องการจะแสดงให้ประจักษ์ เราก็ได้แสดงไปแล้ว อย่างน้อยที่สุดท่านผู้อ่านก็จะเห็นได้โดยมิต้องใช้ปัญญาตริตรองว่า ในระหว่างที่ถูกตรวจข่าวนั้น เรามิใช่ตัวของเราเอง

นี่ก็เป็นสไตล์การต่อสู้แบบ “เฒ่าสารพัดพิษ” ผู้ไม่ยอมก้มหัวให้กับเผด็จการ จนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เสาหลักประชาธิปไตย”.
กำลังโหลดความคิดเห็น