xs
xsm
sm
md
lg

เลอค่าน่าภูมิใจ “สะพายย่าม เที่ยวผ้าซิ่นสุโขทัย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกิจกรรม “นุ่งผ้าซิ่น สะพายย่าม ตามเส้นทางมรดกโลก” (สุโขทัย -ศรีสัชนาลัย - ลับแล) ที่ผ่านมาได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดี จึงเกิดกิจกรรมต่อเนื่อง นั่นคือ “สะพายย่าม เที่ยวผ้าซิ่นสุโขทัย”

โดย “มานพ ยังประเสริฐ” ร่วมกับเพจ EJeab Academy โดยการสนับสนุนขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน สำนักงานพื้นที่พิเศษ อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย - ศรีสัชนาลัย - กำแพงเพชร (อพท. 4) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานสุโขทัย โรงแรมเลเจนด้า สุโขทัย จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อแสดงความเป็นมาของผ้าไทยตั้งแต่สมัยโบราณทั้งศรีสัชนาลัยและยุคสมัยต่างๆ

งานนี้มีเหล่ากูรูผ้างามและย่ามสวย มาร่วมกันถ่ายทอดความรู้และความเป็นมา นำโดย “มานพ ยังประเสริฐ” แห่งโรงแรมเลเจนด้า สุโขทัย ผู้ได้ฉายาว่า “นักเลงย่าม” แห่งบ้านมะขวิด

“งานสะพายย่าม เที่ยวผ้าซิ่นสุโขทัยครั้งนี้ เกิดจากที่เราเข้าไปทำงานในชุมชนครับ เพราะเราไปเจอเรื่องราวของวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีงานหัตถกรรมในเรื่องการทำย่าม ทำซิ่น แล้วก็มาคิดว่าจะทำยังไง เป็นการต่อยอดแล้วก็สร้างกระแสให้คนรู้จัก ในเรื่องของย่ามและซิ่นของสุโขทัยมากขึ้น เราโชคดีที่ได้พี่ๆ เพื่อนๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกัน

“จึงเกิดความคิดว่า เราน่าจะจัดงานเกี่ยวกับเรื่องผ้า เรื่องย่าม ที่สุโขทัย ทำให้คนได้รู้จักในเรื่องผ้าเรื่องย่ามกันมากขึ้น ซึ่งสิ่งสำคัญที่พวกเราคิดตรงกัน ก็คือว่า ครั้งหนึ่งในชีวิต ถ้ามีโอกาสได้ตอบแทนคุณแผ่นดินเกิด ได้ทำงานสนองสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถที่พระองค์ท่านได้ทำไว้ ได้มีโอกาสหยิบสิ่งนั้นๆ มาสานต่อ ก็น่าจะดีและมีประโยชน์ อันนี้คือแรงบันดาลใจของพวกเราครับ

“เพราะผมมองว่าผ้ากับวิถีชีวิตมันมาคู่กันตลอด ผืนผ้าเป็นของมีค่า ลวดลายต่างๆ เป็นของโบราณ สามารถนำมาทำประยุกต์ใหม่แล้วก็สวมใส่ได้ พวกน้องๆ ที่ทำของใหม่ขึ้นมา สามารถทำให้คนปัจจุบันกลับมาใส่ อีกอย่างยังทำให้คนต่างประเทศรู้สึกทึ่งในฝีมือของพวกเรา ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่แสดงเอกลักษณ์ของคนไทยครับ”

ด้านตัวแทนกูรูผ้าไทยรุ่นเก๋าอย่างอาจารย์สาธร โสรัจประสพสันติ พิพิธภัณฑ์ผ้าไทยวน ก็ได้พูดถึงงานที่จัดขึ้นครั้งนี้ว่า
“ผมทำพิพิธภัณฑ์ผ้าไทยวน ที่เป็นการรวบรวมประวัติชาวไทยญวนที่อพยพมาจากเมืองเชียงขวัญ แล้วลักษณะของการทอผ้าจริงๆ ไม่ใช่เอกลักษณ์ของเรา แต่จะเป็นเอกลักษณ์ของพม่า เป็นของเก่า 200 กว่าปี ผมไปได้มาจากเมืองเชียงกง ซึ่งงานนี้ก็จะนำมาโชว์ด้วยครับ ผมดีใจที่คนรุ่นใหม่หันมาสนใจเรื่องผ้ากันมากขึ้น ขอบคุณน้องๆ ที่มาช่วยกันอนุรักษ์ ขอบคุณที่ออกแบบผ้าให้เข้ากับยุคสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งทุกคนเก่งๆ ทั้งนั้นเลย”

กูรูผ้าไทยที่เป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อย่าง “กาญจนลักษณ์ ภาเรือง” เพจผ้าแฟชั่นนุ่งซิ่นอินเทรนด์ที่เอาผ้าตีนจกของจังหวัดสุพรรณบุรี ซิ่นทรงเครื่อง มาประยุกต์ให้เข้ากับสังคมปัจจุบันมากขึ้นมาจัดแสดงก็ได้พูดถึงเรื่องผ้าซิ่นไว้อย่างน่าสนใจ

“เราถือว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ เราได้เห็นมาตั้งแต่รุ่นคุณแม่ ก็ดีใจนะคะที่ได้เข้ามาในวงการผ้าและเห็นเด็กวัยรุ่นยุคใหม่หันมาสวมใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น ครูบาอาจารย์ก็สอนให้สังคมวัยรุ่นรุ่นใหม่รู้จักมีมารยาทมากขึ้น แล้วก็มีการสอนใส่ผ้าไทยกันมากขึ้น ก็ดีใจมากๆ ค่ะที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาศิลปวัฒนธรรม

“สิ่งสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเลยทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคืออยากตอบแทนคุณแผ่นดินแล้วก็สิ่งที่พวกเราทำคือมาถูกทางแล้ว เพื่อให้ความเป็นอัตลักษณ์ความเป็นไทยผ้าไทยดังไปทั่วโลกและเป็นที่นิยม หรืออย่างน้อยๆ ก็สร้างกระแสภายในประเทศ ให้คนหันกลับมาใช้ของไทยได้”

ไม่ต่างไปจาก “พลชา โกษะโยธิน” นักสะสมผ้าโบราณ เจ้าของร้านรสนิยมที่เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ก็ได้พูดเสริมขึ้นมาว่า
“วิถีชีวิตของไทย เป็นสิ่งที่จะต้องไปคู่กันหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารการกิน การแต่งตัว และวัฒนธรรมการท่องเที่ยว เพราะฉะนั้น เห็นไหมคะว่าทำไมฝรั่งถึงชอบมาเที่ยวเมืองไทย เพราะว่าเมืองไทยมีทุกอย่างครบหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นวัฒนธรรม อาหารการกิน หรือที่เที่ยวประวัติศาสตร์ต่างๆ ส่วนงานนี้เป็นงานที่คนรักผ้า คนรักวัฒนธรรมมารวมตัวกัน”

นอกจากนี้ยังมีอาจารย์อัครเดช นาคบัลลังค์ พิพิธภัณฑ์ผ้าโบราณสะบันงา เชียงใหม่ ที่เป็นนักสะสมผ้ามา 30 ปีที่วันนี้เอาผ้าในนามของผ้าไทยญวน ล้านนาไทย ที่เป็นทั้งผ้าของเจ้านาย ผ้าซิ่นเชียงแสนของจังหวัดลำปาง และจังหวัดเชียงใหม่มาจัดแสดงเป็นตัวอย่างให้ชมในงานนี้

“ผมก็ดีใจที่ได้มีนักสะสมผ้าหลายๆ คนทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก่ามาเจอกัน แล้วก็มาแลกเปลี่ยนคุณค่า ให้ความรู้กับคนที่มาชม ให้เห็นว่าผ้าเก่าโบราณเป็นยังไง นำมาประยุกต์แล้วเป็นยังไง สามารถเอามาสวมใส่ได้ในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ดีนะครับ เพราะว่าการเป็นนักสะสมด้วยกันก็อาจจะมีเรื่องราวความแตกต่างของชาติพันธุ์ แล้วก็ความถนัดของหลายๆ ที่ ซึ่งใครที่มางานก็ถือได้ว่าได้กำไรมากๆ ที่ได้เรียนรู้ผ้าจากหลายๆ แหล่ง นอกจากได้ทั้งความรู้แล้วก็ยังเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ไปในตัวด้วยครับ”

ปิดท้ายด้วยสถาปนิกนักสะสมผ้าโบราณอารมณ์ดีอย่าง “เบญจะ ฮามคำไพ” ก็ได้เล่าความเป็นมาของการสะสมผ้าของตนเองไว้ว่าชอบผ้ามาตั้งแต่เด็กๆ เพราะได้เห็นคุณย่าทอเอง คุณแม่สวมใส่ จนกระทั่งโตมา เริ่มสะสม นอกจากนี้ยังนำผ้าไทยไปเผยแพร่ให้ต่างชาติได้เห็นเอกลักษณ์ของความเป็นไทยอีกด้วย

“ผมโชคดีที่เป็นสถาปนิกแล้วก็ได้ออกแบบงานนำออกไปเมืองนอก ซึ่งก็จะมีร้านอาหารบ้าง มีโรงแรมบ้างที่เขาต้องการแบบไทยๆ เอาศิลปะไทยไป รวมถึงผ้าไทยด้วย เพราะฉะนั้น ผมก็จะแต่งตัวสไตล์ไทยๆ แล้วก็จะไปทำงานสวยๆ อย่างไปอยู่ที่เยอรมนี คนที่นั่นก็จะชมผมว่า “การแต่งกายสวยจังเลย ขอเลี้ยงกาแฟเธอได้ไหม งานที่ออกมาสวยมาก” เราก็บอกไปว่า “โอเค แต่ถ้าเธออยากเห็นสวยกว่านี้เธอก็บินมาเมืองไทยสิ” อันนี้ก็เป็นการที่ผมเอาวัฒนธรรมไทย เอาของไทยไปเสิร์ฟให้เขาถึงต่างประเทศ แล้วก็เชิญให้เขากลับมาที่บ้านเรา ซึ่งก็เป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไปในตัวครับ”


เรื่อง : อรวรรณ เหม่นแหลม และ วรัญญา งามขำ
ภาพ : ธัญลักษณ์ อุ่มเจริญ
กำลังโหลดความคิดเห็น