xs
xsm
sm
md
lg

อาจารย์ ม.เกษตรฯ เอาหัวเชื้อน้ำมัน “เมฆ มังกรบิน” เข้าห้องแล็บ “ทำไมมันดีจัง” หรือ “มโน” รอลุ้นพรุ่งนี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เงินแสนไม่ต้องจ่าย! “ทำไมมันดีจัง” ดีจริงหรือมโน รอลุ้น อาจารย์ ม.เกษตรฯ มือผ่า “โคเรียคิง” อันโด่งดัง พิสูจน์หัวเชื้อน้ำมันของ “เมฆ มังกรบิน” ใช้นิวเคลียร์เมกเนติกเรโซแนนซ์ และอีกเพียบ คาดทราบผลพรุ่งนี้ (19 ก.ย.)

จากกรณีที่ผลิตภัณฑ์หัวเชื้อน้ำมันแมกซ์ นาโน (MAX NANO) ราคาขวดละ 1,200 บาท ของนายเกริกพล จงเอื้อมกลาง อายุ 37 ปี เจ้าของฉายา “เมฆ มังกรบิน” ถูกวิจารณ์ว่าไร้มาตรฐาน ซึ่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ ต่อการกล่าวอ้างว่านำผลิตภัณฑ์มาเข้าห้องแล็บเพื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ อีกทั้ง นายวรพล สิงห์เขียวพงษ์ นักจัดรายการวิทยุเกี่ยวกับรถยนต์ ระบุว่า ส่วนประกอบเป็นสารคลอริเนเตท พาราฟิน หรือ คลอรีน 51% (Chlorine 51L) เอามาผสมกับกลีเซอรีนเพื่อให้ใส เมื่อเจอความร้อนในเครื่องยนต์ กลีเซอรีนจะระเหยและคลอรีนจะกลับมาเหนียวหนืด จนอาจไหม้เป็นตะกรันหรือยางเหนียว ทำให้เครื่องยนต์พังได้ พร้อมเตือนว่าหากใช้ไปเครื่องยนต์อาจจะรอวันพังด้วยคราบยางเหนียว

ขณะที่มีผู้เสียหายร้องเรียนไปยังสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ว่า เครื่องยนต์ของตนเกิดความเสียหายจากการใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ก่อนจะเรียกนายเกริกพลมาชี้แจง และขอให้หยุดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แมกซ์นาโนเป็นการชั่วคราวไว้ก่อน เพื่อพิสูจน์คุณภาพผลิตภัณฑ์โดยสถาบันยานยนต์ หลังตรวจสอบฉลากของสินค้าไม่ถูกต้อง และการโฆษณาที่อวดอ้างสรรพคุณ ภายหลัง เมฆ มังกรบิน ปฏิเสธว่า ไม่ได้เป็นคนให้เงิน 100,000 บาท แก่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี เพื่อทดสอบผลิตภัณฑ์ ขัดกับที่กล่าวในเฟซบุ๊กไลฟ์ก่อนหน้านี้

รศ.ดร.วีรชัย พุทธวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ที่เคยผ่าพิสูจน์กระทะโคเรียคิงจนโด่งดังมาแล้ว เปิดเผยว่า ตนได้ผลิตภัณฑ์แมกซ์นาโนมาแล้ว โดยจะวิเคราะห์ในวันนี้ (18 ก.ย.) น่าจะได้ผลในเช้าวันพรุ่งนี้ (19 ก.ย.) โดยได้รับการประสานงานจากเฟซบุ๊ก “แหม่มโพธิ์ดำ” และ “Drama-Addict” จนได้ผลิตภัณฑ์มาทดสอบ สำหรับเทคนิคที่จะใช้ในการวิเคราะห์จะเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นโดยใช้เทคนิค nuclear magnetic resonance NMR (นิวเคลียร์เมกเนติกเรโซแนนซ์) และ infrared spectroscopy IR เริ่มจากทดสอบทางเคมีเบื้องต้นของหัวเชื้อน้ำมันเครื่องรุ่นพิเศษไม่ต่ำกว่า 3 ยี่ห้อ รวมถึงยี่ห้อดังกล่าวเพื่อเปรียบเทียบ ใช้เทคนิคแรกคือ อินฟราเรดสเปกโตรสโคปี Fourier-transform infrared spectroscopy (FTIR)






กำลังโหลดความคิดเห็น