xs
xsm
sm
md
lg

รมต.คนดี หวังรื้อฟื้นทางรถไฟสายมรณะขึ้นใช้ประโยชน์! นำคณะไปสำรวจ ตกเหวทั้งขบวน!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

โค้งหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ
รัฐมนตรีประเภทหาทำพันธุ์ยากท่านหนึ่ง ชื่นชมฝีมือสร้างทางรถไฟของญี่ปุ่น เคยไปดูงานสายยุทธศาสตร์แมนจูกัวที่ญี่ปุ่นสร้างไปตีจีน จึงนำคณะไปสำรวจทางรถไฟสายมรณะที่ที่ถูกทิ้งร้าง หวังจะรื้อฟื้นมาใช้ประโยชน์ แต่ถูกไฟป่าไหม้ไม้หมอนบนสะพาน ทำให้รถไฟตกเหวไปทั้งขบวน ต้องส่งคนเดินเท้าออกมาขอความช่วยเหลือ ๓ วันจึงนำศพออกมาได้ ทิ้งลูกเมียให้อยู่อย่างยากแค้น รัฐบาลทนดูไม่ได้ต้องรับภาระส่งเสียลูกเล็กๆถึง ๓ คน ทั้งๆที่ว่าการมาแต่ละกระทรวงน่าจะรวยจนโจรขนเงินไม่หมดทั้งนั้น

รัฐมนตรีที่ยกมือไหว้ได้อย่างไม่ต้องกระดากใจท่านนี้ มีชื่อว่า หม่อมหลวงกรี เดชาติวงศ์

ชีวิตของหม่อมหลวงกรีเป็นชีวิตอาภัพ พ่อแม่ถึงแก่อนิจกรรมตั้งแต่ยังเล็ก หม่อมหลวงสมบุญ ผู้เป็นพี่สาวเลี้ยงดูจนจบมัธยมปีที่ ๘ จึงสอบชิงทุนของกรมรถไฟหลวงไปเรียนต่อวิศวกรรมที่อังกฤษ เมื่อกลับมาก็เข้ารับราชการในกรมรถไฟตามสัญญา ความขยันขันแข็งต่อหน้าที่และความซื่อสัตย์สุจริต เป็นที่กล่าวกันว่า พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน “พระบิดาแห่งการรถไฟ” ทรงคาดหมายไว้ว่า จะให้เป็นผู้รับมอบภาระในด้านการคมนาคมของประเทศต่อไป
ใน พ.ศ. ๒๔๗๔ หม่อมหลวงกรีเข้าพิธีสมรสกับ เจ้าหวลกลิ่น ธิดา เจ้าหอมนวล ราชธิดา เจ้าพิริยเทพวงษ์ เจ้าผู้ครองนครแพร่องค์สุดท้าย ในปีเดียวกันนั้นก็ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์

ตอนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ มีชื่อของ รองอำมาตย์เอกหลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ อยู่ในรายชื่อสมาชิกคณะราษฎรสายพลเรือนด้วย และได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนราษฎรชุดแรก แต่เมื่อพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกประกาศยุบสภา งดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อกำจัดคณะราษฎร ม.ล.กรีจึงถูกย้ายจากตำแหน่งนายช่างกำกับโรงงานมักกะสัน ไปเป็นนายช่างผู้ควบคุมการก่อสร้างทางรถไฟจากจังหวัดขอนแก่นถึงอำเภอกุมภวาปี

ในปี ๒๔๗๘ ม.ล.กรีได้รับตำแหน่งนายช่างชั้น ๑ กองช่างนคราทร จึงได้เข้าปรับปรุงสวนลุมพินี ที่ถูกทิ้งร้างมา ๑๐ ปี เป็นที่เกิดฆาตกรรมขึ้นบ่อยๆ ให้กลับเป็นสวนสาธารณะที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน จัดตั้งสวนเพาะชำเพื่อขยายต้นไม้ใช้ตกแต่งในกรุงเทพฯ และติดต่อ นายโอวบุ้นโฮ้ว เศรษฐีใหญ่ของสิงคโปร์ ให้ช่วยสร้างสนามกีฬาสำหรับเด็กขึ้นในสวนลุมพินีด้วย

ในเดือนเมษายน ๒๔๘๓ ม.ล.กรีได้รับแต่งตั้งเป็นผู้แทนกระทรวงคมนาคมไปประชุมวิศวกรรมที่กรุงโตเกียว และให้เดินทางดูงานด้านคมนาคมในประเทศญี่ปุ่นกับประเทศใกล้เคียง จึงได้ไปดูการสร้างทางรถไฟสายยุทธศาสตร์สายแมนจูกัว ของกองพันทหารรถไฟญี่ปุ่น ซึ่งใช้ขนทหารไปบุกจีน ขากลับยังได้ดูงานการสร้างทางรถไฟในอินโดจีน และกลับกรุงเทพฯทางรถไฟด้านอรัญประเทศ

หลังกลับจากประเทศญี่ปุ่น ม.ล.กรีก็ได้รับแต่งตั้งเป็นนายช่างใหญ่กรมทาง ข้าราชการพลเรือนชั้นพิเศษ ต่อมาได้เกิดกรณีพิพาทไทยกับฝรั่งเศสในอินโดจีน ม.ล.กรีต้องบุกป่าไปสำรวจเส้นทางยุทธศาสตร์จากจังหวัดน่านไปล้านช้าง

ในวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ ญี่ปุ่นบุกไทย ซึ่งรัฐบาลไทยคาดอยู่แล้ว จึงส่ง ม.ล.กรีไปทำงานใต้ดิน สร้างเครื่องกีดขวางญี่ปุ่นที่อาจยกกำลังทางรถไฟมาจากอินโดจีน และเมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกทางอ่าวไทยแล้ว พระยาพหลพลพยุหเสนาคิดจะหนีขึ้นเหนือไปตั้งรัฐไทยอิสระ แต่เมื่อส่ง ม.ล.กรีขึ้นไปก่อน ก็พบว่าญี่ปุ่นยึดทุกแห่งไปหมดแล้ว เลยต้องเลิกล้มความตั้งใจ แม้กระนั้น ม.ล.กรีก็ยังคงส่งข่าวให้ฝ่ายสัมพันธมิตรทราบการเคลื่อนไหวของญี่ปุ่นทางด้านนั้น

ในระหว่างสงครามนี้ ม.ล.กรีได้รับมอบหมายให้สร้างทางสายตาก-แม่สอด และยังสำรวจที่จะสร้างทางสายแม่สาย-เชียงตุงด้วย ซึ่งล้วนแต่เป็นทางสายยุทธศาสตร์ จึงได้รับพระราชทานยศนายพันตรี เป็นนายทหารพิเศษประจำกองทัพบก

ต่อมาในวันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๔๘๖ ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีสั่งราชการกระทรวงอุตสาหกรรมในรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในวันที่ ๒๒ พฤษภาคมปีเดียวกัน ก็ได้ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมควบอีกตำแหน่งหนึ่ง และในวันที่ ๘ กันยายนปีนั้นก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

หน้าที่ทางราชการของ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ได้ก้าวไปอย่างรวดเร็ว ในระหว่างที่เป็นรัฐมนตรีอยู่นี้ยังได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้จัดตั้งและเป็นผู้จัดการบริษัทส่งเสริมอุตสาหกรรม เพื่อส่งเสริมภาคเอกชนให้ผลิตสินค้าจำเป็นที่ขาดแคลนยามสงคราม ม.ล.กรีเห็นว่าบริษัทนี้มีความสำคัญต่อความเป็นอยู่ของประชาชนยามสงครามมาก จึงลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีมารับตำแหน่งผู้จัดการบริษัท เพื่อทุ่มเทการทำงานได้เต็มที่

ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๔๘๙ ม.ล.กรีก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในรัฐบาลนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นไม้เบื่อไม้เมากับจอมพล ป. แสดงว่า ม.ล.กรีเข้าได้กับทุกฝ่าย

ต่อมารัฐบาลนายปรีดีลาออก พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ มาเป็นนายกรัฐมนตรี ม.ล.กรีก็ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นตำแหน่งสุดท้ายในชีวิต

เมื่อครั้งที่เดินทางไปดูกิจการทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นที่แมนจูกัว ม.ล.กรีชื่นชมฝีมือในการสร้างทางรถไฟของญี่ปุ่นมาก เมื่อเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีคมนาคมใน จึงคิดที่จะปรับปรุงกิจการรถไฟครั้งใหญ่ รวมทั้งทางรถไฟสายไทย-พม่าที่เรียกกันว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” ซึ่งญี่ปุ่นใช้แรงงานเชลยศึกสร้างไว้ และรัฐบาลไทยรับซื้อไว้ในราคา ๕๐ ล้านบาทเมื่อสงครามยุติ เพื่อมิให้ชาติสัมพันธมิตรเข้ามายึดครองเพราะถือว่าเป็นของญี่ปุ่น ม.ล.กรีเห็นว่าเส้นทางนี้ถูกทอดทิ้งโดยเปล่าประโยชน์ จึงคิดจะเอามาใช้ขนสินค้าจากอินเดียและพม่า เพราะขณะนั้นมีปัญหาที่สินค้าจาก ๒ ประเทศนี้ต้องใช้เรืออ้อมไปสิงคโปร์ และบางครั้งก็ตกค้างอยู่ที่สิงคโปร์เป็นเวลานานเพราะไม่มีเรือขน ม.ล.กรีจึงได้ไปสำรวจทางรถไฟสายมรณะด้วยตัวเอง

คณะของรัฐมนตรีคมนาคมประกอบด้วยข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมรถไฟและกรมทางรวม ๒๖ คน ออกเดินทางโดยขบวนรถพิเศษที่เรียกว่ารถยนต์ราง จากสถานีหนองปลาดุก อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี ในเช้าของวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๙๐ เมื่อมาถึงหลัก กม.ที่ ๒๖๒ ระหว่างสถานีปรังกาสีกับนิเถะ ซึ่งมีหญ้าขึ้นปกคลุมรางและเป็นทางโค้ง พอสุดทางโค้งก็เป็นทางลาดลงสู่สะพานข้ามลำห้วยคอยทา พนักงานรักษารถเห็นไม้หมอนบนสะพานกำลังไหม้ไฟจึงร้องบอกพนักงานขับรถ ซึ่งก็ได้พยายามเบรกจนล้อตาย แต่เป็นทางลาดลง รถจึงลื่นไหลลงไปอย่างช้าๆ หลายคนเห็นท่าไม่ดีรีบกระโดดลงจากรถ เมื่อรถไหลลงไปถึงสะพาน ไม้หมอนรถไฟซึ่งไหม้ไฟเกรียมอยู่ได้หักลง เป็นผลให้รางทรุด ขบวนรถตรวจราชการของรัฐมนตรีจึงตกลงไปในเหวลึก ๘ เมตรทั้งขบวน มีคนติดอยู่ในรถ ๑๙ คน บุรุษพยาบาลของการรถไฟถูกรถทับอยู่ ๑๐ นาทีก็สิ้นใจ ม.ล.กรี และนายปุ่น สกุนตนาค อธิบดีกรมรถไฟ และอธิบดีกรมทาง รวมทั้งพนักงานขับรถไฟบาดเจ็บสาหัส

คนที่บาดเจ็บน้อยที่สุดได้เดินเท้ามาที่สถานีปรังกาสี โทรเลขขอรถพยาบาลจากกรมรถไฟให้รีบไปช่วย จากนั้นก็ลำเลียงคนเจ็บมาที่สถานีปรังกาสี ม.ล.กรีทนพิษบาดแผลอยู่ได้เพียง ๑ ชั่วโมงก็เสียชีวิต และกว่าจะนำศพกลับมาถึงสถานีธนบุรีได้ก็เป็นเวลา ๑๐ น.ของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์แล้ว โดยมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และนักการเมืองรวมทั้งนายกรัฐมนตรีไปรอรับ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯรับศพไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตั้งไว้ ณ วัดเบญจมบพิตร

แม้ ม.ล.กรีจะเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสำคัญๆ และมีตำแหน่งราชการที่สามารถหาผลประโยชน์ให้ตัวเองได้อย่างมหาศาล แต่ปรากฏว่าในวันตายไม่ได้ทิ้งสมบัติไว้ให้ลูกเมียเลย รัฐบาลต้องยื่นมือเข้ารับภาระส่งเสียลูกเล็กๆถึง ๔ คน ตอบแทนคุณงามความดีของคนที่ทุ่มเททำงานให้ชาติโดยไม่มีประวัติด่างพร้อยเลยตลอดชีวิต

อนุสรณ์สถานที่ระลึกถึง ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ ขณะนี้ก็คือ สะพานเดชาติวงศ์ ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งแม้จะมีการสร้างสะพานใหม่ขึ้นเป็นคู่ขนาน แต่ผลงานของหม่อมหลวงกรีชิ้นนี้ก็ถูกอนุรักษ์ไว้
ม.ล.กรี เดชาติวงศ์
วันเปิดสะพานเดชาติวงศ์ เมื่อปี ๒๔๙๓
กำลังโหลดความคิดเห็น