นายนรินทร์กลึง หรือ นรินทร์ ภาษิต เป็นนักสู้ที่ทรหดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ ตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาจนถึงระบอบเผด็จการประชาธิปไตย แม้จะติดคุกครั้งแล้วครั้งเล่าก็ไม่ยอมศิโรราบให้กับความอยุติธรรม ยอมสละแม้แต่ตำแหน่งเจ้าเมืองและบรรดาศักดิ์พระยาที่อยู่แค่เอื้อม มีความคิดล้ำยุคจนถูกหาว่าขวางโลก
นายนรินทร์ ภาษิต มีชื่อเดิมว่า กลึง เป็นลูกชาวสวนนนทบุรี เกิดในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้รับการศึกษาที่วัดพิชัยญาติ จนอายุ ๑๕ จึงบวชเป็นสามเณร แต่ไม่ทันถึงปีก็สึกออกมารับราชการในตำแหน่งเสมียน ด้วยการชักชวนของกรมขุนมรุพงษ์ศิริพัฒน์ เทศาภิบาลมณฑลปราจีนบุรี และด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่นในการทำงาน ซื่อตรงสุจริต จึงได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น หลวงศุภมาตรา ตำแหน่งนายอำเภอชลบุรี มีผลงานปราบปรามโจรผู้ร้ายจนราบคาบ จึงได้เลื่อนขึ้นเป็นเจ้าเมืองนครนายก มีบรรดาศักดิ์เป็น พระพนมสารนรินทร์
ในตำแหน่งเจ้าเมืองนี้ พระพนมสารนรินทร์ได้สร้างชื่อเสียงในการปราบปรามโจรก๊กใหญ่ที่มีชื่อว่า “โจรก๊กแขกสมันคลอง ๑๖” ที่ไม่มีใครปราบได้ แต่พระพนมฯกวาดล้างราบทั้งก๊ก จนรัชกาลที่ ๕ รับสั่งให้กรมขุนมรุพงษ์ฯพามาเข้าเฝ้าขอดูตัว
ด้วยความดีความชอบในเรื่องนี้ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยจึงเสนอให้เลื่อนบรรดาศักดิ์พระพนมสารนรินทร์ขึ้นเป็น “พระยา” แต่กรมขุนมรุพงษ์ฯยับยั้งไว้ ให้รออีกระยะหนึ่งเพราะเพิ่งเลื่อนเป็นพระเพียง ๒ ปี ทำให้พระพนมฯน้อยใจ ขอลาพักราชการ แล้วไปช่วยพรรคพวกทำธุรกิจเรือเมล์แข่งกับบริษัทฝรั่งที่ทำเรือเมล์ในแม่น้ำพนม จังหวัดปราจีนบุรีแบบขูดรีดผู้โดยสาร กรมขุนมรุพงษ์ฯขอให้กลับมารับราชการตามเดิม โดยจะให้เป็นปลัดมณฑลอุดร และว่าไม่มีทางเอาชนะบริษัทฝรั่งได้ แต่พระพนมฯเชื่อมั่นว่าต้องชนะได้ จึงลาออกจากราชการเสียเลยในปี ๒๔๕๒ ในขณะที่อายุเพียง ๓๕ กรมขุนมรุพงษ์ฯทรงกริ้ว จะเอาชนะพระพนมฯให้ได้ จึงสั่งห้ามเรือเมล์ไทยจอดท่าหลวงทุกท่า ทำให้เรือเมล์ของกลุ่มพระพนมฯหมดท่า ต้องเลิกกิจการ พระพนมฯจึงพ่ายแพ้ต่ออำนาจ ทั้งอนาคตทางราชการที่ตำแหน่งพระยาอยู่แค่เอื้อมก็หมดทางไปด้วย
พระพนมสารนรินทร์หันเข้าศึกษาคติธรรมทางพุทธศาสนาอย่างจริงจัง และเห็นว่าถ้าขจัดสิ่งไร้เหตุผลที่ปะปนอยู่ในความเชื่อของชาวพุทธ สู่แก่นธรรมคำสอนที่แท้จริงแล้ว จะนำสังคมและมวลมนุษยชาติไปสู่ความดีงามได้ จึงชักชวนพรรคพวกตั้ง “พุทธบริษัทสมาคม” เพื่อเป็นศูนย์กลางเผยแพร่พุทธศาสนาที่ไม่งมงาย พร้อมทั้งออกหนังสือ “สารธรรม” และ “โลกธรรม” เผยแพร่งานของพุทธบริษัทสมาคมด้วย ทั้งยังเตรียมการออกหนังสือ “ช่วยบำรุงชาติ” อีกฉบับหนึ่ง แต่เมื่อผู้ร่วมงานทราบว่ารัฐบาลไม่พอใจการดำเนินงานของพุทธบริษัทสมาคม จึงไม่ยอมให้ออกหนังสือเล่มใหม่นี้ ทำให้พระพนมฯลาออกจากพุทธบริษัทสมาคม ไปตั้ง “วัตร์สังฆสมาคม” ดำเนินงานตามอุดมคติเดิม ซึ่งก่อให้เกิดความไม่พอใจทั้งรัฐบาลและฝ่ายสงฆ์ ทำให้พระพนมสารนรินทร์ถูกถอดบรรดาศักดิ์ งดบำนาญ กลายเป็นนายนรินทร์ ภาษิตที่ไม่มีรายได้ จนต้องอาศัยข้าววัดเป็นที่พึ่งในบางมื้อ
หลังจากลำบากแสนสาหัสไปพักหนึ่ง นายนรินทร์ก็รวบรวมเพื่อนร่วมอุดมการณ์ได้อีก จัดตั้งขบวนการในชื่อ “คณะยินดีคัดค้าน” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความอยุติธรรมต่างๆ พร้อมออกหนังสือพิมพ์ชื่อ “เหมาะสมัย” เป็นปากเสียงของขบวนการ แต่ออกได้ไม่กี่ฉบับก็ถูกปิด นายนรินทร์ก็ไม่ยอมแพ้ เมื่อออกหนังสือพิมพ์ไม่ได้ก็ออกใบปลิว และใบปลิวฉบับหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า “สงบอยู่ไม่ได้แล้ว” ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนในวงราชการมาก ทำให้รัฐบาลจ้องจะหาทางดำเนินคดีกับนายนรินทร์ และหนักขึ้นไปอีกในใบปลิว “คัดค้านสงคราม” สวนกระแสกับที่ ร.๖ ทรงเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ ๑ ประกาศสงครามกับฝ่ายเยอรมัน
ในที่สุดรัฐบาลก็นำอาใบปลิว “สงบอยู่ไม่ได้แล้ว” มาเป็นข้ออ้างในการจับนายนรินทร์เข้าคุก และส่งฟ้องศาลในข้อหาใส่ร้ายป้ายสี ทำให้ประชาชนเกลียดชังข้าราชการ อาจทำให้ปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ คดีนี้สู้กันถึงศาลฎีกา ซึ่งพิพากษาจำคุกนายนรินทร์ ๒ ปี ในขณะที่นายนรินทร์ติดมา ๒ ปี ๓๐ วันแล้ว ที่เกินไปไม่รู้จะไปเอาคืนกับใคร
ออกจากคุกมานายนรินทร์เหลือแต่ตัว เสื้อผ้ายังต้องยืมเขาใส่ บางครั้งก็เอาถุงแป้งมาย้อมกับลูกพลับเป็นสีน้ำตาลตัดเป็นกางเกงใส่ เอาหนังสือเก่าออกเดินเร่ขาย พอมีทุนหน่อยก็ออกหนังสือ “ชวนฉลาด” แต่ออกอยู่ได้ไม่กี่เล่มก็เกิดป่วย จนต้องหยุดออกไปรักษาตัว พอหายก็ไปบวชเพื่อศึกษาพระพุทธศาสนาให้ลึกซึ้ง แต่กลับไปพบเรื่องเลอะทอะในวงการสงฆ์ จึงสึกออกมาหวังจะต่อสู้ชำระสะสางวงการนี้ให้สะอาด แต่โชคชะตากลับพลิกผันเกิดรวยอย่างกะทันหัน
ทั้งนี้นายนรินทร์ได้ผลิตยาดองออกจำหน่ายในชื่อ “นกเขาคู่” ประกาศสรรพคุณว่าแก้สารพัดโรค เกิดมีคนติดกันงอมแงม จนต้องตั้งโรงงานผลิตอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีรายได้ถึงเดือนละ ๓ หมื่นบาท นายนรินทร์สร้างความฮือฮาขึ้นไปอีก โดยสร้าง “วัตร์นรีวงศ์” เป็นตึกสูงถึง ๗ ชั้นที่บ้านเมืองนนทบุรี ริมแม่น้ำเจ้าพระยา แล้วบวชลูกสาว ๒ คนเป็นสามเณรีขึ้นเป็นครั้งแรก เลยถูกหาว่าเป็นกบฏต่อพุทธศาสนา คณะสงฆ์แอนตี้สั่งทุกวัดไม่ให้ที่พักพิง แต่ก็ยังค้นหากฎหมายมาเล่นงานไม่ได้
ต่อมาในที่ ๑ กันยายน ๒๔๖๗ ชีวิตของนรินทร์กลึงก็พลิกผันอีกครั้ง เมื่อรัฐบาลออกประกาศห้ามผสมแอลกอฮอล์ลงในยารักษาโรค ทำให้ยานกเขาคู่ของนายนรินทร์ที่คนกำลังติดกันทั่วเมือง รวมทั้งในโกดังที่เตรียมขยายไปตลาดโลก กลายเป็นของผิดกฎหมายไปทันที ทำให้นายนรินทร์หมดเนื้อหมดตัว ความเป็นเศรษฐีสิ้นสุดในเวลาอันสั้น
หลังจากบวชสามเณรีมาได้ ๖ ปี ล่วงเข้าสมัยรัชกาลที่ ๗ คณะอภิรัฐมนตรีก็มีมติให้จับกุมสามเณรี ถ้าขัดขืนก็ให้เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเปลื้องจีวรออก นายนรินทร์เห็นว่าเป็นการกระทำเกินกว่าเหตุ จึงได้ถวายฎีกาต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ มีรับสั่งให้นายนรินทร์เลิกความคิดสามเณรีเสีย ซึ่งนายนรินทร์ก็ยอม แต่ได้บวชตัวเองโดยไม่มีอุปัชฌาย์ และตั้งฉายาให้ตัวเองว่า “ฐิตธฺมโมภิกขุ” สร้างความเกรียวกราวเรื่องใหม่ขึ้นมาอีก
ฐิตธฺมโมภิกขุ เห็นว่าบรรดาสงฆ์เทศนาสั่งสอนสวนทางกับการกระทำของตัวเอง ให้คนสละทรัพย์เพื่อเป็นทาน แต่ตัวองกลับสะสมความมั่งคั่ง จึงทำหนังสือกราบทูลสมเด็จพระสังฆราชให้สละทรัพย์เพื่อเป็นแบบอย่าง เลยถูกจับในข้อหาหมิ่นพระสังฆราช ถูกศาลสั่งจำคุก ๖ เดือน
นายนรินทร์พ้นโทษเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว และด้วยความกระหายในประชาธิปไตย จึงได้ก่อตั้ง “สมาคมช่วยชาติศาสนาพระมหากษัตริย์” เป็นปากเสียงให้ประชาชนที่ได้รับความอยุติธรรม งานชิ้นแรกก็ได้เรื่อง
นายนรินทร์ได้ออกใบปลิว “ไทยไม่ใช่ทาส” เรียกร้องให้รัฐบาลเลิกเก็บเงินรัชชูประการ และเลิกการใช้งานโยธาคนที่ไม่มีเงินเสีย ถ้าไม่เลิกเก็บ ก็เท่ากับรัฐบาลเป็นโจรปล้นประชาชน เลยโดนจับในข้อหายุยงให้ราษฎรกระด้างกระเดื่องต่อรัฐ ถูกศาลสั่งจำคุก ๒ ปี ๘ เดือน ได้ลิ้มรสคุกยุคประชาธิปไตยเป็นครั้งแรก
แม้จะต้องเข้าคุก นรินทร์กลึงก็ยืนหยัดที่จะให้รัฐบาลเลิกการเก็บเงินรัชชูประการให้ได้ จึงอดข้าวประท้วง แต่อดได้ ๒๑ วันก็ถูกหามตัวส่งโรงพยาบาลวชิระช่วยชีวิตไว้ และถูกปล่อยตัวให้เป็นอิสระ โดยรัฐบาลยอมที่จะเลิกเก็บเงินรัชชูประการ สร้างความดีใจให้คนยากจนกันทั่วหน้า นับเป็นชัยชนะครั้งแรกในชีวิตของนรินทร์กลึง
ออกจากคุกครั้งที่ ๓ มาได้ นายนรินทร์ก็ออกหนังพิมพ์ “แนวหน้า” โจมตีจอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุคที่ไม่มีใครกล้าแตะต้อง แต่นรินทร์กลึงกลับด่าอย่างรุนแรง ผลก็คือ “แนวหน้า” ถูกปิด นรินทร์กลึงถูกจับข้อหากบฏ ศาลตัดสินจำคุก ๒ ปี
พ้นโทษออกมาในปี ๒๔๘๓ ยังไม่ทันพ้นปี นรินทร์กลึงก็ออกใบปลิวคัดต้านที่จอมพล ป.จะยืดบทเพาะกาลในรัฐธรรมนูญออกไป และใช้ถ้อยคำรุนแรง เลยโดนข้อหาเดิมอีกครั้ง คือกบฏ ต้องกลับเข้าไปอยู่ในคุกอีก ๒ ปี
พ้นโทษออกมาในเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๕ นรินทร์กลึงกลับเครื่องร้อน ส่งจดหมายถึงจอมพล ป.พิบูลสงครามโดยตรง ด่าอย่างสาดเสียเทเสีย และเรียกร้องให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ว่าเขาเป็นได้ดีกว่าจะเป็นเอง และถ้อยคำที่นรินทร์กลึงเขียนถึงจอมเผด็จการที่กำลังรุ่งเรืองอยู่ในอำนาจนั้น ใครได้อ่านก็ต้องขนหัวลุกกัน บรรทัดหนึ่งมีข้อความว่า
“มึงมันจองหองพองขน ประดุจอ้ายพวกกิ้งก่าได้ทองโดยแท้”
จอมพล ป.นั้นได้ชื่อว่าเป็นคนที่มีมารยาทงาม อัธยาศัยดี จึงเพียงแต่ส่งจดหมายฉบับนี้คืนให้แก่ผู้เขียนเท่านั้น แต่นรินทร์กลึงก็ยังไม่ยอมลดละ ส่งไปอีกที พร้อมขออนุญาตนำจดหมายฉบับนี้พิมพ์เผยแพร่ จอมพล ป.คนมารยาทงามก็ส่งจดหมายคืนอีก พร้อมบันทึกต่อท้ายในจดหมายมาด้วยว่า
“...การขออนุญาตพิมพ์จดหมายนั้น ว่าตามหลักประชาธิปไตย ท่านทำได้ ผมก็อนุญาตให้ท่านทำ แต่จะผิด ก.ม.อย่างไรไม่ทราบ สุดแต่ทางเจ้าหน้าที่ปกครองจะวินิจฉัย
สิทธิเสรีภาพของมนุษย์นั้น ผมได้นับถือมานานแล้ว และอยากจะเริ่มส่งเสริมให้รุ่งเรืองยิ่งขึ้น ฉะนั้นด้วยหลักการนี้ ผมจึงไม่ขัดข้อง หวังว่าคงจะสบาย หมั่นทำบุญตักบาตร ท่านจะสุขยิ่งขึ้น
เคารพรัก
ป.พิบูลสงคราม
นรินทร์กลึงคงจะนึกว่าเป็นชัยชนะอีกครั้ง นำจดหมายพร้อมบันทึกอนุญาตของจอมพล ป.พิมพ์เป็นใบปลิวแจกจ่ายไปทั่วประเทศ ทำให้เขาโด่งดังเป็นที่โจษขานกันทั้งเมือง แต่ตำรวจไม่ยอมให้นรินทร์กลึงใช้เสรีภาพเกินขอบเขต เขาจึงสิ้นอิสรภาพอีกครั้ง ถูกจำคุกเป็นครั้งที่ ๖ และทำท่าว่าจะเป็นการขังลืม แต่โชคดีที่เปลี่ยนรัฐบาล เมื่อปรีดี พนมยงค์ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นรินทร์กลึงจึงถูกปล่อยออกมาในวันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๔๘๙
แม้จะเข้าวัยชราแล้ว แต่นรินทร์กลึงก็ยึดมั่นอุดมการณ์อย่างไม่ท้อถอย ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส.จังหวัดพระนคร ในปี ๒๔๙๒ เมื่อสอบตกก็ตั้งสำนักงานในชื่อ “สำนักงานปฤกษาภารราษฎร์” พร้อมกับออกหนังสือพิมพ์ “เสียงนรินทร์” เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่ได้รับความยุติธรรม และทุ่มเทกำลังใจกำลังกายโดยไม่ยอมสยบให้แก่อำนาจใดๆ ต่อสู้อย่างไม่ยอมเหน็ดเหนื่อยตั้งแต่รัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๙ จนสิ้นลมด้วยหัวใจวายเมื่อวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๔๙๓ ขณะมีอายุได้ ๗๗ ปี