xs
xsm
sm
md
lg

อดีตคนหามเกี้ยวขุนนางญี่ปุ่นมาเป็นใหญ่ในเมืองไทย! รับบทบาทร่วมชิงราชบัลลังก์ให้ยุวกษัตริย์!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนยามาด้า นางามาซะ
ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นจารึกไว้ด้วยความพูมใจว่า

“ยามาด้า นางามาซะ คนหามเกี้ยวของโอคุโมะ จิเอมอง ได้ไปเป็นใหญ่ในแผ่นดินสยาม กินตำแหน่งออกญาเสนาภิมุข แม่กองอาสาญี่ปุ่น และได้รับแต่งตั้งจากพระเจ้าแผ่นดินให้ครองเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นมหานครของราชอาณาจักรนี้”

ส่วนประวัติเมืองนครศรีธรรมราช ได้จารึกความโหดร้ายของออกญาเสนาภิมุข (ยามาด้า) และออกขุนเสนาภิมุข (โอชิน) บุตรชาย รวมทั้งกองทหารอาสาญี่ปุ่น ที่ข่มเหงเข่นฆ่าชาวเมือง ฉุดคร่าผู้หญิงไปเป็นนางบำเรอ ต้อนเด็กหนุ่มเป็นทาสรับใช้ จนต้องลุกฮือกันขึ้นต่อสู้ ปิดฉากคนหามเกี้ยวขุนนางญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ไทย

ยามาด้าเกิดที่เมืองโอวาริ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อเจ้านายที่เป็นขุนนางตาย จึงสมัครเป็นลูกเรือเดินทะเล เข้ามาทำการค้ากับกรุงศรีอยุธยา อาศัยความเฉลียวฉลาดฝากตัวกับขุนนางชั้นผู้ใหญ่ จนได้เข้ารับราชการในตำแหน่ง “ออกขุนไชยาสัน”

ยามาด้ารอบรู้ในเรื่องการค้าอย่างดี จึงได้เข้าทำงานในกรมท่า รับหน้าที่ติดต่อกับสำเภาญี่ปุ่น และยังได้เป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีกับพระมหาจักรพรรดิแห่งดินแดนอาทิตย์อุทัย

ชีวิตราชการของยามาด้ารุ่งเรืองขึ้น จนได้รับแต่งตั้งเป็น “ออกญาเสนาภิมุข” เจ้ากรมอาสาญี่ปุ่น มีกำลังพล ๖๐๐ คน ตั้งหมู่บ้านอยู่ที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำเจ้าพระยา ใต้กรุงศรีอยุธยา ถัดต่อจากหมู่บ้านฮอลันดาลงไป เรียกกันว่า “นิฮอนมาชิ”

ยามาด้า คนหามเกี้ยวที่ญี่ปุ่น ได้กลายเป็นขุนนางที่มีอิทธิพลของกรุงศรีอยุธยา จนในปี พ.ศ.๒๑๗๑ ก่อนที่พระเจ้าทรงธรรมจะสวรรคต ได้ขอให้ออกญาศรีวรวงศ์ สมุหกลาโหม กับออกญาเสนาภิมุข สนับสนุนพระราชโอรสวัย ๑๕ พรรษาขึ้นครองราชย์ ซึ่งตามกฎมณเฑียรบาลราชบัลลังก์จะต้องได้แก่พระอนุชา ซึ่งดำรงตำแหน่งมหาอุปราช ออกญาทั้งสองได้เกลี้ยกล่อมและข่มขู่ให้ขุนนางเสนามาตย์ยอมรับการแต่งตั้งพระราชโอรสขึ้นเป็นกษัตริย์ คนที่คัดค้านก็ถูกจับไปประหารหลายคน พระมหาอุปราชผู้มีสิทธิในราชบัลลังก์ต้องหนีไปบวช ในที่สุดการแต่งตั้งพระราชโอรสเป็นกษัตริย์ก็สำเร็จ ทรงพระนามว่าพระเชษฐาธิราช

เพื่อจะกำจัดเสี้ยนหนามให้หมดสิ้น ออกญาศรีวรวงศ์ซึ่งได้เลื่อนขึ้นเป็น ออกญากลาโหมสุริยวงศ์ ซึ่งรู้นิสัยออกญาเสนาภิมุขว่าเป็นคนชอบของกำนัล ให้ไปลวงพระมหาอุปราชว่ากองอาสาญี่ปุ่นและบรรดาขุนนางจำนวนมากไม่พอใจความโหดร้ายของพระเชษฐาธิราชและออกญากลาโหม จึงมาอัญเชิญพระมหาอุปราชสึกออกไปครองราชย์ โดยกองอาสาญี่ปุ่นจะจับพระเชษฐาธิราชกับออกญากลาโหมฆ่าเอง แต่เมื่อพระมหาอุปราชหลงเชื่อเสด็จเข้าวังหลวง จึงถูกจับด้วยข้อหากบฏ

พระเชษฐาธิราชไม่พอพระทัยเมื่อได้ทราบว่าพระเจ้าอาถูกประหาร และถูกยุยงว่าออกญากลาโหมกำลังรวบรวมผู้คนในงานศพมารดา จนไม่เหลือขุนนางมาประชุมในท้องพระโรง เพื่อจะยกมาชิงราชย์บัลลังก์ จึงรับสั่งให้ระดมกำลังเตรียมพร้อมรับมือ เป็นเหตุให้ออกญากลาโหมใช้เป็นข้ออ้างว่า ตัวทำดีแล้วยังไม่เห็นความดี และพลอยทำให้คนที่มาร่วมงานศพมารดาต้องตกเป็นกบฏด้วยกันทั้งหมด ไหนๆก็โดนข้อหานี้แล้ว จึงยกกำลังกันเข้าวัง จับยุวกษัตริย์สำเร็จโทษเสีย

จากนั้นเส้นทางสู่ราชบัลลังก์ของออกญากลาโหมก็เปิดโล่งตามปรารถนาแล้ว แต่ก็ยังมีขุนนางข้าราชการหลายคนไม่เห็นด้วย ในจำนวนนี้มีออกญาเสนาภิมุขที่ยังซื่อสัตย์ต่อพระเจ้าทรงธรรมรวมอยู่ด้วย ออกญากลาโหมจึงจำต้องอัญเชิญพระอนุชาของพระเชษฐาธิราช คือ พระอาทิตย์วงศ์ ขึ้นเป็นยุวกษัตริย์อีกองค์ โดยมีออกญากลาโหมเป็นผู้สำเร็จราชการ เพื่อหาทางกำจัดออกญาผู้คุมกองกำลังอาสาญี่ปุ่นเสียก่อน แม้กองกำลังนี้จะมีเพียง ๖๐๐ คน แต่ทหารไทยก็ไม่อยากจะปะทะกับซามูไรญี่ปุ่น พอดีตำแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชว่างลง ออกญาเสนาภิมุขจึงถูกส่งลงไปเป็นเจ้าเมืองแทน โดยมีออกขุนเสนาภิมุข บุตรชาย ติดตามไปด้วย

เมื่อออกญาเสนาภิมุขนำทหารญี่ปุ่นพ้นไปจากกรุงศรีอยุธยา เจ้าพระยากลาโหมก็หมดเสี้ยนหนาม ปราบดาขึ้นเป็นกษัตริย์ ทรงพระนามว่า สมเด็จพระสรรเพชญ์ ที่ ๕ หรือรู้จักกันในพระนาม พระเจ้าปราสาททอง

เมื่อออกญาเสนาภิมุขได้ครองเมืองนครศรีธรรมราช จึงแสวงหาผลประโยชน์เต็มที่ตามนิสัย เข่นฆ่าขุนนางที่ไม่ยอมอ่อนน้อม ยึดที่ดินทรัพย์สินเงินทอง ทั้งยังฉุดคร่าเด็กสาวไปเป็นนางบำเรอ จับเด็กหนุ่มไปเป็นทาสรับใช้ จนเดือดร้อนไปทั้งเมือง ทำให้ชาวนครศรีธรรมราชต่างเคียดแค้นและก่อตัวเป็นขบวนการปลดแอกขึ้น

วิธีการต่อสู้ของชาวนครศรีธรรมราชครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นต้นแบบของการปลุกระดมมวลชนเพื่อทำสงครามกองโจร เริ่มตั้งแต่ใช้เพลงกล่อมเด็กและเพลงบอก ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้าน บรรยายถึงความเลวร้ายของยามาด้าและกองอาสาญี่ปุ่น ปลุกสำนึกของชาวเมืองให้ลุกขึ้นต่อสู้ อย่างเพลงกล่อมเด็กเพลงหนึ่งในยุคนั้น มีเนื้อร้องท่อนหนึ่งว่า

ไอ้ลูกเหยลูกไก่หางลุ้น
ข้าหลวงญี่ปุ่นชันชีจับเด็ก
จับพวกสาว สาวบ่าว บ่าว ไว้ทำมหาดเล็ก
ชันชีจับเด็กจับสิ้นทั้งเมือง

ต่อมาเกิดกบฏขึ้นที่เมืองปัตตานี ออกญาเสนาภิมุขยกกำลังลงไปปราบ และได้รับบาดเจ็บกลับมา แต่ขณะที่เริงร่าจะเข้าพิธีสมรสกับเจ้าสาวพระราชทานจากกรุงศรีอยุธยา ออกพระมริต น้องชายของเจ้าเมืองคนเก่าที่ทำทีอ่อนน้อมกับยามาด้า ก็เอาผ้าพันแผลไปเปลี่ยนให้ โดยแอบใส่ยาพิษไว้ นัยว่าได้รับคำสั่งมาจากกรุงศรีอยุธยา ทำให้ยามาด้าเสียชีวิตใน ๒-๓ ชั่วโมงต่อมา

ออกขุนเสนาภิมุข บุตรชายอายุเพียง ๑๘ ปี ตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองแทนบิดา พร้อมกับสังหารกลุ่มของเจ้าเมืองคนเก่าที่เชื่อว่าเป็นผู้สังหารบิดา ทั้งยังก่อกรรมทำเข็ญกับชาวเมืองอย่างหนักยิ่งกว่าบิดา ทำให้ชาวเมืองนครลุกฮือกันขึ้นต่อสู้

ใน “จดหมายเหตุวันวลิต” ของพ่อค้าชาวฮอลันดา ได้บันทึกการต่อสู้ของชาวนครศรีธรรมราชกับกองทหารอาสาญี่ปุ่นไว้ว่า การต่อสู้ครั้งนั้นโหดร้ายมาก เลือดนองท่วมเมือง ทั้งสองฝ่ายต่างล้มตายเป็นจำนวนมาก แต่กองทหารญี่ปุ่นเชี่ยวชาญกว่า จึงฆ่าชาวนครตายเป็นเบือ

เมื่อสู้กับกองทหารญี่ปุ่นไม่ได้ ชาวนครจึงทิ้งเมืองไปอยู่ป่า จนนครศรีธรรมราชกลายเป็นเมืองร้าง ใช้กองโจรคอยซุ่มโจมตีทหารญี่ปุ่นที่ออกมาหาเสบียง ทำให้ทหารญี่ปุ่นพากันอดอยาก เมื่อไม่เห็นทางจะรีดนาทาเร้นกับชาวเมืองต่อไป ออกขุนเสนาภิมุขจึงพาทหารลงสำเภาหนีไปเมืองเขมร ปิดฉากเรื่องราวของอดีตคนหามเกี้ยวขุนนางญี่ปุ่นในประวัติศาสตร์ไทย

การผจญภัยของยามาด้า เป็นหนังสือและภาพยนตร์ออกมาหลายเรื่องในโลก

กำลังโหลดความคิดเห็น