xs
xsm
sm
md
lg

ชิมรส ชมลีลา ส้มตำล้านวิว "ต๊อกแต๊ก - พรปวีณ์" ตำแรดแซ่บนัวยอดฮิต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online



หากใครที่เคยมีโอกาสไปเที่ยวตลาดน้ำคลองลัดมะยมในย่านตลิ่งชัน กรุงเทพฯ นั้น นอกจากจะได้ความร่มรื่นในระหว่างไปท่องเที่ยวแล้ว แน่นอนว่า ผู้คนที่ไปเยือนสถานที่แห่งนี้คงจะต้องเดินผ่านร้านส้มตำร้านหนึ่ง นั่นคือ ‘ร้านส้มตำแรดแซ่บนัว’ แน่นอน เพราะนอกจากรสชาติที่อร่อยถูกปากใครหลายคนแล้วนั้น ลีลาท่าทางของเจ้าของร้านรวมไปถึงการแต่งตัวของเธอ เรียกว่าชนะใจทั้งลูกค้าขาประจำและขาจรไปพอสมควร จนสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะให้กับทุกคนที่มาเยือนและเดินผ่านร้านดังกล่าวนี้

แต่หากเผยเบื้องลึกตัวตนแล้วนั่น เธอคนนี้คือ “ต๊อกแต๊ก-พรปวีณ์ กิจทรัพย์บารมี” ข้าราชการตำแหน่งเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีชำนาญการ ประจำกองคลัง กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ผู้ซึ่งใช้เวลาว่างจากการทำงานประจำ ผันตัวเป็นแม่ค้าขายส้มตำในตลาดน้ำแห่งดังกล่าว ซึ่งนอกจากจะสร้างรายได้เสริมให้กับเธอแล้ว ยังสามารถแบ่งปันความอารมณ์ดีของเธอให้กับทุกคนที่มาเยือนร้านแห่งนี้ จนอาจจะเรียกได้ว่า สุขทั้งท้องและรอยยิ้มได้ในคราวเดียวกันนั่นเอง

• อยากให้คุณช่วยเล่าประวัติคร่าวๆ หน่อยครับ

เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานีค่ะ ที่บ้านคุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำนา เราก็ใช้ชีวิตแบบเด็กบ้านนอกทั่วไปคนหนึ่ง วันจันทร์ถึงศุกร์ไปโรงเรียน พอวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ก็ช่วยที่บ้านทำนา อีกอย่างเราก็มีความชอบที่จะค้าขายด้วย เพราะว่าเราเริ่มขายของมาตั้งแต่ ป.2 คือคุณตากับคุณยายจะปลูกผักปลูกแตงให้ไปขายที่ตลาด แล้วคุณตาก็จะให้เราออมเงินวันละ 100 บาท คือเวลาที่ไปตลาด คุณตาก็จะให้เงินเราไปตลาด 60 บาทบ้าง 100 บาทบ้าง แล้วเราก็จะไปขายของที่ตลาดตั้งแต่ตีสอง-สาม จากนั้นก็ไปโรงเรียนต่อ หลังจากเรียนจบ ม.ต้น เราก็มาเลือกเรียนสายพาณิชย์ เพราะคิดว่าเรียนมาเพื่อต่อยอดในการค้าขาย เพราะว่ายังไม่ได้คิดอะไร (หัวเราะเบาๆ) จนพอเราเรียนจบ ปวช. เราก็มีความคิดว่าจะหยุดเรียน เพื่อมาทำงานที่โรงงานก่อน 1 ปี แล้วค่อยกลับมาเรียนใหม่ จนกลับมาเรียน ปวส. ใหม่จนจบ แล้วสามารถสอบบรรจุเป็นข้าราชการตั้งแต่อายุ 21 ปี ได้เลยค่ะ แต่ก็เหลือแค่เทอมเดียวก็ไปเรียนช่วงเสาร์-อาทิตย์ จากนั้นเราก็ทำงานบรรจุเป็นข้าราชการ

หลังจากนั้น เราก็เรียนที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จนจบปริญญาตรีมา 3 สาขา คือ ด้านบัญชี การจัดการ และรัฐประศาสนศาสตร์ เพราะว่าเราก็ไม่อยากรบกวนทางบ้านเนอะ แล้วเงินเดือนข้าราชการ สมัยบรรจุใหม่ๆ ก็ได้ประมาณหมื่นต้นๆ แต่เราก็ต้องอดออมส่วนหนึ่งไว้เรียน อีกส่วนก็เก็บ เราจะเป็นพวกเรียนเองและอ่านเอง ในระหว่างนั้น เราจะมีความหนักตรงที่เราอ่านหนังสือไม่ทัน แต่เราก็พยายามบริหารนะ แล้วช่วงนั้นเราก็เริ่มทำงานที่แรก คือที่เรือนจำเพราะสอบเป็นผู้คุมได้ เราก็ใช้เวลาอ่านหนังสือตอนเข้าเวร คือเราก็จะมีเป้าหมายในการเรียนอยู่แล้ว

• จากที่เล่ามาคร่าวๆ เรียกได้ว่าฐานะทางบ้านไม่สู้ดีนักประมาณนั้นมั้ย

ทางบ้านก็มีฐานะปกตินะคะ แต่เขาจะมีการสอนว่าต้องอดออม ใช้เงินให้เป็น คือเราอยู่กับคุณตา-คุณยายมาตั้งแต่เล็กเลย แล้วคำสอนของท่านที่ว่ามา ก็ทำให้เราทำงานทุกอย่าง เช่น รับจ้างบิดถั่ว วันละ 7 บาท หรือช่วงปิดเทอม ตาก็จะให้เก็บมะม่วงขาย แล้วเอาเงินมาฝากเป็นของตนเอง จริงๆ คุณตาก็สอนหลานทุกคนแหละ แต่เราจะอยู่กับพวกท่านมากกว่า แล้วเราก็จะคิดเสมอว่า เราต้องหาเงินเองนะ ซึ่งหลานๆ ทุกคน ก็จะมีความขยัน แต่ตัวเราจะขยันกว่า เพราะเราทำงานแล้วได้เงินจากการทำงาน แล้วเราก็จะเอาเงินจากตรงนั้นไปฝากบัญชีออมทรัพย์ทุกวัน

• พอเรียนจบในระดับมหาวิทยาลัย ชีวิตของคุณเป็นยังไงต่อครับ

ตอนที่เราทำงานที่แรกที่เป็นผู้คุม เราพบว่า มันไม่ใช่ทางของเรา คือแม้ว่าเราสอบติดได้ แต่ด้วยเพศสภาพของเรา จะให้ไปคุมนักโทษเหรอคะ การถูกต่อต้านมันก็มีบ้าง ซึ่งช่วงเวลานั้นเรียกได้ว่ากดดันในเรื่องงานมาก เนื่องจากเราต้องไปคุมผู้ต้องขังที่เป็นผู้ชาย แล้วมันก็มีบ้าง ที่ทุกคนไม่ให้การยอมรับ แต่เราก็ทำงานนี้ได้ถึง 2 ปี เราเลยพยายามที่จะสอบเปลี่ยนไปทำงานที่อื่น จนในที่สุดเราก็สามารถสอบเป็นข้าราชการของกรุงเทพมหานครได้ ตอนปี 2552 เราก็ทำงานไป จนกระทั่งปี 2553 ที่มีสถานการณ์ คุณยายเห็นว่ามีความน่ากลัว แนะนำว่าให้ย้ายที่ทำงานมั้ย เราตัดสินใจว่า ไม่ย้าย เพราะเราอยากอยู่กรุงเทพฯ แต่ท่านก็บอกว่า ถ้าอย่างงั้น ให้ย้ายไปหน่วยงานที่สามารถย้ายไปทำงานในส่วนภูมิภาคนะ จนในที่สุด เราก็ได้มาทำงานที่กรมการปกครอง ในส่วนของฝ่ายจัดการเงินเดือนค่าจ้างและบำเหน็จบำนาญค่ะ

สำหรับหน้าที่การงานในปัจจุบันนี้ หลักๆ ก็จะเป็นในเรื่องของการจ่ายเงินเดือนของข้าราชการในกรมเราค่ะ จ่ายเงินเดือนข้าราชการ 15,000 คน แล้วก็จะดูในเรื่องของการรักษาพยาบาล ซึ่งเราต้องมาจัดการในส่วนของทั้งประเทศนะคะ แต่ว่าจะมีการแบ่งกันกับคนอื่นๆ เราก็จะรับผิดชอบประมาณ 3,000 กว่าราย แล้วก็จะมีช่วงที่ทำกันไป แต่เราจะเป็นคนที่มีการวางแผนในการทำงาน แล้วทำงานเร็ว อีกทั้งจะได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า ในการบรรยายข้างนอกในเวลาที่มีการอบรมบ้าง จริงๆ ในการทำเรื่องเงินก็ถือว่าหนัก แต่เรามีจังหวะในการทำงานว่า เราควรจะมีการตรวจสอบและเช็กยังไง เพื่อไม่ให้งานมันผิดพลาด ส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยผิดพลาดเท่าไหร่ 99.99 เปอร์เซ็นต์ แต่โดยพื้นฐานที่เรามีอยู่แล้ว ทำให้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แล้วการทำงานของเราจะเป็นแบบว่า เราจะไม่ทำงานแบบจาก 1 ไป 2 สมมติว่า ถ้ามันมี 5 ขั้นตอน เราจะทำงานข้ามจากหนึ่งไปห้าก่อน แล้วค่อยย้อนกลับมา คือเราทำงานไม่เหมือนคนอื่น อย่างเวลาทำงบ เราจะทำงานอีกแบบเลย เช่นเราจะหายอดงบก่อน แบบบัญชีทั้ง 2 ฝั่งตรงกัน ถ้าเราหายอดได้ เราค่อยมาย้อนทำทีหลัง ซึ่งการทำงานลักษณะอย่างนี้ มันก็แล้วแต่คนนะ เพราะเราเชื่อว่า ถ้าไม่ทำแบบที่เราทำ มันก็อาจจะไม่เป๊ะเท่าไหร่

• คุณทำงานเป็นข้าราชการซึ่งคนให้การยอมรับอยู่แล้ว อยู่ดีๆ ทำไมถึงมาหารายได้เสริมครับ

คือเราคิดว่าถ้าเรามีเงินเดือนที่เข้าบัญชีอยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยากที่จะกินหรือเที่ยวมากกว่านี้ล่ะ เพราะเงินเดือนที่ได้มามันก็ต้องมีการออมบ้างอยู่แล้ว แล้วมีค่าใช้จ่ายอีก เราก็เผื่อว่าอยากกิน อยากเที่ยว อยากไปเที่ยวต่างจังหวัดบ้าง เราจะทำยังไงในการที่จะหาเงินตรงนี้ โดยที่ไม่กระทบเงินออมของเรา เราก็เลยมีความคิดว่าจะมาหารายได้เสริมค่ะ แล้วเราก็จะคิดไปแบบตื้นๆ ก่อน ทั้งๆที่การคิดอย่างงี้ เราก็ต้องคิดก่อนว่าเราจะขายอะไร แต่เราจะคิดว่า คนจะซื้ออะไร เพราะเรามองในเรื่องการตลาดที่ไม่เหมือนชาวบ้านเขา (หัวเราะ) บางคนก็จะบอกว่าจะขายอาหารญี่ปุ่นหรืออย่างอื่นบ้าง แต่เราจะคิดว่าต้องมองตลาดปัจจุบันว่าคืออะไร อย่างเช่นว่า ถ้าเราไปขายของหน้าโรงเรียนประถม เธอจะไปขายอาหารญี่ปุ่นได้มั้ย ไม่ได้ เราต้องขายหมูปิ้งนะ ขายอมยิ้มนะ เพราะเป็นโรงเรียนประถมไง มันก็ต้องคิดนะ เพียงแต่ว่าเราก็ต้องคิดให้ตอบโจทย์กับเขาแค่นั้นเอง เหมือนกับที่เราขายส้มตำที่มันได้ทุกกลุ่มเป้าหมาย คือครบเลย มันก็เป็นอาหารที่คนทุกคนต้องกินทุกวัน

• ทีนี้อยากให้ช่วยเล่าถึงจุดเริ่มต้นในการเป็นแม่ค้าหน่อยครับ

ตอนแรกเราขายชา-กาแฟก่อนค่ะ แต่ก่อนหน้าที่เราจะตัดสินใจว่าจะขายอะไร เราก็ไปเรียนหลักสูตรสั้นๆ ที่ทางกรุงเทพฯ เขาจัดให้ เรียนหลักสูตรต่างๆ เรียนชา กาแฟ เรียนขนม เรียนตามสูตรที่เขาสอนนี่ละค่ะ พอเรียนจบเรียบร้อย เราก็จะไปขายที่ตลาดแล้ว พอดีมีคนมาบอกเราว่า ช่วงนั้นตลาดน้ำมันบูม เราก็เล็งแล้วว่า ถ้าเราไปขายตอนเย็น เราก็ไม่ว่าง เพราะว่าเราทำงาน เราเลยขายได้แค่เสาร์-อาทิตย์ ปัญหาคือ เราจะไปลงในตลาดไหนบ้างที่ขายได้ทั้งวัน เราก็เลยได้ไปลงที่ตลาดน้ำ แล้วก็ขายชากาแฟก่อน ก็พอขายได้ ซึ่งปกติ พวกชากาแฟ จะได้กำไรอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ แต่ของเราไม่ เราจะได้ประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าน้อยมากในการขายของนะ แต่เราคิดว่าให้คนติดของเรา เราก็ได้กำไรพอประมาณ ซึ่งทำได้ประมาณ 1 ปี ซึ่งจริงๆ เราก็อยากขายส้มตำอยู่แล้วแหละ แต่ว่าในตอนนั้น มันไม่มีที่ให้ลง เพราะมีคนมาขายก่อนแล้ว เราเลยเอาเครื่องดื่มเราไปขายก่อน แต่ที่มาเปลี่ยนเป็นขายส้มตำ เพราะว่าเขาให้ขายพอดี (หัวเราะ) ซึ่งการขายเครื่องดื่มก่อนหน้านี้ก็เหมือนกับให้เราไปรู้จักตลาดก่อน

• ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมาขายส้มตำ คุณก็มีการคิดสูตรเองด้วย

ใช่ค่ะ คือเราคิดว่า เราจะไม่ขายแค่ตำไทย กับ ตำปูปลาร้าอย่างเดียว จะต้องตำอะไรที่แปลกและใหม่ คือเป็นสูตรที่เป็น signature ของร้านเราเลย ว่าต้องขายอะไรที่มันเด็ดกว่าเขา สิ่งไหนเราเด่น เราดึงออกมา คือเราทำกุ้งเป็น เพราะที่บ้านจะสอนในเรื่องการทำกุ้งอยู่แล้ว ทำกุ้งที่ไม่คาว เราก็เลยดึงกุ้งมา ปูม้า มันแพง เราทำเป็นแต่มันยาก เราต้องคัดอีก เราไม่ทำ จบ เราขายแค่กุ้ง ง่ายๆ เราไม่ต้องสร้างทางเลือกให้กับลูกค้า ส่วนพริก เรามีแค่พริกแห้งเลย พริกอย่างอื่นเราไม่เอา มะกอกเราไม่กิน เราก็ไม่ขาย หอยดองเรากินแล้วเป็นผื่น ก็ไม่ขาย และเป็นร้านส้มตำที่ไม่มีผัก

ซึ่งจากที่ว่ามานี้ เราก็ยอมรับว่าค่อนข้างเอาแต่ใจเหมือนกัน แต่การเอาแต่ใจตัวเองนี่คือต้องอยู่ในพื้นฐานที่ลูกค้ายอมรับได้นะ ไม่ใช่ขายส้มตำแบบไม่มีเส้น คือเป็นส้มตำที่ไม่มีผัก เพราะเราคิดว่าการที่จะมาจัดผักมันมีได้ แต่เยอะเกินไป เราเอาผักต่างๆ มาใส่ แล้วรู้สึกว่ามันไม่ได้ อย่างเมื่อก่อนเราขายตำทะเล มันมีกุ้ง มีปูม้า มีปลาหมึก แล้วเราใช้ปูแบบขนาดใหญ่เลย ปลาหมึกของดีแต่ถูกสุด รองจากปูม้า เชื่อมั้ยว่า คนไม่เอาปลาหมึกเลย ซึ่งเราแพ็กไว้แล้ว ราคาไม่เท่ากัน แล้วเวลาที่เราหยิบไปมา แบบน้องคิดราคาไปเลย แล้วเราจะคิดเท่าไหร่ล่ะ เราเลยตัดปัญหาว่า ไม่ขายตำทะเลเลย จบ ขายแต่ตำกุ้งอย่างเดียว อีกอย่างเรามีการคำนึงถึงด้วย ถ้าคิดว่าอันไหนเด่น ของเราต้องขายได้ คือก็อย่างที่บอก เรามีเงื่อนไขเยอะ แต่เราก็คำนึงถึงลูกค้าด้วย พอเราสร้างของให้ลูกค้าว่าเรามีของครบนะ เรามองว่าตัวนี้ขายได้มั้ย กลุ่มลูกค้ากินอะไร อย่างตำข้าวโพดเราก็ไม่มี เพราะว่ายอดสั่งไม่ถึงเป้าที่เราวางไว้ ตัดทิ้ง หรือตำมะม่วง คนกินเยอะมั้ย เยอะ แต่ว่ามันเสียเวลา แล้วมันต้องใช้การสับ จานต่อจาน ด้วยความเร็ว แล้วคนมันเยอะ เราเลยคิดว่าต้องเอาเมนูที่มีความเร็วหน่อย

• ลองผิดลองถูกอยู่นานมั้ยครับ

เราเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นตัวเอง พอสูตรลงตัว เราตำเลย เรามีสูตรเด็ดอยู่ที่กุ้งสด เพราะเรามั่นใจว่ากุ้งเราไม่คาว เราโชว์เลย ตอนแรกสุดเราไม่ขายเยอะนะ เราขายวันละ 3 กิโลกรัม เฉลี่ยขายประมาณเกือบ 20 จาน เราใช้วิธีเปิดจองเลย แบบว่า เราขายส้มตำกุ้งสด แค่ 20 จานนะ ใครจะกินจองล่วงหน้า เป็นการเร่งยอดขาย คือถ้าเป็นลูกค้าขาจรก็ไม่ได้กินนะ เพราะฉะนั้น เขาต้องรีบมา และโทร.มา ทำให้ของเราหมด เพราะว่าเราขายแค่ 2 วันเอง ซึ่งต้องโทร.จองนะ แต่อย่างอื่นก็มีนะ ซึ่งถ้าหมดก็จบเช่นกัน หมดแล้วหมดเลย มันทำให้ลูกค้ามีความกระหายไง ซึ่งถ้าบางเคสที่จะซื้อเยอะ เราก็จะบอกเขาเลยว่า จะจำกัดแค่คนละ 2 จาน เพราะเราบอกเลยว่า แบ่งให้เพื่อนๆ กินบ้าง ซึ่งแรกๆ เราก็จะเป็นอย่างงี้ นอกจากนี้ เราก็ขายในโลกออนไลน์ ทั้ง เฟซบุ๊ก และไลน์ เราก็โพสต์ไป มีรีวิวไป ถึงแม้ว่าร้านเราสามารถอยู่ในดงป่าช้า แต่อย่าลืมว่าคนไปเดินตลาดน้ำ ก็จะมีทั้งกลุ่มวัยรุ่น วัยทำงาน เขาต้องตามเรา แล้วต้องใช้สื่อให้เป็นประโยชน์ ซึ่งตรงกับยุคสมัยนี้พอดี

• จากนั้นมาก็ขายส้มตำมาเรื่อยๆ จนวันที่ถูกถ่ายคลิป และเผยแพร่ออกไป ตอนนั้นมีความรู้สึกยังไงบ้างครับ

เราคิดตั้งแต่ก่อนหน้านี้แล้วล่ะ ว่าจะต้องถูกพูดถึงแน่ๆ อย่างเพื่อนสนิทเรา เขาโทรศัพท์มาหาเราแล้วร้องไห้เลย ประมาณว่า นึกไม่ถึงว่าจะมีวันนี้นะ เพราะพวกเขาจะบอกเราเสมอว่า ถ้าขายของกินแล้วไม่อร่อย อย่าขาย อายเขา อย่างคุณยายเราก็จะบอกเช่นกันว่า ถ้าเราขายของกิน คนจะสรรเสริญเรา เราเป็นคนมีบุญนะ ถ้าวันหนึ่ง เราขายของกินแล้ว แล้วบอกเขาว่า อย่าไปซื้อของร้านอื่นเลย เราบาปนะ เราอย่าขายเลย อายเขา ถ้าเราขายของดีๆ ยังไงเขาก็มา เราก็จะถูกปลูกฝังอย่างงี้อยู่แล้ว แล้วเราก็คิดต่อไปว่า พอเรามีชื่อเสียงปุ๊บ เราจะเตรียมการยังไงต่อ ตรงนั้นคือเครียดมาก คืนแรกเราเครียดจนนอนไม่หลับเลย เพราะเราไม่รู้ว่า จังหวะต่อไปจะยังไงต่อ แล้วคนที่รู้จักเรา เขาก็จะบอกเราว่า เตรียมตัวเดินสายเลยนะ แต่อย่าไปถามเรื่องค่าตัวเด็ดขาด รายการไหนติดต่อเราก่อน ก็ตามคิวเลย และอย่ารับงานต่อเนื่องกันมาก ซึ่งแรกๆ เรารับ เช้า-บ่าย จนไม่ไหวเลย ร่างพัง

• อีกมุมหนึ่งก็เป็นภาพสะท้อนด้วยภาพลักษณ์การเป็นข้าราชการด้วย

ใช่ค่ะ ผลตอบรับก็ค่อนข้างดีนิดนึง ว่าเราไม่ได้ขี้เกียจนะ แล้วประวัติเราก็ดี บางคนก็มาถามเหมือนกันว่า คุณทำงานแล้วไม่พอใช้เหรอถึงมาขายของ เราเลยบอกเลยว่า ต่อให้มีเงิน 500 หรือ 1,000 มันไม่ได้อยู่ที่มูลค่าของเงิน มันขึ้นอยู่กับตัวเราว่า เราจะบริหารการเงินที่เราจะใช้ยังไง อันนี้สำคัญมากกว่า ถามว่าในแต่ละเดือน เราพอใช้มั้ย ตอบเลยว่ามีพอใช้ แต่ถ้าเราอยากหาได้มากกว่านี้ละ ถ้าเราอยากไปเชียงใหม่ล่ะ เราจะทำได้มั้ย คือเราจะคิดไม่เหมือนชาวบ้านเขา คิดแบบนี้ตลอด อีกอย่าง เราก็คิดเสมอว่า เราเป็นพี่คนโตนะ ต้องดูแลพ่อแม่ และน้องเรานะ เผื่อวันหนึ่งพ่อแม่ไม่สบายล่ะ จะทำยังไง ประมาณนี้ คือถ้าเรามีโอกาสหาเงินได้ เราก็จะทำเพื่อพวกเขา ซึ่งถ้าพ่อแม่หรือน้องเรามีปัญหาอะไร เราก็ช่วยเหลืออย่างเต็มที่

• ในสถานะการงานของคุณที่เป็นข้าราชการด้วย ก็ถือว่าเป็นการใกล้ชิดประชาชนด้วยมั้ยครับ

ในการทำงานปกติ เราก็ถือว่าได้รับการฝึกในหน้างานอยู่แล้วนะ อย่างตอนทำงาน ผู้ที่มารับบริการ เขาจะด่าเรา เราต้องนิ่ง ถ้าอดทนไม่ได้ก็เดินหนีเอา หรือฉีกสูตรคือ อีกแป๊บนึงนะคะ (หัวเราะ) แต่ว่าเราก็จะยังรับมือไหวหมดทุกคน แต่ถ้าหนักๆ หน่อย ก็จะเป็นบัตรคิวบิน นอกนั้นลูกค้าก็จะจัดการกันเอง เราก็จะเต้นจะรำอะไรของเราไป กลบเกลื่อนไป (หัวเราะอีกครั้ง) แต่ถามจริงๆ เราก็มีท้อนะ คือเราเป็นแม่ค้า แล้วก็ไม่ได้ลำบากถึงขนาดกัดก้อนเกลือกินนะ แต่บางทีเวลาที่เหนื่อยๆ แล้วเจออารมณ์จากลูกค้ามา แต่โดยรวมไม่ค่อยเจอหรอก เขาก็จะบอกว่า แม่ค้าสู้ๆ นะ ประมาณนี้

• แน่นอนว่าการเป็นตัวของตัวเองก็ส่งผลดีทั้งสองหน้าที่

ถูกต้องค่ะ เรารู้ว่าจุดเด่นของเรามีอะไร เราก็ต้องดึงออกมา แต่จุดด้อยเราก็มีเหมือนกัน เราจะโมโหง่าย แต่พอทำหน้าที่แม่ค้าปุ๊บ หน้าของคุณยายก็จะลอยมาเลย และเราจะใส่เข็มขัดของคุณยายตลอดเลย ซึ่งท่านก็บอกเราเสมอว่าให้เราใจเย็น ท่านก็บอกเราว่า ให้นึกถึงเขาไว้นะ เพราะเขาคือพระเจ้า เอาเงินมาให้เรานะ ถึงแม้ว่าเขาจะด่าเราก็เถอะ แล้วเวลาโมโห เราก็จะกินกล้วย แต่บอกลูกค้าว่า พักทาลิปสติกซักครู่นะ แต่ตอนนี้เขาก็น่าจะรู้แล้วล่ะ แบบให้เราพักในระหว่างทำซักครู่ คือเราอยากให้การมาไกลของเขา คือร้านเราขายบริการเสิร์ฟความสุข อันนี้คือสิ่งสำคัญ ซึ่งเราก็ประทับใจกับลูกค้าหลายๆ คนนะ อย่างมีอาม่าที่นั่งรถเข็นมา ลูกเขาที่เป็นลูกค้าก็จะไลน์มาถามเราว่า วันนี้ขายมั้ย คือเขาก็รวยมากนะ แต่เขาก็มาหาเรา หรือ อย่างบางคนที่เกษียณแล้ว เขาก็จะมาคุยกับเรา แล้วเขาก็ได้อะไรกลับไปในทุกครั้ง ซึ่งพอเราเจอแบบนี้เข้าบ่อยๆ เราก็สุขใจ

• ขณะเดียวกัน คุณเองก็มีทั้งพระเดชและพระคุณด้วย คุณสร้างความสมดุลกับตรงนี้ยังไงบ้างครับ

อย่างพระคุณนี่คือ เราก็จะไม่ลืมบุญคุณของแม่ค้า เพราะว่าเราก็เติบโตมาจากสิ่งนี้ เพราะว่าเราขายในโซนใน ก็จะมีแต่เพื่อนๆแม่ค้ากิน เราก็จะขอความร่วมมือกับเพื่อนๆ แม่ค้าต่างๆ เพื่อลดแรงเสียดทานจากกลุ่มลูกค้า แต่ว่าบุญคุณที่เขาช่วยเหลือเรา ช่วยโฆษณาให้เรา เราก็ไม่เคยลืมนะ เราก็พร้อมรับใช้ทุกคนค่ะ อย่างบางคนให้เราไปทำงานนอกสถานที่บ้าง เราก็ไปค่ะ ส่วนใหญ่ก็ไปตามงานบุญ งานกุศล เราก็ไป ซึ่งเราก็มีความเป็นตัวเองอยู่ว่า ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็จะบอกเขาตรงๆ เลยค่ะ เพราะไม่อย่างงั้น เราก็กลายเป็นคนโลเลไป แล้วอีกอย่าง เวลาที่เราบอกทีมงานเรา เราก็จะบอกเสมอเลยนะว่า แม้ว่าจะไม่ได้กำไร แต่ว่ารายได้ก็กระจายทั่วกัน

• ความคาดหวังข้างหน้าของทั้งสองหน้าที่นี้ครับ

ในเรื่องของการเปิดร้านเต็มตัวนั้น บอกได้เลยว่าไม่ทำ เพราะว่าเราต้องทำงานประจำ ซึ่งที่บ้านก็มีให้ลาออกมาเปิดร้านเต็มตัว แต่เราคิดว่ายังไม่ทำ เพราะว่ามันจะใช้ร่างกายเหนื่อยเกินไป เราคิดว่าเราจะขายเท่าที่แรงมีนี่แหละ เพราะความตั้งใจของเราแรกสุดคือ งานอดิเรก ซึ่งถ้าเราคิดจะขายส้มตำนั้น ทำไมเราถึงไม่ขายตั้งแต่เราเรียนจบเลย อีกอย่างคุณตาคุณยายก็เห็นว่า ควรจะรับราชการก่อน แต่การขายส้มตำ เราก็ยังจะทำต่อไป แล้วก้าวต่อไปของธุรกิจ ก็คิดว่า จะส่งแบบ Line Man ด้วย แล้วก็มีความคิดว่าจะทำน้ำปลาร้าแซบนัวเกิดขึ้น แต่น้ำปลาร้า เราก็จะไม่ขายเยอะด้วย ทำแบบพอเพียง ทำแบบน้อยแต่ชัวร์ดีกว่า ถามว่าทำไมไม่ทำแฟรนไชส์ ถ้าเราจด ไม่เกิน 3 เดือน มีเงินเข้ามาเยอะเลยนะ แต่เราไม่ทำ เพราะเรากลัวว่าถ้าทำแล้วไม่มีคุณภาพล่ะ เราอยากให้ทุกคนจดจำหน้าเรา แล้วนึกถึง ‘แรดแซ่บนัว’ ในสาขาเดียว และเป็นสาขาที่คุณภาพเหมือนเดิม คือถ้าเราหมดแรงไป ร้านเราก็อาจจะเป็นตำนานก็ได้ บางคนก็ถามนะ ในช่วงที่มีชื่อเสียง ทำไมไม่กอบโกยล่ะ เราคิดว่า ถ้าเรามีเงินเยอะ แต่ทำของออกมาแล้วไม่มีคุณภาพ เราอย่าทำดีกว่า เราทำแค่กำไรวันละนิดหน่อย เรามีความสุขมากกว่า ความสุขของเราจริงๆ คือ สุขที่เราทำ และสุขในตัวเองมากกว่า
เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : ธัชกร กิจไชยภณ

กำลังโหลดความคิดเห็น