ขณะนี้มีข่าวคนดังๆของเมืองไทย ที่ไม่คาดคิดว่าจะต้องมี “ติดคุก” ได้ถูกชะตากรรมผลักไสให้เข้าไปนอนในเรือนจำกันหลายคน เลยมาชวนคุณๆให้ทันสมัยไปเที่ยวเรือนจำที่ใจกลางกรุงเทพฯกันบ้าง ที่นี่เคยเป็นแดนมหันต์โทษมาเป็นเวลากว่า ๑๐๐ ปี และมีโอกาสได้ต้อนรับบุคคลสำคัญของเมืองไทยเข้าไปพักสงบใจกันหลายคน รวมทั้งพระราชโอรสองค์ที่ ๕๒ ของรัชกาลที่ ๕ และจอมพลคนแรกของระบอบประชาธิปไตย แต่วันนี้ถูกปลดปล่อยให้เป็นแดนสวรรค์ไปแล้ว เปิดให้ประชาชนเข้าไปพักผ่อนสูดอากาศอย่างโล่งใจ ไม่ต้องระทมทุกข์เหมือนคนที่เคยอยู่มาในอดีต
ทั้งนี้เมื่อปี ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริว่า
“การคุกการตะรางเป็นของสำคัญของประเทศ สมควรที่จะได้สร้างสถานที่จัดระเบียบให้เป็นปึกแผ่น”
จึงมีพระราชกระแสรับสั่งให้ พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง (เนียม) เจ้ากรมกองตระเวน ไปดูคุกและโรงพยาบาลของเมืองสิงคโปร์ เพื่อเอาแบบอย่างมาสร้างที่กรุงเทพฯ แทนคุกเก่าที่วัดโพธิ์
จากนั้นโปรดเกล้าฯพระราชทานพระราชทรัพย์ให้จัดซื้อที่ดินบริเวณตรอกคำ ถนนมหาไชย แขวงสำราญราษฎร์ เขตพระนคร ได้เนื้อที่ ๒๙ ไร่ ๓ งาน ๗๒ ตารางวา ให้ มิสเตอร์เกรซี่ นายห้างอังกฤษ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างเรือนจำในระบบทันสมัย ขนานนามว่า “คุกมหันตโทษ” แต่ชาวบ้านเรียกกันว่า “คุกใหม่” ขณะเดียวกันก็โปรดเกล้าฯให้จัดซื้อที่ดินข้างศาลพระราชอาญา สร้าง “ตะราง” ขึ้นอีกแห่ง
“คุก” ก็คือที่คุมขังผู้ต้องโทษที่ศาลพิพากษาความผิดแล้ว
ส่วน “ตะราง” ก็คือที่ควบคุมตัวผู้อยู่ในระหว่างดำเนินคดี
ต่อมา “คุกมหันตโทษ” แห่งนี้ ได้เปลี่ยนชื่อไปหลายชื่อตามยุคสมัย เป็น เรือนจำลหุโทษ เรือนจำคลองเปรม เรือนจำนครหลวงกรุงเทพธนบุรี และสุดท้ายคือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร
ต่อมาในปี ๒๕๓๕ กระทรวงมหาดไทยเห็นสมควรย้ายเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ซึ่งคับแคบและขยายไม่ได้ แล้วปรับปรุงพื้นที่ให้เหมาะสมกับบรรยากาศของกรุงรัตนโกสินทร์ ทั้งเพื่อให้เรือนจำใหม่อยู่ใกล้กับศาลอาญา ซึ่งย้ายไปอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษก สะดวกต่อการควบคุมผู้ต้องหาไปขึ้นศาล จึงย้ายผู้ต้องขังประมาณ ๔,๐๐๐ คน ไปอยู่ที่ทันฑสถานวัยหนุ่ม ที่ลาดยาว บางเขน
มีผู้สนอความเห็นในการปรับปรุงสถานที่นี้ ให้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนในรูปแบบต่างๆ บ้างก็เสนอให้ทำเป็นอุทยานประวัติศาสตร์การเมืองในระบอบประชาธิปไตย เพราะสถานที่นี้เคยเป็นสถานที่คุมขังนักโทษการเมืองสำคัญหลายคน ในที่สุดคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้สร้างเป็นสวนสาธารณะ เพื่อน้อมเกล้าฯถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาศที่ทรงมีพระชนมายุ ๖๐ พรรษาในวันที่ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๓๕ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้าได้พระราชทานนามว่า “สวนรมณีนาถ” มีความหมายว่า “สวนแห่งพระนางผู้เป็นที่พึ่ง” โดยกรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบ กรุงเทพมหานครเป็นผู้ก่อสร้างด้วยงบประมาณของตัวเอง เป็นเงิน ๗๖ ล้านบาท
มีการรื้อทุบอาคารที่คุมขังของเรือนจำ ๗๗ หลัง คงสงวนไว้เพียง ๔ หลัง อยู่ทางด้านถนนมหาไชย ๓ หลัง และอาคารของแดน ๙ ด้านซอยพิพัฒน์ (ซอยร้านนายเหมือน) ๑ หลัง ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ ๕ ที่กรมศิลปากรขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอนุรักษ์ไว้ รวมทั้งคงป้อมและกำแพงบางส่วนไว้ โดยเน้นคุณสมบัติ ๒ ประการ คือ จัดเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจ เป็นปอดแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ เป็นที่ออกกำลังกายและจัดนิทรรศการต่างๆ อีกประการหนึ่ง เป็นการอนุรักษ์โบราณสถานของกรมราชทัณฑ์ จัดตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งการลงโทษจากอดีตถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นแหล่งความรู้ด้านนี้
จุดเด่นของสวนรมณีนาถซึ่งเป็นส่วนของการเฉลิมพระเกียรติ ก็คือ ประติมากรรมสังข์สัมฤทธิ์ เส้นผ่าศูนย์กลาง ๖๐ เซนติเมตร ภายในบรรจุยันต์มหาโสฬสมงคลและสังข์ของจริง วางอยู่บนพานซึ่งตั้งอยู่ในตำแหน่งสูงสุดของสวน น้ำพุที่ประกอบงานประติมากรรม มีความหมายแทนน้ำพระทัยของสมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่บริสุทธิ์ดุจสีของน้ำ ส่วนแปลงดอกไม้ที่ปลูกเป็นรูปทรงลำธาร เชื่อมบริเวณน้ำพุเฉลิมพระเกียรติกับบ่อน้ำพุด้านล่าง แสดงถึงน้ำพระทัยที่ทรงพระราชทานแก่พสกนิกรชาวไทย และบ่อน้ำพุด้านล่าง เปรียบกับเหล่าพสกนิกรที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพร้อมใจกันแซ่สร้องสรรเสริญ ป้อมยามกลางบ่อน้ำพุ เป็นตัวแทนของเหล่าผู้ที่กระทำความผิดต่อบ้านเมือง ซึ่งก็ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
อีกมุมหนึ่งมีรูปช้างสัดส่วนสวยงาม ลักษณะเป็นช้างหนุ่มแข็งแรง เป็นฝีมือปั้นของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เพื่อเป็นต้นแบบให้นำไปขยายประกอบการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ดอนเจดีย์ และสำหรับให้ลูกศิษย์ศึกษาโครงสร้าง สัดส่วน และกายวิภาคของช้าง
ภายในสวน นอกจากมีทางวิ่งออกกำลังรอบสวนแล้ว ยังมีอุปกรณ์ออกกำลังตามจุดต่างๆ ๘ จุด ทั้งยังมีเครื่องยกน้ำหนักเพาะกาย ลานสเก็ต และสนามบาสเกตบอลล์
ส่วนกลางสวน เป็นสนามหญ้าโล่ง ประดับด้วยไม้ดอกและไม้ยืนต้น ดูร่มรื่นเย็นสบาย จึงมีประชาชนมาพักผ่อนหย่อนใจ บ้างก็มาพักผ่อนนอนหลับ ปูผ้าโคนต้นไม้แล้วหลับอย่างมีความสุข บางคนก็มานั่งเงียบอยู่คนเดียว มองไปรอบๆอย่างเหม่อลอย เหมือนกำลังรำลึกถึงความหลังเมื่อครั้งชะตากรรมชักพามาอยู่ที่นี่
ถ้าจะไปเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจ ก็อย่าไปนั่งเหม่อลอยแบบนี้เข้าล่ะ คนเขาจะเข้าใจว่าเป็น “ศิษย์เก่า”
อาคาร ๔ หลังที่อนุรักษ์ไว้นั้น ๓ หลังที่อยู่ด้านถนนมหาไชย จัดเป็นพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของกิจการราชทัณฑ์ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน แสดงการประหารชีวิตด้วยวิธีตัดศีรษะจนถึงยุคใช้ปืนกล โดยปั้นเป็นหุ่นเหมือนของจริงทุกอย่าง รวมทั้งอาวุธที่ใช้ประหารและอุปกรณ์ทรมานให้รับสารภาพต่างๆ เช่น เบ็ดแขวนเกี่ยวคาง ที่ตอกเล็บ ที่บีบขมับ หีบทรมาณ ตะกร้อยักษ์ที่ตอกตะปูไว้ข้างใน เอาคนใส่แล้วให้ช้างเตะกลิ้งไปกลิ้งมา (ช่างคิดกันจริงๆ) กับอุปกรณ์ที่นักโทษทำขึ้นใช้ในการแหกคุก
ตึกอีกหลังที่อนุรักษ์ไว้ เป็นอาคารของแดน ๙ ตกแต่งใหม่ทาสีขาวน่าอยู่ แต่มองผ่านลูกกรงเข้าไปเห็นซอยเป็นห้องเล็กๆ แต่ละห้องมีประตูเป็นลูกกรงเหล็กแน่นหนา ถ้าเข้าไปอยู่คงอึดอัดแย่ โดยเฉพาะคนที่เคยมีอำนาจวาสนา แต่ก่อนใช้เป็นที่คุมขังนักโทษการเมือง มีบุคคลสำคัญระดับประเทศหลายคนเคยข้ามาอยู่ในห้องเหล่านี้ รวมทั้งพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมพระชัยนาทนเรนทร พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพลโทพระยาเทพหัสดิน อดีตแม่ทัพไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ซึ่งนำทหารไปรบในยุโรป ซึ่งต้องคดีกบฏด้วยกัน ถูกศาลพิเศษตัดสินประหารชีวิต แต่ในฐานที่เคยทำคุณงามความดีให้ประเทศชาติมาก่อน จึงลดโทษให้เหลือจำคุกตลอดชีวิต หลังจากนั้นไม่นาน จอมพล ป.พิบูลสงคราม จอมพลคนแรกในระบอบประชาธิปไตย เจ้าของฉายา “นายกฯตลอดกาล” ผู้สั่งกวาดล้างกบฏชุดนี้ ก็ต้องมาสงบสติอารมณ์ในตึกนี้เช่นกัน ในฐานะจำเลยในคดีอาชญากรสงคราม
เมื่อตอนที่ย้ายผู้ต้องขังมาจากคุกเก่าที่วัดโพธิ์ พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศวรฤทธิ์ ได้กราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯว่า ที่คุกวัดโพธิ์มี “เจตคุปต์” หรือ “เจตคุก” เป็นเทพารักษ์ที่มีหน้าที่รักษาเจ้าพนักงานคุก นักโทษนับถือกัน ถ้าย้ายคุกไปโดยไม่เชิญเทพารักษ์นี้ไปด้วย ก็จะเป็นที่ว้าเหว่ เห็นด้วยเกล้าฯว่าควรจะเชิญไปด้วย และเจาะกำแพงในประตูด้านถนนมหาไชยทำศาลไว้ตรงนั้น แต่เมื่อต้องย้ายเรือนจำนี้ไปอยู่คุกลาดยาว จึงมีการเชิญเจตคุกไปคุ้มครองที่ใหม่ด้วย ทิ้งไว้แต่ช่องที่เคยเป็นที่ตั้งศาลเก่า
สถานที่แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นคุกมหันต์โทษ แบกรับคนที่มีทุกข์ไว้จนแออัด วันนี้กลับสดใสรื่นรมย์ มีแต่ความสุข ความสบายใจ คนที่มีอำนาจล้นเหลือ กวาดล้างทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย วันหนึ่งกลับต้องเป็นฝ่ายเข้าไปนั่งกอดเข่าเจ่าจุกอยู่ในคุกเสียเอง อะไรๆมันก็เปลี่ยนไปได้ทั้งนั้น น้ำท่วมก็ต้องมีวันน้ำลดตอผุด...หนีคุกน่ะพอหนีได้ แต่หนีตะรางในใจ หนีไม่พ้นหรอกโยม