ตามโบราณราชประเพณีของประเทศในตะวันออก ถือกันว่า ถ้ากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกเกิดขึ้นในรัชกาล ก็นับได้ว่าเป็นผู้มีพระกฤษดาภินิหารและบุญญาธิการสูง เพราะช้างเผือกจะเกิดมาคู่บุญบารมีของกษัตริย์เท่านั้น แม้จะมีแค่เชือกเดียวก็ตาม
แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ พระมหากษัตริย์องค์ที่ ๑๕ ของกรุงศรีอยุธยา มีช้างเผือกคู่บารมีถึง ๗ เชือก จนได้รับพระราชสมัญญานามว่า “พระเจ้าช้างเผือก”
เรื่องนี้จึงเป็นที่เลื่องลือ และเป็นที่อิจฉาของกษัตริย์ในแว่นแคว้นใกล้เคียงไปตามกัน
แต่การมีช้างเผือกมากนี้ กลับเป็นผลร้ายต่อสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ไปประจวบเหมาะกับที่พม่าเกิดมีกษัตริย์ผู้ทรงอานุภาพที่สุดในประวัติศาสตร์ขึ้นมาถึง ๒ พระองค์ติดต่อกัน จึงต่างก็เอาเรื่องช้างเผือกมาเป็นข้ออ้างในการทำสงครามกับไทย
ในที่สุดกรุงศรีอยุธยาต้องเสียเมืองแก่พม่าเป็นครั้งแรก ก็ด้วยเรื่องช้างเผือกนี้
สงครามที่เกี่ยวด้วยเรื่องช้างเผือกครั้งแรกเกิดขึ้นในใน พ.ศ. ๒๐๘๖ ซึ่งเป็นเหตุให้ต้องสูญเสียสมเด็จพระสุริโยทัย สิ้นพระชนม์บนคอช้าง
แม้จะสูญเสียพระอัครมเหสี แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิก็ไม่ทรงท้อพระทัยในการสู้รบ นำปืนใหญ่ใส่เรือไปถล่มค่ายพม่า เพราะน้ำเหนือเริ่มบ่า ทำให้ขนปืนใหญ่ไปทางน้ำสะดวกกว่าทางบก อีกทั้งพระมหาธรรมราชา พระราชบุตรเขยที่ไปครองอยู่เมืองพิษณุโลก นำทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือลงมาช่วย พระเจ้าตะเบงชะเวตี้เกรงว่าจะถูกตีกระหนาบ จึงรีบถอนทัพกลับไป
พระราเมศวรกับพระมหินทร์เห็นทัพกรุงหงสาวดีถอยไป จึงยกทัพติดตามหวังจะตีกระหนาบกับทัพฝ่ายเหนือ แต่เมื่อยกไปถึงเมืองอินทบุรีก็ถูกพม่าซุ่มโจมตีจับทั้งสองพระองค์ได้
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงยอมส่งพระราชสาส์นไปขอตัวพระราชโอรส ซึ่งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ก็ยอมปล่อยให้มาแต่โดยดี พร้อมทั้งสั่งความให้ทูลพระราชบิดาว่า จะขอช้างเผือกสัก ๒ เชือก กำหนดมาด้วยว่าเป็นพลายศรีมงคลและพลายมงคลทวีป สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นว่าพระเจ้าตะเบ็งชะเวตี้มีพระราชไมตรีคืนพระราชโอรสมาให้ จึงสนองตอบให้คนคุมช้างเผือกทั้ง ๒ เชือกไปถวายขณะพักทัพที่เมืองชัยนาท แต่ทว่าช้างทั้งสองเกิดผิดกลิ่นควาญ อาละวาดไปทั้งกองทัพ ควาญพม่าก็เอาไม่อยู่ พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ผู้มีบุญไม่ถึง จึงจำต้องคืนช้างเผือกทั้ง ๒ เชือก
การที่พระเจ้าตะเบงชะเวตี้ถอยทัพจากกรุงศรีอยุธยาโดยไม่มีผลอันใดนี้ เกิดกิตติศัพท์ร่ำลือทั่วไปในทำนองเสื่อมเสียพระเกียรติ ว่าแพ้บารมีพระเจ้าช้างเผือก หัวเมืองประเทศราชต่างพากันกระด้างกระเดื่องไม่เกรงกลัวพระบรมเดชานุภาพเหมือนแต่ก่อน ต่อมาพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ยังติดสุราที่ได้รับการปรนเปรอจากทหารโปรตุเกสจนพระสติฟั่นเฟือน หัวเมืองมอญทั้งหลายจึงพากันแยกตัวเป็นอิสระ และในขณะที่บุเรงนอง มหาอุปราช ยกทัพไปปราบเมืองมอญนั้น ขุนนางข้าราชการจึงคบคิดกันลวงพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ไปคล้องช้างเผือกในป่า แล้วลอบปลงพระชนม์เสีย บุเรงนอง หรือ มังกยอดินนรธา จึงขึ้นครองราชย์
เมื่อปราบปรามหัวเมืองมอญที่กระด้างกระเดื่องอยู่ถึง ๓ ปี พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองก็กระเดื่องพระบรมเดชานุภาพยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ขึ้นไปอีก นับเป็นกษัตริย์ที่ทรงอานุภาพที่สุดในประวัติศาสตร์พม่า แต่คำสรรเสริญ “พระเจ้าช้างเผือก” ว่าเป็นผู้มีบุญญาธิการยิ่งกว่ากษัตริย์พระองค์ใด ก็ทำให้บุเรงนองร้อนพระเนตร จะยอมให้มีคู่แข่งพระบารมีไม่ได้
สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์ไว้ใน “ไทยรบพม่า” ว่า
“เหตุที่พม่าจะมารบกับไทยครั้งนี้ เป็นด้วยกิตติศัพท์ที่สรรเสริญพระเกียรติยศสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิว่ามีบุญญาธิการมาก ได้ช้างเผือกถึง ๗ เชือก เลื่องลือออกไปถึงกรุงหงสาวดี ฝ่ายพระเจ้ากรุงหงสาวดีก็มีอานุภาพมาก แต่เผอิญไม่มีช้างเผือก ครั้นได้ยินคำสรรเสริญสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิเสมอว่ามีบุญญาธิการยิ่งกว่าก็คิดริษยา เห็นว่าจะละไว้เป็นคู่แข่งไม่ได้ จึงคิดจะเข้ามาตีเมืองไทย แต่ทำนองความจะปรากฏแก่พระทัยว่า พวกมอญไม่ใคร่เต็มใจจะมาตีเมืองไทย เพราะเคยมาล้มตายได้ความลำบากมากมายเมื่อคราวก่อน พระเจ้าหงสาวดีฉลาดในราโชบายจึงทำเอาดีต่อไทย ให้ราชทูตเชิญพระราชสาส์นกับเครื่องราชบรรณาการเข้ามาถวายสมเด็จพระเจ้าจักรพรรดิ เป็นทำนองเจริญพระราชไมตรี...”
ในสาส์นของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองกล่าวว่า
“...ได้ข่าวเลื่องลือไปถึงกรุงหงสาวดีว่า สมเด็จพระเชษฐามีบุญญาธิการมาก มีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง ๗ ช้าง กรุงหงสาวดียังหามีช้างเผือกสำหรับพระนครไม่ ขอให้สมเด็จพระเชษฐาเห็นแก่ไมตรี ขอประทานช้างเผือกให้ข้าพเจ้าผู้เป็นอนุชาไปไว้เป็นศรีนครสัก ๒ ช้าง ทางพระราชไมตรีทั้ง ๒ พระนครจะได้เจริญวัฒนาการสืบไป...”
สมเด็จพระมหาจักรพรรดิรับสาส์นแล้วก็ทรงรู้ความนัย ธรรมเนียมประเพณีกษัตริย์ถือกันว่าช้างเผือกเป็นของคู่บารมี ไม่มีเยี่ยงอย่างที่กษัตริย์ผู้มีอิสระเสมอกันจะยกให้แก่กัน มีแต่เจ้าประเทศราชเท่านั้นที่ถวายให้กับกษัตริย์ผู้ปกครอง พระเจ้าบุเรงนองขอมาเช่นนี้ต้องมีเหตุซ่อนเร้นแน่ จึงเรียกประชุมขุนนางข้าราชการว่าควรจะทำประการใด ที่ประชุมมีความเห็นแตกเป็น ๒ ฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าควรให้ตามคำขอ เพราะถ้าไม่ให้พระเจ้าหงสาวดีก็จะถือว่าทำให้อัปยศอดสูและยกทัพเข้ามาแน่ ในขณะนี้ก็มีอานุภาพใหญ่หลวงยิ่งกว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เสียอีก ทั้งยังมีเมืองเชียงใหม่เป็นกำลัง ถ้าต้องรบกับพระเจ้าบุเรงนองก็ยากที่จะเอาชนะได้ เสียช้างไปแค่ ๒ เชือกก็ยังเหลืออีก ๕ เชือก และไม่ทำให้ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินต้องเดือดร้อน
ฝ่ายที่เห็นว่าไม่ควรให้ก็อ้างว่า การขอช้างเผือกมาเช่นนี้เป็นแค่อุบาย ถ้าให้ไปพระเจ้าบุเรงนองก็จะเห็นว่าเกรงกลัวในอำนาจ มีหรือจะหยุดอยู่แค่นั้น ยังไงก็ต้องรบอยู่ดี จะรบตอนนี้หรือจะรบตอนหน้าเท่านั้น การให้ช้างเผือกไปจะทำให้ไพร่พลเสียกำลังใจว่าเกรงกลัวพระเจ้าบุเรงนอง และที่ว่าพระเจ้าบุเรงนองตอนนี้มีกำลังเข้มแข็งกว่าพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ กรุงศรีอยุธยาก็เตรียมกำลังป้องกันพระนครเข้มแข็งกว่าตอนรบกับพระเจ้าตะเบงชะเวตี้เช่นกัน
ฝ่ายที่คัดค้านว่าไม่ควรให้นี้ แม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิทรงเห็นด้วย จึงตอบพระราชสาส์นไปอย่างนุ่มนวลว่า
“...ช้างเผือกย่อมเกิดสำหรับบุญบารมีของพระเจ้าแผ่นดินผู้เป็นเจ้าของ หากพระเจ้าหงสาวดีได้ทรงบำเพ็ญราชธรรมให้ไพบูลย์ ก็คงจะได้ช้างเผือกมาสู่พระบารมีเป็นมั่นคง อย่าได้ทรงพระวิตกเลย...”
พระราชสาส์นตอบของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ เข้าทางพระเจ้าบุเรงนองตามที่ทรงคาดไว้แล้ว จึงถือเป็นเหตุกรีฑาทัพถึง ๕ ทัพมาประชิดกรุงศรีอยุธยา โดยมีพระเจ้าเชียงใหม่เมกุฏิคุมกองเรือลำเลียงเสบียงจากเชียงใหม่ล่องมาตามลำน้ำปิง ทั้งยังเกณฑ์ให้เจ้าฟ้าไทยใหญ่เป็นกองพาหนะสมทบมาทุกกองทัพ
ศึกครั้งนี้ทั้งพระมหาธรรมราชาและสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเห็นว่าเกินกำลังที่จะรับได้ เพื่อมิให้อาณาประชาราษฎร์ต้องเดือดร้อน จึงต้องยอมเจรจากับพระเจ้าบุเรงนอง ซึ่งได้ขอช้างเผือกเพิ่มขึ้นเป็น ๔ เชือก ทั้งยังขอพระราเมศวรไปอุปการะเลี้ยงดูเป็นพระราชโอรส ขอพระยาจักรี สมุหกลาโหม และพระสุนทรสงคราม เจ้าเมืองกาญจนบุรี ซึ่งอยู่ในกลุ่มคัดค้านไม่ยอมให้ช้างเผือก ไปเป็นพี่เลี้ยงพระราเมศวรที่กรุงหงสาวดีด้วย ส่วนพระมหาธรรมราชาก็ถูกขอสมเด็จพระนเรศวรไปเป็นตัวปะกัน แต่อ้างว่าขอไปเป็นพระราชโอรส
สงครามครั้งนี้ต้องถือว่าไทยเป็นฝ่ายแพ้พม่า แต่ก็แพ้อย่างนิ่มนวลจากการเจรจายอมความซึ่งกันและกัน แต่ข้ออ้างในการทำสงครามก็ยังเป็นช้างเผือกเช่นเดียวกับครั้งพระเจ้าตะเบงชะเวตี้ ก่อนที่พระเจ้าบุเรงนองจะพิชิตได้เด็ดขาดตามความปรารถนาจะเป็น “ผู้ชนะสิบทิศ”ใน พ.ศ.๒๑๑๒