จากการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยประจำปี พ.ศ. ๒๕๖๐ นี้ จำนวนคนไทย ๗๖ จังหวัด มี ๖๕,๙๓๑,๕๕๐ คนแล้ว แต่ห้องจัดแสดงประวัติศาสตร์ชาติไทย ของพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ พระนคร ให้ข้อมูลว่า มีคนเชื้อสายไทในประเทศไทย ในสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาชนลาว สาธารณรัฐเวียดนาม สหภาพเมียนม่าร์ และในประเทศอินเดีย รวมกันแล้วกว่า ๑๐๐ ล้านคน
ชนเชื้อชาติไทที่กระจัดกระจายอยู่ในดินแดนต่างๆเหล่านี้ มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ใด หรืออพยพเคลื่อนย้ายไปมาอย่างไรนั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน และยังหาข้อยุติไม่ได้ ในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งอาจจะมีความเชื่อกันอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมีการพบหลักฐานใหม่หรือมีการเสนอความเห็นที่น่าเชื่อถือกว่า ความเชื่อของคนส่วนใหญ่ก็จะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีความเห็นใดชี้ขาดได้ ซึ่งมีความคิดเห็นเป็น ๕ สมมติฐาน คือ
สมมติฐานที่ ๑ เป็นความคิดเห็นของ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เขียนไว้ในหนังสือชื่อ“หลักไทย”เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๑ กล่าวว่า ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต ตอนกลางของทวีปเอเซีย ต่อมาอพยพลงมาหาแหล่งที่อุดมสมบูรณ์กว่า โดยตั้ง “นครลุง” ขึ้นที่ต้นแม่น้ำฮวงโห และขยายไปสร้าง “นครปา” ทางเหนือของมณฑลเสฉวน เรียกว่า “อาณาจักรไทมุง” ต่อมาถูกจีนที่อพยพมาจากแถบทะเลสาบแคสเปียนรุกราน จึงลงมาสร้าง “นครเงี้ยว” ทางตอนกลางของลุ่มน้ำแยงซี แต่ก็ถูกยึดไปอีก จึงอพยพลงทางใต้สู่คาบสมุทรอินโดจีน จนถึงอาณาจักรไทยในปัจจุบัน
ความเห็นนี้สอดคล้องกับ วิลเลียม คลิปตัน ดอดด์ (William Clifton Dodd) มิชชันนารีอเมริกัน ซึ่งเดินทางจากเชียงราย ผ่านเชียงรุ้ง เข้าไปในมณฑลยูนนานของจีน แล้วล่องมาตามลำน้ำจนถึงเมืองกวางตุ้งระหว่าง พ.ศ. ๒๔๕๐ – ๒๔๖๑ ได้พบคนไทยเผ่าต่างๆ ในหลายมณฑลของจีนจนถึงตังเกี๋ย และได้เขียนหนังสือในชื่อ “The Thai Race : Elder Brother of The Chinese” ซึ่ง หลวงแพทย์นิติสรรค์ (ฮวดหลี หุตะโกวิท) แปลเป็นไทยในชื่อ “ชาติไทย : พี่อ้ายของคนจีน” กล่าวว่าคนไทยมีเชื้อสายมองโกล ตั้งถิ่นฐานอยู่ตอนเหนือจองจีน เรียกตนเองว่า “อ้ายลาว” จีนเรียกว่า “ต้ามุง” เคยครอบครองดินแดนจีนในปัจจุบัน แต่ถูกจีนรุกรานจึงถอยร่นมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในมณฑลยูนนาน ไกวเจา กวางตุ้ง กวางสี และอยู่ใต้การปกครองของจีน แต่บางส่วนได้อพยพลงใต้สู่แหลมอินโดจีน
สมมติฐานนี้ นักประวัติศาสตร์ปัจจุบันคัดค้านว่าเป็นไปไม่ได้ คนไทยเป็นเผ่าที่เพาะปลูก อาศัยอยู่ที่ราบลุ่มแม่น้ำ แต่บริเวณเทือกเขาอัลไตเป็นถิ่นทุรกันดารแห้งแล้ง ไม่เหมาะแก่การตั้งถิ่นฐาน ซึ่งนักโบราณคดีชาวรัสเซียได้ขุดค้นหลุมฝังศพโบราณย่านนี้ ไม่พบความเกี่ยวพันกับชนเชื้อชาติไทยเลย พบว่าเป็นถิ่นของพวกซิเธียน (Seythians) ชนเผ่าเร่ร่อนเมื่อ ๒๐,๐๐๐ ปีก่อน ซึ่งเป็นกลุ่มชนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มชนเชื้อชาติกรีก เปอร์เซีย และจีน
สมมติฐานที่ ๒ เป็นความเห็นของ แตร์รีออง เดอ ลาคูเปอรี่ (Terien de Lacouperie) ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์และโบราณคดีอินโดจีนชาวฝรั่งเศส อ้างเอกสารทางประวัติศาสตร์ของจีน ว่าสมัย พระเจ้ายู้ เมื่อ ๑,๖๖๕ ปีก่อนพุทธศักราช มีการสำรวจภูมิประเทศของจีน และได้บันทึกไว้ว่าชุมชนของชนเชื้อชาติไทยที่เรียกว่า “มุง” และ “ต้ามุง” อยู่ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของจีนที่เป็นมณฑลเสฉวนในปัจจุบัน ก่อนที่จะอพยพลงสู่มณฑลยูนนาน และก่อตั้ง อาณาจักรน่านเจ้า มีเมืองหลวงคือ หนองแส ซึ่งปัจจุบันก็คือ เมืองต้าหลี่ หรือ ตาลีฟู ในมณฑลยูนนาน
แนวความคิดนี้ ปัจจุบันมีข้อพิสูจน์หลายประการที่ยืนยันว่าน่านเจ้าไม่ใช่อาณาจักรของคนไทย หรือมีคนไทยปกครองอาณาจักรนี้ ภาษาของกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในมณฑลยูนนานตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๑ - ๑๒ เป็นต้นมา ตรงกับภาษาของกลุ่มชนชาติอี๋และกลุ่มชนชาติไป๋ ที่ใช้ภาษาพูดใกล้เคียงกับกลุ่มภาษาในตระกูลทิเบต-พม่า และหลักฐานทางโบราณคดีและโบราณวัตถุที่พบในอาณาจักรน่านเจ้า ล้วนแต่เกี่ยวพันกับชนชาติอี๋และชนชาติไป๋ทั้งสิ้น ไม่มีสิ่งใดเกี่ยวพันกับคนไทยเลย
ที่สำคัญคือ ใน พ.ศ. ๑๗๙๖ ที่ พระเจ้ากุบไลข่าน ยึดเมืองต้าหลี่ ราชธานีของอาณาจักร์น่านเจ้าได้ ในช่วงเวลานั้นได้มีเมืองสุโขทัย เชียงแสน พะเยา และเมืองอื่นๆ ในแคว้นล้านนาขึ้นแล้ว ทั้งจากการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์หยวนของมองโกลกับราชวงศ์พระร่วงที่เมืองสุโขทัยในระหว่าง พ.ศ. ๑๘๒๓ - ๑๙๑๑ พบว่ามีสัมพันธ์ภาพที่ดี น่าเชื่อถือได้ว่าดินแดนทั้งสองมิได้เป็นศัตรูกัน
สมมติฐานที่ ๓ เชื่อว่าถิ่นกำเนิดของชนชาติไทยอยู่บริเวณตอนใต้ของสาธารณะรัฐประชาชนจีนและตอนเหนือของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ต่อมาถูกจีนรุกราน บางส่วนจึงอพยพหนีหาความเป็นอิสระ โดยแยกออกเป็น ๒ สาย คือ
สายที่ ๑ ไปทางตะวันตกแถบลุ่มแม่น้ำสาละวินในเขตแดนพม่า ปัจจุบันคือไทยใหญ่ ส่วนพวกไทยอาหมจะเลยเข้าไปอยู่ในแคว้นอัสสัมของอินเดีย
สายที่ ๒ อพยพลงมาทางใต้แถบแคว้นตังเกี๋ย สิบสองจุไทย สิบสองปันนา จนถึงอาณาจักรไทยในปัจจุบัน
ความเห็นนี้ นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่ทั้งตะวันตกและตะวันออกมีความเห็นพ้องต้องตรงกัน โดยใช้แนวทางศึกษาด้านภาษาถิ่นและมรดกวัฒนธรรมประเพณี กลุ่มชนที่มีวัฒนธรรมร่วมและพูดภาษาตระกูลไทหรือไตในภูมิภาคเอเซียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ กระจายอยู่ในดินแดนดังกล่าว
สมมติฐานที่ ๔ เป็นข้อเสนอของ นายแพทย์สมศักดิ์ พันธุ์สมบูรณ์ ว่าชนเชื้อชาติไทยมีถิ่นกำเนิดแถบเส้นศูนย์สูตรตามหมู่เกาะต่างๆของประเทศอินโดเนเซียและแหลมมลายู แล้วอพยพขึ้นสู่ภาคพื้นดินของเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ตลอดจนถึงทางตอนใต้ของสาธารณะรัฐประชาชนจีนและแคว้นอัสสัมของอินเดีย โดยอ้างว่าได้เจาะเลือดของคนอินโดเนเซียดูแล้ว พบว่ามีกลุ่มเลือดใกล้เคียงกับคนไทยมาก แต่นักประวัติศาสตร์ไม่ยอมรับทฤษฎีนี้ ทั้งการตรวจกลุ่มเลือดครั้งนี้ก็ทำเฉพาะที่โรงพยาบาลศิริราชแล้วจดบันทึกไว้ ไม่ได้ไปตรวจถึงอินโดเนเซีย
สมมติฐานที่ ๕ เป็นความเห็นของ ศาสตราจารย์ ชิน อยู่ดี นักโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ได้เขียนหนังสือชื่อ “สมัยก่อนประวัติศาสตร์ในประเทศไทย” เสนอว่า ชนชาติไทยมีถิ่นกำเนิดในบริเวณอันเป็นที่ตั้งของประเทศไทยในปัจจุบัน ไม่ได้อพยพมาจากไหน โดยอ้างถึงการสำรวจทางโบราณคดี พบร่องรอยการอยู่อาศัยของมนุษย์ในดินแดนประเทศไทย ตั้งแต่ยุคหิน ยุคโลหะ จนถึงยุคปัจจุบัน มีการสืบเนื่องทางวัฒนธรรมกันมาตลอด
ความเห็นนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุด แสงวิเชียร ซึ่งได้ศึกษาโครงกระดูกมนุษย์ยุคหินซึ่งขุดพบที่ตำบลบ้านเก่า อำเภอเมือง จังหวัดกาญจนบุรี เปรียบเทียบกับโครงกระดูกคนไทยในปัจจุบัน พบว่ามีลักษณะใกล้เคียงกันทุกประการ ทั้งยังมีวัฒนธรรมเครื่องปั้นดินเผาคล้ายกัน
อีกทั้ง รองศาสตราจารย์ ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม นักโบราณคดีและนักมนุษยวิทยา ซึ่งได้ศึกษาค้นคว้าแหล่งกำเนิดของชนชาติไทย ได้สรุปว่า ชนชาติไทยตั้งหลักแหล่งอยู่ในดินแดนประเทศไทยนี้มาเป็นเวลาเป็นพันๆ ปีแล้ว ไม่ได้อพยพมาจากไหนเลย
ความเห็นนี้ได้รับการยอมรับจากนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตาม ยังมีกลุ่มคนที่มีวัฒนธรรมร่วมและพูดภาษาตระกูลไทหรือไต กระจายอยู่ในภูมิภาคเอเซียและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศ คือ
ในแคว้นอัสสัม และรัฐอรุณาจล ในประเทศอินเดีย มีไทคำตี่ ไทคำหยัง ไทยาแก่ ไทโนรา ไทอ่ายตอน ไทตุรุง หรือไทยรง ซึ่งยังคงรักษาความเชื่อและพิธีกรรมอันเป็นวัฒนธรรมโบราณอยู่ เช่นการเกิด การอยู่ไฟ การตัดสายสะดือ การร่อนกระด้ง การแต่งงานก็มีพ่อสื่อแม่สื่อ ขันหมาก สินสอด การรักษาพยาบาลก็ยังมีการเป่ารักษาโรค พิธีกรรมเกี่ยวกับการตาย และงานศพก็เช่นกัน ยังรักษาประเพณีของชนเผ่าไว้
ในสหภาพเมียนม่าร์ มี ไทคำ อยู่ที่เมืองมุเตาและเมืองน้ำคอ ไทใหญ่ อยู่ในรัฐฉาน ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมเหมือนกับวัฒนธรรมล้านนา หรือกลุ่มไทยวนในเชียงใหม่ เชียงราย นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มไทลื้อ ไทยอง ไทเมา ไทเขินอยู่ทางภาคเหนือของเมียนม่าร์ ติดกับสิบสองปันนา
ในมณฑลยูนนานของจีน มีไทหยาง หรือไทเอวลาย อยู่บนที่ราบสูงแบบชาวเขา ที่เรียกว่าไทเอวลาย ก็เพราะผ้าที่คาดเอวมีลายและสีสันสวยงาม
กลุ่มไทลื้อ ไทเหนือ ไทขาว ไทดำ และไทแดง กระจายอยู่ในบริเวณกว้างตอนใต้ของสาธารณรัฐประชาชนจีนและตอนเหนือของเวียดนาม ในเมืองแถง หรือเดียนเบียนฟู ซึ่งเคยอยู่ในความปกครองของไทยสยาม
ในมณฑลกุ้ยโจว มีกลุ่มชนเชื้อสายไทที่เรียกว่ากลุ่มชนปู้ยี่ กลุ่มชนต้ง กลุ่มชนสุ่ย และกลุ่มชนเกอหล่าว กลุ่มชนปู้ยี่มีประชากรถึง ๒ ล้านคน แต่งกายเหมือนไทลื้อ ผ้าที่ทอเป็นผ้าลายขิดหรือลายตีนจก พูดภาษาตระกูลไทเหนือ ส่วนกลุ่มชนต้ง มีประชากรถึง ๒ ล้าน ๕ แสนคน กระจายอยู่ในมณฑลกุ้ยโจว หูหนาน กวางสี และหูเป่ย มีการทอผ้าเช่นเดียวกับกลุ่มชนเชื้อสายไททั่วไป มีการนับเลขและใช้คำในภาษาไท มีความเชื่อเรื่อง “ขวัญ” เช่นเดียวกับกลุ่มชนไททั่วไป แต่เรียกว่า “กวั๊น”
ในกลุ่มชนเหล่านี้ กลุ่มชนเกอหล่าว ซึ่งมีประชากรราว ๕ แสนคน ถูกกลืนวัฒนธรรมดั้งเดิมไปมากที่สุด เพราะอยู่กันกระจัดกระจายไม่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนกลุ่มชนอื่น จึงถูกกลืนวัฒนธรรมได้ง่าย แต่ก็ยังมีความเชื่อในเรื่อง “ขวัญ” เหมือนกับคนเชื้อสายไทอื่นๆ แต่เรียกว่า “งู้”
ในเกาะไหหลำ คนพื้นเมืองของเกาะนี้เป็นกลุ่มชนไทลี ซึ่งอพยพมาจากตอนใต้ของจีนราว ๓,๕๐๐ ปีมาแล้ว มีตำนานของบรรพบุรุษของกลุ่มไทลีที่รอดชีวิตจากน้ำท่วมโลกโดยเข้าไปหลบอยู่ในน้ำเต้า เช่นเดียวกับตำนานกลุ่มไทดำในสิบสองจุไทและล้านช้าง แม้การแต่งกายของไทลีจะคล้ายกับคนจีนมาก แต่การทอผ้าที่ใช้นั้นยังมีลวดลายเฉพาะที่พบในกลุ่มของชนเชื้อสายไท
กลุ่มคนเชื้อสายไทที่อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนจีน ไทจ้วงจะเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุดมีประชากรถึง ๑๓ ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในมณฑลกวางสี สิบสองปันนา และกระจายมาถึงเมืองสิงห์ในลาวด้วย
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มชนเชื้อสายไทกระจายอยู่ทั่วไปในย่านนี้ โดยมีอยู่ในจีน ๒๐ กว่าล้านคน อยู่ในสาธารณรัฐประชาชนลาว สาธารณรัฐเวียดนาม สหภาพเมียนมาร์ ประเทศอินเดีย และที่อื่นๆ อีกราว ๒๐ ล้านคน รวมกับคนไทในประเทศไทย ก็จะมีคนเชื้อสายไทกว่า ๑๐๐ ล้านคน
คนเชื้อสายไทเหล่านี้ แม้จะมีชื่อต่างกันออกไป พูดภาษาเพี้ยนๆ กันไปบ้าง และวัฒนธรรมถูกกลืนไปบ้าง แต่ก็เปลี่ยนไปตามสภาพแวดล้อม ส่วนเอกลักษณ์ความเป็นไทนั้นยังรักษากันไว้ทุกกลุ่มไม่มากก็น้อยและคนไทยเราที่อยู่ในประเทศไทยนี้ ซึ่งเรียกกันว่า “ไทยน้อย” นั้น เมื่อได้อ่านพงศาวดารไทยใหญ่แล้ว จะเชื่อว่าเราเป็น “น้อย” หรือ “ใหญ่” กันแน่
พงศาวดารไทยใหญ่ฉบับของ เนอีเลียส ซึ่ง ศาสาตราจารย์ขจร สุขพานิช นักประวัติศาสตร์คนสำคัญของไทยก็ใช้อ้าง ได้กล่าวไว้ว่า
ใน พ.ศ. ๑๖๕๘ เจ้าสามหลวงฟ้า พระอนุชาของ เจ้าขวัญฟ้า กษัตริย์แห่งอาณาจักรเมาหลวง ในรัฐไทยใหญ่ ได้กรีฑาทัพลงมายังลุ่มน้ำยมและลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตีได้เมืองต่างๆราว ๓๐ เมือง เมื่อตีได้แล้วเจ้าสามหลวงฟ้าก็ยกทัพกลับเมืองเมาหลวง เพื่อแผ่อำนาจไปทางแคว้นอัสสัมของอินเดียต่อไป มอบให้นายทหารที่ไว้วางพระทัยปกครองเมืองเหล่านี้ โดยมี พ่อขุนศรีเนานำถม ปกครองเมืองศรีสัชนาลัยและสุโขทัย และมี ขุนจิด กับ ขุนจอด เจ้าเมืองในรัฐไทยใหญ่เหมือนกันเป็นผู้ช่วย
ส่วนศิลาจารึกหลักที่ ๒ ซึ่งพบที่วัดศรีชุมจารึกไว้ว่า
“แคว้นสุโขทัยมีพ่อขุนศรีเนานำถมปกครอง พ่อขุนศรีเนานำถมมีโอรสองค์หนึ่งคือพ่อขุนผาเมือง ซึ่งเป็นราชบุตรเขยกษัตริย์ขอม ได้รับพระราชทานนามว่า ศรีอินทรปตินทราทิตย์ ต่อมาพ่อขุนศรีเนานำถมสิ้นพระชนม์ ขุนนางขอมชื่อ สบาดโขลญลำพง เข้ายึดกรุงสุโขทัย”
ขณะนั้นพ่อขุนผาเมืองไปครองอยู่เมืองราด ซึ่งอยู่แถวลุ่มน้ำป่าสัก กรุงสุโขทัยจึงตกอยู่ในอำนาจขอมอีก พ่อขุนบางกลางหาว โอรสของขุนจอดซึ่งไปครองอยู่เมืองบางยาง อยู่ในเขตอำเภอนครไทย จังหวัดพิษณุโลกในปัจจุบัน ได้เสนอตัวเข้าร่วมกับพ่อขุนผาเมืองกอบกู้ราชธานีกลับคืนมาได้ จากนั้นก็ยกให้พ่อขุนบางกลางหาวขึ้นครองราชย์ ณ กรุงสุโขทัย พร้อมทั้งมอบพระนามศรีอินทรปตินทราทิตย์ที่ได้รับพระราชทานจาก พระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ให้ด้วย จึงทรงพระนามว่า “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” เป็นกษัตริย์ต้นราชวงศ์พระร่วงที่ครองกรุงสุโขทัยตลอดมา
เหตุที่พ่อขุนผาเมืองยอมยกให้พระสหายขึ้นครองกรุงสุโขทัยต่อจากพระราชบิดานี้ นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่า เพราะพ่อขุนผาเมืองมีเมียเป็นขอม โดยได้รับพระราชทาน พระนางสิขรมณี ราชธิดามาจากพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ จึงไม่ควรจะเป็นผู้นำของชนเผ่าไทยที่กำลังต่อสู้กับอิทธิพลขอมอยู่ในเวลานั้น หรืออาจจะเป็นเพราะ พระนางเสือง มเหสีของพ่อขุนบางกลางหาวเป็นพระพี่นางของพ่อขุนผาเมืองที่มีสิทธิในราชบัลลังก์มากกว่าก็ได้
นี่ก็แสดงว่าราชวงศ์ที่ปกครองกรุงสุโขทัยมาตลอดนั้น เป็นไทยใหญ่ แล้วเราจะเป็น ไทยน้อย หรือ ไทยใหญ่ กันล่ะ
วันนี้เอาเรื่องเวียนหัวมาให้อ่าน แต่อย่าไปคิดให้มากกันเลย เพียงแต่ให้รู้ว่ามีเรื่องเช่นนี้บันทึกกันไว้ ตอนนี้ทั้งโลกก็คงหาเผ่าพันธุ์แท้ๆได้ยากแล้ว เพราะปนเปกันให้วุ่น ต่อไปอาจจะไม่พูดถึงเรื่องเชื้อชาติกันก็ได้ เพราะปนกันจนสอบไม่ได้ เอาเป็นว่าเราเกิดที่ไหนก็ให้สำนึกไว้ว่าเป็นคนของแผ่นดินนั้น รักและหวงแหนแผ่นดิน สร้างคุณประโยชน์เพื่อตอบแทนบุญคุณของแผ่นดินที่ให้กำเนิด และระลึกถึงพระคุณของคนที่รักษาแผ่นดินผืนนี้ไว้ให้เรา และช่วยกันสร้างแผ่นดินนี้ให้มั่นคงผาสุก เหมือนอย่างคนที่อยู่มาก่อนๆได้ทำไว้ นั่นแหละดีที่สุด