xs
xsm
sm
md
lg

“เล้ง” ไร้เทียมทาน! : จากกระดูกต้ม สู่ธุรกิจร้อยล้าน “นายป้อมซุปเปอร์เล้ง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ใครเล่าจะคิดว่า กระดูกต้มน้ำที่เรียกว่า “เล้ง” จะสามารถกลายเป็นธุรกิจระดับหลักล้าน และพบเห็นเปิดให้ชิม แทบทั่วหัวมุมถนน ทั้งเมืองเล็กหรือเมืองใหญ่

“ปอ-ปกรณ์ ปรีชาวิทย์” หนุ่มวัย 30 ปี ก็เหมือนใครๆ ทั่วไปในช่วงแรกเริ่ม กระทั่งได้สัมผัสกับมัน เพียงน้ำต้มกระดูกปรุงรสให้แซบเผ็ดจนร้องขอต่อ ได้เปลี่ยนชีวิตอดีตวิศวกรและเจ้าของโรงกลึง สู่พ่อค้าตลาดนัด ก่อนจะก้าวขึ้นสู่เจ้าของแบรนด์ชื่อดัง

อะไรที่ทำให้เรื่องง่ายๆ และอาจไร้ค่าในวันเก่าก่อน กลายเป็นของใหม่เรื่องฮิต
กระดูกหมูต้มน้ำซุป ที่ชื่อว่า “นายป้อมซุปเปอร์เล้ง” เกิดขึ้นและเติบโตขึ้นมาได้อย่างไร
Manager Online ขอนำเสนอเรื่องราวการก่อร่างสร้างตัวของกิจการร้านอาหารที่มาแรงที่สุดในยุทธจักรธุรกิจขณะนี้ ตีตลาดแตกทุกกลุ่มลูกค้า จนกลายเป็นเมนูขึ้นชื่อ ทั่วประเทศไทยในระยะเวลาเพียง 1 ปี...

ทำการใหญ่ใจต้องถึง
บทแรกปาฏิหาริย์กระดูกหมูซุปเปอร์เล้ง

"จริงๆ ก็ไม่คิดว่ามันจะมาถึงขั้นนี้ได้ เมื่อก่อนผมก็เหมือนวัยรุ่นทั่วไป เรื่องสังสรรค์ ดื่ม เที่ยว ทุกวัน แต่พอวันหนึ่งที่การเงินเราไม่สามารถไปทำอย่างนั้นได้ ธุรกิจโรงกลึงที่คุณพ่อให้รับช่วงแทนต่อไม่ประสบความสำเร็จ มีหนี้ 5-6 ล้านที่กู้มาไล่หลัง เราก็ต้องหาเงิน ทำอะไรก็ได้ที่ได้เงิน คนเรามันทำได้ทุกอย่าง ทุกอาชีพ ทำได้หมด อยู่ที่ว่าคุณจะทำไหม กล้าหยิบ กล้าทำไหม อย่าปฏิเสธว่าทำไม่ได้ ไม่ทำ
"คุณลองทำหรือยัง"

ปกรณ์ ปรีชาวิทย์ กล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง เฉกเช่นคนที่พานพบเรื่องราวหนักหนา จนมีประสบการณ์มาแล้ว

"ผมไม่เคยฝันว่าจะอยากเป็นอะไรอย่างจริงจัง ทั้งตั้งแต่ตอนก่อนเข้ามารับช่วงเป็นเถ้าแก่โรงกลึง เพราะรู้อยู่แล้วว่าเรียนจบมา ก็ต้องทำงานที่บ้าน เพราะที่บ้านทำโรงกลึง เรียนๆ ไปอย่างนั้น เรียกอย่างนั้นก็ได้

"พอผมจบได้ 2 ปี คุณพ่อก็ไปเปิดร้านข้าวหมูแดงเลย ทิ้งโรงกลึง ปล่อยให้คุณแม่ทำคนเดียวเพื่อให้ผมเข้าไปทำต่อ ผมก็ต้องลาออกจากการเป็นวิศวะโรงงานที่จังหวัดระยอง เราไม่อยากกลับไปทำที่บ้าน ตามนิสัยคนจบใหม่ๆ เด็กๆ อย่างเรา ผมก็เลยต้องลาออกมาทำงานที่บ้าน รับกิจการต่อ ทีนี้กลับไปทำ ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าเครื่องจักรมันโบราณ เราเรียนมาอีกแบบหนึ่ง ทำงานวิศวะบริษัทใหญ่ เครื่องจักรทันสมัย เครื่องไม้เครื่องมือเขาพร้อม เราก็ทำได้ไม่ถนัด

"ก็ต้องไปกู้เงินธนาคารมาซื้อเพิ่ม สิ่งที่เราคุ้นเคย แต่ของเก่าก็อยู่ ช่างเก่าๆ ก็อยู่ ก็ไปลงทุนกู้เงินมา 6 ล้านกว่าบาทเพื่อลงเครื่องงาน 3 ตัว ตอนนั้นคิดว่ามันจะมีงานเยอะ ยอดขายจะดีขึ้น แต่มันไม่เป็นอย่างนั้น 4 ปีไม่ประสบความสำเร็จ ไม่เหลือเงินส่วนตัว มีแต่เงินจ่ายให้ลูกน้อง แต่ตัวเราเองไม่มีเลย แค่ประคองอยู่ได้ บางเดือนก็ติดลบ ได้กำไรนิดหน่อย แต่สรุปคือไม่เพิ่ม"

คนแพ้มองปัญหาเป็นอุปสรรค
แต่คนชนะมองเป็นโอกาส
ปกรณ์จัดอยู่ในประเภทหลัง

"ใครจะไปคิดว่าน้ำต้มใส่กระดูกมันจะขายเป็นราคาได้ แต่ผมเป็นคนทำให้ตลาดราคากระดูกสันหลังปั่นป่วน ตอนที่ทำเล้งแล้วบอกเพื่อนให้ฟรีๆ ไม่มีใครเอา ใครก็ว่าฝันชัดๆ ให้เอาไปทำเลย ไม่มีใครเอา ตอบกลับมาว่าให้กูขายอะไรกระดูก

"แต่จากนิสัยส่วนตัว ไม่ชอบอยู่บ้าน ไม่ชอบอยู่เฉยๆ ไปดูโน่นนี่อะไรก็ได้ ให้มันผ่านตา แล้วมันจะเป็นประสบการณ์ เดี๋ยวมันก็จะมีอะไรในหัวขึ้นมา แต่ถ้าคุณไม่ออกไปแสวงหา คือคนบางคนทำอาชีพไม่เหมือนกัน บางคนทำงานตั้งแต่ตี 4 ทุกอย่างมันเป็นเงินได้ทุกช่วงเวลา อยู่ที่เราจะคิด และสิ่งที่จะทำให้เราคิดคือการออกไปหา

"และผมก็สังเกตจากคุณพ่อ ท่านทำงานไม่เคยหยุด ทำถึงตี 1-2 เช้า 7 โมงตื่น ทำงานต่อ แล้วก็ไม่เคยอยู่บ้าน ตั้งแต่เด็กๆ วันหยุดต้องไปตลาดนัด ไปคลองถม คุณพ่อพาไปบ้าง ไปดูเองบ้าง ไปแล้วก็ไม่ได้ไปเดินเล่น แต่ชอบไปดูคนเขาขายอะไรกัน เขามีวิธีขายอย่างไร ทำไมไม่เหมือนกัน ทำให้คิดต่อยอดอยู่ตลอดเวลา"

ทายาทเถ้าแก่รุ่นที่ 2 เล่าถึงช่วงขันชะเนาะเส้นทางชีวิตของคนที่เตรียมพร้อมต่อความสำเร็จ

"เล้งก็เลยเกิดขึ้น...หลังจากคุณพ่อวางมือธุรกิจโรงกลึง ท่านก็ไปทำตามฝันตัวเองที่ชอบทำอาหาร ไปเปิดร้านขายข้าวหมูแดง ข้าวหมูกรอบ สนองความชอบตัวเองแล้วให้เรารับช่วงแทน "กูจะไปเปิดร้านข้าวของกูแล้ว ได้เวลาของกูแล้ว" (หัวเราะ) ก็ไปเปิดที่ปั๊มบางจาก คลอง 4 ขายได้ประมาณ 3-4 เดือน ก็พอขายได้ แต่มันไม่ได้เยอะแยะมากมาย วันหนึ่งตกกำไรราว 2-3 พันบาท แกก็ขายไป เพราะไม่ได้คิดอะไร

"ทีนี้พอขายได้สักพักหนึ่ง แกก็คิดว่าจะเอาอะไรมาทานเพิ่มคู่กับข้าวที่มี จังหวะไปเจอก๋วยเตี๋ยวตำลึงนายเอก เขาทำเล้งอยู่แล้ว เป็นที่แรกๆ เลยก็ว่าได้ที่ตักขายเป็นชามๆ ไม่ใช่ตักเป็นซุปถ้วยเล็กๆ เคียงก๋วยเตี๋ยว เราก็คิดว่าเราน่าจะเอามาทำบ้างนะ แต่ทำไม่เหมือนเขา เขาใส่กระดูกทั้งหม้อเลย ไม่ใช่ใส่เป็นน้ำต้มก๋วยเตี๋ยว เพราะร้านเราไม่ได้ขายก๋วยเตี๋ยว ก็มาทำ มาคิดสูตรทำกันเอง ในแบบฉบับของเรา ปรากฏว่าขายดี ดังในระดับหนึ่งของย่านนั้นเพราะคนยังไม่ค่อยรู้จัก อะไรวะ ชามใหญ่ๆ มีกระดูกพูนๆ เหมือนภูเขา"

ด้วยความเป็นคนกล้าได้กล้าเสีย จังหวะที่โรงกลึงแย่ลงเรื่อยๆ ปกรณ์จึงกระโดดหมับเข้าให้กับเล้งที่ดูเหมือนไม่มีอะไรเป็นอาชีพเสริม ที่สร้างรายได้ให้มีอะไรตอบโจทย์ความต้องการของตัวเอง

"ผมชอบรถเก่า เล่นรถเก่า ตลาดแรกที่ไปหา ก็เลยจะเอียงๆ ไปที่ตลาดใหม่แถวแดนเนรมิต ตลาดวินเทจปาร์คซึ่งจะเปิดตลาดนัดรถโบราณ เล้งเป็นอาหารที่กินคู่กับดื่มได้ ก็จินตนาการ ขายไปดื่มเบียร์ไป เพลินสนุกแถมได้เงินด้วย ซึ่งในมุมหนึ่งก็ดี แต่อีกมุมหนึ่งก็ไม่ดี แต่อันนี้มารู้ตอนหลัง คือเราต้องใส่ใจลูกค้า ไม่ใช่ว่านั่งเล่นนั่งชิลๆ กดโทรศัพท์ ทุกอย่างจะสำเร็จได้เกิดขึ้นจากตัวเรา"

'ตัวเรา' ที่หมายถึง การกำหนดทุกสิ่งอย่างของผลลัพธ์ อยากขายของได้ ก็ต้องให้ลูกค้าเห็นว่าเรามาขายของ

"ก็ลงทุนไป 3,000 กว่าบาท 1 หม้อต้ม ขายคู่กับแค่ข้าวเปล่า ปรากฏว่าขายหมด วันเสาร์วันเดียว ขายอยู่ประมาณ 6 เดือน ตลาดเจ๊ง ตลาดย้ายมารวมที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ก็ขายดีไม่ต่างกัน ไปหมดไม่มีเหลือ ก่อนจะมีปัญหาเรื่องค่าเช่าที่ ซึ่งปรับราคาขึ้น เราถึงเลิก หยุดไปประมาณ 2 อาทิตย์เพื่อตระเวนหาที่ขาย ไปเดินหาตลาด จนไปเจอตลาดแถวบ้าน ตลาดราชมงคล (มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี) คลอง 6 เพิ่งเปิดใหม่ วอล์กกิ้งสตรีทราชมงคล ก็ขายหมดทุกวัน 2 วันที่ไปขาย วันพุธกับวันพฤหัสบดี"

'เล้ง' กระดูกหมูต้มน้ำ เล็กๆ ในชามถ้วยธรรมดาของร้านโนเนมไร้ชื่อที่มีเพียง 2 โต๊ะจึงค่อยเพิ่มเป็น 4-6-8-10 จนทั้งหมด 18 โต๊ะ ในเวลาแค่ 3 เดือน ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2558 ไล่มาเรื่อยๆ จนเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ก่อนที่จะกลายมาเป็น 'นายป้อมซุปเปอร์เล้ง' นับ 17 สาขา ออกรายการทีวีโด่งดัง ต้นแบบตำรับรสชาติเล้งทั่วหัวมุมถนน

"ถามว่าตอนนั้นทำไมผมคิดต่อยอดต่อ ขยายสาขาเพิ่มต่อ ทั้งๆ ที่รู้กันว่ากระแสในยุคสมัยนี้มาไวไปไว แต่เพราะธุรกิจ ถ้าเราไม่รีบทำหรือเริ่มขาย เดี๋ยวคนอื่นที่เห็น จะเอาไปกิน ก็เลยต้องรีบทำ เขาจะได้รู้ว่าร้านเราคือเจ้าแรก บางคนคิดแต่ไม่ทำ มันก็ไม่เกิดผลออกมา มันเป็นแค่ตัวล็อกนิดหนึ่ง ถ้าปลดออกได้มันก็ไปเลย

"และสอง พอเราลงมือทำ เราจะรู้ เพราะในระหว่างที่เราทำ มันจะเกิดการเรียนรู้ เกิดสัมผัสที่เราผู้ทำเท่านั้นจะมองออก ไม่ใช่เรื่องฟลุก เรื่องปาฏิหาริย์ ก่อนที่มันจะใหญ่โต คุณต้องรู้ทุกอย่าง เพราะไม่อย่างนั้นคุณจะควบคุมมันไม่ได้ และระหว่างทำก็ต้องมองอย่างอื่นด้วย รอบๆ ต้องคิดต่อยอดอีกด้วยเราจะไปอย่างไร ทิศทางไหนดี ระหว่างทางมันจะค่อยๆ สอนเราอยู่แล้ว แต่ในช่วงนี้เราต้องควบคุมตัวเอง เราต้องอย่าทำตัวเป็นน้ำเต็มแก้วตลอดเวลา เราก็ต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอด เปิดใจรับ จุดนี้ไม่มีพระดี ไม่มีเครื่องบูชาไหน

"ผมก็ดูจากชีวิตที่พอได้ทำธุรกิจ ผมก็โตขึ้นมาเรื่อยๆ อายุ วุฒิภาวะตัวตนผมก็เช่นกัน ทำเต็มที่ ทุกๆ อย่างอยู่ที่ตัวเรา ถ้าเราทำดีมันก็ดีตามที่เราทำ"

รุ่งอรุณแห่งนายป้อมซุปเปอร์เล้ง
อยู่ให้เป็น เย็นให้อยู่

เมื่อมีขึ้นก็ต้องมีลง สรรพสิ่งล้วนมีโอกาสที่จะแปรเปลี่ยนผกผัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของ 'ธุรกิจ'
การเกิด การสร้าง การพัฒนา การอยู่ตัวและล้มหายตายจาก พบเห็นได้เสมอในทุกเมื่อเชื่อวัน "ตำนาน" หรือ "อาณาจักร" เป็นสิ่งที่ใครๆ ต่างหมุดหมายดำรงให้อยู่ยง หากแต่จะอยู่อย่างไรให้รอด
"อยู่ที่เราคิด...อยู่ที่ใจ" ปกรณ์ ปรีชาวิทย์ เอ่ยเบาๆ
แต่ใครเล่าจะคิด นั่นกลับนำมาซึ่งจุดพลิกผันแห่งชีวิต อย่างไม่คิดฝัน...

• จากวิศวกร ก้าวข้ามมาเป็นพ่อค้าขายอาหาร คุณสร้างชื่อเปิดสาขาขยายรากฐานกิจการอย่างไร

ผมใส่เกียร์เดินตลอด จากนิสัยจากการได้ริลองเริ่มทำอย่างที่บอก บางคนเขาทำขายดีแบบผมแล้วอิ่มตัว มันก็จะไม่มีการเติบโตขึ้นมา นั่นจะทำให้โลกของคุณกว้างขึ้น ทุกอย่างเกิดขึ้นจากตัวเรา หนังสือผมยังไม่ค่อยได้อ่าน แล้วไม่มีใครเป็นแรงบันดาลใจ ไม่มีไอดอลด้วย มาจากตัวเองทั้งนั้น ดีที่สุด ซึ่งผมมักบอกตัวเองเสมอว่าผมจะต้องเจ๋งที่สุดให้ได้

แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ ผมก็ผ่านอะไรมาเยอะ เริ่มจากสาขาที่ 2 ที่ตลาดนัดหัวมุม ซึ่งถือเป็นการท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นตลาดเปิดใหม่ท่ามกลางตลาดชื่อดังๆ รายล้อม จัดเป็นตลาดปราบเซียนของบรรดาพ่อค้าแม่ค้า รู้กันว่าน่ากลัวมาก คนที่หัวมุมมาคลอง 6 เจอผม ผมก็ไปสอบถามว่าจะไปขายที่ตลาดหัวมุม เขาก็บอกว่าที่นั่นขายดี ที่ไหนไป เจ๊งหมด เราก็คิดว่ามันจะปราบเซียนแค่ไหน ก็ไปลงขาย เซ้งที่เขามา 2 หมื่นบาท ขายอาทิตย์แรก ขายไม่ได้เลย 3 หม้อที่ยกไป ก็ผิดคาด หน้าชาเลย เห็นคนเยอะจริง แต่คนไม่กินของเรา

• เพราะอะไรถึงจากที่ขายดีกลับกลายเป็นขายไม่ดี

ก็ไม่รู้ทำไมไม่กินของเราในตอนแรกๆ หนึ่งอาจจะไม่รู้ด้วยว่าคืออะไร เป็นกระดูก มีเนื้อป่าววะ ให้แทะกระดูก ประมาณนั้น คือยังไม่รู้ว่ารสชาติมันคืออะไร ไปที่นั่น ผมพูดกับที่บ้านเสมอว่าขอให้เขาได้ลองนั่งกิน ชิมก่อน แค่นั้น เขาจะติดเรา แต่เขาไม่เปิดใจ ผิดกับทุกที่ ก็ใช้วิธีการโง่ๆ เรียกลูกค้า ไปตื๊อ เหมือนคนขายของตามห้าง ให้โบรชัวร์แล้วเรียก ลองดูไหมครับ บางทีพาไปดูในหม้อเลย เห็นอย่างนี้ต้องลองดู อร่อยนะครับ สักชามหนึ่ง มันเหมือนเซลส์แมน จากวิศวะมาเซลส์แมน ด้านตรงข้ามกันเลย แต่มันเป็นเรื่องธรรมชาติ ความอยู่รอด ถ้าคุณมัวแต่งอมื้องอเท้า ไม่กล้าทำอะไร คุณก็ไม่ประสบความสำเร็จ

• รับมือแก้ปัญหาเหล่านั้นอย่างไรต่อไปอีก

แค่ประคองทุนได้ ก็ต้องทน แต่เราเอาเงินส่วนที่มี ใช้ในส่วนที่จำเป็น ไม่ใช่เอาเงินที่มีไปลงทุนทำร้านสวยงาม มันยังไม่เกิดประโยชน์ เราต้องเน้นวัตถุดิบก่อน ให้เงินมันเข้ามา ภาพลักษณ์เอาไว้ทีหลัง เอาเงินไปลงทุนกับตัวโปรดักต์ ไปแลกเป็นเงินมาดีกว่า รูปร้านไม่เป็นไร อันไหนเราทำเองได้ทำ โต๊ะ อะไรทำเองได้ก็ทำเองหมด

ก็ต้องสู้ทนหน่อย ตอนนั้นผมให้ระยะเวลาหนึ่งเดือนเลย ขายไม่ดีทั้งเดือนเลย ถามว่าท้อไหม ก็ท้อ นึกในใจ ถ้าหมดสัญญาเช่า จะไม่ขายแล้ว แต่แล้ววันสุดท้ายของเดือนก่อนจะต่อล็อก ปรากฏว่าขายดี ขายหมดเกลี้ยงเลย ได้หมื่นกว่าบาท คือเป็นช่วงที่รอให้คนยอมรับ แต่ผมเชื่อมั่นทุกวันที่ขายไม่ดี เชื่อและศรัทธาทุกวันว่าวันนี้ยังขายไม่ดี เดี๋ยววันรุ่งขึ้นมันก็ดี ค่อยๆ ดีขึ้น

ผมไม่เชื่อว่าคุณเอาของมาตั้งขาย มันจะขายไม่ได้สักบาทหนึ่ง ผมไม่เชื่อ ถ้าเราเข้าหาลูกค้า ไม่ใช่ว่านั่งเล่นโทรศัพท์ นั่นเหตุผลหนึ่ง มานั่งเฉย เดินไปโน่นนี่ แทนที่จะมายืนพรีเซนต์ ตั้งใจขายกับมันทุกวัน ยังไงมันก็ขายได้ จะได้มากน้อยแค่นั้น แต่ถ้าของคุณดี เจ๋ง บวกไปอีก ยังไงคนก็ต้องมา

• จากช่วงวิกฤตในช่วงนั้นทำให้ต่อมาส่งผลให้เรียนรู้เรื่องการตลาดที่ทำให้คนสนใจ

ก็ฉุกคิดทำไมมันถึงดี และไปค้นพบเพราะว่าในเพจ 'สะดุดตา' เขามากินแล้วชอบไปถ่ายรูปลงเพจ แล้วเพจเขาคนไลค์ล้านกว่าคน คนก็เลยมา เราก็เลยเริ่มสนใจที่จะเปิดเพจเปิดอะไรในโลกโซเชียล คือมันเป็นการเรียนรู้เพิ่มเติมจากประสบการณ์จริงๆ เรื่อยๆ ในแต่ละวัน ป้ายโลโก้ชื่อร้านที่เขียนนายป้อมซุปเปอร์เล้งสีเหลือง ก็จึงต้องมี รูปหน้าคุณพ่อผมสีขาวก็ต้องเกิด เป็นร้านที่มีความพร้อมมากขึ้น

คือมันหยุดไม่ได้ ธุรกิจถ้าจะประสบความสำเร็จคือการพัฒนาตลอดเวลา สิ่งที่ผมได้รู้ขึ้น ตรงจุดนี้ กระแส การทำให้เป็นที่รู้จักจะทำอย่างไรให้มั่นคงอยู่ได้ นั่นก็คือการเพิ่มประสิทธิภาพอยู่สม่ำเสมอ แต่แรกเริ่มควรใส่ใจในโปรดักต์ของเราเป็นหัวใจหลักในการทำธุรกิจ การเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภค ร้านนี้คนเยอะ อะไรวะ กินมั่ง ไทยมุ่ง จากบทเรียนร้านต่อมา ซึ่งที่เป็นปัญหาใหญ่จริงๆ ของการขายของในตลาดนัดคือวันที่ฝนตก อย่างที่รู้ๆ

• ปัญหาฝนมันรุนแรงขนาดนั้นเลยหรือ

ก็ยอดขายลดลงเกินครึ่งต่อครึ่ง และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ได้ด้วย ห้ามฟ้าห้ามฝนห้ามได้ที่ไหน ยิ่งตอนนี้ตกแทบไม่มีฤดูกาล จะหยุดขายก็ไม่ได้ ทำได้เพียงคาดคะเนพยากรณ์ถ้าตกก็ลงของน้อย ซึ่งสาขาร้านนายป้อมซุปเปอร์เล้งส่วนมากจะอยู่ขายที่ตลาดนัดกลางคืนทั้งสิ้น สาขา ตลาดนัดนกฮูก เลี่ยงเมืองนนท์ ตลาดนัดมะลิ เมืองทองธานี ตลาดนัดเรือบิน บางพลี

เพราะข้อดีคือโตไว ยอดขายงาม แต่พอเกิดปัญหาตรงนี้วิธีการแก้ปัญหาคือต้องมีร้านเพิ่มช่วงเวลาอื่นเพื่อกระจายวัตถุดิบ เป็นร้านสไตล์คุณพ่อที่เปิด คุณพ่อเป็นคนควบคุม ตั้งอยู่ตามปั๊มน้ำมันต่างๆ แล้วก็เป็นร้านสแตนด์อโลน ปั๊มน้ำมันบางจาก วังน้อย (ขาออก) ปั๊ม ปตท.แยกสันติสุข ปทุมธานี ซอยมัยลาภ รามอินทรา ซอยสงประภา ดอนเมือง ช่วยลดความเสี่ยง เพราะขายไม่หมดจะเก็บไว้ขายก็ไม่ได้ เราต้องรักษาคุณภาพ คือหัวใจเราก็ยังอยู่ที่ผู้บริโภคคือคุณภาพ

• สุดท้ายก็ย้อนกลับมาที่เรื่องของความคิด เรื่องของความใส่ใจและการลงมือทำ

ผมไม่เชื่อว่าทำแล้วจะล้ม มีแต่คุณรู้วิธีที่ไม่ได้ผลอีกหนึ่งวิธี อย่างที่โทมัส เอดิสัน กล่าวไว้ ธุรกิจอาหารของกินยิ่งง่าย ก็แค่กำไรไม่เท่าเดิม ขายดีมากจนรับไม่ได้ มันน้อยลงไปแล้วไปเลิกมันไปเอง อยู่ที่ว่าเราจะพอใจแค่ไหน ถ้าไม่พอก็หาวิธีทำมัน ทำงานให้หนักๆ แล้วจะรวย ไม่มีใครนอนแล้วรวย

และพอหาวิธีได้ก็ทำด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ ทำด้วยความซื่อสัตย์ ราคาไม่แพง ทุกคนจับต้องได้ รสชาติ คุณภาพดี อร่อยแพงขายไม่ได้ทุกกลุ่ม คือต้องไม่เอาเปรียบ เพราะถ้าเขาอยู่ได้ เราก็อยู่ได้ เราคิดได้หมดว่าต้นทุนเท่าไหร่ ถ้าไม่มีตรงนี้มันก็จะเป็นแค่เทรนด์ แต่ถ้าใจเขาใจเรา มันจะเป็นวัฒนธรรม เป็นของที่อยู่คู่กับเขา กระทั่งไม่ใช่ร้านค้าแต่เป็นเพื่อนเป็นบ้านอีกหนึ่งหลัง ต่อให้ทุกวันนี้มีคนขายเล้งเยอะแยะมากมาย ผมก็ไม่สนใจ

ความดีไม่มีตาย คุณค่าอยู่ที่เราเลือก
บทส่งท้ายน้ำต้มกระดูกนายป้อมซุปเปอร์เล้ง

"ขายข้าวแค่เห็นข้าว กินแล้วอร่อยก็ใช้ได้แล้ว เหมือนๆ ที่แม่ทำให้เราทาน"
หนุ่มหน้าใสวัยรุ่นแห่งแวดวงธุรกิจเล้งกล่าวย้ำยืนยันด้วยประโยคง่ายๆ ที่นอกจากความ “กล้า” และ “ความคิด” การกตัญญูรู้คุณในสิ่งตอบแทนจากลูกค้าคืออีกส่วนสำเร็จที่ทำให้ระยะเวลา 2 ปีแล้วที่ “นายป้อมซุปเปอร์เล้ง” ได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย แถมยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ขยายรากฐานครอบคลุมอาหารทั้งข้าวหมูกรอบ - หมูแดง รวมไปถึงน้ำผลไม้ปั่นหลากชนิดไว้คอยบริการ

"รสชาติอร่อยดีจังเลย ถ้าอยู่ไม่ได้นี่คงเสียดายแย่ คำพูดช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านตลาดนัดหัวมุมแล้วขายไม่ดี ผมเก็บเอามาเป็นแรงบันดาลใจเสมอๆ คือถึงแม้ว่าเราจะมีชื่อเสียง เป็นที่รู้จัก แต่เราก็อย่าลืมว่าความตั้งใจ หัวใจ ของเราที่ทำออกมาในแต่ละชามเหมือนครั้งแรกที่เราคิดค้นสูตรกับคุณพ่อทำกันทานในบ้าน

"รสชาติทำด้วยใจ ทำดี จบ แค่นั้นเอง และก็ต้องรอเวลาที่คนเขารู้จัก ธุรกิจมันไปได้ไกล อย่างผม มี 17 สาขา ก็ยังไปได้อีก คนในประเทศ 60 ล้านคน ผมแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ยังไม่ถึงเลย

"ทุกอย่างเกิดจากตัวเรา กล้าได้กล้าเสีย เรียนรู้ พัฒนา ไม่มีจบ ตอนนี้ถ้าถามว่าประสบความสำเร็จหรือยัง ก็ได้ในระดับหนึ่ง แต่ความสำเร็จมันไม่มีที่สิ้นสุดหรอก มันก็ต่อไปเรื่อยๆ คือยิ่งเราดัง เราก็ยิ่งต้องวิ่งหนี คู่แข่งเรามี ทุกคนก็พยายามจะวิ่งให้เทียบเท่าเรา ตัวเราก็ต้องพัฒนาไปด้วยเพื่อที่จะวิ่งหนีไปอีก จะทำอะไรก็แล้วแต่ จะขยายสาขาหรือทำอะไร มีความแข็งแรงแกร่งมากขึ้น รักษาคุณภาพ เพิ่มโปรดักต์

"บทสรุปที่จะนำพาสิ่งเหล่านี้ คือสิ่งที่เกี่ยวกับจุดเริ่มต้น ก็คือ ตั้งใจ ทำดี ถ้าจะมองเรื่องทั้งหมด นายป้อมซุปเปอร์เล้งเกิดจากผม ผมก็เกิดจากพ่อแม่ที่มุ่งมั่นทุ่มเทและความรัก ทุกคนทุกสิ่งอย่างก็เช่นกัน"


เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : พงษ์ฤทธิ์ฑา ขวัญเนตร

กำลังโหลดความคิดเห็น