กฟผ. ระดมนวัตกรรมและเทคโนโลยีจัดแสดง ในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” 17 - 27 สิงหาคม 2560 ที่เมืองทองธานี เนรมิตพื้นที่สร้างอุโมงค์ข้ามกาลเวลาเข้าสู่ 8 โซนในโลกอนาคต พบเทคโนโลยีสุดล้ำ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ Smart Grid รองรับการพัฒนาเมืองสู่ Smart City ด้วยพลังงานที่ยั่งยืน ย้ำเป็นก้าวสำคัญพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมสู่ความเป็น ไทยแลนด์ 4.0
นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. เตรียมเข้าร่วมจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ” ในระหว่างวันที่ 17 - 27 สิงหาคม 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพคเมืองทองธานี ซึ่งกระทรวง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว “พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย” และ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช “พระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย” และ “พระบิดาแห่งนวัตกรรมไทย” เนื่องในโอกาสวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ประจำปี 2560 โดยงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาตินี้ เป็นกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ของประเทศ มีการรวบรวมเทคโนโลยี นวัตกรรม และผลงานวิจัยของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน มาจัดแสดงเพื่อให้เห็นถึงศักยภาพและความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ของประเทศ โดยคาดว่าจะมีเยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษา จากสถานบันต่างๆ เดินทางมาร่วมงานไม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน
นายธาตรี กล่าวต่อว่า ในส่วนการจัดแสดงของ กฟผ. ได้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สำคัญต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตมาร่วมจัดแสดงภายใต้แนวคิด “เมืองอัจฉริยะ เพื่อพลังงานที่ยั่งยืน” โดยมีไฮไลต์สำคัญคือการนำเสนอเทคโนโลยี โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) ซึ่งเป็นการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่สามารถนำไปเชื่อมโยงให้เกิดเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ในการใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากระบบ Smart Grid เป็นระบบบริหารการใช้ไฟฟ้าที่สามารถคำนวณกำลังการผลิต รวมทั้งควบคุมและสั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานฟอสซิลและโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในพื้นที่ได้เสมือนเป็นโรงไฟฟ้าโรงเดียวกัน ทำให้การจ่ายไฟฟ้าสอดคล้องกับปริมาณใช้งานจริง ลดความสูญเปล่าของการสำรองการผลิตไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปัจจุบัน กฟผ. ได้นำร่องดำเนินโครงการพัฒนา Smart Grid ในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน ตั้งแต่ปี 2555 ซึ่งถือเป็นการตอบรับนโยบาย “Energy 4.0” ของกระทรวงพลังงาน และเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาประเทศด้วยนวัตกรรมสู่ความเป็น “ไทยแลนด์ 4.0” ในอนาคต
สำหรับพื้นที่การจัดแสดงแบ่งเป็น 8 โซน ผู้เข้าชมจะเหมือนถูกพาให้ก้าวผ่านกาลเวลาไปยังเมืองอัจฉริยะ Smart City แห่งโลกอนาคต โดยต้องเริ่มเดินทางตามลำดับตั้งแต่ โซน 1 : การเดินทางสู่โลกอนาคต ซึ่งเป็นจุดให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับภาพรวมของ Smart Grid และ Smart City ก่อนเข้าสู่ โซน 2 : อุโมงค์กาลเวลา ซึ่งถูกออกแบบเป็นอุโมงค์ LED ทำให้รู้สึกเหมือนกำลังเดินทางเข้าสู่โลกเเห่งอนาคตเพื่อไปยัง โซน 3 : บ้านอัจฉริยะ เป็นการจัดแสดงบ้านจำลองที่มีระบบอัจฉริยะ สามารถสั่งการเเละควบคุมเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ได้จากโทรศัพท์มือถือ Smartphone
โซน 4 : Hospital เป็นการจำลองสถานการณ์การขาดไฟฟ้าฉุกเฉินในโรงพยาบาล เพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า และการนำ Smart Grid มาแก้ปัญหา โซน 5 : โรงไฟฟ้าพลังงานลม เป็นพลังงานหมุนเวียนรูปแบบหนึ่ง ที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์อย่างได้ผล โดยมีการจำลองสถานที่ตั้งของกังหันลมเพื่อให้ความรู้ระบบการทำงานของกังหันลมในการเปลี่ยนพลังงานลมเป็นกระแสไฟฟ้า
โซน 6 : จุดกำเนิดพลังงานเเสงอาทิตย์ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของระบบโซลาร์เซลล์ (Solar Cell) ในการแปลงแสงจากดวงอาทิตย์ให้เป็นกระเเสไฟฟ้า โซน 7 : ศูนย์รวมพลังงานแห่งโลกอนาคต เป็นโซนให้ความรู้เกี่ยวกับ Smart Grid และการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ พลังลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ก่อนเข้าสู่โซนสุดท้าย โซน 8: ทำความรู้จัก “พลังงานแห่งโลกอนาคต” ซึ่งเป็นการสรุปภาพรวมและแนวโน้มการพัฒนาพลังงานในอนาคต
“กฟผ. ขอเชิญชวนประชาชน นักเรียน นิสิต และนักศึกษา ที่เดินทางมาเยี่ยมชมมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำปี 2560 แวะเข้ามาเยี่ยมชมพื้นที่การจัดแสดงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของ กฟผ. ซึ่งไม่เพียงแต่จะได้รับความรู้เกี่ยวกับ Smart Grid และแนวทางการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าอย่างยั่งยืนในอนาคตเท่านั้น แต่จะยังได้รับความรู้และสาระบันเทิงอื่นๆ อีกมากมาย” ผู้ช่วยผู้ว่าการ กฟผ. กล่าว