“สะพานมิตรภาพไทย-พม่า” สะพานแห่งประวัติศาสตร์ สะพานที่เป็นดั่งประตูเชื่อมอันดามันสู่อินโดจีนแห่งนี้ตั้งอยู่ที่ ตำบลท่าสายลวด สุดทางหลวงหมายเลข 105 (สายตาก-แม่สอด) อยู่ตรงแม่น้ำเมยระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับ เมืองเมียวดี สหภาพเมียนมาร์ มีความยาว 420 เมตร กว้าง 8 เมตร สร้างเพื่อเชื่อมถนนสายเอเชียจากประเทศไทยสู่สหภาพเมียนมาร์ (พม่าเดิม) ตลอดจนภูมิภาคเอเชียใต้ถึงตะวันออกกลางและยุโรป ซึ่งเป็นประตูสู่อินโดจีนและอันดามัน
สะพานแห่งนี้เกิดขึ้นโดยการริเริ่มความคิดในการดำเนินงานตลอดจนดูแลการก่อสร้างสะพานแห่งนี้ให้เป็นผลสำเร็จของบุคคลผู้นี้คือ นายอุดร ตันติสุนทร เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีนัยสำคัญคือเพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของทั้งสองประเทศในความร่วมมือกัน อีกทั้งยังรวมถึงการเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจการค้าขายบริเวณชายแดนของทั้งสองประเทศ จึงเป็นสัญลักษณ์แห่งคามสงบสุขและการอยู่ดีกินดีของประชาชนทั้งสองฝั่ง
บริเวณจุดที่จะสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า
ความเป็นมาของ “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า” เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2529 นายอุดร ตันติสุนทร ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ฯพณฯ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา) ได้ทำหนังสือเสนอให้รัฐบาลไทยก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเมย ที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เชื่อมโยงกับเมืองเมียวดีของพม่า เพื่อวัตถุประสงค์ 3 ประการคือ (1.) เพื่อสร้างสัมพันธไมตรีอันดีของประชาชนไทยกับพม่า (2.) เพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของประเทศทั้งสอง และ (3.) เพื่อสนองตอบนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ที่ต้องการสร้างถนนเชื่อมโยงประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชีย (Asian Highway A-1) ซึ่ง ฯพณฯ รัฐมนตรีเห็นชอบ
พิธีลงนามก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ระหว่าง นายอุดร ตันติสุนทร (รมช.เกษตร) และ ฯพณฯ อู่ขิ่นหม่องยิน (รมช.ก่อสร้าง) ที่กรุงย่างกุ้ง 20 พฤศจิกายน 2532
นายอุดร ตันติสุนทร ผู้แทนรัฐบาลไทย และ ฯพณฯ อู่ขิ่นหม่องยิน (รมช.ก่อสร้าง) รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการก่อสร้างของพม่า แทนรัฐบาลพม่าลงนามในข้อตกลงสร้างสะพานร่วมกัน
คณะกรรมการก่อสร้างสะพานร่วมกันกับเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ (ESCAP) ร่วมกันสำรวจบริเวณที่จะสร้างสะพาน
นายอุดรฯ และ ฯพณฯ อู่ขิ่นหม่องยิน พร้อมอธิบดีกรมทางหลวงของไทยและพม่า พร้อมเจ้าหน้าที่ขององค์การสหประชาชาติ (ESCAP) ร่วมกันสำรวจจุดที่ก่อสร้างสะพานที่อำเภอแม่สอดและเมืองเมียวดี
นายอุดร ตันติสุนทร กล่าวว่า “เมื่อปลายปี 2519 ผมได้ไปประชุมสหภาพรัฐสภา (Inter-Parliamentary Union) ที่กรุดมาดริด ประเทศสเปน ที่ประชุมประกอบด้วยสมาชิกผู้แทนราษฎรทั่วโลก การประชุมมีการอภิปรายถึงการสร้างสันติภาพในโลก และส่วนหนึ่งอภิปรายถึงการให้รัฐบาลของทุกประเทศสร้างถนนเชื่อมโยงกัน ซึ่งถือว่าเป็นมาตรการหนึ่งที่สามารถนำให้เกิดสันติภาพได้ และเรื่องนี้องค์การสหประชาติได้มีมติไว้นานแล้ว
ตอนขากลับ ผมแวะมาดูจุดเชื่อมโยงถนนยุโรปมาเอเชีย ที่ประเทศตุรกี ซึ่งขณะนั้นมีรถท่องเที่ยวจากยุโรปมาถึงนิวเดลีของอินเดียแล้ว โดยมาตามถนนเอเชีย (Asian Highway A-1) เมื่อมีโอกาสเป็นที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ (ฯพณฯ พลอากาศเอกสิทธิ เศวตศิลา) เมื่อปี 2529 ผมได้ทำหนังสือเสนอต่อ ฯพณฯ ขอให้รัฐบาลไทยสร้างสะพานเชื่อมโยงกับพม่า ที่อำเภอแม่สอดเชื่อมกับเมืองเมียวดี ซึ่ง ฯพณฯ เห็นชอบในหลักการ และจะได้ให้การสนับสนุนต่อไป”
ต่อมา เมื่อนายอุดรมีโอกาสอยู่ในคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2532 จึงเสนอโครงการนี้ต่อคณะรัฐมนตรี และได้รับการอนุมัติเมื่อ 1 สิงหาคม 2532 การดำเนินการของโครงการนี้ ตลอดระยะเวลา 5 ปีเศษ แม้จะมีความพยายามอย่างยิ่งเพียงใดและพบอุปสรรคและปัญหามากมายแค่ไหน ก็สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยความตั้งใจ “สะพาน มิตรภาพไทย-พม่า” จึงเกิดขึ้น สะพานนี้มีความยาว 420 เมตร ความกว้าง 8 เมตร ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 79.2 ล้านบาท ก่อสร้างโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม โดยเริ่มจากปลายถนนสายเอเชีย หมายเลข 105 เริ่มก่อสร้างในปี 2537 ใช้เวลาในการก่อสร้าง 18 เดือน สะพานมิตรภาพไทย-พม่าเปิดใช้อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2540
และปัจจุบัน “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า” ยังเป็นเส้นทางท่องเที่ยวสายสำคัญ มีคาราวานนักท่องเที่ยวเวียดนามจากนครโฮจิมินห์ เดินทางผ่านจังหวัดตาก พักวันที่ 7 สิงหาคม 2560 ขับรถยนต์เข้าไปเมียนมาร์ 8 และกลับมาพักจังหวัดตาก 13 สิงหาคม 2560 และ 14 สิงหาคม เดินทางจากจังหวัดตากกลับนครโฮจิมินห์ สำหรับคาราวานรถยนต์เชื่อมโยง 4 ประเทศ เวียดนาม กัมพูชา ไทย และเมียนมาร์
โดย ททท.สำนักงานตาก ได้ประสานกับบริษัท GMS โดยมี “สมศักดิ์ บูรพาพิพัฒน์” นำคณะคาราวานกลุ่มศักยภาพจากเวียดนามสำรวจเส้นทางจากนครโฮจิมินห์ ผ่านอรัญประเทศ เข้ามาอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก และเชื่อมสู่เมียนมาร์ และขากลับผ่านแม่สอด พักที่จังหวัดตาก และกลับสู่นครโฮจิมินห์ เมื่อปี 2559
จากการสอบถามนักท่องเที่ยวเวียดนามมองว่าเส้นทางนี้จะเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวกลุ่มนิยมขับรถยนต์ท่องเที่ยว ในอนาคตจะมีกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มครอบครัว จากเวียดนามเดินทางมาในเส้นทางนี้เป็นจำนวนมากขึ้น เกิดการหมุนเวียนทางด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากจังหวัดตากมีความพร้อมในเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับ ในอนาคต “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า” จะเป็นเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อม AEC ที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก เนื่องในโอกาสครบรอบ 20 ปี การก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า ในวันที่ 15 สิงหาคม 2560 นี้
“ผมทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดขอให้มีการจัดงาน ซึ่งท่านก็มีความคิดเห็นว่านอกจากจะมีการทำบุญมีพระสงฆ์จากพม่า 10 รูป จากไทย 10 รูป มาทำพิธีที่เชิงสะพานฝั่งไทย เสร็จแล้วกิจกรรมต่อไปก็มีการแสดง เช่น การชกมวย การฟ้อนรำ ทั้งฝ่ายไทยและพม่า และมีช่วงหนึ่งที่ปั่นจักรยานประมาณ 1,500 คัน แจกเสื้อคนละตัว โดยเริ่มปันจักรยานจากสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 1 และไปกลับเข้าประเทศไทยที่สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาร์แห่งที่ 2 แล้ววนกลับ
เป็นกิจกรรมที่ทำให้มีความรำลึกถึงความสัมพันธ์ของสะพานทั้งสองแห่ง ซึ่งแห่งที่หนึ่งได้เริ่มมาแล้วแห่งที่สองกำลังจะเริ่มปีหน้าปี 2561 มีคนทยอยสมัครเข้ามามาก เราแจ้งไปยังจังหวัดตาก มีประชากรจำนวนประมาณ 6,000,000 คน อยู่ใน 9 อำเภอ และมอบหมายให้นายอำเภอทุกท่านช่วยบอกชาวบ้านให้มาสมัคร และจะมีนักท่องเที่ยวจากต่างจังหวัดที่ทาง ททท. ช่วยประชาสัมพันธ์เนื่องจากว่ามีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ ในโอกาสครบรอบ 20 ปี ของ “สะพานมิตรภาพไทย-พม่า” และครบรอบโอกาสที่เราจะปั่นข้ามสะพานจากแห่งที่ 1 มายังสะพานแห่งที่ 2 ก็ถือว่าเป็นประวัติศาสตร์สำหรับการสร้างสะพานทั้งสองแห่ง และเกิดความสัมพันธ์และความร่วมมืออันดีรtหว่างไทยกับเมียนมาร์ เป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกัน” นายอุดร กล่าว
สำหรับกิจกรรมในวันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา นอกจากจะเป็นการบันทึกทางประวัติศาสตร์แล้วยังเป็นเรื่องของการสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดตากจากนักท่องเที่ยว 1,500 คน เชื่อว่าน่าจะมากกว่า 1,500 คน เนื่องจากว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นักท่องเที่ยวที่มาเกิดการใช้จ่ายเงินในพื้นที่อำเภอแม่สอด ทั้งที่พัก อาหาร ซื้อสินค้าของฝากต่างๆ ก็เกิดการกิน การชอปฯ การเที่ยว ในพื้นที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก
“ท่านก็คงได้ยิน โอลิมปิกวันนี้หรือแม้แต่ซีเกมส์ คือในโลกของมนุษย์เราจะมีเรื่องของวัฒนธรรม เรื่องกีฬา เรื่องการท่องเที่ยวซึ่งเป็นการรักษาสันติภาพของโลกด้วยเหตุนี้ก็เป็นการยืนยันว่าโลกในยุคต่อไปนี้ จะเป็นโลกที่จะมีกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นท่องเที่ยวก็ดี เป็นค้าขายก็ดี หรือแม้แต่วัฒนธรรมก็ดี กีฬาก็ดี ตรงนี้จะเป็นสิ่งที่ขับเคลื่อนความเป็นอยู่ของมนุษย์โลกเรานี้ีที่มีเจ็ดพันกว่าล้านคนให้เป็นไปทางเพื่อสันติ
และอยากจะเพิ่มเติมอีกอย่างคือ นักท่องเที่ยวจากพม่า ซึ่งพม่าวันนี้ทั่วๆ ไป คือชนชั้นกลางจะมีมากขึ้นเรียกว่ามีสตางค์ วันนี้เราจึงมีข้อจำกัดอยู่บ้างเช่น ไม่ให้เดินทางมาเกินที่ จังหวัดตาก หรืออำเภอแม่สอด เขาก็ไม่ให้เราไปเกินประมาณ 75 กิโลเมตร ตรงนี้เป็นเงื่อนไขที่ฝ่ายความมั่นคงวิตกอยู่ แต่ว่าถ้าเหตุการณ์ที่ผมอยากจะขอเรียกร้องทางรัฐบาลไทย เปิดโอกาสให้เขามาท่องเที่ยวที่มีกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศอยู่ ที่ห้ามไม่ให้เข้ามาเกิน 75 กิโลเมตร ก็ให้เขาไปท่องเที่ยวที่เมืองเก่าสุโขทัย ไปตีกอล์ฟที่สนามเขื่อนภูมิพล อย่างนี้เขาเข้ามาไม่ได้ เพราะมีข้อจำกัดไม่ให้เขามา
ต่อไปนี้ การท่องเที่ยวเป็นการเสริมรายได้ให้กับเรา เขาจะมากินมาเที่ยวมาใช้ มาพัก มาชอปฯ ตรงนี้นี่จะเป็นการเสริมรายได้ให้กับคนไทยด้วย อยากจะให้เปิดพื้นที่ตรงนี้มากขึ้น อย่างตอนผมไปเวียดนาม วันเดียวผมนั่งรถตู้จากตากไปสุโขทัย พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร ข้ามสะพานไปจังหวัดสะหวันนะเขตของลาว ข้ามสะพานไปจนถึงเมืองดานังไปมาแล้วและก็ไปทางคุนหมิงก็ไปมาแล้ว ออกจากตาก 8 โมงเช้า ไปพักที่เชียงของตอนเย็นพอดีสักประมาณ 5 โมงเย็น ค้างคืนและข้ามไปลาว จากลาวก็ข้ามไปสิบสองปันนา วันรุ่งขึ้นก็ข้ามจากสิบสองปันนาไปคุนหมิงสะดวกมากครับ” นายอุดร กล่าวทิ้งท้าย
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
(ขอบคุณภาพบางส่วนจาก หนังสือบันทึกการก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า สะพานแห่งประวัติศาสตร์ โดย อุดร ตันติสุนทร)