xs
xsm
sm
md
lg

ชาวเน็ตจวกบูรณะ “พระปรางค์วัดอรุณ” จากยักษ์เข้มขลังกลายเป็นยักษ์การ์ตูน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกโซเชียล หลังจากกรมศิลปากรได้ทำการบูรณะพระปรางค์ของวันอรุณฯ จนไม่เหลือร่องรอยความสวยงานแบบสมัยก่อน ด้านชาวเน็ตรุมจวก “จากยักษ์เข้มขลังกลายเป็นยักษ์การ์ตูน”

วันนี้ (15 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 07.07 น. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “ต่อตระกูล ยมนาค” ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ออกมาโพสต์รูปภาพของ วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร หลังจากมีการบูรณะ พระปรางค์ โดยระบุข้อความว่า

“บูรณะแบบไหน ถึงมาแปลงโฉม พระปรางค์ วัดอรุณฯ เป็นโทนสีขาว แกะกระเบื้องสี หลากสี จากจานเคลือบสีโบราณล้ำค่าหายออกไปแล้ว ทำแบบนี้ ทำไม? ใครรู้ช่วยตอบด้วย”

ต่อมาเวลาประมาณ 09.56 น. ของวันที่ 15 ส.ค. ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ “Chulcherm Yugala” หรือ พลตรีหม่อมเจ้าจุลเจิม ยุคล ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านโลกโซเชียล ถึงกรณีการบูรณะพระปรางค์ของวัดอรุณฯ เช่นเดียวกัน โดยได้ระบุข้อความว่า

“ความอัปลักษณ์ มีที่ประเทศไทยทำได้ ประเทศเดียว

เห็นเฟซบุ๊กของ อ.ต่อตระกูล แล้วจิตใจห่อเหี่ยว เรื่องการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ กรมศิลปากร และช่างไทยเดี๋ยวนี้ทำได้แค่นี้หรือครับ ชุ่ยๆ ง่ายๆ เข้าว่า แกะกระเบื้องถ้วยชามโบราณหลากสีที่ล้ำค่า ที่ชำรุด หรือหายออกไป (อาจจะนำกระเบื้องถ้วยชามที่แกะออกไป นำไปทำเป็นพระเครื่อง ออกจำหน่ายในภายหลัง นับว่าเป็นโชคสองขั้น วัดครึ่งกรรมการครึ่ง) แทนที่จะทำเลียนแบบขึ้นมาใหม่ กลับเลาะทิ้ง รื้อทิ้ง เปลี่ยนรูปแบบสีขององค์พระปรางค์ใหม่ซะเลย เขาเรียกว่า ขอชุ่ยเข้าว่า ใครหนอเป็นต้นคิด ถึงสาเหตุการบูรณที่เปลี่ยนแปลง จากของเก่าที่ทรงคุณค่า มาเป็นของใหม่ที่กะหลาป๋าเช่นนี้ครับ

ช่วยตอบให้ประชาชนเจ้าของประเทศได้รับรู้ ว่าในการบูรณะ พระปรางค์ วัดอรุณใหม่ในครั้งนี้ ถึงได้มีการมาแปลงโฉม (พระปรางค์) ออกมาเป็นเช่นนี้ จริงแล้วถ้าองค์พระปรางค์ชำรุด ถึงขนาดที่จะต้องบูรณะ ซ่อมแซมใหม่น่าทำกระเบื้องเรียนแบบกระเบื้องถ้วยชามโบราณหลากสีที่ล้ำค่า ก็ได้ (เพราะเราทำของปลอมเรียนแบบเก่ง อยู่แล้ว แม้แต่ ข้าราชการปลอม นายกปลอม พระปลอม เยอะแยะไปหมด) แค่กระเบื้องปลอมทำไม่ได้เชียวหรือครับและใช้ช่างที่กรมศิลปากรได้อนุรักษ์ และฝึกฝนมาทำการซ่อมแซม ไม่ใช่ให้ บริษัทผู้รับเหมา ช่างอิฐ ช่างปูนธรรมดา ที่ฝีมือไม่ถึง มาทำการบูรณะ ทำแบบนี้ ทำไมครับ ? ใครรู้ช่วยตอบที หรือเป็นกรรมของลูกหลาน คนไทย ที่มีคนคิดและทำแบบนี้กับศิลปะอันล้ำค่า ที่ประเมินค่ามิได้ของประเทศชาติ แต่ประชาชนคนไทยก็ยังโชคดีหน่อย ที่ทางการไม่ทุบทิ้งองค์พระปรางค์ แล้วสร้างขึ้นใหม่ เพราะไม่มี กระเบื้องถ้วยชา โบราณหลากสีที่ล้ำค่า มาซ่อมแซมบูรณะใหม่ สวัสดีความเศร้าครับ กรมศิลปากรในสิบกว่าปีมานี้ ทำอะไรเหมือนไม่คิดอยู่เรื่อยๆ ความสง่างามขององค์พระปรางค์ หายไปหมดแล้วจากยักษ์เคร่งขรึม มาเป็นยักษ์ยิ้ม ก็ดีครับ”

จากกรณีดังกล่าวนี้ได้มีชาวเน็ตเข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมากมาย โดยต่างแสดงความคิดเห็นไปในทำนองเดียวกันคือ รู้สึกเศร้าและเสียใจ พร้อมกับตำหนิกรมศิลปากร บ้างก็บอกว่า “ เห็นแล้วอนาถจัง จากยักษ์เข้มขลังกลายเป็นยักษ์การ์ตูน คิดได้ไงคะ คนที่มีอำนาจหน้าที่ดูเเลคุณน่าจะใส่ใจให้มาก เรื่องนี้มันสำคัญ เป็นศิลปะโบราณ ควรรักษาไว้ ไม่ใช่ทำใหม่ไม่เหลือภาพเก่าเลย” และ “บูรณะแล้วทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด ไม่งดงาม ไม่สง่างามเหมือนก่อนเลย ทำไมทำแบบนี้ เศร้าใจ”

มีรายงานข่าวเพิ่มเติมว่า พระศากยปุตติยวงศ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาส วัดอรุณราชวราราม ประธานโครงการบูรณะ วัดอรุณราชวรารามฯ ชี้แจงว่า การบูรณะปฏิสังขรณ์พระปรางค์ครั้งนี้ เป็นการบูรณะครั้งใหญ่ในรอบหลาย 10 ปี นับตั้งแต่การบูรณะครั้งใหญ่ที่สุดในสมัยรัชกาลที่ 5

ในการบูรณะครั้งนี้ ทางรัฐบาลโดยกรมศิลปากรและวัดอรุณราชวราราม ได้ดำเนินงานบูรณะร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีการศึกษาค้นคว้าทางวิชาการอนุรักษ์เพื่อออกแบบบูรณะให้ถูกต้องตามหลักวิชาการและรักษาความเป็นของแท้ดั้งเดิมให้มากที่สุด ทั้งรูปแบบสถาปัตยกรรมและวัสดุ นับเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดในการบูรณะโบราณสถานในยุคนี้ กระเบื้องสีที่นำขึ้นไปประดับบนองค์พระปรางค์ เป็นการซ่อมเปลี่ยนแทนวัสดุเดิมที่ร่วงหล่น ส่วนที่เป็นของดั้งเดิมที่ยังสถาพดีอยู่ ก็คงไว้ดังเดิม ซึ่งรูปถ่ายที่มีผู้นำมาเปรียบเทียบลักษณะก่อนและหลังบูรณะนั้น เป็นการนำภาพปรางค์ทิศมาเปรียบกับปรางค์ประธานลวดลายและทรวดทรวงจึงแตกต่างกัน ส่วนขององค์ปรางค์ที่เห็นเป็นสีขาวนั้น เกิดจากการทำความสะอาดคราบตะไคร้น้ำ และทาสีน้ำปูน ซึ่งสีดั้งเดิมขององค์พระปรางค์ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า การบูรณะครั้งนี้ ได้มีการศึกษาค้นคว้าก่อนการดำเนินการและบันทึกรายละเอียดระหว่างการทำงานและควบคุมดูแลโดยเจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากรที่มีความรู้ความชำนาญและอยู่ในสายตาของวัดทุกขึ้นตอนตั้งแต่เริ่มดำเนินจนเสร็จสมบูรณ์

สำหรับวัดอรุณราชวรราราม สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 พระปรางค์มีความโดนเด่นของการผสมผสานสถาปัตยกรรมไทยผสมจีน ด้วยการประดับกระเบื้องและถ้วยลายครามเป็นลวดลาย เริ่มบูรณะตั้งแต่ปี 2556 โดยกรมศิลปากรดูแลอย่างใกล้ชิด










กำลังโหลดความคิดเห็น