“ทางรถไฟสายมรณะ” คือสมญานามที่โลกเรียกทางรถไฟสายไทย-พม่า ที่ญี่ปุ่นสร้างในสมัยสงครามมหาเอเซียบูรพา ซึ่งเป็นความทรงจำอันเลวร้ายเรื่องหนึ่งของมนุษยชาติ และมีเรื่องเหลือเชื่อมากมาย แม้เหล่าเชลยศึกกลับไปเล่าให้ทางบ้านฟังก็ยังไม่มีใครเชื่อ จนได้ประจักษ์ความจริงในภายหลัง ไทยคาดว่าญี่ปุ่นสร้างแล้วจะยึดเป็นเจ้าของไปตลอด จึงเสนอขอสร้างเอง แต่เมื่อแจ้งเรื่องให้กรมรถไฟไทยรับไป กลับได้คำตอบว่าระยะทาง ๔๓๐ กม.นี้ แม้ให้สร้างในที่ราบก็ต้องใช้เวลาถึง ๘ ปี ที่กำหนดให้เสร็จใน ๑ ปีจึงเป็นไปไม่ได้ แต่ญี่ปุ่นใช้เทคโนโลยีแบบอียิปต์สร้างพีรามิด ทั้งยังสร้างผ่านหุบเหวโหด เสร็จใน ๑๐ เดือน ๑๐ วัน
เมื่อ เดวิด ลีน ผู้กำกับการแสดงชาวอังกฤษ นำเรื่องราวการสร้างทางรถไฟสายนรกนี้ไปสร้างเป็นภาพยนตร์ในชื่อ “Bridge on the River Kwai” โดยมี ๔ นางเอกชื่อดังของไทยไปแสดงเป็นตัวประกอบในบทลูกหาบ แต่ไปถ่ายทำที่ลังกา ซึ่งได้กลายเป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของฮอลลีวูด ได้รับตุ๊กตาทองหลายตัว ทั้งยังเป็นภาพยนตร์ทำเงินทั่วโลก ก็เลยทำให้ใครๆพากันอยากมาดูของจริงในเมืองไทย
เส้นทางรถไฟก้องโลกสายนี้ สร้างขึ้นด้วยจุดประสงค์ทางยุทธศาสตร์ มีกำหนดให้แล้วเสร็จภายในเวลา ๑ ปี แต่ภูมิประเทศที่ต้องสร้างผ่านไปนั้นเป็นแดนทุรกันดารที่เต็มไปด้วยหุบเหวลึก ชุกชุมด้วยเชื้อมาเลเรีย บิด และอหิวาต์ ทั้งยังขาดแคลนยารักษาโรคและอาหาร ที่พักอาศัยไม่อาจคุ้มฝนและความหนาวเย็นของป่า เครื่องมือทุ่นแรงขนาดใหญ่ก็ไม่อาจขนย้ายเข้าไปใช้ได้ จึงต้องใช้แรงคนเท่านั้น และเพราะความเร่งรีบของงานที่ต้องทำให้เสร็จตามกำหนดตามแผนของสงคราม คนป่วยจึงไม่สามารถหยุดพักได้ ที่ป่วยหนักจนลุกไม่ขึ้นก็ต้องปล่อยให้ตายอยู่ในกระต๊อบที่พัก หรือไม่ก็เอาไปฝังทั้งเป็น เพื่อไม่ให้แพร่เชื้อไปถึงคนอื่น ชีวิตมนุษย์ไม่มีค่าพอที่จะต้องคำนึงถึง เพราะความสำคัญเหนืออื่นใดก็คือชัยชนะ ชีวิตมนุษย์จึงถูกนำมาถมทับเข้าไปอย่างไม่อั้น เปรียบเปรยกันว่า ๑ ไม้หมอนรถไฟต่อ ๑ ชีวิต
กองทัพญี่ปุ่นให้ความสำคัญกับทางรถไฟมาก มีการสร้างกองพันทหารรถไฟเพื่อการขนส่งทหารและยุทธปัจจัยมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๙ ครั้งสงครามกับเกาหลีและแมนจูเรีย ต่อมาในปี ๒๔๕๐ หลังทำสงครามกับรัสเซียแล้ว จึงขยายเป็นกองพลทหารรถไฟ ในเดือนตุลาคม ๒๔๘๔ ที่ญี่ปุ่นขนทหารมาอินโดจีนของฝรั่งเศสนั้น ก็ได้เอากองพลทหารรถไฟมาถึง ๖,๐๐๐ คน พร้อมด้วยราง ๗,๐๐๐ ตัน หัวรถจักร ตู้สินค้า และอุปกรณ์การก่อสร้างทางรถไฟครบครัน ระหว่างเดินทางมาในเรือเที่ยวนี้ พันโทโทริโอะ ฮิโรอิเกะ เสนาธิการทหารรถไฟ ก็เกิดไอเดียที่จะสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าขึ้น แต่กองทัพไม่เห็นด้วย จนกระทั่งญี่ปุ่นพ่ายกองทัพอเมริกันที่ฐานทัพมิดเวย์เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๔๘๔ อเมริกันคุมทั้งน่านน้ำและน่านฟ้าไว้ได้มาก การขนส่งระหว่างสิงคโปร์ที่ญี่ปุ่นยึดแล้วเปลี่ยนชื่อเป็น “โชนัน” กับพม่าจึงยากลำบากขึ้น จึงหันกลับมาสนับสนุนทางรถไฟสายไทย-พม่า พร้อมกับการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พลเอกฮิเดกิ โตโจ
ญี่ปุ่นได้เสนอต่อไทยเมื่อวันที่ ๒๓ มีนาคม ๒๔๘๕ ขอสร้างทางรถไฟจากบ้านโป่งไปถึงด่านเจดีย์สามองค์แล้วต่อไปพม่า เพื่อเชื่อมกับทางรถไฟของพม่าที่สถานีทันบูซายัตใต้เมืองมะละแหม่ง กำหนดใช้เวลา ๑ ปี เป็นระยะทาง ๔๓๐ กม.ขอให้ไทยช่วยหารางให้ ๖๐ กม. หากรรมกรให้ ๓,๐๐๐ คน นอกนั้น ญี่ปุ่นจะใช้เชลยศึกกับทหารช่างญี่ปุ่น
จอมพล ป.พิบูลสงครามรับหลักการ แต่ขอสร้างเองให้ญี่ปุ่นส่งวัสดุที่ใช้มาให้เท่านั้น พร้อมกับแจ้งเรื่องนี้ไปให้กรมรถไฟของไทยทราบ กรมรถไฟได้มีหนังสือตอบมาเมื่อวันที่ ๓ เมษายนว่า หนักใจเรื่องเวลาเกรงจะสร้างไม่ทัน เพราะระยะทาง ๔๐๐ กม.กว่านี้ ถือว่ายาวมาก ขนาดสร้างในทางพื้นราบก็ต้องใช้เวลาถึง ๘ ปี แต่ภูมิประเทศที่จะต้องสร้างนี้ดูแผนที่แล้วหาที่ราบไม่เจอเลย การขนส่งอุปกรณ์ที่ใช้ก่อสร้างก็ลำบากเพราะญี่ปุ่นเอารถไฟไปขนทหารเกือบหมด อีกทั้งเครื่องมือถางป่า เช่น จอบ เสียม ขวาน เลื่อย ในท้องตลาดกรุงเทพฯ ก็หาไม่ได้แล้ว เพราะญี่ปุ่นเหมาไปเกลี้ยง แค่งานซ่อมทางรถไฟตอนนี้ก็ลำบากอยู่แล้ว แต่ญี่ปุ่นจะให้เสร็จภายใน ๑ ปีจึงไม่มีทางเป็นไปได้
เหตุที่จอมพลป.กังวลก็คือ เมื่อสร้างเสร็จแล้วญี่ปุ่นจะยึดรางนี้ไปตลอด จึงเสนอขอซื้อเมื่อเสร็จสงคราม ญี่ปุ่นก็บอกว่าเสร็จสงครามแล้วค่อยมาพูดกัน อย่าเพิ่งพูดตอนนี้ จอมพลป.ถามอีกว่า ตกลงทางรถไฟสายนี้จะเป็นทางรถไฟเพื่อการทหารหรือเพื่อการพาณิชย์ ญี่ปุ่นว่าระหว่างสงครามเป็นการทหาร หลังสงครามแล้วเป็นการพาณิชย์ แบบนี้จอมพล ป.ก็รู้ว่า เมื่อเสร็จสงครามแล้วบริษัทญี่ปุ่นต้องยึดไว้แน่ จึงบอกว่าถ้าเป็นรถไฟเพื่อการพาณิชย์ตามกฎหมายไทยต้องขอสัมปทานก่อน และต้องจ่ายค่าเวนคืนที่ดิน ญี่ปุ่นเลยบอกว่างั้นเป็นการทหารก็แล้วกัน จอมพลป.ก็ต่อรองอีกว่า ขอไทยเป็นผู้สร้างทางจากสถานีหนองปลาดุกไปถึงท่ามะขาม เป็นระยะทาง ๗๐ กม. จากนั้นญี่ปุ่นก็สร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว สร้างทางผ่านป่าไปออกพม่าที่ด่านเจดีย์สามองค์เอง เพราะต้นทางนี้ต้องผ่านบ้านเรือนและที่ทำกินของราษฎร ถ้าทหารญี่ปุ่นไปตัดต้นไม้หรือขุดดินในที่เขามาถมทาง ก็จะมีปัญหากันแน่ ญี่ปุ่นเลยยอม แต่ให้ไทยเพียงแค่ถมดินเป็นแนวทาง ญี่ปุ่นจะเป็นฝ่ายวางรางเอง ในที่สุดก็มีการปักหลัก กม. ๐ ที่สถานีหนองปลาดุกเมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๕ เป็นวันเริ่มต้นสร้างทางรถไฟสายนี้ในไทย แต่ในพม่าญี่ปุ่นลุยมาก่อนแล้ว เพราะไม่ต้องเสียเวลาต่อล้อต่อเถียงกับใคร ปักหลัก กม. ๐ ที่สถานี ทันบูซายัต ตั้งแต่วันที่ ๒๘ มิถุนายน
หลังสงคราม มีเชลยศึกที่รอดชีวิตจากการสร้างทางรถไฟสายนี้ นำประสบการณ์ไปเขียนหนังสือออกมาหลายต่อหลายเล่ม ต่างก็เป็นหนังสือขายดีในยุคนั้น เรื่องราวของการสร้างทางรถไฟสายไทย-พม่าจึงฉาวโฉ่ไปทั่วโลก ไม่มีใครคาดคิดว่าสภาพการณ์จะโหดร้ายปานนรกเช่นนั้น เชลยศึกบางคนเล่าว่าเมื่อกลับไปเล่าให้คนทางบ้านฟัง ไม่มีใครเชื่อว่าจะเป็นไปได้ถึงขนาดนั้น ยังกับไม่ใช่การกระทำของมนุษย์ต่อมนุษย์
ญี่ปุ่นจะใช้วิธีหลอกเชลยศึกที่ถูกคุมขังอยู่ในค่ายกักกันต่างๆ เช่นที่สิงคโปร์ซึ่งสภาพเลวร้ายอยู่แล้ว ว่ามีการสร้างค่ายเชลยศึกใหม่ขึ้นในประเทศไทย มีความเป็นอยู่ดีกว่าที่สิงคโปร์มาก อาหารการกินสมบูรณ์กว่า เชลยศึกไม่เชื่อญี่ปุ่นอยู่แล้ว แต่ก็ยังหวังว่าถ้าดีกว่าที่สิงคโปร์หน่อยก็ยังดี เพราะที่สิงคโปร์ให้อาหารวันละ ๒ มื้อ ข้าวแต่ละมื้อก็ไม่พอกิน ซ้ำยังถูกเหยียดหยามรังแก บ้างก็ฝันว่าค่ายใหม่อาจจะอยู่ในความดูแลของกาชาดสากล เหล่าเชลยศึกจึงเต็มใจที่จะมาเมืองไทยกัน
บาทหลวงในกองทัพอังกฤษคนหนึ่งชื่อดักลาส ได้เล่าให้เห็นภาพการหลอกเชลยศึกจากสิงคโปร์มาทำงานสร้างทางรถไฟไว้ว่า
“ทหารญี่ปุ่นบอกเราว่าจะไปสถานพักฟื้น พวกเราดีใจ เขาบอกว่าพวกเราจะได้เล่นเปียโน ฟังเพลงจากแผ่นเสียง เขาจะจัดหาแผ่นเสียงให้ เราทำตามด้วยความยินดี จำนวนอาหารที่น้อยลงและจำนวนคนเพิ่มขึ้นที่สิงคโปร์ ก่อให้เกิดความตื่นตระหนกและกังวล พวกเขาบอกว่าไปนี่จะเป็นการฟื้นฟูร่างกายที่อ่อนแอ และเป็นการปลดปล่อยจากความเป็นอยู่ที่จำเจภายในรั้วลวดหนาม พวกเขาพูดว่า “จะขับไล่โรคร้ายและจะดีขึ้น” พวกเราเชื่อตาม แต่การเริ่มต้นของการเดินทางไปสู่สวรรค์ที่ทหารญี่ปุ่นบอกไม่มีเค้าเช่นนั้นเลย พวกเขาได้จับพวกเราใส่เข้าไปในตู้รถสินค้าเหล็ก รถไฟ ๑ ตู้บรรทุกคน ๓๕ คนไปยังประเทศไทย “ประเทศเสรี” โดยใช้เวลา ๕ วัน ๕ คืน ฝ่าความร้อนจากแสงอาทิตย์ของมลายูซึ่งแผดเผาอย่างไร้เมตตา ได้รับอาหารเพียงแค่ข้าวกับซุปที่เรียกว่าสตูว์ แต่ที่จริงไม่ใช่ ถึงกระนั้นก็ตามพวกเราก็ยังมีความหวัง แต่พอถึงบ้านโป่งพวกเขาพูดว่า “ทุกคนเดินหน้า เดิน เดิน” พวกเราคนหนึ่งถามขึ้นว่า “พวกเราไม่ได้มาพักผ่อนหรือ” ทันใดนั้นทหารญี่ปุ่นก็เปล่งเสียงหัวเราะที่เต็มไปด้วยการเยาะเย้ยและการดูถูก ซึ่งเชลยศึกในกองทัพญี่ปุ่นเท่านั้นที่จะเข้าใจได้ พวกเรารู้ได้ทันทีว่านี่คือการหักหลัง แก่นแท้อีกอย่างหนึ่งของทหารญี่ปุ่น”
ตามสนธิสัญญาว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึกที่ญี่ปุ่นลงนามไว้ที่เจนีวาเมื่อวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๔๗๒ ระบุว่า นอกจากเชลยศึกที่เป็นนายทหารแล้ว สามารถใช้เชลยศึกที่มีสุขภาพดีทำงานได้ แต่ต้องไม่ใช่งานที่เกี่ยวกับสงคราม หรืองานที่ไม่ถูกสุขลักษณะและเป็นอันตราย แต่ญี่ปุ่นไม่สนใจสนธิสัญญาระหว่างประเทศใดๆทั้งสิ้น หากเชลยศึกประท้วง ญี่ปุ่นก็จะตอบว่า “ญี่ปุ่นกำลังจะชนะสงคราม เราสามารถทำตามที่เราต้องการได้”
พันเอกฟิลลิปส์ ทุสซี่ แห่งกองทัพบกอังกฤษ ซึ่งเป็นต้นแบบของ “พันเอกนิโคลสัน” ในภาพยนตร์เรื่อง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ถูกเกณฑ์ให้มาสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแคว ได้เล่าว่า
“ตั้งแต่วันรุ่งขึ้นของวันที่พวกเราไปถึง ก็เริ่มงานแบกท่อนซุงใหญ่ งานนี้สำหรับผมเป็นงานหนักงานแรก พวกทหารญี่ปุ่นทั้งหลายให้เราทำงานจนถึงเย็น พวกเราจึงเหน็ดเหนื่อยและปวดเมื่อยตามร่างกายมากจนต้องคลานเข้านอนแล้วก็หลับไปโดยไม่สามารถกินอาหารเย็นได้เลย วันต่อมาก็ทำงานขนดินด้วยกระบุง นี่ก็เป็นงานหนักและจำเจซ้ำซากมาก ทำงานตอนเช้า ๘ โมงครึ่งถึง ๑ ทุ่มครึ่ง พักกินอาหารกลางวัน ๑ ชั่วโมง”
เพราะการสร้างทางรถไฟมีกำหนดวันเสร็จ ญี่ปุ่นจึงแบ่งงานของแต่ละวันไว้ ถ้างานของวันนั้นไม่เสร็จภายในเวลาทำงาน เชลยก็ต้องทำต่อให้เสร็จ บางทีก็ถึงดึกหรืออาจจะถึงเช้าวันรุ่งขึ้นและต่องานของวันใหม่ไปเลย
เชลยศึกแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็นนายทหารเสนาธิการ เป็นวิศวกร สถาปนิก หรืออนุศาสนาจารย์ ทุกคนต้องทำงานกุลีเสมอภาคกัน และไม่มีเครื่องมือทุ่นแรงใดๆเข้าไปใช้นอกจากรอก
ยอร์ช โวกส์ อดีตเชลยศึกอีกคนเล่าถึงสภาพการทำงานของเขาว่า
“เราต้องรับผิดชอบในการสร้างสะพานสองสะพาน ซึ่งห่างประมาณ ๑ ไมล์จากค่าย หลังอาหารเช้าแล้วเราก็เดินแถวเรียงหนึ่งเพื่อไปทำงาน เอาอาหารกลางวันติดตัวไปด้วย และทำงานจนถึง ๖ โมงเย็นทุกวัน
บ่ายวันนั้น เราถือเหล็กแหลม ไม้ เชือก ไปยังที่สร้างสะพาน สะพานหนึ่งยาว ๔๐ หลา อีกสะพานหนึ่งสั้นกว่าเล็กน้อย ข้ามแนว ๒ แห่งซึ่งลึกเกินไปหากจะคิดถมดิน มันไม่ใช่งานของผู้มีความรู้ด้านวิศวกรรม เราต้องเป็นกรรมกร-กุลี แต่วิธีการสร้างของญี่ปุ่นนั้นง่าย และอายุการใช้งานเพียงชั่วคราว
ครั้งแรกตั้งเสาเอาตะลุมพุกกระแทกเข็มลงในดิน ใช้คนสองชุดสำหรับดึงเชือกหลายเส้น แล้วปล่อยลูกตุ้มกระแทกให้เข็มใหญ่ลึกลงในดิน เมื่อเข็มเหล่านี้ลึกและได้ระดับดีแล้ว ก็สร้างสะพานไม้บนฐานไม้เหล่านั้น เชลยสงครามบางคนนั่งถากแต่เสาเข็มให้แหลม บางคนดึงเชือกลากลูกรอกเอาไม้สดขึ้นจากแม่น้ำระยะ ๓๐ ฟุตจากเบื้องล่าง
อะไรก็พอทน แต่แสงแดดในยามบ่ายแผดเผาผิวหนังพวกเราจนไหม้เกรียม แถมกางเกงไม่มีนุ่งด้วย เอาเศษผ้ามาทำเป็นผ้าเตี่ยวปกปิดบังเครื่องเพศไว้เพียงนิดเดียว เหงื่อไหลโทรมกายไหลเข้าตาแสบ การฉุดดึงไม้ใหญ่ให้เข้าที่ดังทาสฟาโรต์สร้างปิระมิดในอียิปต์สมัยโบราณ นั่งร้านสูงมีหารญี่ปุ่นคนหนึ่งคอยบอกสัญญาณปล่อยลูกตุ้มลงบนเข็ม แล้วก็ดึงลากชักไปใหม่…”
และอีกตอนหนึ่งเล่าว่า
“ด้วยเวลาเพียงวันเดียว เราเอาซุงขนาดใหญ่ขึ้นจากแม่น้ำ ๘๘ ต้นด้วยมือและเรี่ยวแรงของมนุษย์ แล้วแบกต่อไปอีก ๖๐ หลา วางซ้อนไว้ ทำไปจนกว่าจะหมดแรงหรือเจ็บป่วย”
คนป่วยที่ทำงานไม่ได้จะไม่ได้รับอาหาร เพราะอาหารมีไว้ให้คนทำงานเท่านั้น คนป่วยจะถูกทิ้งไว้ในกระต๊อบที่พัก ไม่มียารักษา คนที่เป็นอหิวาต์ก็มักจะนั่งตายคาส้วมเพราะถ่ายไม่หยุด บางคนก็นั่งพิงต้นไม้ตายในท่าถ่าย ภายใน ๔๘ ชั่วโมงก็จะเหลือแต่กระดูกขาวโพลนอยู่ในท่านั่งเดิม เพราะถูกสัตว์ประเภทเม่นและหนูแทะ
คนที่คลานไปตายในป่า บ้างก็ถูกเชลยด้วยกันช่วยตามไปเก็บมาฝัง คนที่ใกล้ตายก็ถูกฝังลงไปด้วย นายทหารคนหนึ่งถูกโบยตีอย่างหนัก ฐานไม่ยอมสังหารกุลีชาวทมิฬที่ป่วยเป็นอหิวาต์ใกล้ตาย ครั้งหนึ่งชายชราชาวทมิฬอีกคนได้ชันตัวลุกขึ้นขณะถูกหามมาวางเรียงเตรียมฝังกับศพ ทหารญี่ปุ่นผู้ควบคุมก็ฟาดศีรษะด้วยพลั่วจนเซถลาลงไปในหลุม แล้วก็ถูกกลบด้วยดินไปพร้อมกับศพ
สำหรับกรรมกรที่จะมาทำงานร่วมกับเชลยศึกนั้น ญี่ปุ่นได้กวาดต้อนคนจีน ทมิฬ และอินเดียจากสิงคโปร์และมลายู รวมทั้งชาวอินโดเนเซียและเวียดนามมา แต่ก็ยังไม่พอ จึงขอร้องให้ไทยหาให้อีก ๑๓,๐๐๐ คน โดยเสนอค่าแรงให้วันละ ๒ บาท ค่าเดินทางอีก ๑ บาท และให้หาคนงานระดับมีฝีมือให้อีก ๒,๐๐๐ คน แต่ไทยปฏิเสธรายการหลังนี้ว่าหาไม่ได้ ญี่ปุ่นจึงขอให้ไทยบังคับสมาคมพาณิชย์จีนให้ส่งกรรมกรจีนให้ ไทยก็อ้างอีกว่าไม่มีอำนาจบังคับสมาคม แต่ในที่สุดสมาคมพาณิชย์จีนก็ติดต่อกับญี่ปุ่นเองรับจะจัดหากรรมกรให้ โดยขอค่าแรงวันละ ๓ บาท ถ้าตายขอค่าทำศพ ๒๐๐ บาท และขออนุญาตขายเหล้าขายฝิ่นด้วย เพราะคนจีนเชื่อว่าสูบฝิ่นแล้วไม่เป็นมาเลเรีย
แม้จะส่งกรรมกรให้ไปตามคำขอแล้ว ญี่ปุ่นก็ยังไม่พอขอมาอีกเรื่อยๆ ทั้งสมาคมพาณิชย์จีนและทางการไทยจึงต้องใช้วิธีหลอกเหมือนกัน เพราะหาคนสมัครใจได้ยาก สมาคมพาณิชย์จีนไปหาคนจีนมาจากจังหวัดยะลาว่าจะจ้างไปทำงานที่ชุมพร แต่พามาถึงบ้านโป่ง ทำให้เหล่ากรรมกรแสดงความไม่พอใจจนเกือบจะมีเรื่อง สารวัตรผสมญี่ปุ่นไทยพร้อมด้วยข้าหลวงประจำจังหวัดกาญจนบุรีต้องเข้าไประงับเหตุ
ส่วนกรรมกรไทยที่ไปต้อนมาจากราชบุรี โดยขู่ว่าถ้าใครไม่ไปแล้วจะถูกจับไปส่งนิคม ซึ่งตอนนั้นนิคมสร้างตนเองของจอมพล ป. เป็นที่หวาดกลัวของคนที่ถูกต้อนไปมาก แต่ความจริงแล้วดีกว่าการเป็นกุลีสร้างทางรถไฟสายมรณะเป็นร้อยเท่า ญี่ปุ่นรู้ว่ากรรมกรเหล่านี้ถูกหลอกมาจึงขอให้ส่งแต่คนที่สมัครใจเท่านั้น
พอย่างเข้าเดือนตุลาคม ๒๔๘๖ ญี่ปุ่นเร่งการก่อสร้างทางรถไฟยิ่งขึ้น ให้ทำกันทั้งกลางวันกลางคืน เพื่อให้ทันกำหนดที่จะเข้าตีอินเดีย ทำให้ทหารญี่ปุ่นและเกาหลีที่คุมงานเครียดกันมากขึ้น คนที่รับเคราะห์ก็คือเหล่าเชลยศึกและกรรมกร ถูกทารุณมากยิ่งขึ้น จนในวันที่ ๒๕ ตุลาคม รางรถไฟไทยกับพม่าก็เชื่อมต่อถึงกันที่สถานีคอยทาในเขตไทยใกล้ชายแดนพม่า ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการหลังจากเริ่มก่อสร้างเพียง ๑๐ เดือน ๑๐ วัน เสร็จก่อนกำหนด
ญี่ปุ่นได้ใช้เส้นทางสายนี้ลำเลียงทหารและสัมภาระยุทธปัจจัยไปมะละแหม่ง เพื่อเปิดฉากบุกเข้าอินเดีย โดยขนหัวรถจักรและโบกี้มาจากญี่ปุ่นและใช้รถไฟไทยด้วย แต่เนื่องจากเส้นทางไต่ไปตามหน้าผา ทั้งยังสร้างอย่างเร่งรีบหละหลวม การเดินรถจึงใช้ความเร็วไม่ได้ บางช่วงก็เป็นทางชันต้องใช้หัวรถจักรอีกคันช่วยดึง ใช้เวลา ๗ วัน ๗ คืนกว่าจะถึง แต่พอถึงเดือนมิถุนายนเข้าหน้าฝน น้ำป่าก็พัดสะพานหลายแห่งทลายหายไปกับสายน้ำ ต้องหยุดวิ่ง จนหมดฝนจึงซ่อมสะพานกันใหม่ ซ้ำยังโดนโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรอีก เลยต้องเดินทางกันเฉพาะกลางคืน กลางวันต้องนำรถไฟไปซ่อนไว้ในป่าหรือในถ้ำ โดยวางรางแยกเข้าไปโดยเฉพาะ
เส้นทางรถไฟสายนี้ไม่เพียงแต่เป็นเส้นทางนรกในตอนสร้าง เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังเป็นเส้นทางมรณะที่เกิดอุบัติเหตุหลายครั้ง ในวันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๔๘๗ หลังวันครบรอบ ๑ ปีของการเดินรถไฟสายไทย-พม่าเพียง ๑ สัปดาห์ ขบวนรถไฟที่มีรถจักร ๒ คัน รถตู้อีก ๑๗ คัน บรรทุกทหารญี่ปุ่น ๒,๐๐๐ คน ปืนใหญ่ ๑๐๐ กระบอก ออกจากชุมทางหนองปลาดุกจะไปพม่า ขณะข้ามสะพานยาวไต่ไหล่เขาที่ท่ามะยอ ห่างจากเมืองกาญจน์ ๒๐๐ กม. สะพานก็หักลง ขบวนรถตกลงไปในเหว ทหารเสียชีวิตจำนวนมาก ปืนใหญ่ก็เสียหาย ญี่ปุ่นพยายามปิดเรื่องนี้เป็นความลับ
ต่อมาที่หลัก กม.๒๔๗ ขบวนรถก็ตกเหวอีก คนขับ ๒ คนตาย พร้อมกับทหารญี่ปุ่น ๒ คนที่มาดูงาน และกรรมกรอีกหลายคน สาเหตุจากช่วงต่อรางกับสะพานไม้ยุบลง ทำให้หัวรถจักรตกลงไป ลากเอาขบวนสินค้าที่พ่วงมาลงเหวไปด้วย
อุบัติเหตุครั้งใหญ่อีกครั้งก็คือ ขบวนรถของหน่วยพยาบาลกองเสนาธิการรถไฟ ตกรางระหว่างสถานีหินดาดกับปรังกาสี ก่อนถึงทองผาภูมิ ทำให้ร้อยเอกแพทย์ทหารกับคณะรวม ๘ คนเสียชีวิต และบาดเจ็บอีกมาก
นอกจากนี้ยังมีขบวนรถตกรางและตกเหวอีกหลายครั้ง ซึ่งมักจะถูกปิดข่าว ทำให้ทั้งคนขับคนนั่งต่างหวาดผวาไปตลอดทาง และเห็นตู้รถไฟที่ตกรางถูกทิ้งไว้เป็นระยะ
สรุปว่าทางรถไฟสายนี้ ซึ่งยาว ๔๑๕ กม. อยู่ในเขตไทย ๓๐๔ กม. อยู่ในเขตพม่า ๑๑๑ กม. ตามบันทึกของญี่ปุ่นว่าใช้เวลาสร้าง ๑๐ เดือนกับ ๑๐ วัน เสียชีวิตผู้คนไปเป็นจำนวนแสน แต่ใช้งานจริงได้เพียงไม่กี่เดือน เพราะถูกน้ำป่าพัดสะพานขาดบ้าง ถูกเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรถล่มบ้าง ขนทหารญี่ปุ่นได้ราว ๑ แสนคนไปบุกอินเดีย แต่ก็แตกพ่าย และใช้ทางรถไฟสายนี้ขนทหารแตกทัพกลับมาไทย
บุคคลสำคัญที่มีโอกาสนั่งรถไฟสายนี้ ก็คือ ดร.บามอว์ ประธานาธิบดีพม่าที่ญี่ปุ่นแต่งตั้ง เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ ในวันที่ ๑๕ สิงหาคม ดร.บามอว์จึงใช้บริการรถไฟสายมรณะหนีอังกฤษออกจากพม่ามาไทย เพื่อจะไปญี่ปุ่นต่อ ดร.บามอว์ได้บันทึกถึงความรู้สึกในการนั่งรถไฟครั้งนี้ไว้ว่า
“…สะพานทำด้วยไม้และไม้ไผ่ มัดด้วยเชือกและลวด บางแห่งก็ใช้เชือก เวลาแล่นเลียบเหว ซึ่งบางตอนต้องแล่นไปบนสะพานยาวที่ยื่นออกไปจากหน้าผา หัวใจแทบจะหยุดเต้น มีทั้งทางโค้งหักมุม มีทางลาด มีทางเลี้ยวเป็นวง แต่ถึงกระนั้นก็ตามรถไฟที่เราโดยสารมาก็ไม่ได้ลดความเร็วลงเลย การเดินทางครั้งนี้ คงจะเป็นประสบการณ์ที่ข้าพเจ้าไม่สามารถลืมเลือนได้เลย…”
เมื่อสงครามยุติ อังกฤษเสนอขายเส้นทางรถไฟสายไทย-พม่าเฉพาะในเขตไทยให้ไทยในราคา ๑,๒๕๐,๐๐๐ ปอนด์ หรือราว ๖๒ ล้านบาท ไทยไม่ได้คิดจะใช้ประโยชน์ทางรถไฟสายนี้ แต่ถ้าอังกฤษเอาไปขายให้คนอื่นก็คงยุ่ง เลยจำต้องซื้อไว้ แล้วทิ้งร้างกลางป่า ไม่มีการใช้ประโยชน์
จนในปี ๒๔๙๐ ทางรถไฟสายนี้ก็ยังสร้างชื่อว่าเป็นทางรถไฟสายมรณะอีกครั้ง เมื่อ ม.ล.กรี เดชาติวงศ์ รัฐมนตรีคมนาคม หรือ หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์ ผู้ร่วมก่อตั้งขบวนการเสรีไทยด้วย ซึ่งเคยไปดูทางรถไฟสายยุทธศาสตร์ที่แมนจูกัวและชื่นชมฝีมือของทหารรถไฟญี่ปุ่นมาก คิดจะปรับปรุงเส้นทางนี้ขึ้นใหม่เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านพาณิชย์ จึงได้นำคณะเดินทางไปโดยขบวนพิเศษที่เรียกว่ารถยนต์ราง เพื่อสำรวจเส้นทาง คณะของรัฐมนตรีได้ออกจากสถานีชุมทางหนองปลาดุกในเช้าของวันที่ ๒ กุมภาพันธ์ เมื่อมาถึงหลัก กม.ที่ ๒๖๒ ระหว่างสถานีปรังกาสีกับนิเถะ ซึ่งเป็นสะพานข้ามห้วยคอยทา ไม้หมอนรถไฟซึ่งไหม้เกรียมอยู่แล้วได้หักลง เป็นผลให้รางทรุด ขบวนรถตรวจราชการของรัฐมนตรีตกลงไปในเหวลึก ๘ เมตรทั้งขบวน นายจรุง จิรานนท์ แพทย์ของกรมรถไฟตายคาที่ ม.ล.กรีและนายปุ่น สกุนตนาค อธิบดีกรมรถไฟ รวมทั้งคนขับรถบาดเจ็บสาหัส คนบาดเจ็บน้อยได้เดินกลับมาที่สถานีปรังกาสีเพื่อตามคนไปช่วย ม.ล.กรีทนพิษบาดแผลอยู่ได้ ๑ ชม.ก็เสียชีวิต และกว่าจะนำศพมาถึงสถานีธนบุรีก็เป็นเวลา ๑๐.๐๐ น. ของวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ นับเป็นบุคคลสำคัญที่เสียชีวิตบนเส้นทางสายนี้
ต่อจากนั้นทางรถไฟสายไทย-พม่าก็ถูกทอดทิ้งไว้ในป่าต่อไป ถูกขโมยงัดรางไปขาย ถูกไฟป่าไหม้ไม้หมอนและสะพาน จนเมื่อภาพยนตร์เรื่อง “สะพานข้ามแม่น้ำแคว” ดังกระฉ่อนโลก คนสนใจจะมาดูสถานที่ประวัติศาสตร์แห่งนี้กันมาก การรถไฟจึงรื้อรางออกเหลือแค่สถานีน้ำตก ในอำเภอไทรโยค แล้วบูรณะให้ได้มาตรฐาน สะพานไม้ที่ไต่ไปตามหน้าผาอย่างน่าหวาดเสียว ถูกเปลี่ยนเป็นสะพานคอนกรีต เปิดเป็นเส้นทางท่องเที่ยวตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ๒๕๐๑
เส้นทางรถไฟที่โลกให้สมญานามว่า “ทางรถไฟสายมรณะ” แม้ขณะนี้จะเหลืออยู่เพียง ๑๓๐.๖ กม. ซึ่งก็ยังเหลือจุดที่น่าตื่นเต้นตื่นใจอยู่มาก ได้รับความสนใจจากชาวไทยและชาวโลก โดยเฉพาะประเทศที่มีญาติมิตรมาร่วมชะตากรรมสร้างทางสายนี้ไว้ ขบวนรถท่องเที่ยวทุกวันเสาร์อาทิตย์ของการรถไฟสายนี้ จึงมีทั้งไทยและฝรั่งเต็มขบวนอยู่เป็นประจำ
หลังสถานีน้ำตก ซึ่งเป็นสถานีปลายทาง มีแท่นจำลองเส้นทางรถไฟสายนี้ และแจ้งตัวเลขผู้ร่วมชะตากรรมไว้ว่า
แรงงานชาวเอเชีย ๒๐๐,๐๐๐ คน ตาย ๘๐,๐๐๐ คน
เชลยศึกอังกฤษ ๓๐,๐๐๐ คน ตาย ๖,๕๔๐ คน
เชลยศึกฮอลันดา ๑๘,๐๐๐ คน ตาย ๒,๘๓๐ คน
เชลยศึกออสเตรเลีย ๑๓,๐๐๐ คน ตาย ๒,๗๑๐ คน
เชลยศึกอเมริกัน ๗๐๐ คน ตาย ๓๕๖ คน
ทหารญี่ปุ่นและเกาหลี ๑,๕๐๐ คน ตาย ๑,๐๐๐ คน
นี่คือโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งของมนุษยชาติ