xs
xsm
sm
md
lg

ลุยโคลนไปยึดเชียงตุง สถาปนาเป็น “สหรัฐไทยเดิม”! ชิงดินแดนที่เสียไปในสมัย ร.๔-ร.๕ คืนมาได้ครบ!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ทหารไทยเข้าถึงเชียงตุง
ในข้อตกลงเกี่ยวกับการร่วมยุทธระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ทางบก นอกจากไทยจะต้องเป็นฝ่ายรักษาแนวเขตแดนด้านพม่าแล้ว ทางด้านเหนือ คือรัฐฉานที่อังกฤษครอบครอง และมีสัญญาลับว่าญี่ปุ่นจะยกดินแดนส่วนนี้ผนวกเข้าเป็นอาณาเขตของประเทศไทยนั้น ฝ่ายไทยจะต้องรุกเข้าไปตีดินแดนด้านนี้เอาเอง ถ้าเหลือบ่ากว่าแรงญี่ปุ่นก็จะช่วย

ไทยได้จัดตั้งกองทัพพายัพขึ้นเมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๔๘๔ โดยมี พลตรีจรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์ เป็นผู้บัญชาการ มีภารกิจร่วมรบกับกองทัพญี่ปุ่นในพื้นที่ทางตอนเหนือของแนวถนนตาก-แม่สอด เพื่อเข้ายึดเมืองตองยี ลอยก่อ และเมืองยอง กับอีกด้านหนึ่งรุกเข้าไปในแนวจังหวัดแม่ฮ่องสอน จนไปจรดแม่น้ำโขง เพื่อกวาดล้างข้าศึกที่อยู่ทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน เข้ายึดเมืองเชียงตุง และเมืองต่างๆ ในสหรัฐไทยใหญ่หรือรัฐฉานของพม่า

ตอนต้นสงคราม ญี่ปุ่นตีตะลุยแบบสายฟ้าแลบ ทำให้อังกฤษต้องถอยกรูด จึงถอนกำลังจากรัฐฉานไปเสริมทางด้านอื่น แต่ก่อนจะถอนก็ได้มอบให้กองพล ๙๓ ของจอมพลเจียงไคเช็ครักษาต่อ ฉะนั้นเมื่อกองทัพพายัพบุกเข้าไปจึงต้องปะทะกับกองทหารจีน ไม่ใช่ทหารอังกฤษ แต่ก็ไม่ได้รับการต่อต้านมากนัก นอกจากเมืองใหญ่ที่มีทหารระดับกองพันคุ้มครองอยู่

เมื่อกองทัพพายัพได้เริ่มเคลื่อนเข้ารัฐฉานเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๔๘๕ กองพลที่ ๒ ในบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงไพรีระย่อเดช (กี๋ ชมะบูรณ์) ซึ่งเป็นกองรบด้านซ้ายได้รับมอบหมายให้ตีเมืองสาด ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเชียงตุงประมาณ ๙๐ กม.
แผนที่ของสหรัฐไทยเดิม
เมืองสาด อยู่ห่างจากเขตแดนไทยประมาณ ๙๐ กม.เช่นกัน ตัวเมืองตั้งอยู่บนพื้นที่ราบเชิงเขา ด้านตะวันออกมีแม่น้ำกก ซึ่งไหลมาจากทิวเขาในมณฑลยูนานของจีน ลงมาผ่านอำเภอท่าตอน อำเภอแม่อายของไทย บรรจบกับแม่น้ำโขงที่สบกก อำเภอเชียงแสน ชาวเมืองส่วนใหญ่เป็นไทยใหญ่ เผ่าไทยเขิน พูดภาษาไทยที่มีสำเนียงคล้ายชาวล้านนา ตลอดจนมีวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณีคล้ายคลึงกัน

ทหารจีนกองพลที่ ๙๓ รักษาการณ์ตั้งแต่เมืองหาง เมืองต่วน เมืองสาด มีกำลังพล ๑ กองพัน เมื่อกองทัพไทยเข้าตี ทหารจีนสู้พลางถอยพลางไม่ได้ต้านทานอย่างเหนียวแน่น ทิ้งทหารเจ็บป่วยและติดฝิ่นไว้ตามรายทาง ไปรวมกับทหารที่ถอยข้ามแม่น้ำสาละวินมา และไปสมทบกับกองกำลังส่วนใหญ่ที่เชียงตุง กองพลที่ ๒ จึงยึดเมืองสาดไว้ได้พร้อมกับจับเชลยได้หลายคน

ตามแผนยุทธการ เมื่อยึดเมืองสาดได้แล้ว กองพลที่ ๒ จะต้องเคลื่อนไปตามถนนเชียงตุง-ท่าฬ่อ ให้ลึกเลยเชียงตุงเข้าไป แล้วอ้อมไปตีข้างหลัง ขณะที่กองพลที่ ๓ จะตีเมืองเชียงตุงด้านหน้า

แต่การเดินทัพของกองพลที่ ๒ เกิดอุปสรรคไม่สามารถเคลื่อนกำลังได้ตามเป้าหมาย เพราะภูมิประเทศเต็มไปด้วยโคลนเลนเนื่องจากฝนตกหนัก แม้แต่เกวียนก็ไม่สามารถเคลื่อนไปได้ กำลังพลถูกไข้ป่ากระหน่ำล้มตายลงไม่ต่ำกว่าครึ่ง มีเพียงทหารม้า ๑ กองพันเท่านั้นที่เข้าไปถึงนครเชียงตุงได้ หลังจากที่กองพลที่ ๓ ยึดได้แล้วถึง ๑๐ วัน
รถถังไทยเคลื่อนผ่านแม่สายสู่รัฐฉาน
กองพลที่ ๔ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พันเอกหลวงหาญสงคราม (ฟ้อน สุวรรณไศละ ภายหลังเปลี่ยนเป็น พิชัย หาญสงคราม) ได้เคลื่อนกำลังจากแม่สายเชียงราย ล่วงหน้าไปก่อนกองพลที่ ๓ ในวันที่ ๑๐ พฤษภาคม โดยมีเป้าหมายให้ยึดเมืองพยาค ซึ่งเป็นศูนย์กลางคมนาคมของย่านนี้ จากนั้นจึงมุ่งเข้าสู่เชียงตุง ซึ่งห่างจากเมืองพยาคไปอีก ๘๐ กม. และมีเครื่องบิน ๑๐ เครื่องร่วมปฏิบัติการ ทิ้งระเบิดเมืองต่างๆ ล่วงหน้าไปก่อน กองพลที่ ๔ จึงยึดเมืองพยาคได้สะดวกในวันที่ ๒๐ พฤษภาคม มีการต่อต้านเพียงประปราย

ส่วนกองพลที่ ๓ ในบังคับบัญชาของ พลตรีหลวงชำนาญยุทธศาสตร์ (ผิน ชุณหะวัณ) เคลื่อนตามหลังกองพลที่ ๔ ไปเพื่อสนับสนุนการเข้าตีเมืองพยาค จากนั้นจะแยกเข้าตีเมืองเชียงตุงด้วย

วันที่ ๑๐ พฤษภาคม กองพลที่ ๓ เคลื่อนผ่านท่าขี้เหล็กแต่เช้ามืด ผ่านเมืองโก เมืองเลนที่กองพลที่ ๔ ล่วงหน้าไปก่อน เมื่อถึงเมืองพยาคแล้วแบ่งกำลังออกเป็น ๓ กอง ให้กรมทหารราบที่ ๔ จากอุดรธานี เป็นกองระวังหน้า กรมทหารราบที่ ๓ จากนครราชสีมา เป็นกองหลวง พลตรีผิน ชุณหวัณ อยู่ในกองนี้ อีกกองเป็นกองพันอิสระซึ่งเป็นกองพันพิเศษ

การบุกเชียงตุงสำเร็จนั้น กองพันอิสระนี้มีความสำคัญอยู่มาก เพราะการแยกเป็นกองพันอิสระไปจากกองพลนี้ ก็เป็นอิสระสมบูรณ์แบบ ต้องหาเลี้ยงชีพด้วยตนเอง ไม่มีการส่งกำลังบำรุงใดๆทั้งสิ้น เข้าไปถึงหมู่บ้านไหนก็เข้าตีสนิทกับชาวบ้านช่วยทำงานแล้วขอข้าวกิน บางครั้งก็ต้องหาเผือกหามันหรือล่าสัตว์กินเอง นอกจากนี้ยังมีภาระสำคัญในด้านการปล่อยข่าว โดยคุยกับชาวบ้านว่ากองทัพไทยมีแสนยานุภาพมาก ทั้งยังมีกองทัพญี่ปุ่นตามมาสนับสนุนด้วย ข่าวนี้เมื่อไปถึงทหารกองพล ๙๓ ที่ยึดครองพื้นที่อยู่ ต่างขวัญผวาไปตามกัน เพราะทั้งทหารและชาวบ้านได้กิติศัพท์การบุกของกองทัพญี่ปุ่นแล้ว อังกฤษยังถอยไม่กล้าอยู่สู้ เมื่อรู้ว่ากองทัพไทยบุกนำมีญี่ปุ่นตามมาก็เตรียมถอยกันแล้ว
สภาพของเชียงตุงในวันที่ทหารไทยเข้ายึด
เมื่อเมืองพยาคแตกแล้ว กองระวังหน้าของกองพลที่ ๓ ก็เคลื่อนออกจากเมืองพยาคโดยมีกองหลวงติดตาม ตอนสายของวันนั้นกองระวังหน้าก็ปะทะกับข้าศึกที่ใกล้แม่น้ำท่าเจียว ทหารจีนมีกำลังน้อยกว่าจึงถอยร่นข้ามแม่น้ำไป แต่ไม่ลืมระเบิดสะพานข้ามแม่น้ำพังพินาศ ทิ้งทหารบาดเจ็บให้เป็นเชลยไทย ๕ คน

เชลยทั้ง ๕ ให้การกับพลตรีผินว่า เป็นทหารกองพล ๙๓ กองทัพที่ ๙๖ ซึ่งตั้งอยู่ที่เชียงตุง และเปิดเผยว่ากองกำลังส่วนใหญ่ยึดอยู่ที่ดอยเหมย อันเป็นปราการก่อนจะเข้าเชียงตุงประมาณ ๓ กม.เศษ

ในวันนั้นกองพลที่ ๓ จึงสร้างสะพานแสวงเครื่องขึ้นอย่างเร่งด่วนตลอดวันท่ามกลางสายฝนที่ตกหนัก สะพานเสร็จเมื่อใกล้ค่ำจึงตั้งกองคุ้มกันสะพานไว้ เพราะกลัวว่าข้าศึกจะมาวางระเบิดอีก แต่พอเช้าสะพานก็หายไปกับสายน้ำ ต้องใช้เวลาอีก ๒ วันจึงสร้างใหม่สำเร็จและข้ามไปได้

จากเมืองพยาคมีถนนไปเชียงตุง แต่พอลุยถนนโคลนไปได้ ๑๐ กม. ก็เจอทะเลโคลน รถยนต์ที่เกณฑ์มาจากภาคอีสาน ๔๐๐ คันจมอยู่ในโคลนมากกว่าครึ่ง ทั้งยังต้องผ่านหุบเหวที่ข้าศึกระเบิดภูเขาถล่มปิดเส้นทางไว้ ทหารต้องบุกป่าฝ่าโคลนไปท่ามกลางพายุฝนและอากาศที่หนาวเหน็บ แต่ทหารอีสานก็ทนทายาด เมื่อไม่มีอาหารก็ขุดเผือกขุดมันมาต้มกินแทนข้าว ขุดหน่อไม้มาเคี้ยวกินดิบๆพอประทังชีวิตไปได้

พลตรีผินเล่าความหลังให้นักข่าวฟังเมื่อตอนเป็นจอมพลแล้วว่า

“ผมยังเคยเคี้ยวกินหน่อไม้ดิบๆร่วมกับทหารเขาเลย มันออกรสขมๆ หวานๆ ปะแล่มๆ อร่อยดีเหมือนกันยามหิว”
หน่วยยานยนต์เข้าสู่รัฐฉาน
การเคลื่อนกำลังของกองพลที่ ๓ มุ่งสู่ดอยเหมย ผ่านความยากลำบากของภูมิประเทศ ทั้งยังไม่มีเวลาหยุดพักเลยนั้น ทำให้ทหารพากันอ่อนกำลัง หลายคนก็เป็นมาเลเรียขนาดหนัก ยาประจำกองทัพก็มีแต่ควินินเม็ด ส่วนยาฉีดไม่มีเลย จึงไม่สามารถเอาชนะมาเลเรียได้ มีทหารล้มสิ้นใจไปต่อหน้าผู้บัญชาการถึง ๕ คน ที่พอจะเยียวยาได้ก็ส่งกลับไปเมืองพยาค ส่วนที่เหลือก็ลุยต่อไปจนถึงเชียงตุง

นครเชียงตุงตั้งอยู่ในวงล้อมของเทือกเขาสูง มีถนนเข้าไปได้เพียงเส้นเดียวที่มาจากแม่สาย อังกฤษจึงสร้างปราการแข็งแกร่งติดอาวุธหนักไว้บนดอยเหมย คุมเส้นทางยุทธศาสตร์สายนี้ และใช้เป็นที่ตากอากาศของคนอังกฤษด้วย ทั้งคุยว่าไม่มีกองทัพใดจะผ่านปราการอันแข็งแกร่งนี้ไปได้ ฉะนั้นก่อนที่กองพลที่ ๓ จะเคลื่อนไปถึง ไทยจึงได้ส่งฝูงบิน ๑๐ เครื่องไปถล่มปราการบนยอดดอยเหมยเสียก่อนเมื่อวันที่ ๑๗ พฤษภาคม ทำให้บางส่วนถูกทำลาย ทหารจีนขวัญกระเจิง กองพลที่ ๓ แบ่งกำลังส่วนหนึ่งอ้อมไปด้านหลัง กำหนดตีพร้อมกัน ๒ ด้าน แต่การนำปืนใหญ่ขึ้นไปเป็นเรื่องที่ยุ่งยากมาก เพราะเส้นทางสูงชัน ม้าไม่มีกำลังจะลากปืนใหญ่ขึ้นไปได้ เผอิญทหารที่ไปส่วนใหญ่เป็นคนอีสานผ่านประสบการณ์ทำนามา เห็นควายที่ชาวบ้านปล่อยไว้ตามยถากรรมจึงไปต้อนมา ๔ ตัว ให้ลากปืนใหญ่ขึ้นไปได้ ๒ กระบอก

พอได้ที่ตั้งเหมาะ ปืนใหญ่ทั้ง ๒ กระบอกนั้นก็คำรามใส่ป้อมปราการของอังกฤษจนฝ่ายต่อต้านเงียบเสียง ทหารไทยบุกขึ้นไปก็พบทหารจีนถอยไปหมดแล้วทิ้งศพทหารตายเกลื่อน ทั้งยังพบทหารไทยหน่วยลาดตระเวนที่ถูกจับมาขังให้อดอาหารจนผอมโซ

ขณะที่กองพลที่ ๓ ยึดครองดอยเหมยอยู่นั้น ในวันที่ ๕ มิถุนายน เจ้าบุญวาสน์วงศ์ษา ณ เชียงตุง ข้าหลวงนครเชียงตุง พร้อมด้วยกรมการเมือง ได้เดินทางมาพบพลตรีผิน ชุณหะวัณ แจ้งให้ทราบว่า กองพลที่ ๔ ซึ่งเป็นกองระวังหน้าและกองพันอิสระของกองพลที่ ๓ ได้ยึดนครเชียงตุงไว้ได้แล้ว จึงเชิญพลตรีผินนำกองพลที่ ๓ เคลื่อนเข้าสู่นครเชียงตุง
พลเอกโตโจบินมามอบดินแดนให้ไทยด้วยตัวเอง
ทหารกองพลที่ ๙๓ ของจีน ได้ถอยออกเชียงตุงไปหมดแล้ว ทิ้งไว้แต่สภาพยับเยินของเมือง เหลือตึกอยู่เพียง ๓ หลังในตลาดและศพเน่าเปื่อยที่เหม็นคลุ้งอยู่ทั่วเมืองไม่น้อยกว่า ๔๐๐-๕๐๐ ศพ

รัฐบาลไทยได้สถาปนารัฐฉานหรือสหรัฐไทยใหญ่ขึ้นเป็น “สหรัฐไทยเดิม” และแต่งตั้ง พลตรีผิน ชุณหะวัณ ดำรงตำแหน่งข้าหลวง พร้อมกับเลื่อนยศขึ้นเป็นพลโท เร่งปรับปรุงบ้านเมืองจัดระเบียบการปกครอง รวมทั้งระบบสาธารณสุขและการศึกษา ที่ขาดไม่ได้คือนำ “รัฐนิยม” นโยบายด้านสังคมที่สำคัญของจอมพล ป.ไปปรับปรุงวัฒนธรรมของชาวไทยใหญ่ด้วย ซึ่งรัฐบาลรับรองสิทธิเท่าเทียมคนไทยทุกประการ

หลังจากยึดเชียงตุงได้แล้ว กองทัพพายัพของไทยยังรุกคืบหน้าต่อไป และเข้าตีเมืองยองซึ่งเป็นเมืองใหญ่รองจากเชียงตุง

เมืองยองห่างจากเมืองเชียงตุงไป ๗๘ กม. อยู่ริมแม่น้ำยอง ซึ่งกว้าง ๒๐๐-๓๐๐ เมตร เป็นศูนย์กลางของการค้าขาย ในสมัยอังกฤษปกครองได้ให้กองพันทหารกุรข่าประจำอยู่เมืองนี้

การเข้ายึดเมืองยอง ฝ่ายไทยใช้กำลังทางอากาศนำร่องอีกเช่นกัน กำลังทางภาคพื้นดินจึงได้รับการต่อต้านน้อย และได้เคลื่อนต่อไปถึงแม่น้ำหลวย แม้ตอนจะข้ามแม่น้ำได้รับการต่อต้านอย่างหนัก กองทัพไทยก็สามารถข้ามไปได้

การรบหนักเกิดขึ้นในคืนวันที่ ๑๖ มิถุนายน เมื่อกองทัพไทยข้ามแม่น้ำหลวยไปยึดบ้านตาปิงได้แล้ว คืนนั้นฝ่ายกองพล ๙๓ ได้โหมกำลังเข้าตีกองพันทหารราบที่ ๒๐ ซึ่งยึดอยู่ พ.ต.ยง ศรีดารานนท์ ผู้บังคับการทหารราบที่ ๒๑ ซึ่งอยู่ห่างออกไปจึงยกกำลังเข้ามาช่วย แต่เมื่อมาถึงบ้านป่าก้อ อีก ๑๓ กม. จะถึงบ้านตาปิง ก็ถูกล้อมระดมยิง พ.ต.ยงจึงนำทหารเข้าต่อสู้ถึงขั้นตะลุมบอน และใช้ปืนสั้นประจำตัวยิงจนหมดกระสุน ถูกทหารข้าศึกตีด้วยปืนเล็กยาวตกลงไปในเหว เข้าใจว่าเสียชีวิตแต่ไม่พบศพ ร.ท.ปวาฬ เกตุทัต ก็เสียชีวิตจากการรบครั้งนี้อีกคน พร้อมมีทหารบาดเจ็บ ๒๐ คน แต่ในที่สุดทหารไทยก็ยึดบ้านป่าก้อได้ในวันที่ ๒๔ มิถุนายน และได้รับคำสั่งให้ตีเมืองมะต่อไป ปรากฏว่าที่เมืองมะ กองพล ๙๓ ได้ทุ่มกำลังป้องกันอย่างเต็มที่ เพราะจะเป็นประตูเข้าไปสู่มณฑลยูนานของจีน กองทัพพายัพจึงสั่งให้กองพลที่ ๓ ระงับการเข้าตีเมืองมะ เพราะจะสิ้นเปลืองกำลังมาก ทั้งทหารก็บอบช้ำอิดโรย เจ็บป่วยด้วยไข้ป่า ยารักษาโรคและเสบียงอาหารก็ขาดแคลน เลยหยุดตรึงแนวเพื่อผลัดเปลี่ยนเพิ่มกำลังใหม่ จนถึงต้นเดือนมกราคม ๒๔๘๖ จึงได้เริ่มปฏิบัติการอีกครั้ง

ครั้งนี้แม้ข้าศึกจะต้านทานอย่างเหนียวแน่น แต่ทหารไทยมีความพร้อมกว่าเก่า จึงตีข้าศึกถอยร่น และยึดเมืองต่างๆได้ จนข้าศึกต้องถอยเข้าไปในมณฑลยูนาน กรมทหารราบที่ ๑๔ จึงประชิดชายแดนจีนเป็นผลสำเร็จในวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๖ เป็นไปตามเป้าหมายยุทธการของกองทัพพายัพ

ในวันที่ ๒๔ กรกฎาคม ๒๔๘๖ พลเอกฮิเดกิ โตโจ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้เดินทางมาไทยเพื่อกระชับไมตรี ต่อมาในวันที่ ๑๘ สิงหาคม หลังจากที่ไทยยึดสหรัฐไทยเดิมมาปีเศษ ญี่ปุ่นโดยเอกอัครราชทูตประจำกรุงเทพฯ ก็ได้ลงนามร่วมกับจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในสนธิสัญญาตามที่ได้ทำสัญญาลับกันไว้ ยอมรับการรวมสหรัฐไทยเดิมเข้าเป็นอาณาเขตของราชอาณาจักรไทย และได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาระบุว่า “...กลันตัน ตรังกานู ไซบุรี ปะลิศ และบันดาเกาะที่ขึ้นหยู่ กับทั้งเชียงตุงและเมืองพาน จึงเปนอันรวมในราชอาณาจักรไทยตั้งแต่วันที่ ๑๘ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๘๖ เป็นต้นไป...”

ไทยจึงได้ดินแดนที่เสียไปในรัชกาลที่ ๔ และที่ ๕ คืนมาทั้งหมด หลังจากที่ได้เสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ คืนมาตอนทำสงครามอินโดจีนกับฝรั่งเศสก่อนหน้าที่จะเกิดสงครามมหาเอเซียบูรพา

จากนั้นกองทัพพายัพก็เริ่มถอนกำลังออกจากสหรัฐไทยเดิม คงเหลือกำลังไว้ตามความจำเป็นพอสนับสนุนเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง คือ สำนักงานข้าหลวงทหารประจำสหรัฐไทยเดิม ซึ่งได้แบ่งการปกครองออกเป็น ๑๒ อำเภอ คืออำเภอเมืองเชียงตุง อำเภอเมืองยอง อำเภอเมืองพยาค อำเภอเมืองยู้ อำเภอเมืองปิง อำเภอเมืองมะ อำเภอเมืองยาง อำเภอเมืองซาก อำเภอเมืองเลน อำเภอเมืองโก อำเภอเมืองสาด และอำเภอเมืองหาง พร้อมกับให้ตั้งศาลขึ้น ๓ แห่ง ที่เมืองเชียงตุง เมืองสาด และเมืองหาง มีอำนาจพิจารณาคดีเช่นเดียวกับศาลจังหวัดในประเทศไทย แต่ให้คำพิพากษาของศาลทั้ง ๓ นี้เป็นเด็ดขาด ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา สำหรับการรักษาความสงบนั้นให้เป็นหน้าที่ของตำรวจสนาม

แต่แล้วก็เป็นเหมือนแค่ความฝัน เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้ในวันที่ ๑๔ สิงหาคม ๒๔๘๘ ไทยก็รีบประกาศสันติภาพ คืนดินแดนเหล่านี้ให้อังกฤษแต่โดยดี คำว่า “สหรัฐไทยเดิม” จึงปรากฏอยู่ในประวัติศาสตร์เพียงแค่ระยะเวลาสั้นๆ ส่วนที่ได้คืนมาทางด้านอินโดจีน ตั้งขึ้นเป็นจังหวัดพระตะบอง จังหวัดพิบูลสงคราม จังหวัดนครจำปาศักดิ์ และจังหวัดล้านช้าง ก็จำต้องคืนให้ฝรั่งเศส ส่วนกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี ปะลิศ ก็คืนให้อังกฤษ เพราะผู้ชนะย่อมได้ทุกอย่าง
ธงไตรรงค์ขึ้นสู่ยอดเสาที่สหรัฐไทยเดิม
กำลังโหลดความคิดเห็น