xs
xsm
sm
md
lg

ก.อุตฯรุกเศรษฐกิจเมืองตาก พร้อมบูรณาการ SME สู่สากล

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และหน่วยงานเครือข่ายการพัฒนาเอสเอ็มอี เดินหน้าสานต่อ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” จัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งที่ 7 เป้าหมายพื้นที่เขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง ประกอบด้วย จังหวัดตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และ อุทัยธานี เชื่อมโยงกับเขตเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี เตรียมความพร้อมก้าวสู่ AEC พร้อมเร่งบูรณาการส่งเสริม SMEs ไทยเข้าสู่อุตสาหกรรม 4.0 พร้อมเร่งเสริมแกร่งเอสเอ็มอีไทยครอบคลุมทุกมิติอย่างสมดุลตามแนวประชารัฐ สร้างความเข้มแข็งจากเศรษฐกิจภายใน รองรับการขยายตัวของเมืองทั้งด้านศักยภาพและความพร้อม ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว 7 โดยได้รับเกียรติจาก นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานเปิดงาน ณ โรงแรมเซ็นทารา แม่สอด ฮิลล์ รีสอร์ท จังหวัดตาก

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เผยว่า การจัด “คลินิกเอสเอ็มอีสัญจรแนวประชารัฐ” ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 7 ตามนโยบายของรัฐบาล ที่กระทรวงอุตสาหกรรมมุ่งเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจตามนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ด้วยการเร่งพัฒนาเอสเอ็มอี และเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เข้มแข็ง สำหรับครั้งนี้มีเป้าหมายลงพื้นที่ในจังหวัดตาก ตั้งอยู่บนพื้นที่ยุทธศาสตร์สำคัญอยู่บน ระเบียงเศรษฐกิจตามแนว ตะวันออก - ตะวันตก หรือ East - West Economic Corridor (EWEC) หรือที่เรียกว่าเส้นทาง R9 ซึ่งเชื่อม 2 มหาสมุทรคือมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก หรือทะเลจีนใต้ กล่าวคือจากเมืองเมาะละแหม่ง เมียนมา ผ่านจังหวัดตาก พิษณุโลก ขอนแก่น มุกดาหาร ข้ามเขตแดนไปยังเมืองดองฮา และไปจรดปลายทางที่เมืองดานัง เวียดนาม เป็นจุดแข็งที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญโดยได้มีการกำหนดบทบาทของเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากให้เป็น ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าระหว่างประเทศ / เครือข่ายอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยมีอุตสาหกรรมเป้าหมายคือ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และ อัญมณีเครื่องประดับ เป็นต้น

จากลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นพื้นที่ชายแดน และเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในเรื่องของระบบโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค รวมถึงความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจการค้า การลงทุนภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร และการท่องเที่ยว โดยพื้นที่แม่สอด สามารถเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจพิเศษเมียวดี (Myawady Trade Zone) ของสหภาพพม่า ซึ่งตั้งอยู่ห่างออกไปเพียง 10 กิโลเมตร และมีพื้นตั้งอยู่ปลายแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ (East-West Economic Corridor : EWEC) เป็นจุดตัดระหว่างแนวเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ North-South Economic Corridor (NSEC) มีโครงข่ายการคมนาคมทางบกที่สนับสนุนการขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า มีสนามบินพาณิชย์ เป็นแหล่งผลิตทางการเกษตรและแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัว ตลอดจนเป็นประตูสู่อันดามัน และประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง คือ พม่า จีน และสามารถเชื่อมโยงกับเส้นทางการค้าขายเป็นประตูสู่ยุโรปได้

รวมการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้เตรียมโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดตากไว้แล้ว ณ ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด มีพื้นที่ประมาณ 671 ไร่ อยู่ห่างจากห่างจากทางหลวง EWEC ประมาณ 7 กิโลเมตร ในบริเวณที่ติดกับพื้นที่ก่อสร้างสะพานมิตรภาพไทย - เมียนมา แห่งที่ 2โดยมีระบบไฟฟ้าเข้าถึงพื้นที่แล้ว และมีแหล่งน้ำ คือ แม่น้ำเมย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของเขตเศรษฐกิจจังหวัดตาก คือ การให้บริการโลจิสติกส์ เช่น คลังสินค้า ศูนย์เปลี่ยนถ่ายสินค้าและยานพาหนะ (พื้นที่รวมประมาณ 33%) และอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เกษตรแปรรูปและอาหาร เครื่องเรือนจากไม้ และ อัญมณีเครื่องประดับ (พื้นที่รวมประมาณ 66%) โดยมีการกำหนดพื้นที่โซนสำหรับผู้ประกอบการ SMEs รวมทั้งมีศูนย์ SMEs Development Center ซึ่งจะให้บริการสนับสนุนเครื่องมืออุปกรณ์กลาง เช่น 3D-Priner Co-Working Space และการพัฒนา SMEs ที่ตั้งอยู่ในนิคมและบริเวณใกล้เคียงด้วย ในขณะที่พื้นที่ที่เหลือจะถูกกันไว้เป็นเขตพาณิชยกรรม ระบบสาธารณูปโภค และพื้นที่สีเขียวเพื่อเป็นแนวกันชน โดยประมาณการมูลค่าการพัฒนาไว้ที่ 835 ล้านบาท คาดว่า จะเริ่มเปิดดำเนินการพื้นที่ในเฟสแรกได้ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ ได้รับเกียรติจาก นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นประธาน นำคณะสื่อมวลชนพบกับผู้ประกอบการที่ได้รับการช่วยเหลือไปแล้ว เพื่อทราบถึงความคืบหน้า ปัญหา และแนวทางการพัฒนาของกิจการ

นางแน่งน้อย เวทยพงษ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เผยว่า เพื่อเป็นการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของเมืองหน้าด่านชายแดนไทยและสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา รองรับก่อนเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจอย่างเป็นทางการ ขณะนี้เราจึงเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศไทยผ่านเครื่องมือในการช่วยต่อยอดทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยในทุกมิติอย่างสมดุล ทั้งการต่อยอดการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ที่ตรงความต้องการของตลาด เพื่อยกระดับและเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ การขับเคลื่อนผลงานนวัตกรรมไปสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่ออนาคต การพัฒนาผู้ประกอบการโดยการเติมองค์ความรู้ ในการเพิ่มผลิตภาพและมาตรฐาน การพัฒนาระบบบริหารจัดการ การบัญชีและการเงินให้ก้าวสู่ SMARTSMEs พร้อมส่งเสริมการใช้ระบบดิจิทัลเพื่อเชื่อมโยงสู่โลกการค้าสมัยใหม่ โดยมีศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินการภายใต้กลไกประชารัฐ ซึ่งกองทุนตามแนวประชารัฐดำเนินการให้ความช่วยเหลือในรูปแบบกองทุนต่างๆ

พร้อมทั้งกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับการลงพื้นที่ในจังหวัดตาก ครั้งที่ 7 โดยมุ่งเน้นการสร้างการรับรู้และความเข้าใจในนโยบายการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอีจังหวัดยุทธศาสตร์ภาคเหนือตอนล่าง 9 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดตาก สุโขทัย อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พิจิตร กำแพงเพชร นครสวรรค์ และอุทัยธานี โดยขณะนี้มีผู้ประกอบการจากทั่วประเทศยื่นคำขอทั้ง 4 มาตรการแล้ว 10,558 ราย วงเงิน 30,161.60 ล้านบาท อนุมัติแล้วจำนวน 2,954 ราย ในวงเงิน 8,514.86 ล้านบาท

และสำหรับการลงพื้นที่ร่วมพูดคุยกับผู้ประกอบการที่ได้รับการอนุมัติความช่วยเหลือ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ” ครั้งนี้มีจำนวน 2 ราย ที่ได้รับเงินสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอี ตามแนวประชารัฐ ซึ่งมีคุณสมบัติตรงกับเงื่อนไขเข้ารับการช่วยเหลือเป็นกิจการผลิตสินค้า คือ

บริษัท ซี ซี แอนดซี การ์เม้นท์ จำกัด อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปชั้นนำในประเทศ ภายใต้แบรนด์ชั้นนำ เช่น MC และ HARA ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2550 บริหารงานโดย คุณต่อพงศ์เกียรติ จตุรเจริญคุณ กรรมการผู้จัดการ ซึ่งบริษัทมีจุดเด่นด้านการผลิตเสื้อเชิ้ต และด้านทีมงานที่พัฒนาตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจอยู่ในช่วงเติบโตในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา จากเดิมผลิตได้เดือนละ 50,000 ตัวต่อเดือน แต่ไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด และเกิดปัญหาขาดกำลังเงินทุน และต้องการแรงงานเพิ่ม จึงได้ทำเรื่องยื่นคำขอเข้าร่วมโครงการกองทุนตามแนวประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อในวงเงิน 3 ล้าน โดยเงินที่ได้จะนำไปจัดซื้อเครื่องจักรเพิ่ม และได้ขอรับบริการด้านการพัฒนาในส่วนของงบประมาณสนับสนุนในการอบรมและพัฒนาเรื่องความรู้ในการผลิตและการบริหารงานแบบผู้นำ โดยผลที่คาดว่าจะได้รับ คือ ขยายแรงงานเพื่อเพิ่มการผลิต ผลประกอบการเพิ่มขึ้น 30% ตั้งเป้าขยายกำลังการผลิตอีกสองเท่าภายใน 3 ปี

ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่สอดจรรย์สุดา อ.แม่สอด จ.ตาก ผู้ผลิตและจำหน่ายน้ำพริกกุ้งและขนมไทย บริหารงานโดย คุณอรรถกร หมูนวล หุ้นส่วนผู้จัดการ เริ่มแรกก่อตั้งและเริ่มผลิตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 โดย คุณจรรยา หมูนวล ได้จดทะเบียนพาณิชย์ในชื่อ “ร้านจรรย์สุดดา” ในวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2541 จนกระทั่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในชื่อ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด แม่สอด จรรย์สุดา” ในวันที่ 16สิงหาคม 2559 โดยผลิตและจำหน่ายน้ำพริกกุ้งและขนมไทย ตรา “จรรย์สุดา”น้ำพริกกุ้ง ได้แก่ น้ำพริกกุ้งสูตรดั้งเดิม น้ำพริกกุ้งสูตรเผ็ดน้อย น้ำพริกกุ้งสูตรเข้มข้น และ น้ำพริกกุ้งสูตรแห้งกรอบ จำหน่ายทั้งแบบปลีกและส่ง ที่มีความต้องการที่จะขยายงานในด้านกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น ซึ่งได้รับการอนุมัติสินเชื่อในวงเงิน 2.17 ล้านบาท โดยนำมาก่อสร้างอาคารโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และค่าดำเนินการขอรับรองระบบมาตรฐานต่างๆ ในด้านกำลังการผลิตน้ำพริกกุ้งให้เพิ่มมากขึ้น และยกระดับสินค้าให้มีคุณภาพ ตามมาตรฐานสากล

ทั้งนี้ สถานประกอบการทั้ง 2 แห่ง มีความตั้งใจที่จะพัฒนาต่อยอดธุรกิจให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้นแต่ยังขาดปัจจัยด้านเงินทุน ทางกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ จึงได้ให้ความดูแลและช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้และยั่งยืน ซึ่งหลังจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจะได้เร่งขยายผลการดำเนินงานในลักษณะนี้ไปยังจังหวัดอื่นๆ ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศโดยเร็วต่อไป

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ทุกสาขา และศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี www.smessrc.com หรือ Call Center 1358
กำลังโหลดความคิดเห็น