“ย่าม” หรือ “ถุงไก” คือถุงผ้าสารพัดประโยชน์ที่ใช้ประโยชน์ได้นานัปการ เช่น จะเดินทางก็ใส่เสื้อผ้า เหมาะสำหรับนักเรียนนักศึกษาเอาไว้ใส่หนังสือไปโรงเรียน หรือชาวไร่ชาวสวนจะไปไร่นาก็ใส่อาหารไปกิน เช่น กระติ๊บข้าว เพราะย่ามจะสะดวกในการถือสะพายใส่บ่าได้อย่างพอเหมาะสะดวกสบายตามต้องการ จึงนับว่าเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับคนไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
บ้านมะขวิด จังหวัดสุโขทัย ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องย่ามที่หายากและน้อยคนนักที่จะมีย่ามสะสมได้มากขนาดนี้ โดยที่นี่มี “มานพ ยังประเสริฐ” เป็นเจ้าของสถานที่และเป็นนักสะสมย่ามหรือที่เรียกกันว่า “นักเลงย่าม” ซึ่งย่ามของสะสมเหล่านี้ก็เป็นของส่วนตัวซึ่งปัจจุบันมี “ย่าม” หรือ “ถุงไก” ประมาณหมื่นกว่าใบแล้ว และมีย่ามราคาสูงสุดประมาณสองหมื่นกว่าบาท ซึ่งเป็น “ย่ามจกของคูบัว” เป็นย่ามของไทย อ.เสาไห้
ย่ามบางใบมีมูลค่ามากกว่านั้น เพราะว่าอายุเกือบสองร้อยปี ซึ่งหาไม่ได้แล้ว ส่วนย่ามที่ถูกที่สุดราคาพันกว่าบาท และย่ามเก่าแก่ที่สุดของคุณมานพ บอกว่าได้มาด้วยความเมตตาจากผู้ใหญ่ หนึ่งในนั้นก็คือ “สาธร โสรัจประสพสันติ” เจ้าของพิพิธภัณฑ์ “สาธรพิพิธภัณฑ์ผ้าทองคำ” หาดเสี้ยว ศรีสัชนาลัย
คุณมานพเปิดเผยว่า “พี่สาธรมีเชื้อสายไทยพวนโดยแท้จริง สืบทอดเชื้อสายไทยพวนมาจากบรรพบุรษ ย่ามใบนี้ แต่เดิมเป็นของแม่ของแม่และตกทอดมาถึงพี่สาว แต่ด้วยความตั้งใจที่เห็นน้องมีความตั้งใจจริงๆ และเพื่อชุมชนจริงๆ และก็เป็นบุญกุศลกับบรรพบุรุษ พี่สาธรก็เลยมอบย่ามคู่นี้มาให้เก็บไว้ที่บ้าน เพื่อเอาไว้เล่าเรื่องและสืบต่อให้กับชนรุ่นหลังได้รู้ว่าย่ามมันมีมาตั้งแต่กี่ปีแล้ว และความงดงามที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยดั้งเดิมจนถึงปัจจุบันนี้ มันไม่ได้เสื่อมคลายไปเลยและยังคงคุณค่าอยู่เสมอ”
ที่มาของฉายา “นักเลงย่าม” กูรูเรื่องย่าม มานพเล่าว่า แต่เดิม เป็นคนอัมพวา จ.สมุทรสงคราม แต่โยกย้ายมาอยู่สุโขทัยได้สิบปีแล้ว โดยทำงานบริหารโรงแรม พอดีมีโอกาสได้พื้นที่เล็กๆ ได้สร้างบ้านเล็กๆ บั้นปลายชีวิตเพื่อจะได้ไม่เป็นภาระใคร พอมาอยู่ก็รู้สึกชอบ อีกทั้งมีโอกาสได้พื้นที่เล็กๆ จากชุมชน มอบให้ในราคาที่ไม่แพง ก็ทยอยค่อยๆ ทำไป ก็ใช้เวลาประมาณสี่ห้าปีกว่าจะเสร็จเรียบร้อยสมบูรณ์เหมือนปัจจุบัน เนื้อที่ที่ “บ้านมะขวิด” นี้มีประมาณสามงานกว่านิดๆ
จุดเริ่มต้นและแรงบันดาลใจในการสะสมย่าม..
อาจจะเป็นเพราะสมัยก่อนที่บ้านมีฐานะไม่ค่อยร่ำรวยมาก แม่ก็เก็บเศษผ้ามาเย็บให้มีลักษณะเหมือนย่ามเพื่อใส่หนังสือไปโรงเรียน ก็ใช้มาตั้งแต่จำความได้จนถึง ป.5, ป.6 จนมาถึงสูงสุด ม.6 ตอนอายุ 17-18 ปี ก็เลยมีความผูกพันกับย่ามแล้วก็เริ่มชอบ รู้สึกว่าย่ามใบแรกที่ซื้อด้วยเงินตัวเอง อายุประมาณยี่สิบกว่าๆ ปัจจุบันอายุห้าสิบกว่า ผมมีย่ามหมื่นกว่าใบ เก็บมาเรื่อยๆ ทีละใบสองใบ เก็บมาโดยไม่รู้ตัวเจอชอบก็ซื้อ ย่ามถูก ย่ามแพง ย่ามใช้จ่ายตลาด ย่ามใช้ทางการ ย่ามสารพัดนึก ย่ามสารพัดประโยชน์ ย่ามโนเนม ย่ามไม่มีแบรนด์ก็ซื้อหมด เก็บไปเก็บมาจนมานั่งๆ นับดูได้หมื่นกว่าใบแล้ว (หัวเราะ)
และพอมาเริ่มศึกษา ทำให้เราได้รู้ว่าย่ามมีหลายชาติพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นของลาวครั่ง ไทยวน ไทลื้อ นายาง หรือว่าของไทพวน หาดเสี้ยว โดยเฉพาะเมื่อเราได้มีโอกาสมาอยู่ที่สุโขทัยซึ่งนอกจากจะมีซิ่นตีนจกแล้ว ยังมีย่ามที่สวยงามอีกชนิดหนึ่ง นั่นก็คือ “ย่ามระแหง” กับ “ถุงแดง” ก็เลยเริ่มศึกษา พอศึกษาก็เลยทำให้เราได้ค้นเจอว่า แหล่งที่ทำย่ามสวยของสุโขทัยอยู่ที่ “หาดเสี้ยว” ซึ่งเป็นแหล่งทำซิ่นตีนจกและแหล่งผ้าแหล่งย่าม ก็เลยเป็นที่มาที่ไปของแรงบันดาลใจทำให้รู้สึกว่าทำอย่างไรเพื่อจะช่วยเหลือชุมชนได้
แนวคิดจากย่ามสู่การอนุรักษ์และพัฒนาชุมชน..
ในเมื่อเรามีองค์ประกอบเหล่านี้อยู่แล้ว ก็เลยเข้าไปศึกษาในชุมชนและทำให้รู้กระบวนการในการทำ ต้นทุนในการขายแล้ว “ทำไมย่ามมันถึงตาย” คือวันหนึ่ง ผมเดินทางไปที่ร้านค้าซึ่งขายย่าม เห็นย่ามในลักษณะที่มันแขวนไว้แล้วถูกตากแดดจนมันแห้ง เหมือนไม่มีคนมองมัน สีซีดมาก นึกถึงภาพผ้าที่ถูกทิ้ง วางจนแห้งกรัง ตากแดดตากฝน ผ่านร้อนผ่านหนาวจนไม่มีใครสนใจมัน วันนั้นก็เลยหยิบย่ามใบนั้นมาแล้วก็ตามหาจนเจอคนที่สามารถทอย่ามได้ ก็เลยเข้าสู่กระบวนการในเรื่องของส่งเสริมและอนุรักษ์ ก็ไปคุยกับยายว่า ยายสามารถทำได้ไหม ยายบอกทำได้...ถ้าอย่างนั้น ถ้ายายทำได้ ก็ขอให้ยายทำแบบนี้ เดี๋ยวผมทำการตลาดให้
หลังจากนั้น ในมุมมองของผม คิดว่าคนส่วนมากเวลาเข้าไปแล้วก็จะเข้าไปส่งเสริมในเชิงอนุรักษ์ แต่ลืมไปว่า “หัวใจสำคัญของการส่งเสริมคือการตลาด” คือเมื่อเราไปส่งเสริมไปอนุรักษ์แล้ว เมื่อชุมชนหรือว่าปู่ย่าทำแล้ว เราต้องขายได้ ทำอย่างไรเมื่อเข้าไปส่งเสริมแล้วทำให้ยายขายได้ ยายต้องขายได้แล้วต้องมีตังค์และต้องมีกำไรอันนี้หัวใจสำคัญ จนวันหนึ่ง ผมก็เลยจับย่ามมาเล่นกับกลุ่มเพื่อนโดยมาคิดธีมต่างๆ ที่มาจากย่าม
แล้ววันนี้ก็ทำให้คนได้รู้ว่าย่ามคือชิ้นงานชิ้นหนึ่งที่เป็นเครื่องประดับอาภรณ์ที่มีความสวยงาม จากราคาที่ใบเพียงไม่กี่ร้อยบาท วันนี้ย่ามมีมูลค่าเป็นพันบาท สิ่งสำคัญคือเมื่อเรานำเอาย่ามออกจากชุมชนมาแล้ว แล้วมาทำการตลาดให้กับชุมชนเป็นการต่อยอดและก็สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับชุมชน ทำให้เรารู้ว่าตลาดต้องการ เมื่อตลาดต้องการ เราก็นำไปเล่าให้ชุมชนฟัง และก็ไปต่อยอดในการสร้างมูลค่าเพิ่ม แล้วก็ช่วยขายให้กับชุมชน นำเงินกลับไปคืนชุมชน นี่คือสิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้
เท่ากับว่าคุณมานพได้ช่วยชุบชีวิตย่ามให้กลับมา..
จริงๆ แล้วไม่อยากใช้คำนี้ คือมันดูเหมือนเรานี่ยิ่งใหญ่เกินไปนะ ผมอยากใช้คำว่า ผมเป็นส่วนหนึ่งที่เห็นคุณค่าของย่าม และพอดีผมมีโอกาสมากกว่าคนอื่นตรงที่ผมได้ทำเรื่องของการตลาด แล้วมีเพื่อนที่อยู่ในกลุ่มที่เป็นเซเลบเรื่องผ้า เรื่องที่รักผ้า รักย่าม มันเลยทำให้งานของผมไปไว เพราะว่ามีประสบการณ์ตรงนี้อยู่แล้วก็เลยใช้ประสบการณ์ตรงนี้ให้มีประโยชน์ และมีโอกาสได้ช่วยเหลือชุมชนอีกด้วย
เหตุที่เข้ามาร่วมกับ อพท. และ ททท. ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวและการอนุรักษ์
คือต้องนำเรียนเรื่องของ อพท. กับ ททท. คือ อพท. เป็นองค์กรพื้นที่พิเศษที่เข้ามาพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ในเขตพื้นที่พิเศษของสุโขทัย อพท. เขาทำเรื่องแหล่งท่องเที่ยว ททท. ก็มีหน้าที่ในเรื่องประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยว ทีนี้เราก็มานั่งมองว่าในเรื่องภาพลักษณ์ เขาเปรียบเสมือนโรงงานที่ผลิต ผลิตสินค้าออกมาเยอะแยะมากมายเลย แต่มันไม่มีคนเข้าไปจับ ซื้อไปใช้
ผมก็เลยใช้องค์ความรู้ของผมที่มีอยู่เข้าไปเชื่อมต่อ โดยการไปหยิบผลิตภัณฑ์ของเขาเอาไปขาย และทำให้สังคมบนโลกรู้ว่าชุมชนตรงนี้ที่ ททท. กับ อพท. เข้าไปทำมันมีชิ้นงานที่สวย มันมีโปรดักต์ที่งดงาม ให้คุณช่วยดูสิ มันเป็นแบบนั้นแบบนี้ ผมก็มาจับกลุ่มทำกิจกรรมโดยทำเรื่องแฟชั่น เอาผ้ามาทำในหลากหลายดีไซน์ร่วมกับย่าม เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้คู่กัน และทำให้สังคมได้รู้ว่าย่ามนี่มันต่อยอดได้ มันสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ใช้ในชีวิตประจำวันและสามารถใช้ได้ในทุกรูปแบบอะไรประมาณนี้ คือย่ามสามารถใช้ได้แบบอเนกประสงค์เลยทีเดียว
โครงการต่อไปในอนาคตเกี่ยวกับย่าม..
โครงการต่อไปที่คิดจะทำก็คือ ทำอย่างไรที่จะทำให้ย่ามนี้ได้ไปต่อและชุมชนอยู่ได้ เพราะว่าการที่ทำอะไรแบบเดิมๆ วันหนึ่งมันก็อาจจะตันได้ และก็จะมีคู่แข่งที่ทำแบบเดิมๆ แล้วก็ล้นตลาด สุดท้ายก็ขายไม่ได้ สิ่งหนึ่งตอนนี้ที่ผมกำลังทำ คือการนำเอาผ้าตีนจกของสุโขทัยมาผสมผสานกับผ้าสุโขทัย ซึ่งมีซิ่นตาว่า ซิ่นตาเติบ มีลายเครือวัลย์ ลายต่างๆ เอามาผสมผสานทำเป็นเป็นคอลเลกชันใหม่ในรูปแบบย่าม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมต่อยอดขึ้นมา ส่วนของดั้งเดิมก็ยังคงอนุรักษ์ไว้
แต่ปัจจุบันความเป็นฝ้ายมันหายไปหมด มันจึงมีงานผ้าโทเรเข้ามาผสมผสานกัน ผมกำลังกลับเข้าไปฟื้นฟูในความดั้งเดิมคือการใช้สีธรรมชาติแล้วก็ใช้ฝ้ายธรรมชาติ ที่ราคาอาจจะสูง แต่ก็มีคนต้องการ เพราะเป็นงานแฮนด์เมดมีคุณค่า และแต่เดิมชุมชนก็ทำด้วยเครื่องจักรโดยการเย็บผ่านจักร ปักผ่านจักร แต่สิ่งที่ผมเข้าไปทำใหม่ทั้งหมดก็คือใช้งานมือทั้งหมด ปักมือ เย็บมือ ด้นมือ แซ่วมือ เป็นการสร้างมูลค่าว่างานชิ้นนี้เป็นงานที่ทำด้วยมือทั้งหมด
สิ่งที่อยากฝากไว้ในงานย่ามและการอนุรักษ์..
จริงๆ แล้ว ผมเองก็มีความฝัน แต่คงอาจจะยากไปสำหรับตัวเอง แต่ก็ไม่ได้ท้อคือแผ่นดินไทยมีของสวยงามเยอะแยะมากมาย มันเป็นอะไรที่มีมูลค่า เราต้องนึกถึงว่าสถาบันอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 หรือว่าสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระองค์ก็ทุ่มเทพระวรกายทั้งชีวิตเพื่อให้พสกนิกรของท่านอยู่ดีมีสุข ในเมื่อเรามีโอกาสแล้ว เราคิดว่าเราน่าจะทำ เพราะของเหล่านี้มันออกจะมีค่าอยู่คู่กับเราและเป็นสิ่งที่สวยงามต่างชาติก็เห็นคุณค่าสิ่งเหล่านี้
จากที่ผมได้ทำการตลาดกับทุกๆ กลุ่ม หรือแม้แต่ตลาดต่างชาติ ผมรู้เลยว่างานเหล่านี้พวกฝรั่งต่างชาติชอบมาก โดยเฉพาะชิ้นงานที่ทำด้วยมือ มันเป็นอะไรที่มีค่ามหาศาล ทีนี้ถ้าคนไทยด้วยกัน เราหันมาใช้ของไทย เงินทองมันก็ไม่รั่วไหล และเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ผมก็อยากฝากคนไทยทุกคนว่าอย่างน้อยๆ ถ้าเรามีย่ามกันคนละใบใน 70 ล้านคน ชุมชนอยู่ได้ ย่ามจะไม่หายไปจากคนไทย เพียงแค่คนไทยช่วยกันคนละชิ้นครับ
เรื่อง / ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม