จุดหมายคต่อไปสำหรับวันนี้ก็คือ “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาสันกาลาคีรี ต.อัยเยอร์เวง อ.เบตง จ.ยะลา อยู่ในเขตพื้นที่ของเขาไมโครเวฟ กิโลเมตรที่ 32 มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเล 2,038 ฟุต เป็นทะเลหมอกสวยที่สุดของภาคใต้และสวยเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เป็นจุดชมทะเลหมอกเบตงที่งดงามและเดินทางได้สะดวก สามารถขับรถแล้วจอดรถชมทะเลหมอกได้เลย หรือจะเดินทางไปได้ตั้งแต่เช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้นซึ่งทะเลหมอกที่นี่ก็มีให้ชมตลอดทั้งปี ซึ่งพื้นที่บริเวณจุดชมมวิวทะเลหมอกอัยเยอร์เวงมีทั้งลานกางเต็นท์ ที่จอดรถ ร้านค้า และร้านอาหาร คอยให้บริการนักท่องเที่ยวด้วย “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในอำเภอเบตง โดยนักท่องเที่ยวที่มาเยือนนั้นมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย แทบไม่น่าเชื่อว่าการมาเที่ยวเบตงครั้งนี้เราขึ้นมาชมทะเลหมอกกันถึง 3 รอบ ในช่วงเวลา เช้า เย็น และเช้าของอีกวัน อย่างนี้ก็คงไม่ต้องบอกแล้วนะว่าทะเลหมอกอัยเยอร์เวงจะสวยสักเพียงไหน...
พอชื่นชมความงามของทพเลหมอกกันจนสมใจแล้วก็ออกเดินทางต่อมายัง “น้ำตกละอองรุ้ง” เป็นน้ำตกที่ตั้งอยู่ระหว่างเขตติดต่ออำเภอธารโตและอำเภอเบตง ห่างจากตัวเมืองไปตามเส้นทางยะลา-เบตง ประมาณ 90 กิโลเมตร หรือก่อนถึงอำเภอเบตงประมาณ 40 กิโลเมตร จะมีถนนดินแยกขวาเข้าน้ำตกไปอีก ๑๐๐ เมตร ทางเดินเท้าซึ่งลัดเลาะไปตามลำธาร เพื่อชมน้ำตกค่อนข้างลื่นควรใช้ความระมัดระวัง น้ำตกเกิดจากสายน้ำที่ไหลแรงจากยอดเขาตกกระทบก้อนหินเบื้องล่างเกิดเป็น ละอองน้ำฟุ้งกระจายชุ่มชื้นไปทั่วบริเวณ จะดูสวยงามมากยามต้องแสงแดด และเกิดเป็นรุ้งสีสวยอันเป็นที่มาของชื่อน้ำตกแห่งนี้
เราใช้เวลาสักพักกับการชื่นชมน้ำตกก่อนจะเดินทางต่อไปตามโปรแกรมที่กำหนดนั่นก็คือ “อุโมงค์ปิยะมิตร” อยู่ที่บ้านปิยะมิตร 1 ตำบลตะเนาะแมเราะ ใช้เส้นทางเดียวกับบ่อน้ำร้อนและ “น้ำตกอินทสร” ซึ่งขากลับเราก็แวะเที่ยวและชมความงามที่น้ำตกนี้ด้วย อุโมงค์ปิยะมิตรอยู่เลยบ่อน้ำร้อนไปอีก 4 กิโลเมตร บริเวณนี้เป็นหมู่บ้านของผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย เดิมเคยเป็นฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์มลายา (เขต 2) หรือที่เรียกว่าโจรจีนคอมมิวนิสต์มาลายา อุโมงค์แห่งนี้สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2519 เป็นอุโมงค์คดเคี้ยวเข้าไปในภูเขายาวประมาณ 1 กิโลเมตร ในอดีตมีทางเข้า-ออก 9 ทาง แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 6 ทาง ความกว้างประมาณ 50-60 ฟุต ใช้เวลาในการขุด 3 เดือน ใช้เป็นที่หลบภัยทางอากาศและสะสมเสบียง บริเวณนี้จัดให้มีนิทรรศการแสดงภาพประวัติศาสตร์ รวมทั้งวิถีการดำเนินชีวิตภายในป่า ปัจจุบันยังคงมีกลิ่นอายและร่องรอยของการดำรงชีวิตที่หลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นห้องนอนที่มีเตียงดินเหนียวก่อติดกับผนังถ้ำ อุปกรณ์ในการสู้รบ อุปกรณ์ในการเดินป่า ห้องบัญชาการรบซึ่งสามารถจุนได้ถึง 200 คน ภายนอกอุโมงค์ยังมีลานสำหรับฝึกกำลังพล และยังมีอาคารจัดนิทรรศการวิธีการดำเนินชีวิตภายในป่าให้ชมอีกด้วย ระหว่าทางที่เดินออกจากอุโมงค์และเดินทะลุป่าตามเส้นทางและต่อไปยังมีต้นไม้พันปีที่สูงใหญ่หลายคนโอบ และไม่พลาดที่เราจะถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกในการชมครั้งนี้ไว้ด้วย นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากอีกแห่งหนึ่งของเบตง เปิดให้เข้าชมเวลา 8.00 น-16.30 น.
ซึ่งเมือออกมาจากอุโมงค์ปิยะมิตรก็ได้เวลาอาหารมื้อเที่ยงที่ล่วงเลยไปจนบ่ายเล็กน้อยทำให้รู้สึกหิวทันที เมื่อมาถึงด้านนอกซึ่งอยู่ติดกับทางเข้าจะมีร้านอาหารอยู่ติดกับประตูทางเข้า ป๋าไพบูลย์ซึ่งไม่ได้เข้าไปชมอุโมงด้วยได้สั่งอาหารที่ร้านนี้ไว้รอเราอยู่แล้ว และต้องขอแนะนำเลยว่าพลาดไม่ได้จริงๆ สำหรับร้านนี้เพราะที่นี่มีอาหารที่อร่อยถูกใจพวกเรามากๆ นั่นคือ “ไก่เก้าชั่ง” ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าหมายถึงน่ำหนักของไก่ซี่งหนัก 9 ชั่ง 1 ชั่งประมาณ 6 ขีด ก็ 5400 กรัม อาจมีน้ำหนักถึง 7 กก. ซึ่งเป็นไก่เนื้อขนาดยักษ์ตัวโตสายพันธุ์พื้นเมืองของภาคใต้ มีสายพันธุ์มาจากเมืองจีน จุดเด่นอันดับแรกๆ ของไก่เก้าชั่งคือรูปร่างและน้ำหนัก ซึ่งหากเทียบกับไก่พันธุ์ปกติแล้วจะตัวใหญ่กว่ามาก ไก่เบตงมีหนังเป็นสีเหลือง ส่วนไก่ 9 ชั่ง มีหนังเป็นสีขาว มีไขมันเกาะมากกว่า เนื้อมีรสชาติคล้ายกันแต่คนจีนมาเลย์หรือคนไทยจีน 4 จังหวัดล่างชอบทานไก่เบตงมากกว่า ร้านนี้เขามี “ไก่เก้าชั่ง” สับเป็นชิ้นกำลังดีจัดมาในจานเปลใบใหญ่ เนื้อไก่เหนียวนุ่มกำลังดี ที่เสิร์ฟมาพร้อมน้ำจิ้มเต้าเจี้ยวสูตรของร้านและอาหารอีก 3-4 อย่างที่ล้วนแล้วแต่อร่อย หนึ่งในนั้นก็มี “ผักน้ำ” ผัดน้ำมันหอยหวานกรอบอร่อย ซึ่งเป็นผักขึ้นชื่อของอำเภอเบตง ปลูกขายกันเป็นล่ำเป็นสัน นำมาประกอบอาหารได้หลายอย่าง แต่ที่นิยมคือผักน้ำผัดน้ำมันหอยหรือนำมาทำต้มจืดรับประทานก็อร่อยไม่น้อยทีเดียว ซึ่งเราก็มักจะเจอ “ผักน้ำ” ปะปนมาในเมนูมื้ออาหารระหว่างที่ท่องเที่ยวอยู่ในอำเภอเบตงอีกหลายมื้อ “ผักน้ำ” ถือเป็นผักยอดนิยมของเบตงเลยจริงๆ หาซื้อได้ที่นี่ที่เดียวเท่านั้น
หลังจากอิ่มหนำกับอาหารมื้ออร่อยในมื้อเที่ยงแล้วเราก็แวะที่ “น้ำตกอินทสร” อีกที่หนึ่งเพื่อชมความงามของน้ำตกอีกแห่งหนึ่งของอำเภอเบตง หากไม่ทราบข้อมูลเรื่องน้ำตกแห่งนี้มาก่อน หลายท่านอาจจะไม่มีโอกาสได้ยลโฉมน้ำตกแห่งนี้ เพราะที่นี่เป็นน้ำตกขนาดเล็กซึ่งเกิดจากภูเขารอบบริเวณนี้ปกคลุมด้วยป่าไม้เขียวขจี และอุดมสมบูรณ์ร่มรื่นและมีอากาศเย็นสบาย ซึ่งคุณเปิ้ลกับป๋าก็เล่าถึงสมัยตอนที่คุณเปิ้ลเป็นเด็กเคยนั่งรถกับญาติๆ มาเล่นน้ำตกที่นี่ประจำ และนำแตงโมมาแช่่น้ำตกจนเย็เจี๊ยบเป็นเหมือนตู้เย็นธรรมชาติ พอเหนื่อยและหิวก็ผ่าออกมาแตงโมที่แช่น้ำตกเอาไว้ออกมาแบ่งกันกินแตงโมหวานเย็นฉ่ำชื่นใจเลยทีเดียว นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนน้ำตกแห่งนี้สามารถเล่นน้ำได้ตลอดทั้งปี เพราะความชุ่มชื้นและอุดมสมบูร์ของสภาพป่าแห่งนี้
จุดหมายต่อไปคือ “บ่อน้ำพุร้อนเบตง” ซึ่งเป็นโปรแกรมท่องเที่ยววันนี้ ที่เรานัดกับ ท่านปลัดมานิตย์ นิ่มนวล เอาไว้ว่าจะแวะไปที่ร้านขายของที่ระลึกซึ่งอยู่หน้าบ่อน้ำพุร้อนเบตงพอดี บ่อน้ำร้อนเบตงอยู่ที่บ้านจะเราะปะไร ตำบลตะเนาะแมเราะ อำเภอเบตง ห่างจากจังหวัดยะลา ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 เป็นระยะทางประมาณ 135 กิโลเมตร แล้วแยกไปตามทางลาดยางอีก 8 กิโลเมตร ก็จะถึงบ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติแห่งนี้
ท่านปลัดมานิตย์ นิ่มนวน ได้เล่าถึงบ่อน้ำร้อนเบตงให้ฟังว่า “บ่อน้ำพุร้อนเบตง เป็นปากฎการณ์ตามธรรมชาติที่มีน้ำพุร้อนผุดขึ้นมาจากภายใต้พื้นผิวของโลก ซึ่งชาวบ้านในจังหวัดยะลา มีความเชื่อกันว่าบ่อน้ำร้อนเบตงที่มีน้ำพุร้อนเกิดขึ้นในหมู่บ้านจะเราะปะไรเป็นบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ที่สามารถรักษาโรคบางอย่างได้ เช่น โรคผิวหนัง สามารถบรรเทาอาการปวดเมื่อยตามร่างกายได้ บ่อน้ำร้อนเบตง มีสถานที่ไว้สำหรับ ให้นักท่องเที่ยวได้ อาบน้ำร้อน บ่อน้ำร้อนเบตง โดยทางจังหวัดยะลา ได้พัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว อีกที่หนึ่งของจังหวัด โดยทางจังหวัดยะลาได้รับงบประมาณ จากนายก องค์การบริหารส่วนจังหวัดยะลา ในการพัฒนาให้บ่อน้ำร้อนเบตง เป็นแหล่งท่องเที่ยว ในบริเวณที่มีน้ำพุร้อนเดือดนั้นสามารถต้มไข่ให้สุกได้ภายในเวลาไม่เกิน 7-10 นาที”...
และแนะน้ำให้ลองเอาไข่ไก่และไข่นกกระทาไปลองแช่น้ำร้อนในจุดที่เขามีไว้สำหรับทำไข่แช่น้ำร้อนหรือไข่ออนเซ็นกัน ซึ่งที่นี่ก็มีไข่ไก่ดิบ ไข่นกกระทา จัดไว้จำหน่ายให้นักท่องเที่ยวด้วย ระหว่างรอไข่สุกจนได้ที่เรากก็ไปนั่งเอาเท้าแช่น้ำและพักขาในบ่อน้ำร้อนที่ๆ เขาจัดสถานที่ไวให้ สัมผัสแรกอาจจะรู้สึกร้อนมากเพราะเป็นช่วงปรับอุณหภูมิแต่สักพักก็จะเริ่มชินและเริ่มอุ่นสบาย นั่งแช่น้ำร้อนไปคุยกันไปชมวิวทิวทัศน์ที่สวยงามของสถานที่ไปเพลินๆ พอได้เวลาครบตามกำหนดก็นำไข่ที่แช่บ่อน้ำร้อนไว้มาแกะลองรับประทานกันดู ซึ่งไข่แดงจะสุกกำลังดีและไม่สุกเกินไปกำลังน่ารับประทาน ส่วนไข่ขาวนั้นก็จะเป็นเหมือนไข่ลวกขาวๆ ขุ่นๆ ทั่วไป นำมาเหยาะซอสแม๊กกี้ชิมไปอร่อยเพลินจนหมดฟอง เป็นกิจกรรมที่บ่อน้ำพุร้อนธรรมชาติจุดท่องเที่ยวยอดฮิตและเป็นไฮไลท์หนึ่งของที่เบตแห่งนี้ ก่อนจะไปชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวงอีกครั้งในช่วงเย็น ซึ่งก็ยังคงสวยงดงามและมีหมอกหนาๆ ฟูๆ ลอยปกคลุมกันอย่าหนาแน่นรอเราอยู่เช่นเดิม
สำหรับมื้อเย็นในวันนี้เรามีอาหารพิเศษจากทางบ้านของญาติของคุณเปิ้ลและป๋าไพบูลย์ ที่ทำมาพิเศษให้เราได้ลิ้มลองอีก 2 เมนูโดยเฉพาะด้วย สำหรับให้เรานำมารับประทานร่วมกับอาหารที่ร้านอาหาร “บ้านตระกุลฟุ้ง” ซึ่งอยู่ข้างโรงแรมแมนดาริน ซึ่ง 2 เมนูที่ว่านั้นก็คือ “เคาหยก หรือ เกาหยุก” และ “แกงจืดเครื่องในหมูใส่ผักน้ำ” สำหรับ “เคาหยก หรือ เกาหยุก” นั้นเป็นอาหารที่มีชื่อเสียงของเบตงและเป็นอาหารเฉพาะถิ่นที่มีกรรมวิธีการทำที่ยุ่งยากมาก ซึ่งวัตถุดิบหลักจะมีหมูสามชั้นและเผือกรวมถึงเครื่องปรุ่งเฉพาะ ผ่านกรรมวิธีหลายอย่างที่พิถีพิถันสลับซับซ้อน กว่าจะมาเป็น “เคาหยก หรือ เกาหยุก” ได้ต้องใช้เวลาและความอดทนในกระบวนการทำเยอะและจะได้รับประทานกันในงานสำคัญๆ ต่างๆ เท่านั้น เป็นอาหารของคนจีนกวางตุ้งที่นิยมทำกินในพิธีมงคลต่างๆ เช่นงานแต่งงาน รวมไปจนถึงงานศพ ซึ่งป๊าไพบูลย์บอกว่าต้นตำหรับก็อยู่ที่เบตงนั่นเอง
ส่วนแกงจืดผักน้ำเบตงนั้นต้องอธิบายที่มาของ ผักน้ำเบตง สักหน่อยจะได้เห็นภาพชัดเจนขึ้น เพราะผักน้ำเป็นพืชพื้นเมืองเฉพาะถิ่นที่ปลูกอยู่ในอำเภอเบตงมาช้านาน ซึ่งนานพอกับที่ชาวจีนอพยพมาอยู่ประเทศไทย เดิมผักน้ำมีถิ่นกำเนิดอยู่แถบประเทศฝรั่งเศส ต่อมานำมาปลูกที่ประเทศจีนและชาวจีนอพยพนำเข้ามาปลูกในประเทศไทยแถบภาคเหนือและภาคใต้ ลักษณะการเจริญเติบโตของผักน้ำคล้ายกับผักบุ้ง มีใบเล็ก ลำต้นมีลักษณะอวบน้ำ ชอบขึ้นในพื้นที่ที่มีอากาศเย็น อุณภูมิไม่เกิน 25 องศาเซลเซียส มีน้ำไหลผ่านตลอดเวลาและต้องเป็นน้ำที่ไหลมาจากภูเขา โดยเฉพาะน้ำที่ไหลมาจากซอกหิน ซึ่งจะใสเย็นการปลูกผักน้ำในสมัยแรกปลูกบริโภคกันในหมู่ชาวจีนเท่านั้น แต่ปัจจุบันผักน้ำเป็นที่รู้จักและมีบริโภคกันแพร่หลายในหมู่คนทั่วไป ซึ่งทุกวันนี้ชาวเบตงนิยมนำผักน้ำมาประกอบเป็นอาหารหลายอย่าง เช่น ผัดผักน้ำ ทำแกงจืด ต้มจิ้มกับน้ำพริก นำมาต้มกับกระดูกหมูเป็นต้น นอกจากผักน้ำจะนำมาประกอบเป็นอาหารแล้วก็ยังเป็นยาแก้ร้อนในได้อีกด้วย และเมนูที่น่าสนใจสำหรับมื้อนี้เราได้ลิ้มลองอีกอย่างหนึ่งก็คือ “กบเบตงทอดกระเทียม” ซึ่งกบที่ว่านี้เป็น กบภูเขา ตัวโตๆ เป็นกบตามธรรมชาติอาศัยอยู่ตามป่าเบญจพรรณมีขนาดใหญ่น้ำหนัก 0.5 - 1.0 กิโลกรัม ต่อตัวเลยทีเดียว ซึ่งเป็นที่นิยมบริโภคของคนที่เบตงและนักท่องเที่ยวมาก นิยมนำมาผัดเผ็ดและทอดกระเทียมพริกไทย เป็นอาหารจานที่มีรสชาติอร่อยและเป็นอีกเมนูหนึ่งที่ผู้มาเยือนเบตงต้องลิ้มลอง
หลังจากจบอาหารมื้อเย็นแล้วเราก็เดินเล่นชมเมืองเบตงในยามค่ำคืน และตบท้ายด้วยการไปหาขนมหวานรับประทานหลังจากอาหารคาวในตลาดก่อนร้านจะปิด รวมถึงการเล็งหาพิกัดของภาพวาดสตรีทอาร์ต (Street Art) เอาไว้หลายจุดที่ คิดว่าวันสุดท้ายก่อนกลับจะมาเดินตามเก็บภาพสตรีทอาร์ต (Street Art) ที่ถือเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจในการเดินเที่ยวชมเมืองเบตงเป็นอย่างยิ่ง
เช้าวันที่สาม ของการมาเยือนเบตง เราเริ่มต้นด้วยการเดินทางไปชม “ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง” เป็นรอบที่สามสำหรับการมาเยือนเบตง ซึ่งรอบนี้เราตั้งใจว่าจะเก็บภาพทะเลหมอกสวยๆ ซึ่งอาจจะสวยที่สุดกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา เก็บไว้ในความทรงจำและภาพถ่ายก่อนจะอำลาเบตงในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากช่วงกลางคืนก่อนหน้านี้มีฝนตกโปรยปรายลงมา แน่นอนว่ายามเช้าย่อมจะมีทะเลหมอกที่ลอยฟุ้งสวยงามปรากฎขึ้นอย่างอลังการ และแล้วก็ไม่ผิดหวังแสงตะวันเจิดจ้าส่องมากระทบผืนหมอก ที่หนานุ่มปกคลุมผืนป่าสะท้อนความขาวนวลของมวลหมอกงามระยับจับตา เราขึ้นมาชื่นชมความงามอย่างตื่นตะลึงเหมือนต้องมนต์สะกดอยู่เป็นเวลานาน เป็นการส่งท้ายก่อนจะกลับลงมาเพื่อใช้เวลาในโปรแกรมถัดไป
ระหว่างทางได้แวะถ่ายภาพหน้าป้าย OK BETONG ซึ่งเลยด่านตรวจคนเข้าเมืองเบตงมาได้เล็กน้อย และจุดนี้ทำให้เราได้พบกับน้ำใจของคนเบตงและเพื่อนๆ ร่วมทริปโอเคเบตงในครั้งนี้ ด้วยการช่วยเหลือลูกแมวน้อยเพศผู้ที่ต่อมาภายหลังได้ถูกตั้งชื่อว่า “น้องเบตง” เป็นที่ระลึกในการมาเยือนเมืองเบตงของเราในครั้งนี้ด้วย ลูกแมวอายุประมาณ 5-6 เดือน เกิดอุบัติเหตุโดนรถชนหรือทับจนขาหลังด้านหนึ่งหักร่องแร่ง ถูกทิ้งไว้ที่ร่องน้ำตรงป้าย OK BETONG ที่เราไปถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกัน เจ้าแมวน้อยผู้รักชีวิตพยายามส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือกจนหนึ่งในผู้ร่วมทริปได้ยินและนำมาซึ่งความช่วยเหลือเจ้าแมวน้อยนั้น เนื่องจากที่เบตงไม่มีโรงพยาบาลหรือคลีนิครักษาสัตว์ เราจึงได้ประสานขอความช่วยเหลือจนได้รับความช่วยเหลือจาก “สมาคมกู้ชีพกู้ภัยเบตง” โดยมี น.ส.ชญาภา สมานวรศักดิ์ เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการของสมาคมกู้ชีพกู้ภัย มาช่วยเหลือและดูแลแมวน้อยส่งโรงพยาบาลรักษาจนปลอดภัย คุณชญาภาบอกกับเราว่า “พวกเราช่วยทั้งคนและสัตว์ ถึงเขาจะเป็นสัตว์เขาก็มีความรู้สึกเหมือนกัน เพียงแต่เขาพูดภาษาเราไม่ได้เท่านั้นเอง” ปัจจุบันถึงแม้เจ้าแมวน้อยเบตงซึ่งกลายเป็นแมวขาพิการแต่ก็ยังสามารถเดินเดินกระเผกๆ ไปมาได้ แถมน่ารักขี้ประจบจนทุกคนหลงรักและได้รับการอุปการะดูแลจากสมาคมเป็นที่เรีบยร้อยแล้ว ซึ่งเป็นความสุขใจและอิ่มเอมใจที่ได้รับนอกเหนือจากการมาเยือนเบตงครั้งนี้ ต้องขอขอบคุณ “สมาคมกู้ชีพกู้ภัยเบตง” มา ณ โอกาสนี้ด้วย...
สำหรับมื้อเที่ยงเกือบบ่ายของเราในวันนี้มีเมนูที่น่าสนใจให้ลิ้มลองอีกเช่นเคย นั่นก็คือ “บะกุ๊ดแต๋” ซึ่งเป็นที่นิยมรับประทานกันมากเช่นกันสำหรับที่นี่ “บะกุ๊ดแต๋” เป็นน้ำแกงแบบจีนที่นิยมรับประทานในมาเลเซีย สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน และบางเมืองในประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเช่น บาตัมในอินโดนีเซีย และอำเภอหาดใหญ่และภูเก็ตในไทย “บะกุ๊ดแต๋” แปลตามตัวอักษรได้ว่า “กระดูกหมูและน้ำชา” โดยทั่วไปจะประกอบด้วยซี่โครงหมูอ่อนตุ๋นในน้ำต้มสมุนไพรและเครื่องเทศ (ได้แก่ โป๊ยกั้ก อบเชย กานพลู ตังกุย เมล็ดยี่หร่า และกระเทียม) เป็นเวลาหลายชั่วโมง อาจมีส่วนประกอบอื่นเพิ่มเติมอย่างเครื่องในสัตว์ เห็ดชนิดต่างๆ ผักกาด เต้าหู้แห้ง หรือเต้าหู้ทอด ระหว่างปรุงจะเติมซีอิ๊วขาวและดำลงในน้ำแกง มีผักชีสับหรือหอมเจียวเป็นเครื่องตกแต่ง บักกุ๊ดเต๋จะรับประทานกับข้าวหรือก๋วยเตี๋ยว (บางครั้งอาจทำเป็นน้ำก๋วยเตี๋ยว) และมักจะมีปาท่องโก๋ไว้จุ่มกับน้ำแกง ใช้ซีอิ๊วขาวหรือดำเป็นเครื่องปรุงรสพร้อมกับพริกขี้หนูและกระเทียมสับ ซึ่งป๋าไพบูลย์มีเคล็ดลับในความอร่อยด้วยการเติมเหล้าลงไป 2 ฝากระหว่างที่หม้อ “บะกุ๊ดแต๋” กำลังเดือดด้วย สำหรับร้านบักกุ๊ดเต๋ร้านดังร้านนี้ชื่อร้าน “สุจินต์ โภชนา (2)” ซึ่งจะมีผู้คนนิยมมารับประทานกันแน่นร้านไปหมดรวมถึงนักท่องเที่ยวชาวมาเลยเซียและชาวจีนที่มาเที่ยวเบตงด้วย
หลังมื้อเที่ยงเราเดินทางไปอีกสถานที่หนึ่งซึ่งเป็นเขตรอยต่อหรือที่เรียกว่า “ใต้สุดแดนสยาม” นั่นก็คือจุดผ่านแดนไทย-มาเลเซีย อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พรมแดนไทย - มาเลเซีย ใต้สุดสยาม ตั้งอยู่ ณ ชายแดนใต้สุดของประเทศไทยและเหนือสุดของประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย พื้นที่ของไทย ด่านเบตง อ.เบตง พื้นที่ของมาเลเซีย ด่านบูกิตบือราปิต รัฐเคดาห์ เวลาเปิด-ปิด 05.00 - 22.00 น. ของทุกวัน ครั้งนี้แค่มาถ่ายรูปเป็นที่ระลึกและมาชมเท่านั้นแต่ครั้งหน้าถ้ามีโอกาสมาที่เบตงอีกครั้งเราตั้งใจว่าจะข้ามไปเที่ยวมาเลเซียกัน จากนั้นก็เดินทางกลับเข้าไปตะเวนชมเมืองเบตงอีกครั้ง เพราะยังมีสถานที่ที่สวยงามและน่าสนใจที่เรายังไม่ได้ไปเยือนกัน
“มัสยิดกลางอำเภอเบตง” จุดกำเนิดสถานที่แห่งศรัทธาแห่งนี้ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล อำเภอเบตง อยู่ตรงข้ามเยื้องๆ กับสถานที่ทำการไปรณียโทรเลข ถนนสุขยางค์ เดิมมัสยิดกลางสร้างด้วยเสาไม้กลม 6 ต้น ใบจากอีก 6 ลายา (ตับ) เป็นมัสยิดกลางแห่งแรกของเบตงและเป็นมัสยิดกลางซึ่งมีสถาปัตกรรมที่สวยงามและแฝงไปด้วยความศรัทธาของพี่น้องชาวมุสลิม พอไปยืนดูสถานที่จริงได้เห็นถึงความสวยงามของมัสยิดสีฟ้าสดใส และได้ฟังเสียงสวดที่ลอดออกมาจากด้านใน แม้จะยืนอยู่ด้านนอกก็รับรู้ได้ถึงความเลื่อมใสศรัทธาอันแรงกล้า ที่มีต่อศาสนาของชาวมุสลิมก็ทำให้เรารู้สึกสงบใจได้เช่นกัน
และสถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ไม่ควรพลาด เมื่อเดินทางมาถึงเบตง จุดเด่นๆ อยู่บนภูเขานั่นคือ “พิพิธภัณฑ์เบตง” พิพิธภัณฑ์เบตงนี้ตั้งอยู่บนนถนนรัตนกิจ ก่อนถึงที่ว่าการอำเภอเบตง ซึ่งจากประสบการณ์ในการเดินทางสอนให้รู้ว่าถ้าอยากจะรู้จักและทำความเข้าใจสถานที่ๆ เราไปเยือนให้มากขึ้น ต้องหาโอกาสไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ของสถานที่แห่งนั้นก็จะทำให้เรารับรู้และเข้าใจสถานที่แห่งนั้นในด้านต่างๆ มากขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน “พิพิธภัณท์” ถือได้ว่าเป็น แหล่งเรียนรู้ที่บอกเล่าเรื่องราวของผู้คนและพื้นที่ในจังหวัดนั้นเป็นอย่างดี หากมีโอกาสไม่ควรพลาดพิพิธภัณฑ์เบตงแห่งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่อยากให้มาเยี่ยมชมกัน เปิดให้เข้าชมตั้งแต่เก้าโมงเช้าถึงห้าโมงเย็น
เราเดินเรื่อยเปื่อยไปจนมาถึงวัดสำคัญของเบตง นั่นคือ “วัดกวนอิม” ที่เกิดจากความศรัทธาอันยิ่งใหญ่ของชาวไทยเชื้อสายจีน ที่นี่ถือเป็นเสน่ห์ของเมืองเบตงและเป็นแหล่งท่องเที่ยวอันมีความสำคัญอีกที่หนึ่งซึ่งก่อสร้างอย่างโดดเด่น จากเบื้องต้นเราได้ทราบว่าต้นตระกูล “จันทโรทัย” ซึ่งเป็นต้นตระกูลแรกที่เข้ามาบุกเบิกจับจองพื้นที่แห่งนี้ได้บริจาคที่สร้าง “วัดกวนอิม” แห่งนี้ด้วย เราจึงมีโอกาสได้มาไหว้และทำความเคารพบรรพบุรุษของป๋าไพบูลย์และคุณเปิ้ลด้วย ความงดงามของสถปัตยกรรมแบบจีนที่ก่อสร้างอย่างโดดเด่นบริเวณเนินเขาของ “สวนสุดสยาม” ดึงดูดสายตาด้วยเจดีย์ 7 ชั้นที่ออกแบบก่อสร้างอย่างงดงาม วัดแห่งนี้เป็นสถานที่สักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าซึ่งเป็นที่ประดิษฐานขององค์เทพสำคัญต่างๆ มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวมาเลเซียเลื่อมใสศรัทธาเดินทางมาสักการะขอพรเป็นจำนวนมากทุกปี
เดินทางชมเมืองเดินทะลุตรอกซอกซอยมาจนถึงช่วงเวลาบ่ายแก่ๆ ก็กลับเข้าที่พักเพื่อเตรียมตัวสำหรับมื้อเย็นในวันนี้ เรามีนัดสำคัญจะต้องไปร่วมฉลองความยินดีและร่วมรับประทานอาหารที่ “ภัตตาคารต้าเหยิน” เนื่องจากว่าวันนี้เป็นวันเกิดของ “อาผ่อ” ผู้อวุโสสูงสุดของตระกูล “จันทโรทัย” ซึ่งคุณเปิ้ลจะต้องเดินทางมาทุกปีมิได้ขาดเพื่อมาร่วมงาน จึงเป็นเหตุให้เราได้มีโอกาสติดสอยห้อยตามเธอมาเที่ยวเบตงด้วยในครั้งนี้ อาผ่อเป็นหญิงสูงวัยอายุครบ 88 ปีในวันนี้ เป็นหญิงชราที่น่ารักมีรอยยิ้มประดับอยู่บนใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยเมตตาอยู่เสมอ และยังดูแข็งมีสุขภาพจิตที่ดีคนเบตงจะรู้จักกันดีแทบทุกคน วันนี้เป็นวันสำคัญถือเป็นวันรวมญาติที่รวมพี่น้องตระกูล “จันทโรทัย” กว่าครึ่งร้อยที่จูงลูกจูงหลานมารวมงานกันที่ชั้นสองของ “ภัตตาคารต้าเหยิน” ดูอบอุ่นและเป็นครอบครัวใหญ่ที่น่ารัก บรรยากาศของงานอบอวลไปด้วยความสุขที่มีรอยยิ้มและเสียงหัวเราะของทุกคน
และโอกาสนี้ทำให้เราได้สัมผัสและลิ้มลอง “ไก่เบตง” ซึ่งเป็นอาหารขึ้นชื่อที่เราไม่อาจพลาดได้เลย เพราะเมื่อมาถึงเบตงแล้วถ้าไม่ได้กินไก่เบตงจึงจะถือว่ามาไม่ถึงเบตงเชียว ไก่เบตงจัดเป็นอาหารที่เลิศรสและขึ้นชื่อของเบตง เป็นเมนูเด็ดที่นักท่องเที่ยวหรือผู้ที่มาเยือนเบตงไม่ควรพลาดเด็ดขาด ขอย้ำไม่ควรพลาดจริงๆ ไก่เบตงเป็นไก่ที่เลี้ยงเฉพาะถิ่นเบตงเนื้อจะหวานนุ่ม ไม่เปื่อยยุ่ยเหมือนไก่ทั่วไป เดิมเป็นไก่เลียงซานที่ชาวจีนอพยพซึ่งมาตั้งรกรากในเบตง ได้นำมาเลี้ยงและผสมพันธุ์กับไก่พื้นเมืองจนแพร่หลายมาถึงทุกวันนี้ ลักษณะเด่นของไก่เบตงคือตัวผู้มีปากสีเหลืองอ่อน หงอนจักร หัวกว้าง คอตั้ง แข็งแรง มีสีเหลืองทองที่หัว ปีกสั้นอกกว้าง ขาใหญ่ หน้าแข้งกลม และมีเล็บสีเทาอมเหลือง นอกจากนี้ยังมีเมนูอื่นๆ ที่น่าสนใจอีกหลายเมนู ไม่ว่าจะเป็น “หมี่เบตง” ซึ่งก็เป็นอาหารขึ้นชื่อของเบตง มีคุณสมบัติคือเส้นเหนียวนุ่ม เมื่อนำไปผัดเส้นจะไม่ขาด ทำให้ติดใจในความเหนียวนุ่มของเส้นหมี่
สรุปว่างานวันเกิดของอาผ่อคืนนี้เราได้ลิ้มลองอาหารขึ้นชื่อของเบตงไปหลายอย่างจนพุงกางเลย (หัวเราะ) ต้องขอขอบคุณเจ้าของวันเกิด อาผ่อ, ป๋าไพบูลย์ และ คุณเปิ้ล ที่ทำให้เราได้ลิ้มรสอาหารขึ้นชื่อของเบตงเกือบหมดทุกอย่างเลยทีเดียวในช่วงเวลาที่อยู่ที่นี่ รวมถึงพาไปเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ของเบตงทำให้เราได้รู้จักเบตงมากกว่าที่เคยรู้ และสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือทำให้รู้ว่าความสุขอีกอย่างหนึ่งของชาวเบตงคือ การที่มีอาหารการกินที่ดีอร่อยและอุดมสมบูรณ์มากๆ อย่างนี้ เชื่อแล้วว่าที่คุณเปิ้ลบอกว่ากลับจากเบตแต่ละครั้งเธอน้ำหนักขึ้นหลายกิโลเลยทีเดียว (หัวเราะ)
เช้าวันที่สี่ วันสุดท้ายก่อนอำลาเบตงเมืองที่ฉันหลงรัก หลังจากเราเติมพลังด้วยติ่มซำมื้อเช้าตรู่ก่อน 6 โมงเช้าเช่นเคย ด้วยติ่มซำเจ้าอร่อยร้านเดิมในเวลาเดิมที่เราเริ่มชินกับอาหารมื้อเช้ามากๆ ของคนเบตงแล้ว (หัวเราะ) วันนี้เรามีแผนเอาไว้ว่าเราจะต้องเก็บภาพ สตรีทอาร์ต (Street Art) ให้ครบทุกจุด ที่เป็นการสร้างสรรค์ผลงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงาน 111 ปี เล่าขานตำนานเมืองเบตง ซึ่งจัดขึ้น ในวันที่ 11-13 พฤษภาคม 2560 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเมืองเบตง การรำลึกถึงวิถีชีวิตของประชาชนใน อำเภอเบตง และเป็นการประชาสัมพันธ์เมืองเบตงให้รู้จักอย่างแพร่หลาย อีกทั้งเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีส่งเสริมและสนับสนุนการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจของอำเภอเบตงอีกทางหนึ่งด้วย พวกเรามีแผนที่แผ่นพับโบชัวร์ที่ได้จากร้านขายของที่ระลึก ซึ่งภาพแต่ละภาพที่เพ้นท์บนกำแพงล้วนเป็นภาพที่มีความสวยงามในต่างมิติ บางภาพแสดงถึงวิถีชีวิตของคนเบตงตามจุดต่างๆ เช่นที่ตลาดเช้าที่มีการค้าขายอาหารแบบตลาดเช้าก็จะมีภาพผัก ผลไม้ ปลาทู แมว ร้านกาแฟ ขนมจีบ ซาลาเปา ฯลฯ ที่วาดได้สวยงามสีสันสดใสโดดเด่นอยู่บนผนังตึก โดยที่บางที่จะมีพ่อค้าแม่ค้าขายของเหล่านั้นจริงๆ อยู่ด้านหน้าด้วยในชีวิตประจำวัน ทำให้บรรยากาศดูกลมกลืนและสวยงามอย่างน่าประทับใจทีเดียว และทำให้เราได้เห็นภาพสถานที่บ้านเรือนแทบทุกตรอกซอยของเบตงได้ชัดเจนขึ้น เป็นกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดเมื่อมาถึงเบตงแล้วมีเวลามีแผนที่ก็สตาร์ทกันได้เลย...
ในอนาคต เมืองเบตง จะมีระบบไฟฟ้า SMART GRID โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ, BETONG PARK สวนสาธารณะและลานกิจกรรมทางน้ำที่ครบครันและทันสมัย, สนามบินนานาชาติเบตง, สกายวอล์คชมทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ระเบียงกระจกที่ยื่นไปในอากาศที่ยาวที่สุดในโลกให้ชมทะเลหมอกได้ตลอดทั้งปี, โครงการพัฒนาวัตถุดิบอาหารฮาลาล จ.ชายแดนภาคใต้ เพื่อสร้างอาชีพและรายได้ที่มั่นคงในพื้นที่ ยกระดับการเลี้ยงปศุสัตว์ เพื่อมมูลค่าไปสุ่ตลาดสินค้าฮาลา และรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในด้านการท่องเที่ยว, ถนนทางหลวงเพิ่มเป็น 4 เส้นทางจราจร ยะลา-เบตง ระยะทาง 100 กิโลเมตร เชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งสินค้าเกษตรกรรมและกระตุ้นเศรษฐกิจของพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้, ที่พักริมทางจากเบตงสู่ทะเลสาป ป่าบาลา ฮาลา ที่มีภูมิทัศน์ที่สวยงาม มีอาคารขายสินค้า ที่จอดรถสำหรับนักท่องเที่ยว และป้ายบอกสถานที่สวยงามเพ่อดึงดูดนักท่องเที่ยว จุดใต้สุดแดนสยายามหลักที่ 54 A เป็นจุดกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซีย ตั้งอยู่ที่ ต.ธารน้ำทิพย์ เป็นหลักเขตใต้สุดแดนสยามของประเทศไทย เป็นเอกลักษณ์และสถานที่ท่องเที่ยว
ซึ่งเหล่านี้จะทำให้เบตงถูกพัฒนาไปอีกไกลกลายเป็นเมืองที่มีความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ตามหลักภูมิสังคมอันจะเป็นเมืองต้นแบบหนึ่งในสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ให้เป็นที่รู้จักของคนไทยทุกคนและก้าวสู่อาเชียนพัฒนาสู่สากล เป็นเมืองต้นแบบตัวอย่างของประเทศไทย มีความแตกต่างมีความสามารถสร้างเอกลักษณ์ความโดดเด่นเป็นของตัวเอง และสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็นด้วยเบตงเป็นเมืองที่มีเสน่ห์ ผู้คนที่นี่มี 4 อ. คือ อากาศดี อาหารดี อารมณ์ดี อายุยืน บนหลากหลายวัฒนธรรมที่กลมกลืนกัน มีทรัพยากรธรรมชาติที่น่าสนใจ มีความเป็นที่สุดในโลก ที่สุดของประเทศและที่สุดของภาคใต้มากมายล้วนน่าสนใจและจะอยู่ในความทรงจำตลอดไปแก่ผูมาเยือนที่จะได้พบกับความสุข สนุก ประทับใจและอบอุ่นทุกครั้งที่มาเยือนเมืองเบตงแห่งนี้...
เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม และภาพบางส่วนจากเพื่อนร่วมทริปโอเคเบตง
(ขอบคุณ คุณไพบูลย์ จันทโรทัย, คุณศิราภรณ์ จันทโรทัย, ปลัดมานิตย์ นิ่มนวล, น.ส.ชญาภา สมานวรศักดิ์ และเพื่อนๆ ร่วมทริปโอเคเบตงทุกท่าน)