xs
xsm
sm
md
lg

มนต์เสน่ห์ "เบตง" เมืองงามแห่งแดนใต้ (ตอนที่ 1)

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เมื่อเอ่ยถึง “เบตง” หลายคนคงคิดถึงว่าเป็นดินแดนที่อยู่ใต้สุดของประเทศไทย อยู่ในจังหวัดยะลาซึ่งเป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่อยู่ในเขตพื้นที่สีแดงและมีปัญหาทางด้านความไม่สงบอยู่ในขณะนี้ แต่หารู้ไม่ว่าแท้ที่จริงแล้ว “เบตง” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหนำซ้ำยังเป็นเมืองที่มีความสวยงามน่าค้นหาและน่าท่องเที่ยวมาก จนอยากไปทำความรู้จักเบตงให้มากขึ้นในความงดงามและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนเบตง และอีกไม่นานเบตงก็จะมีสนามบินแล้วเบตงคงเปลี่ยนไปจากเดิมไม่น้อย บางคนยังคงไม่รู้จักเมืองเบตงเมืองเล็กๆ ที่สวยงามติดชายแดนใต้สุดของประเทศไทยกันอย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นอย่าปล่อยให้ความคิดไปเองนั้นทำลายโอกาสที่เราจะได้รู้จักกับเมืองสวยๆ สักเมือง ซึ่งเบตงมีความสวยงามมากและมีความสมบูรณ์เป็นธรรมชาติมากๆ ถ้าพลาดไปแล้วก็ถือว่าน่าเสียดายจริงๆ พลาดแล้วพลาดเลย และครั้งนี้เราโชคดีที่มีไกด์กิติมศักดิ์มากด้วยน้ำใจของสองพ่อลูกต้นตระกูล “จันทโรทัย” คือ คุณไพบูลย์ จันทโรทัย และ คุณศิราภรณ์ (คุณเปิ้ล) จันทโรทัย ซึ่งตระกูล “จันทโรทัย” เป็นต้นตระกูลแรกที่บุกเบิกอำเภอเบตง และคนในตระกูลนี้ก็จะนำเราไปรู้จักเบตงนับตั้งแต่ก้าวแรกที่สัมผัสเบตงอย่างเจาะลึกเลยทีเดียว..

อำเภอเบตง มีคำขวัญที่บ่งบอกถึงอัตลักษณ์ของเมืองเบตงเป็นอย่างดีนั่นคือ “เมืองในหมอก ดอกไม้งาม ใต้สุดแดนสยาม เมืองงามชายแดน” ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของประเทศไทย มีลักษณะหัวหอกที่ยื่นเข้าไปในประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย อยู่ห่างจากตัวจังหวัดยะลา โดยทางรถยนต์ 140 กิโลเมตร มีพื้นที่ 1,328.00 ตารางกิโลเมตร ทิศเหนือติดต่อกับอำเภอธารโต จังหวัดยะลา ทิศใต้และทิศตะวันตกติดประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย ทิศตะวันออกติดประเทศสหพันธรัฐมาเลเซียและจังหวัดนราธิวาส ลักษณะภูมิประเทศสภาพพื้นที่อำเบตงตั้งนั้นอยู่ในพื้นที่ราบสูง เนินเขา ลุ่มน้ำ สูงกว่าระดับน้ำทะเลโดยเฉลี่ย 1,900 ฟุต อำเภอเบตงตั้งอยู่ตามแนวเทือกเขาสันกาลาคีรีอยู่ในพื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำปัตตานี มีการผสมผสานทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณี ภาษาและชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ ศาสนาพุทธ 48 เปอร์เซ็นต์ ศาสนาอื่นๆ 2 เปอร์เซ็นต์ ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีมีประเพณีและศิลปวัฒนธรรมของชาวไทยพุทธ ไทยอิสลาม และชาวไทยเชื้อสายจีนปรากฏอยู่ในพื้นที่ต่างๆ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่มีธรรมชาติที่สวยงาม จึงทำให้อำเภอเบตงเป็นอำเภอที่มีนักท่องเที่ยวจากในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านมาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก

ที่มาของชื่อ “เบตง” ก็มาจากคำภาษามาลายู หมายถึง “ไม้ไผ่” ซึ่งเจริญเติบโตและงอกงามอุดมสมบูรณ์อยู่มากในบริเวณพื้นที่เบตง ชาวเบตงได้สร้างต้นไผ่จำลอง ทำด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 3 เมตร สูง 9 เมตร เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่โดดเด่นและเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติความเป็นมาของเมือง ซึ่งตั้งเด่นตระหง่านภายในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตง

หลังลงจากเครื่องบินแล้วต้องมาต่อรถตู้โดยสารจากสนามบินหาดใหญ่ ผ่านเส้นทางอันยาวไกลและคดเคี้ยวก่อนจะถึงอำเภอเบตงเมืองที่ฉันหลงรักซะที เป็นเวลากว่า 4 ชั่วโมงที่เดินทางมาถึงในช่วงบ่ายแก่ๆ ในวันแรกของการเดินทาง ซึ่งเมื่อมาถึงก็ได้พบกับคุณ “ไพบูลย์ จันทโรทัย” คอยต้อนรับซึ่งเป็นคุณพ่อของคุณ “เปิ้ล” หรือคุณ “ศิราภรณ์ จันทโรทัย” บุตรสาวซึ่งเป็นผู้ร่วมเดินทางในทริปนี้และเป็นผู้เชิญและอาสานำเรามาสัมผัสประสบการณ์เบตงกันอย่างเจาะลึก ก่อนจะเดินทางไปชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามและสำคัญต่างๆ ของอำเภอเบตง เธอพาเรามารู้จักกับบ้านย่าของเธอซึ่งมีลักษณะเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์ที่มีความเก่าแก่ และมีกลิ่นอายดั้งเดิมของอดีตอันยาวนานที่ผ่านกาลเวลาจากรุ่นสู่รุ่นจนถึงรุ่นปัจจุบันด้วยรูปถ่ายเก่าๆ ขาวดำและสีที่ซีดจางติดอยู่บนฝาผนัง ล้วนบอกเล่าเรื่องราวของที่มาของต้นตระกูล “จันทโรทัย” เมื่อครั้งมาบุกเบิกจับจองพื้นที่และอยู่อาศัยจากอดีตมาจนถึงปัจจุบัน

คุณไพบูลย์ จันทโรทัย หรือ ป๋า ที่เราเรียกตามคุณเปิ้ลลูกสาวได้กรุณาเล่าถึงประวัติของต้นตระกูลที่มาบุกเบิกเบตงให้ฟังว่า...“ คุณตาของผมเดินทางมาเบตงครั้งแรกตอนอายุประมาณ 30 เศษๆ มากับเพื่อน 3 คนข้ามป่าข้ามเขาเจอเสือด้วยมาจากอำเภอยินตัน จังหวัดเปรัด ประเทศมาเลเซีย เพื่อมาบุกเบิกทำมาหากิน สมัยนั้นเบตงเป็นเมืองเล็กๆ มีประชากรน้อยคนจีนแทบจะไม่มีเลยมีแต่คนพื้นเมืองพวกซาไกและมาลายู จึงไปบุกป่าทำเหมืองแร่ที่ กม. 27 - 29 อัยเยอร์เวง จนมีฐานะดีจึงได้จ้างคนไปพาลูกเมียและญาติๆ มาเมืองไทยช่วยทำเหมืองแร่และมาจับจองซื้อที่ดินต่อ เช่นแถวถนนจันทโรทัยปากอุโมงค์ แถวใต้ซีอิ้จนถึงสวนสาธารณะ (บนเขา) แถว กม. 7 ด้วยต่อมามาค้าขายเปิดร้านชื่อ “หลี่ซัง” ขายยาจีนและข้าวสาร

คุณตาเป็นคนใจบุญช่วยเหลือทางราชการมากบริจาคที่สร้างสระกักน้ำไว้ดับเพลิง สร้างบันไดขึ้นเขา บริจาคที่สร้างวัดกวนอิม และวัด กม.7 บางส่วน จนทางการมอบสัญชาติไทยให้ชื่อว่า นายฟูศักดิ์ จันทโรทัย และรับเหรียญอริยาภรณ์ด้วยนี่คือที่มาของชื่อถนนและสะพานจันทโรทัยครับ คุณตาเสียที่ปิงนัง มาเลเชีย อายุ 89 ปี แต่ตอนนี้ไม่ได้ทำอะไรแล้วสมบัติขายหมดแล้ว ลูกชายเอาไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศออสเตียเรียแล้วครับ ส่วนของแม่ผมตาก็แบ่งให้แล้วครับที่ปิงนัง ลูกสาวตาอยู่ที่นั้นครับพวกเขามาเย่ียมแม่บ่อยๆ ครับ”...
จากนั้นได้แนะนำสุภาพสตรีผู้อวุโสสูงสุดในตระกูลที่อยู่ในบ้านคือ “อาผ่อ” ซึ่งจะมีวาระครบรอบ 88 ปีในวันเกิดที่จะถึงนี้ให้เราได้รู้จัก ก่อนจะปิดท้ายด้วยอาหารพื้นถิ่นดั้งเดิมสูตรแท้ๆ ของตระกูล คือ “บ๊ะจ่าง” และ “หมี่แกง” เป็นมื้อแรกของการต้อนรับในการมาเยือนเบตง


หลังจากอิ่มท้องกันแล้วก็ป๋าก็พาเราไปชม “พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธธรรมประกาศ” เป็นสถานที่แนะนำในการท่องเที่ยวของเบงตงสถานที่หนึ่งด้วย พระมหาธาตุเจดีย์พระพุทธธรรมประกาศและพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ตั้งอยู่ ณ วัดพุทธาธิวาส ตำบลเบตง เป็นพระธาตุเจดีย์แบบทวาราวดีศรีวิชัย ตั้งอยู่บนเนินเขาบริเวณวัดพุทธาธิวาส เป็นพระธาตุเจดีย์องค์ใหญ่และสวยงามที่สุดในภาคใต้ โดยตัวเจดีย์ตั้งอยู่บนเนินเขา มีขนาดความกว้าง 39 เมตร สูง 39.9 เมตร หรือขนาดความสูงเทียบเท่าตึก 13 ชั้น เป็นมหาธาตุเจดีย์ที่สวยงามและใหญ่ที่สุดในภาคใต้ โดยในองค์มหาธาตุเจีดย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ สร้างขึ้นเพื่อเป็นพระราชกุศลและเฉลิมพระเกียติในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชนินีนาถ ปัจจุบันเป็นที่สักการะบูชาของพุทธศาสนิกชนภาคใต้ของประเทศไทยและประเทศข้างเคียง

อีกสถานที่หนึ่งที่อยู่ใกล้เคียงกันและน่าสนใจไม่น้อยเลยทีเดียวก็คือ “โรงเรียนจงฝามูลนิธิ” เป็นจุดท่องเที่ยวอีกจุดหนึ่งของอำเภอเบตงที่นักท่องเที่ยวนิยมมาถ่ายรูป ตั้งอยู่ติดกับวัดพุทธาธิวาสสามารถที่จะเดินมาได้ ซึ่งเป็นโรงเรียนจีนแห่งแรกของอำเภอเบตง โรงเรียนนี้มีชื่อเดิม “โรงเรียนจงฝา” จัดตั้งมาประมาณ 70 กว่าปีแล้ว ได้ดำเนินการถูกต้องตามระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2492 ปัจจุบันโรงเรียนได้จดทะเบียนเป็นมูลนิธิและอยู่ในความดูแลของมูลนิธิ อำเภอเบตง การดำเนินการสอน เดิมโรงเรียนได้เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษา ปีที่ 4 วิชาที่สอนคือ วิชาสามัญ และภาษาจีนกลาง ปัจจุบันโรงเรียนจงฝามูลนิธิมีการจัดการเรียนการสอนถึง 3 ระดับ คือ อนุบาล, ประถม และมัธยมศึกษา และโรงเรียนแห่งนี้ยังเคยเป็นสถานที่ถ่ายทำฉากหนึ่งในภาพยนต์เรื่อง “โอเคเบตง” ที่โด่งดังมาแล้วในอดีต จนมีคำว่า “โอเคเบตง” คล้ายๆ เป็นสโลแกนเรียกกันจนติดปากของที่นี่เลยทีเดียว บรรยากาศของ “โรงเรียนจงฝามูลนิธิ” สัมผัสแรกที่เข้ามาทำให้รู้สึกเหมือนว่าได้หลุดเข้ามาในประเทศจีนไปชั่วขณะเลยทีเดียว เพราะกลิ่นอายของความเป็นจีนยังดูฟุ้งเต็มไปหมดในสถานที่แห่งนี้...


จากนั้นป๋าก็พานั่งรถยนต์ส่วนตัวสุดคลาสสิคของป๋าขับพาชมเมืองเบตงโดยรอบ โดยเริ่มจาก สถานที่จำลองที่ว่าการอำเภอเมืองเบตง ซึ่งสมัยนั้นเขาเขียนคำว่“อำเภอ” เป็น “อำเพอ”, “ศูนย์กีฬากลางหุบเขาซึ่งเป็นศูนย์กีฬามาตรฐานเบตง” แหล่งรวมสนามกีฬาที่หลากหลายได้มาตรฐาน ศูนย์กีฬากาญจนาภิเษก ตั้งอยู่บนยอดเขา ภายในสวนสาธารณะเทศบาลเมืองเบตงแวดล้อมด้วยความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและอากาศที่บริสุทธิ์ ที่นี่เปรียบเสมือนแหล่งรวมสถานที่ออกกำลังกายแหล่งใหญ่ที่สุดของเมืองเบตง มีสนามกีฬาประเภทต่างๆ ไว้รองรับมากมาย และที่สำคัญบริเวณสนามกีฬาแห่งนี้อยู่ท่ามกลางหุบเขามีทิวทัศน์สวยงาม ยิ่งช่วงเย็นๆ ผู้คนเมืองเบตงที่รักสุขภาพต่างก็ทยอยมาออกกำลังกายกันอย่างคึกคักทุกเพศทุกวัย ทั้งออกกำลังกายวิ่งรอบสนามและเดินเล่นออกกำลังกายในชุดลำลองเดินทักทายยิ้มแย้มแจ่มใส บ้างมากันเป็นครอบครัว ครูพานักเรียนมาฝึกซ้อมกีฬา อุ้มลูกจูงหลานมาเดินเล่น เหมือนเป็นสถานที่พักผ่อนพบปะกันในช่วงเย็นหลังเลิกงานหรือว่างจากการทำภารกิจใดๆ เห็นแล้วก็อดยิ้มไม่ได้กับความอิ่มเอมใจที่ได้พบเห็น ทำให้เห็นภาพของความอบอุ่นใส่ใจและความสามัคคีของผู้คนในเมืองเล็กๆ แห่งนี้ได้ชัดเจน ผู้คนน่ารักต่างทักทายกันและรู้จักกันอย่างทั่วถึงอดยิ้มไม่ได้กับความสุขและความอิ่มเอมใจที่ได้พบ...

หลังจากดื่มด่ำกับบรรยากาศในช่วงเย็นในสนามกีฬากันจนเป็นที่พอใจแล้ว ก็เดินทางกลับที่พักเพื่อเตรียมตัวพบกับท่านปลัด “มานิตย์ นิ่มนวล” ซึ่งเป็นปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลตะเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา ที่นัดกันไว้ก่อนเดินทางมาที่เบตงท่านจะคอยให้การต้อนรับในฐานะเจ้าบ้านอีกคนด้วย เรามีนัดกันสำหรับอาหารมื้อเย็นที่ร้านอาหารหน้า “อุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์” ซึ่งในยามค่ำคืนที่อุโมงค์แห่งนี้จะประดับไฟระยิบระยับงดงามลอดอุโมงค์ไปจนสุดสายปลายอุโมงค์อีกด้านหนึ่งทีเดียว แต่ก่อนจะถึงเวลานัดหมายเราได้เดินสำรวจเมืองเบตงระหว่างทางซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ น่ารักๆ สามารถเดินทะลุดถึงกันได้หลายซอยโดยเริ่มต้นจากการเดินไปชม “หอนาฬิกาคู่บ้านคู่เมืองเบตง” สถาปัตยกรรมที่ผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมไทยและจีน ทำด้วยหินอ่อนเลื่องชื่อจากจังหวัดยะลาซึ่งมีความแข็งแรงสวยงามและคงทน เป็นสิ่งก่อสร้างอันเก่าแก่ที่อยู่เคียงคู่เมืองเบตงมายาวนาน หอนาฬิกาตั้งอยู่ใจกลางเมืองเบตงบริเวณจุดตัดระหว่างถนนสุขยางค์กับถนนรัตนกิจ และอยู่ไม่ไกลจากโรงแรมที่ได้ไปพักนัก ซึ่งยามเย็นในช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนมีนาคมเราจะเห็นภาพนกนางแอ่นหลายร้อยหลายพันตัวที่หนีความหนาวเย็นอพยพจากไซบีเรียบินมาเกาะรอบๆ สายไฟและหอนาฬิกา เป็นภาพที่ีหาชมไม่ได้ง่ายนัก จึงเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของเมืองเบตงและเป็นไฮไลท์อีกจุดหนึ่งของที่นี่ โชคดีที่เรามาได้จังหวะในช่วงเวลานี้จีงมีโอกาสได้เห็น...


นอกจากนี้ที่นี่ยังมี “ตู้ไปรษณีย์สูง-ที่ใหญ่ที่สุดในโลก” สัญลักษญ์เมืองชายแดน ซึ่งเป็นตู้ไปรษณีย์ตู้แรก ลักษณะเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กมีเส้นรอบวงของตัวตู้ประมาณ 140 เซ็นติเมตร สูง 290 เซ็นติเมตร นับจากฐานรวมความสูงทั้งหมด 320 เซ็นติเมตร มีอายุรวม 86 ปี สร้างในปี 2467 สมัยที่ “นายสงวน จารุจินดา” เป็นนายไปรษณีย์โทรเลขอำเภอเบตง ที่เมื่อเกษียณราชการได้ลงสมัครสมาชิกสภาเทศบาล และได้รับเลือกเป็นนายกเทศมนตรีตำบลเบตง ซึ่งในสมัยนั้นเบตงไม่สามารถติดต่อสื่อสารใดๆ ได้ นอกจากทางจดหมายและเพื่อให้เป็นสัญลักษณ์แก่อำเภอเบตงด้านการสื่อสาร พร้อมทั้งส่งเสริมการติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกทางจดหมายการก่อสร้างตู้ไปรษณีย์จึงเกิดขึ้น ปัจจุบันเมืองแห่งนี้มีตู้ไปรษณีย์ที่เป็นตำนานการบอกเล่าถึง 2 ตู้ด้วยกัน คือตู้แรกตั้งอยู่ใกล้หอนาฬิกา มุมถนนสุขยางค์ และอีกตู้หนึ่งที่ใหญ่กว่าและสูงกว่าตู้เดิมถึง 3 เท่า ตั้งอยู่อาคารเฉลิมพระเกีรติ 80 พรรษา ที่เขาสร้างมาเพื่อการันตีถึงความใหญ่และเป็นเอกลักษณ์ประจำเมืองเคียงคู่ชาวเบตงจริงๆ

เราเดินเล่นจนมาถึงร้านอาหารเราก็ได้พบกับกับท่านปลัด “มานิตย์ นิ่มนวล” ซึ่งขี่มอเตอร์ไซด์มารอเราอยู่ก่อนแล้วที่ร้านอาหารหน้าอุโมงค์เบตงมงคลฤทธิ์ ระหว่างรับประทานอาหารมื้อค่ำท่านก็ได้บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองเบตงที่น่าสนใจไว้ด้วย ต้องขอขอบพระคุณท่านปลัด “มานิตย์ นิ่มนวล” มา ณ โอกาสนี้ด้วยสำหรับการเป็นเจ้าบ้านที่ดีและคำแนะนำต่างๆ รวมถึงเป็นเจ้าภาพมื้ออาหารที่แสนอร่อยอวบอวลไปด้วยมิตรไมตรีในการต้อนรับสู่เมืองเบตง พรุ่งนี้เรายังมีนัดกับท่านปลัดอีกครั้งในช่วงบ่ายที่บ่อน้ำพุร้อนเบตงอีกด้วย ซึ่งมีร้านขายของที่ระลึกที่นั่นด้วยและพรุ่งนี้เราจะไปเที่ยวที่นั่นกัน..



วันที่สอง ของการมาทำความรู้จักเบตงเมืองที่ฉันหลงรัก เริ่มต้นด้วยการตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อมาลิ้มลองติ่มซำอันเลื่องชื่อของเบตง นั่นก็คือร้าน “ไทซีอี้” ซึ่งเจ้าของก็เป็นเพื่อนและรู้จักคุ้นเคยกับป๋า หรือ คุณไพบูลย์ คนที่เบตงเขารู้จักกันแทบทุกบ้านแบบนี้นี่แหละถือเป็นเสน่ห์ของเมืองเบตงเช่นกัน ซึ่งต่างจากเมืองใหญ่ๆ ที่ไม่ค่อยจะคุ้นเคยกันนักขนาดรั้วบ้านติดกันยังไม่เคยรู้จักและทักทายกันเลยก็มี ป๋าบอกว่าถ้ามาสายจะอดกินเพราะร้านนี้จะขายดีและหมดไวมาก ต้องรีบมากันตั้งแต่เช้ามืดเลยทีเดียว ซึ่งเช้าขนาดนี้สำหรับคนเมืองกรุงอย่างเราย่อมไม่คุ้นเคยแน่นอน แต่เมื่อมาถึงที่นี่แล้วจะพลาดได้อย่างไรถ้าไม่ลองให้ครบก็ถือว่ามาไม่ถึงเบตง แค่ไปยืนเกาะกระจกดูหน้าร้านก็แทบตะลึงแล้ว มีทั้ง ซาลาเปา ติ่มซำ หลากหลายรายการดูละลานตาไปหมด แถมพอยกมาเสิร์ฟทีสูงเป็นคอนโดติ่มขนาดย่อมเลยทีเดียว และเมื่อนำมาเสิร์ฟที่โต๊ะกลมตรงกลางทำด้วยแผ่นกระจกวงกลมหนาหมุนได้รอบ ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการจัดการกับเข่งติ่มซำที่เบียดเสียดกันเต็มโต๊ะแล้ว (หัวเราะ)


เราสั่งทุกอย่างที่มีมาลองกันแถมยังได้รู้จัก “หน่อไมไก๊” หรือข้าวเหนียวไส้ไก่ร้อนๆ ควันฉุยที่ใส่มาในถ้วยตะไลอลูมิเนียมเล็กๆ กินคู่กับน้ำราดกระดูกหมูที่มีสีน้ำตาลข้นคลักใส่มาในถ้วยตะไลอลูมิเนียมเล็กๆ แบนๆ มีชิ้นกระดูกหมูสับเล็กๆ พอคำใส่มารวมมาด้วย 3-4 ชิ้น อยู่ในเข่งติ่มซำ “หน่อไม” เป็นภาษาจีนแปลว่า “ข้าวเหนียว” นั่นเอง ถือเป็นวัฒนธรรมการกินของอำเภอเบตงที่เราได้ลิ้มลองและสัมผัสในยามเช้าที่มีที่นี่ที่เดียวเท่านั้น ซึ่งคุณเปิ้ลบอกว่าตอนเด็กๆ ก่อนไปโรงเรียนเธอกิน “หน่อไมไก๊” เป็นประจำ ติ่มซำที่นี่ขายที่ราคาเข่งละ 13 บาท ซาลาเปาลูกละ 10 บาท และมีชาสมุนไพรร้อนๆ ที่จิบแรกก็สัมผัสได้ถึงความหอมชุ่มคอชื่นใจอุ่นๆ กรุ่นอยู่ในปาก คล้ายน้ำจับเลี้ยงมีกลิ่นหอมของดอกเก๊กฮวยอ่อนๆ ผสมผสานกันอร่อยมากๆ ในราคากาละ 25-30 บาท อีกด้วย มื้อนี้พุงกางไปตามๆ กันอย่างมีความสุขเลยทีเดียวด้วยราคาย่อมเยาว์สุดๆ (หัวเราะ)

หลังจากอาหารคาวแล้วต้องต่อด้วยของหวาน ดังนั้นโปรแกรมเช้านี้ต่อไปของเราก็คือการเดินทางต่อไปที่ กม. 4 เพื่อไปชิมขนมหวานที่ขึ้นชื่ออีกแห่งหนึ่งของเบตง นั่นคือ “วุ้นดำ” กม.4 ถ้าบอกว่าวุ้นดำก็คงนึกภาพไม่ออกแน่ว่าคืออะไร แต่ถ้าบอกว่า “เฉาก๊วย” คงร้อง..อ๋อ! ที่เบตงเขาเรียกว่า “วุ้นดำ” และเป็นวุ้นดำที่อร่อยอย่างที่ไม่เคยกินมาก่อนเสียด้าย เพราะวัตถุดิบที่นำมาใช้ทำวุ้นดำของที่นี่ มีส่วนผสมสำคัญอยู่ที่การนำเอาหญ้าวุ้นดำที่มีคุณภาพและสั่งตรงมาจากเมืองกวางโจว ประเทศจีน มาใช้ ทำให้เฉาก๊วยมีสีดำขลับเหนียวนุ่มน่ารับประทาน ส่วนน้ำที่นำมาต้มก็ต้องนำมาจากบนภูเขา เมื่อต้มเสร็จแล้วก็นำมากรองด้วยผ้าขาวบางเพื่อแยกหญ้าวุ้นดำออกจากน้ำซึ่งกลายมาเป็นสีดำ จากนั้นนำแป้งมันสัมประหลังมาผสมกับน้ำที่ได้จากการกรองในขณะที่ยังร้อนแล้วคนให้เข้ากัน ทิ้งไว้จนกลายเป็นวุ้นแล้วตัดเป็นชิ้นเล็กๆ รับประทานคู่กับน้ำหวานและน้ำแข็ง เราเลยถือโอกาสเข้าไปชมวิธีการทำ “วุ้นดำ” หรือ “เฉาก๊วย” กันด้วยซะเลย ซึ่งเจ้าของร้านเป็นรุ่นที่ 4 แล้ว ยินดีเปิดเผยอธิบายให้เราฟังอย่างละเอียดทุกขั้นตอน ที่นี่เปิดขายทุกวันไม่มีวันหยุด วุ้นดำหรือเฉาก๊วยโบราณเนื้อเนียนนุ่มดึ๋งดั๋งนอกจากจะอร่อยชื่นใจแล้วยังมีสรรพคุณแก้ร้อนในอีกด้วย...

โปรดติดตามตอนต่อไป...

เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม และภาพบางส่วนจากเพื่อนร่วมทริปโอเคเบตง

(ขอบคุณ คุณไพบูลย์ จันทโรทัย, คุณศิราภรณ์ จันทโรทัย, ปลัดมานิตย์ นิ่มนวล, น.ส.ชญาภา สมานวรศักดิ์ และเพื่อนๆ ร่วมทริปโอเคเบตงทุกท่าน)  



กำลังโหลดความคิดเห็น