xs
xsm
sm
md
lg

ดังไกลถึงต่างชาติ! "นักรบ มูลมานัส" กับงานอาร์ตสุดแนว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

หากใครหลายคนที่ได้เห็นผลงานศิลปะของเขาไม่ว่าจะเป็นในทางใดทางหนึ่งแล้ว เชื่อได้เลยว่าย่อมมีแนวคิดที่แตกต่างออกไปเป็นแน่แท้ บ้างก็อาจจะกล่าวว่า เป็นแนวทางใหม่ที่เปิดมุมมองโลกทัศน์ในด้านศิลปะให้เพิ่มพูนยิ่งขึ้น หรือ บ้างก็มีแนวคิดว่า ไม่เหมาะไม่ควรกับการนำอะไรที่มันถูกตราตรึงมาก่อนหน้านี้ ให้มาผสมผสานกับอีกต้นแบบ และอีกหลายๆ ปัจจัย ที่มีต่อผลงานศิลปะโดยรวมของเขา ซึ่งก็แล้วแต่มุมมองของหลากหลายความคิดที่สามารถแตกยอดออกไปได้

ไม่ว่าผลตอบรับจะเป็นอย่างไร “นักรบ มูลมานัส” ศิลปินแนวคอลลาจ ผู้นำ “ความเป็นไทย” มาเป็นหลักของการทำงาน ก็ได้เผยแพร่ผลงานในสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของตัวตนจนกลายเป็นชิ้นงานต่างๆ ออกมา และด้วยความเป็นไทยที่เขาชื่นชอบมาตั้งแต่เยาว์วัยบวกกับผลงานศิลปะในหลากรูปแบบของโลก ผลลัพธ์ที่ได้ คือ ความผสมผสานจากผลงานของทั้ง 2 โลก ให้เข้ากันอย่างลงตัว และได้มุมมองใหม่ในการเข้าถึงได้ในคราวเดียวกัน และด้วยผลงานจากการรังสรรค์ของเขานั่นเอง ก็ทำให้หลายๆ คน ทั้งชาวไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง นักสะสมผลงานศิลปะ ก็เริ่มได้ให้ความไว้วางใจในผลงานของเขาให้กลายสภาพเป็นชิ้นงานที่มีมูลค่าได้ในที่สุด...

• คุณเริ่มสนใจในเรื่องความเป็นไทยอย่างจริงจังตั้งแต่เมื่อไหร่

น่าจะเริ่มต้นมาตั้งแต่เรียนประถมครับ อย่างเพื่อนคนอื่นๆ เขาจะสนุกกับวิชาคณิต หรือ วิชาวิทย์ แต่ส่วนตัวเราจะสนุกกับวิชาสังคมศึกษา ในส่วนของด้านประวัติศาสตร์ อาจจะด้วยในช่วงวัยเราที่โตขึ้นมา มันมีอะไรให้ดูเยอะ แล้วมันจะมีหนังที่อิงประวัติศาสตร์ทำขึ้นมาเยอะ เช่น บางระจัน หรือ สุริโยทัย ซึ่งพอเราไปดูที่โรง มันก็ทำให้สนุก แล้วก็ทำให้เรามีความสนุกในห้องกับวิชาสังคมฯ ในพาร์ตประวัติฯ ซึ่งถ้ามีคนถามว่าวิชาที่เราชอบเรียนคืออะไร เราก็จะบอกไปว่าเราชอบเรียนสังคม เพราะว่ามันมีเรื่องดังกล่าว แต่เราจะสนุกในพาร์ตนี้ ซึ่งส่วนนี้ก็ทำให้เราเริ่มสนใจในเรื่องของความเป็นไทย และประวัติศาสตร์ไทยครับ

ในแง่หนึ่ง เหมือนกับว่าช่วงนั้นจะเป็นยุคที่เริ่มโหยหาอดีต น่าจะเป็นช่วงหลังวิกฤตต้มยำกุ้งมาไม่นาน แล้วจะมีอารมณ์ถวิลหาอดีต ซึ่งเราก็มารู้ตอนหลัง (หัวเราะ) คือเราก็สนใจตามที่เขานำเสนอมา ซึ่งมันก็สนุกดีที่เราได้สนุกกับในหนัง แล้วมันก็จะทำให้ต่อยอดไปด้านอื่นๆ ด้วย เราก็จะไปหาข้อมูลเพิ่มเติม เช่นว่า นายทองเหม็น มีตัวตนจริงหรือเปล่า หรือว่า ควายชื่อบุญเลิศ มีอยู่ในประวัติศาสตร์มั้ย หรือในเรื่องสุริโยทัย ทำไมในหนังถึงได้สะกดว่า ทัย แต่ในประวัติศาสตร์ทำไมถึงสะกดว่า ไท มันก็ทำให้เราค้นคว้า ศึกษามาเรื่อยๆ เราเริ่มอ่านประวัติศาสตร์หรือวรรณคดีแบบการ์ตูน เพราะว่ายุคเรามันก็จะเริ่มมีสิ่งเหล่านี้เข้ามา ขณะเดียวกัน เราก็เสพอย่างอื่นด้วย ไม่ว่าจะเป็นการ์ตูนญี่ปุ่น หนังดิสนีย์ หรือหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ เราก็รับมันมาเช่นกัน แต่ในส่วนของประวัติศาสตร์ไทย เราจะสนุกกับมันมากกว่า

• ในแง่หนึ่ง คล้ายกับว่าได้จุดเพาะเบื้องต้น ประมาณนั้นมั้ย

ใช่ครับ มันน่าจะเป็นอย่างงั้น เพราะเรารู้สึกว่า อะไรที่เราสนใจในตอนนั้น พอโตขึ้น เราก็จะสนใจสิ่งนั้นอีก ไม่เหมือนกับบางเรื่อง ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่ในเรื่องของความเป็นไทย ก็จะต่อยอดของมันมาเรื่อยๆ และสนุกกับมันมาเรื่อยๆ อย่างงี้ครับ ก็อาจจะกล่าวได้ว่า ช่วงประถมปลายเป็นช่วงที่เราเริ่มสนใจจากการเสพงานอย่างที่บอก แต่ถามว่าเร็วกว่าเพื่อนๆ มั้ย ก็ไม่นะครับ เพราะทุกคนก็ดูหนังเหมือนกับเรา แต่ขึ้นอยู่กับว่า ใครจะสนุกกับหนังอย่างไร อย่างเพื่อนบางคน เขาก็สนุกอยู่แค่ในโรงแค่นั้น แต่อาจจะไม่เยอะมาก ที่ดูจบแล้วไปหาข้อมูล หรือไปนั่งอ่านหนังสือต่อว่าตกลงตรงนี้มันคือยังไง คนที่ผ่านในฉากนี้มันคือใครวะ อะไรประมาณนี้ อาจจะเป็นแค่แตะๆ ยังไม่ได้ลงลึกขนาดนั้น

• พอเริ่มโตขึ้นมาสู่มัธยม เหมือนกับว่าคุณเริ่มลงลึกกับสิ่งที่เขานำเสนอมาด้วยมั้ย

ก็อาจจะมากขึ้น แต่ว่าเราอาจจะแปลกในเรื่องอื่นๆ อย่างบางคนก็จะไปสนุกกับเรื่องของเขา แต่เราก็จะมาสนุกกับด้านประวัติศาสตร์ศิลปวัฒนธรรม ซึ่งอาจจะแปลกจากคนอื่นนิดหน่อย แต่ก็ไม่ได้อะไรมาก อย่างตอนที่เราเรียนสังคมศึกษา เราอาจจะมีความสนุก ขณะที่คนอื่นเขาไม่อยากเรียน เขาจะไปสนุกกับวิชาอื่น แต่ว่าเราจะเป็นตรงกันข้ามแทน ซึ่งบางครั้ง เราก็ได้ไปในที่ต่างๆ บ้าง เช่น อยุธยา สุโขทัย เราก็ไปในแบบของเรา และสนุกในแบบของเรา และเราได้สนุกของเราด้วย ซึ่งพอเราได้ไปสถานที่จริง เรารู้สึกว่าสนุกดี ว่ามันเป็นอย่างนี้นี่เอง ที่เขาพูดเรื่องนี้ เรื่องนั้น ในช่วงประวัติศาสตร์แต่บางช่วงก็อิน และได้ปะติดปะต่อเรื่องราวขึ้นมา ว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง ตรงนี้ใครเคยมาเหยียบย่ำบ้าง มันก็สนุกดี

• โดยพื้นฐานของคุณก็มีอยู่ประมาณหนึ่งแล้ว แต่การมาเรียนภาษาไทยนี่คือแตกต่างพอควรอยู่นะ

จริงๆ เราสนใจประวัติศาสตร์ ทั้งเรื่องวัฒนธรรม เรื่องวรรณกรรม เพราะว่าเราก็เริ่มมาจากที่อ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ แล้วพอเราอ่านหนังสือเป็นพันๆ หน้าได้ เราก็จะไม่กลัวหนังสือที่หนาๆ อีกเลย ในช่วงมัธยม เราก็อ่านต่างๆ วรรณกรรม ทั้งแบบประวัติศาสตร์ และนิยาย จนเรารู้สึกว่า งานเขียนมันสนุกทั้งไทยและต่างประเทศ แล้วเราก็มีการเรียนทั้งสังคมกับภาษาไทยได้ดีกว่าวิชาอื่นๆ ซึ่งตอน ม.ปลาย เราก็ยังไม่รู้ว่าเราชอบอะไรขนาดนั้น แต่เราเห็นว่า เราทำคะแนนในวิชาภาษาไทย และสังคมได้ดี เราก็เริ่มเห็นแล้วว่า หนทางเราน่าจะเป็นอักษรฯ หรือ โบราณคดี แล้วบังเอิญว่าเราสอบตรงติด (ภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) เราก็เลยเออๆ เข้าไปก่อน เพราะช่วงนั้นยังมีการใช้ โอเน็ต เอเน็ต แล้วเราเรียนสายวิทย์ด้วย แล้วสมมติว่าเอาคะแนนไปนู่นนี่นั่น ก็คงจะไปสู้กับเขาไม่ได้ แต่ในตอน ม.ปลายก็เริ่มรู้สึกชอบการออกแบบต่างๆ เลยอยากมีความคิดที่จะเข้าสถาปัตย์บ้าง แต่พอรู้ว่าสถาปัตย์นั้นมันใช้คะแนนฟิสิกส์เยอะ เราก็เลยไม่เอาดีกว่า แต่ถือว่าเป็นการจุดประกายเล็กๆ มีการไปติวต่างๆ อย่างที่เพื่อนไป แต่พอมาเจอว่าต้องใช้คะแนนเข้าสู้ เราก็ถอยเลย เพราะคะแนนด้านวิทยาศาสตร์ในตอน ม.ปลายนี่คือห่วยมาก

• อะไรที่ทำให้เราสนใจงานด้านศิลปะในช่วงมัธยมปลาย

(นิ่งคิด) เรารู้สึกว่าเป็นช่วงของการมาของอินเทอร์เน็ต และเป็นการมาของสิ่งที่เราได้ดู และน่าสนใจมากขึ้น มีมิวเซียมสยาม หอศิลป์ ทำให้ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทำให้เราได้เปิดหูเปิดตา ทำให้ได้ไปดูพิพิธภัณฑ์ เราก็เลยรู้สึกว่ามาตรงกับสิ่งที่เราชอบ ในเรื่องวรรณกรรม เรื่องศิลปะ เลยคิดว่าเป็นเรื่องเดียวกันที่ต่อยอดในเรื่องอะไรบางอย่าง แล้วอยู่ในยุคที่มีอะไรแบบนี้ขึ้นมาแล้วมันสนุก ซึ่งก่อนที่มิวเซียมสยามจะมา เราจะรับรู้ประวัติศาสตร์ผ่านทางวัตถุนู่นนี่นั่น แต่มิวเซียมสยามเขาจัดนิทรรศการให้มันดูสนุก มันมีอะไรให้เราได้ร่วม เราก็เลยรู้สึกว่า นี่มันเป็นสิ่งดีนะเว้ย จนเรามีความสงสัยว่า ทำไมเวลาที่เราเล่าเรื่องเก่าๆ จะต้องใช้วิธีการเก่าๆ เสมอไปวะ ลองใช้วิธีการเล่าใหม่บ้าง มันเจ๋งจะตาย ซึ่งเราถือว่าโชคดีที่แบบว่า ในช่วงเวลาที่เราค้นหาตัวเอง แล้วมันมีสิ่งเหล่านี้ขึ้นมาพอดี แต่ขณะเดียวกัน เด็กสมัยหลังเราเขาโชคดีกว่าเรา ที่เขาไม่ได้มาเที่ยวสยามอย่างเดียว เขาไปเที่ยวได้ทุกที่ แล้วสมัยนี้ แค่เปิดคอมพ์ก็ค้นหาได้หมดแล้ว เรารู้สึกว่าเด็กก็เรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้น รู้จักว่าคณะนี้เรียนอะไร สอนอะไร ซึ่งต่างจากสมัยเรา ที่ยังไม่ได้ข้อมูลที่ลึกซึ้งขนาดนั้น เราจะรู้ทีหลังว่า อักษรช่วงก่อนเราเข้า กับหลังจากที่เราเข้ามาแล้ว มันอาจจะเป็นคนละสิ่งด้วยซ้ำ เรานี่ไม่รูเลยว่าคณะไหนสอนอะไรบ้าง ข้อมูลที่เราเข้าถึงนั้นค่อนข้างจำกัด แต่ว่าสมัยนี้มันเกินขอบเขตไปมากกว่านั้น เพราะฉะนั้น ปัญหาหรือสิ่งที่เด็กในยุคปัจจุบันเขาอาจจะต่างจากยุคเรา ซึ่งมีทั้งข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป

• ทีนี้พอคุณมาเรียนเอกไทยแล้ว มันทำให้ศาสตร์ด้านนี้เพิ่มพูนความรู้เพิ่มขึ้นมั้ย

ก็มากขึ้นนะครับ ทำให้เราได้ไปลงลึกว่า ความเป็นไทยมันไม่ได้มีแค่เฉดเดียวที่คนเห็น ความเป็นไทยมันต้องเป็นสิ่งอย่างนี้ จะต้องมีแต่ความสวยงามอย่างเดียว แต่ในวรรณคดีไทย มันมีความเป็นมนุษย์ มันมีความรัก โลภ โกรธ หลง ที่มันเยอะ รุนแรง และไม่ต่างจากวรรณกรรมทั่วไป เรารู้สึกว่าคนมองข้างนอกจะมองเห็นว่าวรรณกรรมไทยจะเป็นโขน ละคร สวยงาม แต่จริงๆ แล้ว วรรณกรรม วรรณคดี มันก็เป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับมนุษย์เนอะ มันก็เก็บบันทึกสังคมเราไว้หมดแหละ ว่าในอดีต และปัจจุบัน มันเกิดอะไรขึ้นบ้าง มันมีแง่มุมที่ลึกล้ำบ้าง ตรงไหนน่ากลัว หรือดีงามบ้าง ซึ่งสิ่งตรงนี้บันทึกไว้หมด แล้วการที่เราได้ศึกษา มันทำให้เห็นกระบวนการคิดของคนในสมัยนั้น กระบวนการคิดของนักเขียน กระบวนการขับเคลื่อนไปของสังคมในแต่ละยุค เรารู้สึกว่าเรื่องเหล่านี้มันน่าสนใจมากเลย แม้ว่าเราอาจจะไม่ได้ไปศึกษาจากหลักการทางประวัติศาสตร์โดยตรง แต่ว่าเราศึกษาจากงานเขียนอะไรต่างๆ ผ่านทางวรรณกรรม เราก็รู้สึกว่าเราได้อีกมุมหนึ่งเหมือนกัน

• เพราะด้วยวรรณกรรมไทยในการนำเสนอออกมา มันเป็นด้วยเรื่องสวยงามด้วย แต่พอตีความจริงๆ ก็เป็นมนุษย์ปุถุชนธรรมดา

ใช่ครับ เพราะว่ามันผ่านงานเขียนทางตัวอักษร มันเหมือนเป็นระบบอีกระบบหนึ่ง มันอาจจะล็อกรหัส ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันดูสวยงาม แต่จริงๆ ถ้าคุณสามารถก้าวผ่านขีดจำกัดของภาษาได้ คุณจะเข้าใจมันได้ ซึ่งคนส่วนใหญ่ ถ้าเห็นเป็นกลอนก็จะคิดว่ายาก แต่ถ้าคุณเปิดใจและเข้าใจซึมซับ คุณก็สามารถเห็นภาพได้ง่าย อย่างวรรณกรรมต่างๆ ที่มันอาจจะยาวกว่า 8 บรรทัดนิดนึง คนก็ไม่อยากอ่าน จะไปดูมากกว่า สรุปคือ งานเขียนของคนยุคเก่า ยุคใหม่ หรือ ยุคปัจจุบัน ก็ทำให้เราสนใจในเรื่องสังคมความเป็นไทย ดูง่ายๆ อย่างเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ถ้าได้ตีความจริงๆ มันก็มีความเป็นคนมาก มีกิเลสตัณหา ความเป็นไปของมนุษย์ ซึ่งเราก็เข้าใจนะ เพราะว่าสิ่งเหล่านี้มันเกิดขึ้นอยู่ทุกวี่วัน

• แต่ว่า การที่ท่านๆ เหล่านั้นแต่งขึ้นมา ก็มักจะใส่ในเรื่องความสวยงามทางด้านวรรณศิลป์แทน

เขาก็จะมีการใส่รหัส วิธีการพูดถึงสิ่งที่เขาคิดว่าไม่สวยงาม ให้มาเป็นความสวยงามได้ เราว่าสิ่งพวกนี้มันเป็นเรื่องความชาญฉลาดของคนสมัยก่อน ซึ่งก็เหมือนความคิดของนักออกแบบของคนสมัยนี้ ที่จากสิ่งธรรมดาปกติ แค่พลิกนิดนึงก็สามารถสร้างรูปแบบที่ไม่เหมือนคนอื่นให้กลายเป็นจุดเด่นขึ้นมา เราว่ามันก็เป็นกระบวนการความคิดสร้างสรรค์เหมือนกัน เพราะฉะนั้น เราก็เลยเห็นว่าคนโบราณมันมีความคิดสร้างสรรค์เยอะมาก แล้วก็กรอบความคิดของเขามันกว้างขวางมากเลย ในเรื่องปรับตกแต่ง เขากว้างมาก ไม่เหมือนกับยุคปัจจุบัน ที่จะมีอะไรมาบล็อกเรานิดนึงว่า อันนี้ไม่ได้ว่ะ ประมาณนั้น

• กล่าวโดยสรุป พอมาถึงช่วงมหา'ลัยนี่คือ ความเป็นไทยของคุณถือได้ว่าคลั่งไคล้มั้ย

ก็ไม่ได้คลั่งไคล้นะครับ แค่รู้สึกว่า เรามีความสนใจ ถ้าคำว่าคลั่งไคล้ มันจะเป็นอีกแบบนึง เพราะเราคิดอีกแบบว่า ความเป็นไทยมันอยู่ในตัวเราในสิ่งที่เรากำลังเรียน มันจะเป็นแค่สนใจในเรื่องศิลปวัฒนธรรมมากกว่า แต่มองในมุมหนึ่ง ถือว่าเราได้พบเห็นชีวิตประจำวันด้วยนะ เพราะว่าเราก็เกิดและโตที่กรุงเทพฯ มาโดยตลอด ได้เห็นความมั่วๆ และความผสมผสานของมัน มีความแบบอะไรก็ไม่รู้ มีความเอาหมดเลย กับทุกเทศกาล ฝรั่ง จีน แขก เราสามารถไปได้หมด เราไหว้ศาลพระภูมิ หรือมีพิธีพราหมณ์ เราเลยสรุปว่ามันมีความกรุงเทพฯ และไทย มันมีความได้หมด เยอะมาก เพราะเราไม่คิดแค่ว่า ความเป็นไทยจะมีความอ่อนช้อยหรือไหว้งดงามอย่างเดียว แต่มันคือความที่เราผสมๆ ทุกอย่างเข้ามาอยู่ด้วยกัน

• พอเรียนจบ อย่างที่คุณบอกว่า ก็ผันตัวไปสู่อีกสายหนึ่ง ก็เท่ากับต่อยอดไปอีกด้านหนึ่งด้วย

คือตอนที่เรียนอักษรฯ เรารู้สึกว่า ทุกคนจะไปตามแนวทางของตนเอง ที่จะเล่าเรื่องผ่านทางตัวอักษร แต่ในส่วนของเรา เราไม่ถนัดในการเล่าเรื่องผ่านตัวอักษรเท่าไหร่ เพราะเวลาที่เราทำงานเขียน หรือ ทำงานวิจัย เราต้องรู้สึกว่าเค้นออกมานิดนึง แต่ว่าในงานอดิเรกของเรา มันคือการทำภาพ ทำโปสเตอร์ ทำรูป เรารู้สึกว่าสิ่งเหล่านี้มันก็ถ่ายทอดความคิดได้เหมือนกัน และมันก็เป็นสิ่งที่เราสนใจพอดี เราก็เลยรู้สึกว่า เราเล่าเรื่องผ่านภาพได้ถนัดกว่า เราก็เลยอยากจะทำงานด้วยการเล่าเรื่องผ่านภาพ เพราะฉะนั้น เราเลยเริ่มการทำงานด้วยการเป็นกราฟิก ดีไซเนอร์ ซึ่งมันก็มีความยากลำบากสมควรในการโดนตั้งแง่ว่า จบอักษรมา แต่มาเป็นตำแหน่งนี้ ไปสู่การเป็นนักออกแบบ ซึ่งเราจะต้องทำงานเยอะมากเลย แต่จริงๆ แล้วถือว่าโชคดีที่เราสนใจมาตั้งแต่ช่วงปี 1- ปี 2 ก็มีความรู้สึกว่า อักษรฯ มันมีความวิชาการจังเลย เลยไปหาอะไรที่เพลินๆ ทำดีกว่า ก็เลยไปเรียนวิชาของครุศาสตร์บ้าง หรือ ศิลปกรรมฯ บ้าง ซึ่งมันทำให้เรารู้สึกดีที่ได้เรียน 2 แบบ และจบมาเราก็ใช้ความรู้ทั้ง 2 ด้านเลย แม้ว่าเรื่องเทคนิค เราอาจจะไปสู้คนที่จบมาโดยตรงไม่ได้ แต่การที่เราจบอักษรมันก็มอบในเรื่องการสื่อสารออกมาได้เยอะมาก ทำให้เราได้เห็นโลกในหลายมุมมองมากขึ้น ได้เห็นความตื้นลึกหนาบางของความเป็นไทย และสังคมโลกมากขึ้น ทำให้เรามีเรื่องราวที่จะเล่าเยอะ

• พอเข้าสู่โลกของการทำงานแล้ว คุณใช้เวลาปรับตัวนานมั้ยครับ

นานครับ คือเรารู้สึกว่า กว่าที่เราจะมาเริ่มในการเป็นศิลปินทำอะไรตามใจเราเลย มันไม่มีจริง หรือว่ามันยาก และเขาโดดเด่นจริงๆ เราเลยเริ่มเป็นกราฟิกดีไซเนอร์ที่ทำงานในบริษัทแฟชั่น ที่ต้องทำภาพโฆษณา ทำภาพลงไอจี ทำลายผ้า และทำสื่อ ซึ่งทำให้เราเริ่มและฝึกทักษะมาจากตรงนั้น และก็ค่อยๆ มีความมั่นใจให้ตัวเอง เพราะว่าเราก็ยังไม่มั่นใจเลย ไม่ใช่แค่นายจ้างอย่างเดียว เราก็มีความรู้สึกนั้นอยู่ 4 ปีที่เราเรียนมา มันเป็นเรื่องตัวอักษรหมด แล้วจะมาทำงานด้านภาพได้มั้ย คือเราต้องไปเก็บเกี่ยวความมั่นใจ และประสบการณ์จากตรงนั้นก่อน แล้วเราก็เริ่มทำงานสัก 1-2 ปี จากนั้นเราก็เริ่มเหมือนทำงานอดิเรกของเรา ก็คืออยากจะวาดรูป อยากจะระบายสีมาตั้งนานแล้ว แต่เราก็ยังไม่ได้ฝึกฝนซะที เพราะพอเริ่มทำเมื่อไหร่ มันก็ไม่ได้ดั่งใจเรา เราก็เลยเริ่มหาวิธีอื่นๆ ในการทำงานศิลปะ จนมาเจอในแบบคอลลาจ ซึ่งมันก็สนุกดี และเป็นสิ่งที่เรามีประสบการณ์ด้วย เพราะว่าไปดูหนังสือเก่าเยอะ ไปดูเรื่องเก่าๆ เยอะ เราก็ไปดูแล้วพบว่า สื่อสิ่งพิมพ์และหนังสือไทยเก่าๆ หรือแม้กระทั่งการ์ด บัตรเชิญโปสเตอร์ หรือว่ารูปภาพ มันสวย และดูมีคุณค่าจังเลย แต่ว่าไม่ค่อยมีใครเอามาทำให้เห็นเท่าไหร่ อย่างมากก็จะมารวมเป็นหนังสือที่ไม่มีใครสนใจเท่าไหร่ เราก็เลยเลือกที่จะหยิบจับรูปเหล่านี้มาปะติดปะต่อกับงานเรา เราก็เลยเกิดแนวทางการทำศิลปะแบบตัดปะ ซึ่งเอาภาพอื่นๆ มาผสมกับภาพที่เป็นความเป็นไทย ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าสนุกกับการทำสิ่งนี้ เราก็เลยทำเก็บไว้ แล้วก็ส่งไปตามนิตยสารต่างๆ ว่าเราอยากทำภาพประกอบ เพราะตอนเด็กๆ เราโตมากับการอ่านนิตยสาร แล้วก็แต่ละบทความ ก็จะมีภาพประกอบสวยงาม แล้วก็ลองส่งไปนิตยสารต่างๆ แล้วก็มีคนตอบรับสนใจมาครับ เราเลยได้ทำกับนิตยสารในฐานะคนทำภาพประกอบ ซึ่งมันก็เป็นคนละแนวกับการทำกราฟิก คือเหมือนเราเล่าตามโจทย์ ตามใจลูกค้า แต่ภาพประกอบคือ มันเหมือนกับเราเล่าบทความหนึ่ง แล้วเราก็ตีความออกมาเป็นรูปแบบของเรา

• คุณชอบอะไรในงานด้านคอลลาจครับ

เราสนุกสนานกับการทดลอง เพราะว่างานคอลลาจ มันเหมือนว่าจะมีข้อจำกัด ว่าเราไม่ได้ระบายสีหรือเพิ่มเติมของมาเพิ่ม แต่ว่าเราเริ่มต้นจากสิ่งที่มันมีอยู่แล้ว มันเลยเริ่มต้นมาจากการมีข้อจำกัด แต่ด้วยข้อจำกัดนั้น เราสามารถมาพลิกแพลงหรือว่าเปลี่ยนแปลงอะไรได้ตลอดเวลาเลย มันเลยทำให้ข้อจำกัดนั้นมันไร้ขีดจำกัดมาก แล้วเราก็รู้สึกกับสิ่งที่เราชอบงานคอลลาจ คือ เราเอาการหยิบรูปภาพเก่าๆ มา ซึ่งรูปภาพที่หยิบมาไม่ใช่แค่อารมณ์อย่างเดียว เรื่องที่ศิลปินคนก่อนได้สร้างมา มันก็ติดมากับสิ่งที่เราเลือกมาด้วย ซึ่งคราวนี้ มันก็ขึ้นอยู่กับว่า เราจะคงความหมายนั้นไว้ หรือว่าจะทำยังไงให้พลิกแพลงความหมายนั้นไป ซึ่งเรารู้สึกว่า เราสนุกกับกลวิธีตรงนี้มากกว่า ว่าภาพเก่ามันมีความหมายยังไง แล้วเราจะเอามาใช้ในรูปแบบใหม่ แบบไหน เหมือนการทำคอลลาจ ก็เหมือนกับหยิบยื่นความหมายสิ่งที่มันมีอยู่แล้วมาด้วย เพื่อต่อยอด หรือทำให้ลดคุณค่าลง หรือว่าจะฉีกของเดิมไปเลย มันสนุกตรงนี้มากกว่า

• ทีนี้พอตัดสินใจมาทำงานศิลปะแล้ว อยากให้คุณช่วยเล่าตรงนี้หน่อยครับ

เรารู้สึกว่าการทำงานของเรา มันเริ่มต้นมาจากการเก็บสะสม ซึ่งมันก็เริ่มต้นมาตั้งนานแล้ว คือเก็บสะสมทั้งเรื่องราว รูปภาพ และ content จากการดูหนัง ฟังเพลง และการอ่านหนังสือ การเห็นผู้คนใช้ชีวิต การเดินทางไปที่ต่างๆ เราก็ค่อยๆ ทยอยเก็บไปเรื่อยๆ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นขั้นตอนการทำงาน ขั้นตอนการใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ แล้วเราจะได้ก้อนความคิดที่เราอยากจะเล่า แล้วพอสมมติว่าเรามีก้อนความคิดสะสมที่เราอยากเล่า เราก็หยิบเรื่องเหล่านั้นมาเล่า แล้วเราก็จะเก็บสิ่งที่เรามี เรารู้ ภาพที่เรามี เราก็จะหยิบเรื่องพวกนั้นมาจับ เก็บเล็กผสมน้อย แล้วจับรวบรวมมาแปะ มาจับ จนเป็นงานที่เสร็จสิ้น พองานเรียบร้อย คราวนี้เราก็จบหน้าที่แล้ว มันก็กลายเป็นหน้าที่ของคนดูแล้วว่า เขานึกถึงเรื่องอะไร ซึ่งไม่จำเป็นเลยว่าจะเป็นเรื่องอะไร เพราะฉะนั้น คนดูรูปเรารูปหนึ่ง การที่เขาตีความได้หลากหลายและแตกต่างจากเรา เรามีความสุขมากเลย เพราะเราอยากให้ทุกคนมีบทสนทนาของตัวเองผ่านงานศิลปะต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่งานศิลปะอย่างเดียว จะเป็นละคร ภาพยนตร์หรือการเสพสื่อต่างๆ แล้วเราก็ตีความต่างๆ ได้ ว่าคิดว่าเป็นอย่างงั้น เป็นอย่างงี้

คือเรารู้สึกว่า มันต้องมีความคิดวิจารณญาณในการเสพงานทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็น สื่อ หรือ งานศิลปะ ต่างๆ นานา หรือแม้กระทั่งประวัติศาสตร์ เราก็ควรมีความคิดแยกแยะ เพราะเรารู้สึกว่ามีคนอ่อนทางด้านนี้ สมมติว่า แก๊งทัวร์คนไทยไปฝรั่งเศส แล้วไกด์ทัวร์พาไปลูฟว์ ทุกคนก็จะวิ่งไปถ่ายรูปกับภาพโมนาลิซ่าเลย โดยที่บอกกับตัวเองไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ฉันชอบรูปนี้หรือเปล่า มันสวยหรือมันไม่สวย แต่มีเพียงว่า ฉันจะไปถ่ายกับรูปนี้ เพราะว่ารูปนี้มันดัง หรือจะเป็นว่า ฉันอยากดูหนังเรื่อง your name ซึ่งกูไม่รู้หรอกว่ามันอะไรยังไง แต่มันดัง พอดูจบแล้ว ก็ต้องมานั่งคิดนิดนึงแล้วว่า มันถูกจริตเราหรือเปล่า ตรงนี้เขาหมายถึงอะไรวะ แล้วเราชอบหรือไม่ชอบ แล้วความที่ตัวเองดูแล้วชอบหรือไม่ชอบ มันเป็นสิ่งพื้นฐานเลยที่เรารู้จักตัวเอง รู้จักโลกมนุษย์มากขึ้น

• แล้วผลงานในแต่ละชิ้น มันมีความยากง่ายในการที่จะสื่อสารออกไปยังไงบ้างครับ

เรารู้สึกว่า ความท้าทายในความยากง่ายของเรา คือเหมือนคนจำนวนมาก จะเห็นงานของเราผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือผ่านทางหน้าจอต่างๆ ซึ่งมันจะมี 2 มิติ แต่พอได้มาแสดงที่ในวงกว้าง เลยอยากจะทะยานออกมาจากหน้าจอ หมายความว่า เราก็ต้องไปทำเทคนิค ทำสิ่งต่างๆ เพิ่ม ให้มันเป็น 3 มิติเพิ่ม แล้วก็ทำหลายขั้นตอน ไม่ให้คนพูดว่า ดูงานคนนี้ผ่านเฟซบุ๊กก็ได้ เราก็พยายามหาเทคนิค อันนี้ก็คือความยากในระดับแรก ส่วนความยากในระดับต่อมา แล้วเรื่องราวที่เอามาถ่ายทอด มันอาจจะมีคนที่อ่อนไหวบ้าง เช่นเรื่อง ศาสนา วรรณกรรม ความเป็นไทย หรือเรื่องความเป็นพระเจ้า ซึ่งเราก็พยายามกลั่นกรอง แล้วก็มีความคิดเบื้องหลังต่างๆ นานา แล้วเราก็คิดว่า โอเค แล้วที่เราจะถ่ายทอดมาเป็นแบบนี้ แล้วเราก็รู้สึกว่าจุดนี้น่าคิดพอสมควร และก็เป็นจุดที่ยากพอสมควร แล้วเราจะพูดออกมายังไงให้เป็นภาษากลางๆ ที่ไม่มีคนจะรังเกียจขนาดนั้น มันคือความไม่หย่อนไป และไม่ตึงไป ซึ่งเราก็ทำได้ประมาณนี้ ความยากเลยมี 2 ข้อนี้

• แต่งานของคุณ ก็มีคนสนใจถึงขนาดมีการซื้อขายด้วยเช่นกัน

งานของผมโดยรวมก็จะมีขายอยู่ 2 แบบครับ แบบแรกคือ Original แบบงานเหมือนลักษณะเช่นว่า ปิดทอง เทคนิคอื่น หรือทำเป็น collage handmade เลยมีชิ้นหลักอยู่ชิ้นหนึ่งครับ และด้วยความที่มีชิ้นเดียว ก็จะแพงหน่อย หรือถ้าชิ้นเล็กน้อย ก็จะอยู่ในราวๆ 5,000 จนถึงหลายหมื่นหน่อย แล้วก็อีกแบบหนึ่งที่ผมขาย คือ เหมือนกับ Limited Print เหมือนกับว่า พอมีชิ้นในแบบแรกแล้ว ก็จะมีอีกแบบออกมาครับ แต่อาจจะไม่ได้ลงทอง หรือถ้าเป็นในสมัยก่อนหน้านี้ ผมก็จะกำหนดว่า ชิ้นนี้จะมีแค่ 20 ก๊อบปี้เท่านั้น ราคาก็จะเริ่มอยู่ที่ 5,000 จนถึง 10,000-20,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของภาพ และวิธีการพิมพ์ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นในแบบแรก หรือ แบบสอง ครับ

ส่วนลูกค้าที่ซื้องานผม ก็จะมีทั้ง Art Collector ที่เขาชอบซื้องานของคนดังๆ หน่อย ซึ่งในส่วนของผมอาจจะมีบ้าง แต่ส่วนใหญ่คนทั่วไปก็ซื้อบ้าง เพราะว่าบางชิ้นงาน ก็ไม่ได้เข้าใจยากอะไรขนาดนั้น ก็ยังสามารถไปตกแต่งที่บ้าน โรงแรม หรือ สถานที่ได้ ก็เลยมีหลายประเภทเลย มีทั้งคนที่สนใจงานศิลปะ รวมถึงที่บอกไป คืออาจจะมีวงกว้างออกไปหน่อย อย่างงานชุดที่หอศิลป์ ก็จะเป็นตาม collector มากหน่อย หรือเป็นคนที่สนใจเยอะหน่อย เพราะว่าจะมีเรื่องของเทคนิค มีเนื้อหาที่อาจจะไปวางทั่วไปไม่ได้ อย่างภาพในหลวง รัชกาลที่ 9 เพราะว่าทุกบ้านก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ท่านอยู่แล้ว ชิ้นนี้ก็เลยพิเศษหน่อย ซึ่งคนที่มาเก็บงานผม ก็จะเป็นคนที่สะสมงานศิลปะ ประมาณนี้ครับ

• แน่นอนว่า ก็มีคนที่ยังไม่เข้าใจงานของคุณอยู่ดี อยากให้คุณเล่าตรงนี้หน่อยครับ

เขาก็จะมีเข้ามาถามว่า เอาความเป็นไทยมาใช้ในงานแบบนี้ได้เหรอ หรือเอารูปบุคคลสำคัญมาทำอย่างงี้ได้เหรอ ได้หรือเปล่า แต่ว่าด้วยสิ่งเหล่านี้ เราก็ไม่ได้เอามาล้อเลียน หรือทำลายล้างขนาดนั้น แต่เราหยิบสิ่งเหล่านี้ขึ้นมา เพราะว่า มันเป็นสิ่งที่ดี มันเป็นสิ่งที่เราชอบ มันเป็นเรื่องราวที่เราเคารพ หรือ อยากนำเสนอในรูปแบบที่แตกต่างจากคุณคุ้นเคย มันอาจจะไม่ใช่รูปแบบใหม่เลย แต่ว่าอยู่ในบริบทที่คุณอาจจะไม่คุ้นเคยหน่อย แล้วการที่มาบอกว่าสิ่งที่เราทำมันไม่เคารพนับถือ งั้นก็แสดงว่าคุณยังยึดติดในวัตถุเกินไปหรือเปล่า เราเลยรู้สึกว่า มันอาจจะไม่ใช่ปัญหาของเรา มันอาจจะเป็นปัญหาของแต่ละคนหรือเปล่า ที่มองผลงานว่าไม่โอเคเลย แต่จริงๆ เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่ปัญหาขนาดนั้น ซึ่งถ้าเกิดคุณรู้สึกว่าไม่โอเคเลย คุณก็บอกตัวเองว่า ทำไมไม่โอเค มันอาจจะเป็นเพราะว่า อยู่ในบริบทที่ผิดใช่มั้ย หรือว่าฉันมีความอีกแบบใช่มั้ย ซึ่งสิ่งนี้กระตุ้นให้คนเราคิด และเข้าใจตัวเองได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งจะมีผลตอบรับกลับมาที่เรา ซึ่งเราก็ขอขอบคุณ และก็เก็บไว้คิดและต่อยอดให้ไปทำสิ่งต่างๆ ในอนาคตต่อไป ซึ่งเราว่าโอเค เพราะว่าเราก็ถือว่าดีด้วยซ้ำ ที่ทำให้เราเห็นว่า มันมีจุดไหนบ้าง ที่ควรจะต้องระแวดระวังอย่างงี้ครับ แต่ว่า ทั้งหมด เราก็ผ่านกระบวนการคิดแล้วว่า แต่ละภาพก็มีการคิดไตร่ตรองอยู่ ว่าถ้ามาตั้งแสดง จะมีปฏิกิริยากับคนดูอย่างไรบ้าง มีความบวกหรือลบยังไง แล้วก็ดูกับหลายๆ คน ว่าประมาณนี้แหละ น่าจะโอเค และน่าจะทำให้เราเห็นภาพที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง ทำให้เราเกิดความคิดที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลเหล่านี้ เพื่อจุดประสงค์ที่อยากจะเกิดความเป็นไทย และทำให้ความคิดวิจารณญาณเหล่านี้ มันมีมากขึ้นในคนไทยครับ

• การที่คุณเคยบอกว่า ของทุกอย่างมันมีราคาของมัน มันได้สะท้อนอะไรต่อผลงานศิลปะที่เราทำอยู่มั้ย

มันก็มีราคา เช่น มันก็สะท้อนนะ เพราะว่ามันก็เหมือนชื่อนิทรรศการของเรา ที่แปลว่าการบูชาสังเวย การเสียสละ เพราะว่าผลงานคอลลาจ ของเราคือ เสียความหมายเก่า เสียสิ่งเก่า เสียอะไรบางอย่างไป เพื่อสร้างสิ่งใหม่ขึ้นมา เพราะฉะนั้น คนที่มาดู ก็จะรู้สึกว่า มันอย่างงั้นอย่างงี้ แต่เราคิดว่า การที่ลืมเลือนอะไรไปสักนิด หรือยอมเสียอะไรไป เพื่อที่เราจะเปิดรับความหมาย หรือเปิดรับสิ่งใหม่ๆ เข้ามา เราก็มองว่าเป็นสิ่งที่สำคัญ พอมารู้ตัวอีกที คุณก็อาจจะไม่ได้เสียไปนี่หว่า คุณแค่มองมันในอีกมุมมองหนึ่ง แค่นั้นเอง บางทีเราก็ไม่ได้เสียสิ่งนั้นไปจริงๆ

• จากการทำงานที่ผ่านมาของเรา นอกจากผลงานที่เผยแพร่ออกไป ผลตอบรับในตัวงานที่ได้กลับมา เป็นยังไงบ้างครับ

ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ ซึ่งคนที่ชอบก็จะบอกว่ามีความสร้างสรรค์ดี ได้เห็นสิ่งต่างๆ ในรูปแบบใหม่ แต่คนที่ไม่ชอบ เขาก็จะมีความอ่อนไหวอยู่ เช่น ทำอย่างงี้ไม่ได้ เราจะเอาสัญลักษณ์นี้มาใส่ไม่ได้ ในการที่เอารูปจากศาสนาต่างๆ มาใส่ไม่ได้นะ แต่ก็อย่างที่เราบอกไปแล้วว่า การที่เราหยิบสิ่งเหล่านี้มา ไม่ใช่อยากจะทำลายล้าง แต่สิ่งเหล่านี้มันคือต้นแบบ มันเป็นสัญลักษณ์ที่ยิ่งใหญ่ เราก็เลยอยากที่จะหยิบสิ่งเหล่านี้มาเป็นตัวแทนของชุดสัญลักษณ์ต่างๆ มาเล่าเรื่องของเรา เราหยิบมาด้วยความเคารพด้วยซ้ำ ซึ่งมันก็แล้วแต่คนมอง ถ้าคุณมองเห็นว่าสิ่งนี้ไม่เคารพ ก็ดีนะ เพราะอย่างน้อย คุณก็ได้เปิดมุมมองของคุณ และมีบทสนทนากับงานศิลปะแล้ว ซึ่งก็ต้องหาคำตอบต่อไปว่าทำไมไม่ได้ ทำแบบไหนถึงจะโอเค

อย่างพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา เวลาที่มีพระพุทธรูป มันคือสัญลักษณ์เล็กๆ ที่เราต้องมองให้ทะลุไป มันไม่ใช่สิ่งนั้นจริงๆ แต่คนกลับไปยึดสิ่งนั้น อย่างรูปตาลปัตรที่เราทำมันจะมีรูปพระเยซูแปะอยู่ แต่เรามีเขียนคำว่า le god ด้วย นั่นหมายความว่า คุณจะทำอะไรในนั้นก็ได้ จริงๆ เราว่ามันก็เป็นอย่างงั้นแหละ มันเป็นแค่สัญลักษณ์ที่ให้เราเคารพรักมากกว่า มันไม่ใช่แค่สิ่งนั้นจริงๆ ไม่งั้นมันจะทำให้เรายึดกับวัตถุมาก และเป็นกระจกสะท้อนตัวเราด้วย ผมอยากให้พวกเราเห็นสิ่งเหล่านี้ จากรูปพระ หรือรูปต่างๆ แล้วนึกถึงสิ่งที่พระพูด สิ่งที่พระทำมากกว่าวัตถุ ซึ่งเรามองอย่างงี้มากกว่า

• คิดว่าการเดินทางของผลงานของเรา ถ้าให้เปรียบเป็นอะไรสักอย่าง คิดว่าเป็นอะไร และอยู่ในขั้นไหน และอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไปครับ

ถ้าสมมติว่าการเดินทางของงานเรา เราอาจจะนึกถึงสิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจใหญ่ของเรา คือ กรุงเทพฯ เพราะเรารู้สึกด้วยความที่อยากจะเหมือนคนอื่น อยากจะเหมือนต้นแบบที่ดูสวยงามเหมือนกับอุดมคติในภาพของเรา พอไปๆ มาๆ เราก็ลองเปลี่ยนว่าอยากจะเป็นคนนี้คนนั้นดีมั้ย อันไหนที่จะเป็นเรา เราเลือกปรับใช้สิ่งจากศิลปินคนอื่นๆ หรือว่าจากตัวเราเอง เหมือนตัวกรุงเทพฯ เอง ที่ค่อยๆ รับจากจีน จากฝรั่ง จากอะไรมากขึ้น จนกระทั่งจุดจุดหนึ่ง ที่เราคิดว่าเรารู้ตัวเอง แต่จริงๆ เราไม่รู้ว่าอยู่ในอะไรกันแน่ อยู่ในโลกที่ทับซ้อนกัน นู่นนี่นั่น แล้วมันก็จะมีอยู่ในจุดที่ขึ้นบ้าง ลงบ้าง แต่สุดท้ายเราก็ไม่รู้ว่าอนาคตจะไปทางไหนอยู่ดี พูดง่ายๆ คือ กึ่งๆ แสวงหาไปเรื่อยๆ ตอนนี้ เรายังไม่ได้นึกว่า ต่อไปต้องทำแบบนี้ๆ เท่านั้น เราคิดแค่ว่าอายุแต่ละปี มุมมองโลกของเราเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ครับ ซึ่งปีหน้า หรือ 2 ปีหน้า เราอาจจะพูดเรื่องเดิมอยู่ หรืออาจจะไปพูดเรื่องอื่นก็ได้ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเป็นยังไง ซึ่งกรุงเทพฯก็เหมือนกัน ไม่รู้จะเป็นยังไงต่อ (หัวเราะเบาๆ) อาจจะรื้อตึกเก่าออกไปทั้งหมดแล้วสร้างตึกล้ำๆมาแทนหรือเปล่า หรือว่า เราจะอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่แล้วทั้งหมดหรือไม่ เราก็ไม่แน่ใจว่าจะลบของเดิมทิ้ง หรือว่าสร้างของใหม่แทน






เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วรวิทย์ พานิชนันท์ และนักรบ มูลมานัส

กำลังโหลดความคิดเห็น