xs
xsm
sm
md
lg

คุณครูหัวใจน่ากราบ “ครูแน๊ต-สุพิชญา” : เรือจ้างผู้การุณย์ที่ต่อสู้เพื่อลูกศิษย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมตตาเย็นฉ่ำดั่งสายธารน้ำไหล
กรุณาเสมอเหมือนแผ่นดินที่โอบอุ้มโลกา
“ครูแน๊ต-สุพิชญา เลิศสงคราม” เรือจ้างที่ยอมเสี่ยงความมั่นคงในหน้าที่การงานเพื่อลูกศิษย์ตัวน้อยๆ ได้อยู่เย็นเป็นสุข จนกลายเป็นต้นแบบ “ครู” อีกท่านหนึ่งซึ่งควรยกย่อง และนี่ก็คือเรื่องราวหนึ่งที่จะจรรโลงโลกสังคมเราวันนี้ให้น่าอยู่

หางเสือผู้ถือท้าย
อนุศาสน์ทุกสิ่งสรรพ์

“คิดว่าตัวเองทำดีที่สุดแล้ว แต่ว่ามองอนาคตข้างหน้า ถ้าอะไรมันจะเกิด ก็ต้องเกิด ให้มันเป็นไป เราทำดีขนาดนี้แล้ว”
“ครูแน๊ต” หรือ “สุพิชญา เลิศสงคราม” พนักงานราชการ แผนกครูผู้สอนเด็กประถมศึกษาวัย 40 ปีแห่งโรงเรียนเขาจาน ต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว กล่าวถึงกรณีการต่อสู้เรื่องบ้านใหม่ให้กับเด็กนักเรียน จนมีปัญหากับหน่วยงานท้องถิ่นและถูกร้องเรียนต้นสังกัดให้ลงโทษหรือย้ายออกนอกพื้นที่

“ถามว่ากลัวไหม ก็ต้องกลัว ครูเป็นครูตัวน้อยๆ ก็ต้องกลัว ทีนี้อยู่ๆ ก็มีคนร้องเรียนไป จะเอาผิดวินัยครู พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องติดคุก 5 ปี แล้วก็ปรับอีก 2 แสนบาท แค่ความผิดวินัยก็กลัวอยู่แล้ว ยิ่งจะมาผิด พ.ร.บ.คอมพ์อีก ครูเงินเดือนแค่นี้เอง จะเอาเงินที่ไหนมาประกันตัวเอง ก็รู้สึกกลัว แต่ไม่ใช่กลัวที่สุด”

เพราะสิ่งที่น่ากลัวกว่านั้น ไม่ใช่การถูกโยกย้ายหรือสินไหมปรับหากถูกตัดสินว่าผิด หากแต่เป็นอนาคตของเด็กน้อยใสซื่อที่ต้องใช้ชีวิตอยู่ริมขอบเหวอันตรายที่สุ่มเสี่ยงทุกเมื่อเชื่อวัน จากจิตใจที่ถูกล้อเลียนในความเป็นต่างชนชาติว่า “อีเด็กเขมร”

“เราฟังแล้วน้ำตาจะไหล ‘ครูคะเพื่อนหนูล้อ’ เด็กไม่เคยมีรอยยิ้มที่สดใสมาโรงเรียน พอกลับบ้าน ไฟก็ไม่มี ห้องน้ำก็ฟัง บ้านก็ไม่มิดชิด กระท่อมไม่มีฝาข้างปิด หลังคามุงยอดหญ้าคา เวลาฝนตกสาดเปียก นอนแทบไม่ได้ ฟ้าร้องฟ้าฝ่า กระทั่งขึ้น ป.4 เกือบจะถูกลวนลามจากขี้เหล้าเมายา เพราะเด็กไม่มีพ่อแม่ คิดว่าจะทำอะไรก็ได้ คุณพ่อเลี้ยงของน้อง ท่านก็อายุมากแล้ว 84 ปี

“ถ้าเราไม่ช่วย แล้วใครจะช่วย”
หมุดหมายชีวิตหนึ่งของครูแน๊ต จึงหมายถึงความมุ่งมั่นยืนหยัดช่วยเหลือและหยิบยื่นสิ่งเหล่านี้ ซึ่ง ณ วันนี้ก็ได้สำเร็จลุล่วง เป็นบ้านหลังที่ 2 ที่ช่วยและประสานให้มีการช่วยเหลือเด็ก

“ในแง่ของครูกับลูกศิษย์ มันสุดยอดแล้ว แล้วเราต้องไปดูแล ไปเยี่ยมบ้านเขาตลอด เห็นเขาตลอดตั้งแต่เล็กๆ กระทั่งโต ทั้งความปลอดภัย การกินอยู่ เด็กคนนี้ทุกขเวทนา ขาดสารอาหาร ไม่ค่อยมีกิน ค่าขนมได้จากพ่อเลี้ยงซึ่งมาจากเบี้ยเลี้ยงคนชรา เดือนละ 800 บาท เจียดวันละ 10 บาท เด็กคนนี้ไม่มีเชื้อสายเลือด แต่พ่อเลี้ยงก็รัก มันทำให้เราอยากจะช่วยสนับสนุนแล้วอยากให้เขาพ้นจากความลำบากตรงนี้ ไม่ได้มาก แต่ได้น้อยก็ยังดี

“ยิ่งในแง่ที่เราพูดถึงเพื่อนมนุษย์ร่วมโลก ยิ่งทำให้ครูต้องเข้าไปช่วยอยู่แล้ว ถึงแม้ว่าจะไม่รวย เงินเดือนน้อย แต่ในความรู้สึกมันอยู่ลึกๆ ยังไงก็ต้องช่วย ช่วยเขาให้ได้ การช่วยเหลือมันสามารถจรรโลงโลกนี้ ในสังคมเราอย่างนี้ ทั้งคนดีก็มี คนไม่ดีก็มี ตอนนี้ก็คือครูรู้แล้วว่าคนไทยคนดีมีน้ำใจไม่ทิ้งกัน กำลังใจได้มากเหลือเกิน กว่าจะเห็นรอบข้างใกล้ๆ ตัวด้วยซ้ำ มันทำให้เรามีแรงมีพลังในการต่อสู้ สู้เพื่อเด็กๆ เหล่านี้ เพราะพอเราทำตรงนี้ ทำให้เด็กมีความสุข จากเด็กมีปมด้อย เห็นเขาทุกวันนี้มีความสุข มีรอยยิ้ม เจอครูมาหยอกครู เมื่อก่อนไม่มีเลย เราจะไม่ค่อยเห็นรอยยิ้มของเด็กคนนี้

“วันนี้ครูดีใจที่สุด ภาคภูมิใจที่สุด ที่ทำให้เขาได้ขนาดนี้ แล้วเขามากอดพร้อมกับบอกว่าหนูรักครูค่ะ แค่นี้ดีใจที่สุดแล้ว”


ดั่งไม้ผลัดที่ส่งต่อ
แสงทองส่องหล้าอุษาสาง

“เราเคยลำบากมาก่อน ตั้งแต่เด็กๆ ระดับประถม 1-2-3-4-5-6 กระทั่งเรียนชั้นมัธยมก็ไม่เคยสบายเหมือนคนอื่นเขา ต้องกินข้าวกับเกลือ เพราะฐานะทางบ้านยากจน คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำนาทำสวน พืชผลก็ไม่ค่อยดีอย่างที่เรารู้ๆ กันในยุคสมัยนั้น ก็ต้องไปรับจ้างทำทุกอย่างเป็นอาชีพเสริมเป็นค่ากับข้าว เราเป็นลูกคนเล็กก็จริง แต่พี่ๆ เขาก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล เราก็ต้องช่วยเหลือแบ่งเบาภาระ ไม่อยากจะให้ชีวิตตัวเองอยู่เฉยๆ ว่างเปล่า อยากจะช่วยแบ่งเบาพ่อแม่ได้บ้าง ไม่มากก็น้อย ช่วยๆ กันไป ก็เลยรู้ว่าความลำบากเป็นอย่างไร รู้สึกว่าเด็กๆ ที่ด้อยโอกาสเป็นอย่างไร

“มันอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา”
ครูแน๊ตว่าพลางบอกเล่าถึงความประทับใจที่ไม่มีวันลืม จากครูประจำชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ครูสุภาวดี เชื้อขาวพิมพ์ ผู้ซึ่งมอบสิ่งที่มากกว่าตำราความรู้ในห้องเรียน นั่นคือความรัก การเอาใจใส่ การดูแลประหนึ่งลูก อาหารเช้า เสื้อผ้า เยี่ยมเยียนติดตามไปที่บ้านตลอดเวลา สอนสั่งให้เป็นคนดี รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่

“ก็ได้ท่านเป็นต้นแบบส่วนหนึ่งในการทำให้อยากจะโตขึ้นมาเป็นคุณครูเมื่อตอนที่คุณพ่อคุณแม่เสียชีวิตช่วง ม.3 ยิ่งทำให้ชีวิตเราเปลี่ยนมากขึ้น ต้องสู้ด้วยขาของตัวเองต้องเดินด้วยขาของตัวเอง ช่วงการต่อสู้หนักหนาสาหัสพอสมควรกับเด็กผู้หญิงคนหนึ่งอายุ 16 ปี ตัวคนเดียวก็ช่วยเหลือตัวเองทุกอย่าง รับจ้างทุกอย่างเหมือนเดิม กระทั่งรับจ้างเป็นหางเครื่อง ร้องเพลงกลางคืน ไปกับวงในสังกัดควบคู่ไปกับเรียน กศน. เพราะการขาดพ่อขาดแม่ ก็เหลือแต่ครูที่รักและเอาใจใส่ จึงเสมือนพ่อแม่คนที่สอง เราก็รู้สึกว่าครูก็เป็นตัวแทนหนึ่ง เรามาตรงนี้ เราก็ไม่อยากให้ใครมาขาดตรงนี้อีก

“ก็ตั้งใจ มุมานะเพื่อมาเป็นครู สู้เรื่อยมาจนจบ กศน.มัธยมปลาย ก็มาต่อคณะครุศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ที่แยกออกมาจากศูนย์ใหญ่ เพราะเรียนแค่เสาร์-อาทิตย์ เราต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย วันจันทร์-ศุกร์ ทำงานเป็นครูพี่เลี้ยงเด็ก ก็เลยต้องส่งตัวเองเรียนด้วย รับจ้างทุกอย่าง ทำรายงาน เวลามีรายงาน เราก็ต้องรับจ้างเขา ทำทุกเล่ม วิชาอะไรเรารับจ้างทำหมด เขียนๆ เอา เพราะเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ได้เล่มละ 60 บาทบ้าง 20 บาทบ้างก็รับหมด”

จนกระทั่งจบการศึกษา สามารถสอบเข้าเป็นพนักงานราชการ แผนกครูผู้สอนเด็กปะถมศึกษา แม้ยังไม่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการ หากแต่ความหนหลังที่ไล่หลังก็ยิ่งทำให้มุ่งมั่นทำหน้าที่ไม่หยุดหย่อน ไม่เกี่ยงว่ายาก ตั้งแต่ปี 2547

“พอวันที่เราได้ดี ชีวิตตอนที่รับปริญญา ครอบครัวคนอื่นเขาจะมีพ่อมีแม่ไป แต่เราไม่มีใครเลย ขนาดรับปริญญาต้องมาแอบร้องไห้ข้างหลัง ไม่มีใครไปรับด้วย จนกระทั่งที่ครูทำงานมีรถเป็นของตัวเอง คนที่มีพ่อแม่เขาก็จะให้พ่อแม่มาเจิม แต่เราไม่มีใครมาเจิม พระที่ดีที่สุก็คือพ่อกับแม่ แต่เราไม่มี มันก็รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจตัวเอง มันก็ทำให้รู้สึกเราต้องช่วยเหลือเด็กคนไหนที่เขาลำบาก

“ครูมองรู้เลย ครูก็เลยมีกำลังใจ มีแรงผลักดันที่อยากจะช่วยเด็กตรงนี้ ก็อยากจะช่วยเหลือเด็ก สงสารเด็ก ตั้งใจมากที่จะสั่งสอนลูกศิษย์ให้เขารู้จักบุญคุณ รู้จักการช่วยเหลือคน ให้เป็นคนดีในสังคม ในการเอื้อเฟื้อแบ่งปันคนอื่น เราก็ทำตัวเป็นตัวอย่างให้เขาดู ทำไมเราทำอย่างอื่นที่มากกว่านั้น หลายคนอาจจะตั้งคำถาม เราไม่ได้มีหน้าที่แค่สอนหนังสือในห้องเรียน เราจะต้องสอนเขาให้รู้จักใช้วิชาชีวิต ให้เขาอยู่รอดปลอดภัยในสังคม ให้เขาเป็นคนดี ช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้อื่นได้

“ถ้าไม่เดิน เราไม่รู้ความลำบากเป็นอย่างไร เขาเป็นอย่างไร ต้องเข้าถึงสังคมเขาให้ได้ เพราะแค่วิชาชีพแค่นั้นยังไม่พอ คิดอย่างนั้นคนมีความรู้ใครก็ไปสอนได้ แต่คำว่าครู ‘เรือจ้าง’ เป็นอีกแบบหนึ่ง มันจะต้องมีทั้งความเป็นครู ความรัก ความเอ็นดู กับลูกศิษย์ อยากให้ลูกศิษย์ได้ดี มันรู้สึกว่าเราอยากที่จะสร้างเขา อยากเห็นเขาเป็นคนดี มันเลยทำให้เราต้องส่งเสริมช่วยเหลือเขาให้ดี ถึงแม้จะเหนื่อย แต่พอเห็นแววตาแต่ละดวง เห็นอนาคตข้างหน้าว่าเขาต้องได้ดีแน่ๆ ทุกๆ คน ก็หายแล้ว อิ่มโดยบางทีไม่ได้ทานข้าว เพราะอยากให้ลูกศิษย์เป็นคนดี เป็นคนเก่ง มีคุณภาพ อยู่ได้ในสังคม รู้จักแบ่งปัน คิดแก้ปัญหาเป็น ทำประโยชน์ให้กับสังคม เราก็มีความสุขแล้ว ครูก็หายเหนื่อยแล้ว”

โรงเรียนเขาจานจึงไม่ใช่เพียงสถานที่ทำงานหรือสถานศึกษาเพียงอย่างเดียว เพราะทั้งสองสิ่งต่างหลอมรวมแนบเป็นครอบครัว บริบทของคำว่าคุณครูแปรเปลี่ยนเป็น ‘แม่’ คำว่าลูกศิษย์กลายเป็น ‘ลูก’

จักขอพายเรือจ้างกลางชลให้คนนั่ง
ให้ถึงห้วงชลาธารแห่งปัญญา

“ตอนนี้เราก็ดำเนินการต่อไป ยังมีอุดมการณ์อยู่ อยากจะหาท่านผู้มีอุปการคุณอยากช่วยเหลือเด็กคนนี้ มาช่วยเหลือเด็กคนนี้ ต่อยอดให้เขาเป็นคนดีของสังคม ส่งเสริมเรื่องการศึกษาให้เขา ตอนนี้อยากหาทุนการศึกษาให้เขา ให้เขาได้มีความรู้จนจบปริญญาตรี ก็อยากให้ท่านที่มีจิตศรัทธาใจบุญ อยากวอนขอตรงนี้ เพราะเขาโตขึ้นไปอยากเป็นครูช่วยเหลือเด็กๆ อย่างที่เขาเคยได้รับ”

คุณครูเปิดเผยถึงจุดมุ่งหมายต่อไปในอนาคตภายหลังที่ได้มอบบ้าน 145 ต.ท่าเกวียน อ.วัฒนานคร จ.สระแก้ว ไปเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม ที่ผ่านมา

“ก็อยากจะขอฝากในเรื่องนี้และรวมไปถึงไม่ใช่แค่น้องเท่านั้น เด็กทุกๆ คนการที่เราทำให้เขาขนาดนี้ แล้วพอเขาได้รับเขาจะรู้สึกมีแรงผลักดัน ทำให้เขาสู้และเป็นคนดี ช่วยเหลือสังคม เป็นอนาคตของชาติที่พัฒนาประเทศชาติด้วยใจจริง

“เพื่อรอยยิ้มของเยาวชนของชาติ”
“เพื่อภายภาคหน้าของเขาเหล่านี้ได้สดใส”
“เพื่อสังคมที่ดีอย่างยั่งยืนตามที่พ่อหลวงเราทรงตั้งพระราชหฤทัยไว้ให้เราอยู่ร่วมกันด้วยความรัก สามัคคี เป็นพี่น้องพ่อแม่ลูก”






เรื่อง : รัชพล ธนศุทธิสกุล
ภาพ : สาวภูไท ไกลบ้าน

กำลังโหลดความคิดเห็น