xs
xsm
sm
md
lg

ได้ร่วมงานกับ Gucci !! คุยกับสาวนักวาด “ปัณพัท เตชะเมธากุล”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ด้วยผลงานวาดภาพประกอบที่เผยแพร่ให้ชมผ่านทางอินสตาแกรมของตนเอง เพียงเพื่อให้ผู้คนได้รับรู้ถึงผลงานและตัวตนในลักษณะงาน จนไปสะดุดตา Creative Director ของสินค้าแบรนด์เนมระดับโลกอย่าง “กุชชี (Gucci)” และชักชวนให้เธอไปร่วมงานกัน และนั่นคือจุดเริ่มต้นระหว่างการวาดภาพของเธอ และแบรนด์สินค้าสัญชาติอิตาเลียนที่ทุกคนรู้จัก กับผลงานทางศิลปะที่จะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนับจากนั้น...

“ปัณพัท เตชะเมธากุล” หรือ ‘ยูน’ คือเธอคนนั้น และด้วยผลงาน ‘The Wonder Factory’ หนังสือนิทานที่ตีพิมพ์เนื่องในโอกาสเปิดตัว Le Marche des Merveilles เครื่องประดับคอลเลกชันใหม่ของทางกุชชี ที่ทางปัณพัทได้ทำงานร่วมกับเธออีกคน ‘ออสซี่-อรช โชลิตกุล’ ศิลปินอิสระ และด้วยผลงานโรงงานมหัศจจรย๋ชุดดังกล่าว ก็ทำให้เป็นการประกาศศักดาของนักวาดภาพประกอบสายเลือดไทย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากลอีกครั้ง

• ความสนใจแรกสุดของคุณกับการวาดภาพมันเริ่มมาจากอะไรครับ

ปัณพัท : ขอเท้าความนิดนึงก่อน สมัยก่อนที่บ้านทำเสื้อผ้า แล้วมีพี่คนหนึ่ง ชื่อ ’พี่ใจ’ ซึ่งคุณแม่จะให้เขามาช่วยติดกระดุมเสื้อที่บ้าน แต่พี่เขาไม่ยอมทำตามที่แม่บอก แต่กลับมาสอนเราวาดรูป คือพี่เขาเป็นญาติของพี่ที่ทำงานประจำให้กับที่บ้าน ซึ่งปิดเทอมแต่ละครั้ง ก็จะมาจากต่างจังหวัดมาบ้านเรา เราก็เลยได้เริ่มเรียนวาดรูปและสนใจมาตั้งแต่นั้น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่เราทำได้ เพราะว่า ตอนเด็กๆ เราก็วาดไป ที่บ้านก็ชมว่าดีจัง เราก็เลยวาดมาเรื่อยๆ ตอนนั้นพี่ใจจะฝึกเริ่มต้นเราด้วยรูปบ้านเป็นรูปแรกค่ะ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนจะเป็นแบบว่า รูปบ้านจะเริ่มเป็นรูปสามเหลี่ยมก่อน แต่บ้านของพี่ใจจะเป็นหลังคาสี่เหลี่ยมคางหมู แล้วบ้านเป็นทรงสี่เหลี่ยม แล้วมีประตูสองด้าน แล้วรูปภูเขาที่ทั่วไป จะเป็นรูปภูเขาและพระอาทิตย์ที่เด็กๆ วาด แต่ของพี่ใจจะเป็นลักษณะบ้านที่ไม่เหมือนคนอื่น แล้วตอนนั้นเราเพิ่งประมาณ 4-5 ขวบได้ ซึ่งมันเป็นกิจกรรมแรกที่เรารู้สึกว่าสนุกจัง เราก็ทำได้

• อีกแง่หนึ่งเหมือนกับค้นหาตัวเองเล็กๆ ด้วยมั้ย

ปัณพัท : ตอนนั้นเหมือนกับยังไม่รู้หรอกค่ะ แต่เรารู้แค่ว่าเราชอบวาดรูป มันจะเป็นอารมณ์ประมาณนั้น เราชอบวาดรูป เราก็วาดเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีอีกอย่างที่ชอบคืองานประดิษฐ์ เนื่องมาจากที่คุณแม่ชอบเย็บเสื้อ แล้วท่านมีทักษะในด้านนี้ ซึ่งเราก็ได้มาเหมือนกัน ประมาณนี้ ส่วนถ้าเทียบกับเพื่อนร่วมรุ่นแล้ว คือเวลาที่เราอยู่กับเพื่อนที่โรงเรียน จะเป็นในแนวพึ่งพากัน เหมือนกับเราวาดรูปได้ ก็จะมีหน้าที่จัดบอร์ด แต่เพื่อนที่มีความรู้ทางด้านเลขก็จะมีหน้าที่มาสอนเรา บางทีเพื่อนก็จะช่วยทำรายงานวิชาที่เราไม่ถนัด แล้วเราจะเป็นพวกเรียนวิทย์ด้วย ก็จะมีสอบตกในวิชาฟิสิกส์ตลอด เพื่อนก็จะมาช่วยตลอด ส่วนเราก็จะมาช่วยในวิชาศิลปะและกิจกรรมแทน

• เหมือนกับว่าพอเริ่มโตขึ้น ก็เหมือนกับค่อยๆ ศึกษาและฝึกปรือไปด้วย

ปัณพัท : เอาจริงๆ ถ้าเกิดเป็นช่วงตอนเด็กๆ จะไม่ได้เรียนศิลปะแบบจริงจังเท่าไหร่ จะเน้นแค่วาดรูป สมัยก่อนอาจจะมีแค่หนังสือ แล้วก็ระบายตามหนังสือ แต่พอมาเข้าโรงเรียน ก็จะมีครูวิชาศิลปะ ที่จะคอยชี้แนะเทคนิคบางอย่างให้เรา แต่ถ้ามาได้เรียนในวิชาศิลปะจริงๆ ก็คือก่อนที่จะเข้ามหา'ลัย ที่ต้องมาเริ่มฝึกทุกอย่างใหม่หมด แต่ก็ไม่เชิงว่าจะเริ่มใหม่มาตั้งแต่ต้นนะ คือเราก็ได้ทักษะจากครูที่โรงเรียนแล้ว แต่การได้ไปที่โรงเรียนศิลปะ ก็เหมือนกับเราได้รู้จักว่ามันมีศิลปินคนต่างๆ และนำเสนอว่ามีศิลปะแบบนี้ๆ นะ ซึ่งสมัยก่อนตอนที่เราอยู่โรงเรียนเราจะไม่รู้ เพราะว่าเราไม่ได้เรียนในเรื่องประวัติศาสตร์ศิลป์หรืออะไรมา เราจะเป็นลักษณะว่า คลาสนี้จะทำอย่างงี้ อีกคลาสก็จะทำอีกแบบ แต่เราจะไม่มีความรู้ว่า ถ้ามีการผสมสีกันออกมาแล้วผลลัพธ์จะเป็นยังไง

• เมื่อคุณเริ่มที่จะจริงจังในด้านนี้ คุณก็ตัดสินใจที่จะเรียนต่อในด้านนี้เลย

ปัณพัท : ใช่ค่ะ เพราะตอนนั้นมันก็มีหลายคณะ แต่เราก็ยังไม่รู้ว่ามันมีคณะที่เกี่ยวกับวาดรูป เพราะตอนนั้นเราก็รู้สึกว่าชอบวาดรูปก็จริง แต่เราก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากวาดรูปตลอดเวลา เพราะความจริง ศิลปะมันก็จะแยกเป็นดีไซน์อาร์ต ซึ่งเราก็ไปเลือกเรียนแบบ Applied Art แทน ก็คือเลือกเรียนดีไซเนอร์ เพราะเรามีความรู้สึกว่า เราไม่ได้อยากที่จะมานั่งวาดรูปตลอดเวลา เราต้องหาอย่างอื่นมาประกอบด้วย เราเลยเลือกเรียนทางด้านนี้ แล้วพอเรารู้ว่ามันมีคณะนี้อยู่ด้วยนะ เราก็เลยจริงจังที่จะเข้าไป เพราะเรารู้สึกว่ามันคือการตอบโจทย์ชีวิตเรา ทั้งในตอนนั้นและอนาคตด้วย คือสมัยก่อนเราชอบวาดรูป แต่เราไม่คิดว่าการวาดรูปมันจะเป็นอาชีพได้ จนได้ไปติว และมีเพื่อนบอกว่ามันมีคณะนี้ด้วยนะ ซึ่งทำให้เราพบว่า สิ่งที่เราทำมันต่อยอดได้นะ เพราะสมัยก่อนที่โรงเรียน มันจะไม่มีคนมาแนะแนววิชาทางด้านศิลปะ ทุกคนจะแนะแนวไปทางสายวิทย์หมด แล้วแม้ว่าเราเรียนสายวิทย์มา แต่ก็ไม่สามารถทำด้านนั้นได้ ซึ่งเราโชคดีที่มีเพื่อนพาไปติวตามที่ต่างๆ คือเราเคยไปติวที่คณะรอบนึง แต่ตอนหลัง เราไปติวที่โรงเรียนที่สอนจริงๆ เราเลยจริงจังตั้งแต่ตอนนั้นเป็นต้นมา

• พอเข้ามาเรียนมหา'ลัย กลายเป็นว่านับหนึ่งใหม่ และค้นหาแรงบันดาลใจไปด้วย ช่วงเวลานี้ อยากให้เล่าหน่อยครับ

ปัณพัท : ตอนที่เข้าไปครั้งแรกก็คิดว่าเราจะเรียนด้านกราฟิก คือเรายังไม่รู้จักว่ามันคืออะไร แล้วตอนปี 1 เขาจะให้เราลองเรียนทุกอย่าง ว่าเราชอบอะไร ซึ่งพอเราไปเรียนจริงๆ แล้ว มันมีคลาสหนึ่งที่ทุกอย่างมันอยู่ในส่วนของเขา พอเราลองเองแล้ว เราก็รู้สึกว่าไม่ชอบ เรารู้สึกว่าเรามาชอบเส้นตรง ที่ต้องอยู่ในองค์ประกอบที่เขากำหนดไว้ให้ เราเลยมาเรียนแฟชั่น (ภาควิชานฤมิตศิลป์ สาขาวิชาหัตถศิลป์ คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ซึ่งเรารู้สึกว่าดีกว่า จำได้ว่าเขาให้เราทำหมวกอะไรก็ได้ จากนั้นเขาก็สอนในเรื่องต่างๆ แล้วเรารู้สึกว่า อันนี้มันน่าสนุก แล้วที่บ้านเราในสมัยก่อน เขาทำเสื้อผ้ามาก่อน มันก็เลยจะใกล้ตัว เราก็เลยตัดสินใจเรียนแฟชั่นดีกว่า

พอเรามาเรียนด้านนี้ปุ๊บ ข้อดีที่เราได้มาจนถึงวันนี้ ที่ได้จากการทำงานคือ มันมีการสร้างแรงบันดาลใจ รู้จักการสร้างเทรนด์ รู้จักคู่สีใหม่ๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ตอนที่เรายังไม่ได้เรียนแบบนี้ อย่างต้นไม้เราก็จะใช้คู่สีเดิม ลักษณะแบบเดิม ไม่มีการผสมผสาน เราจะคิดทุกอย่างเหมือนเดิม แล้วพอมันมีความเป็นแฟชั่นเข้ามาเกี่ยว ซึ่งแต่ละปีมันก็มีความไม่เหมือนกันเลย เราก็ต้องพยายามที่จะดึงและจับกลุ่มสีใหม่ในสมัยเรียน ซึ่งประโยชน์ตรงนี้แหละที่ทำให้มาใช้ในงานศิลปะของเราได้ จึงทำให้เราได้ศึกษาเทรนด์และสร้างสไตล์ที่เป็นตัวเราจากนั้นมา เพราะว่าในช่วงเรียน งานแฟชั่นมันเป็นตัวเราได้อย่างเต็มที่เลย เราไม่ต้องตอบโจทย์ใครมากได้ขนาดนั้น นอกจากตัวเอง แล้วก็ดูตลาด เพราะว่าตอนปี 3 เราลงวิชาเรียนการตลาดด้วย แต่ก็จะหลุดกรอบอยู่แค่นั้น ไม่ได้โดนกรอบเยอะ เราจะต้องเป็นใครในรูปแบบไหน อะไรประมาณนั้น

• ทีนี้พอเรียนจบมา ก็เริ่มทำงานเต็มตัว อยากให้คุณช่วยเล่าถึงตรงนี้หน่อยครับ

ปัณพัท : ตั้งแต่ฝึกงานก็ฝึกที่ closet จนเราได้ทำงานประจำที่นี่ ทำมาประมาณ 7 ปี แล้วก็ออกมาเมื่อไม่นานมานี้เอง ซึ่งเราทำงานที่นี่ แน่นอนว่าก็ได้ทักษะมา ซึ่งตอนสมัยเรียน ในการดูเทรนด์ต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่ง แล้วพอเราเข้ามาสู่โลกแห่งความจริงแล้ว เราก็ต้องมองเทรนด์ให้มันทะลุกว่าเดิม เพราะว่าผู้หญิงไทยกับของที่อยู่ในหนังสือเทรนด์ ไม่ได้เสพของอย่างเดียวกัน ยังไงเขาก็ต้องอยากได้ของที่ feminine ดูสวย ใส่แล้วก็ยังเป็นผู้หญิงอยู่ดี เขาไม่สามารถใส่ของที่ใส่ในสมัยเรียนได้ ซึ่งเราก็ต้องเรียนรู้ทั้งงานและเรียนรู้กับคนที่ทำงานด้วยกัน เริ่มแรกเป็นดีไซเนอร์ในทีมก่อน แล้วต่อมาขึ้นมาเป็น director ซึ่งพอเราขึ้นมาในตำแหน่งหลัง มันก็มีงานที่ใส่ความเป็นตัวเราอย่างเต็มที่ในนั้น บางงานอยู่ดีๆ ก็มีหน้าคล้ายเราอยู่ในงานด้วย จนบางทีลูกค้ามาถามเหมือนกันว่า ภาพเป็นตำหนิหรือเปล่า เราก็สามารถแทรกแรงบันดาลใจลงไปใน collection

คือทำงานไปจนเรารู้สึกว่า เมื่อไหร่จะมีคนรู้ว่า งานนี้เป็นงานของเรา เพราะว่าพอเราอยู่ใน house เราจะไม่โดนโปรโมตมาก แต่พอทำงาน เราก็อยากให้คนรู้ว่านี่คืองานเรา บางทีเขาเอาไปพูดในแรงบันดาลใจของเรา แต่เขาอาจจะพูดผิดไป เราก็รู้สึกว่ามันไม่ใช่ มันจะมีตัวอย่าง collection หนึ่ง จะพูดในความคิด เราไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ที่มันเป็นแรงบันดาลใจของโกแกง หนังสือมันจะบอกว่า ให้คุณมองไปที่พระจันทร์สิ ให้หมายถึงจุดมุ่งหวังอะไรอย่างงี้ อย่ามาสะดุดกับเหรียญบนพื้น ซึ่งมันก็หมายถึงว่า คนเรามันก็ไม่ได้ประสบความสำเร็จแบบรวดเร็วนะ เธอก็ยังทำงานอยู่ อย่าเพิ่งท้อใจ เราก็เลยสร้าง collection นี้ขึ้นมา ชื่อว่า women of the moon เป็นผู้หญิงที่เดินทางไปถึงตามที่โกแกงเล่า ซึ่ง collection ที่เราทำมา มันก็จะมีจุดอะไรพวกนี้อยู่ ที่เป็นตัวเราแฝงในงาน และก็แฝงอยู่ในแรงบันดาลใจ

• จากที่ฟังมาเหมือนกับว่าได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะยิ่งขึ้น

ปัณพัท : คือช่วงหลังมันมาจากการเรียนรู้ตัวเองก่อน พอทราบว่าเราอยากจะทำอะไรจริงๆ เราก็สามารถทำงานของเราได้ เพราะว่างานของเรามันก็เกิดจากตัวเรา ไม่ได้มีแรงบันดาลใจจากที่อื่น พอเราเรียนรู้และเข้าใจตัวเองมากขึ้น ว่าคิดยังไง เราก็เอาจุดตรงนี้มาเล่าในงานของเราได้ ซึ่งตอนที่เราทำงานประจำเราก็ยังวาดรูปอยู่ อย่างที่บอกว่าเป็นงานอดิเรก เราก็จะยังไม่หยุด วาดไปเรื่อยๆ แต่ว่าก่อนหน้านี้ เราจะยังไม่โพสต์งานลงในโลกออนไลน์ เพราะว่ายังไม่รู้สึกเปิดใจ เพราะเราทำงาน ก็อย่างที่บอกเมื่อกี้ว่า ทำไมทำงานแล้วคนไม่เห็นซะที ซึ่งเราก็ได้คำตอบว่า ก็ไม่ได้เผยแพร่ว่าทำไง เราก็เลยเริ่มที่จะโพสต์ผลงานลงไป ในช่วง 2015 ก็เป็นช่วงที่เราเกิดคำถามตามที่บอก ซึ่งเราก็มีความดื้อในใจก็ไม่รู้

อย่างสมัยก่อนมันก็มีความรู้สึกนั้น แต่ว่าเราก็คุยกับพี่ที่รู้จักกัน พี่คนนี้คือคนที่เคยติวงานให้เราตอน ม.6 ทุกวันนี้ก็ยังเป็นเพื่อนกันอยู่ แล้วพี่เขาจะเป็นคนที่สร้างคำถามให้เราคิดว่าเราจะไปยังไงต่อ เขาก็ถามว่า อยากทำงานให้คนอื่นเห็น แล้วเขาเอาผลงานเราไปเก็บแล้วคนอื่นได้เห็นต่อ แล้วถ้าเราเก็บงานไว้ เราก็เก็บไว้คนเดียว ไม่ตอบโจทย์สิ่งที่เราฝัน เพราะฉะนั้น เราก็ต้องเปลี่ยน พอเปลี่ยนความคิดไปแล้ว ก็รู้สึกดีขึ้น และเปิดใจ เปลี่ยนทัศนคติไปเลย จนเรารู้สึกว่า ความจริงมันก็ไม่ได้มีอะไรผิดหรือถูก มันไม่ได้ว่าจะต้องเป็นแบบนี้เสมอไป ทุกคนก็ต่างมีแนวทาง หนทางของตัวเอง ที่จะเดินทางต่อไป ไม่จำเป็นจะต้องเป็นรูปแบบนี้เสมอไป ซึ่งตรงกับยุคสมัยนี้ด้วย และเราก็ไม่ควรต่อต้านมัน

• อยากให้คุณช่วยเล่าถึงการร่วมงานกับกุชชีหน่อยครับ

ปัณพัท : มันเริ่มมาจากการที่เราโพสต์งานของเราใน Instagram เราปกติ แล้วบางงานของเราจะเป็น Fashion Illustration แล้วตอนนั้น Gucci ก็ได้เปลี่ยน Creative Director คนใหม่ ทำให้ทิศทางของแบรนด์เปลี่ยนไป ทุกอย่างดูโรแมนติก ซึ่งพอเราได้ดูแล้วทุกอย่างมันมีสไตล์ ทำให้เราชอบ เราเลยอยากวาดแบบนี้บ้าง พอวาดเรียบร้อย เราก็เลยลองติดแฮชแท็กเขาดู เขาก็มาเห็น นั่นคือจุดเริ่มต้น เขาก็ทักเรามาในอินสตาแกรม เราก็แลกอีเมลคุยกัน จนกระทั่งปี 2016 เราก็ได้ร่วมงานแรกกับเขา โปรเจกต์คือรวมศิลปินจากทั่วเอเชีย มาวาดให้กับลายผ้าของเขา คือลาย Gucchi Tian เป็นซีรีส์ แล้วให้เรามาทำเป็นสไตล์ของเรา อันนั้นก็เป็นงานแรก เราก็ได้ทำไป 3 รูป คราวนี้มาปีนี้ เขาก็ติดต่อเข้ามาเมื่อปลายปีที่แล้ว เขาให้เราทำงานที่เป็นโปรเจกต์ Fairy Tales Book คราวนี้เขาบอกว่า นอกจากวาดภาพแล้ว ต้องแต่งเรื่องเองด้วยนะ ซึ่งเราก็ไม่ได้ถนัดภาษาอังกฤษขนาดนั้น แต่เรามีเรื่องอยู่ในหัวแล้ว เราต้องการคนที่จะมาเรียบเรียง ก็เลยหาเพื่อนมาช่วย เพราะว่าเราต้องการหนังสือที่เราเข้าใจกัน ว่าจะออกมาเป็นยังไง

อชร : คือเหมือนพอเขาติดต่อพะยูนมา แล้วพะยูนก็ติดต่อมาที่เราอีกที แล้วว่าจะมีโปรเจกต์กับ Gucci นะ ซึ่งพะยูนจะวาดรูป แล้วเราจะดูในเนื้อเรื่อง เราก็เลยนัดคุยกัน ตอนแรกเราคิดว่า การที่ Gucci มาหาพะยูน เพราะเขาชอบสไตล์งานแบบนี้แล้ว เพราะฉะนั้นจึงมาคิดว่าเราจะทำยังไงเพื่อให้โชว์รูปแบบงานของพะยูน ที่เป็นเขาได้มากที่สุด ซึ่งมันเป็นรูปแบบผลงานที่ดี และน่าสนุกตื่นเต้นดี จากนั้นก็มานั่งคุยกันว่าเราอยากได้เรื่องประมาณไหน ซึ่งทาง Gucci เขาให้อิสระอย่างเต็มที่เลย ตอนแรกเขาให้แต่งก่อน 1 เรื่อง แล้วจากการประชุมเราอยากทำเรื่องสัตว์ เพราะพะยูนจะมีความเด่นตรงนี้ แล้วเราก็มานั่งคุยกันว่าอยากได้เรื่องประมาณไหน เรา 2 คนก็คิดว่า ถ้าเป็นมุมมองผู้ผลิต แล้วเป็นโรงงานที่ผลิตจิวเวลรีเลย ก็น่าจะเป็นเรื่องที่แปลกใหม่ดีนะ เรื่องแรกที่คิด คือ Wonder Factory เป็นเรื่องของสัตว์ที่อยู่ในโรงงานผลิต หลังจากที่ส่งเรื่องแรกไป เขาก็ติดต่อกลับมา ว่าอยากให้ทำเพิ่มอีก 2 เรื่อง เพราะตอนแรกเขาจะรวมศิลปิน 6 คนมาทำหนังสือเล่มนี้ แต่สุดท้าย ทั้งเนื้อเรื่องและการวาดของเราทั้งสองคน มันตรงกับสิ่งที่เขาอยากได้ เขาเลยทำเป็นหนังสือที่มีแค่เรื่องของพวกเราไปเลย ตอนนั้นคือตื่นเต้นกันมาก เพราะเวลาน้อยมาก

• แล้วรูปแบบคอนเซ็ปต์ที่ทำไป มันเป็นยังไงครับ

อชร : อย่างที่บอกไปเมื่อกี้ว่า อยากจะทำเกี่ยวกับโรงงานผู้ผลิต เราก็คิดแรงๆ ด้วยว่า ถ้าเราเป็น Gucci เอง เราอยากได้เรื่องอะไรที่มันเชื่อมกับแบรนด์และ collection ของเรา เราก็เลยตัดสินใจที่จะทำเรื่องนี้ ทีนี้เขาให้ทำ 3 เรื่อง เราก็เลยคิดว่า ทั้ง 3 เรื่องอยากให้มันมีความต่อเนื่องกัน โอเค ว่ามันมีความต่อเนื่องกับ Wonder factory อย่างเรื่องแรกเป็นปลาโลมาที่ขอพรจากเทพีสิงโตจีน เพื่อให้รูปปั้นเสือดาวกลับมามีชีวิต แล้วก็รักกัน คล้ายๆ ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของโรงงานแห่งนี้ เรื่องที่สอง คือเรื่องของช้างที่เป็นแฟนคลับของที่นี่ แล้วอยากจะมาทำงานที่นี่ ชื่อเอราวัณ แต่ด้วยความที่ตัวใหญ่เกินไป เลยทำอะไรไม่ได้ ทำอะไรก็พัง สุดท้ายมาพบว่า ประโยชน์ของตัวเองคือคอยยืนบังแดดให้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องของคนทำงานในโรงงานแห่งนี้ แล้วเรื่องที่สาม เป็นเรื่องลูกค้า เป็นเรื่องของการส่งของ เป็นเรื่องนกกระเรียนที่ไปส่งของให้กับแมว แต่ทำของหล่นระหว่างทาง เหมือนตอนแรกไม่รู้ว่านกกระเรียนไปส่งของให้ใคร เหมือนกับลูกแมวกำลังเล่นที่บ้านแล้วอยู่ดีๆ ของตกมาจากท้องฟ้า แล้วคิดว่า ของที่ตกมา คือเพื่อนในจินตนาการส่งมาให้

ปัณพัท : คือตอนที่คุยกัน เราต้องการนิทานดูคลั่งด้วยภาพประกอบ แต่เนื้อหาจะดูแบบแฟนตาซี แต่ทุกเรื่องในสามเรื่องมันจะเหมือนการแทรกพวกเราลงไป เช่น สัตว์ทุกตัวในเรื่องจะมีชื่อภาษาไทย มีความสื่อพิศวาสไปกับชุดเดรสในเสือดำ อย่างเรื่องแรกเราพูดเรื่องความรักระหว่างเสือดำกับปลาโลมา ที่เราเล่าเรื่องนี้ เพราะเรารู้สึกว่า สัตว์ทุกตัวที่มาช่วยพวกนี้ มันไม่ได้มีข้อสงสัยว่า ทำไมจึงเป็น 2 ตัวนี้นะ แต่ทุกตัวเข้าใจและยอมรับในสิ่งที่มันเป็น และพร้อมจะมีความสุขกับสิ่งที่คนรอบข้างพร้อมมีความสุข อย่างเรื่องที่ 2 จะเป็นเรื่องช้าง อันนี้เป็นเรื่องกายภาพว่าทุกคนมีลักษณะภายนอกที่ไม่เหมือนกัน อย่างช้าง เราเปรียบเทียบกับคนที่แม้ว่าคนอื่นอาจจะมองว่าไม่เหมาะ แต่ก็สามารถเหมาะกับอีกอย่าง สรุปคือสุดท้ายทุกคนก็จะมีประโยชน์แบบตัวเอง ทุกคนมีความสามารถดีที่ทุกคนทำได้ เพียงแต่ว่าคนรอบข้างให้กำลังใจ แล้วมันมีลิงตัวหนึ่งก็มาให้กำลังใจช้างว่า อย่ากังวลนะ แล้วก็ให้ต่างหูมาใส่ ซึ่งช้างก็รู้สึกดีขึ้น เรื่องที่ 3 ที่เป็นแมวและนกกระเรียน คือเป็นการยอมรับในตัวเอง ทั้งเรื่องเราไม่ได้พูดว่าแมวยอมรับตัวเอง แต่แมวก็ใส่หน้ากากทั้งเรื่อง จนสุดท้ายมันได้ของขวัญชิ้นนี้มา ก็คิดว่ามันจะเปลี่ยนตัวเองได้ สุดท้ายมันก็ถอดหน้ากากออก แล้วมีความสุข ซึ่งนั่นก็เล่าถึงเราเองที่วันหนึ่งเราจะต้องเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างแล้วถอดหน้ากากออกและเป็นตัวเองได้แล้ว อันนี้คือการยอมรับในตัวเอง ซึ่งทั้ง 3 เรื่องมันก็มีประเด็นซ่อนอยู่ แต่ว่านำเสนอออกมาแบบบ้าคลั่ง (ยิ้ม)

อชร : คือเรารู้สึกว่าโปรเจกต์นี้มันคือความสนุก เพราะอย่างที่บอกว่าทาง Gucci เขาให้ความอิสระมากๆ อย่างเรื่องชื่อสัตว์ เราสองคนจะใช้ชื่อว่า โลมา เลย ทับศัพท์ไปเลย แล้วในเรื่องการคิดการทำงาน เราทั้งคู่ต่างช่วยเหลือในเรื่องความคิดซึ่งกันและกัน ไม่ใช่ว่ามีแค่ตามหน้าที่แค่นั้นจบ แต่นี่คือเรื่องที่พวกเราคิดด้วยกัน เพราะฉะนั้น มันจะมีจุดที่เราเขียนเรื่องมา แล้วก็บอกว่า ถ้าเขียนรูปแบบนี้น่าจะสวยกว่า ฉันอยากวาดฉากนี้แบบนี้

• พอผลงานออกมาแล้ว ผลตอบรับเป็นยังไงบ้างครับ

ปัณพัท : ดีมากค่ะ อย่างบ้านเราก็ผลตอบรับดี และด้วยครั้งนี้มีคนแชร์งานของพวกเราเยอะ เพราะด้วยโลกออนไลน์ด้วย มันก็ไว มันไม่เหมือนกับช่วงก่อนหน้านี้ที่เวลาโปรโมตแต่ละครั้งก็ต้องรอหนังสือออก แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันเร็วมาก เร็วจนเราเองก็ตกใจ แล้วเราก็ดีใจที่ทุกคนใจดีมากช่วยแชร์ต่อๆ กันไป ซึ่งเราถือว่าเกินคาด เพราะว่ารอบแรกที่เราเคยร่วมงานกับ Gucci รอบนั้นคนดูน้อยกว่านี้ ซึ่งเราก็มีความหวังว่ารอบหน้าจะมีคนดูนะ แต่กลายเป็นว่าครั้งนี้เกินคาด คนดูเยอะกว่าที่เราคาดหวังไว้ เราก็เลยดีใจ

อชร : ซึ่งถือว่าเป็นโปรเจกต์ที่จริงจังเหมือนกันนะ สำหรับ Gucci เพราะว่าหนังสือที่เราทำเนี่ยค่ะ มีคนถามเยอะเหมือนกันว่า จะหาซื้อยังไง แต่ทาง Gucci ก็บอกว่ามันเป็นงานที่ Exclusive Item เขาจะให้กับคนที่มาร่วมงานอีเวนต์ เวลาที่มีโปรโมต collection นี้เท่านั้น ซึ่งตอนนี้มีแต่คนญี่ปุ่นที่เห็น อันนี้คือตามที่เขาแท็กรูปมาให้ดู เพราะว่าเขาแปลไปหลายภาษาอยู่เหมือนกัน เท่าที่ทราบนะคะ เช่น ภาษาอิตาเลียน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ส่วนภาษาไทยยังไม่มี (หัวเราะ)

• แน่นอนว่าตอนนี้ บ้านเรามีคนที่วาดภาพประกอบเยอะมาก ถือว่าเป็นผลดีต่อแวดวงศิลปะในบ้านเราในปัจจุบันมั้ยครับ

ปัณพัท : ถือว่าดีนะคะ สมัยนี้คนวาดรูปเยอะขึ้น และครอบครัวก็สนับสนุนให้เด็กเรียนศิลปะมากขึ้น มันไม่เหมือนสมัยก่อนที่จะมีคำถามว่า ถ้าไปวาดรูปแล้ว ลูกฉันจะไปทำงานอะไร แต่เดี๋ยวนี้คือ อย่างที่บอกว่า เรายังคุยกับพี่ที่สอนศิลปะอยู่ ว่าเขามีความเข้าใจ ไม่ปิดกั้น เด็กๆ ก็ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ พอมีคนลักษณะนี้เยอะขึ้น ในงานศิลปะก็พัฒนาไปได้เยอะขึ้น เพราะสมัยก่อนเราก็จะเห็นว่าเพื่อนเราที่วาดรูปได้ แต่ที่บ้านไม่สนับสนุน เขาก็ไปเป็นอย่างอื่นแทน ถามว่าเขามีความสุขมั้ยก็มีนะ แต่เราก็เสียคนที่น่าจะเป็นทางเลือกใหม่ให้กับวงการ แล้วตอนนี้เด็กๆ ก็เรียนศิลปะเยอะขึ้น

• ด้วยความที่เราเป็นสายเลือดใหม่ให้วงการ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับรุ่นต่อไปด้วย ก็เท่ากับพัฒนาฝีมือเราไปในตัวด้วย คุณมองตรงนี้ยังไง

ปัณพัท : ส่วนตัวเรายังไม่ได้คิดถึงขั้นนั้นนะ แต่ว่า สิ่งที่เรามีตลอดในการทำงาน สมัยก่อนเราอยู่ในฐานะที่ต้องจ้างคนก่อน เพราะเราเคยอยู่ในแฟชั่นเฮาส์มาก่อน เราก็เลยมีความรู้สึกว่า เวลาในการทำงานทุกอย่าง มันจะต้องมีความซื่อตรงในเวลา แม้ว่าจะเป็นงานศิลปะก็ตาม มันไม่ได้ตามอารมณ์ตัวเองได้ทั้งหมด มันต้องดูปัจจัยโดยรวม ไม่มีอะไรที่เราจะแบบว่า เป็นข้อแก้ตัวที่เราเป็นตัวของตัวเอง แต่ว่ามันอาจจะเป็นความเห็นแก่ตัวที่เราไม่สนใจคนอื่นเลย เพราะฉะนั้นสิ่งนี้มันจะเป็นสิ่งที่เราคิดตลอดในการทำงาน เราต้องดูถึงประโยชน์ของคนร่วมงานด้วย ถึงมันจะเป็นงานศิลปะที่เราทำเพื่อตอบโจทย์กับคนอื่นๆ ก็เถอะ อันนี้สรุปจากการวาดภาพประกอบที่คนอื่นมาจ้าง แต่ถ้าเป็นเรื่องของตัวเอง มันก็ทำไปเรื่อยๆ อยู่แล้ว

อีกอย่าง ความเป็นศิลปินก็ต้องมีความสมดุลกัน ไม่ไปทางใดทางหนึ่งจนสุดมากเกินไป ไม่งั้นใครจะกล้าทำงานกับเรา ซึ่งมันก็เป็นข้อเสียด้วย ตรงที่เสียทั้งคนทำงานและตัวเองด้วย พอเราไม่ทำงาน เราก็ไม่มีผลงานที่จะแสดงออกไป ส่วนถามว่าท้าทายมั้ย ก็ถือว่าท้าทายกับตัวเอง อย่างงี้เราต้องจัดเวลามันไม่เหมือนสมัยก่อน ที่เราจะทำอะไรก็ได้ เพราะว่า คนสมัยก่อนเขาจะมีความคิดว่า ถ้าจะเป็นศิลปินก็จะทำอะไรตอนไหนก็ได้ ไม่สนใจอะไรก็ได้ แต่ปัจจุบันนี่คือ ไม่ได้แล้ว เราต้องสนใจคนรอบข้างและคนทำงานด้วย

• ความคาดหวังต่อไปของเรากับการวาดรูปประกอบนี่คือเป็นยังไง

ปัณพัท : (นิ่งคิด) อยากที่จะประสบความสำเร็จในด้านนี้ แต่ว่าแผนการต่อไป เรายังไม่ตั้งเป้าหมายว่าจะเดินไปในทิศทางใด ตอนนี้แค่เรารับผิดชอบงานที่เราได้รับมอบหมายให้ดี ทำงานที่ตัวเองอยากทำ ตอนนี้ก็มีรูปที่ตัวเองอยากวาดอยู่ในหัวอยู่ให้เสร็จและให้ดี ซึ่งถ้ามันออกมาเป็นรูปร่างแล้ว จะพยายามหาที่ทางไปให้จงได้ แต่ตอนนี้ขอส่วนที่อยู่ตรงหน้าให้ทำตามที่ใจเราคิดก่อน และเป้าหมายอีกอย่างที่อยากมีสตูดิโอ ที่คนสามารถเข้าไปดูงานของเราได้แบบจริงๆ เพราะว่าตอนนี้ยังเป็นแค่ในบ้าน ซึ่งยังไม่สามารถเปิดให้ชมได้ เพราะว่านี่ก็เป็นที่ของเรา อะไรประมาณนี้ค่ะ






เรื่อง : สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช
ภาพ : วชิร สายจำปา และ ปัณพัท เตชะเมธากุล

กำลังโหลดความคิดเห็น