xs
xsm
sm
md
lg

เป็นมาอย่างไร! ขุนดาบทะลวงฟันผู้ไม่ปรากฏชื่อในพงศาวดาร จึงมายืนถือดาบอยู่หน้ากองพล ๙ กาญจนบุรี!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

อนุสาวรีย์ขุนรัตนาวุธหน้ากองพล ๙ ลาดหญ้า
ถ้าผ่านไปทางหน้ากองพลทหารราบที่ ๙ ค่ายสุรสีห์ ลาดหญ้า กาญจนบุรี ในเส้นทางที่จะไปเขื่อนศรีนครินทร์ จะเห็นรูปปั้นของนักรบโบราณท่านหนึ่ง ยืนถือดาบสองมืออยู่ด้านข้างประตูค่าย มีป้ายติดไว้ว่า “ขุนรัตนาวุธ” ทำให้เกิดสงสัยว่า นักรบผู้ไม่ปรากฏนามในพงศาวดารท่านนี้เป็นใคร ไฉนจึงได้รับยกย่องจากกองพลที่สำคัญของภาคตะวันตก สร้างอนุสาวรีย์ให้มายืนอยู่หน้าค่าย

วีรกรรมของขุนรัตนาวุธเกิดขึ้นในสงคราม ๙ ทัพ ครั้งนั้นนอกจากพม่าจะยกกำลังมายังกับน้ำท่วมป่าแล้ว ยังใช้เล่ห์กลสารพัด อย่างกองทัพหน้าของเมียนหวุ่นแมงยี เมื่อผ่านด่านเจดีย์สามองค์เข้ามาแล้ว ทราบว่ามีกองมอญอาสาของพระยามหาโยธา (เจ่ง) อดีตเจ้าเมืองมอญซึ่งเข้ามาสวามิภักดิ์กับไทย คอยสกัดอยู่ ทั้งยังรู้ว่ามีกองดาบทะลวงฟันของขุนรัตนาวุธ ซึ่งยังไม่รู้กำลังแน่นอนคอยติดตาม จึงออกอุบายให้ทหารถือหนังสือปลอมตอบรับการกลับใจมาเข้าข้างพม่าของพระยาเจ่ง แล้วแกล้งให้ขุนรัตนาวุธจับทหารผู้นั้นได้ เมื่อขุนรัตนาวุธทราบความในหนังสือ ก็เกิดความแคลงใจพระยาเจ่ง ฉะนั้นในวันที่นัดกันไว้ว่าจะเข้าตีค่ายพม่าคนละด้าน ขุนรัตนาวุธจึงไม่ไปตามนัด เป็นผลให้กองมอญอาสาของพระยาเจ่งถูกพม่าตีกระเจิง ขุนรัตนาวุธจึงรู้ว่าถูกพม่าหลอกเข้าแล้ว

ขุนรัตนาวุธถือว่าการทำให้กองมอญอาสาแตกพ่ายในครั้งนี้ เป็นความผิดมหันต์ของตัวเองที่จะต้องชดใช้ความผิดนี้ให้ได้ จึงแยกทหาร ๕๐ คนให้ไปเป็นกองโจรปฏิบัติการในเขตเมืองเมาะตะมะ ทำลายสะพานและตัดทางลำเลียงในแม่น้ำ ๓ สาย ซึ่งเป็นเส้นทางลำเลียงที่สำคัญของพม่า ไม่ต้องกลับเข้ามาในเขตไทยจนกว่าสงครามจะยุติ

ส่วนตัวเองคุมทหารอีก ๑๕๐ คน มุ่งเข้าหากองทัพใหญ่ของพม่าที่ท่าดินแดงและสามสบ คอยรังควาญไม่ให้เคลื่อนทัพได้สะดวก ทำให้กองทัพพม่าที่จะเคลื่อนไปสมทบกับกองทัพหน้าที่ลาดหญ้าต้องชะงัก คิดว่ามีทหารไทยคอยดักโจมตีอยู่ และไม่อาจคาดเดาจำนวนได้

เมื่อพม่าตามตีกองมอญของพระยาเจ่ง ซึ่งถอยตามแผนของกรมพระราชวังบวรมหาสิงหสุรนาท หลอกล่อกองทัพพม่าเข้ามาถึงช่องสะเดา พบค่ายของกรมพระราชวังบวรฯตั้ง “ปิดตรอก” ยันกองทัพพม่าไว้ในภูมิประเทศที่ด้านหนึ่งเป็นภูเขาสูง อีกด้านเป็นแม่น้ำแควใหญ่ ทำให้กองทัพพม่าต้องดิ้นขลุกขลักอยู่ในที่จำกัด ไม่อาจใช้กำลังพลจำนวนมากดาหน้าออกมารบได้ จำต้องตั้งค่ายอยู่ในตรอกเผชิญหน้ากับค่ายไทย

สมรภูมินี้ทั้งไทยและพม่าต่างออกจากค่ายมารบกันจนโชกเหงื่อโชกเลือดทุกวัน กองดาบทะลวงฟันของขุนรัตนาวุธที่ตามรังควาญกองทัพพม่ามา ก็เข้าสมทบกับทหารไทยที่ค่ายหลวงนี้ด้วย ท่านขุนนำทหารของตนที่ร่อยหลอเหลือไม่ถึง ๑๕๐ คน เข้าตะลุยกับทัพพม่าด้วยความคั่งแค้นที่ทำให้ตนต้องก่อความผิดไว้ แม้จะฆ่าฟันทหารพม่าไปได้เป็นจำนวนมาก แต่ตอนหนึ่งนายกองดาบทะลวงฟันผู้กล้าก็เสียท่า ถูกฟันมือขวาขาดกระเด็นไปพร้อมดาบ ล้มลงกลางสมรภูมิ ทหารได้เข้ามาคุ้มกันผู้บังคับบัญชา แต่ขุนรัตนาวุธกลับสั่งให้ไปรบ ก่อนที่จะหมดสติไป

เมื่อถูกหามเข้าไปในค่ายหลวง พอฟื้นขึ้นมา ขุนรัตนาวุธก็พบว่าข้อมือขวาของตัวที่ขาดแม้จะมีผ้าพันไว้ ก็ยังมีเลือดไหลออกมา จึงเอานิ้วชี้ของมือซ้ายมาป้ายเลือด แล้วเขียนลงบนผ้าปูที่นอนสีขาว เป็นตัวอักษรเฉไปเฉมาว่า

“จงรักษาลาดหญ้าไว้ด้วยชีวิต”

ตอนแรก เมื่อกรมพระราชวังบวรฯทรงทราบว่าขุนรัตนาวุธไม่ยอมไปช่วยกองมอญของพระยาเจ่งตามนัด ทำให้กองมอญอาสาต้องเสียทีแก่พม่า ก็ทรงคาดโทษไว้ว่าจะต้องประหารชีวิตลูกเดียว แต่ต่อมาทรงทราบปฏิบัติการกองโจรของขุนรัตนาวุธทั้ง ๒ กอง ที่ส่งเข้าไปทำลายเส้นทางลำเลียงของพม่าถึงเมาะตะมะ ทั้งยังตัดการลำเลียงเสบียงและรังควาญกองทัพพม่าที่ท่าดินแดงและสามสบ ทำให้พม่าเคลื่อนพลตามกันมาไม่ทัน ซึ่งมีผลต่อชัยชนะของกองทัพไทย ก็ทรงให้อภัย ครั้นได้รับกราบทูลว่าขุนรัตนาวุธตามพม่าเข้ามาถึงหน้าค่ายหลวง และนำกองทหารดาบเข้าทะลวงฟันกับพม่าจนข้อมือขาด ทั้งยังมีใจเอาเลือดเขียนสั่งให้รักษาแผ่นดินลาดหญ้าไว้ จึงทรงสงสารและเวทนาที่เป็นทหารคู่พระทัยมา เสด็จไปเยี่ยมถึงเตียงพยาบาล ทรงพบว่าพระยาเจ่งมาเยี่ยมอยู่แล้ว ขุนรัตนาวุธเห็นองค์แม่ทัพเสด็จมาก็ปลื้มปีติ ยกมือซ้ายกับมือด้วนขึ้นถวายบังคม กรมพระราชวังบวรฯก็พยักพระพักตร์รับ แสดงถึงทรงอภัยโทษในความผิดพลาดของทหารกล้า และชื่นชมในตัวของทหารคู่พระทัย

เรื่องราววีรกรรมของขุนรัตนาวุธ แม้จะไม่มีบันทึกไว้ในพงศาวดาร เช่นเดียวกับนักสู้ในประวัติศาสตร์อีกหลายชีวิต แต่นักรบที่ร่วมเป็นร่วมตายกับท่านมา ก็เล่าเรื่องประทับใจนี้ให้ลูกหลานฟัง และถ่ายทอดต่อๆกันมาจนถึงทุกวันนี้

และนี่ก็คือเรื่องราวของชีวิตในประวัติศาสตร์อีกท่านหนึ่ง ซึ่งทำให้เรามีแผ่นดินอยู่อาศัยกันด้วยความสงบสุขในวันนี้ และยังยืนถือดาบอยู่หน้ากองพลทหารราบที่ ๙ ค่ายสุรสีห์ ลาดหญ้า ในปัจจุบัน
กำลังโหลดความคิดเห็น