วงดนตรีสุนทราภรณ์ ถือเป็นวงดนตรีที่มีมายาวนานที่สุดในประเทศไทย นายแก้วขวัญ วัชโรทัย เลขาธิการพระราชวังและประธานมูลนิธิสุนทราภรณ์ ได้กล่าวถึงวงสุนทราภรณ์ในงานฉลองครบรอบ 70 ปีของการก่อตั้งวงสุนทราภรณ์เมื่อปี 2552 ว่า วงสุนทราภรณ์ถือเป็นวงในราชสำนักเพราะได้บรรเลงเพลงดนตรีถวายต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลายสิบปี จน “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” ถึงแก่กรรม และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ได้เสด็จฯ ไปพระราชทานเพลิงศพด้วยพระองค์เองที่วัดเทพศิรินทร์ นับเป็นศิลปินคนที่ 2 และคนสุดท้ายที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ
ครูเอื้อ สุนทรสนาน ผู้ก่อตั้งวงสุนทราภรณ์ เจ้าของฉายา “ขุนพลเพลงแห่งกรุงรัตนโกสินทร์” ถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีคุณูปการทางด้านดนตรีของประเทศไทยและของโลกจนได้รับรางวัลบุคคลสำคัญและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ (Personality of the year) จาก UNESCO
วงดนตรีสุนทราภรณ์จะมีอายุครบรอบ 78 ปีในเดือนพฤศจิกายน 2560 นี้ โดยเป็นวงเอกชนวงเดียวที่ดำเนินการต่อเนื่องยาวนานที่สุดในประเทศไทยและยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย
อติพร สุนทรสนาน (เสนะวงศ์) เป็นบุตรสาวและเป็นทายาทของครูเอื้อ สุนทรสนาน ปัจจุบันดำรงตำแหน่งกรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระราชอุปถัมภ์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เป็นเจ้าของและผู้อำนวยการวงดนรีสุนทราภรณ์ และเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนสุนทราภรณ์
เธอได้เล่าถึงความผูกพันและภาพความทรงจำระหว่างในหลวงรัชกาลที่ 9 และครูเอื้อ สุนทรสนาน ให้ฟังว่า คุณพ่อได้เข้าเฝ้าพระองค์ท่านครั้งแรก เมื่อเดือนเมษายน 2489 ก่อนที่พระองค์จะเสด็จขึ้นครองราชย์ ตอนนั้นยังทรงเป็นสมเด็จพระอนุชาธิราช ตามเสด็จรัชกาลที่ 8 กลับมาเยี่ยมเมืองไทย และตอนนั้น พระองค์ท่านทรงเริ่มสนพระทัยในเรื่องการพระราชนิพนธ์เพลงแล้ว พอกลับมา พระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งกับ “ท่านจักร” ซึ่งตอนนั้นยังเป็นหม่อมเจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ แต่ตอนนี้เป็น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ
“พอท่านทิวงคต พระเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงสถาปนาเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอฯ แต่ตอนโน้นยังเป็นหม่อมเจ้าอยู่ เราก็เรียกท่านว่า “ท่านจักร” ซึ่งสนิทกับคุณพ่อมาก เพราะว่าท่านก็แต่งเพลงร่วมกับคุณพ่อด้วย ท่านแต่งเพลงไว้กับวงดนตรีสุนทราภรณ์ไว้หลายเพลงซึ่งเป็นเพลงที่เพราะมาก อย่างเพลงในละคร “สุนทราภรณ์ เดอะ มิวสิคัล” ก็มีเพลงหนึ่งชื่อว่า “ฝากรัก” ที่นางเอกขับร้อง”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จนิวัตกลับพร้อมกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 พระองค์ก็ทรงรับสั่งกับท่านจักรว่า พระองค์ทรงอยากจะรู้จักกับนักดนตรีของไทยสักคนหนึ่งซึ่งมีความสามารถในการเล่นดนตรีและแต่งเพลงด้วย ก็ให้ท่านจักรแนะนำ
“พอดีท่านจักรกับคุณพ่อสนิทกัน เพราะว่าเคยแต่งเพลงร่วมกันมา ท่านจักรก็เลยแนะนำ พระองค์จึงทรงเสด็จพระราชดำเนินไปที่กรมประชาสัมพันธ์สมัยนั้นซึ่งอยู่ตรงสนามหลวง คุณพ่อได้รับเสด็จกราบพระบาท พระองค์ท่านก็ทรงรับสั่งเรื่องเพลงว่าอยากจะให้คุณพ่อช่วยดูเพลงที่พระองค์ท่านทรงพระราชนิพนธ์ไว้เป็นเพลงแรก ก็คือเพลง “แสงเทียน” พระองค์ทรงพระราชทานให้คุณพ่อไปดูก่อนว่าใช้ได้ไหม จะต้องแก้อะไรไหม แต่เนื่องจากเพลงพระราชนิพนธ์แสงเทียนค่อนข้างจะเป็นเพลงเศร้า ท่านจักรก็เลยแนะนำว่าอย่าถ่ายทอดสู่ประชาชนฟังเป็นเพลงแรกเลยเพราะว่าเป็นเพลงค่อนข้างเศร้า ให้หาเพลงที่สนุกสนานรื่นเริงพระราชทานออกมาก่อนดีกว่า ก็เลยพระราชทานเพลง “ยามเย็น” กับ “ใกล้รุ่ง” ออกมาก่อน แต่จริงๆ แล้ว สองเพลงนี้ทรงพระราชนิพนธ์หลังเพลงแสงเทียน
“และช่วงนั้นคุณพ่อก็จะเป็นผู้ถ่ายทอดเป็นคนแรกตลอด เพราะคุณพ่ออ่านโน้ตได้ เวลาพระราชทานมาจะเป็นโน้ตดิบ คือโน้ตที่ยังไม่ได้เรียบเรียงเสียงประสาน ดังนั้น คุณพ่อก็จะเป็นคนแรกเสมอที่จะถ่ายทอดบทเพลงพระราชนิพนธ์เหล่านี้มาเป็นคนแรก แต่เมื่อถึงเวลาบันทึกเสียง คุณพ่อจะเลือกว่าให้เป็นนักร้องของสุนทราภรณ์คนไหนบันทึก คุณพ่อบันทึกเสียงเพลงเดียวก็คือเพลงแสงเทียน ส่วนเพลงอื่นๆ ท่านก็จะมอบให้นักร้องคนอื่นบันทึกเสียงค่ะ แผ่นเสียงที่สุนทราภรณ์บันทึกถวายก็ยังมีทั้งแผ่นเล็กๆ สปีด 45 และตอนหลังก็มารวบรวมเป็นแผ่นใหญ่แบบลองเพลย์ แต่ทั้งหมดนี้ที่สุนทราภรณ์บันทึกไว้ในช่วงที่คุณพ่อยังมีชีวิตอยู่ จะโดยพระบรมราชานุญาต คือจะเสด็จฯ มากำกับเองหมด ช่วงต้นก็จะเป็นวงสุนทราภรณ์บรรเลงตลอด เพราะสมัยนั้นวงดนตรีวงอยู่ไม่กี่วง
“นอกจากจะได้รับใช้ทางด้านบทเพลงพระราชนิพนธ์ในการออกสู่ประชาชนแล้ว ทุกปีคุณพ่อจะต้องเข้าไปเล่นดนตรีถวายในวันที่ 28 เมษายน ซึ่งเป็นวันบรมราชาภิเษกที่พระราชวังไกลกังวล ก็จะเป็นประเพณีของสุนทราภรณ์เลยว่าวันที่ 27 ก็จะต้องเดินทางไปและไปพักที่หัวหิน และวันที่ 28 ก็จะเข้าเฝ้า แล้วพอตกเย็นก็เป็นวงสุนทราภรณ์ที่บรรเลงเพลงถวาย และพระองค์ท่านก็จะเสด็จมาร่วมทรงดนตรีด้วยจนกระทั่งถึงเช้ามืดของวันรุ่งขึ้น
“และก็เป็นประเพณีอีกเหมือนกันที่จะเสด็จโดยทางเรือ กองทัพเรือจะมีเรือใบเข้ามาถวายพระองค์ท่าน จะเสด็จทรงดนตรี ไม่แซกโซโฟนก็คลาริเน็ต และท่านก็ทรงลุยลงทะเลตอนเช้ามืดของวันที่ 29 นักดนตรีทุกคนก็จะลงลุยตามลงไปในทะเล ไปเล่นถวาย จนกระทั่งพระองค์ท่านเสด็จขึ้นเรือไปกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และเสด็จออกทะเลไป จึงเสร็จภารกิจของวงสุนทราภรณ์แล้วก็กลับ ซึ่งเป็นอย่างนี้ เป็นประเพณีทุกปีไม่เคยขาดเลย
“ดิฉันก็เคยตามคุณพ่อไปด้วยเช่นกัน แต่จะไม่ได้อยู่ช่วงกลางคืน เพราะตอนนั้นยังเด็ก แต่จะมีเข้าเฝ้าช่วงเช้าที่พระองค์จะเสด็จลงทรงบาตรกับสมเด็จพระนางเจ้าฯ เพราะเป็นวันบรมราชาภิเษก ซึ่งช่วงเช้าจะได้เข้าเฝ้าพร้อมกับคุณแม่และจบลงตรงนั้น เวลาพอตกกลางคืนคุณพ่อถึงจะไปเข้าเฝ้าเวลาคุณพ่อทำงานส่วนใหญ่ดิฉันกับคุณแม่จะไม่ได้ไปด้วย ก็จะมีคุณพ่อกับวงเท่านั้น เพราะเราก็ยังเด็กเลยไม่ได้เข้าเฝ้า เพราะต้องอยู่จนกระทั่งเช้าเลย แต่ก็มีโอกาสได้เข้าเฝ้าอยู่หลายครั้งในสมัยนั้น มีความประทับใจและมีความรู้สึกว่าขนลุกทุกครั้งที่มีโอกาสได้เข้าเฝ้า
“อาจจะเป็นเพราะว่าเราถูกเลี้ยงมาแบบคนโบราณ เรามีความรู้สึกว่าท่านเป็นสมมติเทพที่มากกว่าคนธรรมดา จะขนลุกเหมือนประหม่าแล้วก็จะกลัวมาก จำได้ว่าตอนที่จะไปเรียนต่อที่ประเทศอังกฤษ คุณพ่อพาไปเข้าเฝ้าทูลลา กราบฝ่าพระบาทและท่านก็รับสั่งด้วยว่าจะไปเรียนอะไร อย่างไร จำได้ว่าตอบไม่ถูก ตอบไม่เป็น ไม่ทราบว่าจะตอบว่าอะไร และตอนเรียนจบกลับมาก็ได้เข้าเฝ้าเพื่อจะทูลว่าได้กลับมาแล้ว จบมาแล้ว อะไรอย่างนี้น่ะค่ะ และตอนแต่งงานก็ได้ไปรับพระราชทานน้ำสังข์ที่วังไกลกังวลที่หัวหินค่ะ
“นอกจากนี้พระองค์ยังทรงยังเคยพระราชทานเพลงพระราชนิพนธ์เป็นเพลงบรรเลงไม่มีเนื้อร้อง และพระราชทานให้สุนทราภรณ์เมื่อครบรอบ 20 ปีแห่งการก่อตั้งวงเมื่อปี พ.ศ. 2502 ทรงพระราชทานให้เป็นเพลงประจำวง และคุณพ่อก็ขอพระบรมราชานุญาตั้งชื่อเพลงว่าให้ชื่อเพลง “พระมหามงคล” เพื่อจะได้เป็นมงคลกับวงดนตรีสุนทราภรณ์ทุกครั้งที่บรรเลง และจะบรรเลงทุกครั้งที่เปิดวง เป็นเพลงโหมโรงของวงอยู่จนทุกวันนี้
“ในงานที่สวนอัมพร “งานสังคีตมงคลฉลอง 20 ปีบทเพลงพระราชนิพนธ์” ยังได้พระราชทานธง “ภปร” สีเหลืองซึ่งวงดนตรีสุนทราภรณ์จะอัญเชิญเหนือศีรษะทุกครั้งที่มีการบรรเลงในโอกาสพิเศษและงานสำคัญต่างๆ เท่านั้น และเมื่อวงดนตรีสุนทราภรณ์มีอายุครบ 30 ปี พระองค์ก็พระราชทานพระราชวโรกาสให้คุณพ่อนำนักร้องและนักดนตรีจากโรงเรียนสุนทราภรณ์ โปรดให้เข้าเฝ้าฯ ณ ตำหนักจิตรลดารโหฐาน ทรงพระสุหร่าย ทรงเจิม และทรงพระราชทาน “เหรียญเสมาทองคำ” แก่หัวหน้าวงและ “เสมาเงิน” แก่นักดนตรียุคก่อตั้งของวงสุนทราภรณ์ด้วย”
คุณอติพรยังเล่าอีกว่า “ครูเอื้อ สุนทรสนาน” จะเข้าเฝ้าบ่อยมากเมื่อตอนคุณอติพรเด็กๆ
“จำได้ว่าสมัยก่อน บ้านที่เคยอยู่ (ปัจจุบันนำมาทำเป็นที่ตั้งของมูลนิธิสุนทราภรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์) อยู่ตรงข้ามกับวังสวนจิตรฯ เพราะฉะนั้น คุณพ่อก็แค่เดินข้ามถนนและก็เข้าเฝ้า อาทิตย์หนึ่งเข้าเฝ้าสองสามวัน ทุกครั้งที่ทราบว่าพระองค์เสด็จลงมาที่สถานีวิทยุ อ.ศ. เพื่อทรงดนตรี คุณพ่อก็จะเข้าไปพร้อมด้วยแซกโซโฟน เพราะเวลาคุณพ่อเล่นดนตรีถวายหรือร่วมกับพระองค์ท่าน คุณพ่อจะใช้แซกโซโฟนเพราะพระองค์ท่านทรงแจ๊ส ไวโอลินเป็นเครื่องดนตรีคลาสสิก คุณพ่อจะไม่ใช้ไวโอลิน ก็จะใช้แซกโซโฟนเป่าถวายตลอด ยังมีรูปเลยค่ะ ที่เข้าเฝ้าประจำที่จำได้คือวันพุธกับวันศุกร์ซึ่งเป็นวันทรงดนตรี และบางครั้งคุณพ่อก็จะให้นักร้องตามเข้าไปคนสองคนเพื่อไปร่วมขับร้องเพลง และกลับมา คุณพ่อก็จะมาเล่าให้ฟังตลอดว่าพระองค์ทรงเล่นดนตรีเพลงอะไร วันนี้สมเด็จพระนางเจ้าฯเสด็จลงไหม มีใครเข้ามาร้องเพลงถวายบ้าง
“หน้าที่อีกอันของวงสุนทราภรณ์อีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อสมัยโน้นน่ะค่ะ จะมีภาพยนต์ส่วนพระองค์เพื่อเป็นพระราชกรณณียกิจ ก็จะมีคุณแก้วขวัญ, คุณขวัญแก้ว วัชโรทัย ตามเสด็จ และจะไปถ่ายหนังพระราชกรณียกิจทั่วประเทศ เสร็จแล้วทุกปีก็จะมีการนำภาพยนต์ส่วนพระองค์เพื่อเผยแพร่พระราชกรณียกิจมาฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงเป็นประจำ รู้สึกจะฉายเป็นอาทิตย์ๆ เป็นเดือนเลยนะคะ และวงดนตรีสุนทราภรณ์ก็จะไปเล่นสลับ ดนตรีจะเล่นก่อน พอจบดนตรีชั่วโมงหนึ่งก็จะฉายภาพยนต์ส่วนพระองค์
“ดินฉันยังนึกเสียดายเลยว่าเราไม่ได้ทำเป็นประเพณียาวนานมาถึงสมัยนี้ เพราะฉะนั้นคนรุ่นหลังจะไม่ค่อยทราบถึงพระราชกรณียกิจ สมัยโน้นจะฉายเป็นประจำทุกปีเลยค่ะ และจะฉายที่ศาลาเฉลิมกรุงและให้วงดนตรีต่างๆ เวียนกันเข้าไปเล่นประกอบ แต่สุนทราภรณ์จะได้เล่นบ่อยที่สุดทุกปี วงสุนทราภรณ์ถือว่าเป็นวงประจำพระราชสำนักเลย เพราะตอนที่ตั้งมูลนิธิสุนทราภรณ์แล้ว คุณแก้วขวัญ วัชโรทัย ซึ่งตอนนั้นท่านเป็นเลขธิการพระราชวัง ท่านมาเป็นประธานคนแรก ท่านก็เขียนให้ว่าที่ท่านรับเป็นประธานเพราะว่าถือว่า วงดนตรีสุนทราภรณ์เป็นวงดนตรีในราชสำนักซึ่งบรรเลงถวายมาตั้งแต่พระองค์ท่านก่อนขึ้นครองราชย์ และยาวนานต่อเนื่องมาตลอด”
เพลงพระราชนิพนธ์ที่ครูเอื้อ สุนทรสนาน รักและผูกพันมากที่สุดคือ “เพลงแสงเทียน” กับเพลง “ความฝันอันสูงสุด”
“เพลงพระราชนิพนธ์ที่คุณพ่อรักและผูกพันมากที่สุดคือเพลง “แสงเทียน” กับเพลง “ความฝันอันสูงสุด” เหตุผลที่ชอบเพลงแสงเทียน คุณพ่อบอกว่าเพราะเป็นบทเพลงแรกที่ได้รับพระราชทานมา และคุณพ่อก็เลือกที่จะร้องเพลงนี้เอง ดิฉันไม่แน่ใจว่าจะพูดได้หรือเปล่าว่า ในวันพระราชทานเพลิงศพคุณพ่อ สมเด็จพระเทพฯ ที่ท่านเสด็จฯ มา ก็ได้ทรงรับสั่งกับคุณแม่และดิฉันว่า “เพลงแสงเทียนเหมือนกับเป็นเพลงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งพระราชทานให้กับครูเอื้อโดยเฉพาะ เพราะว่าใครเอาไปร้องก็ไม่ลึกซึ้งเหมือนกับที่ครูเอื้อเคยถ่ายทอดไว้” และคุณพ่อก็ผูกพันกับเพลงนี้เหลือเกิน เป็นเพลงพระราชนิพนธ์เพลงเดียวที่คุณพ่อร้องยาวนานจนกระทั่งเสียชีวิตเลย
“อีกเพลงคือ “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งก็แปลกมาก ตอนนั้นดิฉันกลับจากนอกแล้ว และคุณพ่อได้ทราบมาว่าจะได้รับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำเกียรติยศ คุณพ่อไม่ได้ส่งเพลงเข้าประกวด เพราะคุณพ่อจะไม่เชื่อเรื่องประกวด คุณพ่อเป็นศิลปินที่โบราณมาก คุณพ่อเคยพูดว่าบทเพลงของคุณพ่อจะไม่ให้ใครมาตัดสิน คณะกรรมการอะไรก็มาตัดสินเพลงให้ไม่ได้ คนที่ตัดสินบทเพลงท่านได้คือมหาประชาชน คนทั้งประเทศที่ได้รับฟังบทเพลงของท่าน แล้วถ้าเขาชอบและเพลงท่านดีจริงๆ เพลงท่านจะอยู่ต่อไปได้ แต่บทเพลงที่ตัดสินด้วยคณะกรรมการแค่ไม่กี่คนกลุ่มเดียว เมื่อเวลาผ่านไปไม่กี่ปี เพลงนั้นก็จะถูกลืมหายไป เพราะว่าไม่ติดหูประชาชน
“เพราะฉะนั้น ท่านบอกว่าเพลงของศิลปินควรจะต้องให้ตัดสินด้วยประชาชน ไม่ใช่ด้วยบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่ง คุณพ่อจึงไม่เคยส่งเพลงเข้าประกวด
แต่ในปีนั้น คณะกรรมการบอกว่าคุณพ่อมีบทเพลงที่แต่งและคิดเยอะมาก ก็เลยจะให้คุณพ่อเข้ารับพระราชทานแผ่นเสียงทองคำเกียรติยศ วันนั้นดิฉันจำได้ว่ามีวงดนตรีสุนทราภรณ์และวงดนตรีอีกสองวง วงสุนทราภรณ์ตั้งตรงกลางและอีกสองวงประกบสองด้านที่สวนลุมฯ ช่วงบ่ายก็มีมหาดเล็กจากในวังนำโน้ตส่งมาให้คุณพ่อ ก็ปรากฎว่าเป็นเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ซึ่งยังเป็นโน้ตดิบๆ อยู่ ยังเป็นโน้ตลายพระราชหัตถ์ เป็นเนื้อร้องแผ่นหนึ่งและโน้ตอีกแผ่นหนึ่ง
“จำได้ว่าคุณพ่อมาเร่งพวกเรา มีคุณแม่กับดิฉันให้แต่งตัวเพื่อที่จะไปที่สวนลุมฯ จะต้องไปซ้อม เนื่องจากว่าจะต้องไปเล่นถวายคืนนี้ พอไปถึงก็ให้วงดนตรีก๊อบปี้ไปคนละแผ่นเลย แต่ยังเป็นโน้ตดิบๆ อยู่ คุณพ่อก็ต้องร้องถวายเองและเล่นดนตรีด้วย คุณพ่อทำได้ทั้งสองด้าน วันนั้นคุณพ่อก็เลยร้องเพลงนี้ถวาย นั่นก็เลยเป็นอีกบทเพลงหนึ่งที่คุณพ่อประทับใจ ประทับใจเพราะว่าความลึกซึ้งของบทเพลงนี้เป็นอีกเพลงหนึ่งที่พูดถึงคนที่มีความรักชาติบ้านเมือง อย่างไรก็ตาม เมื่อนำไปบันทึกเสียงลงแผ่น คุณพ่อก็ให้นักร้องดาวรุ่งของวงมาบันทึกเสียงร้อง คือ คุณยรรยงค์ เสลานนท์”
หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จสวรรคต ทางวงดนตรีสุนทราภรณ์ได้ทำอะไรเป็นการถวายความอาลัยและรำลึกถึงพระองค์ท่านบ้าง
ตั้งแต่เสด็จสวรรคต เราก็ได้มีการบรรเลงเพื่อถวายความอาลัยมาหลายครั้ง ครั้งแรกเลยบรรเลงให้กับกระทรวงวัฒนธรรมเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว เป็นคอนเสิร์ตเพลงพระราชนิพนธ์อย่างเดียวเลย แล้วพอมาช่วงเดือนธันวาคม การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ขอให้เราไปทำบทเพลงพระราชนิพนธ์อีก เดือนมกราคมก็ทำให้กับสถานีวิทยุ อสมท. คือสถานีวิทยุ อสมท. ไปจัดงานถ่ายทอดสดอยู่ที่หอประชุมธรรมศาสตร์หลายอาทิตย์ติดกัน วงดนตรีสุนทราภรณ์ก็ได้ไปบรรเลงเพลงพระราชนิพนธ์ที่นั่น และมีบทเพลงที่เกี่ยวกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์ สุนทราภรณ์จะมีครบหมดทุกพระองค์แต่งไว้ครบหมด
และพอพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต ก็มีบทเพลงชื่อว่า “น้อมเกล้าถวายอาลัย” ซึ่งบทเพลงนี้ ทางกระทรวงวัฒนธรรมก็ได้เลือกให้เอาไปใส่ในซีดีที่จะทำแจกในช่วงถวายพระเพลิง รวมทั้งเพลงแรกที่สุนทราภรณ์แต่งถวายในปี พ.ศ. 2494 คือเพลง “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” เพลงนี้มีประวัติศาสตร์มากว่าเป็นบทเพลงแรกของรัชกาลที่ 9 แล้วก็ตอนช่วงแรกๆ ที่พระองค์ท่านจะเสด็จไปๆ มาๆ ระหว่างเมืองไทยกับเมืองนอก ก่อนที่จะบรมราชาภิเษก เพราะว่าท่านขึ้นครองราชย์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 ที่เรียกว่าทรงราชย์ เพราะยังไม่ได้บรมราชาภิเษก
เมื่อพระองค์ท่านเสด็จนิวัติพระนครเป็นการถาวร ในปี 2494 เพลงนี้ก็ถูกแต่งขึ้นเพื่อเป็นการรับเสด็จพระองค์ท่านโดยที่วงสุนทราภรณ์ได้ไปบรรเลงที่ลานจอดเครื่องบินพระที่นั่ง และได้บรรเลงเพลงนี้ถวาย ก็ถือเป็นเพลงแรกของรัชกาลชื่อว่า “ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น” กระทรวงวัฒนธรรมจึงขอสองเพลงนี้นำไปใส่ในซีดี
หลังจากครูเอื้อถึงแก่กรรมไปแล้ว คุณอติพรยังได้สืบสานงานและความเป็นสุนทราภรณ์อย่างไรบ้าง
ช่วงนั้น ดิฉันก็ทำโรงเรียนต่อแล้วก็ทำวงดนตรีต่อค่ะ และต่อมาก็ตั้งมูลนิธิสุนทราภรณ์เมื่อปี 2545 เมื่อปีที่แล้ว สมเด็จพระเทพพระรัตนฯ ก็ทรงรับมูลนิธิไว้ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนอกจากนั้นก็จะมีชมรมศิษย์สุนทราภรณ์ และมีชมรมต่างๆ ทั่วประเทศ 21 แห่ง และที่สหรัฐอเมริกา 1 แห่ง เราก็ยังสืบสานงานของสุนทราภรณ์ต่อเนื่องมา ก็ยังดีใจที่ว่ายังมีผลงานออกมา แล้วก็ดีใจที่คนรุ่นหลังมีความต้องการที่จะเข้ามาศึกษางานตรงนี้ด้วย เพราะที่โรงเรียนสุนทราภรณ์ การดนตรีตอนนี้ เรามีเด็กวัยตั้งแต่ 9 ขวบที่มาเรียนกลุ่มใหญ่ประมาณเกือบ 10 คนแล้ว จากที่ไม่เคยมีเลย ตั้งแต่ตั้งมาก็จะเป็นคนที่เป็นสาวแล้วโตแล้วก็มาถึงคนแก่เลย คนกลางคนตั้งแต่ 50 ขึ้นไปจะเยอะมาก แต่มาช่วงหลังไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้น เด็กรุ่นใหม่ แล้วก็จะเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ไม่ฟังเพลงอื่น “ฉันจะต้องฟังแต่เพลงสุนทราภรณ์” น่ารักมากตอนนี้มีอยู่ 7 คน เมื่อวันก่อนนี้เพิ่งมาสมัครอีกคนหนึ่งเป็นเด็กเรียนอินเตอร์ แล้วคุณแม่เป็นห่วงว่าจะพูดภาษาไทยไม่ชัดเลยเอามาฝากเรา
เรามีนักเรียนหลายคนที่มีพื้นเพที่เป็นคนจีนซึ่งเวลาพูด เขาจะพูดภาษาไทยไม่ชัด แต่เวลาร้องเพลงสุนทราภรณ์ เขาร้องชัดมาก แล้วเวลากลับไปพูด ก็พูดไม่ชัดใหม่ซึ่งดิฉันเองก็ยังแปลกใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรไม่รู้ อันนี้เป็นอะไรที่แปลก และตอนนี้เด็กพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เริ่มคิดแล้วว่าต้องปลูกฝังภาษาไทยผ่านเพลงสุนทราภรณ์ เพราะว่าโรงเรียนภาษาไทยอ่อนแอมาก หลักสูตรภาษาไทยเราใช้ไม่ได้เลย เราเลิกเรียนภาษาไทยกันไปนานแล้ว เราไปเรียนวิชาอะไรก็ไม่รู้ประหลาดๆ เยอะแยะไปหมด แต่รากเหง้าภาษาไทยนี่เด็กรุ่นใหม่ พอให้มาเรียนเพลงมาร้องเพลงสุนทราภรณ์ ต้องมาอธิบายความหมายอธิบายคำ อย่างเพลงง่ายๆ อย่างเพลงพี่รักเจ้ายิ่งกว่าปลารักน้ำยังพอได้ กุญชรหวงงา มฤคาหวงเขา เด็กมาถามมันคืออะไร? แล้วเดี๋ยวนี้เขาก็เลยใช้บทเพลงสุนทราภรณ์มาเป็นบทเรียนเพื่อให้ฝึกภาษาไทยและก็ให้เรียนรู้ถึงวรรณคดีไทย เพราะว่าเรามีเพลงจากวรรณคดีเยอะมาก
และแปลกมากอีกอย่างหนึ่ง หลังจากคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว 20 - 30 ปีแล้วก็จะมีเพลงของสุนทราภรณ์ที่คุณพ่อแต่งไว้ตามที่ต่างๆ โผล่ขึ้นมาอยู่เรื่อยที่เราไม่รู้เลย พวกเพลงเฉพาะกิจเยอะมากเหมือนกันที่มาโผล่ทีหลังซึ่งเราไม่ได้รวบรวมไว้ ส่วนใหญ่เพลงเฉพาะกิจจะเล่นเพียงหนเดียวหรือสองหนแล้วก็จะไม่ได้เล่นอีก เฉพาะกิจหมายถึงแต่งให้เฉพาะงานเขา
ความที่คุณพ่อท่านจินตนาการกว้างไกลมาก เวลาเล่นดนตรีงานให้ใคร งานวันเกิด งานแต่งงาน คุณพ่อก็จะแต่งเพลงพิเศษให้เฉพาะคนเลย ว่าเอาข้อมูลมา เจ้าบ่าวเจ้าสาวเป็นใคร ท่านก็จะแต่งให้และก็เล่นในงานแต่งงานตรงนั้นแล้วก็จบไป แล้วก็ไม่ได้เล่นอีก แล้วก็มาโผล่ทีหลัง หลังจากคุณพ่อเสียชีวิตไปแล้ว ทุกคนก็บอกว่า อ้าว! มีเจ้าหนึ่งจ้างวงสุนทราภรณ์มาเล่นในงานฉลองครบแต่งงาน 40-50 ปี แล้วเขาก็บอกว่าอ้าวแล้วเพลงเขาล่ะที่ครูเอื้อแต่งให้ โห...ตายแล้วสิ ทีนี้เราต้องมานั่งค้นหาว่ามันไปอยู่ที่ไหน สรุปว่าก็เจอบ้างไม่เจอบ้าง (ยิ้ม)
ส่วนเพลงเฉพาะกิจที่ดิฉันประทับใจมากก็คือเพลงของ “ขจิตพรรณ ไทยเพ็ชร” ท่านอายุมากแล้ว ประมาณ 80 ปี และท่านยังทำงานอยู่ในวงการอยู่เลย ท่านมีเพลงชื่อ “เสน่ห์ขจติพรรณ” ท่านมีเนื้อร้องนะ เพราะความที่ท่านช่างเก็บ ท่านมีเนื้อร้องเก็บไว้ที่คุณพ่อเป็นคนแต่งให้ชื่อ “เสน่ห์” คือชื่อสามีท่าน ส่วน “ขจิตพรรณ” คือชื่อของท่าน คุณเสน่ห์เสียชีวิตไปนานแล้ว แต่คุณขจิตพรรณ พอถึงวันครบรอบแต่งงานก็ยังนำเพลงของสุนทราภรณ์ไปเล่น ยังระลึกถึงและยังประทับใจ ซึ่งอันนั้นดิฉันว่าเป็นความหัศจรรย์มาก
ทราบว่าคุณอติพรมีบุตรสาวสองคน ตอนนี้ก็ได้มาช่วยทำงานและช่วยสืบสานงานสุนทราภรณ์ด้วย
ค่ะ ตอนนี้บุตรสาวทั้งสองคนเข้ามาตั้งแต่ก่อนงาน 100 ปีคุณพ่อ การทำงาน 100 ปี ของคุณพ่อเป็นการทำงานอะไรที่มาจากคนอื่นทั้งนั้นเลย ดิฉันบอกตรงๆ เวลาคนมาชมบอกว่า โหคุณอติพรดีมาก เก่งมากเลยทำงานให้คุณพ่อ แต่จริงๆ แล้วเป็นแฟนเพลงของคุณพ่อทั้งนั้นเลยที่มาจุดประกายให้ดิฉัน เพราะว่าลูกเองเวลาไปเจอแฟนเพลงคุณพ่อ เขายังกลับมาพูดเลยว่า แม่ รู้สึกไม่ดีเลย เพราะลูกเรียนต่างประเทศทั้งคู่ เขารู้สึกผิดมากเลยค่ะ ที่แฟนเพลงเขาหลงใหลใฝ่ฝันผลงานคุณตา เขาบอกว่าเวลาคุณตาไปเล่นที่สวนลุมฯ เขาจะต้องเป็นคู่ที่ไปเต้นอยู่ข้างหน้าตลอดเพื่อจะฟังคุณตาร้อง เพื่อจะดูคุณตายิ้ม เวลาคุณตาร้องเพลงเสร็จ และก็มีตั้งหลายคู่ที่แบบพบกันด้วยเพลงสุนทราภรณ์ บอกว่าเป็นนิสิตนักศึกษาสถาบันเดียวกันแล้วก็สถาบันพาไปเที่ยวเชียงใหม่ นั่งไปรถคันเดียวกันแล้วก็ลุกขึ้นร้องเพลงสุนทราภรณ์ก็ปรากฏว่าทั้งคู่ชอบเพลงสุนทราภรณ์ ต่อเพลงสุนทราภรณ์กันได้ตลอด จากนี้ไปจนถึงเชียงใหม่ก็เลยแต่งงานกันอะไรอย่างนี้ (ยิ้ม)
แล้วลูกก็เลยบอกว่าเขาฟังมากๆ เขาก็เลยมีความรู้สึกว่าเราเป็นทายาท เราเป็นเลือดเนื้อเชื้อไข เราจะไม่ทำอะไรให้คุณตาในขณะที่คนทั้งประเทศเขาหลงใหลใฝ่ฝันเนี่ย มันไม่ได้ อย่างดิฉันไม่เคยนึกเลยนะว่าคุณพ่อจะเป็นบุคคลสำคัญของโลก จนกระทั่งดิฉันจำได้เลย “คุณมานิจ สุขสมจิตร” จากไทยรัฐโทรศัพท์มาบอกว่า “คุณอติพร ผมขอพูดนะครับว่าคุณอติพรต้องทำให้ครูเอื้อเป็นบุคคลสำคัญของโลกให้ได้” ดิฉันบอกว่าตายแล้ว จะทำได้ยังไงคะ มันเป็นไม่ได้หรอก ไม่ใช่นะคะ เพราะสมัยนั้นบุคคลสำคัญของโลกส่วนใหญ่จะต้องเป็นเจ้านายหมด ต้องเป็นพระมหากษัตริย์หรือเป็นพระบรมวงศ์ศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรีอะไรอย่างนี้ถึงจะได้เป็นกัน แล้วนี่นายเอื้อจะเป็นได้ยังไงนะ เขาก็บอกไม่ได้ ผมขอเลยนะ คุณอติพรยังไงๆ ก็ต้องทำ คุณจะไปรึกษาใครอะไรยังไงได้เลย แต่บอกเลยว่าถ้ามีใครหรือศิลปินคนไหนจะได้เป็นบุคคลสำคัญของโลกของประเทศไทยก็ต้องเป็น “ครูเอื้อ สุนทรสนาน”
ดิฉันก็จึงนำไปปรึกษากับ “ศาสตราจารย์ ดร.เจตนา นาควัชระ” เพราะว่าดิฉันทราบตลอดเวลาเลยว่าท่านชอบเพลงสุนทราภรณ์มาก และตอนที่ท่านสอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ท่านก็ใช้บทเพลงของสุนทราภรณ์ไปสอนนักศึกษาที่ทับแก้ว จ.นครปฐม แล้วก็ไปปรึกษาท่าน ท่านพูดว่า “คุณอติพร ผมเขียนเอง ผมจะเขียนให้เองเรื่องนี้” คือสเต็ปแรกก็จบไปแล้ว เพราะตอนแรกก็ไม่รู้จะไปหาใครเขียนภาษาอังกฤษระดับนี้ ที่จะรู้ลึกซึ้งถึงเพลงสุนทราภรณ์ รู้ลึกซึ้งถึงครูเอื้อ ถามคนแรกก็โป๊ะเชะเลย ท่านบอกว่าผมจัดการเอง คุณไปติดต่อด้านอื่น ตอนนั้นทำมูลนิธิแล้ว ปี พ.ศ. 2545 “ดร.สุวิชญ์ รัศมิภูติ” อดีตอธิบดีกรมศิลปากรซึ่งชอบคุณพ่อมาก บอกว่าอาจารย์คะ ดิฉันไปสืบมาหมดแล้ว ต้องติดต่อกระทรวงวัฒนธรรม ว่ากระทรวงวัฒนธรรมเขาจะยอมรับไหมที่เขาจะเสนอชื่อครูเอื้อ เพราะว่าต้องให้รัฐบาลเป็นคนเสนอ ไม่ใช่เราเสนอ
อาจารย์สุวิชญ์ก็พาไปพบตอนรัฐมนตรีคนนี้ค่ะชื่อท่าน “วีระ โรจน์พจนรัตน์” ตอนนั้นท่านเป็นปลัดพาไปพบ ก็ปรากฏว่าท่านปลัดวีระก็บอกว่า “โอ..ผมคิดว่าเหมาะสมมากเลยครับ เดี๋ยวผมรับเลย ปีไหน ท่านก็ล็อกปีนั้นให้เลย คุณไปทำเรื่องมา เมื่อเสร็จแล้วกระทรวงวัฒนธรรมจะเสนอ” ซึ่งมันก็ไปแบบนี้โดยที่เราเองนี่แหละก็ให้ลูกสองคนช่วยทำ เขาลาออกจากงานกันหมดเลย คนโตเงินเดือนเป็นแสน เขาจบ ตรี โท ที่อังกฤษ จบทางด้านวิศวะคอมพิวเตอร์แล้วก็ไปจบมาร์เก็ตติ้งทำงานอยู่ที่ยูนิลีเวอร์ เงินเดือนเป็นแสนก็ออกหมด ลูกสาวคนเล็กตอนนั้นทำปริญญาโทอยู่ที่อังกฤษกลับมาก็บอกลูกว่าเริ่มเลยนะลูก ทำงานคุณตา ก็ไปพบอาจารย์เจตนา สามปีติดกันในการที่จะทำเรื่องนี้
ทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษหมดแล้วก็ต้องมีที่ปรึกษา ต้องไปหาที่ปรึกษาซึ่งเป็นรองปลัดกระทรวงศึกษาธิการเก่า ซึ่งเคยทำเรื่องยูเนสโก้โดยเฉพาะ ก็ต้องไปติดต่อท่าน ให้ท่านมาช่วยดูช่วยให้คำแนะนำไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่ายๆ เลยนะคะ เพราะว่าอะไรรู้ไหม เขาบอกว่ามันมองเห็นชัด เพราะว่าไม่ได้เป็นนักการเมือง เป็นนายกฯ เป็นเจ้านาย เป็นอะไรแบบนี้ แต่พอมาเป็นนายเอื้อเนี่ย เป็นอะไรที่มันหยิบจับไม่ได้เลยเรื่องเพลงเราก็เลยบอกทดลองดู เราก็ไม่มีความมั่นใจเลยนะ เพราะว่าเป็นแรกของเอเชียเลยด้านนี้ ยังไม่มีใครเคยเสนอเลยในด้านศิลปะวัฒนธรรมดนตรี จริงๆ แล้ว ต้องครบ 3 อย่าง คือ การศึกษา วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ แต่คุณพ่อไม่มีวิทยาศาสตร์ต้องตัดไปเลย แต่ว่าวัฒนธรรมกับการศึกษาเนี่ย คุณพ่อโชคดี เพราะท่านตั้งโรงเรียนและปรากฏว่าเป็นศิลปินคนเดียวที่มีโรงเรียนที่ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการ
เพราะส่วนใหญ่แล้ว ศิลปินไม่มี เขาจะไม่ถ่ายทอด เป็นนิสัยของศิลปินเลยที่จะไม่มีการถ่ายทอด แต่คุณพ่อยอมถึงขนาดเรียกว่าหักดิบกับนักร้องในวงท่านเลยนะที่จะตั้งโรงเรียน เพราะว่าตอนที่คุณพ่อท่านเกษียณแล้ว คุณพ่อจะตั้งโรงเรียน นักร้องรุ่นเก่าของคุณพ่อมาต่อรองว่าถ้าคุณพ่อไม่ตั้งโรงเรียนไม่สร้างศิลปินใหม่ พวกเขาจะช่วยทำงานต่อ แต่ถ้าครูเอื้อตั้งโรงเรียน สร้างศิลปินใหม่ พวกเขาไม่เอาด้วยนะ ซึ่งกว่าสุนทราภรณ์จะสร้างศิลปินรุ่นใหม่ขึ้นมา แทบกระอักเลือดเลย แต่คุณพ่อบอกว่าจะต้องมีโรงเรียน “เพลงของผมจะต้องเรียน ทุกคนจะต้องมาเรียนเพื่อที่จะรู้ว่าผมแต่งเพลงไว้ยังไง ถึงจะมาถ่ายทอดเพลงของผมสู่คนหลังได้ ไม่อย่างนั้นไม่มีทางที่คุณจะทำได้ แค่หยิบเพลงสุนทราภรณ์ขึ้นมา คุณถ่ายทอดไม่ได้ คุณต้องเรียนว่าผมมีเจตนารมณ์อย่างไรในการแต่งเพลงแต่ละเพลง”
ปรากฏว่าพอมาถึงคนรุ่นนี้ จึงได้รู้ว่าเพลงสุนทราภรณ์แต่ละเพลงไม่มีอะไรเหมือนกันเลย ตอนนี้ดิฉันได้เด็กที่เรียนเอก voice อยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ศิลปากรเก่งมาก อายุเพิ่งจะ 17 ปี เขาบอกว่าเพลงสุนทราภรณ์ต้องต่อใหม่ทุกเพลงเลยนะคะแต่ละเพลงไม่มีอะไรเหมือนกันเลย หนูจับเพลงไหนขึ้นมา หนูต้องต่อใหม่ทุกครั้ง แล้วก็ไม่ได้มีอะไรเหมือนกับเพลงที่หนูต่อมาเลย นี่เราต้องเรียนรู้จากคนอื่น เราเองไม่ได้ร้อง เราไม่รู้เลย แต่เราก็มานั่งฟังอยู่อย่างนี้ นักดนตรีก็เหมือนกัน ต้องฝึกเป็นปี กว่าจะเล่นเพลงของสุนทราภรณ์ได้ กทม. เคยขอนักร้องเพลงคลื่นลูกใหม่ซึ่งร้องเพลงไม่ได้ยากเลยชื่อว่าเพลง “ชื่นชีวิต” แต่ว่าให้ไปร้องกับวง กทม. เราก็บอกโอเค ได้ ไม่เป็นไร เพราะว่าเรามีโรงเรียนก็ถือโน้ตไปพอไปวางปั๊บ กทม. บอกโน้ตแบบนี้ผมไม่เคยเห็นเลย ทำไมมันยุ่งยากมากมายขนาดนี้ คุณต้องไปทำให้มันง่ายมาก่อนแล้วผมถึงจะเล่นได้
โน้ตสุนทราภรณ์เวลานี้ ถ้าไม่ใช่นักดนตรีสุนทราภรณ์จะเล่นไม่ได้ ทั้งเนื้อและโน้ตเป็นอะไรที่ไม่ธรรมดาทั้งคู่ เนื้อก็ไม่ธรรมดานะคะ ที่ครูแก้ว ครูสุรัตน์ แต่งไว้ไม่มีเนื้อที่ธรรมดาเลย แล้วยังเจอทำนองที่ไม่ธรรมดาอีก มันเลยเป็นอะไรที่อาจารย์เจตนาท่านได้พูดไว้ว่า “คุณอี๊ด...สุนทราภรณ์เนี่ยจะพบทางลำบากต่อไป ท่านใช้คำว่าสุนทราภรณ์ เพลงสุนทราภรณ์ เป็นอะไรที่ละเอียดอ่อนมาก ท่านใช้คำภาษาอังกฤษว่า refine แต่สมัยนี้ คนที่ refine คนที่มีความละเอียดอ่อนยุคนี้มันไม่มีแล้ว” ทุกคนง่ายๆ ชุ่ยๆ หมด อะไรที่ง่าย อะไรที่ทำได้ง่ายๆ อะไรที่ชุ่ยๆ เพราะฉะนั้น เขามาเจอของยากแบบนี้ เขาไม่แตะไม่ทำ
ดิฉันเคยได้ยินว่านักร้องที่ป็อปปูลาร์มากๆ มีชื่อเสียงมากๆ เลย ถ้าพูดออกมาทกคนรู้จักหมด ไม่มีใครไม่รู้จัก เขาพูดเลยบอกว่า...“ไม่ร้องหรอกเพลงสุนทราภรณ์ร้องทำไม ถ้าร้องได้ดี ก็แค่เสมอตัว หรือไม่อย่างนั้นก็คือเสียคนไปเลย เพราะฉะนั้นไม่แตะ” เพราะว่ามันยากมาก ยังไงก็ไม่สามารถทำได้ดีไปกว่าศิลปินรุ่นเก่า แต่ถ้าทำไปไม่ถึงคนรุ่นนั้น เขาก็เสียคน เพราะฉะนั้นเขาเลยไม่แตะกัน มันยากเกิน ถ้าไม่มีโรงเรียนสอนก็จะสูญหายไปหมด และก็ไม่มีอะไรที่เหมือนของเดิมที่คุณพ่อตั้งใจไว้
สำหรับละครเพลงสุนทราภรณ์ “ขอพบในฝัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” ลำดับที่ 6 มีความแตกต่างจากครั้งที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง และคุณอติพรได้มีส่วนร่วมในการทำงานอย่างไรบ้างคะ
ครั้งที่ผ่านๆ มา จะเป็นละครเพลงรื่นอารมณ์อย่างเดียว แต่คราวนี้จะสอดแทรกความลึกลับเรื่องของวิญญาณเข้าไปด้วย ก็ต้องบอกตรงๆ ว่ามันเป็นการถ่ายทอดที่ยาก การถ่ายทอดที่จะนำนักแสดงซึ่งคนหนึ่งยังมีชีวิตอยู่ แต่อีกคนเหลือแต่วิญญาณเข้ามา ถ้าเผื่อจะทำเป็นหนังเป็นภาพยนต์มันทำได้ง่ายกว่าเยอะเลยใช่ไหมคะ เพราะมันใช้กล้องเข้าไปช่วยค่ะ แต่ว่าพอเป็นฉากสดบนเวที มันเป็นความท้าทาย ดิฉันก็ต้องบอกตรงๆ ว่านับถือทั้งผู้เขียนบทคือ “คุณอั๋น วัชระ” และผู้กำกับคือ “คุณเจี๊ยบ วัชระ” และนักแสดงนักร้องทุกคนที่ได้พยายามกันอย่างเต็มที่ในการที่จะถ่ายทอดความยากตรงนี้ออกมาให้ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ยังแฝงความสนุกสนานซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของ สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล อยู่ด้วย
และแน่นอน เพลงเพราะทุกเพลงและอีกหลายเพลงที่ไม่เคยได้ฟังมาก่อน อย่างเพลง “นางในฝัน” ซึ่งมีความไพเพราะเหลือเกิน และมีอีกเพลงหนึ่งซึ่งหายไปหลายสิบปีแล้ว คือเพลง “วิญญาณรัก” ซึ่งถ่ายทอดไว้โดยศิลปินคนเดียวคือ “คุณมัณฑนา โมรากุล” และในครั้งนี้ก็นำเอามาใส่ เพราะว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับวิญญาณซึ่งมันตรงโป๊ะเชะมาก คุณอั๋นเองก็ยังบอกว่า “มันมหัศจรรย์มาก ผมนึกไม่ถึงเลยว่า แม้กระทั่งเพลงที่เกี่ยวกับวิญญาณ ผีๆ สุนทราภรณ์ก็ยังมีเลย” ดิฉันก็เลยบอกว่ามีเพียบเลยนะคะคุณอั๋นไม่ ได้มีแค่เพลงนี้เพลงเดียวนะคะ มีเป็นสิบเพลงเลยที่เกี่ยวกับเรื่องวิญญาณๆ เนี่ย ซึ่งจะทำให้เห็นถึงความหลากหลายของสุนทราภรณ์มีมากเกินกว่าที่ใครจะนึกได้
เพราะว่าพอตอนแรก เราทำละครขึ้นมาก่อน และเราค่อยๆ เสิร์ชไป ก็ไปเจอ เพลง “วิญญาณรัก” ซึ่งก็มาเข้าเรื่องมันใช่เลยค่ะ สำหรับนักแสดงรุ่นใหม่ที่อายุ 20 ต้นๆ ก็ต้องฝึกฝนหนักขึ้นทางด้านเพลง คือทางด้านแอกติ้ง เรามีมืออาชีพมือโปรของทางผู้กำกับดูแลอยู่แล้ว แต่ว่าทางด้านเพลงก็ต้องบอกว่าพอได้คนรุ่นใหม่มาถ่ายทอดเพลงสุนทราภรณ์ เราต้องทำงานหนักกันมากขึ้นค่ะ คือต้องส่งเข้ามาที่โรงเรียนสุนทราภรณ์ และทั้งเราส่งครูจากสุนทราภรณ์ออกไปตามดูแลถึงในห้องซ้อมเลย แต่ว่าทุกคนตั้งใจ เด็กน่ารักมาก ทุกคนตั้งใจแล้วเขาก็พยายามแล้ว
ในส่วนของดิฉันก็ช่วยเขาดูตอนที่เขาคัดตัวนักแสดง ในด้านของเสียงกับการร้อง ดิฉันก็ไปช่วยดูว่าคนไหนพอจะไหวบ้าง เหมือนกับว่าจะฝึกง่ายหน่อย พอเริ่มได้ตัวนักแสดงเข้ามาแล้ว เขาเลือกเพลงกันเสร็จแล้ว การเลือกเพลงเป็นหน้าที่ของทางผู้เขียนบทนะคะ พอเลือกเพลงกันเสร็จแล้ว เราก็ช่วยในด้านที่เรียกว่าเอาผู้ที่จะต้องร้องเข้ามาฝึกและก็ตามไปดูเวลาซ้อม ตามไปช่วยติชมว่าตรงไหนที่จะต้องมีการแก้ไขเพิ่มเติมและก็เราก็จัดครูเข้าไปเพิ่ม ช่วยในด้านการซ้อมเพิ่มขึ้นค่ะ
สำหรับละครเพลง “ขอพบในฝัน สุนทราภรณ์ เดอะมิวสิคัล” นี้ ดิฉันก็อยากจะฝากบอกว่าการทำละครเพลงของสุนทราภรณ์นะคะ มันไม่ใช่เรื่องงายเลย มันเป็นเรื่องที่ยากมากและทุกคนที่เข้ามาทำสุนทราภรณ์เดือมิวลิคัล ต้องเป็นคนที่มีใจรักในบทเพลงสุนทราภรณ์จริงๆ เพราะว่าต้องบอกว่ามันเป็นงานที่ยากมากและเป็นงานที่เสียเวลามากในการที่จะทำและก็เสียค่าใช่จ่ายสูงกว่าจะฝึกเด็กขึ้นมาได้ ให้สามารถถ่ายทอดบทเพลงของสุนทราภรณ์ได้อย่างที่เราต้องการ
เพราะฉะนั้น อยากจะเรียนทุกท่านเลยว่า ถ้าท่านว่างอยากจะให้แวะเข้ามาชมกันเพราะว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จะทำกันได้ง่ายๆ และทำยากมาก และก็เราอยากให้ทุกท่านเข้ามาเป็นกำลังใจให้กับคนรุ่นใหม่ ว่าในฐานะที่เขาหาญกล้าเข้ามาที่จะทำงานสืบทอดเพลงของสุนทราภรณ์ตรงนี้ และทีมงานทุกคนก็ตั้งใจที่จะให้ออกมาสนุกสนานและก็มีทั้งด้านของการแสดงและด้านการขับร้องเพลงเราได้พยายามให้ออกมาให้ดีที่สุดแล้ว เพราะฉะนั้นก็อยากจะให้ทุกท่านสละเวลากันคนละนิดเพื่อเข้ามาเป็นกำลังใจให้กับงานเพลงและงานละครที่ดีๆ อย่างนี้ซึ่งเราต้องบอกตรงๆ ว่า นับวันก็จะทำยากขึ้นทุกทีค่ะ
เรื่อง/ภาพ : อรวรรณ เหม่นแหลม
ขอบคุณภาพบางส่วนจากคุณ อติพร สุนทรสนาน (เสนะวงศ์)