xs
xsm
sm
md
lg

สรุปข่าวเด่นในรอบสัปดาห์ 18-24 มิ.ย.2560

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

คลิกที่นี่เพื่อฟังสรุปข่าวฯ

1.“ศรีสุวรรณ” ยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินสอบคำสั่ง ม.44 เดินหน้ารถไฟไทย-จีนขัด รธน.หรือไม่ ด้าน “อภิสิทธิ์” ชี้ รบ.เข้าใจผิดรถไฟไทย-จีน!
(บน) นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้ตรวจสอบคำสั่ง คสช.ตามมาตรา 44 กรณีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ (ล่าง) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ความคืบหน้ากรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกข้อยกเว้นต่างๆ เพื่อเดินหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ -นครราชสีมา ทำให้มีเสียงทักท้วงจากหลายฝ่าย รวมทั้งผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมนั้น เมื่อวันที่ 19 มิ.ย. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เชิญสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกเข้าหารือเพื่อรับฟังข้อกังวลและพูดคุยทำความเข้าใจ

หลังหารือ นายธเนศ วีระศิริ นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์(วสท.) พร้อมด้วยนายกมล ตรรกบุตร นายกสภาวิศวกร เผยว่า วสท.ไม่มีปัญหาในการออกคำสั่งมาตรา 44 ยกเว้นวิศวกรจีนไม่ต้องสอบไม่อนุญาตในการเข้ามาทำงานในโครงการนี้ แต่ขอให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับวิศวกรรมสถาน มหาวิทยาลัยของรัฐ และสมาคมวิชาชีพที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นระบบ และให้วิศวกรไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการก่อสร้างร้อยละ 30 รวมถึงใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตในประเทศไทย ส่วนการขึ้นทะเบียนวิศวกรจีน เป็นหน้าที่ของสมาคมวิศวกร

นายธเนศ กล่าวด้วยว่า รถไฟฟ้าเป็นสิ่งที่ดี แต่ไกลมากก็ไม่คุ้มทุน พอค้านมากก็หาว่ากลุ่มวิศวกรขัดผลประโยชน์ ขอยืนยันว่า วสท.มองการณ์ไกลกว่านั้น หากวิศวกรจีนกลับไป ใครจะเป็นผู้ซ่อมแซม จะต้องเชิญวิศวกรจีนกลับมาซ่อมแซมให้หรือไม่ ทางวิศวกรไทยก็อยากทำเป็นบ้าง ซึ่งนายวิษณุก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ และจะเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไป โดย วสท.จะเป็นองค์กรกลางในการรวบรวมข้อมูลมานำเสนอ กำหนดข้อเสนอของสมาคมวิชาชีพในสัญญาการก่อสร้าง

ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่า ได้รับแจ้งจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(บอร์ด สศช.) ว่า จะจัดประชุมนัดพิเศษเพื่อเร่งพิจารณาโครงการรถไฟไทย-จีนตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อเสนอที่ประชุม ครม.เห็นชอบภายในสัปดาห์หน้า และเมื่อ ครม.เห็นชอบแล้ว จะจัดลงนามสัญญาฉบับที่ 2.1 คือ การจ้างรัฐวิสาหกิจจีนออกแบบรายละเอียดโครงสร้างพื้นฐานด้านโยธาในเดือน ก.ค. จากนั้นฝ่ายจีนจะส่งมอบให้ฝ่ายไทยเปิดประมูลก่อสร้างระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ช่วงกลางดง-ปางอโศก และเริ่มก่อสร้างภายในเดือน ก.ย.นี้

นายอาคม เผยอีกว่า ล่าสุด ทางจีนได้แจ้งรายชื่อรัฐวิสาหกิจจีนที่จะลงนามสัญญาฉบับที่ 2.1 กับการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) แล้ว คือ องค์การออกแบบรถไฟแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยฝ่ายไทยและฝ่ายจีนมีกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ครั้งที่ 19 ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ระหว่างวันที่ 5-7 ก.ค.นี้ เพื่อสรุปรายละเอียดร่างสัญญาฉบับที่ 2.1 อีกครั้ง

ด้านนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. เพื่อขอให้ตรวจสอบและเสนอความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองเพื่อวินิจฉัยว่า คำสั่ง คสช.ที่ออกตามมาตรา 44 กรณีรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยนายศรีสุวรรณ ชี้ว่า การออกคำสั่งดังกล่าวมีผลต่อเอกราช อธิปไตย เกียรติภูมิ และผลประโยชน์ของชาติ ความมั่นคงของรัฐ และความสงบเรียบร้อยของประชาชน น่าจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 52 ประกอบมาตรา 26

นายศรีสุวรรณ ยังกล่าวถึงปัญหาจากการใช้มาตรา 44 กับโครงการรถไฟไทย-จีนด้วยว่า ประกอบด้วย 1.การก่อสร้างรถไฟดังกล่าว โดยให้การพัฒนาที่ดินด้านข้าง ข้างละ 150 เมตร ตลอดเส้นทางให้กับจีน เข้าข่ายทำให้ไทยสูญเสียอธิปไตย บูรณภาพแห่งอาณาเขต และเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิ 2.คำสั่ง คสช.ยังได้ยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายปกติไม่น้อยกว่า 7 ฉบับ ในเรื่องเกี่ยวกับการประมูลจัดซื้อจัดจ้าง ระเบียบว่าด้วยพัสดุ 3.ไม่สอดคล้องกับหลักการการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่กำหนดให้ คสช.ใช้อำนาจออกคำสั่งเฉพาะกับเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงเท่านั้น นอกจากนี้การออกคำสั่งยังไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 266 อีกด้วย 4.เข้าข่ายเป็นเรื่องการทำสนธิสัญญาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา

นายศรีสุวรรณ กล่าวอีกว่า หากผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบแล้วพบว่า การดำเนินการดังกล่าวเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับประเทศจีน ขอให้ส่งเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ดำเนินการตามมาตรา 221 ด้วย และว่า ทั้ง 4 ประเด็นดังกล่าวน่าจะเพียงพอที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะใช้อำนาจหน้าที่ยื่นเรื่องดังกล่าวพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองได้ แต่หากรัฐบาลดึงดันจนไปถึงขั้นลงนามสัญญา ก็จะยื่นเรื่องดังกล่าวต่อ ป.ป.ช.และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) เพราะถือว่ามีอำนาจหน้าที่โดยตรง

ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่หัวหน้า คสช.ใช้อำนาจมาตรา 44 เดินหน้าโครงการรถไฟไทย-จีนว่า โครงการรถไฟความเร็วสูงเป็นความร่วมมือในระดับภูมิภาค เชื่อมโยงกับหลายประเทศ ตั้งแต่ตอนใต้ของประเทศจีน ลาว มาเลเซีย และสิงคโปร์ ที่ผ่านมาจึงเป็นการร่วมทุน แต่พอมาเป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าเป็นโครงการของไทย ทุกอย่างเลยผิดไปหมด เริ่มตั้งแต่เส้นทาง แทนที่จะเน้นการเชื่อมโยงกับของจีน ก็ไปเป็นกรุงเทพฯ-โคราช ทำไปทำมาเป็นระยะทางเพียง 3 กิโลเมตรครึ่ง สุดท้ายกลายเป็นที่มาของมาตรา 44 ซึ่งก็มายกเว้นกฎหมายอยู่หลายฉบับ

2.ทหารส่งตัว “วัฒนา” มือบึ้ม รพ.พระมงกุฏฯ และอีก 5 จุด ให้ตำรวจแล้ว ก่อนทำแผนรับสารภาพ เจ้าตัวอ้าง ทุกครั้งที่ก่อเหตุ ไม่ต้องการให้มีคนเจ็บ!
(บน) ทหารนำตัวนายวัฒนา ภุมเรศ ผู้ต้องหาวางระเบิด รพ.พระมงกุฏเกล้าและอีก 5 จุด มอบให้ตำรวจ ก่อนตำรวจนำตัวแถลงข่าว (ล่าง) ตำรวจนำตัวนายวัฒนาทำแผนประกอบคำรับสารภาพตามจุดต่างๆ ที่เจ้าตัววางระเบิด
ความคืบหน้ากรณีตำรวจและทหารได้สนธิกำลังเข้าตรวจค้นบ้านพัก และควบคุมตัวนายวัฒนา ภุมเรศ อายุ 62 ปี อดีตวิศวกรไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หลังตรวจค้น พบวงจรประกอบระเบิด ตะปูเกลียว เชื้อปะทุหรือดินระเบิด บัตรพนักงาน กฟผ.พร้อมสายคล้องคอที่มีรูปนายทักษิณ ขินวัตร นอกจากนี้ยังพบนาฬิกาแบบแขวนที่มีรูปนายทักษิณด้วย โดยนายวัฒนาสารภาพว่าเป็นผู้ลอบวางระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า รวมทั้งก่อเหตุระเบิดสถานที่อื่นๆ อีก 5 จุด ทั้งในปี 2560 และ 2550 คือ ที่หน้าโรงละครแห่งชาติ หน้าสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเดิม หน้าห้างเมเจอร์รัชโยธิน หน้ากองบัญชาการกองทัพบก และที่ซอยราชวิถี 24 นั้น

เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ทหาร นำโดย พล.ต.วิจารณ์ จดแตง หัวหน้าฝ่ายกฎหมายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้นำตัวนายวัฒนา ซึ่งถูกคุมตัวอยู่ที่กองพันทหารทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ไปมอบให้กับตำรวจ โดยมี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมรับมอบ จากนั้นตำรวจได้คุมตัวนายวัฒนาไปสอบสวนและให้พยานชี้ตัว โดยมีพยาน 3 คน ชี้ตัวยืนยัน โดยไม่มีการพันธนาการร่างกายนายวัฒนาแต่อย่างใด ซึ่งนายวัฒนามีสีหน้ายิ้มแย้มก่อนถูกนำไปตรวจร่างกายและเก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากเนื้อเยื่อกระพุ้งแก้ม ต่อมา พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้นำหมายจับ 5 หมาย แจ้งข้อกล่าวหาให้นายวัฒนารับทราบ ก่อนนำตัวนายวัฒนามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน

ทั้งนี้ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมแถลงสรุปว่า ตำรวจใช้เวลาสืบสวนประมาณ 20 วัน ก่อนจับกุมนายวัฒนาได้ และว่า นอกจากนายวัฒนาจะก่อเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า จนมีผู้บาดเจ็บ 28 รายแล้ว ยังก่อเหตุที่หน้าโรงละครแห่งชาติ หน้ากองสลากเดิม หน้ากองทัพบก หน้าห้างเมเจอร์รัชโยธิน และปากซอยราชวิถี 24 ด้วย

ระหว่างการแถลง ได้มีการเปิดวีดิทัศน์ไล่เรียงเหตุการณ์ก่อนก่อเหตุของผู้ต้องหา ซึ่งเป็นภาพที่ได้จากกล้องวงจรปิดหลายๆ จุด โดยฉพาะกล้องวงจรปิดบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า 21 ตัว จากการตรวจสอบพบว่า มีบุคคล 12,000 คน ไล่ตรวจสอบเหลือ 100 คน และเหลือ 10 คน เมื่อพิสูจน์ทราบบุคคลต้องสงสัย พบภาพชายสูงวัยถือถุงพลาสติก ภายในบรรจุวัตถุที่มีน้ำหนักและร่มสีดำ 1 คัน เดินเข้ามาในโรงพยาบาล ก่อนเข้าไปในอาคารเฉลิมพระเกียรติ และอยู่ในห้องวงษ์สุวรรณ เป็นเวลา 1 ชั่วโมง 33 นาที ก่อนออกมาจากห้องดังกล่าว ก่อนเกิดเหตุระเบิดเพียง 10 นาที โดยถือถุงพลาสติกต้องสงสัย แต่ไม่มีวัตถุที่มีน้ำหนัก เหลือเพียงร่มสีดำ 1 คันเท่านั้น

จากนั้น ตำรวจได้พิสูจน์ทราบเพื่อหาความเชื่อมโยง โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค. ซึ่งก่อนหน้าก่อเหตุ 1 วัน นายวัฒนาขับรถยนต์เข้ามาจอดภายในลานจอดรถ กฟผ.จังหวัดนนทบุรี แล้วขี่จักรยานไปยังยันฮีคอนโดมิเนียม ต่อมาวันที่ 22 มิ.ย. นายวัฒนาออกจากอาคารยันฮีคอนโดฯ ขี่รถจักรยานมายังอาคาร กฟผ.อีกครั้ง จากนั้นหยิบถุงพลาสติกสีขาวจากประตูด้านหน้าฝั่งคนขับ ภายในถุงพลาสติกมีแจกันดอกไม้ และช่อดอกไม้สีส้มแดง ก่อนขี่จักรยานออกจาก กฟผ.มุ่งหน้าไปทางปากซอยจรัญสนิทวงศ์ 97 แล้วข้ามสะพานลอยคนข้ามไปยังซอยจรัญสนิทวงศ์ 96/2 แล้วขึ้นรถโดยสารสาย ปอ.18

ก่อนมาลงป้ายรถประจำทาง ซึ่งอยู่ระหว่างประตู 5 และ 6 ของ รพ.พระมงกุฏเกล้า โดยสวมที่ปิดปากปิดจมูกอำพรางใบหน้า เดินถือถุงพลาสติกมาตามถนนราชวิถี และเลี้ยวซ้ายเข้า รพ.ทางประตู 6 ก่อนเดินเข้าอาคารเฉลิมพระเกียรติ และเดินเข้าห้องวงษ์สุวรรณ เพื่อก่อเหตุระเบิดดังกล่าว

พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าวว่า จนถึงตอนนี้เชื่อได้ว่าคนร้ายทำคนเดียว แต่หากขยายผลและพบหลักฐานถึงบุคคลใดก็ต้องดำเนินการ ส่วนเพื่อนสาวคนสนิท อยู่ระหว่างตรวจสอบ ถ้ามีพยานหลักฐานต้องดำเนินการเช่นกัน

มีรายงานว่า เบื้องต้นคดีนี้ มีผู้เกี่ยวข้อง 3 คน คือ นายวัฒนา ภรรยาหลวง และภรรยาน้อย โดยมีรายงานว่า ก่อนจะลงมือก่อเหตุทุกครั้ง นายวัฒนาจะไปหาภรรยาน้อยที่คอนโดฯ ย่าน จ.นนทบุรีก่อน

ด้าน พล.ต.ต.ธวัชชัย เมฆประเสริฐสุข ผู้บังคับการกองพิสูจน์หลักฐานกลาง เผยว่า ปริมาณดินดำที่นายวัฒนาใช้บรรจุภายในระเบิดที่ รพ.พระมงกุฏเกล้า มีปริมาณไม่มากนัก แต่สิ่งที่ทำให้ระเบิดนี้อันตรายคือภาชนะ เป็นแจกัน และตะปูที่อยู่ข้างใน ถ้าใครอยู่ใกล้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

ขณะที่นายวัฒนา กล่าวว่า เหตุระเบิดในปี 2550 และ 2560 มีแรงบันดาลใจเหมือนกันหมด คือไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่มาจากการปฏิวัติ เพราะทำให้ประเทศชาติประสบหายนะทางเศรษฐกิจ ตลอดจนสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกลิดรอน นายวัฒนา ยังอ้างด้วยว่า “ทุกครั้งที่ก่อเหตุ ผมพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบกับประชาชนธรรมดา และไม่อยากให้ผู้ใดได้รับบาดเจ็บ ให้เป็นเพียงเชิงสัญลักษณ์ต่อต้านรัฐบาลปฏิวัติ ขออภัยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเป็นอย่างยิ่ง ขอยืนยันว่า ทำเพียงคนเดียว ไม่มีเบื้องหลังฝ่ายการเมือง หรือบุคคลใดมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ที่บ้านตอนนี้ไม่มีระเบิดแล้ว มีเพียงแผงวงจรที่เอาไว้ทดสอบทางเทคนิคเท่านั้น”

ด้านตำรวจได้นำตัวนายวัฒนาไปทำแผนประกอบคำรับสารภาพเป็นเวลา 2 วัน คือ เมื่อวันที่ 20-21 มิ.ย. โดยวันที่ 20 มิ.ย. ตำรวจ สน.พญาไท ได้เชิญตัว ร.ต.หญิงสุพรรณี ภุมเรศ ภรรยานายวัฒนามาสอบปากคำเพิ่มเติมด้วย หลังสอบปากคำ ร.ต.หญิงสุพรรณี ไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ ต่อสื่อมวลชน ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้อายัดรถยนต์และรถจักรยานของนายวัฒนาที่เกี่ยวข้องกับการก่อเหตุระเบิดไว้ตรวจสอบ และตรวจลายนิ้วมือแฝงว่ามีบุคคลอื่นเกี่ยวข้องอีกหรือไม่ ก่อนสรุปสำนวนต่อไป

ทั้งนี้ ตำรวจได้นำตัวนายวัฒนาไปขอศาลฝากขังครั้งแรกเป็นเวลา 12 วัน เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. เนื่องจากการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้น โดยต้องสอบพยานบุคคลอีก 14 ปาก พร้อมคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศและมีโทษสูง หากปล่อยตัว เกรงว่าอาจก่อเหตุวางระเบิดในลักษณะเดียวกันอีกหรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือหลบหนี ด้านศาลอนุญาตให้ฝากขังได้ตามคำขอของพนักงานสอบสวน ก่อนส่งตัวผู้ต้องหาไปคุมขังที่เรือนจำชั่วคราวแขวงนครไชยศรี(มทบ.11)

3.ที่ประชุม สนช.ไฟเขียวร่าง พ.ร.บ.จัดทำยุทธศาสตร์ชาติ - พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศแล้ว ด้าน สปท.จ่อพ้นวาระต้น ส.ค.นี้!

เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ในวาระที่ 2 และ 3 ที่คณะกรรมาธิการ(กมธ.) วิสามัญพิจารณาเสร็จแล้ว โดยที่ประชุมได้มีมติเอกฉันท์ 218 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง 3 เสียง

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ กำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ส่วนคณะกรรมการมีทั้งจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ซึ่ง ครม.เป็นผู้แต่งตั้งอีกไม่เกิน 17 คน โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติมีหน้าที่และอำนาจในการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ เพื่อเสนอ ครม.เสนอความเห็นต่อรัฐสภา หรือหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ กำกับดูแลการปฏิรูปประเทศให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ โดยให้แต่งตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์จัดทำยุทธศาสตร์ชาติขึ้นคณะหนึ่งหรือหลายคณะ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติเบื้องต้นด้านต่างๆ ให้เสร็จภายใน 120 วัน นับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง และส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาและเสนอต่อ ครม.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจากคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ

หลังจากนั้น ครม.ต้องส่งร่างยุทธศาสตร์ชาติให้ สนช.ภายใน 30 วัน โดย สนช.ต้องให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจาก ครม. และเมื่อง สนช.ให้ความเห็นชอบแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างยุทธศาสตร์ชาติจาก สนช.

นอกจากนี้ที่ประชุม สนช.ยังมีมติเอกฉันท์ 216 เสียง เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ในวาระที่ 2 และ 3 เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมาย โดยมีผู้งดออกเสียง 4 เสียง โดยขั้นตอนหลังจากนี้ นายกรัฐมนตรีจะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ และเมื่อร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้แล้ว จะส่งผลให้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(สปท.) ต้องพ้นจากตำแหน่ง ตามมาตรา 266 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ได้แก่ ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศจำนวน 11 ด้าน ด้านละไม่เกิน 13 คน โดย ครม.เป็นผู้แต่งตั้ง มีวาระ 5 ปี โดยคณะกรรมการปฏิรูปประเทศแต่ละด้านต้องดำเนินการให้เสร็จภายใน 90 วัน จากนั้นเสนอให้ที่ประชุมร่วมกันของคณะกรรมการปฏิรูปทุกคณะพิจารณา อีกทั้งเสนอให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาด้วยว่า ร่างแผนการปฏิรูปประเทศสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติหรือไม่ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างแผนการปฏิรูปประเทศ ก่อนเสนอให้ ครม.เห็นชอบต่อไป

ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน เลขานุการคณะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ(วิป สปท.) แถลงหลังประชุมวิป สปท.เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ว่า การสิ้นสภาพของ สปท.นั้น สปท.จะหมดวาระการทำงานภายหลังจากที่ร่าง พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศมีผลบังคับใช้ คาดว่าจะอยู่ในช่วงปลายเดือน ก.ค.ถึงต้นเดือน ส.ค.นี้ ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 266 ที่ให้ สปท.ทำหน้าที่ไปจนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ ภายหลังจากที่รัฐธรรมนูญมีผลบังคับใช้ไม่เกิน 120 วัน นับจากวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งจะครบ 120 วันในวันที่ 3 ส.ค.นี้

นายคำนูณ ยังกล่าวด้วยว่า “ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่า จะมีสมาชิก สปท.คนใดลาออก เพื่อไปสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.บ้าง คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในปลายเดือน มิ.ย.นี้ เนื่องจากจะครบกำหนด 90 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า สมาชิก สปท.และ สนช.ที่จะลาออกไปลงสมัคร ส.ส. จะต้องลาออกจากตำแหน่งภายหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว 90 วัน”

4.กม.ปิโตรเลียม 2 ฉบับมีผลบังคับใช้แล้ว ด้าน ก.พลังงาน เตรียมชง ครม.กำหนดเงื่อนไขประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช!
แหล่งก๊าซเอราวัณ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย. เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงพลังงาน เรื่อง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 และ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 โดย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีใจความสำคัญคือ กำหนดให้ระบบสำรวจและผลิตปิโตรเลียม มี 3 ระบบ คือ ระบบสัมปทาน ระบบแบ่งปันผลผลิต (พีเอสซี) และระบบสัญญาจ้างบริการ (เอสซี) จากเดิมมีเพียงระบบสัมปทานเท่านั้น โดยกำหนดให้ผู้ที่ได้รับสัญญาระบบแบ่งปันผลผลิต ภายในเดือน ก.ย.ของทุกปีต้องเสนอแผนงานและงบประมาณสำหรับกิจการปิโตรเลียมในปีปฏิทินถัดไปให้อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติก่อนเริ่มกิจการปิโตรเลียมของทุกปี

ขณะที่ระบบสัญญาจ้างบริการ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนด โดยผลผลิตปิโตรเลียมทั้งหมดต้องเป็นของรัฐ รัฐมีสิทธิขายหรือจำหน่าย และอาจมอบให้ผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิตเป็นผู้ขายหรือจำหน่ายแทนรัฐได้ โดยให้ค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการประกอบกิจการปิโตรเลียมตกเป็นภาระของผู้รับสัญญาจ้างสำรวจและผลิต

ส่วน พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2560 มีใจความสำคัญคือ ให้เพิ่มคำนิยามถึงบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในเครือเดียวกัน และกำหนดให้บริษัทซึ่งมีหน้าที่ยื่นแผนการผลิตปิโตรเลียมรายงานผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม แผนงานและงบประมาณประจำปี และเสนองบบัญชีค่าใช้จ่ายและงบการเงินประจำปี ตามมาตรา 42 ทวิ มาตรา 76 และมาตรา 77 แห่ง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ต้องส่งสำเนาแผนการผลิตปิโตรเลียม ผลการประกอบกิจการปิโตรเลียม และงบประมาณประจำปี รวมทั้งงบบัญชีค่าใช้จ่าย และงบการเงินประจำปีต่ออธิบดี

ด้านนายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า นับเป็นเรื่องที่ดีสำหรับกฎหมาย 2 ฉบับดังกล่าวที่จะมีผลบังคับใช้ และว่า หลังจากนี้จะนำกฎหมายลูก 6 ฉบับที่ว่าด้วยสัญญาแบ่งปันผลผลิต และสัญญาจ้างบริการ ฯลฯ รวมทั้งกำหนดเกณฑ์และเงื่อนไขการเปิดประมูลแหล่งก๊าซเอราวัณ-บงกช ที่จะหมดอายุปี 2565-2566 เข้าสู่ที่ประชุม ครม. และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ก็จะประกาศบิดดิ้ง ทีโออาร์ภายในเดือน ก.ค.-ส.ค. และคัดเลือกผู้ชนะประมูลได้ภายในเดือน ก.พ. 2561 ตามกรอบที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานระบุไว้

5.NEW1 ยื่นหนังสือ กสทช.ขอยกเว้น-ผ่อนชำระค่าธรรมเนียมช่วง คสช.รัฐประหารและสั่งปิดทีวีเกือบ 100 วัน!
ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย)
ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือถึงบริษัท เอเอสทีวี (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ดำเนินกิจสถานีโทรทัศน์นิวส์วัน (NEWS1) เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. เพื่อให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี โดยระบุว่า ครบกำหนดระยะเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีเมื่อวันที่ 30 พ.ค. แต่บริษัทฯ ยังไม่ชำระแต่อย่างใด จึงขอให้ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี รวมทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มอัตราร้อยละ 7 และเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ของจำนวนเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีที่ค้างชำระ นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนดชำระ (ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2560) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีครบถ้วน

หนังสือดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การที่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน (ภายในวันที่ 14 มิ.ย.2560) จะถือเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการอนุญาต ซึ่งจะเป็นผลให้ใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ของบริษัทฯ สิ้นสุดผลตามที่กำหนดในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ พ.ศ. 2555

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบ พบว่า สถานีโทรทัศน์ NEWS1 ค้างชำระค่าธรรมเนียมเฉพาะช่วงที่ถูกสั่งปิดสถานีระหว่างปี 2556-2557 โดยทางผู้บริหาร NEWS1 ได้ต่อรองว่า ทาง กสทช. จะต้องมีการชดเชยเยียวยาให้ด้วย เนื่องจากถูกคำสั่งปิดสถานีเป็นเวลา 3 เดือนหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 และได้ขอผ่อนจ่ายเป็นรายงวด แต่ กสทช. ไม่ยินยอม รวมเงินที่ค้างอยู่ประมาณ 4 ล้านบาท บวกค่าปรับอีกประมาณ 2 ล้านบาท แต่หลังจากนั้น ทาง NEWS1 ได้ชำระค่าธรรมเนียมในอนุญาตรายปีมาโดยตลอด

สำหรับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของสถานีโทรทัศน์นั้น กสทช. คิดในอัตราร้อยละ 2 ของรายได้ที่ยังไม่ได้หักรายจ่าย

ล่าสุด เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. ดร.นิพนธ์ นาคสมภพ นายกสมาคมโทรทัศน์ดาวเทียม (ประเทศไทย) พร้อมด้วย ผู้แทนโทรทัศน์ ช่อง NEWS1 และ H plus Channel ได้เข้ายื่นหนังสือต่อ ผศ.ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช. เพื่อขอยกเว้นและผ่อนผันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีของช่อง NEWS1 โดยให้เหตุผลว่า เนื่องจากทางช่องถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระงับการถ่ายทอดไป 98 วัน ส่งผลให้เสียโอกาสหารายได้ไปร้อยละ 27 ของรายได้ทั้งปี

ดร.นิพนธ์ กล่าวอีกว่า ช่อง NEWS1 เดิมคือ ช่อง ASTV NEWS ซึ่งเป็นโทรทัศน์ดาวเทียมที่ถูกระงับการถ่ายทอดออกอากาศตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 15/2557 ต่อมา คสช. มีคำสั่งให้โทรทัศน์ทั้งประเภทอนาล็อก ดิจิทัลภาคพื้นดิน และเคเบิล ทยอยกลับมาแพร่ภาพออกอากาศได้ยกเว้นโทรทัศน์ดาวเทียม โดยที่ กสทช. แนะนำให้ช่องโทรทัศน์ดาวเทียม ขออนุญาตเปิดเป็นเคเบิลทีวี หรือเป็นช่องรายการโทรทัศน์ที่เป็นกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่แบบบอกรับสมาชิก

ดังนั้น ASTV NEWS จึงขออนุญาตเปลี่ยนประเภทเป็นเคเบิลทีวี และได้กลับมาเปิดเป็นช่อง NEWS1 เมื่อวันที่ 27 ส.ค. 2557 รวมระยะเวลาที่หยุดแพร่ภาพออกอากาศ 98 วัน หรือเท่ากับเสียโอกาสในการหารายได้ไปร้อยละ 27 ของรายได้ทั้งปี ในขณะเดียวกัน บริษัทฯ ยังคงต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายประจำต่างๆ เช่น ค่าพนักงานเป็นเงินประมาณ 55 ล้านบาท พร้อมทั้งต้องเสียค่าธรรมเนียม กสทช. ร้อยละ 2 ของรายได้ตลอดปี เป็นผลให้บริษัทฯ ขาดสภาพคล่องนับแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบันที่ภาวะเศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย

บริษัทฯ จึงขอให้ กสทช. ทบทวนพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีสำหรับช่องรายการสถานี ASTV NEWS ที่ถูกปิดไปแล้ว ขอผ่อนชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปีช่องรายการสถานี NEWS1 และในส่วนของเงินเพิ่ม ซึ่งคิดที่อัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ขอให้ลดเหลือเท่ากับอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดในวันที่ชำระเช่นเดียวกับดิจิทัลทีวี
กำลังโหลดความคิดเห็น