ทนายความครอบครัว "กฤษณะ" เหยื่อ "เสี่ยเจนภพ" ชี้แจงกรณี "หนุ่ย พงศ์สุข" พิธีกรดังดราม่า กลัวครอบครัว "ธันฐภัทร์" จะไม่ได้รับความเป็นธรรม ชี้โจทก์อีกฝ่ายไม่เคยมาศาลวันสืบพยานโจทก์ ผลตรวจแอลกอฮอลล์ไม่มี เป็นโทษต่อจำเลยเอง ยันเบนซ์ไม่มีกล่องดำ ส่วนการรับเงินเยียวยาแค่ยุติคดีทางแพ่ง ไม่มีผลต่อคดีอาญา ขู่ฟ้องหมิ่นประมาทถ้าเอาความเป็นบุคคลสาธารณะไปพาดพิงให้เสียชื่อเสียง
จากกรณีที่ นายพงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ หรือ หนุ่ย พิธีกรและผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ชื่อดัง ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก “พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์” ถึงคดี นายเจนภพ วีรพร ทายาทนักธุรกิจกลุ่มเลนโซ่กรุ๊ป ก่อเหตุซิ่งรถเบนซ์ รุ่นพิเศษ CLS 63 พุ่งชนท้ายคู่กรณีรถเก๋ง ฟอร์ด รุ่น เฟียสต้า เป็นเหตุให้ไฟลุกไหม้ผู้ที่โดยสารมากับรถเก๋ง ฟอร์ด เสียชีวิต 2 รายทันที ประกอบด้วย น.ส.ธันฐภัทร์ ฮ้อแสงชัย หรือ เบนซ์ อดีตนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และ นายกฤษณะ ถาวร หรือ โต้ง เพื่อนนักศึกษาปริญญาโทมหาวิทยาลัยเดียวกัน เหตุเกิดบริเวณ ถ.พหลโยธิน ขาออก ช่วงหลัก กม. ที่ 52 - 53 อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 เม.ย. 2559 โดยได้กังวลถึงครอบครัว น.ส.ธันฐภัทร์ ว่าจะไม่ได้รับเป็นธรรม เพราะถูกกดดันทุกทาง จากกระบวนการไกล่เกลี่ยให้รับเงินเยียวยาด้วยเพื่อให้จบคดีแพ่ง จึงจะดำเนินการต่อที่การตัดสินทางอาญาได้ โดยพาดพิงไปถึงครอบครัวนายกฤษณะ ว่าเซ็นยินยอมไม่ติดใจเอาความแล้วและรับเงินช่วยเหลือเยียวยาไปแล้ว ครอบครัวเธอในฐานะโจทก์ร่วม ทำอะไรได้ไม่มากเท่าโจทก์หลัก ทนายซักจำเลยมากไป ก็ถูกดุว่าถามเกินสิทธิ์
ล่าสุด วันนี้ (21 มิ.ย.) นายปริญญา สนิทชน ทนายความโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 คือบิดาและมารดาของนายกฤษณะ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว "Prinya Sanitchone" ชี้แจงว่า คดีอาญาคดีนี้ผู้เสียหายหลักคือรัฐ โดยมีพนักงานอัยการเป็นโจทก์ ฟ้องคดีจำเลย และในทุกฐานความผิดที่อัยการฟ้องนั้น เป็นความผิดอาญาแผ่นดิน ที่ไม่สามารถตกลงยอมความกันได้ และมีโจทก์ร่วมจำนวน 4 คน ได้แก่ โจทก์ร่วมที่ 1 และ 2 คือ บิดาและมารดานายกฤษณะ และโจทก์ร่วมที่ 3 และ 4 คือ บิดาและมารดาของ น.ส.ธันฐภัทร์ ซึ่งโจทก์ร่วมแต่ละคนก็แต่งตั้งทนายความโจทก์ร่วมเข้าดำเนินกระบวนพิจารณาในคดี และยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายตามกฎหมาย ทั้งนี้ ไม่มีบุคคลใดเป็นโจทก์หลักตามที่กล่าวถึงแต่อย่างใด
ซึ่งในคดีนี้พนักงานอัยการ (โจทก์) ได้ฟ้องจำเลยใน 7 ฐานความผิด ต่อศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ดังนี้ 1.ขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 2.ขับรถด้วยความเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด 3.ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 4.เป็นผู้ขับรถเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย 5.ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ 6.ขับรถโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยหรือความเดือดร้อนของผู้อื่น และ 7.ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานสอบสวนที่สั่งให้มีการทดสอบ และตรวจสอบผู้ขับรถตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 142, 157/1 โดยไม่มีเหตุอันสมควร โดยความผิดที่มีโทษหนักที่สุดนั้น คือ ความผิดตามข้อ 4. ส่วนโจทก์ร่วมทั้ง 4 คนนั้นเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการแต่ในเฉพาะความผิดตามข้อ 1. ซึ่งเป็นฐานความผิดที่จำเลยให้การรับสารภาพแล้วว่าขับรถยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายจริง เพียงแต่ปฏิเสธว่าตนนั้นไม่ได้ขับขี่ในขณะเมาสุราหรือยาเสพติด
ทั้งนี้ ตนในฐานะทนายโจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 รวมถึงพนักงานอัยการ (โจทก์) ได้ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ศาลจังหวัดพระนครศรีอยุธยาตามกำหนดนัดทุกครั้ง รวมถึงนัดสืบพยานทั้งของโจทก์ โจทก์ร่วม และจำเลย และตนยินดีจะคัดถ่ายรายงานกระบวนพิจารณาของศาลที่ผู้มีส่วนร่วมในคดีที่ไปศาลในแต่ละนัดจะต้องลงชื่อไว้ทุกครั้งมาให้ตรวจสอบว่าใครได้ไปศาลบ้าง ดังนั้น จึงอยากขอให้นายพงศ์สุข ช่วยชี้แจงให้ชัดเจนตามที่กล่าวไว้ว่า “ครอบครัวเธอในฐานะโจทก์ร่วม ทำอะไรได้ไม่มากเท่าโจทก์หลัก ทนายซักจำเลยมากไป ก็ถูกดุว่าถามเกินสิทธิ์ ... ก็ทำไงได้ ทนายโจทย์หลักไม่มาศาลแล้ว ....” (ข้อความส่วนหลังนี้มีการแก้ไขลบออกไปจากต้นฉบับโดยนายพงศ์สุข) นั้น นายพงศ์สุข หรือ น้องสาว น.ส.ธันฐภัทร์ ได้หมายถึงทนายโจทก์หลักคนไหน เพราะมีเพียงทนายโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 รวมถึงโจทก์ร่วมที่ 3 และ 4 เองเท่านั้นที่ไม่ได้มาศาลในวันสืบพยานโจทก์ (พนักงานอัยการ) เลยแม้แต่ครั้งเดียว
ประการที่สอง ตามที่นายพงศ์สุขเล่าว่า น้องสาว น.ส.ธันฐภัทร์ กลัวหลักฐานจะอ่อนนั้น ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ครอบครัว น.ส.ธันฐภัทร์ และหรือทนายของฝ่ายโจทก์ร่วมที่ 3 และที่ 4 ไม่เคยมาติดตามดูการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสอบสวน เจ้าพนักงานตำรวจและฝ่ายพิสูจน์หลักฐานเลย โดยมาแต่เพียงในวันที่มีการแถลงข่าวเท่านั้น ตรงกันข้ามเป็นฝ่ายครอบครัวนายกฤษณะ (โจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2) ที่ดำเนินการประสานงานติดต่อหาทนายเข้าร่วมการสืบสวนสอบสวนทันที ตั้งแต่มีประเด็นการให้สัมภาษณ์ของผู้กำกับคนเดิม และตนในฐานะทนายความก็ได้ติดตามเข้าร่วมการสืบสวนสอบสวนกับตำรวจและพนักงานสอบสวนตามที่ได้รับมอบหมายในทุกขั้นตอน พร้อมทนายจำเลยเองที่มาร่วมกระบวนการทุกครั้ง ขาดก็แต่ทนายจากครอบครัว น.ส.ธันฐภัทร์ เพราะเราต้องการให้จำเลย คือ นายเจนภพ ได้รับโทษตามกฎหมายในอัตราโทษสูงสุด และให้ครอบครัวของนายกฤษณะ ได้รับการชดเชยเยียวยาความเสียหายอย่างสมควรตามสิทธิที่พึงมีพึงได้ เราจึงไม่เคยปล่อยปละละเลยให้เป็นหน้าที่ของตำรวจแต่เพียงลำพัง นอกจากนี้ พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เป็นคณะทำงานที่ตั้งขึ้นเป็นพิเศษ โดยรวบรวมพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานตำรวจแห่งชาติทั้งสิ้น
ประการที่สาม ตามที่นายพงศ์สุขกังวลว่า “ผลการตรวจแอลกอฮอล์ไม่มี (แม้อัยการจะสั่งฟ้อง แต่...ก็ไม่มีหลักฐาน)” ตนขออธิบายข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงต่อนายพงศ์สุข และครอบครัว น.ส.ธันฐภัทร์ ให้เข้าใจ เพราะถ้ามีการสื่อสารในลักษณะนี้ เชื่อว่าน่าจะเข้าใจข้อกฎหมายคลาดเคลื่อนไปพอสมควร กล่าวคือ ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคดีนั้นได้ความว่า พนักงานสอบสวน (ตำรวจ) ได้สั่งให้ตรวจเลือดนายเจนภพ (ผู้ต้องหาในขณะนั้น) เพื่อตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์หรือสารเสพติดในร่างกาย แต่นายเจนภพได้ปฏิเสธการตรวจดังกล่าวตามที่ปรากฏเป็นข่าวโดยทั่วไป ซึ่งการปฏิเสธดังกล่าวนั้นเป็นผลร้ายกับจำเลยเอง ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131/1 นั้น บัญญัติว่า “ในกรณีที่จำเป็นต้องใช้พยานหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงตามมาตรา 131 ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจให้ทำการตรวจพิสูจน์บุคคล วัตถุหรือเอกสารใด ๆ โดยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ได้
(วรรค 2) ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสามปี หากการตรวจพิสูจน์ตามวรรคหนึ่ง จำเป็นต้องตรวจเก็บตัวอย่างเลือด เนื้อเยื่อ ผิวหนัง เส้นผมหรือขน น้ำลาย ปัสสาวะ อุจจาระ สารคัดหลั่ง สารพันธุกรรมหรือส่วนประกอบของร่างกายจากผู้ต้องหา ผู้เสียหายหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีอำนาจให้แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจดังกล่าวได้ แต่ต้องกระทำเพียงเท่าที่จำเป็นและสมควรโดยใช้วิธีการที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดเท่าที่จะกระทำได้ ทั้งจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อร่างกายหรืออนามัยของบุคคลนั้น และผู้ต้องหา ผู้เสียหาย หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องต้องให้ความยินยอม หากผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายไม่ยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายกระทำการป้องปัดขัดขวางมิให้บุคคลที่เกี่ยวข้องให้ความยินยอมโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้เบื้องต้นว่าข้อเท็จจริงเป็นไปตามผลการตรวจพิสูจน์ที่หากได้ตรวจพิสูจน์แล้วจะเป็นผลเสียต่อผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายนั้นแล้วแต่กรณี ...”
นั่นหมายความว่า โดยปกติแล้วในการพิจารณาคดีนั้น พนักงานอัยการมีหน้าที่ต้องนำหลักฐานสืบพยานต่อศาลว่าจำเลยนั้นเมาสุราหรือเสพยาเสพติด แต่ในกรณีนี้ นายเจพภพถูกสันนิษฐานโดยข้อกฎหมายให้เป็นโทษในทันที คือ ถูกสันนิษฐานว่าเมาสุราหรือเสพสารเสพติดในขณะขับรถในเวลาเกิดเหตุ โดยไม่ต้องมีการสืบพยานหลักฐานในส่วนนี้ แต่เป็นจำเลยเองต่างหาก ที่เป็นฝ่ายมีหน้าที่ต้องนำพยานเข้าสืบหักล้างว่าตนนั้นไม่ได้เมาสุราหรือเสพสารเสพติดในขณะขับรถในเวลาเกิดเหตุ ดังนั้น หากคนทำผิดทางจราจรอีกนับล้านจะเลือก "ปฏิเสธการตรวจแอลกอฮอลล์และสารเสพติดทุกชนิด" ผลที่ตามก็คือ เขาเหล่านั้นจะถูกกฎหมายบังคับสันนิษฐานให้เป็นคนเมาสุราและสารเสพติดในขณะขับรถ ซึ่งจะทำให้ต้องรับโทษหนักขึ้น และมีภาระที่จะต้องพิสูจน์ว่าตัวเองไม่เมา ซึ่งจะช่วยลดภาระงานของอัยการและศาลไปเป็นอย่างมาก
ประการที่สี่ ที่นายพงศ์สุขกังวลว่า “ผลตรวจเลือดจากโรงพยาบาลไม่ปรากฏ (หมอบอกเลือดเคยมี แต่ทำไมไม่มีใครเอามา) ตนขอชี้แจงว่าคดีนี้ไม่มีแพทย์มาเบิกความเป็นพยาน เนื่องด้วยจำเลยแถลงยอมรับหลักฐานของอัยการโจทก์ จึงไม่ต้องนำแพทย์มาสืบพยาน อีกทั้งผลเลือดที่คุณบอกว่ามีนั้น ถ้าคนที่ให้ข้อมูลกับนายพงศ์สุขนั้นได้เข้ารับฟังการพิจารณาโดยครบถ้วนจริง ไม่เข้า ๆ ออก ๆ หรือไปรอนอกห้องพิจารณา หรือมาบางวัน ไม่มาบางวัน ก็จะทราบว่าผลเลือดที่โรงพยาบาลมีนั้นเป็นผลเลือดที่เจาะไปตรวจเพื่อการรักษาผู้ป่วย ไม่ได้เจาะไปเพื่อตรวจหาสารเสพติด ซึ่งข้อนี้อัยการก็นำสืบไว้นะครับว่ามีการเจาะเลือดแต่ไม่ได้ตรวจหาสารเสพติด เพราะผู้ป่วยก็คือจำเลยไม่ยินยอม ดังนั้นก็ยิ่งเข้าข้อสันนิษฐานตามกฎหมายเป็นผลร้ายแก่จำเลย ส่วนที่เหลือก็เป็นดุลยพินิจศาลว่าจะเห็นอย่างไร
ประการที่ห้า ที่นายพงศ์สุขกังวลว่า “กล่องดำจากรถเบนซ์หรูไม่พบ” ตนขอชี้แจงในฐานะที่เข้าร่วมการสอบสวนตั้งแต่ชั้นตำรวจว่า “รถเบนซ์คันนี้ไม่มีกล่องดำ” ไม่ใช่หาไม่พบ แต่มันไม่มี แล้วผู้เชี่ยวชาญที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเชิญมาตรวจและให้ความเห็นนั้นก็มาจากบริษัทเบนซ์จากต่างประเทศ ที่เป็นอดีตตำรวจสืบสวนของสหรัฐอเมริกา เพราะประเทศไทยไม่สามารถให้ความเห็นได้ และเขาก็ได้ให้ความเห็นว่ารถคันนี้ไม่มีกล่องดำ
ประการที่หก ที่นายพงศ์สุข กังวลว่า น้องสาว น.ส.ธันฐภัทร์ รู้สึกเหนื่อยจากกระบวนการไกล่เกลี่ยที่ต้องให้ครอบครัวรับเงินเยียวยาด้วยเพื่อให้จบคดีแพ่ง จึงจะดำเนินการต่อที่การตัดสินทางอาญาได้ ... (เธอต้องจำยอมไม่เช่นนั้นคดีไม่เดินต่อ) นั้น ตนผมขอชี้แจงว่าเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปเช่นเดียวกัน เพราะในการดำเนินคดีอาญาที่เป็นความผิดอาญาแผ่นดินโดยพนักงานอัยการเป็นโจทก์ และมีโจทก์ร่วม (ผู้เสียหาย) ขอเรียกค่าเสียหายในทางแพ่งมาด้วยนั้น มักจะมีการไกล่เกลี่ยเรื่องจำนวนค่าเสียหายในทางแพ่งอยู่ด้วยเป็นปกติ เพื่อให้ผู้เสียหายได้รับการเยียวยาโดยเร็วและไม่จำเป็นต้องรอให้มีการพิพากษาในส่วนของความผิดทางอาญาก่อน ซึ่งเป็นสิทธิของคู่ความที่จะตกลงกันหรือไม่ก็ได้ และไม่มีกฎหมายข้อใดทั้งสิ้นที่กำหนดบังคับให้ผู้เสียหายหรือโจทก์ร่วมต้องตกลงยอมรับเงินชดใช้ค่าเสียหายหรือเงินเยียวยาในทางแพ่งเสียก่อน ศาลจึงจะมีคำพิพากษาคดีลงโทษจำเลยในทางอาญาได้ เพียงแต่ถ้าหากโจทก์ร่วมรายใดตกลงรับเงินเยียวยาวความเสียหาย (ซึ่งจะต้องลงลายมือชื่อด้วยตนเองด้วยความสมัครใจ) ก็จะเป็นการยุติคดีในส่วนแพ่งเท่านั้น แต่คดีอาญาก็ยังต้องมีการพิจารณาพิพากษาต่อไปเช่นเดิม ซึ่งถ้าหากโจทก์ร่วมยืนยันไม่รับเงินค่าเสียหายจากจำเลยในการไกล่เกลี่ยแล้ว ย่อมไม่มีใครบังคับได้ทั้งสิ้น และศาลท่านก็สามารถพิจารณาพิพากษาคดีไปได้ตามปกติ โดยจะพิพากษาในส่วนอาญาว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ และพิพากษาในส่วนแพ่งว่าจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ร่วมแต่ละรายเพียงใด และหากโจทก์ร่วมไม่พอใจในค่าเสียหายที่ได้รับ ก็ต้องดำเนินการอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป
ประการที่เจ็ด ที่นายพงศ์สุข ได้กล่าวว่า “โจทก์ที่ 1 ครอบครัวเจ้าของรถ เซ็นยินยอมไม่ติดใจเอาความ และรับเงินช่วยเหลือเยียวยาตามข่าวแจ้งไปแล้ว” (ข้อความนี้ได้มีการแก้ไขลบออกไปจากข้อความต้นฉบับโดยนายพงศ์สุขแล้วเช่นกัน แต่จะขอตอบไปพร้อมกัน) นั้น ก็เป็นเพียงการตกลงรับค่าสินไหมทดแทน และยุติคดีและไม่ติดใจเอาความในส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมที่ 1 และที่ 2 (บิดาและมารดาของนายกฤษณะ) เท่านั้น ไม่ได้มีผลเป็นการยุติคดีอาญาในส่วนของพนักงานอัยการ (โจทก์) แต่อย่างใดเนื่องจากความผิดที่จำเลยถูกฟ้องนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดินที่พนักงานอัยการ (โจทก์) ต้องดำเนินคดีต่อไปจนถึงที่สุด ไม่ว่าจะมีการตกลงกันอย่างไร และศาลยังคงต้องพิจารณาพิพากษาคดีไปตามกฎหมายเช่นเดียวกัน ตามที่ได้กล่าวไว้แล้วดังข้างต้น ส่วนศาลจะพิพากษาให้จำเลยต้องโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาหรือไม่นั้น ย่อมเป็นไปตามดุลยพินิจของศาล
และแม้โจทก์ร่วมทั้งสี่จะไม่ตกลงรับเงินเยียวยาความเสียหายในชั้นนี้ ตนก็ขอชี้แจงว่าจำเลยก็ยังคงได้รับประโยชน์จากการเยียวยาอยู่ดี เนื่องจากก่อนหน้าที่จะมีการตกลงรับเงินเยียวยากันนั้น จำเลยได้แสดงความประสงค์ที่จะบรรเทาความเสียหาย และได้ดำเนินการวางเงินเยียวยาความเสียหายบางส่วนต่อศาลไว้แล้วเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างสูง (แต่เป็นจำนวนที่ต่ำกว่าที่ได้ตกลงกับโจทก์ร่วมทั้งสี่) ซึ่งจะทำให้จำเลยได้รับประโยชน์จากการวางเงินดังกล่าวในส่วนของความผิดฐานประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายที่โจทก์ร่วมทั้งสี่เป็นผู้เสียหาย ไม่ว่าผู้เสียหายจะตกลงรับเงินจำนวนดังกล่าวไปจากศาลหรือไม่ก็ตาม
นอกจากนี้ ตนขอแจ้งว่าจำนวนค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหาย) ที่ครอบครัวนายกฤษณะตกลงรับจากจำเลยเพื่อเยียวยาความเสียหายนั้น เป็นจำนวนที่ทางครอบครัวพิจารณาเห็นแล้วว่าพอรับได้เพื่อให้ยุติคดีในส่วนแพ่งไป ทั้งนี้ เงินเยียวยาดังกล่าวเป็นเงินจำนวนที่น้อยกว่าค่าสินไหมทดแทน (ค่าเสียหาย) ที่ครอบครัว น.ส.ธันฐภัทร์ ได้ ”เจรจาต่อรอง” และ “ตกลงรับ” ไปจากจำเลยอยู่พอสมควร แต่ขออนุญาตไม่พูดถึงจำนวนเงินเนื่องจากเป็นเรื่องส่วนตัวของตัวความ เพราะชีวิตคนที่เสียไปนั้นย่อมประเมินค่าไม่ได้และไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยเงินเท่านั้น แต่ชีวิตของคนที่ยังอยู่ยังต้องเดินหน้าและดำเนินต่อไปโดยเก็บความทรงจำที่ดีเกี่ยวกับผู้เป็นที่รักที่จากไปไว้
สุดท้ายนี้ ตนขอแจ้งให้นายพงศ์สุขและประชาชนที่ติดตามข่าวทุกท่านได้ทราบว่า คดีนี้ ทั้งในส่วนของพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และกระบวนการพิจารณาในชั้นศาล ได้เป็นอย่างถูกต้องและครบถ้วน เป็นธรรม ตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดภายใต้การทำงานที่เอาใจใส่และรับผิดชอบอย่างเต็มที่จากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
หากนายพงศ์สุขมีข้อสงสัยในคดีและต้องการสอบถามประการใด โปรดติดต่อกับตนโดยตรง ตนยินดีจะตอบทุกคำถามเท่าที่ไม่ขัดต่อมรรยาททนายความ และตามที่โจทก์ร่วมที่ 1 และโจทก์ร่วมที่ 2 จะอนุญาต ทั้งนี้ หากคุณยังคงทำพฤติกรรมในลักษณะที่เป็นการใส่ความบุคคลในครอบครัวของนายกฤษณะ ที่เขาก็สูญเสียและเจ็บช้ำมามากมายอยู่แล้ว ต่อสาธารณะ โดยนายพงศ์สุขเองก็เป็นบุคคลสาธารณะ (Public figure) เป็นที่รู้จัก เมื่อนายพงศ์สุขได้แสดงความเห็นที่พาดพิงบุคคลอื่นให้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ตนในฐานะผู้ที่ถูกพาดพิงเช่นกัน และในฐานะทนายความของครอบครัวนายกฤษณะ คงมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการตามกฎหมายต่อไป เพื่อปกป้องชื่อเสียงและเพื่อให้ความถูกต้องปรากฎต่อสังคมโดยไม่ถูกบิดเบือนหรือคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง ดังที่นายพงศ์สุขกำลังทำอยู่
คลิกที่นี่ เพื่ออ่านเพิ่มเติม โพสต์จากเฟซบุ๊ก Prinya Sanitchone