xs
xsm
sm
md
lg

นายเรือโทฝรั่งเศสเข้ามากับคณะทูต ถูกสมเด็จพระนารายณ์ขอตัวไว้! ตั้งให้เป็นนายพลและผู้ว่าราชการเมืองบางกอก!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บังในชุดขุนนางสยาม “ออกพระศักดิ์สงคราม”
ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ยังมีนายทหารฝรั่งเศสอีกคนหนึ่ง ที่มีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทยช่วงนั้น เขารับหน้าที่เป็นผู้บัญชาการทหารเรือไทย เป็นแม่กองคุมการสร้างป้อมบางกอก และเป็นผู้ว่าราชการเมืองบางกอก

เขาผู้นี้ก็คือ นายเรือโท เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บังต์ ซึ่งเข้ามาพร้อมกับคณะราชทูต เชวาเลียร์ เดอ โชมองต์ ราชทูตคณะแรกของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔

ฟอร์บังเป็นคนหนุ่มจากตระกูลขุนนางของฝรั่งเศส เมื่อเด็กค่อนข้างเกเร รักการต่อสู้ผจญภัย เป็นคนคล่องแคล่วปราดเปรียว แต่โทโสและปากร้าย เกิดสบพระราชหฤทัยสมเด็จพระนารายณ์จึงขอตัวไว้ให้ช่วยราชการ เจ้าพระยาวิชเยนทร์ก็สนับสนุนว่าจะแต่งตั้งเขาเป็นนายพลผู้บัญชาการทัพบกทัพเรือ และผู้ว่าราชการเมืองบางกอกด้วย ซึ่งจะสร้างป้อมขึ้นที่เมืองนั้น ฟอร์บังไม่ยินดีที่จะอยู่ แต่เมื่อเป็นพระราชประสงค์ของสมเด็จพระนารายณ์ ราชทูตจึงสั่งให้เขาอยู่

ต่อมาหลังจากรับราชการในสยาม ๓ ปีเศษ ฟอร์บังมีเรื่องผิดใจกับวิชเยนทร์ จึงหนีกลับฝรั่งเศสโดยเรือสินค้า และได้เขียนหนังสือในชื่อ “จดหมายเหตุฟอร์บัง” พิมพ์ที่เมืองอัมสเตอร์ดัมใน พ.ศ.๒๒๗๒ หลังจากที่กลับไปถึง ๔๔ ปี ซึ่งข้อเขียนของฟอร์บังได้เปิดเผยถึงเรื่องราวแตกต่างจากที่บาทหลวงฝรั่งเศสบันทึกไว้หลายอย่าง และให้เห็นโฉมหน้าของเจ้าพระยาวิชเยนทร์อีกส่วนหนึ่งชัดเจน

ฟอร์บังเล่าว่า สมเด็จพระนารายณ์พระราชทานบ้านและทาสรับใช้ ๓๐ คน กับช้างอีก ๒ เชือก เครื่องเรือนไม่สู้งามนัก ๒-๓ ชิ้น แต่ให้จานเงิน ๑ โหล จานเงินใหญ่ ๒ จาน ผ้าเช็ดมือ ๔ โหล และเทียนสีเหลืองๆวันละ ๒ แท่ง

“นี่แหละเป็นภาชนะเครื่องใช้สอยของท่านนายพลเรือเอก และผู้บัญชาการทหารบกของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ควรรู้สึกพอใจเสียบ้าง จริงไหม” ฟอร์บังว่า

ต่อมาทรงโปรดให้วิชเยนทร์และฟอร์บังไปสร้างป้อมใหม่ที่บางกอก เพื่อเตรียมไว้ให้ทหารฝรั่งเศสที่จะมาเข้าประจำ แต่เดิมเป็นป้อมขนาดเล็กรูปสี่เหลี่ยม มีทหารโปรตุเกสและทหารไทยประจำอยู่สองกอง กองละสี่สิบคน สร้างใหม่เป็นหอรบรูปห้าเหลี่ยม ซึ่งก็คือ “ป้อมวิชเยนทร์” หรือ “ป้อมวิชัยประสิทธิ์” ที่หน้ากองทัพเรือในปัจจุบัน และให้เขาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการเมืองบางกอกด้วย

ด้วยมีความดีความชอบในราชการ สมเด็จพระนารายณ์จึงพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้ฟอร์บังเป็น “ออกพระศักดิ์สงคราม” ซึ่งฟอร์บังเขียนไว้ว่า บรรดาศักดิ์นี้เทียบเท่ากับชั้นจอมพลของฝรั่งเศส ราชทินนามนี้แปลได้ว่า “เทพเจ้าซึ่งมีแสงสว่างและชำนาญในการสงคราม”

ฟอร์บังเล่าว่า การที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงโปรดเขานี้ ทำให้วิชเยนทร์อิจฉามาก ความจริงวิชเยนทร์ไม่อยากให้เขากลับไปฝรั่งเศส เพราะกลัวปากของเขาจะนำเรื่องในเมืองไทยที่ไม่อยากเปิดเผยไปกราบทูลให้พระเจ้าหลุยส์ทรงทราบ จึงหาทางกำจัดฟอร์บังต่างๆนานา ทั้งวางยาพิษจนคนใช้ของเขาตาย และสั่งให้เขาไปสกัดจับเรือแขกมักกะสันที่วิชเยนทร์เขียนใบอนุญาตผ่านด่านให้ แต่สั่งฟอร์บังให้ขึงโซ่กั้นแม่น้ำขวางไว้ จนเกิดการฆ่ากันจนตายเป็นเบือทั้งสองฝ่าย

ชาวต่างประเทศหลายคนต่างเตือนให้ฟอร์บังรีบออกจากประเทศนี้ก่อนจะโดนกำจัด ฟอร์บังจึงเขียนหนังสือกราบบังคมทูลขอลาออกจากราชการ ซึ่งสมเด็จพระนารายณ์ก็ทรงอนุญาตตามประสงค์ แต่ขณะที่ฟอร์บังอยู่ในเรือสินค้าของฝรั่งเศสที่ปากน้ำ วิชเยนทร์ก็ส่งทหารโปรตุเกสคนหนึ่งถือพระราชกระแสให้มารับฟอร์บังไปเข้าเฝ้า ฟอร์บังคิดว่าเป็นแผนของวิชเยนทร์ที่จะปิดปากเขาแน่ เพราะสมเด็จพระนารายณ์ไม่เคยให้ใครอัญเชิญพระราชกระแส นอกจากทหารรักษาพระองค์ วิชเยนทร์อาจสั่งให้ทหารโปรตุเกสฆ่าเขาระหว่างทางก็ได้ จึงไม่ยอมไป วันรุ่งขึ้นเรือสินค้าลำนั้นก็ชักใบ นำอดีตผู้ว่าราชการเมืองบางกอกและผู้บัญชาการทหารบกทหารเรือของสมเด็จพระนารายณ์ ออกจากสยามไป

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับสั่งถามฟอร์บังเกี่ยวกับเมืองสยาม ฟอร์บังเล่าว่า

“ฉันกราบบังคมทูลพระกรุณาว่า ขอเดชะ ประเทศไทยไม่มีสินค้าที่จะส่งออกไปจำหน่าย และไม่ต้องการสินค้าที่จะนำมาบริโภค มีรับสั่งว่า ท่านพูดคำสองคำเท่านั้น ก็จุความได้มากทีเดียว”

ฟอร์บังกราบทูลอีกว่า ราษฎรกินแต่ผลไม้และข้าวซึ่งมีบริบูรณ์มาก พระราชอาณาจักรไทยนั้นเป็นรูปแหลม ซึ่งเป็นที่เหมาะสำหรับตั้งคลังสินค้าทำการค้ากับมัธยมประเทศ เพราะตั้งอยู่ระหว่างสองทะเล จึงเป็นที่ชุมนุมสินค้าที่มีประเทศต่างๆขนเข้าไปทุกปี ส่วนสินค้าไทยมีข้าว หมาก ดีบุก และช้างกับหนังสัตว์ป่าซึ่งมีมาก แต่คนไทยไม่มีสินค้าหัตถกรรมเลย นอกจากการทอผ้าบางๆ ซึ่งขุนนางเท่านั้นที่มีสิทธิที่จะนำไปตัดเย็บเป็นเสื้อสวมในงานพระราชพิธี

พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ รับสั่งถามว่า สมเด็จพระนารายณ์มีพระราชดำริจะเข้ารีตจริงหรือไม่ ฟอร์บังกราบบังคมทูลว่า สมเด็จพระนารายณ์ไม่เคยมีพระราชดำริจะเข้ารีตเลย และไม่มีมนุษย์หน้าไหนกล้าจะกราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงเลื่อมใสในศาสนาคริสต์ แม้ในวันที่เชวาเลียร์ เดอ โชมองต์เข้าเฝ้าถวายพระราชสาส์น มีข้อความเกี่ยวกับศาสนา แต่วิชเยนทร์ซึ่งทำหน้าที่เป็นล่าม ก็เว้นไม่แปลข้อความนั้นเลย เจ้าคณะเดอเมลโลโปลิส ซึ่งเข้าเฝ้าอยู่ด้วยและเข้าใจภาษาไทยดี ก็ยังไม่กล้าทักท้วง เพราะเกรงจะได้รับความลำบาก ซึ่งพระเจ้ากรุงฝรั่งเศสทรงพระสรวล และตรัสว่า เคราะห์ร้ายมากที่พระเจ้ากรุงสยามต้องใช้ล่ามที่ไม่แปลข้อความด้วยความสุจริต

พระเจ้าหลุยส์ยังรับสั่งถามว่าคณะบาทหลวงทำการเผยแพร่ศาสนาได้ผลเพียงไร ฟอร์บังกราบบังคมทูลว่า คณะบาทหลวงชักชวนคนไทยเข้ารีตไม่ได้แม้แต่คนเดียว เพราะคบหาสมาคมอยู่ในกลุ่มของชาวโปรตุเกส คนญวน คนญี่ปุ่นที่นับถือศาสนาคริสต์เท่านั้น

ฟอร์บังยังเล่าให้บาทหลวงเดอลาเซสที่สอบถามเกี่ยวกับเผยแผ่ศาสนาในสยามว่า ที่ศาสนาคริสต์ไม่ประสบผลสำเร็จนั้น ก็เพราะผู้เผยแผ่ศาสนาไม่เคร่งครัดเท่าพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งมีความอดทนและเคร่งครัดมาก เว้นเมถุนธรรม ไม่ละพรหมจรรย์ นอกจากสึกออกมาแต่งงาน ไม่เสพสุราเมรัย ฉันแต่ของที่คนใจบุญถวายให้เป็นวันๆเท่านั้น ของที่ได้มาเกินความจำเป็นก็บริจาคแก่คนจน ไม่เก็บไว้สำหรับวันพรุ่งนี้เลย พระภิกษุสงฆ์เหล่านี้จะไม่ออกจากวัดนอกจากไปบิณฑบาต และไม่วิงวอนให้คนใส่บาตร เพียงแค่ถือบาตรยืนนิ่งๆ ก็ได้ของเต็มบาตรแล้ว เพราะคนไทยใจบุญ ไม่บูชายัญ มักไปฟังเทศน์ในวัด ไม่ฟังเทศน์หรือสวดมนต์กลางแจ้ง ผู้หญิงไทยเป็นผู้หญิงบริสุทธิ์ ผู้ชายไม่ดุร้าย เด็กๆเชื่อฟังพ่อแม่ ฉะนั้นจึงไม่มีหวังที่จะเปลี่ยนใจคนไทยให้มาเลื่อมใสศาสนาคริสต์ได้

เชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บัง เป็นอีกชีวิตหนึ่งที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมามีบทบาทอยู่ในประวัติศาสตร์ไทย ความเป็นคนที่พูดจาโผงผางของเขา ถ้ากลั่นกรองเอาความเจ็บแค้นที่เขามีกับเจ้าพระยาวิชเยนทร์เป็นการส่วนตัวออกแล้ว ก็จะทำให้เห็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อีกด้านหนึ่ง ต่างจากที่บันทึกกันไว้
ภาพเขียนเชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บัง
ภาพปั้นเชวาเลียร์ เดอ ฟอร์บัง
กำลังโหลดความคิดเห็น