มาชมกระเป๋าเดินทางราวกับหุ่นยนต์ เคลื่อนไหวตามเจ้าของกระเป๋าได้เองด้วยระบบ GPS แถมชาร์จแบตมือถือได้ไม่ต้องง้อปลั๊กในสนามบิน
สบายล่ะ! กระเป๋าเดินทางแบบไม่ต้องลาก เชื่อมต่อกับ Smart Phone จะตามคุณไปทุกที่ pic.twitter.com/zYhJkHbmXf
— Teerat Ratanasevi (@teeratr) June 16, 2017
กลายเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นแก่ผู้พบเห็น สำหรับกระเป๋าเดินทางที่มีชื่อว่า ทราเวลเมท โรบอติกส์ (Travelmate Robotics) ซึ่งมีคุณสมบัติสามารถติดตามเจ้าของกระเป๋าไปได้ทุกที่ภายในสนามบิน ราวกับเป็นหุ่นยนต์ โดยที่เจ้าของกระเป๋าแค่ทำตัวให้ว่าง เดินตัวเปล่าโดยไม่ต้องทำอะไรกับกระเป๋า แล้วกระเป๋าจะตามมาเอง โดดเด่นด้วยการแสดงผลไฟแบบแอลอีดี และสามารถชาร์จแบตเตอรี่จากตัวกระเป๋าได้โดยตรง โดยไม่ต้องง้อปลั๊กไฟในสนามบินอีกต่อไป จากการตรวจสอบพว่ากระเป๋าดังกล่าวเปิดตัวไปเมื่อ 8 เดือนที่ผ่านมา ฝีมือของ ลีโอ รีเชนโก (Leo Ryzhenko) พร้อมทีมงานรวม 26 คน เป็นผู้คิดค้นผลิตภัณฑ์นี้ขึ้นมา
คุณสมบัติเบื้องต้นของกระเป๋า ทราเวลเมท โรบอติกส์ ตัวกระเป๋าสามารถเคลื่อนไหวแนวตั้งและแนวนอนได้เอง แบตเตอรีสามารถใช้งานได้ 4 ชั่วโมง 15 นาที สำหรับการใช้งานต่อเนื่อง และรอใช้งานได้ถึง 100 ชั่วโมง ในกรณีที่เข็นกระเป๋าแบบธรรมดา ไฟแอลอีดีสามารถเลือกสีและสั่งปิดเปิดได้ผ่านแอปพลิเคชัน วัสดุกระเป๋าทำจากพลาสติกเอบีเอส และ โพลีคาร์บอเนต เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 10.86 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ตามความเคลื่อนไหวของคน สามารถผ่านฝูงชนและพื้นผิวต่างระดับได้ ระบบเซ็นเซอร์รวมทั้งบลูทูธ และจีพีเอส ระบบติดตามผ่านเครือข่าย 4G, 3G และ GPS ระบบล็อกแบบอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมช่องยูเอสบี 2 ช่องสำหรับชาร์จแบตเตอรีมือถือ ใช้แบตเตอรีลิเธียมไอออน
สำหรับกระเป๋า ทราเวลเมท โรบอติกส์ มีให้เลือก 6 สี ได้แก่ สีกรมท่า สีแดง สีบรอนซ์น้ำตาล สีดำ สีม่วง และ สีส้ม ใบเล็ก ขนาด S (55 x 20 x 40 เซนติเมตร เหมาะสำหรับสัมภาระพกพา) อยู่ที่ 399 เหรียญสหรัฐฯ (13,600 บาท), ใบกลาง ขนาด M (69 x 29 x 49 เซนติเมตร) อยู่ที่ 495 เหรียญสหรัฐฯ (16,900 บาท) และ ใบใหญ่ ขนาด L (75 x 31 x 52 เซนติเมตร) อยู่ที่ 595 เหรียญสหรัฐฯ (20,250 บาท) โดยจะเริ่มจัดส่งสินค้าในเดือนกันยายนนี้ อย่างไรก็ตาม ในบางสายการบินไม่อนุญาตให้นำแบตเตอรีพกพาเป็นส่วนหนึ่งของสัมภาระเช็กอิน และยังไม่เป็นที่รับรองว่า กระเป๋าใบนี้จะสามารถนำขึ้นเครื่องบินได้ จึงต้องรอดูกันต่อไปว่าหากนำไปใช้อย่างแพร่หลายแล้ว ผู้ที่ดูแลมาตรฐานทางการบินจะว่าอย่างไร
รายละเอียดเพิ่มเติม คลิก http://travelmaterobotics.com