xs
xsm
sm
md
lg

สุดยอดครับอาจารย์!! ดอกเตอร์จุฬาฯ ด้านสเต็มเซลล์ ผู้หลงรักหมอลำ “ดร.แกง - วีระพงษ์ ประสงค์จีน”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากเด็กอีสานฐานะยากจนแดนทุ่งกุลาร้องไห้ สู่ดอกเตอร์ปริญญาเอกด้านสเต็มเซลล์จากประเทศอังกฤษ ดร.แกง วีระพงษ์ ประสงค์จีน

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก ก่อนจะมาประสบความสำเร็จเป็นอาจารย์เฉกเช่นทุกวันนี้ ดอกเตอร์สายเลือดอีสานถือได้ว่าเป็นคนหนึ่งที่ต้องทำงานหาเงินช่วยเหลือตัวเองและครอบครัวมาตั้งแต่เด็dเนื่องจากมีฐานะยากจน แต่ด้วยความที่เป็นเด็กขยันเรียน ขยันทำกิจกรรม และมีปณิธานติดตัวว่า “ขยันคือ…คำตอบ” สิ่งนี้จึงสามารถนำทางมาให้เขาประสบความสำเร็จได้จนถึงทุกวันนี้

นอกจากจะมีความรู้ทางด้านวิชาการที่เต็มเปี่ยมแล้ว อีกด้านหนึ่งที่ ดร.แกงก็ทำได้ดีไม่แพ้กันนั่นก็คือการร้องเพลงหมอลำ ซึ่งปัจจุบันเขายังสามารถนำทั้งวิชาการและหมอลำมาผนวกเข้าด้วยกันเพื่อนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนต่อไป

  • เส้นทางชีวิตของ ดร.แกง กว่าจะมาถึงวันนี้ไม่ใช่ง่ายๆ

ด้วยความที่เราอยากจะพัฒนาตัวเอง อยากจะเรียนให้สูงที่สุด เพราะพ่อแม่ไม่ได้จบสูง แต่สิ่งที่พ่อแม่หวังก็คืออยากให้เรามีโอกาสทางการศึกษา ซึ่งเขาก็ไม่ได้กำหนดหรอกว่าเราจะต้องจบปริญญาตรี โท หรือปริญญาเอก แต่ด้วยความที่เราก็ได้รับการสนับสนุนที่ดีมาโดยตลอดจากคุณครูแต่ละช่วงวัยทั้งชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษา หรือปริญญาก็ดี ท่านล้วนแนะนำแต่สิ่งดีๆ ให้กับผม แนะนำให้ผมสอบชิงทุน ซึ่งผมก็จบปริญญาตรีด้วยเงินของมูลนิธิดำรงชัยธรรมมาครับ

ผมได้เรียนปริญญาตรีที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ช่วงที่ผมเรียนที่มหาวิทยาลัย อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการปริญญานิพนธ์ รองศาสตราจารย์ ดร. ดวงเดือน เมฆสุริเยนทร์ ท่านก็แนะนำผมให้สอบชิงทุนรัฐบาลไทย เพราะว่าช่วงนั้นรัฐบาลกำลังเปิดสอบชิงทุนในสาขาวิชาที่ไม่มีในบ้านเรา ไปเรียนทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ การเรียนทางด้านนี้ เพราะเราอยากจะรู้จักว่าสมองของคนเราทำงานกันยังไง แล้วทำไมเด็กเขาถึงสามารถพัฒนาตัวเองได้ เพราะอย่างเราเป็นเด็กที่ยากจน คนอื่นเขามีโอกาสตั้งเยอะแยะ ไปเรียนกวดวิชา อยู่ในครอบครัวที่ร่ำรวย อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าเรามากเลย บางคนก็ประสบความสำเร็จ บางคนก็เกเร บางคนก็ไม่มีโอกาสเหมือนเราไม่ได้มาเรียนที่จุฬาฯ บางคนกวดวิชาทุกปีก็สอบตกอะไรอย่างนี้ สิ่งนี้เลยทำให้ผมรู้สึกอยากรู้ว่าสมองทำงานกันยังไง สิ่งแวดล้อมมีผลอะไรกับสมองบ้าง แล้วเราจะไปทำยังไงให้พัฒนาสมองของเด็กๆ บ้านเราได้ เราเลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราไปเรียนด้านสมองดีกว่า ผมเลยตัดสินใจไปรับทุนปริญญาโท และปริญญาเอกที่ลอนดอน ประเทศอังกฤษครับ

ผมจบปริญญาโทด้านประสาทวิทยาศาสตร์ที่ Imperial College London ประเทศอังกฤษ พอช่วงที่เรียนปริญญาโท ช่วงนั้นมีงานวิจัยของนักวิจัยชาวอเมริกัน เขาบอกว่าจริงๆ แล้วที่เราบอกว่าสมองเราหยุดการเติบโต ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีแต่ตายกับตาย ไม่มีการสร้างเซลล์ ไม่ถูกต้องหรอก เพราะในสมองมีสเต็มเซลล์อยู่ สเต็มเซลล์มันจะทำหน้าที่สร้างเซลล์ประสาทใหม่ทุกวัน ทำให้สมองของคนเราเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต เกิดการเรียนรู้ และเซลล์ประสาทที่เกิดขึ้นใหม่มันจะทำให้ประสบการณ์ใหม่ไปเชื่อมโยงกับวงจรประสาทเดิมๆ เราก็เลยรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องใหม่ เราอยากรู้จังเลย เพราะว่า เราก็คิดอยู่ว่าทำไมสิ่งที่เราทำตอนเด็ก เราออกกำลังกาย ทำกิจกรรม มันถึงเป็นประโยชน์กับเรา ก็เนื่องจากว่าปัจจัยต่างๆ เหล่านี้มันไปกระตุ้นให้สเต็มเซลล์ทำงานได้ดีขึ้น เซลล์ประสาทมันก็ทำงานได้ดีขึ้น มันก็เลยเป็นผลทำให้เราสามารถเรียนเก่งได้ ด้วยความสนใจผมก็เลยตัดสินใจเรียนปริญญาเอกด้านสเต็มเซลล์

ผมจบด้านสเต็มเซลล์จากลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งสเต็มเซลล์ที่ผมเรียน ผมก็ได้ทำสเต็มเซลล์หลายอย่าง ทั้งสเต็มเซลล์ด้านสมอง สเต็มเซลล์จากน้ำคร่ำ สเต็มเซลล์จากไขมัน หนึ่งก็เพื่อที่จะพัฒนาทางด้านการรักษาใหม่ๆ

อีกอย่างผมเรียนด้านนี้ก็เพื่อค้นหาศักยภาพสเต็มเซลล์ของร่างกายคนเราที่มีอยู่แล้วนี่แหละว่าเราจะหาปัจจัยอะไรบ้างที่จะปรับเปลี่ยนการทำงานของสเต็มเซลล์ให้สามารถทำงานได้ดี แล้วร่างกายคนเราก็จะมีสุขภาพดี โดยที่เราไม่ต้องไปกินยาหรือฉีดสเต็มเซลล์จากภายนอก

สิ่งที่พูดไปข้างต้นเป็นสิ่งที่ผมตั้งเป้าหมายจากการเรียนปริญญาเอก แต่ระหว่างที่ผมทำปริญญาเอก ผมก็คิดว่าวัตถุดิบที่เกิดจากการทำแล็บมันน่าจะเป็นประโยชน์ในการทำงานกับคุณครู หรือไปพูดคุยกับเด็ก ผมก็เลยเอาภาพถ่ายทางวิทยาศาสตร์มาเป็นวัตถุดิบในการทำสื่อการเรียนการสอน เลยเป็นที่มาของโครงการ stem kids ที่ทำเรื่องของวิทยาศาสตร์สเต็มเซลล์ให้กับคุณครูที่พระตำหนักสวนกุหลาบและคุณครูจากโรงเรียนอื่นๆ ทั่วประเทศ เพื่อที่จะทำให้นักเรียนและคนในวงกว้างได้รู้จักกับสเต็มเซลล์แล้วก็บทบาทของสเต็มเซลล์ในการสร้างเสริมสุขภาพ อันนี้ก็เป็นความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องของการเรียนในระดับปริญญาโท ปริญญาเอก

หลังจากที่ผมจบปริญญาเอก ผมก็กลับมาทำงานที่ประเทศไทย ก็ได้มาเป็นอาจารย์ที่คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำหน้าที่สอนนิสิตทั้งปริญญาตรี โท และปริญญาเอกที่จุฬาฯ ส่วนใหญ่ก็จะสอนเรื่องสเต็มเซลล์ สอนเรื่องสมอง สอนเรื่องอะไรต่างๆ พวกนี้ แล้วก็ทำแล็บ ส่วนงานอื่นๆ ก็จะเป็นงานกิจกรรม งานสเต็มศึกษา งานบรรยาย งานเป็นกรรมการตัดสินการประกวดอะไรต่างๆ มากมาย ซึ่งก็แล้วแต่ว่าเราจะไปบริการวิชาการกับองค์กรหรือว่าหน่วยงานไหนครับ

  • เห็นว่าเป็นทูตสเต็มด้วยใช่ไหมคะ

ทูตสเต็มก็เป็นโครงการหนึ่งซึ่งเราไปช่วยเหลือนักเรียนที่สนใจเรื่องของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ เพราะฉะนั้นโครงการสเต็มศึกษาก็มีความมุ่งหวังว่าจะให้นักเรียนทั่วประเทศไทยสามารถมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งกับวิชาชีพหรือทักษะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์และคณิตศาสตร์ได้ เราก็ไปช่วยเหลือ จัดกิจกรรมกับเพื่อนๆ ทูตสเต็มคนอื่นๆ ครับ โดยทูตสเต็มจะต้องผ่านการอบรมตามหลักสูตรของสสวท.

ตอนนี้เราก็ยังทำอยู่แต่ว่าด้วยความที่องค์กรต่างๆ เขาก็ปรับเปลี่ยนภารกิจบทบาทไปเราก็ทำในนามของส่วนตัวแล้วกับองค์กร ทางจุฬาฯ และกับเพื่อนๆ ที่เป็นคุณครูก็ยังทำอยู่ เพียงแต่ว่าไม่ได้ออกไปทำกิจกรรมบ่อยแบบสมัยก่อน เราก็จะเน้นไปที่วิทยาศาสตร์ท้องถิ่น พยายามที่จะสกัดองค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาไทย แล้วก็ผสานกับวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กและเยาวชนที่อยู่ต่างจังหวัด อันนี้คือสิ่งที่เรามีความมุ่งหวังครับ

  • ย้อนถามถึงก่อนจะมาประสบความสำเร็จเฉกเช่นทุกวันนี้หน่อยค่ะ เห็นว่าก่อนหน้านี้พื้นฐานครอบครัวของอาจารย์ยากจนมาก่อน

พื้นเพผมเกิดที่อำเภอสุวรรณภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด บางคนอาจจะบอกว่าเป็นดินแดนทุ่งกุลาร้องไห้ พ่อแม่ผมเป็นชาวนา ขายผักในตลาดสด หน้าที่ผมก็เข็นรถขายผักไปขายช่วยแม่ หารายได้พิเศษของตัวเองด้วยโดยการปลูกต้นไม้ปักชำไม้ดอกไม้ประดับ ช่วง ม.3 ม.4 ผมก็ไปเป็นพนักงานเสิร์ฟที่สวนอาหาร ช.มะลิวัลย์ แถวๆ บ้าน ตอนนั้นเขาก็จ้างผมตั้งแต่ 9 โมง 10 โมง ถึง 5 ทุ่ม ผมก็มีหน้าที่รับออเดอร์ เสิร์ฟอาหาร เก็บจาน ก็ได้ค่าตอบแทนวันละ 100 บาท เดือนละ 3,000 บาท อันนี้ก็คือหน้าที่ตอนเด็ก แต่เด็กกว่านั้นก็คือตอนประถมผมจะไปรับจ้างล้างชามก๋วยเตี๋ยวเรือแถวๆ ชุมชน ได้ทีก็ 10 บาท 20 บาท ได้กินก๋วยเตี๋ยวฟรีบ้าง แค่นี้ก็มีความสุขแล้วครับ ทำทุกอย่างเลยครับเพราะผมยากจน

ผมรู้สึกว่ามันสนุกดีนะครับ ตอนนั้นไม่ได้รู้สึกว่ามันยาก หรือเป็นปมด้อยอะไรเลย แค่รู้ว่าเราไปทำ แล้วเขาให้เงินมันก็ดีหนิ เราได้นับเงิน ได้ไปโรงเรียน ได้สนุก ได้กินของฟรี อันนี้คือความสนุกของเราตอนนั้น ก็ทำงานช่วยแม่ไป เรียนหนังสือไปด้วยครับ

  • ขยันมาตั้งแต่เด็กๆ แบบนี้ใช่ไหมคะทุกวันนี้ถึงได้ใช้ปณิธานว่า "ขยันคือ...คำตอบ"

ถือได้ว่าผมขยันมาตั้งแต่เด็กนะครับ อย่างตอนเด็กๆ ที่ทำงานเยอะการเรียนก็ไม่เสียนะครับเพราะดึกๆ 4-5 ทุ่ม เราจะชอบอ่านหนังสืออยู่ใต้ถุนบ้าน บางทีเพื่อนบ้านขับรถผ่านก็จะเห็นว่าลูกบ้านนี้มันแปลกนะดึกดื่นไม่ยอมนอนก็ไปฟ้องแม่ว่ามันไม่ยอมหลับยอมนอน แม่ก็จะบอกว่าอ๋อมันอ่านหนังสือ แม่ก็กลัวว่าลูกจะเป็นบ้าเลยบอกให้อ่านน้อยๆ ลงหน่อย (หัวเราะ)

อีกอย่างนอกจากทำงานแล้ว ผมยังชอบทำกิจกรรมในโรงเรียนด้วย ซึ่งพ่อแม่จะไม่เคยจำกัดการเรียนรู้หรือทำกิจกรรมของผมเลยนะครับ เราก็เลยจะได้ทำทุกอย่าง ทำภาษาไทย ทำกิจกรรมศิลปะ วาดภาพ เป็นนักกีฬาโรงเรียน เป็นกรรมการนักเรียน เป็นนักจัดรายการเสียงตามสายของโรงเรียน ร้องเพลงหน้าเสาธง นำสวดมนต์ตอนเช้า ทำหมด เพราะว่าพ่อแม่ไม่เคยบังคับ ครูก็ให้ทำ ทำไมเราต้องปฏิเสธด้วยล่ะ ไม่มีเหตุผลที่เราต้องปฏิเสธ ครูไว้วางใจ ครูเชื่อมั่นว่าเราทำได้ เราก็ทำครับ เราก็ทำโดยไม่รู้หรอกว่าทำแล้วได้อะไร แต่ทุกวันนี้รู้แล้วแหละว่ากิจกรรมที่ครูให้ทำมันเป็นทักษะที่ประกอบร่างเป็นตัวเราทุกวันนี้ แล้วมันไม่ได้หายไปไหนนะครับ มันก็ยังติดตัวเราไปตลอด ไม่มีใครขโมยได้ อันนี้ก็คือสิ่งที่ผมได้รับการเรียนรู้มา

มีครั้งหนึ่งผมมีโอกาสไปเข้าค่ายคุณธรรม ไปอยู่ที่วัด 7 วัน หลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม ท่านก็ไปอบรมคุณธรรมที่วัดเวฬุวัน จังหวัดขอนแก่น และก็มีนายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ ท่านก็มาพูดคุยให้ฟังว่ากว่าท่านจะเดินทางเติบโตมาขนาดนี้ ท่านต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมายก่ายกองเลย เราเป็นเด็กเราก็จดไดอารีว่าหมอกระแสเป็นเด็กขอนแก่นไปขายน้ำอัดลมที่บขส. มาก่อนนะ

ตอนนั้นผมก็เลยได้เรียนรู้ว่ามีคนลำบากกว่าเราเหมือนกัน และทุกวันนี้เขาก็มีชีวิตที่ดี ได้เรียนหนังสือดีๆ เราก็เลยจดคุณสมบัติของหมอกระแสมาเยอะมาก พอกลับออกจากวัด จำได้ว่าตอนนั้นนั่งรถเมล์สีแดง เป็นรถเปิดอากาศธรรมชาตินี่แหละ ผมก็หยิบไดอารีที่จดไว้ขึ้นมาอ่าน แล้วได้ข้อสรุปในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมคิดว่าทั้งหลายทั้งปวงที่หมอกระแสท่านพูด ที่หลวงพ่อจรัญท่านเล่าให้ฟังนั่นก็คือ “ขยันคือคำตอบ” และตั้งแต่นั้นมา ผมก็เลยคิดว่าถ้าเราขยันเรียน ขยันทำงาน ขยันทุกอย่าง มันจะคือคำตอบของความสำเร็จ ผมก็เลยใช้คำว่าขยันคือคำตอบมาตั้งแต่สมัยเรียนชั้นประถม มัธยม จนกระทั่งทุกวันนี้ผมก็ยังใช้ปณิธานอันนี้อยู่ครับ

  • นอกจากจะประสบความสำเร็จ เรียนจบดอกเตอร์ เป็นอาจารย์ เป็นทูตสเต็มอะไรต่างๆ แล้ว อาจารย์แกงยังประสบความสำเร็จกับงานอดิเรกอย่างการร้องหมอลำด้วย เพราะเห็นว่าการร้องหมอลำของอาจารย์ก็โดดเด่นไม่แพ้กัน

จริงๆ แล้วผมอยากเป็นพระเอกหมอลำมาตั้งแต่ตอนที่ผมไม่ได้ทุนแล้วนะครับ เพราะว่าเราชอบดูหมอลำจนมีความคิดว่าอยากเป็นพระเอกหมอลำซึ่งเราไม่รู้ว่าจะเรียนคณะอะไรหรอก เราไม่รู้จักอาชีพอื่นๆ นอกจากตำรวจ ครู พยาบาล แต่ตอนนั้นผมไม่กลัวเลยนะว่าเราจะไปทำอะไรดี เพาะปลูกต้นไม้เราก็ทำได้ เราอยากเป็นเกษตรกร อยากเปิดร้านขายต้นไม้เราก็ทำได้ อยากทำนาเราก็ทำได้ อยากเป็นนักพูด นักการทูตเราก็อยากเป็นเพราะเราชอบทำกิจกรรม เราเลยไม่กลัว

ที่ผมอยากเป็นพระเอกหมอลำเพราะเราไปดูหมอลำ เห็นว่าพระเอกหมอลำโก้ดี สนุกด้วย ได้เดินสายไปร้องหมอลำตามหมู่บ้านต่างๆ ก็เลยทำให้อยากเป็น แต่ผมไม่ได้มีญาติพี่น้องเป็นหมอลำเลยนะครับ แต่ว่าผมชอบขับมอเตอร์ไซค์ไปดูหมอลำกับเพื่อน ไปดูหน้าเวที ไปซอดแจ้ง ปูเสื่อไว้ บางครั้งก็ไปปูเอง บางครั้งก็ไปยืนอยู่หน้าเวที หรือบางทีไปกับเพื่อนผู้หญิงที่เขาบ้านใกล้กับเวทีหมอลำเขาก็จะไปปูเสื่อรอ การไปฟังหมอลำเราก็ต้องมีการเตรียมตัวเองด้วยนะครับ ถ้าตั้งใจที่จะไปดูหมอลำสว่างคาตาเราก็เตรียมตัวเองที่จะนอนหลับตอนกลางวันก่อนเผื่อตอนกลางคืนเราจะได้ไม่ง่วงนอน เราไปดูเสร็จ 8 โมงเช้าเราก็จะกลับมานอน เราก็จะสามารถไปดูได้เฉพาะช่วงวันศุกร์ เสาร์ หรือบางทีเพื่อนก็พาไปดูหลังเวทีบ้าง แต่เราก็จะชอบดูว่าข้างเวทีเขาทำกันยังไง มีการจัดการยังไง มีคนให้คิว ทำไมเขาต้องปล่อยคิวแบบนี้ ทำไมนักร้องต้องออกมาพร้อมกับคนนั้นคนนี้ เราดูแล้วเราเสพวัฒนธรรมด้วย เราก็ได้สาระของการจัดการเชิงวัฒนธรรมด้วยว่าเขาทำยังไง ถ้าเราอยากเป็นแบบนี้ต้องทำยังไง มันคือความผูกพันครับ

ผมไม่เคยได้ไปเรียนหมอลำ ไม่เคยมีครูจริงจัง ไม่เคยถูกฝึกหัดให้เป็นหมอลำมืออาชีพ แต่เราอาศัยทักษะที่ครูภาษาไทยสอนมาตั้งแต่สมัยประถม มัธยม แล้วเราก็ฟังหมอลำ ครูพักลักจำ หัดร้องเอาเอง ฟังตามยูทิวบ์ ฟังตามวิทยุเอฟเอ็มต่างๆ พยายามเลียนแบบเขาแต่เราก็เลียนแบบได้ไม่เต็มที่นะครับ แต่เราคิดว่าไม่เป็นไรเพราะเราไม่ได้เป็นนักร้องมืออาชีพ เราแค่ต้องการร้องให้มันได้ ได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือ 80 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่ถ้าคนชื่นชอบ ชื่นชมเราก็ยินดีมีความสุข

ผมจะร้องทั่วๆ ไปเลยครับ ร้องตามกลอนรำ ร้องเพลงตลาดทั่วๆ ไป บางครั้งผมก็ฝึกหัดการรำล่องบ้างหรือผมได้พบคุณครูท่านหนึ่ง ท่านสอนอยู่ที่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ท่านชื่อว่าครูพรครับ ท่านหวังดีมาก ท่านก็สอนผมร้องหมอลำ ลำเพลินธรรมดานี่แหละครับผ่านทางเฟซบุ๊ก มีกลอนเทิดพระเกียรติด้วย ซึ่งท่านบอกว่าผมต้องหัดร้องไว้เวลาไปงานบางงานจะต้องร้องเทิดพระเกียรติในหลวง เทิดพระเกียรติพระราชินี เราอยู่กรุงเทพฯ ครูอยู่วิทยาลัยนาฏศิลป์ร้อยเอ็ด ไม่มีเวลาเจอกันก็สอนผ่านเฟซบุ๊กเอาครับ

  • แต่สุดท้ายก็เลือกมาเป็นอาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ที่ผมไม่ได้เป็นพระเอกหมอลำเนื่องจากว่าความสามารถในด้านวิชาการของเราก็อยู่ในขั้นดี ได้คะแนนดี เพราะฉะนั้นความคิดที่จะเป็นหมอลำมันก็เลยถูกพับโครงการไป กลายเป็นทำให้เรามาเรียนในระดับมหาวิทยาลัยแทน

ผมพับโครงการไปแต่ผมก็ยังคงร้องหมอลำเหมือนเดิมนะครับ ทำงาน ไปเรียนต่างประเทศ ผมก็อาศัยเปิดคลิปในยูทิวบ์ ร้องเพลงผ่อนคลายไปด้วย สมัยก่อนตอนไปเรียนที่ลอนดอน ผมก็เคยร้องหมอลำ ร้องเพลงลูกทุ่งให้คนอื่นฟัง ใส่ในยูทิวบ์เหมือนกัน ก็มีคนเข้ามาดู มาติดตามแต่ก็ไม่ได้จริงจังนะครับ ก็ร้องมาเรื่อยๆ ตอนอาบน้ำผมก็ร้องเพลงหมอลำตามสไตล์เด็กธรรมดาที่เคยร้องในโอ่งมาก่อน (หัวเราะ)

พอมาทางสายวิชาการ ผมก็ไม่เคยอยากเป็นนักร้องมืออาชีพ ออกซิงเกิล ออกซีดี หรือมีผลงานเพลงแล้วนะครับ อีกอย่างผมไม่เคยมีความคิดที่จะประกวดเพราะว่าเราไม่เคยมีแมวมอง ไม่มีใครส่งเสริม เราเคยคุยกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่อยู่ในวงการเพลงอยู่เหมือนกัน ซึ่งผมบอกท่านว่าอยากเป็นหมอลำ ท่านก็ขำ ท่านก็บอกจะมาเป็นทำไม เป็นอาจารย์ดีอยู่แล้ว ไปเรียนปริญญาเอกจะมาเป็นทำไม เราก็เลยรู้สึกว่าแสดงว่าเขาเห็นว่ามาดเราไม่เหมาะกับการเป็นหมอลำ แต่เราก็ไม่ได้ทิ้งการเป็นหมอลำนะครับเพราะว่าเราชอบ เดี๋ยววันหนึ่งเขาอาจจะเห็นแววว่าเราสามารถเป็นหมอลำได้ อาจจะเป็นหมอลำในมาดนักวิชาการก็ได้ (หัวเราะ)

ทุกวันนี้ผมก็ยังร้องเพราะว่าผมชอบ ผมรู้สึกว่าเราเป็นคนอีสาน เราก็ควรที่จะร้องหมอลำได้ พูดภาษาอีสานได้ เพราะมันเป็นรากเหง้าของเรา เป็นจุดแข็งที่จะต้องรักษาไว้ เป็นทักษะที่ผมอยากเรียนรู้ก็แค่นั้นครับ แต่ก็มีบ้างที่มีโอกาสไปร้องตามงานบุญงานบวช ตามชมรมต่างๆ ตามวงดนตรีโรงเรียนบ้างเล็กน้อย ทุกวันนี้ก็มีคนถามว่าทำไมไม่ไปเป็นศิลปิน ซึ่งเราเป็นอาจารย์ ส่วนงานอื่นๆ ก็เป็นงานเสริม งานอดิเรก แต่มันก็ประกอบร่างเป็นตัวเรา เราเป็นอาจารย์ก็สามารถใช้ทักษะอื่นๆ มาเสริมการทำงานได้ เพราะเราไม่ได้ใช้ทักษะเดียวในการทำงาน หมอลำเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตัวเราสามารถพูดคุยสื่อสาร มีความเป็นตัวเรา มีเส้นทางที่โตได้ในแบบของเรา ภาษาไทยก็เป็นส่วนหนึ่ง ความเป็นอีสาน ความเป็นคนร้อยเอ็ดก็เป็นส่วนหนึ่ง ที่ผมตัดขาดไม่ได้ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญซึ่งเราไม่ควรทิ้งไประหว่างทางครับ

  • แล้วอาจารย์เอาทักษะทางด้านวิชาการและงานอดิเรกมาใช้ร่วมกันยังไงบ้างคะ เพราะเห็นว่าอาจารย์เอาหมอลำหรือกิจกรรมที่ชอบมาผนวกกับเรื่องสเต็มเซลล์ที่ถนัดด้วยเหมือนกัน

ใช่ครับ บางทีผมก็แต่งกลอนรำเกี่ยวกับเรื่องสเต็มเซลล์ หรือบางทีผมไปบรรยายผมก็ร้องหมอลำให้เด็กๆ ฟัง ผมก็แต่งเพลงเอาเนื้อหาสเต็มเซลล์ที่เราอยากจะสอนวิทยาศาสตร์ใส่ทำนองให้เป็นหมอลำเข้าไป หรือจะให้เด็กๆ ที่โรงเรียนแต่งกลอนสเต็มเซลล์ หรือว่าโต้คารมอภิปรายสเต็มเซลล์ คือผมว่าการเรียนการสอนมันสามารถที่จะผนวกกับหลายๆ วิชาได้ ไม่จำเป็นว่าวิทย์จะต้องสอนแบบวิทย์ วิทย์สามารถที่จะเอาสังคมศึกษา เอาวัฒนธรรม เอากีฬา เอาศิลปะมาใส่ได้ บางครั้งก็เอาศิลปะในทักษะการวาดภาพมาวาดเกี่ยวกับสเต็มเซลล์ หรือบางทีเราก็ไปขอความรู้ทางคุณครูทำเปเปอร์มาเช่ ทำงานศิลปะ ในเรื่องวิทยาศาสตร์เพื่อที่จะเอาศิลปะเป็นตัวนำให้เด็กได้สนใจวิทยาศาสตร์มากขึ้น

ผมว่าสิ่งที่ครูสามารถจัดประสบการณ์เรียนรู้ สร้างหลักสูตรใหม่ได้ ให้มันสนุกขึ้น ให้ได้สาระ แล้วเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ให้ไปเรียนต่อด้วยตัวเอง ถ้าเรียนแค่ท่องในห้องเราก็หยุดเด็กก็จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเพิ่ม แต่การแค่จุดชนวน จุดไฟให้เด็กเป็นผู้เรียนอย่างอิสระ เด็กจะเรียนมากกว่าในห้องเรียน คืออย่างเรื่องสเต็มเซลล์เอามาพูดเลยมันก็จะยาก จะเครียดไป เราก็เอาแต่งเป็นกลอน เป็นหมอลำให้สนุกสนานมากขึ้น หรือเราอาจจะไม่ได้พูดเรื่องสเต็มเซลล์ตั้งแต่แรก เราอาจจะพูดไปว่าทำยังไงเราจะเรียนเก่ง ทำยังไงเราจะสุขภาพดีเราก็โยงเข้ามาหาสเต็มเซลล์ว่ามันอยู่ในร่างกายเราอยู่แล้วนะ เราก็หาทางในการบำรุงมันสิ ออกกำลังกาย กินของมีประโยชน์ สเต็มเซลล์ก็มีความสุข ร่างกายก็สุขภาพดี อายุยืนยาว

ตอนนั้นที่แต่งกลอน แต่งหมอลำสเต็มเซลล์เพราะเราเห็นว่ามันมีอยู่ในกระปุกเครื่องสำอาง แล้วเรารู้สึกว่าจริงๆ ไม่ควรซื้อนะเพราะสเต็มเซลล์มันตายหมดแล้ว แต่ผมจำไม่ได้นะว่าผมแต่งกลอนรำยังไง แต่อารมณ์ประมาณว่าเราพยายามบอกว่าสเต็มเซลล์ที่คนอยากจะฉีดแล้วหน้าเด้ง ทำให้อ่อนกว่าวัยจริงๆ แล้วมันมีในทุกคนแหละ ไม่ต้องไปซื้อครีมในกระปุกนะเพราะว่าสเต็มเซลล์มันตายหมดแล้ว และตามกฎหมายสเต็มเซลล์ก็ไม่สามารถเอาใส่ในเครื่องสำอางได้เพราะมันผิดกฎหมายนะ อะไรทำนองนี้ครับ คือเราพยายามที่จะสื่อสารสังคมเอาวิทยาศาสตร์ให้เข้าไปถึงชาวบ้านมากที่สุดผ่านการใช้สื่อในหลายๆ รูปแบบ เพื่อให้เขาเข้าใจได้มากขึ้น

อย่างการที่ผมไปออกรายการไมค์ทองคำ หมอลำฝังเพชร วัตถุประสงค์หลักของผมเลยก็คืออยากจะเล่าเรื่องสเต็มเซลล์ เล่าเรื่องการทำงานของสมอง อยากจะเล่าเรื่องชีวิตความเป็นมาว่าทำไมผมถึงสามารถพัฒนาตัวเองให้กับคนดูที่อยู่ทางบ้านผ่านการร้องหมอลำ อันนี้คือวิธีการที่จะทำให้มันควบคู่กันได้ ไม่ใช่ว่าผมจะต้องการไปเป็นหมอลำจริงจัง หรือหวังว่าจะชนะ แต่ผมคิดว่ามันเป็นวิธีการหนึ่งที่จะทำให้เราเข้าถึงคนที่เขาดูรายการนี้ ที่เป็นชาวบ้านธรรมดา ที่ไม่ได้มีฐานะร่ำรวยมาก และถ้าเผื่อเรามีโอกาสไปใช้ความสามารถเราในการเป็นหมอลำเขาก็อยากฟัง ซึ่งถ้าเราพูดเรื่องสเต็มเซลล์ พูดเรื่องสมอง พูดเรื่องชีวิตวัยเด็กต่อ เขาก็ย่อมรับสารที่เราส่งไปให้ควบคู่กันไปด้วย อันนี้ก็เลยเป็นที่มาของการต้องไปร้องหมอลำ ก็เหมือนกันครับที่สมัยก่อนเรามีตำรวจ เขาก็ต้องไปร้องหมอลำ ร้องให้ชาวบ้านเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับชาวบ้าน ผมก็เลยคิดว่านักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัยก็สามารถที่จะสร้างสัมพันธภาพที่ดีกับชาวบ้าน กับประชาชนได้ผ่านการใช้ศิลปวัฒนธรรมเช่นกัน

  • แล้วผลตอบรับที่ได้เป็นเช่นนั้นไหมคะ

คนที่ดูเขาก็ชอบนะครับ แต่สิ่งสำคัญก็คือว่าคนที่อยู่แถวบ้านผมที่จังหวัดร้อยเอ็ด รู้สึกว่าเขาจะรู้จักผมมากขึ้น เห็นความสำคัญของวัฒนธรรมพื้นบ้าน แล้วก็เข้าใจถึงที่มาที่ไปมากขึ้น สามารถที่จะสืบสาวราวเรื่องได้ รู้ว่าเรายากจน เมื่อเขาได้เข้าใจเส้นทางชีวิตแล้วก็พยายามที่จะวิเคราะห์ถอดบทเรียนว่าการที่ผมมาเป็นอย่างทุกวันนี้มันมีองค์ประกอบ มันมีเหตุปัจจัยต่างๆ มานะ ไม่ใช่อยู่ๆ มาเลย แต่ละเส้นทาง แต่ละตอนของผมมีผู้สนับสนุน มีผู้สร้างผมมาเยอะ ทั้งคุณพ่อ คุณแม่ ทั้งญาติ ทั้งคนรอบข้าง ทั้งครูบาอาจารย์ ทั้งคนในท้องถิ่น ทุกคนเลยครับ เราได้เรียนรู้ เมื่อเราได้เรียนรู้ ได้พบเจอกับผู้คน เราก็เก็บประสบการณ์นี้มาฝังชิปในสมองเรา แล้วเราก็เปลี่ยนเป็นการรับรู้ในแบบฉบับของตัวเรา

เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่างที่มันมากระทบกับสมองของเรามันไม่หายไปไหน มันฝังรากลึกในสมอง เราก็เอามาปรับใช้ ชีวิตของเรามันพัฒนาจากประสบการณ์เก่าบวกกับของใหม่ ความคิด ตัวตน เราก็พัฒนาปรับเปลี่ยนมาจากคนอื่นๆ ถึงเป็นตัวเรา อันนี้ก็คือแนวคิดที่ผมพยายามจะบอกทุกคนหรือน้องๆ ว่าชีวิตเราเรียนรู้ทุกวันแหละ มันไม่มีใครที่จะสำเร็จหรือล้มเหลวอยู่ตลอดเวลา ทุกอย่างคือประสบการณ์การเรียนรู้ เราคิดจะทำแต่สิ่งดีๆ เราก็จะเจอแต่สิ่งดีๆ เพราะเรามีความมุ่งหวังที่จะเห็นภาพดีๆ เกิดขึ้นในชีวิต

  • มีเป้าหมายหรือคาดหวังอะไรต่อไปกับทั้งงานหลักและงานอดิเรกบ้าง

ผมว่าพันธกิจของชีวิตผม ผมอยากจะใช้ความสามารถ ใช้ทักษะของตัวเอง ใช้ความเชี่ยวชาญ ใช้วิชา ใช้ประสบการณ์ของตัวเองทำให้ทั้งนักเรียน คุณครู ผู้ปกครองได้เข้าใจว่าชีวิตของนักเรียนคนหนึ่งโดยเฉพาะนักเรียนต่างจังหวัด นักเรียนที่อยู่ภายใต้ความยากจน ขาดแคลน เขาสามารถที่จะพัฒนาตัวเองได้ สร้างศักยภาพ เสริมศักยภาพ สร้างช่องทางชีวิต เปิดโอกาสของชีวิตได้ โดยผมจะไปคอยจัดกิจกรรม คอยสร้างแรงบันดาลใจ และเมื่อเด็กสามารถที่จะรู้เส้นทางชีวิตตัวเอง มีแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนชีวิตได้ด้วยตัวเอง เขาก็จะเป็นคนที่ดี ทำให้เขาอยู่ได้ ครอบครัวก็มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และสังคมก็จะดีขึ้น ความเลื่อมล้ำในสังคมมันก็จะน้อยลง

ส่วนหมอลำผมก็เอามาผนวกเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผมเพราะผมคิดว่าการใช้หมอลำเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำกิจกรรม มันก็เป็นสิ่งที่เยาวชนก็จะได้พัฒนาหมอลำต่อ พัฒนาได้อาจจะหมอลำมีแบบอื่น หมอลำสั้น หมอลำยาว หมอลำที่ทำเป็นธุรกิจก็ได้ หรือมาประยุกต์เป็นการเรียนการสอนต่อไป

ชีวิตเรามีชีวิตหนึ่งเดียวผมจะไม่แยกว่าอันนี้คืองานหลัก งานรองนะ เป็นดีเจ เป็นนักโทรทัศน์ เป็นหมอลำ เป็นนักกิจกรรมให้กับนักเรียน ผมก็ไม่เคยแยกกันครับ ผมทำได้ทุกอย่าง เพราะสิ่งที่เราทำทุกวัน ทั้งสอน ทั้งทำกิจกรรม ทั้งร้องหมอลำมันก็หนึ่งชีวิตของผมครับ

  • สุดท้าย ในฐานะที่เรียนและทำงานด้านสเต็มเซลล์ อยากขอความรู้ว่าสเต็มเซลล์มีความสำคัญอย่างไรบ้างคะที่เราควรรู้

สเต็มเซลล์มันมีอยู่แล้วตั้งแต่เราเกิดมา ตั้งแต่ที่เรายังเป็นตัวเล็กๆ เป็นตัวอ่อนในท้องแม่ ซึ่งสเต็มเซลล์มันก็ทำหน้าที่ในการสร้างอวัยวะ สร้างแขน สร้างขา สร้างตา อันนี้คือหน้าที่ของสเต็มเซลล์ เมื่อเราคลอดออกมาจากท้องแม่ สเต็มเซลล์ก็ไม่ได้หายไปไหน สเต็มเซลล์ก็ยังอยู่ที่แขน อยู่ที่ไขกระดูก อยู่ที่ตา อยู่ที่สมอง อย่างสเต็มเซลล์ที่ไขกระดูกก็ทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือดขึ้นมาใหม่ทุกวันๆ ร่างกายเราอยู่ได้ด้วยการสร้างเซลล์ใหม่จากสเต็มเซลล์ที่อยู่ในแต่ละอวัยวะ แม้กระทั่งคนเราแก่ตัวเป็นผู้สูงอายุก็ยังมีสเต็มเซลล์อยู่ เพียงแต่ว่าเมื่อร่างกายเราแก่ตัวไป ร่างกายเราสึกหรอ จำนวนและคุณภาพของสเต็มเซลล์อาจจะน้อยลงตาม เราถึงจำเป็นต้องหาวิธีการอะไรก็ตามแต่ที่จะปรับให้จำนวนหรือคุณภาพของสเต็มเซลล์มันทำงานได้ดีขึ้น อันนี้ก็คือวิธีการหนึ่ง

อีกสิ่งหนึ่งที่คนอยากจะหาทางลัดก็คือฉีดสเต็มเซลล์มาจากคนอื่น เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ และฉีดเข้าไปในร่างกาย แต่สิ่งที่ผมอยากจะเน้นย้ำก็คือสเต็มเซลล์มีอยู่แล้วในตัวของแต่ละคนขึ้นกับว่าเราอยากจะดูแลหรือเปล่า อยากจะใช้ประโยชน์จากสเต็มเซลล์ของตัวเรามากน้อยแค่ไหน ถ้าเราสามารถดูแลตัวเองได้ เราก็ไม่ต้องเสียเงินเยอะไปฉีดสเต็มเซลล์ ผมมุ่งหวังอยากจะให้คนทั่วไป ให้ชาวบ้าน ให้ผู้บริโภคได้เข้าใจว่าสเต็มเซลล์ที่จะฉีดเข้าไปแล้วเปลี่ยนหน้ามือเป็นหลังมือ ไม่แก่ ไม่ตาย เป็นอมตะ มันยังไม่มีอยู่จริงในโลกนี้หรอก สเต็มเซลล์ที่ดีที่สุดไม่ต้องไปหาไหนไกล อยู่ในตัวของเราทุกคน

เขามีการศึกษาเหมือนกันนะครับว่าจำนวนสเต็มเซลล์ในสัตว์ทดลองที่อายุเยอะก็จะมีจำนวนสเต็มเซลล์ที่น้อยลง คุณภาพก็อาจจะไม่ดี เพราะฉะนั้นถ้าเผื่อปัจจัยบางอย่างเพิ่มจำนวน และคุณภาพของสเต็มเซลล์ได้ สัตว์ทดลองก็อาจจะดูชะลอวัย แล้วถ้าเผื่อมีปัจจัยบางอย่างสามารถย้อนวัยสัตว์ทดลองได้ เขาก็ไปค้นพบว่ามันสัมพันธ์กับจำนวนและคุณภาพการทำงานของสเต็มเซลล์ที่มันดีมากขึ้น นักวิจัยบางส่วนก็เลยเชื่อว่า ถ้าหากเราสามารถรักษาปริมาณและคุณภาพการทำงานของสเต็มเซลล์ที่มันพอเหมาะพอควรมันก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างเสริมสุขภาพของมนุษย์เราได้ แต่ไม่ใช่ว่าการฉีดสเต็มเซลล์เยอะๆ แล้วมันจะดี เพราะยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่ามันปลอดภัย

นักวิจัยค้นพบว่ากิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นการออกกำลังกายซึ่งจะช่วยกระตุ้นการทำงานของสเต็มเซลล์ สร้างเนื้อเยื่อให้แข็งแกร่งขึ้น เรื่องของการสำรวจ การท่องเที่ยว การเรียนรู้ หรือการได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ไปเที่ยวชุมชน ไปเรียนรู้วิถีชีวิตของชาวบ้าน ไปย้อมผ้าไหม ไปหมักโคลน ต่างๆ เหล่านี้ เวลาที่เราไปเรียนรู้ เขาบอกว่าสเต็มเซลล์ที่มันสร้างเซลล์ประสาทใหม่เมื่อเกิดการเรียนรู้มันจะทำให้เซลล์ประสาทใหม่ถูกสร้างขึ้นมามีอายุยืนยาว สามารถอยู่รอดได้ สามารถไปเชื่อมโยงกับวงจรประสาทเดิมที่มีอยู่แล้วในร่างกายของคนเรา อันนี้คือบทบาทการเรียนรู้ที่ไปเสริมกับวงจรประสาทเดิมให้มันเข้มแข็งมากขึ้น

เรื่องของอาหารการกินก็สำคัญ เวลาที่เรากินอาหารเข้าไปมันก็จะถูกย่อยลงไปในกระแสเลือด และโมเลกุลต่างๆ เหล่านี้มันก็จะเดินทางไปยังบ้านของสเต็มเซลล์ แล้วมันก็ปรับเปลี่ยนการทำงานของสเต็มเซลล์ในบ้านของสเต็มเซลล์ สเต็มเซลล์ก็อาจจะสร้างเซลล์มากขึ้น

นอกจากนี้ก็ต้องลดสารเสพติด ลดสารที่ทำให้เกิดพิษ เหล้าอาจจะไม่ดีกับสเต็มเซลล์ บุหรี่ก็จะไม่ดีกับสเต็มเซลล์ หรือว่าสารเสพติดอื่นๆ ก็ไม่ดีกับสเต็มเซลล์เพราะมันเป็นตัวทำลาย อันนี้ก็เป็นหลักคิดที่ว่าเรื่องของอาหาร เรื่องการออกกำลังกาย เรื่องการทำจิตใจให้สงบ การเรียนรู้อะไรต่างๆ เป็นองค์ประกอบ เป็นปัจจัยที่ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการทำงานของสเต็มเซลล์ในร่างกายของคนเราครับ


เรื่อง : วรัญญา งามขำ
ภาพ : วชิร สายจำปา

กำลังโหลดความคิดเห็น