xs
xsm
sm
md
lg

ตามรอยเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นับเป็นโอกาสดีที่ได้ร่วมเดินทาง “ตามรอยเสด็จฯ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” ร่วมกับธนาคารออมสิน ประเทศที่เสมือนบ้านหลังที่สองของครอบครัวราชสกุลมหิดล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ยังทรงพระเยาว์ พระองค์ได้เสด็จฯ มาประทับที่เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาเล่าเรียน ระหว่างปี พ.ศ.2476-2494

เมืองโลซานน์ (Lausanne) ตั้งอยู่บนทางตอนเหนือของทะเลสาบเจนีวา ถือเป็นเมืองที่มีเสน่ห์มากที่สุดเมืองหนึ่งของสวิตเซอร์แลนด์ อีกทั้งยังเป็นเมืองที่เมื่อสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม สมเด็จพระบรมราชชนก ทรงอภิเษกสมรสกับหม่อมสังวาล เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ.2463 ก็ทรงแวะที่เมืองโลซานน์ ในระหว่างสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จประชุม และดูงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่ยุโรป

รวมทั้งยังเป็นเมืองที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล พร้อมด้วยพระศรีนครินทราบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยานิวัฒนาฯ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ ได้เสด็จมาประทับ และทรงศึกษาเมื่อครั้งทรงพระเยาว์

ตลาดนัดเซนต์ฟรองซัว ณ ถนนเซนต์ฟรองซัว (St. Francois) เป็นสถานที่แรกที่ไปชม ตลาดนัดแห่งนี้สมเด็จย่าเสด็จไปซื้อของและอาหารมาทำเครื่องเสวย เพราะตลาดนี้มีผัก ผลไม้ที่สดใหม่ที่เกษตรกรนำมาขายเอง เปิดตั้งแต่ 7.00-12.00 น. ทุกวันพุธและวันเสาร์
ตลาดนัดเซนต์ฟรองซัว ณ ถนนเซนต์ฟรองซัว (St. Francois)
ตลาดนัดแห่งนี้ตั้งอยู่ในบริเวณ Palais De Rumine อดีตมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne) หากย้อนเวลากลับไปเมื่อ 70 ปีที่แล้ว อาคารหลังนี้คือส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยโลซานน์ และนักศึกษาคนสำคัญจากประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในปี พ.ศ.2488 ทรงเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ ในคณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นสาขาที่ทรงสนพระราชหฤทัยเป็นอันดับหนึ่ง ต่อมาในปี พ.ศ.2490 จึงได้ทรงเปลี่ยนมาศึกษาสาขาวิชากฎหมายและรัฐศาสตร์แทน เพื่อเตรียมพร้อมสู่การปฏิบัติพระราชภารกิจในฐานะพระมหากษัตริย์

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยโลซานน์ได้ย้ายออกไปนอกเมือง ปัจจุบันพื้นที่เปลี่ยนเป็น Palais De Rumine ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะ โบราณคดีและประวัติศาสตร์ เงินตรา ภูมิศาสตร์ และสัตววิทยา และบางส่วนเป็นหอสมุดของมหาวิทยาลัยโลซานน์ ส่วนชื่อนั้นตั้งเพื่อเป็นอนุสรณ์แด่วงศ์ตระกูลเจ้าของสถานที่ผู้มีคุณูปการ คือครอบครัวรูมิน(Rumine)
อดีตมหาวิทยาลัยโลซานน์ (Université de Lausanne)
จากนั้นได้ไปชมสถานที่ที่ทรงประทับเมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ ซึ่งตั้งอยู่บนถนนทิสโซต์ (Tissot) เป็นอพาร์ทเมนต์หมายเลข 16 ที่ครอบครัวมหิดลเสด็จฯ ไปประทับเมื่อแรกไปถึง โดยทรงใช้เป็นที่ประทับในช่วงปี 2476 -2478 โดยมีลักษณะเป็นแฟลต ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเล็กน้อย
อพาร์ทเม้นต์หมายเลข 16 (ด้านหน้า)
อพาร์ทเม้นต์หมายเลข 16 (ด้านหลัง)
ฝั่งตรงข้ามของอพาร์ทเมนต์หมายเลข 16 มีร้านถ่ายรูปเดอ ยอง (De Jongh) ร้านนี้เป็นร้านที่ได้ฉายพระรูปครอบครัวมหิดล ปัจจุบันร้านถ่ายรูปเดอ ยอง ก็ยังคงอยู่ที่ถนนเดิม ที่เดิม คืออยู่ตรงข้ามแฟลตที่ถนนทิสโซต์ (Tissot) ซึ่งเป็นแฟลตแห่งแรกที่ครอบครัวมหิดลเสด็จฯ ไปประทับเมื่อแรกไปถึง และร้านเดอ ยองก็ยังคงดำเนินกิจการร้านถ่ายรูปอยู่เหมือนเดิม
ร้านถ่ายรูปเดอ ยอง (De Jongh)
หากเดินออกจากอพาร์ทเมนต์หมายเลข 16 ไม่ไกลนัก สามารถเดินไปสู่ทะเลสาบเลอม็อง (Lac Leman) หรือทะเลสาบเจนีวา (Lake Geneva) พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเรือใบและกรรเชียงเรือเล่นในทะเลสาบแห่งนี้ ฝั่งตรงข้ามจะมองเห็นเทือกเขาแอลป์
จากอพาร์ทเม้นต์หมายเลข 16 ด้านหน้าคือทะเลสาบเลอม็อง (Lac Leman)
นอกจากนี้ที่เมืองโลซานน์ยังมีศาลาไทย ที่รัฐบาลไทยส่งไปตั้งในสวนสาธารณะของเมืองโลซานน์ ในสวนสาธารณะปาร์ก ดูน็องตู บริเวณริมทะเลสาบ สร้างขึ้นเพื่อเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และเพื่อเฉลิมฉลองวาระสำคัญในปี 2549 สองวาระ คือวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี และการดำเนินความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิสครบ 75 ปี

กระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น ได้เลือกเมืองโลซานน์เป็นสถานที่ตั้งศาลาไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ไทย-สวิส ด้วยเป็นสถานที่ที่พระมหากษัตริย์ไทยสองพระองค์ รัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ประทับ พร้อมด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี และสมเด็จพระพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในช่วงปี 2476-2494 เป็นเวลาถึง 18 ปี ก่อนเสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวร
ศาลาไทย สวนสาธารณะปาร์ก ดูน็องตู โลซานน์
ในพื้นที่ไม่ไกลกันนักของสวนสาธารณะปาร์ก ดูน็องตู จะมีน้ำพุรูปลิงสามตัว (Three Wise Monkey) อันเป็นสถานที่ทรงโปรดของในหลวงเมื่อทรงพระเยาว์ ซึ่งพระองค์ท่านยังทรงมีความประทับใจกับน้ำพุแห่งนี้ สมเด็จพระพี่นางเธอฯ ได้ทรงบรรยายไว้ว่าท่าทางปิดหู ปิดตา ปิดปากนั้น หมายถึงการไม่ฟัง ไม่ดู และไม่พูด ในสิ่งที่ไม่ดี
น้ำพุรูปลิงสามตัว (Three Wise Monkey)
สถานที่ต่อไปคือโรงงานช็อกโกแลต Maison Cailler โดยเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2478 บริษัท เนสท์เล่ กราบบังคมทูลเชิญพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 8และพระอนุชา พร้อมด้วยพระราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมชมโรงงานช็อกโกแลตและนมข้นหวาน ที่เมืองออเบอ ทางตอนเหนือของโลซานน์ และได้รับถวายช็อกโกแลตที่ระลึกพระองค์ละกล่อง

เป็นเวลา 80 กว่าปี มาแล้วที่เนสท์เล่ได้มอบของขวัญสุดพิเศษให้กับเจ้านายน้อยทั้งสองพระองค์ จวบจนบริษัท เนสท์เล่ ครบรอบ 150 ปี ในปี พ.ศ.2559 เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติครบ 70 ปี 9 มิถุนายน 2559 จึงเป็นโอกาสอันดีที่บริษัท เนสท์เล่ ได้สร้างสรรค์ช็อคโกแลตชิ้นพิเศษ เพื่อรำลึกถึงช่วงเวลาอันทรงคุณค่าเมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเยือน
โรงงานช็อกโกแลต Maison Cailler
อีกสถานที่หนึ่งที่มีโอกาสได้ตามรอยเสด็จฯ เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองด์ (Ecole Nouvelle de La Suisse Romande) โรงเรียนที่พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล ทรงเข้าเรียนชั้น 2 และพระอนุชาทรงเข้าเรียนชั้นอนุบาล ทั้งสองพระองค์เลือกเรียนสายศิลป์ ภาษาละตินและภาษาอังกฤษ มีภาษาเยอรมันเป็นภาคบังคับ

และในครั้งนี้เรามีโอกาสได้พบกับลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส ลูกชาย เกลย์อง เซ.เซไรดารีล ครูส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ผู้เขียนหนังสือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ 9 และเจ้านายไทยในโลซานน์ บันทึกความทรงจำของครูส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 9 รวบรวมโดย ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส
เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de La Suisse Romande)
เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de La Suisse Romande) 2
เอกอล นูแวล เดอ ลา ซืออิส โรมองต์ (Ecole Nouvelle de La Suisse Romande) 3
ลีซองดร์ เซ.เซไรดารีส
สิ้นสุดจากโลซานน์ ได้มุ่งหน้าเข้าสู่กรุงเบิร์น(Bern) เยี่ยมชมสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบิร์น ซึ่งได้ดูแลสิ่งของสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกอย่างหนึ่ง นั่นก็คือ เปียโนไม้สีน้ำตาลเข้มแบบตั้งตรง ยี่ห้อ Carl Hardt Stuttgart ผลิตในเยอรมนี ซึ่งถือได้ว่าเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลและพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงศึกษาในขณะทรงพระเยาว์ เมื่อทรงมีพระชนมายุได้ 9 และ 7 พรรษา ตามลำดับ

ร้านเปียโนของครอบครัว Laurent ในเมืองโลซานน์รับซื้อเปียโนหลังนี้ไว้ เมื่อเจ้าของร้านสำรวจสภาพการใช้งานก็พบข้อความขีดเขียนเป็นภาษาฝรั่งเศสอยู่ด้านในฝาครอบ แปลได้ว่า “เปียโนหลังนี้อยู่ในถิ่นพำนักของกษัตริย์แห่งสยามประเทศ ตั้งแต่เมษายน พ.ศ.2477 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2478”

ครอบครัว Laurent เห็นว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่าสำหรับประเทศไทย จึงได้มอบให้แก่สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงเบิร์นเก็บรักษาไว้ ตั้งแต่วันที่ 5 กันยายน พ.ศ.2540 เป็นต้นมา

ทั้งนี้ นายกิตติพงษ์ ณ ระนอง เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเบิร์น ได้ทำเรื่องต่อกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอนำเปียโนประวัติศาสตร์กลับสู่ประเทศไทยเพื่อให้คนไทยได้มีโอกาสชื่นชม
กำลังโหลดความคิดเห็น