xs
xsm
sm
md
lg

“นักวิชาการ” คาดบึ้ม กทม. อาจเชื่อมโยง “ไอเอส” เตือนรัฐบาลอย่าคิดว่าเป็นการเมืองอย่างเดียว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นักวิชาการ” คาด เหตุระเบิด กทม. 3 จุด อาจเกี่ยวข้อง “กลุ่มก่อการร้ายภาคใต้” ซึ่งมีความเชื่อมโยงไปยัง “ไอเอส” ตามแนวคิด “วันไอเอสกรุ๊ป” ซึ่งกำลังแพร่กระจายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตือนรัฐบาลเปิดใจอย่าคิดว่าเป็นเรื่องการเมืองเพียงอย่างเดียว เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน - ขอความร่วมมือช่วยเป็นหูเป็นตา



วันนี้ (25 พ.ค.) รศ.ดร.สีดา สอนศรี ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิลิปปินส์, อดีตคณบดีวิทยาลัยการเมืองการปกครอง ม.มหาสารคาม, อดีตรองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และ ผศ.วันวิชิต บุญโปร่ง อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ ม.รังสิต ได้ร่วมพูดคุยในรายการ “คนเคาะข่าว” ภายใต้หัวข้อ “ระเบิดในกรุงเทพฯกับสถานการณ์ก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม “นิวส์วัน”

โดย ดร.สีดา ได้กล่าวว่า เหตุการณ์ยึดเมืองมาราวีของฟิลิปปินส์ ผู้ก่อการเป็นการรวมกลุ่มภายในประเทศ คือ อาบูไซยาฟ กับ มาอูเต แล้วไปร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายมาเลเซีย และร่วมกับไอเอสในอินโดนีเซีย และเชื่อมโยงไปยังไอเอสนอกภูมิภาค อันนี้เป็นแนวคิดที่น่ากลัว ริเริ่มมาจากบุคคลในชนชั้นปัญญาชนของมาเลเซีย แต่ตอนนี้ไม่ได้อยู่ในประเทศแล้ว เขาต้องการให้เป็น One Islamic State Asean ตอนนี้แนวคิดกระจายไปทั่วอาเซียน แต่ยังไม่เป็นทางการ ฉะนั้น ทุกประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อยู่ในระดับต้องป้องกัน

เมื่อถามว่า กลุ่มที่เชื่อมโยงกับไอเอส ลุกลามมายัง 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย และเหตุระเบิดใน กทม. เป็นไปได้ไหม ดร.สีดา กล่าวว่า เป็นไปได้ สมมติเป็นกลุ่มภายในประเทศบวกกลุ่มภายในภูมิภาค และบวกกลุ่มนอกภูมิภาค ก็เป็นไปได้ การระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ แม้จดหมายขู่ทำให้ตีความว่า มาจากกลุ่มบีอาร์เอ็น แต่อาจเป็นกลุ่มอื่นก็ได้ ไม่แน่ใจ เพราะหลายครั้งกลุ่มก่อความไม่สงบชอบอ้างว่าตัวเองทำ ตนเคยต้องการเอาโมเดลของฟิลิปปินส์มาใช้ในไทย เขาบอกเลยว่า ใช้กับไทยไม่ได้ เพราะไทยยังไม่แน่ว่าเป็นกลุ่มไหน คนไหนจริงไม่จริงยังไง

ตนมองว่า กลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ของไทย ก็เป็นส่วนหนึ่งของวันไอเอสกรุ๊ป เหตุการณ์ที่ฟิลิปปินส์ และ อินโดนีเซีย มันทำให้เป็นบทเรียนว่าเราต้องระแวดระวัง รักษาความปลอดภัย ร่วมมือทั้งภาครัฐและประชาชน และต้องทำตลอด ไม่ใช่เฉพาะช่วงเกิดเหตุ แล้วถ้ารู้ตัวว่ากลุ่มไหนแน่นอน ก็ต้องเจรจา แม้ต้องใช้เวลานาน

ดร.สีดา กล่าวอีกว่า อาเซียนมีเสาหลัก เราควรร่วมมือกันสอดส่องดูแลช่วยเหลือกันและกัน ไว้วางใจซึ่งกันและกัน แต่รัฐบาลไทยหวาดระแวงประเทศเพื่อนบ้านมากเกินไป กลัวจะเข้ามาแทรกแซง นอกจากนี้ เราไม่ควรตำหนิเหมารวมมุสลิม ให้ตำหนิเฉพาะกลุ่มที่ทำ

ด้าน ผศ.วันวิชิต กล่าวว่า กรณีระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎ เริ่มต้นเราคิดกันว่าเป็นเรื่องการเมืองในประเทศ ตนเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า มันเหมือนจิ๊กซอว์ กล่อง 1 เกิดจากคู่ขัดแย้ง คสช. 2. กลุ่มก่อความไม่สงบภาคใต้ที่ต้องการขยายวงออกไป 3. กลุ่มการเมืองจับมือกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ โดยจ้างขึ้นมาเพื่อก่อกวนท้าทายอำนาจรัฐ 4. รัฐบาลทำเองหรือเปล่า เพื่อบิดข้อมูลว่าอีกฝ่ายยังไม่ยอมหยุด 5. รัฐบาลทำเพื่อเป้าประสงค์เลื่อนวันเลือกตั้งออกไป แต่ 2 วัน หลังเกิดเหตุขึ้น เราเห็นข้อมูลที่ไหลบ่าเข้ามา กล่อง 4 - 5 แทบไม่มีน้ำหนัก เหลือ 1 - 3 ซึ่งความรุนแรงในฟิลิปปปินส์ และ อินโดนีเซีย มันเชื่อมโยงผูกติดมา แล้วตนเพิ่งได้ข่าวจากทหารด้านข่าวกรอง ว่า ปัจจุบันอัฟกานิสถาน ถูกสหรัฐฯและ รัสเซีย บอมบ์ปูพรมกลุ่มไอเอสไปเยอะแล้ว ทำให้ไอเอสที่เป็นนักรบรับจ้างที่มาจากประเทศมุสลิมโดยเฉพาะในตะวันออกเฉียงใต้ หมุนเข็มทิศมายังภูมิลำเนาของตัวเอง มันช่างบังเอิญเหลือเกิน เป็นไปได้หรือไม่ ถึงเวลาเราต้องยอมรับแล้วว่ากลุ่มก่อความไม่สงบไม่ได้ตั้งในพื้นที่อย่างเดียว เขาพยายามประกาศศักดานอกพื้นที่ จนไม่ได้ต้องการให้ตื่นกลัว แต่ต้องเปิดพื้นที่ยอมรับ เพื่อให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา

ผศ.วันวิชิต กล่าวด้วยว่า ช่วงมีเหตุการณ์ไม่สงบ ควรเอาศาลทหารมาใช้ดูแลประเทศ เพราะเชี่ยวชาญด้านความมั่นคง และทำได้รวดเร็วมากกว่าศาลปกติ นายกฯ พูดว่า เหตุระเบิดเป็นเรื่องการเมืองล้วนๆ อาจเพราะไม่อยากโยงเรื่องนอกพื้นที่เข้ามา กลัวประชาชนตื่นตระหนก แต่จริงๆ แล้วต้องเปิดพื้นที่ให้วิจารณ์ อย่ามองว่าเป็นการเมืองเพียงอย่างเดียว ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนเพื่อขอความร่วมมือ การดูแลความสงบไม่ใช่เป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงอย่างเดียว อย่ากลัวว่าส่งผลต่อภาพลักษณ์ประเทศ ความรุนแรงควบคุมได้ ถ้าร่วมมือกัน
กำลังโหลดความคิดเห็น