ปัญหาซ้ำซากของคนกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล คือ เมื่อฝนตกหนักทีไร น้ำก็ท่วมขัง การจราจรติดขัด ถึงขั้นไปทำงาน ไปโรงเรียนไม่สะดวก
เกิดคำถามว่า ศักยภาพในการระบายน้ำของกรุงเทพมหานคร รับมือได้มากน้อยแค่ไหน
ปัจจุบัน กรุงเทพมหานคร มีท่อระบายน้ำความยาวรวมกัน 6,400 กิโลเมตร มีคลองระบายน้ำ 1,682 สาย ความยาวรวมกันประมาณ 2,600 กิโลเมตร มีประตูระบายน้ำ บ่อสูบน้ำ กำลังสูบ 1,690 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที สูบระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา 1,153 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
ไม่นับรวมอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ 7 แห่ง และที่กำลังก่อสร้างอีก 2 แห่ง ได้แก่ อุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อ จากคลองลาดพร้าวถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งใกล้จะแล้วเสร็จ และอุโมงค์ระบายน้ำจากบึงหนองบอนถึงแม่น้ำเจ้าพระยา ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2562
รวมทั้งขุดลอกคูคลองและเปิดทางน้ำไหล และทำความสะอาดท่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง
แต่ถึงกระนั้น ศักยภาพเหล่านี้ช่วยอะไรไม่ได้เลย หากคนกรุงเทพฯ และคนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ยังคงมักง่าย ทิ้งขยะลงบนคูคลอง และท่อระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยมีมากเกือบ 20 ตันต่อวัน ตั้งแต่ขยะมูลฝอยเล็กๆ ถุงพลาสติก เศษอาหาร ไปจนถึงขยะขนาดใหญ่ เช่น เฟอร์นิเจอร์ เครื่องนอน และยางรถยนต์เก่าก็มี!
นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เคยออกมากล่าวว่า หน้าฝนปีนี้ หากตกลงมาในปริมาณ 60 มิลลิเมตรต่อวินาที ทางกรุงเทพมหานครสามารถที่จะระบายน้ำได้ และจะไม่ให้เกิดน้ำท่วมขัง
แต่หากเกิน 60 มิลลิเมตรต่อวินาที ก็จะเร่งในการระบายน้ำให้เร็วที่สุด
ถึงกระนั้น เหตุการณ์ที่เกิดฝนฟ้าคะนองกระจายในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นับตั้งแต่สามทุ่มของวันที่ 24 พ.ค. ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 25 พ.ค. ยาวนานต่อเนื่อง 6 - 7 ชั่วโมง กลายเป็นการลองของครั้งสำคัญของกรุงเทพมหานคร เพราะคืนนั้นปริมาณฝนสูงสุดอยู่ที่สถานีสูบน้ำเจ้าคุณสิงห์ เขตวังทองหลาง 168 มิลลิเมตรต่อวินาที
ส่งผลทำให้มีน้ำเร่งระบายอยู่ 25 จุด ได้แก่ ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนงามวงศ์วาน ถนนรัชดาภิเษก ถนนสุขุมวิท ซอยแบริ่ง ซอยลาซาล โดยเฉพาะถนนลาดพร้าว มีปริมาณน้ำฝนเป็นจำนวนมาก กว่าน้ำจะแห้ง ถนนกลายสภาพปกติ ก็ปาเข้าไปในช่วงเวลา 12.30 น.
แม้ว่า คนกรุงเทพฯ และ ปริมณฑล จะหลีกเลี่ยงเผชิญกับน้ำท่วมในขณะที่ฝนตกหนักไม่ได้ แต่ก็สามารถรับมือเพื่อให้บรรเทาปัญหาจากหนักให้กลายเป็นเบา และเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด MGR Online มีคำแนะนำที่พอจะบอกกล่าวได้ดังต่อไปนี้
1. ติดตามข้อมูลอากาศ แม้พยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาจะถูกสังคม มองว่า มีความคลาดเคลื่อนไปบ้าง แต่ข้อมูลแบบเรียลไทม์ถือเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะ “เรดาร์ตรวจอากาศ” ปัจจุบันเราสามารถเช็กได้ว่าเมฆจะมาทางไหน และปริมาณฝนมากน้อยเพียงใด ได้จากเว็บไซต์สำนักระบายน้ำ กทม.
- เรดาร์หนองจอก ตรวจวัดในรัศมี 90 กิโลเมตร ทางทิศเหนือวัดได้ถึง อ.ไชโย จ.อ่างทอง, ทิศตะวันตก วัดได้ถึง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร และทิศตะวันออก วัดได้ถึง อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี
- เรดาร์หนองบอน ตรวจวัดในรัศมี 50 กิโลเมตร ทางทิศเหนือวัดได้ถึง อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธนา, ทิศตะวันตก วัดได้ถึง อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร และทิศตะวันออก วัดได้ถึง อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา
- เรดาร์หนองแขม ตรวจวัดในรัศมี 150 กิโลเมตร ทางทิศเหนือวัดได้ถึง อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, ทิศตะวันตก วัดได้ถึง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี, อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ และทิศตะวันออก วัดได้ถึง อ.บ้านฉาง จ.ระยอง
วิธีสังเกตสีที่ใช้วัดปริมาณฝน พบว่า หากเป็นสีฟ้า จะมีฝนตกไม่หนัก อยู่ที่ 0.5 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง รองลงมา คือ สีน้ำเงิน 2.0 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง แต่หากเป็นสีเขียว เริ่มฝนตกอยู่ที่ 10 - 20 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง
หากเป็นสีเหลือง สีส้ม และสีแดง ฝนเริ่มตกหนักมากขึ้น อยู่ที่ 30 - 70 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง และหากยิ่งเป็นสีชมพูไปจนถึงสีขาว ฝนตกหนักมากที่สุด ตั้งแต่ 80 - 120 มิลลิเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งนัก
การสังเกตเรดาร์ฝนว่าทิศทางของเมฆฝนจะมาทางไหน ให้พยายามดูภาพแรก แล้วรอสัก 5 - 15 นาที ให้รีเฟรชอีกครั้ง นำภาพมาเปรียบเทียบเพื่อสังเกตความเปลี่ยนแปลงว่าเมฆฝนจะเคลื่อนทิศทางไหน อย่างไรก็ตาม ให้สังเกตเวลาบริเวณใต้ภาพเรดาร์ฝนแต่ละแห่ง เนื่องจากเรดาร์บางแห่งอาจไม่อัปเดตก็ได้
2. คาดคะเนผลกระทบ เมื่อรู้ตัวว่าจะมีฝนตกหนัก หากเป็นชาวออฟฟิศจะต้องกลับบ้านหรือไปธุระต่อในตอนเย็น ให้หาทางรับมือกับ “แผนสำรอง” หากมีฝนตกขึ้นมา
ก่อนออกจากออฟฟิศ เก็บเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ไว้ในที่ปลอดภัยและกันฝนเข้ามา อาจจะห่อพลาสติกไว้อีกชั้น รวมทั้งเตรียมร่ม เสื้อกันฝน เอาไว้ก็ได้ เพราะเสื้อผ้าหรือรองเท้าจะต้องเปียกอยู่แล้ว แม้จะเฉพาะส่วนใดส่วนหนึ่งก็ตาม
หากเดินทางด้วยรถไฟฟ้า หรือรถไฟใต้ดิน จะต้องมีผู้โดยสารรอคอยเป็นจำนวนมาก เมื่อเทียบกับขบวนรถไฟฟ้าที่ต่อให้เพิ่มความถี่ก็ไม่พอกับผู้โดยสารจากปลายทางเข้ามา ก็ต้องเผื่อเวลามากขึ้น
ในกรณีที่ใช้รถส่วนตัว หากจะต้องเดินทางในเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด อาจจะต้องมองหาเส้นทางเลี่ยง หรือเส้นทางที่มีการจราจรหนาแน่นน้อยกว่า แม้จะอ้อมมากขึ้น หรือเสียค่าใช้จ่ายค่าทางด่วนมากขึ้นก็ตาม
รวมทั้งรับฟังวิทยุจราจร หรืออ่านทวิตเตอร์ เพื่อให้รู้ว่าจุดไหนฝนตกหนักและมีน้ำท่วมขังปริมาณเท่าไหร่
3. เตรียมการรับมือ สำหรับบ้านพัก หากเป็นบ้านสมัยก่อนที่ก่อสร้างมานาน และเป็นพื้นที่ต่ำ ควรหาทางรับมือกับสิ่งของที่อยู่บริเวณพื้นบ้าน เช่น ลังกระดาษ ควรหาเฟอร์นิเจอร์วางของเสริมขึ้นมาอีกชั้น และวางของไว้ให้ที่สูงขึ้น
นอกจากนี้ อุปกรณ์ในการรับมือน้ำท่วมหรือฝนตกหนัก ก็เป็นสิ่งสำคัญ เช่น เทียนไข ไฟฉายสำรอง หรือหลอดไฟที่เสียบเข้ากับพาวเวอร์แบงก์ ในกรณีไฟดับยังสามารถใช้ส่องสว่างได้
รวมทั้ง อาหารแช่แข็ง อาหารแห้ง ขนม เครื่องดื่มที่ดื่มประจำ หรือเสบียงต่างๆ ซื้อจากห้างสรรพสินค้าเก็บไว้ในตู้เย็นหรือที่แห้ง หากฝนตกหนักแล้วน้ำท่วมขัง จะออกไปไหนมาไหนลำบาก
4. เผชิญน้ำท่วม หากรับฟังข่าวสารมักจะระบุว่า จุดไหนมีปริมาณฝนตก หากตกลงมาในปริมาณ 60 มิลลิเมตรต่อวินาที ก็นอนใจได้ว่าน้ำจะแห้งในเวลาอันรวดเร็ว แต่หากเกินกว่านี้ ยิ่งมากกว่า 100 มิลลิเมตรต่อวินาที ก็เตรียมทำใจไว้ว่าน้ำจะต้องท่วมขังแน่ๆ เนื่องจากโครงสร้างของเมืองที่เปลี่ยนไป
แม้กรุงเทพมหานครจะมีการเร่งระบายน้ำให้มากที่สุด แต่บางเหตุการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกันมักจะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดฝัน เช่น ต้นไม้ล้ม ไฟฟ้าดับ สามารถแจ้งให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขได้ หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้สำหรับแจ้งเหตุเมื่อฝนตก
กรณีน้ำท่วม แจ้งที่ ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ กรุงเทพมหานคร โทร. 1555 (24 ชั่วโมง)
กรณีไฟดับ แจ้งที่ การไฟฟ้านครหลวง โทร. 1130 (24 ชั่วโมง)
กรณีน้ำไม่ไหล แจ้งที่ การประปานครหลวง โทร. 1125 (24 ชั่วโมง)
สอบถามสภาพการจราจร ในเขตกรุงเทพมหานคร สอบถามที่ กองบังคับการตำรวจจราจร โทร. 1197 (24 ชั่วโมง) หรือ หากออกต่างจังหวัด สอบถามที่ ตำรวจทางหลวง โทร. 1193
หรือ ร้องเรียนผ่านสื่อที่รายงานจราจร เช่น จส. 100 โทร. 1137 หรือ *1808 จากโทรศัพท์มือถือ, สวพ. 91 โทร. 1644 และสถานีจราจรเพื่อสังคม 99.5 โทร. 1255 เป็นต้น