ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้เล่าไว้ในหนังสือ “โครงกระดูกในตู้” ว่า
ก็เพราะ “มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ” ตามที่กวีแต่งไว้นั่นแหละ ที่ราชินีกุล “บุนนาค"” ได้อุบัติขึ้น
เหตุเกิดเมื่อครั้งกรุงธนบุรี เจ้าพระยาจักรี กลับมาจากราชการสงคราม คุณหญิงนาค ภรรยานั่งคอยรับเจ้าคุณสามีอยู่ที่เฉลียงใต้พาไลเรือนหลังใหญ่ หันหน้าไปทางบันไดขึ้นเรือน คุณนวล น้องสาวคุณหญิงซึ่งกำลังเป็นสาวเต็มตัว อุ้มคุณฉิม (พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้าฯ) ซึ่งยังทรงพระเยาว์ ไปนั่งคอยรับกลางนอกชาน ให้หลานชายนั่งบนตัก หันหน้าออกไปทางบันไดเรือน และหันหลังให้คุณหญิงพี่สาว
เจ้าพระยาจักรีขึ้นจากเรือแล้วก็เดินตรงขึ้นบันไดผ่านนอกชานมา พอถึงที่คุณนวลนั่งอยู่ก็ก้มลงจับอะไรก็ไม่รู้
คุณหญิงท่านร้องว่า “เจ้าคุณจับนมน้องสาวฉัน”
เจ้าคุณบอกว่าเปล่า “ฉันจับแก้มลูกฉันต่างหาก”
แก้มคุณฉิมกับนมคุณนวลนั้นอยู่ในระดับเดียวกัน และคุณนวลนั่งหันหลังให้คุณหญิงนาค เจ้าคุณก็เลยแก้ตัวหลุด
อีกสองวันต่อมา คุณหญิงก็ปรารภกับท่านเจ้าคุณว่า
“หม่อมบุนนาค ทนายคนสนิทของเจ้าคุณนั้นเป็นพ่อหม้ายอยู่ น่าจะปลูกฝังเสียเป็นฝั่งฝา เขาก็เป็นคนมีตระกูลสืบเชื้อสายมาแต่ขุนนางครั้งกรุงเก่า ถ้ายกแม่นวลน้องสาวฉันให้เสียก็จะสมน้ำสมเนื้อกัน จะได้พึ่งพาอาศัยกันต่อไป เจ้าคุณจะว่าอย่างไรคะ?”
ท่านเจ้าคุณก็ไม่ว่า
ราชินีกุลบุนนาคก็อุบัติขึ้นแต่นั้นมา สืบสกุลลงมาจาก เจ้าพระยาอรรคมหาเสนา (บุนนาค) และเจ้าคุณนวล พระขนิษฐภคินีของสมเด็จพระอมรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๑ เพลง “แขกมอญบางช้าง” ก็กำเนิดมาจากเรื่องนี้ เพราะฝ่ายชายมีเชื้อสายมาจากแขกเปอร์เซีย ส่วนฝ่ายหญิงมีเชื้อสายมอญ อยู่ที่บางช้าง อัมพวา