xs
xsm
sm
md
lg

เสี่ยงตายถวายข้อตำหนิการปกครองสมัย ร.๕ ! ยอมเฉือนดินแดนก็ไม่ใช่ทางรอด ต้องรัฐธรรมนูญและขจัดสินบน!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค

สมเด็จพระปิยมหาราช
เริ่มตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เป็นต้นมา ประเทศไทยได้เปิดประตูต้อนรับชาวตะวันตกอีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่สายสัมพันธ์ได้ขาดหายไปเป็นเวลากว่า ๑๖๐ ปี ตั้งแต่สิ้นแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช อีกทั้งยังได้ส่งพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางข้าราชการออกไปศึกษาวิชาการของตะวันตก การที่คนหนุ่มเหล่านั้นได้ออกไปเห็นความเป็นไปของประเทศที่ถือได้ว่าเจริญด้วยอารยะธรรมและการปกครอง

ครั้นมองกลับมายังแผ่นดินบ้านเกิด ก็เห็นช่องโหว่หลายช่องที่จะเป็นอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อประเทศชาติได้ ประกอบกับต่างเป็นคนหนุ่มที่จริงจังต่อความคิดเห็น ครั้นจะวางเฉยเอาตัวรอดไปวันๆ ไม่เสี่ยงที่จะหาความเดือดร้อนมาสู่ตัว ก็ไม่ใช่วิสัยของคนที่รักประเทศชาติและราชบัลลังก์

แต่การถวายความคิดเห็นตำหนิการปกครองของกษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ก็อาจโดนข้อหากบฏได้ง่ายๆ แต่ก็นับว่าโชคดีของประเทศไทยที่มีคนกล้าเสี่ยงตายแบบนี้ โดยยึดถือเอาความบริสุทธิ์ใจในความรักชาติ ความจงรักภักดีต่อราชบัลลังก์เป็นที่ตั้ง

และที่เหนือกว่านั้นก็คือ พระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ของไทย มีพระราชหฤทัยเป็นประชาธิปไตย ทรงเห็นเจตนาอันแท้จริงของผู้ทูลถวายความเห็น นอกจากจะไม่ทรงถือว่าเป็นโทษในการกระทำนั้นแล้ว ยังทรงมีพระราชหัตถเลขาตอบขอบใจ และทรงเมตตาอธิบายให้เข้าใจว่าพระองค์ทรงคิดและทรงทำอะไรอยู่ในขณะนั้น

คณะผู้ถวายความเห็นด้านการปกครองคณะนี้ ประกอบด้วยพระเจ้าน้องยาเธอ ๔ พระองค์ พร้อมด้วยข้าราชการในคณะราชทูตไทยประจำกรุงลอนดอนและปารีสที่เป็นสามัญชนอีก ๗ คน ซึ่งเรียกกันว่า “คณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๐๓” ได้ถวายคำกราบบังคมทูลเป็นลายลักษณ์อักษรต่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๒๗ และลงพระนามและนามท้ายเอกสาร คือ

พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นนเรศร์วรฤทธิ์ (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร กรมพระนเรศร์วรฤทธิ์)
พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต (พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต กรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา)
สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ (สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์)
พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ (พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์)
นายนกแก้ว คชเสนี (พระยามหาโยธา)
หลวงเดชนายเวร (สุ่น สาตราภัย ต่อมาเป็นพระยาอภัยพิพิธ)
นายบุศย์ เพ็ญกุล (จมื่นไวยวรนาถ)
ขุนปฏิภาณพิจิตร (หุ่น)
หลวงวิเสศสาลี (นาค)
นายเปลี่ยน
สัปเลฟเตอร์แนนสะอาด

ในตอนหนึ่งของคำกราบบังคมทูล มีข้อความว่า

“...ถ้ามิได้กราบบังคมทูลพระกรุณาตามที่ได้รู้ได้เห็นแล้ว ก็เป็นการขาดความกตัญญูและน้ำพิพัฒน์ ทั้งความรักใคร่ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท และทั้งพระอาณาเขตซึ่งเป็นของข้าพระพุทธเจ้าชาวสยามทั้งหมด...”

สาระสำคัญในคำกราบบังคมทูลนั้นมี ๓ ข้อ คือ

๑. ภัยอันตรายที่จะมีมาถึงกรุงสยามได้ เนื่องด้วยความปกครองของสยามในขณะนั้น

๒. การที่จะรักษาบ้านเมืองให้พ้นอันตรายได้ ต้องมีเปลี่ยนแปลงในทางทำนุบำรุงรักษาบ้านเมืองตามทางที่ญี่ปุ่นเดินตามยุโรปมาแล้ว เป็นทางอันเดียวที่จะรักษาบ้านเมืองได้

๓. การที่จะจัดการตามข้อสองให้สำเร็จได้จริงนั้น ต้องจัดให้เป็นไปโดยจริงจังทุกสิ่งทุกประการสำหรับข้อ ๑.นั้น ผู้กราบทูลอ้างว่า อันตรายของชาติไทยมาจากนอกประเทศมากกว่าที่จะเกิดขึ้นในประเทศเอง และชาติที่จะนำอันตรายมาสู่ไทยก็คือชาติในยุโรป ซึ่งจะใช้วิธีเอาประเทศในเอเซียเป็นเมืองขึ้นโดยอ้างเหตุ ๔ ประการ คือ

อ้างถึงความเมตตาปราณี ซึ่งชาติที่เจริญแล้วจะเอื้อเฟื้อต่อประเทศที่ยังไม่เจริญ เพื่อที่จะได้เจริญเท่าเทียมกัน

อ้างว่าเอเซียเป็นตัวถ่วงความเจริญของยุโรปที่ก้าวหน้าไปไกลแล้ว ฉะนั้นจึงสมควรเข้ามาช่วยบริหารบ้านเมืองของชาวเอเซียเพื่อให้เจริญทันกัน

อ้างว่ารัฐบาลของชาติในเอเซียขาดสมรรถภาพที่จะรักษาความสงบสุขภายในของตนได้ เป็นเหตุให้เกิดโจรผู้ร้ายชุกชุม เป็นอันตรายต่อสังคมและต่อคนยุโรปที่พำนักพักพิงอยู่ในประเทศนั้น ดังนั้นจึงสมควรเข้ามาปกครองเพื่อกำจัดโจรผู้ร้าย

อ้างว่าเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าและทรัพยากรแร่ธาตุต่างๆ ซึ่งชาวยุโรปมีความชำนาญกว่าชาวเอเซีย

ผู้กราบทูลได้สรุปว่า การอ้างเหตุทั้ง ๔ ข้อนี้ แต่เจตนาที่แท้จริงก็เพื่อจะเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ไปจากเอเซียนั่นเอง

สำหรับประเทศไทยที่ยังไม่ตกเป็นเมืองขึ้นของนักล่าอาณานิคมชาวยุโรปก็จริง คณะผู้ก่อการก็กราบทูลว่า

“เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้คิดเห็นแลทราบเกล้าฯตามที่ได้ข้าพระพุทธเจ้าได้ถวายบังคมพระกรุณามาแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าเห็นด้วยเกล้าฯอย่างเดียวว่า กรุงสยามที่มีการปกครองอย่างทุกวันนี้ เป็นช่องทางอันใหญ่ที่ชาติหนึ่งชาติใดจะมารบเอา หรือปกครองด้วยอุบายอย่างใดย่างหนึ่ง

ในทุกวันนี้ฝรั่งเศสได้เข้ามาใกล้กรุงสยามมาก และจะคิดขึ้นมาเวลาใดก็อาจสามารถที่จะทำได้ในเวลานั้นเอง เพราะการที่ประเทศฝรั่งเศสได้กระทำต่อประเทศต่างๆ มีช่องมีโอกาสในกรุงสยามพอที่เขาจะจับสาเหตุเอาได้เหมือนกัน ข้าพระพุทธเจ้าจึงเห็นด้วยเกล้าฯว่า อันตรายนั้นเป็นการใกล้กรุงสยามอย่างที่สุด จนหนังสือพิมพ์ออกความเห็นกะเวลาทำนายว่าไม่ช้าใน ๕ ปีต้องเกิดเหตุการณ์ ข้าพระพุทธเจ้ากราบบังคมทูลพระกรุณานี้ มิใช่ด้วยการตื่นตกใจ แต่เป็นความคิดเห็นด้วยเกล้าฯว่า กรุงสยามถ้าจะคิดรักษาแล้ว ต้องเป็นการจำเป็นที่จะนิ่งอยู่ดังนี้ไม่ได้เลย”

สำหรับการักษาบ้านเมืองให้อยู่รอดนั้น คณะผู้ก่อการได้กราบทูลความเห็นว่า นโยบายที่จะใช้วิธีผ่อนสั้นผ่อนยาวกับมหาอำนาจนักล่าอาณานิคม ยอมเฉือนดินแดนให้บ้าง ยอมให้ปรับสินไหมชดใช้ค่าเสียหายบ้าง เป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง ญี่ปุ่นก็เคยใช้วิธีการนี้มาแล้วแต่ไม่ได้ผล จึงใช้วิธีเรียกร้องความยุติธรรม ไม่ยอมเสียเปรียบ ชาติที่อ้างว่าว่าเจริญกว่าก็ต้องยอมรับ

วิธีใช้กำลังทหารเข้าต่อสู้ก็ไม่ได้ผลอีกเหมือนกัน เพราะนอกจากกำลังทหารน้อยแล้ว ยังขาดอาวุธยุทโธปกรณ์ที่เท่าเทียมกัน จีนเคยสั่งซื้ออาวุธจากอังกฤษ สั่งซื้อเรือรบจากเยอรมัน แต่พอเกิดเรื่องกับฝรั่งเศส ประเทศทั้งสองนั้นก็ไม่ยอมส่งอาวุธให้จีน

วิธีการทูตผูกสัมพันธ์ไมตรีกับชาติต่างๆในยุโรป ก็ไม่ได้ผล พอเกิดเรื่องขึ้นมาความเป็นไมตรีก็หมดไป แม้จะรับธรรมเนียมของยุโรปมาใช้ให้เห็นว่าไม่ใช่ประเทศที่ป่าเถื่อนแล้ว ก็คงเอาเรื่องแค่นี้มาบังหน้าไม่ได้ ส่วนจะอ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศมาใช้ กฎหมายเหล่านั้นก็เป็นผลประโยชน์แก่ชาติในยุโรป และมีการปกครองแบบยุโรป

เมื่อคณะผู้ก่อการชี้ให้เห็นว่าระบอบการปกครองของไทยและนโยบายต่างประเทศที่ใช้อยู่ ไม่สามารถนำชาติรอดปลอดภัยแล้ว จึงกราบบังคมทูลเสนอหัวข้อที่เมืองไทยควรจะปฏิบัติต่อไป คือ

๑. ต้องเปลี่ยนแปลงประเพณีปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวต้องทรงวินิจฉัยทุกอย่างแต่พระองค์เดียว ที่เรียกว่าสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้เป็นการปกครองแบบรัฐธรรมนูญ ซึ่งพระมหากษัตริย์จะได้ดำรงอยู่ในฐานะองค์ประมุขของชาติ

๒. การป้องกันรักษาทำนุบำรุงบ้านเมือง ให้อยู่ในความคิดเห็นของข้าราชการผู้ใหญ่ที่ทรงแต่งตั้งไว้เป็นคาบิเนต (รัฐมนตรี) และวางระเบียบปฏิบัติของกรมกองต่างๆ ที่เนื่องด้วยราชการแผ่นดินให้เป็นที่แน่นอน และให้อำนาจที่จะทำสิ่งหนึ่งสิ่งใดได้ตามระเบียบนั้น โดยไม่ต้องรอคอยพระบรมราชานุญาต

๓. จะต้องปิดทางที่จะให้มีการสินบนกันทุกๆ ทาง และให้เงินเดือนแก่ผู้ปฏิบัติราชการให้พอเพียงแก่ฐานานุรูป

๔. ให้มนุษย์มีความสุขเสมอกัน ถือกฎหมายอันเดียวกัน การเก็บภาษีเป็นไปอย่างยุติธรรมทั้งไทยและต่างชาติ

๕. เปลี่ยนแปลงขนบธรรมเนียมประเพณีเก่าๆ และกฎหมายเก่าๆ ที่ใช้ไม่เหมาะแก่ภาวะเสีย หรือเป็นการขจัดความเจริญก้าวหน้าของบ้านเมืองเสีย ไม่ให้เป็นที่ติเตียนของชาวยุโรปได้

๖. ให้สิทธิเสรีภาพแก่ราษฎรและข้าราชการที่จะแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณชนหรือทางหนังสือพิมพ์ หากไม่เป็นจริงก็ควรมีกฎหมายป้องกันไว้

๗. การรับข้าราชการเข้าปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ต้องเป็นคนมีความรู้ มีความประพฤติดี มีอายุบรรลุนิติภาวะแล้ว

คณะผู้ก่อการยังอ้างถึงความดีของรัฐธรรมนูญ ตามที่ชาวยุโรปเปรียบเทียบไว้คือ

“ชาวยุโรปได้แปลคำจัดแจงบ้านเมือง คือ คอนซทิติวชั่น (รัฐธรรมนูญ) ว่าเหมือนดังเครื่องจักร ที่เมื่อติดไฟเข้าแล้วก็อาจสามารถที่จะเดินไปได้เอง ไม่ต้องช่วยหมุนจักรโน้นจักรนี้ที่จะให้เดินสะดวกยิ่งขึ้นอีก การที่คิดจัดบ้านเมืองครั้งนี้ก็เหมือนกัน ต้องจัดให้เจ้าพนักงานหัวหน้าของกรมนั้นๆ ได้รับผิดชอบชั่วดีในกรมของตัวเองทุกอย่าง คือจะเป็นเครื่องจักรที่ไม่ต้องให้เป็นที่ขุ่นเคืองในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทในกิจการของกรมนั้นๆ ต่อไปอีก”

นอกจากนี้ยังกราบทูลเตือนอีกว่า การเปลี่ยนแปลงการปกครองแบบนี้ อาจจะเกิดเหตุจลาจลขึ้นได้จากคนที่กระทบกระเทือนผลประโยชน์ และเป็นช่องทางที่ประเทศนอกจะเอื้อมมือเข้ามาแทรกแซง ดังที่ชาติอื่นเคยได้รับมาแล้ว จึงต้องเตรียมป้องกันจุดนี้ไว้ โดยฝึกปรือทหารให้เข้มแข็ง ให้มีความจงรักภักดีในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมากขึ้น การฝึกทหารก็ควรให้เป็นแบบใหม่ ผู้บังคับบัญชาทหารก็ต้องเป็นทหาร ไม่ใช่เอาคนที่ไม่ใช่ทหารมายกย่อง จะเป็นเหตุให้ทหารเสียกำลังใจและคลายความจงรักภักดี

ส่วนที่อาจจะมีพระราชวิตกว่าจะหาตัวผู้รับช่วงการปกครองที่เปลี่ยนแปลงไปนี้ไม่ได้ ก็ไม่น่าทรงวิตก แรกๆ ก็ต้องคอยควบคุมโดยกวดขัน ต่อไปเมื่อเคยงานแล้วก็จะผ่อนคลายลงไป

คณะผู้ก่อการยังย้ำความบริสุทธิ์ใจในคำกราบบังคมทูลครั้งนี้อีกว่า

“...ที่ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงสามารถกราบบังคมพระกรุณานี้ หาได้มีความประสงค์แห่งลาภยศฐานานุศักดิ์ช่องโอกาส ด้วยความประสงค์จะหาประโยชน์อย่างหนึ่งอย่างใดไม่ ข้าพระพุทธเจ้าทั้งปวงมีความประสงค์ที่จะได้ฉลองพระเดชพระคุณซึ่งได้ทรงพระมหากรุณาชุบเลี้ยงเกล้าฯมา และทำความดีให้บ้านเมืองซึ่งเป็นที่รักของข้าพระพุทธเจ้า เพื่อให้เป็นเอกราชต่อไปด้วยร่างกายและชีวิต หาได้คิดถึงความสุขความเจริญส่วนตัวต่อไปข้างหน้าไม่”

สรุปข้อความกราบบังคมทูลในครั้งนี้ก็คือ เสนอให้พระมหากษัตริย์ที่ปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เปลี่ยนแปลงการปกครองมาอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ กระจายพระราชอำนาจไปให้ข้าราชการบริหารกรมกองโดยไม่ต้องรอพระราชานุญาต

ถ้าจะมองว่าเป็นการบังอาจ โทษก็ต้องหัวขาดประการเดียว

แต่สมเด็จพระปิยมหาราชทรงมีพระราชหฤทัยเป็นกษัตริย์ประชาธิปไตย มีพระราชหัตถเลขาตอบคำกราบบังคมทูลนี้อย่างยืดยาว ตอนหนึ่งทรงกล่าวว่า

“...ในเบื้องต้น เราขอตอบแก่ท่านทั้งปวงว่าเราขอบใจอยู่ ในการที่พระบรมวงศ์และข้าราชการของเราได้ไปเห็นการปกครองในประเทศอื่นแล้วระลึกถึงประเทศของตน ปรารถนาที่จะป้องกันอันตราย และจะให้มีความยั่งยืนมั่นคงอยู่ในอำนาจอันเป็นอิสรภาพ ในข้อความบรรดาที่กล่าวมาแล้ว ที่เป็นหัวใจความสำคัญทุกอย่างนั้น เรายอมรับว่าเป็นความจริงดังนั้น ยกเว้นในข้อเล็กน้อยบางข้อ ซึ่งอาจจะเป็นการเข้าใจผิดไป แต่หาควรยกขึ้นมาพูดในที่นี้ไม่ แต่เราขอแจ้งความแก่ท่านทั้งปวงให้ทราบพร้อมกันด้วยว่า ความที่น่ากลัวอันตรายอย่างใดซึ่งได้กล่าวมานั้น ไม่เป็นการคิดเห็นที่ได้เกิดขึ้นใหม่ของเราเลย แต่เป็นการได้คิดเห็นอยู่แล้วทั้งสิ้น แลการที่ควรจะทำนุบำรุงให้เจริญอย่างไรเล่า เราก็มีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะได้จัดการนั้นให้สำเร็จตลอดไปได้ ไม่ต้องมีการห่วงระแวงอย่างหนึ่งอย่างใดว่า เราจะเป็นผู้ขัดขวางในการที่จะเสียอำนาจซึ่งเรียกกันว่าแอบโสลุทเป็นต้นนั่นเลย เพราะเราได้เคยทดลองรู้มาแล้ว ตั้งแต่เวลาเป็นตุ๊กตาซึ่งไม่มีอำนาจอันใดเลยนอกจากชื่อ จนถึงเวลาที่มีอำนาจขึ้นมาโดยลำดับจนเต็มบริบูรณ์ในบัดนี้ ในเวลาที่มีอำนาจน้อยปานนั้นได้รับความลำบากเพียงใด แลในเวลาที่มีอำนาจมากเพียงนี้ได้รับความลำบากอย่างไรเรารู้ดี จำได้ดี เพราะที่จำได้อยู่อย่างนี้ เหตุไรเล่าเราจึงไม่มีความปรารถนาอำนาจปานกลางซึ่งเป็นความสุขแก่ตัวเรา แลจะเป็นการมั่นคงถาวรของพระราชอาณาเขตนี้ด้วยนั้น เพราะเหตุฉะนี้เราขอให้ท่านทั้งปวงเข้าใจว่าเราไม่เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งจะต้องบีบคั้นให้หันลงมาทางกลางเหมือนอย่างพระเจ้าแผ่นดินในยุโรปซึ่งมีมาในพงศาวดาร แลเพราะความเห็นความรู้ซึ่งเราได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินมาถึงสิบแปดปี ได้พบได้เห็นและได้เคยทุกข์ร้อนของเมืองซึ่งมีอำนาจมากจะมากดขี่ประการใด ทั้งได้ยินข่าวจากเมืองอื่นๆ ซึ่งมีอยู่มิได้ขาด แลการซึ่งเราได้ขวนขวายตะเกียกตะกายอยู่ในการที่จะเปลี่ยนแปลงมาแต่ก่อนจะมีเหตุบ่อยๆ เป็นพยานของเราที่ยกขึ้นชี้ได้ว่า เราไม่ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดินซึ่งเหมือนคางคกซึ่งอยู่ในกะลาครอบ ที่จะพึงทรมานให้สิ้นทิฏฐิถือว่าตัวโตนั้น ด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งเลย...”

ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมด้วยความเมตตา และเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นพระบรมวงศานุวงศ์หรือข้าราชการสามัญชนที่มีโอกาสไปเห็นความเป็นไปของประเทศมหาอำนาจ และเมื่อ “คณะผู้ก่อการ ร.ศ.๑๐๓” นี้พ้นวาระในการรับราชการในสถานทูตต่างๆแล้วกลับมาประเทศไทย ก็เข้ารับตำแหน่งราชการใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท เป็นกำลังสำคัญในการรับใช้ชาติต่อไป และด้วยพระปรีชาสามารถเช่นนี้ พระองค์จึงทรงพาชาติรอดปลอดภัยมาได้ ในขณะที่ประเทศรอบด้านถูกล่าเป็นเมืองขึ้น สมแล้วกับที่ได้รับการถวายสดุดีว่าเป็น “สมเด็จพระปิยมหาราช”
พระองค์เจ้ากฤษดาภินิหาร
พระองค์เจ้าโสณบัณฑิต
พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ
กำลังโหลดความคิดเห็น