“ทนายเกิดผล” ชี้ กฎหมายปิดปาก “แพท” หมดสิทธิ์อ้างไม่รู้เงินที่สามีโอนให้เกี่ยวเนื่องยาเสพติด ทางรอดทางเดียว ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเป็นเงินบริสุทธิ์ เท่านั้น ถ้าศาลฟังว่า “แพท” มีความผิดจะต้องรับโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
วันที่ 16 พ.ค. เวลา 23.48 น. ทนายความชื่อดัง เกิดผล แก้วเกิด โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว “เกิดผล แก้วเกิด” โดยยกหลักกฎหมายอธิบายถึงสาเหตุที่ น.ส.ณปภา ตันตระกูล หรือ แพท ถูกแจ้งข้อหาร่วมกันฟอกเงิน ว่า ข้อ 1. เนื่องจาก... แพท รับโอนเงิน จากสามี ที่ ป.ป.ส.เชื่อว่า เป็นเงิน หรือ ทรัพย์สิน ที่ได้มาเกี่ยวกับการค้ายาเสพติด
ซึ่งพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๒๒ บัญญัติว่า...
ในการตรวจสอบทรัพย์สิน ถ้าผู้ถูกตรวจสอบ หรือผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินไม่สามารถแสดงหลักฐานได้ว่าทรัพย์สินที่ถูกตรวจสอบไม่เกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด หรือได้รับโอนทรัพย์สินนั้นมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางกุศลสาธารณะ ให้คณะกรรมการสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินนั้นไว้จนกว่าจะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีซึ่งต้องไม่ช้ากว่าหนึ่งปีนับแต่วันยึดหรืออายัดหรือจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ยกฟ้องในคดีที่ต้องหานั้น
หมายความว่า กฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นเงิน หรือ ทรัพย์สิน ที่ได้มาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับการค้ายาเสพติด
แพทมีหน้าที่ต้องแสดงหลักฐาน ว่า เงินที่สามีโอนให้ เป็นเงินที่ได้มาจากทางอื่น ไม่ใช่เงินที่ได้มาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด (ไม่ใช่ต่อสู้ว่า รู้ หรือ ไม่รู้ ว่า เงินที่สามีโอนให้จะมาจากหรือเกี่ยวเนื่องกับนาเสพติดหรือไม่ เพราะกฎหมายปิดปาก หลักเจตนา หรือ ขาดเจตนาไว้แล้ว แพท มีหน้าที่พิสูจน์อย่างเดียว คือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า เงินที่สามีโอนให้เป็นเงินบริสุทธิ์เท่านั้น) ถ้าแพทพิสูจน์ไม่ได้ กฎหมาย ถือว่า เป็นเงินที่เกี่ยวเนื่องจากยาเสพติด
ข้อ 2. นอกจากนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๕๐ วรรคสาม ก็บัญญัติว่า...
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา ๕๐ วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี
หมายความว่า ถ้าแพทรับโอนเงินมาจากสามี และ พิสูจน์ไม่ได้ ว่าเงินที่ได้มา มีที่มาที่ไปอย่างไร กฎหมายก็สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เงินดังกล่าวที่แพท รับโอนมาจากสามีเป็นเงินที่ได้มาจากกระกระทำความผิด ในที่นี้ คือความผิดตามกฎหมายยาเสพติด
ข้อ 3. เมื่อแพท รับเงินเงินจากสามี ที่เชื่อว่าได้มาจาก หรือเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด และพิสูจน์ไม่ได้ จึงเป็นความผิด ตามพระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๓ ที่ถือว่า ความผิดเกั่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นความผิดมูลฐาน ตามกฎหมายฟอกเงิน ดังที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า
มาตรา ๓ ในพระราชบัญญัตินี้
“ความผิดมูลฐาน” หมายความว่า
(๑) ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด...
ดังนั้น ทฤษฎีผลไม้ของตันไม้มีพิษ จึงถูกนำมาใช้กับคดีของแพท และถ้าศาลฟังว่า แพท มีความผิด ตาม พระราชบัญญัติ มาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับยาเสพติด พ.ศ. ๒๕๓๔ (ไม่ใช่ตาม ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด)
แพทจะต้องรับโทษตามกฎหมาย ตั้งแต่ 1 ปี ถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 - 200,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
ปล .แพท จะต่อสู้ว่าไม่รู้ไม่ได้ เพราะกฎหมายปิดปาก และถือว่า แพทรู้แล้วว่าเป็นเงินที่ได้มาจากหรือเกี่ยวกับยาเสพติด แพทต้องพิสูจน์ได้กรณีเดียวว่า เงินที่สามีโอนให้ เป็นเงินบริสุทธิ์ เท่านั้น