รอง ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 ดีเอสไอ เผยขบวนการหลอกลวงให้ลงทุนยุคนี้ระบาดหนัก เพราะใช้โซเชียลมีเดียสร้างภาพ เรื่องราวขึ้นมาให้หลงเชื่อจากกลุ่มเป้าหมายและสังคมนั้นๆ ระบุตั้งแต่ปี 2547 รับเรื่องกว่า 200 คดี ผู้เสียหายหลักสิบถึงนับแสนคน ชี้ขั้นตอนการสืบสวนต้องใช้เวลา กว่าจะทราบก็โยกย้ายไปเมืองนอก หรือผ่านนอมินี เตือนพิจารณารอบคอบ รู้ความเสี่ยงก่อนลงทุน
นายปิยะศิริ วัฒนวรางกูร รองผู้บัญชาการ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เปิดเผยผ่านรายการคนเคาะข่าว ทางสถานีโทรทัศน์นิวส์วัน เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ระบุว่า การหลอกลวงประชาชนในลักษณะแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันที่ขยายวงออกไป เนื่องจากขบวนการหรือกลุ่มผู้กระทำความผิดใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับสังคมและประชาชนได้เร็วขึ้น ทำให้การตัดสินใจลงทุนหรือหลอกให้ลงทุน ก็ง่ายขึ้นตามไปด้วย จากเดิมใช้วิธีเข้าไปหาที่บ้าน และพัฒนาเป็นการจัดสัมมนา ยุคนี้แค่สร้างกลุ่มไลน์ขึ้นมา มีเฟซบุ๊ก แล้วก็สร้างภาพ สร้างเรื่องขึ้นมา ก่อนก็ขยายส่งต่อไปให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ก็ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น
ทั้งนี้ โดยลักษณะทั่วไปต้องหลอกให้เหยื่อตัดสินใจนำเงินมาลงทุน แต่การสร้างเรื่องขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่นั้นๆ เช่น การเทรดหุ้น การเทรดทอง ราคาทองดี ก็จะสร้างเรื่องว่า ถ้าเกิดลงทุนตอนนี้ จะได้ผลตอบแทนมากกว่าที่อยู่ เมื่อลงทุนไปแล้ว ระยะเวลาอันสั้น ได้ผลตอบแทนเยอะ ได้อัตราตอบแทนมากกว่าสถาบันการเงินให้ ก็เป็นแรงจูงใจแล้ว หรือหากในภาคอีสานตอนบน มีแร่หรือทรัพยากรธรรมชาติ แล้วมีการลงทุน ก็จะสร้างเรื่องว่า ช่วงนี้จะมีการขุดแร่ทองแดงเพื่อไปขาย ส่งประเทศจีน ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นก็เห็นว่ามีแร่อยู่จริงก็ลงทุน สุดท้ายลงทุนไม่จริงก็โดนหลอก ส่วนภาคใต้ ก็หลอกให้ลงทุนในเรื่องของการได้สัมปทาน ได้ตั๋วเครื่องบินที่จะไปพิธีฮัจญ์ (พิธีแสวงบุญ) ออกมาก่อน เดี๋ยวอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวคืนให้
"ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสร้างเรื่องแบบไหน แล้วก็ไม่นับในเรื่องของการหลอกลวงในเรื่องขายตรง เช่น จดทะเบียนในบริษัทขายตรงที่ถูกต้อง แต่พอไปดำเนินการจริงๆ ก็มุ่งเน้นหาสมาชิก ไม่ได้มีธุรกิจที่จริง แล้วก็ไม่นับในเรื่องของการเทรดเงิน หรือฟอเร็ก ที่อ้างว่ามีผลตอบแทน หรือมีส่วนต่างของการลงทุน เพราะฉะนั้นสังเกตว่าการหลอกเขาจะดูพื้นที่ ดูกลุ่มเป้าหมาย ดูคน ดูสังคมนั้นๆ" นายปิยะศิริ กล่าว
นายปิยะศิริ กล่าวว่า สถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 พบว่าเฉพาะคดีพิเศษกว่า 200 คดี เป็นเรื่องเฉพาะของแชร์ลูกโซ่ ในแต่ละคดีมีความเสียหายอย่างต่ำที่สุด 20 ล้านบาท 50 ล้านบาท กระทั่งถึง 1 พันล้านก็มี ผู้เสียหายมีตั้งแต่ 50 คนจนกระทั่งถึงหลักแสนคน แสดงให้เห็นว่ายังมีการหลอกอยู่ ยังมีความเชื่อ ความโลภ และความไม่รู้อยู่ เฉลี่ยไม่ได้ลดน้อยถอยลง แม้ว่าทางภาครัฐจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ ป้องกันและปราบปรามอย่างหนัก ซึ่งกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายว่า ในการดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่จะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว แต่โดยขั้นตอนต้องใช้เวลา ไม่ได้รวดเร็วเหมือนตอนหลอกให้ลงทุน
"การตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์ มันเปลี่ยนไปได้เร็ว เพราะฉะนั้นบางที บางเรื่อง เมื่อเกิดเหตุมาแล้ว กว่าจะมาถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ กว่าจะไปตามทรัพย์ได้ กว่าจะสืบได้ มันใช้เวลา เพราะฉะนั้นทรัพย์เหล่านี้ถูกแปลงไป บางส่วนถูกนำออกไปนอกประเทศก็มี หรือโยกย้ายไปในบุคคลที่ 4, 5, 6 ... บางกรณี กระทำซ้ำ บางกรณีเมื่อถูกตรวจสอบแล้ว ดำเนินคดีแล้ว ก็ใช้นอมินี หรือว่าศึกษาองค์ความรู้ในการหลอกได้อย่างชัดเจน เชี่ยวชาญ ก็ไปสร้างเรื่องใหม่ก็มี คือมันมีทุกประเภท" นายปิยะศิริ กล่าว
รองผู้บัญชาการ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 อธิบายว่า การตรวจสอบ หรือการสืบสวนสอบสวนบางกรณีก็ยาก เพราะขบวนการสามารถที่จะใช้อีเมล์ที่จัดตั้งขึ้นสมัครเฟซบุ๊ก นไลน์ก็เหมือนกัน ใส่ภาพอีกคนหนึ่ง อาจจะเป็นอีกคนๆ หนึ่งก็ได้ แต่ลักษณะพฤติกรรมในการเชิญชวนในการโฆษณาเพื่อให้ลงทุนมีจริง สุดท้ายเมื่อเราตรวจสอบการติดต่อสื่อสาร และเรื่องของธุรกรรมทางการเงินเราจะพบว่าสุดท้ายตัวจริงคือใคร เพียงแต่อาจจะซับซ้อนและใช้เวลา ยืนยันว่าโซเชียลมีเดียเป็นส่วนประกอบในการช่วยเผยแพร่โฆษณาชักชวน แต่สุดท้ายเมื่อกลับไปดูมันก็คือความโลภ กับความไม่รู้ แล้วโคจรมาเจอการหลอกลวงก็เกิดปัญหา
ส่วนคำแนะนำที่จะไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อนั้น นายปิยะศิริ กล่าวว่า ในโฆษณาทั่วไปจะมีการระบุว่า การลงทุนมีความเสี่ยง โปรดตัดสินใจก่อนการลงทุน ก็ต้องถามว่าในการลงทุนแต่ละกรณีได้พิจารณารอบคอบหรือไม่ ทำความเข้าใจ รู้ความเสี่ยง และผลตอบแทนเป็นไปได้หรือไม่ แล้วอย่าเชื่อ ในสิ่งที่คนอื่นลงทุนก่อนประสบความสำเร็จหรือได้มา เพราะเราไม่ทราบว่าเป็นการจัดฉากหรือไม่ ที่ลงไปแล้วดูสวยงาม ดูตอบแทนเร็ว ดูแล้วมันน่าสนใจเกินจริง แล้วมีการเร่งรัดให้ลงทุนด้วยความเร่งรีบ อย่างนี้อันตราย สุดท้าย สิ่งที่ป้องกันดีที่สุด ต้องเตือนตัวเองว่าสิ่งที่เราทำอยู่ มันเป็นความโลภหรือไม่ รู้หรือเจนจัดในสิ่งที่ลงทุนหรือเปล่า หรือสุดท้ายเป็นเรื่องการหลอกลวง
คำต่อคำ : คนเคาะข่าว "เปิดกลลวงตุ๋นเงินยุคดิจิตอล 11 พฤษภาคม 2560
นงวดี- สวัสดีค่ะ ต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว วันนี้เราอยู่กันคืนวันพฤหัสบดีที่ 11 พฤษภาคม 2560 กับดิฉัน นงวดี ถนิมมาลย์ คุณผู้ชมคะ ในระยะหลังนี้เรามักจะเห็นข่าวคราวตามหน้าหนังสือพิมพ์ถึงเรื่องของขบวนการ หรืออาชญากรรมที่ใช้ช่องทางโซเชียลมีเดีย หลอกลวงประชาชนให้หลงเชื่อไปลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่างๆ ซึ่งส่วนมากแล้วจะไม่มีอยู่จริง ในระยะหลังก็จะเห็นคดีลักษณะนี้เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งถ้าเกิดแบบนี้ขึ้นเรื่อยๆ แน่นอนว่าท้ายที่สุดแล้วคงจะปฏิเสธไม่ได้ว่าน่าจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมเป็นแน่แท้
วันนี้เราจะมาคุยกันถึงเรื่องของกลโกง หรือวิธีการของขบวนการหลอกลวงเหล่านี้ ว่า ณ ยุคนี้ วิธีการนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไป หรือมีการพัฒนาการไปอย่างไร และคดีต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นมีเบื้องลึกเบื้องหลังอย่างไร และรวมไปถึงวิธีการปฏิบัติตัวของประชาชนไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนเหล่านี้อีกด้วย วันนี้เรามาพูดคุยกับคุณปิยะศิริ วัฒนวรางกูร ท่านเป็นรองผู้บัญชาการ สำนักคดีอาญาพิเศษ 1 สำนักคดีอาญาพิเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือว่าดีเอสไอ กระทรวงยุติธรรม สวัสดีค่ะท่านรองฯ
ในระยะหลังเห็นคดีในลักษณะแบบนี้บ่อยมาก คงไม่ต้องให้พูดว่ามีคดีอะไรบ้าง แต่ว่าส่วนมากมักจะมีคำว่าคดีที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ก็ยังคงเป็นข่าวอยู่ และถ้าจะย้อนกลับไป คำว่าแชร์ลูกโซ่เราก็ได้ยินมาตั้งหลายสิบปี มันก็คำนี้ต่อมา และมาจนทุกวันนี้ก็ยังมีพูดคุยอยู่ เพราะฉะนั้นอยากให้ท่านช่วยเล่าให้ฟังนิดหนึ่งว่า ณ ปัจจุบัน ณ ยุคนี้ ซึ่งมีเรื่องของโซเชียลมีเดีย วิธีการโกง หรือล่อลวงในเรื่องของการลงทุนอะไรทั้งหลายแหล่ มันพัฒนามาถึงไหน หรือว่ามันก็เป็นแค่โกงเหมือนเดิม แต่ว่ารูปแบบเปลี่ยนแปลงไป อะไร อย่างไรคะ
ปิยะศิริ- ครับ ขออนุญาตทำความเข้าใจนิดหนึ่ง คำว่าแชร์ลูกโซ่ จริงๆ เป็นความผิดตามพระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน ที่เป็นการหลอกลวงประชาชน แต่ว่าในภาษาที่เราคุยกันง่ายๆ ส่วนใหญ่เรียกแชร์ลูกโซ่ เนื่องจากว่ามันมีการชักชวนและการหลอกไปเรื่อยๆ เป็นสาย ถึงเรียกว่าลูกโซ่
ประเด็นสำคัญคือ เรื่องของการหลอกเป็นเรื่องปกติ แต่ปัจจุบันที่ขยายวงออกไป เนื่องจากว่าความเจริญ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี มีส่วนในการที่ช่วยให้ขบวนการหรือกลุ่มผู้กระทำความผิดใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารกับสังคม กับประชาชน เมื่อเทคโนโลยีเข้าไปสู่บุคคลต่างๆ ได้เร็วขึ้น การรับรู้ รับทราบ หรือการตัดสินใจลงทุน หรือหลอกให้ลงทุน ก็ง่ายขึ้นตาม ซึ่งจะแตกต่างจากสมัยอดีต สมัยอดีตการหลอกลวง หรือการฉ้อโกงปกติ ก็จะทำวิธีการว่าเข้าไปหาที่บ้าน ที่เราเรียกว่า knock door หนึ่งต่อหนึ่ง มาคุยกัน
ต่อมาก็พัฒนาเป็นจัดสัมมนา คนก็เยอะขึ้นแล้ว แต่ปัจจุบันนี้ไม่ต้องใช้อะไรเลย แค่สร้างกลุ่มไลน์ขึ้นมา มีเฟซบุ๊ก แล้วก็สร้างภาพ สร้างเรื่องขึ้นมา แล้วก็ขยายส่งต่อไปให้กับผู้ที่อยู่ในกลุ่มโซเชียลมีเดีย ก็ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น เท่านั้นเองครับ
นงวดี- แล้วรูปแบบของการหลอกให้ได้เงินมา รูปแบบเปลี่ยนไหมคะ คือวิธีการเปลี่ยน ไม่ต้องไป knock door แล้ว ใช้เฟซบุ๊ก ใช้อะไรแบบนี้ แต่วิธีการหลอกมันเปลี่ยนไปบ้างไหมคะ
ปิยะศิริ- คืออย่างนี้ครับ โดยลักษณะทั่วไป ยังไงก็แล้วแต่ต้องหลอกให้ตัดสินใจนำเงินมาลงทุน แต่การสร้างเรื่องมันขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจและสังคมพื้นที่นั้นๆ ผมขออนุญาตยกตัวอย่าง อย่างกรณี สมมุติว่าถ้าตอนนี้เป็นเรื่องของการเทรดหุ้น เป็นเรื่องของการเทรดทอง ราคาทองดี ก็จะสร้างเรื่องว่า ถ้าเกิดมีการลงทุนตอนนี้ จะได้มากกว่าที่อยู่ในสังคม การตอบแทนได้เท่าไร ประเด็นคือ เมื่อลงทุนไปแล้ว ระยะเวลาอันสั้น ได้ผลตอบแทนเยอะ ได้อัตราตอบแทนมากกว่าสถาบันการเงินให้ ก็เป็นแรงจูงใจแล้ว
ส่วนเรื่องต่อไป ผมยกตัวอย่าง การหลอก เนื่องจากว่ามันมีคดีอยู่ทั่วประเทศเลย ผมยกตัวอย่างว่า อย่างเช่นในพื้นที่ภาคอีสานตอนบน สมมุติเฉยๆ สมมุติว่าในพื้นที่นั้นมีแร่ หรือทรัพยากรธรรมชาติ แล้วมีการลงทุน ก็จะมีการสร้างเรื่องว่า ช่วงนี้จะมีการขุดแร่ทองแดงเพื่อไปขาย ส่งประเทศจีน ชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่นั้นก็เห็นว่า อ้าว มีแร่อยู่จริงนี่ ก็ลงทุน สุดท้ายก็ไม่จริง แล้วก็โดน
สมมุติว่าในภาคใต้ ภาคใต้ก็หลอกให้ลงทุนในเรื่องของการได้สัมปทาน ได้ตั๋วเครื่องบินที่จะไปฮัจญ์ ออกมาก่อน เดี๋ยวอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เดี๋ยวคืนให้ อย่างนี้เป็นต้น คือมันขึ้นอยู่กับว่าเขาจะสร้างเรื่องแบบไหน แล้วก็ไม่นับในเรื่องของการหลอกลวงในเรื่องขายตรง เช่น จดทะเบียนในบริษัทขายตรงที่ถูกต้อง แต่พอไปดำเนินการจริงๆ ก็มุ่งเน้นหาสมาชิก ไม่ได้มีธุรกิจที่จริง แล้วก็ไม่นับในเรื่องของการเทรดเงิน หรือฟอเร็ก ที่อ้างว่ามีผลตอบแทน หรือมีส่วนต่างของการลงทุน เพราะฉะนั้นสังเกตว่าการหลอกเขาจะดูพื้นที่ ดูกลุ่มเป้าหมาย ดูคน ดูสังคมนั้นๆ
นงวดี- เพราะฉะนั้นเขาก็จะสร้างเรื่องขึ้นมาให้กลุ่มคนที่ตกเป็นเป้าหมายเชื่อได้ง่ายว่าเรื่องเหล่านั้นมันมีอยู่จริง และผลตอบแทนที่บอกว่าจะสูงกว่าทั่วไป เป็นไปได้จริงๆ ประหนึ่งว่าบุคคล ประชาชนคนนั้นเหมือนไปเจอขุมทรัพย์อะไรบางอย่าง ที่เหมือนโชคดีกว่าคนอื่น อะไรแบบนั้น ตอนนี้คดีลักษณะนี้มันเยอะมากไหมคะ
ปิยะศิริ- เราย้อนกลับไปดูนะครับ ผมทำการตรวจสอบสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2547 พบว่าเฉพาะคดีพิเศษกว่า 200 คดี เป็นเรื่องเฉพาะของแชร์ลูกโซ่
นงวดี- เฉพาะแชร์ลูกโซ่ก็ 200 คดี นี่คือตั้งแต่สมัยปี 2547
ปิยะศิริ- 2547 จนถึงปัจจุบันนี้ กรมสอบสวนฯ รับคดีเฉพาะคดีพิเศษที่เกี่ยวกับแชร์ลูกโซ่ ประมาณ 200 คดี ลองนึกดูนะครับว่าใน 200 คดี ในแต่ละคดีมีความเสียหายอย่างต่ำที่สุด 20 ล้าน 50 ล้าน จนกระทั่งถึง 100 ล้าน หลายร้อยล้าน ถึงพันล้าน ก็มี ผู้เสียหายมีตั้งแต่ 50 คนบ้าง จนกระทั่งถึงเป็นแสน
นงวดี- จำนวนคนเป็นแสน?
ปิยะศิริ- จำนวนคนที่ถูกหลอกให้ลงทุน
นงวดี- ผู้เสียหายนี่นะ มีเป็นแสน
ปิยะศิริ- ถูกต้องครับ เพราะฉะนั้นก็แสดงให้เห็นว่ายังมีการหลอกอยู่ ยังมีความเชื่ออยู่ ยังมีความโลภอยู่ ยังมีความไม่รู้อยู่
นงวดี- แล้วอัตราเร่ง หรือจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้น ในยุคสมัยนี้ มีเพิ่มมากขึ้นไหมคะ หรือว่าก็พอๆ กัน ในแต่ละปีๆ
ปิยะศิริ- ดูเฉลี่ยของความเสียหายแต่ละคดีที่มา ไม่ได้ลดน้อยถอยลง แม้ว่าทางภาครัฐจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ ป้องกันและปราบปรามอย่างหนัก อันนี้ไม่นับรวมถึงการยึดทรัพย์ ยึดอายัดทรัพย์ คืออย่างนี้ ทางกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายให้มาเลยว่า ในการดำเนินคดีแชร์ลูกโซ่จะต้องกระทำด้วยความรวดเร็ว ประกอบกับในการดำเนินคดีนอกจากเอาผู้กระทำความผิดลงโทษแล้ว จะต้องพยายามติดตามหรือสืบทรัพย์ เพื่อเอาทรัพย์ที่เกี่ยวข้อง หรือได้มาจากการกระทำผิด เข้ามาในคดี เพื่อที่เฉลี่ยคืนในบั้นปลาย แต่ขั้นตอนเหล่านี้ต้องใช้เวลา ไม่ได้รวดเร็วเหมือนตอนหลอกให้ลงทุน
นงวดี- มีคดีที่ดำเนินการสอบสวน ตรวจสอบหาผู้กระทำผิด แล้วก็ถึงขั้นว่าผู้เสียหายได้รับเงินคืนไป เยอะไหมคะ
ปิยะศิริ- มีครับ แต่ก็อาจจะไม่สามารถที่จะได้เท่ากับสิ่งที่ปริมาณผู้เสียหายลงทุน
นงวดี- คือเสียหายไปเท่าไร ไม่ได้หมายความว่าจะได้กลับคืนมาเท่านั้น
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- ก็คือไม่สูญ หรือว่าอาจจะมีสูญอยู่แล้วล่ะ
ปิยะศิริ- แล้วแต่บางคดี บางกรณี ก็เนื่องจากว่าการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หรือการโยกย้ายถ่ายเททรัพย์ มันเปลี่ยนไปได้เร็ว เพราะฉะนั้นบางที บางเรื่อง เมื่อเกิดเหตุมาแล้ว กว่าจะมาถึงกรมสอบสวนคดีพิเศษ กว่าจะไปตามทรัพย์ได้ กว่าจะสืบได้ มันใช้เวลา เพราะฉะนั้นทรัพย์เหล่านี้ถูกแปลงไป บางส่วนถูกนำออกไปนอกประเทศก็มี หรือโยกย้ายไปในบุคคลที่ 4..5..6..
นงวดี- แล้วกลุ่มผู้หลอกลวง เท่าที่ดู ตรวจสอบแล้ว เป็นใคร อะไร อย่างไร หรือว่าเป็นกลุ่มก๊วนเดิมๆ แล้ววนกลับมา มีบ้างไหมคะ กลุ่มที่ทำผิด ขบวนการเหล่านี้
ปิยะศิริ- คือบางกรณี กระทำซ้ำ บางกรณีเมื่อถูกตรวจสอบแล้ว ดำเนินคดีแล้ว ก็ใช้นอมินี หรือว่าศึกษาองค์ความรู้ในการหลอกได้อย่างชัดเจน เชี่ยวชาญ ก็ไปสร้างเรื่องใหม่ก็มี คือมันมีทุกประเภทครับ
นงวดี- โดยสรุปแล้ว วิธีการหลอกลวงแบบนี้ คือเหมือนกับแชร์ลูกโซ่ไหมคะ มันเป็นอันเดียวกันไหมคะ
ปิยะศิริ- เหมือนกันครับ
นงวดี- คือโดยสรุปแล้ว ที่เรากำลังคุยๆ กันอยู่ หรือที่เราเห็นเป็นคดีตามหน้าหนังสือพิมพ์ มันคือ เป็นคดีแชร์ลูกโซ่
ปิยะศิริ- ครับ ผมยกคดีล่าสุดก็แล้วกัน คดีพิเศษที่ 38/2550 ผู้เสียหายมีประมาณ 150 รายเป็นอย่างน้อย ก็ถูกหลอกลวงให้ลงทุนในธุรกิจบริการ โดยอ้างว่าสามารถที่จะจัดหาหาที่พักให้กับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักในประเทศไทย คดีนี้มีการร้องเข้าไปให้ดำเนินการทั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พอกรมสอบสวนฯ ได้รับเรื่อง ภายใน 3 วัน ในชั้นสืบสวน เราก็ตั้งเลขคดี และทำการอายัดทรัพย์ ยึดอายัดทรัพย์เพื่อตรวจสอบ จำนวน 50 ล้านบาท แม้จะเร็ว แม้จะเยอะ แต่ก็เปรียบเทียบกับมูลค่าความเสียหาย ก็ยังไม่สามารถที่จะไปเยียวยาในตอนท้ายได้หมดทุกคนทั้งหมดด้วย
สิ่งที่ขบวนการกล่าวอ้างหรือหลอกลวง เขาใช้วิธีการก็คือ โดยการใช้โซเชียลมีเดีย ในไลน์ กับเฟซบุ๊ก ในการเชิญชวน มีการสร้างภาพ คนที่ลงทุนตอนต้นมักจะได้ดอกผลหรือกำไร เพราะว่ามีสายต่อมา ก็คือเอาเงินวนจากคนข้างล่างส่งขึ้นมาข้างบน ผมขออนุญาตใช้ภาษาง่ายๆ นะครับ เมื่อธุรกิจไม่มีจริง ไม่มีรายได้ สุดท้ายอายุของมันก็ 3 เดือน ไม่เกิน 6 เดือน มันก็จบ ก็เกิดปัญหา สิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าโซเชียลมีเดียมีผลมากครับ เพราะในทางกลับกัน การใช้โซเชียลมีเดียในการเชิญชวนคน หลักฐานในโซเชียลมีเดียนั้นๆ ก็เป็นหลักฐานในทางคดีเหมือนกัน
ปิยะศิริ- สิ่งที่ผมกำลังจะบอกว่าโซเชียลมีเดียมีผลมากครับ เพราะในทางกลับกัน การใช้โซเชียลมีเดียในการเชิญชวนคน หลักฐานในโซเชียลมีเดียนั้นๆ ก็เป็นหลักฐานในทางคดีเหมือนกัน เพราะฉะนั้นถึงต้องบอกว่า ในขณะที่ประชาชนตัดสินใจที่จะลงทุนอะไร จะต้องเก็บสิ่งที่ท่านเชื่อ สิ่งที่เป็นพยานหลักฐานในการโอนอะไรไว้ก่อน เกิดกรณีปัญหาขึ้นมาภายหลัง พนักงานสอบสวนจะใช้มาประกอบได้ง่ายขึ้น
นงวดี- คือลักษณะการหลอกลวงลักษณะแบบนี้ ในยุคโซเชียลมีเดียแบบนี้ การตรวจสอบ หรือการสืบสวนสอบสวนกระทำได้ง่าย หรือยากกว่ายุคก่อนๆ นี้คะท่าน
ปิยะศิริ- บางกรณีก็ยากครับ เนื่องจากว่าผมยกกรณีตัวอย่างของเฟซบุ๊กก็ได้ เฟซบุ๊กในการตั้งเข้าไปใช้จะต้องใช้อีเมล์ใช่ไหมครับ บางทีก็สามารถที่จะใช้อีเมล์ที่จัดตั้งขึ้น และไม่ทราบว่าในโลกเสมือนจริงนั้น บุคคลที่ใช้คนนี้ นาย ก. เป็นเจ้าของเฟซบุ๊กตัวนี้จริงหรือเปล่า หรือเป็นสิ่งสมมุติขึ้นใช่ไหมครับ ในไลน์ก็เหมือนกัน ใส่ภาพอีกคนหนึ่ง อาจจะเป็นอีกคนๆ หนึ่งก็ได้ แต่ลักษณะพฤติกรรมในการเชิญชวนในการโฆษณาเพื่อให้ลงทุนอันนั้นมีจริงแน่
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราตรวจสอบการติดต่อสื่อสาร และเรื่องของธุรกรรมทางการเงินเราจะพบว่าสุดท้ายตัวจริงคือใคร
นงวดี- ค้นเจอใช่ไหมคะ ไม่ผิดตัวแน่
ปิยะศิริ- ไม่ผิดตัวครับ เพียงแต่อาจจะซับซ้อนและใช้เวลาหน่อย แต่อย่าลืมว่าทุกคนมีความเชี่ยวชาญในการใช้เทคโนโลยีเหมือนกัน แต่ก็ไม่พ้นมือของเจ้าหน้าที่ครับ
นงวดี- พูดง่ายๆ ว่าโจรยุคนี้ ฉลาดขึ้นอย่างนี้หรอคะ หรือว่าโกงเก่งขึ้น
ปิยะศิริ- ใช้คำว่า หลอกได้เร็วขึ้น ผมยังยืนยันอยู่ว่า เรื่องคดีฉ้อโกงแชร์ลูกโซ่ หรืออะไรก็แล้วแต่ โซเชียลมีเดียเป็นส่วนประกอบในการช่วยเผยแพร่โฆษณาชักชวน แต่สุดท้ายเมื่อกลับไปดูมันก็คือความโลภ กับความไม่รู้ แล้วโคจรมาเจอการหลอกลวงก็เกิดปัญหาครับ
นงวดี- ทีนี้อยากจะให้ท่านช่วยยกตัวอย่างคดีที่แปลกๆ หรือคดีที่ทำการหลอกลวง คือดูแล้วไม่น่าจะมีคนเชื่อหลงไปเชื่อ แต่ว่ายังมีคนหลงเชื่อ และเป็นเหยื่อได้
ปิยะศิริ- ผมยกตัวอย่างคดีหนึ่งแล้วกัน เป็นแชร์ลูกโซ่เหมือนกัน เป็นการหลอกลวงให้ลงทุนในทองคำ เอาง่ายๆ เลยครับ ปกติท่านมีเงินก็เดินไปที่ร้านแล้วท่านก็ซื้อของท่านเก็บเอาไว้ แต่อันนี้หลอกให้ท่านซื้อทองคำ โดยผู้ที่ลงทุนไม่เคยเห็นทองคำ หรือเห็นทองคำในภาพ แต่ก็เชื่อกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นในคดีนี้เกิดขึ้นเมื่อประมาณ 2 ปีที่แล้ว มีผู้เสียหายกระจายอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสาน ถ้าเราจะยกตัวอย่างกันง่ายๆ เขาเรียกว่า การลงทุนทองคำเพกาซัสคือมีการตั้งชื่อบริษัทที่คล้องจอง หรือสอดคล้องกับบริษัทที่ทำการเทรดทองในต่างประเทศ แต่จริงๆ ไม่ได้เกี่ยวกัน แล้วมีการหลอกให้ลงทุน ผู้ที่เชิญชวนก็ใช้วิธีการเอาทองคำถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดีย และมีการปริ้นท์เอกสารรับรองว่า ได้ซื้อเท่าไรอะไรยังไง อันนี้ทำเองทั้งหมด เพราะเมื่อเราไปค้น เราพบเอกสารเปล่าที่รอไว้เตรียมกรอกชื่อกับตัวเปอร์เซ็นต์ทองคำเลย ก็สอบถามผู้ลงทุน ผู้เสียหายว่า ท่านเคยเห็นทองไหมที่ท่านลงทุน เขาบอกว่า เก็บเอาไว้ที่เมืองจีน จะเอาเมื่อไรเดี๋ยวต้องบินไปดู
นงวดี- นี่คือคำตอบ
ปิยะศิริ- ปรากฏว่า ส่วนหนึ่งอยากบินไปดู มีการจัดทัวร์หลอกซ้ำที่ 2 อีก พอไปดู พอไปถึงก็ไปเจอสถานที่เป็นตึกอะไรก็ไม่รู้ และมีการติดป้ายเอาไว้ แต่เข้าไม่ได้ สุดท้ายก็กลับมา
นงวดี- ไม่เห็นทองอีก
ปิยะศิริ- ไม่เห็นทอง และยังเชื่อลงทุนอีก แล้วเท่านั้นไม่พอ ประเด็นสำคัญคือผู้ลงทุนเอง ในฐานะผู้เสียหาย ไม่ได้เป็นผู้เสียหายธรรมดา เนื่องจากเมื่อเชื่อแล้ว มีการเชิญชวนต่อลงไป ถึงเรียกว่าเป็นลูกโซ่เป็นแม่สายไงครับ ทีนี้เลยบอกว่า ประชาสัมพันธ์กับประชาชนว่า ในการที่ท่านเป็นผู้เสียหาย แล้วท่านไปลงทุน แล้วท่านเกิดความเสียหาย แล้วท่านเชื่อ แล้วไปชวนบุคคลอื่นลงทุนอีก ท่านเองก็ทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย บางทีผู้ที่ลงทุนต่อจากท่าน เขาเข้ามาร้องทุกข์แจ้งความ เขาจะเอ่ยถึงท่าน มันจะเกิดปัญหาว่า ท่านเป็นแม่สาย หรือว่าเป็นผู้ชักชวน ก็มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดด้วย
นงวดี- ถึงแม้ว่าอาจจะไม่รู้
ปิยะศิริ- การกระทำผิดทางอาญาจะต้องพิสูจน์เจตนาด้วย แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว อาจจะรู้แล้วยังรู้ว่าไม่มีจริงในตอนท้ายๆ แล้วยัง... ตัวเองเสียหายแล้วไงครับ ก็ไปเชิญคนอื่นมาลงต่อ เพราะท่านอย่าลืมว่า การเชิญชวนคนอื่นลงทุนต่อตามลูกโซ่เป็นลำดับชั้นลงไป จะได้เปอร์เซ็นต์จากค่าชักชวน และได้เงินเปอร์เซ็นต์จากการลงทุนของคนที่อยู่ล่างเราลงไป
นงวดี- ซึ่ง ณ ตรงนี้หลายๆ ท่านอาจจะยังไม่ทราบ เพราะคิดว่าถ้าตัวเองเป็นผู้เสียหาย ตัวเองก็เป็นเหยื่อ แต่ในความเป็นจริงท่านกำลังบอกว่า ถ้าเราไปชักชวนต่อๆ ไป แล้วเกิดความเสียหายเกิดขึ้น นั่นหมายความว่า ท่านก็เป็นผู้ชักชวน เป็นแม่สายด้วยก็คือ มีความผิด
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- คือมีความผิดด้วย ถึงแม้ว่าจะรู้หรืออะไร หรือไม่รู้อะไรก็ตามก็มาสืบเจตนาเอา
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- อย่างเคสต์ทองที่ท่านว่า คือไม่เห็นแม้กระทั่งทอง
ปิยะศิริ- ผู้เสียหายเกือบ 1,500 คน แต่ละคนลงทุนต่ำที่สุด 30,000 -10,000,000
นงวดี- ซึ่งส่วนมากที่เขาจะบอกก็คือว่า ลงทุนทองแล้วได้ผลตอบแทนที่เยอะที่สูงมากๆ อย่างนั้นใช่ไหมคะ อันนี้คือวิธีการของเขา
ปิยะศิริ- วิธีการหลอกของแชร์ลูกโซ่โดยส่วนใหญ่ปกติ จะเชิญชวนว่า ลงทุนในเวลาอันสั้น ได้ผลตอบแทนเร็ว ได้มากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารให้ท่าน
นงวดี- อันนี้คือเป็นสูตรเลย
ปิยะศิริ- เป็นสูตรครับ แน่นอน
นงวดี- ถ้าประชาชนได้ยินอะไรแบบนี้ เจอชักชวนแบบนี้ ได้เร็ว ได้มากกว่า อันนี้ต้องระวังเอาไว้
ปิยะศิริ- ถูกต้องครับ เพราะโดยสภาพการทำธุรกิจจริงๆ การที่จะได้เงิน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อเดือน หรือปีหนึ่ง 100 กว่าเปอร์เซ็นต์ 120 เปอร์เซ็นต์ ธุรกิจนั้นต้องดีจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าท่านเชื่อว่า ธุรกิจนั้นมีจริง ท่านต้องพิสูจน์ให้เห็น ท่านต้องตรวจสอบก่อนการลงทุนว่า ธุรกิจนี้ตั้งอยู่ที่ไหน ใครเป็นเจ้าของ มีลักษณะน่าเชื่อไหม หรือถ้ามีการเผยแพร่หรือเชิญชวน และมีการจัดฉากว่า ผู้ที่ลงทุนไปแล้ว โอ้โหประสบความสำเร็จได้เงินเยอะ ขับรถเบนซ์ หรือมีบ้านหลังใหญ่ มันจริงหรือเปล่าต้องลงทุนเท่าไร
นงวดี- แต่ที่ผ่านมาผู้ที่หลงเชื่อก็เพราะเห็นว่า หลงเชื่อเพราะเห็นภาพ
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- เห็นภาพซึ่งมิจฉาชีพขบวนการเหล่านี้จะสร้างภาพ ให้เชื่อไปได้ว่า รวยจริง ได้จริง สมาชิกชีวิตดีขึ้นจริง หรือบางทีที่เราเห็นอาจจะเอาพวกคนมีชื่อเสียง เอาเข้าไปทำให้เกิดความน่าเชื่อถืออะไรแบบนี้เป็นต้น อะไรอย่างนี้คือ บางทีคนก็หลงเชื่อไปได้เหมือนกันใช่ไหมคะ
ปิยะศิริ- ครับ
นงวดี- อย่างนี้วิธีการลักษณะแบบนี้ อย่างคนที่มีชื่อเสียงหรือว่าบางคนจะเรียกตัวเองไฮโซ เลยทำให้คนเชื่อว่า ไม่หลอกหรอก คดีลักษณะแบบนี้มันมีเยอะขนาดไหน เอาบุคคลที่มีชื่อเสียงในสังคมเข้ามา
ปิยะศิริ- การหลอกมันมีหลายวิธี การสร้างภาพก็มีหลายวิธี บางกรณีอาจจะต้องใช้คนที่มีชื่อเสียงเข้ามา ซึ่งคนที่เขามามีชื่อเสียงที่เข้ามาร่วมลงทุนมีน้อย แต่ส่วนใหญ่จะจ้างเข้ามา และให้มาเป็นเหมือนไม้ประดับว่า เกี่ยวข้องเล็กน้อย แต่จริงๆ ถามจริงๆ ว่า คนเหล่านี้รู้ลึกๆ ไหมว่าคืออะไร ผมเชื่อว่าไม่ทราบ บางกรณีหนักกว่านั้นอีก อ้างว่ามีการลงทุนบริษัทข้ามชาติ เช่น อ้างว่ามีหุ้นน้ำมันที่ต่างประเทศ อินโดฯ อย่างนี้ แล้วก็เอาคนอินโดฯ มาเลเซีย มาบรรยายบนเวที แต่งตัวอย่างดีเลย แล้วสร้างภาพให้เห็นว่า ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจมาตลอด ผมถามจริงๆ ว่า ถ้าเขาประสบความสำเร็จลงทุนอย่างนี้ เขาไม่ลงทุน เขามีเงินขนาดนั้น บริษัทสำเร็จมาเยอะแล้ว ไม่ต้องเอาเงินลงทุนจากท่าน เพราะฉะนั้นท่านต้องสันนิษฐานก่อนในการลงทุนว่า เราจะเป็นเหยื่อไหม หลักการง่ายๆ คือถ้าให้ผลตอบแทนสูงต้องระวังแล้วครับ อันนี้คือเรื่องจริง
นงวดี- แต่ส่วนมากคนที่หลงเชื่อก็มักจะแบบว่า อยากได้ผลตอบแทนสูงๆ พูดง่ายๆ คืออาจจะมีความโลภ จึงทำให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการเหล่านี้ได้
ปิยะศิริ- บางกรณีก็แปลกนะครับ เมื่อเรากลับมาวิเคราะห์คดีที่ผ่านมา หรือเราดูว่า เรามาวิเคราะห์ผู้เสียหายด้วย ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มผู้กระทำผิด บางกรณีเราพบว่า ผู้เสียหาย 1 ราย กลับเป็นผู้เสียหายในหลายๆ การลงทุน นั่นแปลว่าเป็นนักลงทุนมืออาชีพเลย
นงวดี- นักลงทุนแบบที่ไม่รู้ว่ามีอยู่จริงหรือเปล่า
ปิยะศิริ- บางกรณีอาจจะรู้ว่า เป็นแชร์ลูกโซ่นะครับ แต่ลงทุนก็มี เพราะคิดว่ามันได้ผลตอบแทนไง แต่อย่าลืมนะว่าตอนที่ท่านเข้าไป ท่านเข้าไปตอนไหน อายุการหลอกของมันสั้นไงครับ และประเด็นคือเมื่อท่านเข้าไปแล้ว ท่านอาจจะต้องชักชวนคนอื่นลงทุน เกิดความเสียหายต่อเนื่องอีกไงครับ
นงดี- คือท่านก็ผิด
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- ในเมื่อบางคนคิดแบบนี้ได้ไหมคะ หมายถึงว่า บางคนอาจจะรู้ แต่คิดว่าฉันเป็น อย่างที่ท่านบอกมันจะมีระยะเวลา ซึ่งมันไม่นานหรอก อย่างมากก็ 6 เดือนใช่ไหมคะ เต็มที่คือ 6 เดือน จะเริ่มออกอาการ จะรู้ว่าโดนหลอก
ปิยะศิริ- เพราะเป็นการระดมทุนไงครับ ไม่ได้มุ่งเน้นทำธุรกิจ
นงวดี- แต่ทีบางคนบอกฉันไปต้นๆ หัวขบวน
ปิยะศิริ- ไม่มีใครรู้ว่าต้นหรือปลาย
นงวดี- แต่ว่าถ้าเกิดฉันออกมาเร็ว ฉันอาจจะไม่โดนก็ได้ ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่มีว่าฉันออกมาเร็วแล้วฉันจะไม่ตกอยู่ในขบวนการนี้ ไม่ใช่ ใช่ไหมคะ
ปิยะศิริ- ครับ
นงวดี- เพราะว่าท้ายที่สุดอย่างที่ท่านบอก ไปชวนคนต่อก็เป็นผู้ทำผิดเหมือนกัน
ปิยะศิริ- โดยส่วนนอกจากสร้างภาพแล้ว เงินที่เอามาเป็นเงินวน ผมขออนุญาตพูดภาษาง่ายๆ คือ เอาเงินจากคนที่เข้ามาจ่ายทบไปทบมา เฉลี่ยจ่ายกันอย่างนี้วนไปวนมาจนเกิดปัญหา
นงวดี- อย่างคดีทองที่ว่านี้ท้ายที่สุดคือจบยังคะคดีนี้
ปิยะศิริ- คดีนี้เรายึดอายัดทรัพย์เสร็จแล้ว มีการเข้าค้นเป้าหมายสำคัญในคดี ตัวการสำคัญไม่น้อยกว่า 12 ครั้ง ในห้วงปีที่ผ่านมา ปัจจุบันในช่วงสัปดาห์หน้าเราจะเสนออัยการแล้ว สรุปสำนวนส่งอัยการแล้วครับ
นงวดี- สรุปส่งอัยการแล้วขั้นตอนต่อไปก็คือ เข้าสู่กระบวนการ
ปิยะศิริ- ปัจจุบันในช่วงสัปดาห์หน้าเราจะเสนออัยการ ส่งสำนวนส่งอัยการแล้วครับ
นงวดี- ขั้นตอนต่อไปก็เข้าสู่กระบวนการ
ปิยะศิริ- ยังไม่สิ้นสุดครับ ในทางคดีก็ว่ากันไป แต่ปัจจุบันทางกระทรวงยุติธรรมให้นโยบายชัดเจนว่า คดีความผิดสำคัญโดยเฉพาะคดีแชร์ลูกโซ่จะต้องดำเนินการในกฎหมายฟอกเงินด้วย นั่นหมายความว่านอกจากติดคุกแล้วไม่พอ ทรัพย์สินที่ท่านได้มา หรือเกี่ยวข้อง ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษจะติดตามและเอาคืนมา
นงวดี- แล้วอย่างคดีทองที่ว่านี้ ที่ไปติดตามอะไรมา มูลค่ามันเทียบเท่ากับผู้ที่เสียหายที่เข้าไปร้องมั้ยคะ
ปิยะศิริ- คงเป็นการยากที่จะตามทรัพย์มาทั้งหมด เพราะระยะเวลาผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามเราพยายามถึงที่สุดแล้ว ในกรณีนี้เรายึดทรัพย์ได้ประมาณ 70 ล้านครับ
นงวดี- 70 ล้าน จากความเสียหายจริงๆที่เกิดขึ้น
ปิยะศิริ- ความเสียหายจริงๆก็จะมี 700-800 ล้าน เพราะในกรณีนี้เป็นการร่วมกันระหว่างคนไทยบางส่วนกับชาวต่างชาติ เงินบางส่วนได้ถ่ายเทออกไปในรูปแบบของเงินสด
นงวดี- แสดงว่าขบวนการเหล่านี้ ก็อาจมีการร่วมมือกันลักษณะแบบนี้เยอะไหม หรือส่วนใหญ่ก็เป็นขบวนการในประเทศ
ปิยะศิริ- ขบวนการเป็นคนไทยก็มีโดยปกติ แต่เพื่อความน่าเชื่อถือ ถ้ามีชาวต่างชาติที่เป็นนักธุรกิจมาลงทุนด้วย มันดูน่าเชื่อถือ ฉะนั้นในบางกรณีอาจจะมีการจัดสัมมนา แล้วนำภาพนี้ออกเผยแพร่
นงวดี- ไปประชาสัมพันธ์ต่อว่ามีสมาชิก ประสบความสำเร็จแล้วนะอะไรก็ว่าไป
ปิยะศิริ- อันนี้ยังไม่นับในเรื่องที่ก่อนเข้ารายการที่คุยกันว่าในเรื่องกรณีของการหลอกให้ลงทุนในการแลกเปลี่ยน เงินสกุลดิจิตอล ที่วันนี้เราคุยกัน ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศออกมาชัดเจนว่าเงินสกุลดิจิตอลไม่ได้มีค่า หรือมีผลที่เอามาใช้ในสังคมไทย เป็นการยอมรับเฉพาะกลุ่ม ประเทศไทยเราไม่ได้ยอมรับตรงนั้น เพราะฉะนั้นผมแจ้งเลยครับ ถ้ามีการเชิญชวนให้ลงทุนและใช้ระบบอินเตอร์เน็ตให้ท่านเข้าไปเช็กดูว่าท่านลงทุนได้เท่าไหร่และบอกว่ามีเงินสกุลพิเศษอะไรก็แล้วแต่ ไม่ใช่ครับ เลิกเถอะ
นงวดี- แต่ท่านก็ยังบอกว่าถึงจะใช้อะไรที่เป็นดิจิตอลทั้งหลาย แต่รูปแบบของมันก็ยังถือว่าเป็นลูกโซ่ นั่นหมายความว่าดิจิตอล หรือโซเชียลมีเดียเป็นเพียงช่องทาง
ปิยะศิริ- เป็นเครื่องมือในการเชิญชวนโฆษณาชักชวน
นงวดี- ให้สู่วงกว้างถึงคนมากขึ้น ฉะนั้นเหยื่อก็จะมากขึ้น
ปิยะศิริ- เพราะเปอร์เซ็นต์การเข้าถึงเยอะ
นงวดี- ก็คงจะพอเห็นภาพว่าจริงๆแล้วที่เราบอกว่าดิจิตอล หรืออะไร มันก็เป็นช่องทางหนึ่ง แต่วิธีการหลอกลวงยังเป็นในรูปแบบที่เราก็เคยเห็นกันมาก่อนหน้านี้แล้ว คือสร้างเรื่องขึ้นมา แล้วก็ไปชักจูงให้คนหลงเชื่อ เอาเงินมาลงทุนท้ายที่สุดก็ ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าบริการที่นำเสนอไปไม่มีอยู่จริง กว่าจะรู้ตัวก็มักจะตกเป็นเหยื่อเรียบร้อยแล้ว
เดี๋ยวตอนนี้เราจะพักกันสักครู่แล้วเดี๋ยวช่วงหน้าเราจะมาดูคดีดังๆกันสักนิดหนึ่งที่เราก็ติดตามกันอยู่ว่าสุดท้าย คนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจสักเท่าไหร่ว่ารายละเอียดในการหลอกลวงมันเป็นอย่างไร รวมไปถึงเรื่องล่าสุดที่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาเตือนอีกครั้งว่าอย่าไปหลงเชื่อเรื่องของการซื้อขายบัญชีธนาคาร มีอะไรแบบนี้ด้วยนะคะ เดี๋ยวช่วงหน้ามาคุยกันว่า เราจะป้องกันตัวเองอย่างไรบ้างค่ะ
******************** พักเบรก *********************
นงวดี- มาคุยกันต่อกับคนเคาะข่าว เบรกนี้เรามาคุยกันถึงการหลอกลวงอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งทางธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่ากำลังจับตาดูเป็นพิเศษ และออกมาเตือนด้วยว่า อย่าลงเชื่อ ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาเตือนด้วยตัวเอง ท่านบอกว่า อย่าหลงเชื่อเพจรับซื้อสมุดบัญชี บัตรเอทีเอ็ม มันมีด้วยเหรอคะ ซื้อขายสมุดบัญชีธนาคาร และซื้อเอทีเอ็มด้วย ตรงนี้ท่านพอจะเช่าได้ไหมคะว่าวิธีการมันยังไง แล้วเขาหลอกอะไรกันยังไง แล้วเขาจะเอาไปทำอะไร
ปิยะศิริ- ส่วนใหญ่เรื่องที่อะไรก็ตามที่เกี่ยวกับเรื่องบัญชี Statement ความเคลื่อนไหวทางการเงิน ส่วนใหญ่แล้วก็จะเป็นเรื่องของการกู้ ในประสบการณ์ที่ผมเจอ ก็คือปัจจุบันเราพบว่ามีการตั้งเพจ หรือเชิญชวนในโซเชียลมีเดียให้ประชาชน หรือผู้หลงเชื่อ เนื่องจากว่าตัวเองไม่มีความสามารถในเรื่องของการกู้หรือขอสินเชื่อ ก็จะใช้วิธีการตกแต่งสินเชื่อบัญชี สร้างเงินหมุนเวียน สร้างเครดิตเพื่อไปกู้กับสถาบันการเงิน บางส่วนก็คือรับจ้างทำ แล้วได้เปอร์เซ็นต์ของการได้กู้ก็มี คือสุดท้ายเมื่อทำหลกขึ้นมาแล้วพอเข้าไปยื่น หลุดมาปล่อยให้สินเชื่อมา ส่วนใหญ่ก็เป็นเอ็นพีแอล
นงวดี- ก็คือชักดาบไปเลย แต่ได้เงินกู้มาแล้ว
ปิยะศิริ- เพราะคนปกติที่มีฐานะทางการเงินหรือมีธุรกิจจริงก็ไม่ต้องไปตกแต่ง ไปจ้างใคร
นงวดี- ก็เอา Statement จริงๆของเราไปยื่นกับแบงก์ขอสินเชื่อมาทำธุรกิจ ฉะนั้นวิธีการที่ผู้ว่าแบงก์ชาติออกมาเตือนเพราะว่าเขาอยากจะตกแต่งบัญชีเพื่อที่จะเข้าถึงแหล่งเงินทุนแบบนี้เหรอคะ
ปิยะศิริ- ถ้าไม่ตกแต่งบัญชีก็สามารถแสดงให้เห็นว่ามีเงินหมุนเวียนเท่าไหร่ ส่วนใหญ่จะทำมาเพื่อจะขอกู้ เพื่อขอสินเชื่อ
นงวดี- แต่จริงๆการซื้อขายบัญชีธนาคารมันทำไม่ได้อยู่แล้ว
ปิยะศิริ- ก็ผิดอยู่แล้วครับ บัญชีใครบัญชีมันอยู่แล้ว
นงวดี- อย่างนี้สถาบันทางการเงินก็ถือว่าตกเป็นเหยื่อด้วยอย่างนี้
ปิยะศิริ- เขาก็มีมาตรการตรวจสอบ แต่การตกแต่งสร้างบัญชีในเรื่องอื่น อย่างไปเช่าตึกให้สวยงาม ตั้งเป็นบริษัทย่อยๆเพื่อกู้เพื่ออะไรก็ทำได้ครับ
นงวดี- ท่านผู้ว่าแบงก์ชาติเตือนอย่างนี้ด้วยนะคะว่า ย้ำว่าการเปิดบัญชีเงินฝาก การทำบัตรเอทีเอ็มแทนบุคคลอื่น รวมทั้งการเอาบัญชีไปขายให้บุคคลอื่นมีความผิดเช่นเดียวกัน และอาจเข้าข่ายความผิดกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย
ปิยะศิริ- คืออย่างนี้ครับ ที่ผ่านมาในอดีตเราเคยทำคดีคงได้ยินเกี่ยวกับเรื่องการหลอกให้คนหลงเชื่อ เขาเรียกว่า โรแมนซ์สแกม เคยได้ยินมั้ยครับ สแกมเมอร์ ที่หลอกโทรศัพท์มา ใช้โซเชียลมีเดียมาจีบแล้วให้โอนเงินข้ามประเทศบ้าง หรืออยู่ในประเทศบ้าง แล้วในกระบวนการแบบนี้มันจะมีการ เมื่อหลอกแล้วก็จะมีการโอนเงิน แต่พอโอนมาถ้าโอนตรงมาก็จะรู้ว่าเป็นใคร ก็จะมีการจ้าง ส่วนใหญ่ก็จะจ้างคนที่ไม่ค่อยรู้เรื่อง แล้วจ้างให้เปิดบัญชี พอเงินมาก็จะถอนแล้วโอนเข้าสู่ตัวการสำคัญไปเลย
นงวดี- คือเป็นทางผ่าน
ปิยะศิริ- ถูกต้องครับ อย่างนี้ผิดแน่นอน อย่างนี้ก็ใช้โซเชียลมีเดียอีกแบบเหมือนกัน
นงวดี- (ก้มดูโทรศัพท์มือถือ) นี่บอกว่าขายสมุดบัญชีทุกธนาคาร คือโฆษณากันแบบนี้เลยนะคะ รับซื้อสมุดบัญชีธนาคาร หรือขายบัญชีธนาคารพร้อมบัตรเอทีเอ็ม เขาโฆษณากันอย่างนี้เลยนะคะ
ปิยะศิริ- เขาเอาไปทำได้หลายอย่าง
นงวดี- รับเปิดบัญชีบวกเอทีเอ็ม กดฝากถอนโอนได้จริง นี่ทำเป็นล่ำเป็นสันมาก บัญชีใช้งานได้จริงมีเอกสารยืนยันถูกต้องทุกอย่าง
ปิยะศิริ- คือกรณีแบบนี้มันเกี่ยวข้องทางการเงิน กลุ่มกระทำความผิดใช้วิธีนี้ในการที่จะปกปิดการกระทำผิดด้วย ฉะนั้นเมื่อปกปิดความผิด มันเป็นลักษณะของการโยกเงิน การปกปิดซุกซ่อนเพื่อให้รู้ว่าเขาไม่ได้กระทำความผิด ฉะนั้นการกระทำแบบนี้มันเข้าข่ายของกฎหมายฟอกเงิน อย่างที่ท่านผู้ว่าฯเตือนนี่ใช่ครับ
นงวดี- ซึ่งท่านก็บอกว่า กำลังเตรียมจะนำเทคโนโลยีใหม่ๆมาให้ทางธนาคารพาณิชย์ใช้เพื่อป้องกันความปลอดภัยเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของนักต้มตุ๋น ท่านก็พูดถึงวิธีการพิสูจน์ตัวตน เช่น การสแกนม่านตา หรือใช้ลายนิ้วมือ
ปิยะศิริ- งั้นก็ต้องกลับไปว่าใช้เทคโนโลยีสู้กับเทคโนโลยีเหมือนกัน
นงวดี- แต่อะไรแบบนี้มันซับซ้อนเหรอคะ ฟังแล้วมันไม่ซับซ้อนเท่าไหร่นะ มันก็เป็นวิธีที่ไม่ได้ใช้เทคโนโลยี
ปิยะศิริ- ผมว่าเป็นลักษณะของการหลอกก็ซ้ำๆ เพียงแต่เปลี่ยนกลุ่มเป้าหมาย เปลี่ยนพื้นที่ไป ผมยกตัวอย่างกลับไปนิดหนึ่ง อย่างแชร์ล็อตเตอรี่ก็ได้ ในอดีตก็หลอกแบบนี้ หลอกง่ายๆด้วยว่ามีโควต้าล็อตเตอรี่ แต่ลงทุนก่อนแล้วกันระดมเงินก่อน พอถึงงวดต่อไปเขาได้กำไร 10-20% เขาส่งให้ ปีนี้ก็ไปหลอกทางเหนือ อีกปีก็ไปหลอกทางอีสาน สภาพวนแบบนี้ ตอนหลังใช้โซเชียลมีเดียมาช่วยก็ไปกันใหญ่เลย
นงวดี- ก็เรียกว่ามีหลายรูปแบบกลโกงการหลอกลวงก็คล้ายคลึงกัน
ปิยะศิริ- เป็นการหลอกไปที่ตัวรากหญ้า ประชาชน อย่างที่คุยกันตอนกลางรายการ บางส่วนก็มีหลอกไปที่สถาบัน อันนี้สวนกลับ อันนี้หลอกขึ้น คราวนี้หลอกธนาคาร เราพบว่ามีคดีพิเศษที่เรารับผิดชอบอยู่ กรณีหนึ่งมีความเสียหายมูลค่าเกือบสองสามพันล้านเลย คือเป็นกลุ่มบริษัท แล้วตั้งนอมินีขึ้นมา หรือนิติบุคคลมาแล้วทำการปลอมเอกสาร ทำการตกแต่งบัญชีเพื่อตบตาธนาคารแล้วหลอกกู้สินเชื่อ บางส่วนอ้างว่ามีธุรกิจอยู่ต่างประเทศ เมื่อโอนไปแล้ว บริษัทจัดตั้งที่มีโอนต่อแล้วเงินก็กระจายหายเลยในต่างแดน
นงวดี- คืออย่างธนาคารเอง สถาบันการเงินเวลาเขาจะปล่อยกู้ก็ไม่ได้ปล่อยง่ายๆ เขาก็ต้องมีการตรวจสอบว่ามีจริงหรือธุรกิจ
ปิยะศิริ- คือกลุ่มบุคคลพวกนี้ก็พยายามสร้างความน่าเชื่อถือตกแต่งบัญชีในการทำสัญญาซื้อขาย
นงวดี- คือเนียนมาก คือมีเอกสารพร้อมครบ
ปิยะศิริ- ทำจริงก็มีครับ แต่พอกู้ได้เมื่อไหร่ก็หาย อย่างนี้ก็มี
นงวดี- ประเภทนี้เยอะมั้ยคะ
ปิยะศิริ- เราพบอยู่หลายกลุ่ม กำลังดำเนินการอยู่ครับ
นงวดี- ไม่ใช่เฉพาะยุคนี้คือมีมาตลอด
ปิยะศิริ- มีมาตลอด พัฒนาไปถึงการหลอกคนหรือสร้างบัญชีเพื่อที่จะทำบัตรเครดิตด้วยซ้ำไป บัตรเครดิตยังมีวงเงินอนุมัติให้ตั้งแต่หลักหมื่นจนกระทั่งถึงหลักแสนหลักล้าน บางคนเราเข้าไปค้นสถานที่เป้าหมายบางที่เราพบว่าบัตรประเภทเหมือนวีไอพีของธนาคาร คนหนึ่งมี 10 ใบ
ปิยะศิริ- รูดเต็มวงเงินเสร็จแล้วหนี เหมือนเดิม
นงวดี- ก็คือกลายเป็นหนี้เน่าไป
ปิยะศิริ- ส่วนคนที่ถูกใช้ให้เปิดบัญชี เป็นเจ้าของบัตรก็ตาม สุดท้ายก็จะถูกดำเนินการทางอาญากับทางแพ่งก็แล้วแต่ นะครับ
นงวดี- ก็คือเจ้าตัวจริงๆ ให้คนอื่นมาใช้ชื่อ
ปิยะศิริ- สรุปคือบางทีได้ค่าเปิดบัญชี ได้ค่าใช้ชื่อ ไม่กี่พันบาท
นงวดี- แต่เวลท้ายที่สุดเขาหนีไป ชักดาบไป เจ้าของเจ้าตัวที่เป็นชื่อตัวบัญชี ก็ต้องเดือดร้อน
ปิยะศิริ- ใช่ครับ ต้องไม่ไปยุ่งตั้งแต่ต้น
นงวดี- ที่นี้มีคำแนะนำไหมคะ บางทีเราก็ไม่ค่อยรู้ตัวว่าเราตกเป็นเหยื่อหรืออะไรไหม คำแนะนำสำหรับประชาชน ไม่ให้เสียรู้นี่นะคะ ยังไงดีคะ
ปิยะศิริ- จริงๆ โดยปกติ การที่เราจะลงทุนอะไรเนี่ย ในโฆษณาทั่วไป เขาจะบอกว่าการลงทุนมีความเสี่ยง โปรดตัดสินใจก่อนการลงทุน ก็ต้องถามว่าในการลงทุนแต่ละกรณี เงินจะออกจากกระเป๋าท่าน ท่านได้พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วหรือยัง ว่าธุรกิจที่ท่านลงทุน ท่านทำความเข้าใจ เท่ารู้ความเสี่ยงของมันไหม แล้วผลตอบแทนที่ว่านี่ มันเป็นไปได้จริงหรือไม่ ถูกไหมครับ
นงวดี- ค่ะ
ปิยะศิริ- แล้วอย่าเชื่อ ในสิ่งที่คนอื่นลงทุนก่อนประสบความสำเร็จ หรือได้ เพราะเราไม่ทราบไงครับ ว่าสิ่งที่มันเกิดขึ้นเป็นการจัดฉากหรือไม่ อะไรก็แล้วแต่ ที่ลงไปแล้วดูสวยงาม ดูตอบแทนเร็ว ดูแล้วมันน่าสนใจเกินจริง แล้วมีการเร่งรัด ให้เอาเงินจากกระเป๋าท่านไปลงทุน ด้วยความเร่งรีบ อย่างนี้อันตรายครับ สุดท้าย สิ่งที่ป้องกันดีที่สุด ท่านต้องเตือนตัวเองว่า เอ๊ะสิ่งที่เราทำอยู่ มันเป็นความโลภหรือไม่ ท่านโลภหรือเปล่า สองท่านรู้หรือเจนจัดในสิ่งที่ท่านลงทุนหรือเปล่า ส่วนสุดท้ายก็คือเรื่องการหลอกลวง
นงวดี- ค่ะ
ปิยะศิริ- กลับกันอย่างที่บอกกันว่า เมื่อเขาใช้โซเชียลมีเดียมาเกี่ยว มาเชิญชวนโฆษณาท่าน ขณะเดียวกันท่านก็สามารถใช้โซเชียลมีเดีย ในการพิจารณาศึกษา ในการเก็บข้อมูล แล้วในท้ายที่สุด เมื่อเกิดการหลอกลวงขึ้นเนี่ย สิ่งที่ท่านเก็บรวบรวมไว้มันก็จะเป็นพยานหลักฐานได้นะครับ ในตอนท้าย
นงวดี- เราต้องเก็บข้อมูลของเราด้วย
ปิยะศิริ- ซึ่งตอนนี้ทางกรมสอบสวนคดีพิเศษ กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนาแอปพลิเคชันตัวหนึ่ง ซึ่งสามารที่จะบันทึกภาพในการเชิญชวน ในการโฆษณา ในการเรคคอร์ดข้อมูล ที่เกิดจากโซเชียลมีเดียแล้วส่งกลับมาที่เซิร์ฟเวอร์ที่กรมได้ แล้วท่านสามารถสอบถามมาได้ว่า สิ่งเหล่านี้มันจริงหรือเปล่า เพราะฉะนั้นเราต้องเท่าทัน ไม่อย่างนั้น ท่านหลอก ท่านคุย ท่านเชิญชวนกันอยู่แล้วสุดท้ายเกิดเรื่องแล้วเรื่อง ถึงกลับมาสอบสวน สืบสวนถูกไหมครับ
นงวดี- ค่ะ
ปิยะศิริ- วันนี้เราเปลี่ยนวิธีการแล้ว ในเชิงรุก ในขณะที่ท่านจะลงทุน ในขณะที่ท่านจะเริ่ม ท่านแจ้งเข้ามาเลยครับ
นงวดี- ให้ดีเอสไอดูให้หน่อย ว่าเชื่อถือไหม น่าเชื่อถือไหม อย่างนี้เหรอคะ
ปิยะศิริ- อย่างนี้ดีกว่า เพราะอย่างน้อยที่สุด มันดีกว่าที่เมื่อเกิดปัญหา แล้วก็เกิดความเสียหายในวงกว้างแล้วเรื่องถึงเข้ามานะครับ
นงวดี- เหมือนกับทางกรมสวบสวนคดีพิเศษ ดูให้หน่อย ดูให้ก่อนว่า เพจนี้ตุ๋นแน่นอน เพจนี้โอเค ลงทุนได้จริง
ปิยะศิริ- เราเป็นทางเลือกหนึ่งของกระบวนการยุติธรรมที่จะช่วยท่าน
นงวดี- ออกมาหรือยังคะ แอปฯ นี้
ปิยะศิริ- ตอนนี้ใกล้เสร็จแล้วครับ
นงวดี- ยังไม่เสร็จ
ปิยะศิริ- แต่ว่าไม่เป็นไร ไม่สำคัญ ขณะที่ท่านจะลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ท่านสามารถโทร.เข้ามาสอบถาม หรือแจ้งเข้ามาทางโทรศัพท์ นะครับ 1202 หรือท่านส่งหนังสือจดหมายมาก็ได้ ว่าเรื่องนี้จริงหรือเปล่า ได้ข่าวว่าแบบนี้ เราก็จะคนเข้าไปตรวจสอบ ดำเนินการให้ว่าจริงหรือไม่จริง
นงวดี- เข้าตรงได้ที่ทางดีเอสไอเลย ใช่ไหมคะ
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- ว่าตัวเอง เอ๊ะ เริ่มสงสัยว่า ฉันเป็นเหยื่อหรือเปล่า
ปิยะศิริ- เป็นเหยื่อหรือเปล่า อันนี้เป็นแชร์ลูกโซ่หรือเปล่า อันนี้เป็นขายตรงหรือไม่ตรง อันนี้เป็นฟอเร็กซ์เงิน อนุญาตให้ซื้อขาย จริงหรือไม่ เงินสกุลดิจิทัลที่ยกตัวอย่างกันทุกวันนี้ มันมีค่าจริงหรือเปล่า แล้วถ้าลงไปจะเสียหายไหม อย่างนี้ได้หมดครับ
นงวดี- อย่างเงินสกุลดิจิทัลที่ดิฉันพูดถึงคือ วันคอยน์ อันที่เป็นข่าว
ปิยะศิริ- ก็มีหลายอย่าง
นงวดี- มีหลายอย่างด้วย
ปิยะศิริ- มีหลายกลุ่ม
นงวดี- เช่น ยกตัวอย่างหน่อย เผื่อประชาชนไม่รู้ พอไปเจอจะได้ฉุกคิดได้ ระวังไว้นะคะ
ปิยะศิริ- คือปกติโดยค่าเงินที่ทั่วโลก เขาใช้กันอยู่ ผมขออนญาตอธิบายง่ายๆ ก็คือว่า อย่างประเทศไทยใช้สกุลเงินบาท ทั่วโลกอาจจะใช้เงินปอนด์ เงินยูโร เงินดอลล่าร์ก็แล้วแต่ สิ่งเหล่านนี้ มีค่าแน่นอน แต่สิ่งที่ท่านไปลงทุนและสมมติกันเป็นสกุลเงินดิจิทัล ที่สังคมโลกหรือสังคมไทย เขาไม่ได้ใช้ กันนี่ มันมีค่าที่สมมติกันเฉพาะในกลุ่มของท่าน เมื่อวันหนึ่งตัวเลขเหล่านี้ที่สมมติ มันหายไปหรือเขาหนีไป สิ่งเหล่านี้ที่ในบัญชีที่ท่านมี ในอินเทอร์เน็ต ที่เขาบอกว่าให้ท่านเอารหัสแล้วไปเช็กดู ท่านมีเงินสกุลเท่าไหร่ของท่าน มันหายไปหมด มูลค่ามันก็ศูนย์ไงครับ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น ท่านจะลงทุนเกี่ยวกับสกุลเงินดิจิทัล อย่าไปทำเลยครับ ธนาคารแห่งประเทศไทย ประกาศแล้วนะครับ ไม่ได้ยอมรับ แล้วก็ไม่มีค่าอะไรที่ใช้ในทางเศรษฐกิจเราได้เลย
นงวดี- ที่สามารถชำระหนี้ตามกฎหมายได้
ปิยะศิริ- ใช่ครับ ตรงนี้ยืนยัน
นงวดี- คดีประมาณนี้มีเยอะไหมคะ ท่านมีข้อร้องเรียนเข้ามาเยอะไหมคะ พวกสกุลเงินดิจิทัล
ปิยะศิริ- มีมาตลอดเลย สุดท้ายสิ่งที่พึงระวัง คืออย่างนี้ครับ ปัจจุบันมีการเช่าห้อง เช่าตึกในการบรรยาย สอนในการเทรดหรือลงทุนอะไรก็แล้วแต่ สุดท้ายเขาก็จะเชิญชวนชี้ชวนให้ท่านลงทุน ในจำนวนเงินประมาณนี้
นงวดี- บอกว่าเทรดแล้วเลย ประมาณนี้ใช่ไหมคะ
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- เทรดเลยที่เขาสอนมา ไม่รู้ว่าจริงไหม
ปิยะศิริ- จริงๆ มันต้องใช้เงินเยอะ ในการที่ลงทุนเยอะ ในการที่จะได้อัตราผลตอบแทนของค่า ของเงินที่เปลี่ยนไปในการเทรดเงินตรา เพราะฉะนั้นต้องใช้เงินขนาดไหน ส่วนใหญ่ไปดู พอเปิด เดี๋ยวก็ปิด เกิดปัญหาก็หากันไม่เจอละ ต้องระวังครับ เงินบาท เงินดอลล่าร์ นี่มีจริง เป็นเงินสกุลดิจิทัล เป็นกลุ่มๆ ครับ อย่างวันคอยน์ นี่กลุ่มใหญ่เลย บางทีก็มีกลุ่มหนึ่งก็ไปสมมติอะไรกันอีกนะครับ แล้วก็มาแลกกัน แลกกับเงินบาทบ้าง มาสมมติกัน อะไรอย่างนี้ครับ
นงวดี- ก็ต้องระมัดระวัง อันนี้ก็คือท่านกำลังจะชี้ว่า บางทีเขาจะหลอกลวงด้วยวิธีการว่าสอนให้ลงทุน
ปิยะศิริ- ใช่ครับ
นงวดี- ใช่ไหมคะ พอท้ายจริงๆ ท่านไปหลงเชื่อ นั่งลงทุนตึกหรืออะไรที่เขา จัดไว้ แล้วเขาบอกว่าให้ท่านลงทุนไปเลย แต่นั่นเงินจริงๆ
ปิยะศิริ- เงินจริง ท่านเอาเงินจริง สรุปคือท่านเอาเงินจริงของท่านไปลงทุนกับสกุลเงินอะไรก็ไม่รู้ ที่มันไม่ได้ยอมรับกัน โดยเฉพาะในประเทศไทย มันไม่มีค่าตรงนั้น
นงวดี- สุดท้ายนี้ อยากจะให้ท่านพูดถึงเรื่องกฎหมาย หรือว่าโทษที่ประชาชน หรือว่าประชาชนบางท่านอาจจะรู้เท่าไม่ถึงการณ์อย่างนี้ นะคะ แต่ว่าต้องระมัดระวัง จะเป็นยังไงบ้างคะ
ปิยะศิริ- คืออย่างนี้นะครับ ผมแบ่งเป็นสองส่วน ในเรื่องของการหลอกลวง ถ้าเป็นปกติ เรื่องของการฉ้อโกง มันก็เป็นไปตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายอาญาอยู่แล้ว มีโทษอยู่แล้ว ส่วนกรณีที่มันขยายและหนักไปกว่านั้นคือกฎหมายที่ว่าด้วยแชร์ลูกโซ่ หรือที่เราเรียกกันว่า พระราชกำหนดการกู้ยืมเงินที่เป็นอันฉ้อโกงประชาชน อันนี้ ถ้าเราพิจารณาไปตามองค์ประกอบความผิด ตามมาตรา 4 มาตรา 5 นะครับ เราจะเห็นว่าถ้าเข้าไปมีส่วนร่วมกระทำผิดนะครับ หรือว่าไปอยู่ในสายของการลงทุน หรือไปเชิญชวนผู้ใดหรือเป็นผู้คิดก่อตั้งนะครับ ตรงนี้นะครับมันจะมีโทษ โทษนี่ไปพิจารณาในมาตรา 12 หมายความว่ายังไง หมายความว่า ในการเชิญชวนแต่ละครั้ง ในการหลอกแต่ละครั้ง คิดเป็นกรรมๆ เพราะฉะนั้นไม่แปลกใจ เวลาเมื่อศาลพิพากษาออกมา บางคนติดคุก เป็น 100 ปีเลยครับ ผมแจ้งนิดเดียวเลย เพื่อให้ประชาชนหรือชาวบ้านเข้าใจ ว่าถ้าท่านคิดจะไปลงทุน ท่านศึกษาให้ดี ถ้าท่านไปลงทุนของท่านเองก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าท่านไม่แน่ใจไปชวนคนอื่น หรือไปชวนเยอะๆ บางที ท่านอาจจะตกอยู่ในภวะที่ท่านเป็นแม่สาย หรือพูดเพื่อเชิญชวน มันจะมีความผิดตามองค์ประกอบ
นงวดี- ลดหลั่นกันไป ใช่ไหมคะ
ปิยะศิริ- ใช่ครับ เพราะฉะนั้นถ้าไม่มั่นใจอย่าไปเชิญชวนใครนะครับ
นงวดี- ประเภทแบบเป็นดาวน์ไลน์ ชวนดาวน์ไลน์มา เป็นสายลงไปเรื่อยๆ นั่นคือเป็นกฎหมาย พระราชกำหนดการกู้ยืมเงิน มีกฎหมายฉบับอื่นๆ หรือความผิดอื่นๆ ที่ต้องพึภงระมัดระวัง เป็นพิเศษไหมคะ
ปิยะศิริ- โดยส่วนใหญ่ กฎหมายแชร์ลูกโซ่ จะใช้ตัวนี้เป็นหลัก
นงวดี- เป็นหลัก
ปิยะศิริ- ใช่ครับ โทษหนัก กรรมหนึ่งก็เจ็ดปี
นงวดี- คะ สุดท้ายให้ท่านฝากถึงประชาชน ในยุคสมัยแบบนี้ แล้วโซเชียล ก็เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปเรียบร้อยแล้ว และก็ดูเหมือนว่ามิจฉาชีพก็เห็นด้วยว่า เป็นช่องทางที่เข้าถึง ได้กว้างและง่าย และดูความน่าเชื่อถือจะสร้างได้ง่าย ขึ้นกว่า อยากให้ท่านเตือนต้องทำยังไงบ้างคะ
ปิยะศิริ- ในขณะที่มีกลุ่มบุคคลพยายามจะหลอกหรือเชิญชวนท่าน ด้วยการใช้โซเชียลมีเดีย ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในทางกลับกันเหมือนกัน ท่านในฐานะที่อยู่ในสังคมข่าวสาร ท่านก็สามารถใช้โซเชียลมีเดียในการตรวจสอบบุคคลหรือสิ่งที่เขาก็เชิญชวนได้เหมือนกัน ท่านก็เข้าถึงเหมือนกัน ในขณะเดียวกันผมก็ยังยืนยันอยู่ว่า อะไรก็แล้วแต่ที่โฆษณาหรือเชิญชวนในโซเชียลมีเดีย บางทีมันก็เป็นโลกเสมือนจริงที่ตกแต่งได้ ใช่ไหมครับ เราไม่ทราบเบื้องหลังของการ ได้มานะครับ ในเรื่องของสินทรัพย์ที่มาโชว์ หรืออะไรก็ตาม เพราะฉะนั้น ผมสุดท้ายเลยเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ก็พึงระวัง ในการลงทุน อะไรก็ได้แต่ที่ได้ผลตอบแทนเร็ว สั้น มากกว่าสถาบันการเงินให้ ท่านสันนิษฐานไว้ก่อนเลย อันนี้น่าจะเป็นแชร์ลูกโซ่ อันนี้น่าจะเป็นการหลอกลวง ท่านมีเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยให้คำปรึกษา ท่านมีเจ้าหน้าที่รัฐที่คอยดำเนินการเรื่องนี้ เพราะฉะนั้นท่านตัดสินใจลงทุนอะไรแล้วยังไม่แน่ใจ ท่านตรวจสอบได้ ไม่ว่าจะเป็น สคบ. เป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือเป็นกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นงวดี- คะ เอาละคะ อยากจะให้ประชาชนพึงระวัง เอาไว้โลกสมัยนี้โลกยุคนี้ จะหมุนไปเร็วสักนิดหนึ่ง แล้วก็มีเรื่องโซเชียลมีเดีย เป็นช่องทางที่จะสามารถเข้าถึงประชาชนได้อย่างกว้างขวางจริงๆ เพราะฉะนั้นถ้าเราจะตัดสินใจนำเงินของตัวเองออกไปทำอะไร ก็ต้องศึกษาหาข้อมูล แล้วก็ต้องดูดีๆ อย่างมากๆ ไม่เช่นนั้นท่านก็อาจจะ หลงเป็นเหยื่อของบรรดามิจฉาชีพได้ด้วยนะคะ สำหรับวันนี้ ต้องขอบคุณมากคะ สวัสดีค่ะ