MGR Online - มองหลายมุมกรณี กระทะ Korea King ตั้งราคาหลักหมื่น แต่ขายจริงหลักพัน จนขายกระหน่ำกว่าล้านใบ ถือว่าหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ ขณะที่ความเห็นของผู้มีชื่อเสียงในวงการยังแตก ด้านหนึ่งมองผิด - เอาเปรียบผู้บริโภค อีกด้านหนึ่งมองเรื่องปกติของการค้า อยู่ที่ความพึงพอใจของผู้บริโภค เพราะไม่ใช่สินค้าควบคุมราคา
ยังคงเป็นเรื่องฮือฮาข้ามสัปดาห์กับกรณี “กระทะโคเรียคิง (Korea King)” หรือ ที่ชาวบ้านชาวช่องกันติดปากว่า “กระทะวู้ดดี้” เนื่องจากบริษัทผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยแจ้งราคาตั้งขายที่ 15,000 บาท แต่ขายจริง ซื้อ 1 แถม 1 ในราคา 3,300 บาท พร้อมตะหลิวราคา 900 บาท อีกหนึ่งด้าม ทำให้กระทะดังกล่าวขายดิบขายดีจนมีใช้แล้วกว่า 1 ล้านครัวเรือน กระทั่งเมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาในโลกโซเชียลมีการแชร์ภาพของกระทะยี่ห้อเดียวกันในสิงคโปร์ แต่ราคาแค่ 600 บาท จนสังคมเริ่มตั้งข้อสงสัยราคาจริงๆ เท่าไหร่กันแน่ และ เป็นกลยุทธ์ทางการตลาดที่ตั้งราคาสูงแล้วลดราคาเสียเวอร์หรือเปล่า?
กรณีดังกล่าว สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค สำนักนายกรัฐมนตรี หรือ สคบ. ได้ออกหนังสือครั้งที่ 23/2560 ระบุวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 หัวข้อ “สคบ. ชี้แจงกรณีการโฆษณากระทะ Korea King” โดยใจความสำคัญระบุว่า กรณีมีผู้ตั้งคำถามว่า การโฆษณาจำหน่ายสินค้ากระทะ Korea King ที่มีการตั้งราคาสูงเกินจริง และใช้กลวิธีลดราคาเพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อสินค้านั้นอาจเข้าข่ายการโฆษณาชวนเชื่อหลอกให้ซื้อหรือไม่ สคบ. ขอชี้แจงว่า
“บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด ได้รับการจดทะเบียนการประกอบธุรกิจตลาดแบบตรง เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน (กระทะ Korea King) ซึ่งในเอกสารประกอบการจดทะเบียนระบุราคาขายไว้ 15,000 บาท นำเข้าและจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค” สคบ. ระบุ และชี้แจงต่อว่า
หลังจากนำกรณีดังกล่าวเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการติดตามสอดส่องและวินิจฉัยการโฆษณาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2560 ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว ผู้แทนจากกรมการค้าภายในได้ให้ความเห็นว่าในประเด็นกระทะ Korea King ไม่ถือเป็นสินค้าควบคุมราคา โดยสินค้าควบคุมราคา หมายถึงสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีพของประชาชน ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยสินค้าและบริการ พ.ศ .2542 ทั้งนี้ สคบ. ยังอยู่ระหว่างการเรียกให้ผู้ประกอบธุรกิจส่งเอกสารการโฆษณาทั้งหมด พร้อมจะจัดให้มีการทดสอบพิสูจน์คุณภาพของสินค้าด้วย นอกจากนี้ จะมีการพิจารณาในประเด็นการจัดให้มีของแถมหรือสิทธิประโยชน์โดยให้เปล่า ตาม พ.ร.บ. ขายตรงและตลาดแบบตรง พ.ศ. 2545 มาตรา 29 ต่อไปอีกด้วย
แม้ สคบ. จะระบุว่า กระทะ Korea King ไม่เป็นสินค้าควบคุมราคา แต่ก็ยังมีนักวิชาการ/ผู้มีชื่อเสียง บางส่วนที่พยายามชี้ให้เห็นว่า กระทะยี่ห้อดังกล่าวนั้น แจ้งราคานำเข้าไม่รวมภาษีเพียงไม่กี่ร้อยบาท แต่กลับประกาศตั้งราคาติดหลักหมื่นบาท อย่างเช่น ความเห็นของ ดร.เกษมสันต์ วีระกุล สื่อมวลชนผู้เป็นที่รู้จักกันดี อดีตอาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในวันนี้ (11 พ.ค.) ที่ระบุว่า การตั้งราคาขายดังกล่าวถือเป็น Fake Original Price หรือการตั้งราคาขายหลอกหรือไม่?
“ใครคุ้มครองคนไทย ของต้นทุนถูกๆ ประกาศขายราคาเว่อร์ๆ โดยไม่เคยขายจริงที่ราคานั้น แล้วมาโหมกระหน่ำโฆษณา ลวงให้คนอยากซื้อเพราะคิดว่าเป็นของแพงจริงๆ เมืองนอกทำแบบนี้ผิดกฎหมาย สคบ. กระทรวงพาณิชย์ รัฐบาล ทำอะไรกันอยู่ Fake Original Price มั้ย” ดร.เกษมสันต์ ระบุผ่านเฟซบุ๊ก Kasemsant Weerakun
อย่างไรก็ตาม ในมุมมองนักธุรกิจ และผู้มีชื่อเสียงในวงการไอทีอย่าง “บอย” อภิศิลป์ ตรุงกานนท์ ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารเว็บบอร์ดชื่อดังอย่างพันทิป ดอท คอม และอดีตรองนายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กลับมองในมุมที่แตกต่าง โดยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2560 อภิศิลป์ ให้ความเห็นผ่านเฟซบุ๊ก Apisilp Trunganont ว่า หลังจากที่ตนได้ดู “วู้ดดี้” วุฒิธร มิลินทจินดา พรีเซนเตอร์กระทะ Korea King ออกชี้แจงผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ในช่วงเย็นวันที่ 7 พฤษภาคมแล้ว จึงเกิดคำถามเช่นเดียวกันคนทั่วไปว่า
“กระทะ Korea King ต้นทุนใบละเท่าไหร่?
.
เป็นคำถามที่ผมเห็นใน Live ของวู้ดดี้เมื่อวานนี้
.
เข้าใจว่าคนที่ถามคำถามนี้
คงอยากรู้ว่าตั้งราคากระทะใบละเป็นหมื่น
ลดราคาเป็นหลักพัน
ต้นทุนที่แท้จริงคือเท่าไหร่
บริษัทจะกำไรเท่าไหร่
กำไรเกินควรหรือเปล่า
อะไรทำนองนี้
.
ลูกค้าสนใจราคาในมุมของส่วนเพิ่มจากต้นทุนสินค้า
แต่คนค้าขายตั้งราคาจากมุมว่าลูกค้ายินดีจ่ายเท่าไหร่
.
คนเรียนการตลาดมา จะรู้ว่ามีวิธีตั้งราคาหลายแบบ
วิธีหนึ่งที่นิยมคือดู Willingness To Pay ของลูกค้า
.
น้ำส้มคั้นใส่แก้วสวยๆ ขายในโรงแรม แก้วละ 200 บาท
จับกลุ่มลูกค้ามีเงิน นัดคุยธุรกิจ ขายได้ไม่ยาก
.
น้ำส้มคั้นเหมือนกัน ใส่ขวดพลาสติก แช่น้ำแข็ง
ขายริมถนนให้คนทั่วไป ขวดละ 20 บาท
.
ต้นทุนของน้ำส้มไม่ต่างกัน จะต่างก็คือต้นทุนสถานที่ขาย
.
กลับมาที่ต้นทุนกระทะหนึ่งใบ
ผมก็ไม่รู้หรอกว่าต้นทุนใบละเท่าไหร่
รู้แค่ว่าต้นทุนประกอบด้วยต้นทุนผันแปรและต้นทุนคงที่
.
ต้นทุนผันแปรก็คือค่าเหล็กของกระทะ
ค่าเคลือบชั้นหินอ่อน
ค่าด้ามจับกันร้อน
ค่าแรง (หรือพลังงานหุ่นยนต์)
ต้นทุนพวกนี้อาจจะแค่หลักร้อยบาทต่อใบ
.
ส่วนต้นทุนคงที่ก็มีทั้งค่าเครื่องจักร
ค่าโรงงาน
ค่าวิจัยและพัฒนา
ต้นทุนพวกนี้หลักสิบหลักร้อยล้าน
ถ้าขายกระทะได้มาก ต้นทุนก็เฉลี่ยออกไป
.
ถ้าโรงงานผลิตกระทะแค่ใบเดียว
อาจจะต้องขายใบละเป็นล้าน
เพราะโดนต้นทุนคงที่กินไปหมด
.
ถ้าจะขายหลักพันใบหมื่นใบ
ราคาขายก็คงอยู่ที่ใบละหลักหมื่น
.
แต่ถ้าทำการตลาดแรงๆ
อัดงบการตลาดเข้าไปหน่อย
เพื่อให้ขายได้หลักแสนใบล้านใบ
ก็ลดราคาจากหลักหมื่นลงมาเหลือหลักพันได้
.
กระทะเคลือบชั้นหินอ่อน ไม่ใช่สินค้าควบคุม
ชีวิตคุณไม่ต้องมีกระทะแบบนี้ คุณก็อยู่ได้
กระทะใบละร้อยกับน้ำมันพืชก็ทอดไข่ได้
มันจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปบอกให้เขาขายถูกกว่านี้หรอก
.
แต่ถ้าอยากใช้กระทะแบบนี้ในราคาที่ถูกกว่านี้
งั้นลองดูว่ามียี่ห้ออื่นที่ขายถูกกว่านี้มั้ย
แล้วซื้อยี่ห้อนั้นใช้แทน
.
ถ้ายี่ห้ออื่นก็ราคาประมาณนี้
งั้นดูว่าคุณทำกระทะแบบเดียวกันเพื่อใช้เอง
โดยที่ต้นทุนต่ำกว่าพันกว่าบาทได้หรือเปล่า
ถ้าทำได้ก็ทำเลย ทำขายด้วยก็จะดีมาก
คนไทยจะได้มีกระทะดีๆ ใช้ในราคาถูก
.
แต่ถ้าคุณทำไม่ได้
แสดงว่าราคากระทะที่เป็นอยู่ตอนนี้
คือราคาที่เหมาะสมอยู่แล้ว
เพราะมีคนที่เขายินดีจ่ายในราคานี้อยู่
วันไหนที่ไม่มีคนยินดีจ่ายราคานี้แล้ว
และบริษัทเขายังอยากขายกระทะอยู่
เขาก็จะลดราคาลงมาเองแหละ”