ผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปฏิเสธข้อกล่าวหาโบกปูนฝังลูกสุนัขใต้อาคาร แจงมีกว่า 200 ตัว ส่วนหนึ่งที่ดุร้ายให้ กทม. จัดการส่งไปประเวศ ระบุ ข่าวที่แชร์ผ่านโซเชียลทำให้เสียหาย ขณะที่กลุ่มเรียกร้องสวัสดิภาพสัตว์ ยืนยันว่า ลงพื้นที่เห็นด้วยตัวเอง ประชุมกว่า 2 ชั่วโมงหาข้อสรุปไม่ได้
จากกรณีที่กลุ่มคนรักสัตว์ที่ชื่อว่า A CALL for Animal Rights Thailand ได้แชร์ภาพและข้อความ โดยมีผู้ร้องเรียนว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ทำการจับสุนัขจรจัดที่อยู่ในมหาวิทยาลัยไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข เขตประเวศ กทม. และยังมีการนำปูนโบกปิดโพรงอาคารท่าชัย ทั้งที่มีสุนัขจรจัดอยู่ บริเวณโพรงใต้อาคารเรียน ในช่วงพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ทำให้สุนัขขาดอากาศหายใจและเสียชีวิต จึงได้รวมตัวกันขอเจรจากับทางมหาวิทยาลัย เพื่อหาทางแก้ไขด้วยวิธีอื่นนั้น
วันนี้ (11 พ.ค.) ที่อาคารเบกพล มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก น.ส.ปิยะวรรณ ตั้งสกุลสถาพร และ น.ส.สิริลฎา เสิศสิริมงคลชัย ตัวแทนกลุ่ม A CALL for Animal Rights Thailand พร้อมด้วย เครือข่ายเพื่อสวัสดิภาพสัตว์ 7 องค์กร ได้เข้าพูดคุยกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยรามคำแหง และตัวแทนจากสำนักงานเขตบางกะปิ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดย ผศ.ดร.สถาพร สระมาลีย์ รองอธิการบดีฝ่ายอำนวยการ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ชี้แจงว่า ปัจจุบันมีสุนัขอาศัยอยู่ในมหาวิทยาลัยประมาณ 200 กว่าตัว มากกว่าปีที่แล้วซึ่งมีประมาณ 100 กว่าตัว ถือว่ามีอัตราการเกิดค่อนข้างสูง รวมทั้งอีกส่วนหนึ่งมีบุคคลนำสุนัขมาปล่อยในมหาวิทยาลัย
ที่ผ่านมา มีสุนัขส่วนหนึ่งมีนิสัยดุร้าย ไล่กัดนักศึกษา เจ้าหน้าที่ และบุคคลภายนอกที่มาใช้สถานที่มหาวิทยาลัย ก็ได้ประสานกับทางกรุงเทพมหานครส่งเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวสุนัขไปยังศูนย์ควบคุมและพักพิงสุนัข เขตประเวศ ส่วนการดำเนินการในลักษณะอื่นที่เป็นอันตรายต่อสุนัขนั้น ไม่พบว่ามีการดำเนินการดังกล่าว นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีสัตว์ประเภทอื่นเข้ามาอาศัย ซึ่งที่ผ่านมาหากไม่ก่อให้เกิดอันตรายหรือโรคระบาดก็ไม่เคยข้องแวะ ส่วนกรณีอื่นๆ ที่เป็นการทำร้ายสุนัขนั้น มหาวิทยาลัยไม่เคยดำเนินการในลักษณะอย่างนั้น มีแต่เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดอันตรายแก่บุคคลากรหรือผู้ที่มาใช้พื้นที่
ด้าน นายพงษ์สิงห์ ต๊ะวงศ์ษา หัวหน้าฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล สำนักงานเขตบางกะปิ ชี้แจงว่า ฝ่ายที่ดูแลเรื่องสุนัขจรจัดโดยตรง คือ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีหน่วยงานรองอย่างสำนักงานสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ที่ กทม. 2 ดินแดง ซึ่งตามกระบวนการ หลังจากได้รับเรื่องร้องเรียนก็มีกระบวนการตามขั้นตอน คือ การตรวจสอบ หากเป็นสุนัขจรจัดจริงก็จะประสานไปยังสำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ก็จะส่งทีมงานจับไปพักพิงที่ประเวศเป็นการชั่วคราว ก่อนจะส่งไปที่ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประจำจังหวัดอุทัยธานี เพราะฉะนั้นในภาพรวม สำนักงานเขตจะเป็นเพียงแค่ตัวกลางเท่านั้น กรณีหากเป็นสุนัขที่มาจากบ้านคน หรือสุนัขมีเจ้าของ หากได้รับเรื่องร้องเรียน สำนักงานเขตก็จะเข้าไปประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตามข้อแนะนำและกฎหมายที่กรุงเทพมหานครดูแล
ขณะที่ ผศ.ลีนา ลิ่มอภิชาต รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวว่า ข้อเท็จจริง ก็คือ เรามีสุนัขจรจัดในมหาวิทยาลัย แต่ไม่เคยที่จะมีพฤติกรรมอย่างที่เคยเกิดกระแสข่าว อยากให้กลุ่มคนรักสัตว์ได้เข้าใจ บางทีการเผยแพร่ข้อมูลก็ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับความเสียหาย มหาวิทยาลัยไม่ได้นำสุนัขไปขังหรือโบกปูนทับ ที่ผ่านมา ได้ดูแลและปฏิบัติตามที่กรุงเทพมหานครกำหนดไว้ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ยังมีผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากการถูกสุนัขเหล่านี้ทำร้ายมาพูดคุยอีกด้วย เวทีนี้ไม่ได้มาถกเถียงว่าใครผิดใครถูก แต่อยากหาทางออกว่าจะให้มหาวิทยาลัยทำอะไร
ขณะที่ น.ส.ภัทรนิษฐ์ โสภณอนันต์ชัย ตัวแทนจากกลุ่ม A CALL for Animal Rights Thailand และผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี กล่าวว่า ที่ออกมาในวันนี้เราไม่ได้มีเจตนาทำให้มหาวิทยาลัยเสื่อมเสียชื่อเสียง เพราะตนจบการศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง ทั้งปริญญาตรี และปริญญาโท แต่ยืนยันว่า มีเหตุการณ์ฝังสุนัขเกิดขึ้นจริง เพราะตนได้เห็นด้วยตาตัวเอง แต่ไม่ได้หมายความว่า ทางมหาวิทยาลัยจะเป็นผู้สั่งการ เราเป็นเพียงผู้ชี้เบาะแสตรงนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็ต้องไปค้นหาว่าใครเป็นผู้กระทำและสั่งการ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา เวลาประมาณ 20.00 น. ได้ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ซึ่งหลักฐานทั้งคลิปและภาพต่างๆ ได้ส่งไปให้อธิการบดีไปเรียบร้อยแล้ว จุดประสงค์ที่มาในวันนั้นก็เพื่อต้องการช่วยสุนัขกว่า 40 ตัวเท่านั้น ไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องขนาดนี้ วันนี้จึงมาหาทางออกร่วมกันว่าจะทำอย่างไร
รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมใช้ระยะเวลายาวนานกว่า 2 ชั่วโมง ได้มีการถกเถียงในข้อกล่าวหาที่ว่าทางมหาวิทยาลัยฝังสุนัขเกิดขึ้นหรือไม่ ซึ่งทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยยืนยันว่าไม่เคยสั่งการให้ลงมือทำเช่นนั้น ส่วนทางกลุ่มคนรักสัตว์ เสนอช่วยวางแผนลดประชากรสุนัขอย่างยั่งยืน เช่น การฉีดวัคซีน ทำหมัน หรือจัดระเบียบสุนัข แต่ผลที่สุดก็หาข้อสรุปไม่ได้ นอกจากทางผู้บริหารมหาวิทยาลัยจะยืนยันว่า จะไม่มีการจับสุนัขในขณะนี้ ก่อนจะจบการหารือ