ท่ามกลางบรรยากาศที่เย็นสบาย ประชาชนจำนวนมากเดินทางมาเข้าคิวรอต่อแถวเพื่อเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง อย่างเนืองแน่น ทางสำนักพระราชวังได้เปิดให้ประชาชนเข้ากราบสักการะพระบรมศพ ตั้งแต่เวลา 05.00 น.
วันนี้ (7 พ.ค.) บรรยากาศการไว้อาลัยและกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศร รามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ซึ่งดำเนินมาเป็นวันที่ 186 วัน ตลอดทั้งวัน ยังคงมีประชาชนจากทั่วสารทิศทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เดินทางมากราบสักการะพระบรมศพอย่างต่อเนื่อง ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้น
ด้าน น.ส.สตรี คงมีคุณ อายุ 76 ปี พสกนิกรจาก จ.สุรินทร์ เดินทางมาโดยรถไฟเพื่อมากราบสักการะพระบรมศพ นับเป็นครั้งที่ 7 ด้วยความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดไม่ได้ เปิดเผยว่า อยากมากราบในหลวง รัชกาลที่ ๙ เมื่อมีโอกาส ถึงแม้ว่าตนจะหัวเข่าหลุดต้องใช้ไม้เท้าช่วยเหลือในการเดิน แต่ก็อยากมากราบพระองค์ท่าน และก็ไม่อยากจะนั่งรถเข็นเพราะคิดว่ายังสามารถเดินได้ แม้ว่าจะช้าต้องให้คนข้างหลังเดินไปก่อนก็ตามแต่ก็ไม่ย่อท้อ เพื่อได้มากราบพระองค์อย่างใกล้ชิด
“บอกไม่ถูกว่าทำไมอยากมากราบในหลวง รัชกาลที่ ๙ แต่ทุกครั้งที่มาเป็นความรู้สึกตื้นตันใจมาก ในชีวิตเคยได้รับเสด็จฯ ในหลวง รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จฯ มายังวัดที่ จ.สุรินทร์ ได้มีโอกาสทำความสะอาดที่ประทับด้วย รู้สึกที่ใจที่ได้รับใช้ และแม้ว่าจะได้รับเสด็จในระยะไกล แต่ก็ดีใจที่มองเห็นทุกพระองค์ ในหลวงทรงมอบสิ่งที่ดีๆ ให้แก่ประชาชนคนไทย และได้น้อมนำในเรื่องความพอเพียง ปลูกผักกินเอง ทำปุ๋ยปลอดสารพิษแจกจ่ายให้เพื่อนบ้านด้วย” น.ส.สตรีกล่าว
ด้าน นายวิศิษฐ์ ชื่นรัตนกุล อายุ 48 ปีเดินทางมาพร้อมกับภรรยา น.ส.ศิริเพ็ญ หวังดำรงเวศ อายุ 47 ปี และลูกชาย ด.ช.ภูมิพัฒน์ ชื่นรัตนกุล วัย 11 ปี นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนเซนต์คาเบรียล จากบ้านพักย่านสวนมะลิ กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่มากันพร้อมหน้าครอบครัว เพราะก่อนหน้านี้ตัวเองและภรรยามีโอกาสได้มาร่วมเป็นเจ้าภาพครั้งหนึ่งแล้ว “เมื่อตอนที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2529 ผมได้รับพระราชทานปริญญาบัตรจากพระหัตถ์พระองค์ท่าน เป็นครั้งเดียวที่มีโอกาสเห็นพระองค์ท่านอย่างใกล้ชิดที่สุด รู้สึกดีใจและปลื้มใจมาก ทั้งยังประทับใจพระองค์ท่านที่ทรงเสียสละ ทรงงานทุกวันเพื่อประชาชนคนไทย ซึ่งตัวผมเองยังได้นำพระองค์ท่านมาเป็นตัวอย่างในการใช้ชีวิต ทั้งในเรื่องความพยายาม และความอดทนในการทำงาน และยังสอนให้ลูกชายรู้จักพระบรมราโชวาทของพระองค์ท่านผ่านอินเตอร์เน็ตด้วย” นายวิศิษฐ์กล่าว
ด้าน นางกอบกุล เพียยา อาชีพเกษตรกร อายุ 47 ปี เดินทางนั่งรถไฟมาพร้อมญาติพี่น้องจากจังหวัดบุรีรัมย์ แล้วมาพักกับญาติที่กรุงเทพฯ ก่อนเดินทางมาเข้าแถวรอกราบพระบรมศพช่วงเวลา 07.00 น. และได้เข้ากราบก่อน 09.00 น. กล่าวว่า วันนี้รอไม่นานและไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะอยากมากราบตั้งแต่แรก แต่ด้วยเราคนบ้านนอกไม่รู้จักถนนหนทางได้ญาติที่อยู่กรุงเทพฯ ช่วยพามา และวันนี้ก็ทำได้ตามความตั้งใจ นับเป็นครั้งแรกของชีวิต รู้สึกตื้นตันที่ได้มีโอกาส ทั้งนี้เกิดจากความศรัทธาที่พ่อหลวงทรงทำมาให้พวกเราเยอะ ตอนเล็กๆ จำได้ว่าพระองค์ประทับรถไฟมาที่สถานีรถไฟลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เพื่อทรงเยี่ยมเยียนประชาชนในถิ่นทุรกันดาร ทุกวันนี้ยังมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ติดอยู่ที่สถานีให้เด็กรุ่นหลังได้ระลึกถึงในหลวง รัชกาลที่ ๙ นอกจากนี้ได้ยึดหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ ๙ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง โดยรวมตัวกันของคนในหมู่บ้าน ต.ผไทรินทร์ จัดตั้งเป็นศูนย์เศรษฐกิจพอเพียง โดยนอกเหนือจากการทำนา ก็ได้ปลูกพืชผักที่นอกจากเอาไว้กินเอง เมื่อมีจำนวนมากก็นำไปแจกจ่ายและขายจนมีรายได้เสริมให้ครอบครัว กระทั่งพืชผักที่ปลูก อาทิ ผักชี ขึ้นฉ่าย โดยเฉพาะพริกกลายเป็นสินค้าของจังหวัดที่ส่งออกต่างประเทศได้ รวมถึงในพื้นที่ยังขุดบ่อเลี้ยงปลา ทำไร่นาสวนผสม ทำปุ๋ยหมักใช้เอง ทำให้ทุกวันนี้ชีวิตคนในหมู่บ้านมีอยู่มีกิน และมีรายได้เลี้ยงครอบครัวอย่างพอเพียง
ด้านสำนักพระราชวังได้สรุปยอดรวมประชาชนที่เดินทางมาสักการะพระบรมศพ เมื่อวันที่ 6 พ.ค. หลังสำนักพระราชวัง ปิดไม่ให้ประชาชนเข้าพระบรมมหาราชวัง เพื่อขึ้นกราบสักการะพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บนพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในเวลา 21.00 น.ว่า มีจำนวนทั้งสิ้น 31,785 คน รวม 185 วัน มี 6,796,256 คน และมีประชาชนถวายเงินเพื่อร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลเป็นเงิน 1,850,756.50 บาท รวม 185 วัน เป็นเงินทั้งสิ้น 543,522,589.76 บาท