xs
xsm
sm
md
lg

สองมุมมอง “พร้อมเพย์” เฟล-ไม่เฟล?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


เพจเรื่องการลงทุนโพสต์ข้อความ ระบบพร้อมเพย์ล้มเหลว เพราะไม่ปลอดภัย และร้านค้าเมินรับบัตร เสนอคิดค่าธรรมเนียมตอนกดเงินหวังกดดัน ด้านผู้ออกแบบระบบพร้อมเพย์โต้ บทความพูดออกมาให้ฟังดูเท่เหมือนมีความรู้ ย้ำคนลงทะเบียน 20 ล้านไอดี ปริมาณโอนเงินกว่า 5 หมื่นรายการ ไม่นับคืนภาษีเป็นล้านรายการ

หลังจากที่ภาครัฐดำเนินนโยบายระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National E-Payment) โดยหนึ่งในนั้นคือ ระบบการโอนเงินที่เรียกว่าพร้อมเพย์ และการสนับสนุนให้ร้านค้ารับบัตรแทนเงินสด ก็มีเสียงวิจารณ์เกิดขึ้นถึงความล้มเหลว โดยเฟซบุ๊กเพจ "ลงทุนแมน" ซึ่งโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการลงทุน ได้เขียนบทความในหัวข้อ “ทำไม พร้อมเพย์ ถึง Fail” สาระสำคัญระบุว่า เหตุที่ระบบพร้อมเพย์ประสบความล้มเหลว เพราะความรู้สึกไม่ปลอดภัย เนื่องจากต้องให้เบอร์มือถือหรือหรือเลขที่บัตรประชาชนแก่ผู้อื่นเพื่อโอนเงินให้กัน

ส่วนนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมให้ใช้บัตรเดบิตแทนเงินสด ปัญหาคือ ร้านค้าอยากรับเงินสดมากกว่าบัตรเดบิต เพราะค่าธรรมเนียมในการกดตู้ ATM แต่ละครั้งฟรี แต่ค่าธรรมเนียมที่ร้านค้าต้องเสียให้เครื่องรูดไม่ฟรี โดยเสนอว่าให้ตู้ ATM มีค่าธรรมเนียมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เพื่อกดดันให้ร้านค้ารับบัตรเดบิตมากขึ้น



อย่างไรก็ตาม ได้มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก Supree Lim ของ นายสุปรีชา ลิมปิกาญจนโกวิท อดีตทีมงานพัฒนาระบบพร้อมเพย์ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยระบุว่า ข้อกังวลที่ว่าความรู้สึกไม่ปลอดภัย เวลาบอกเบอร์มือถือหรือบัตรประชาชนนั้น แท้ที่จริงเราบอก เฉพาะเวลาจะให้คนโอนเงินมาให้เราเท่านั้น เวลาโอนเงินจะไม่ส่งเบอร์มือถือ หรือบัตรประชาชนของผู้โอนไปให้ ข้อมูลที่ส่งจะไม่ต่างจากสมัยโอนด้วยเลขบัญชี

ส่วนการโอนเงินผ่านพร้อมเพย์นั้น แค่ลงทะเบียนฝั่งผู้รับเงิน ให้รู้ว่าบัญชีนี้ผูกด้วยเบอร์มือถือหรือเลขประจำตัวประชาชนอะไร ฝั่งผู้โอนเงินไม่ต้องสมัครอะไรเลย สามารถโอนเงินผ่านช่องทางที่ธนาคารเปิดให้ใช้ได้ทันทีโดยไม่ต้องสมัคร

นอกจากนี้ ข้อกังวลที่ว่า ถ้ากดเบอร์มือถือผิด เงินหายเอาคืนไม่ได้นั้น ธนาคารปลายทางจะแสดงชื่อผู้รับเงินให้กดยืนยัน ถ้าชื่อไม่ตรงก็กดยกเลิกไป พร้อมเพย์ให้ลงทะเบียนเพื่อใช้รับเงิน ไม่เกี่ยวกับการจ่ายเงิน ความปลอดภัยต่างๆ เหมือนเดิมทุกประการ พร้อมเพย์ไม่ได้ทำให้ปลอดภัยมากขึ้นหรือน้อยลง

ส่วนการสมัครพร้อมเพย์แล้วสรรพากรจะรู้เลขประจำตัวประชาชนเรา ตรวจสอบรายรับเราได้นั้น ตอนเปิดบัญชีก็เอาบัตรประชาชนไปเปิด ถ้าทำผิดจริง ต่อให้ไม่อยู่ในพร้อมเพย์ ทางสรรพากรหรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ปปง. ก็สามารถขอข้อมูลจากธนาคารได้อยู่ดี

ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการใช้โมบายล์แบงกิ้ง และโมบายล์เพย์เม้นท์ อยู่ในระดับต้นๆ ของโลก เกือบทุกธนาคารมีโมบายล์แบงกิ้ง ทั้งที่โครงสร้างของธนาคารยังอยู่ในระบบเก่าที่ถูกสร้างมานาน ธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์มีแผนจะปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานนี้อยู่แล้ว

ประจวบกับแนวคิดประเทศไทย 4.0 ที่เน้นด้านดิจิตอล จึงถูกบูรณาการและผลักดันโครงการ National e-Payment ที่เริ่มปลายปี 2558 และเริ่มโครงการพร้อมเพย์ในช่วงต้นปี 2559 ได้ข้อสรุปว่าเราจะใช้ไอดีจากบัตรประชาชนและเบอร์มือถือแทนเลขที่บัญชี เพื่อให้โอนง่ายและปลอดภัย

จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการว่า “AnyID Payment” ก่อนจะเปลี่ยนเป็น “พร้อมเพย์” ให้เข้าใจง่ายขึ้น ใช้เบอร์มือถือเป็นไอดีในการโอนเงินหากัน และใช้บัตรประชาชนเป็นไอดีในการรับเงินจากหน่วยงานรัฐ เป็นวิธีที่สะดวก ถูกต้อง ไม่ต้องแจ้งเลขบัญชีทุกครั้ง รวมถึงป้องกันการสวมสิทธิ์รับเงินแทน

เขากล่าวว่า เสียงตอบรับหลังเปิดบริการพร้อมเพย์ ธนาคารจากที่กังวลถึงการลดค่าธรรมเนียม ก็กลับแข่งขันในการขยายฐานผู้ใช้พร้อมเพย์ ส่วนจำนวนผู้ลงทะเบียนใช้งาน ณ เดือนมีนาคม 2560 มี 24.4 ล้านไอดี แบ่งเป็นเลขประจำตัวประชาชน 18.9 ล้านไอดี และเบอร์มือถือ 5.5 ล้านไอดี แซงหน้าอังกฤษ

ส่วนการโอนเงิน พบว่า ในเดือนมีนาคม 2560 มีปริมาณโอนเงินเฉลี่ย 5 หมื่นรายการต่อวัน แซงหน้าอังกฤษ ถือว่าเร็วกว่าโอนเงินผ่านเอทีเอ็ม ที่เปิดบริการมานานกว่า 10 ปี มีจำนวนโอนเงินไม่ถึง 4 แสนรายการต่อวัน และไม่นับรวมยอดคืนภาษีของสรรพากรอีกกว่าล้านรายการ

เขากล่าวว่า มีคนนอกวงการระบบชำระเงินวิจารณ์และโจมตีถึงข้อด้อยและปัญหาของบริการนี้มาตั้งแต่ยังไม่ทันจะเริ่มลงมือทำ และมีเสียงเรื่อยมาทั้งตอนลงทะเบียน และตอนเริ่มโอนเงิน แยกกลุ่มผู้วิจารณ์เป็นหลายกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเชียวชาญเฉพาะด้านที่ชี้จุดด้อยพร้อมข้อเสนอแนะ

กลุ่มต่อมา กลุ่มผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ออกมาพูดในมุมมองเฉพาะเรื่องที่เชียวชาญ แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริการ ไม่ได้เสนอว่าควรทำอย่างไร แต่ให้บทสรุปว่าจะไม่ใช้ มุมที่วิจารณ์มักเป็นเรื่องความไม่จำเป็น ความไม่คุ้มค่า และประเด็นด้านกฎหมายที่ไม่เกี่ยวกับบริการเลย

ส่วนกลุ่มผู้ใช้ที่เชี่ยวชาญบ้างไม่เชี่ยวชาญบ้างในบางเรื่อง โดยมากกังวลเรื่องความปลอดภัยและเรื่องการตรวจสอบข้อมูลของภาครัฐ หลายคนในกลุ่มนี้ปรับตัวหันมาใช้หลังจากพบว่ามันมีประโยชน์ต่อตัวเอง ในขณะที่อีกหลายคนตั้งกำแพงไว้สูง

อีกกลุ่ม คือ กลุ่มนักวิจารณ์ที่ชอบฟันธงและให้ข้อสรุป โดยที่ท่านอาจจะไม่ได้รู้อะไรเกียวกับบริการ แต่พูดออกมาให้ฟังดูเท่เหมือนมีความรู้ ซึ่งทำได้โดยไม่ต้องใช้ข้อมูลและไม่ต้องลองใช้ แต่อธิบายแทนคนอื่นได้หมด เช่น คนไม่ใช้เพราะไม่ยอมให้เบอร์แก่คนแปลกหน้า ร้านค้าไม่ใช้เพราะไม่ยอมเสีย MDR

“ผมเคารพการตัดสินใจของทุกคน ไม่มีใครไปบังคับว่าคุณจะใช้บริการหรือไม่ใช้ ไม่มีใครไปบังคับการเลือกรับฟังข้อมูล เรื่องพวกนี้เป็นสิทธิส่วนบุคล ถ้าสงสัยอยากรู้เรื่องบริการก็ถามผู้รู้ได้อภิปรายได้ แต่การแสดงความเห็นต่อสาธารณะควรให้อยู่บนพื้นฐานของหลักวิชาการและข้อเท็จจริงบ้าง หรือหากเป็นความคิดเห็นก็ให้เป็นมุมที่ท่านเชี่ยวชาญจริงๆ ผมเชื่อว่าผู้อ่านฉลาดพอที่จะเลือกรับฟังและตัดสินว่าอะไรจริงไม่จริง ทุกวันนี้ข้อมูลหาง่ายมากในอินเทอร์เน็ต”


กำลังโหลดความคิดเห็น