xs
xsm
sm
md
lg

สมเด็จพระนเรศวรเผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ! ทุกครั้งก่อนเกิดเหตุสำคัญของชาติไทย!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

ภาพเขียนยุทธหัตถีที่วัดสุวรรณดาราราวรวิหาร อยุธยา
พระบรมสารีริกธาตุ หรือพระบรมอัฐิของสมเด็จพระบรมศาสดาพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เชื่อกันว่า ไม่ว่าจะบรรจุอยู่ในพระสถูปเจดีย์หรือในผอบบนหิ้งบูชาใดๆ ก็สามารถจะเสด็จออกไปจากที่นั้น หรืออาจจะเสด็จมาเพิ่มจำนวนมากขึ้นได้ การเสด็จไปมานั้นโดยปกติก็จะเสด็จอันตรธานหรือเสด็จมาเองอย่างไม่มีปรากฏการณ์ให้เห็นด้วยสายตา แต่กล่าวกันว่าบางครั้งก็เสด็จโดยสำแดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏเป็นแสงสีเขียวปนเหลืองนวล เป็นลูกกลมลอยไปมาให้ผู้มีบุญวาสนาได้เห็น ขนาดเล็กเท่าผลส้มเกลี้ยงก็มี หรือขนาดใหญ่ขนาดผลมะพร้าวห้าวก็มี

ตามตำนานหรือพงศาวดารได้กล่าวถึงการสำแดงปาฏิหาริย์ของพระบรมสารีริกธาตุหลายครั้งในหลายยุคสมัย มีพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ได้ทอดพระเนตรปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เผชิญพระบรมสารีริกธาตุแสดงปาฏิหาริย์มากกว่าทุกพระองค์ถึง ๔ ครั้ง ทุกครั้งได้เกิดขึ้นในขณะที่เสด็จไปราชการสงครามครั้งสำคัญและทรงมีชัยในสงครามนั้นๆทุกคราว

ครั้งแรก ในปลายปี พ.ศ. ๒๑๒๖ พระชนมายุได้ ๒๘ พรรษา ขณะที่ยกกองทัพจะไปกรุงหงสาวดีตามบัญชาของพระเจ้ากรุงหงสาวดีนันทบุเรง ให้ไปร่วมปราบปรามพระเจ้าอังวะที่เป็นกบฏ สมเด็จพระนเรศวรได้เผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุเป็นครั้งแรก

พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) กล่าวไว้ว่า

“ครั้น ณ วันอาทิตย์ แรม ๖ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู สัปตศก เพลา ๑๑ ทุ่ม ๙ บาท กอร์ปด้วยเพชรฤกษ์ เสด็จทรงพระคชาธารพร้อมด้วยพยุหแสนยากร ทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์แต่บูรพทิศ ผ่านคชาธารไปโดยปัจฉิมทิศเท่าผลมะพร้าวปอก แล้วจึงเสด็จยาตราทัพหลวงออกโดยประตูชัยแสน ไปถึงวัดยมท้ายเมืองกำแพงเพชร เพลาบ่าย ๕ โมง เกิดวาตะพายุ ฝนตกห่าใหญ่แผ่นดินไหวเป็นอัศจรรย์”

ครั้นถึงเมืองแครง ทรงแวะนมัสการมหาเถรคันฉ่อง ก็ได้ทรงทราบจากพระยาเกียรติ พระยาราม ๒ ขุนนางมอญที่พม่าใช้ให้มาทำทีต้อนรับว่า ซึ่งพม่าคิดไม่ซื่อวางแผนกำจัดพระองค์ไว้ สมเด็จพระนเรศวรจึงถือเป็นโอกาสประกาศอิสรภาพ ณ เมืองแครงนั้น กระทำพิธีหลั่งอุทกธาราในวันที่ ๑๔ เมษายน พ.ศ. ๒๑๒๗ ประกาศไม่ขึ้นต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป กอบกู้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมา หลังจากที่ต้องสูญเสียให้แก่พม่ามาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๑๑๒ และนิมนต์พระมหาเถรคันฉ่อง พระเกจิอาจารย์ชาวมอญที่ทรงเคารพนับถือ รวมทั้งชวนพระยาเกียรติ พระยาราม และชาวเมืองแครงที่ขมขื่นต่อการกดขี่ของพม่า เดินทางมากรุงศรีอยุธยาด้วย

และที่เมืองแครงนั้น ขณะที่ทรงเตรียมกองทัพและผู้คนจะออกเดินทางสู่กรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงเผชิญกับปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุอีกเป็นครั้งที่ ๒ ซึ่งประชุมพงศาวดารภาคที่ ๖๔ กล่าวไว้ว่า

“ครั้นวันศุกร์ เดือน ๖ แรม ๓ ค่ำ เพลา ๑๑ ทุ่ม ให้เอาพระคชาธารเข้าเทียบเกย ทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์มาแต่ประจิมทิศ ผ่านพระคชาธารไปข้างบูรพทิศ จึงเสด็จพยุหบาตรยาตราทัพออกจากเมืองแครง พระมหาเถรคันฉ่อง พระยาเกียรติ พระยาราม และญาติโยมก็มาโดยเสด็จ”

เมื่อพระมหาอุปราชาซึ่งวางแผนจำจัดสมเด็จพระนเรศวรที่กรุงหงสาวดี ทรงทราบว่าสมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพและพาครอบครัวมอญที่เมืองแครงกลับไปแล้ว จึงยกกองทัพออกติดตามโดยมีสุรกรรมาเป็นแม่ทัพหน้า มาทันกันที่แม่น้ำสะโตง แต่กองทัพของสมเด็จพระนเรศวรและครบครัวชาวเมืองแครงข้ามแม่น้ำไปแล้ว สุรกรรมาจึงระดมยิงด้วยปืนไฟที่ได้มาจากโปรตุเกส แต่แม่น้ำสะโตงนั้นกว้าง วิถีกระสุนข้ามมาไม่ถึง สมเด็จพระนเรศวรทอดพระเนตรเห็นสุรกรรมาสวมเสื้อสีแดงนั่งอยู่บนคอช้างริมฝั่งตรงข้าม จึงทรงพระแสงปืนนกสับยาว ๙ คืบ ถูกสุรกรรมาตายซบลงกับคอช้าง สร้างความอัศจรรย์ใจให้กับรี้พลเป็นอย่างยิ่ง ส่วนกองทัพพม่าต่างพากันเสียขวัญ ล่าถอยกลับไป

พระแสงปืนกระบอกนั้นจึงได้ชื่อว่า “พระแสงปืนต้นข้ามแม่น้ำสะโตง”

ทรงเผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกบรมธาตุมา ๒ ครั้ง ก็ทรงแคล้วคลาดปลอดภัยมีชัยต่อพม่าที่คิดคด จนทรงกอบกู้เอกราของชาติไทยสำเร็จ และในปีพ.ศ. ๒๑๒๗ นั้นเองก็ได้ทรงเผชิญอีกเป็นครั้งที่ ๓ ที่เมืองสวรรคโลก

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรประกาศอิสรภาพที่เมืองแครงนั้น กองทัพพม่าที่มี นันทสูราชสังครำ เป็นแม่ทัพ ยังยึดครองเมืองกำแพงเพชรอยู่ สมเด็จพระนเรศวรจึงให้เกณฑ์กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือเข้าขับไล่ จนกองทัพพม่าต้องแตกพ่ายหนีออกไป

แต่ตอนที่รวบรวมกำลังหัวเมืองฝ่ายเหนือกันนั้น พระยาสวรรคโลกกับพระยาพิชัย ไม่เชื่อว่าสมเด็จพระนเรศวรซึ่งมีกำลังกองทัพอยู่ไม่มาก จะแข็งเมืองกับพระเจ้ากรุงหงสาวดีได้ จึงไม่ยอมส่งกองทัพไปร่วม แต่เมื่อกองทัพไทยขับไล่กองทัพพม่าออกไปพ้นแล้ว ๒ พระยากลัวว่าจะถูกลงโทษฐานกบฏที่ขัดรับสั่ง จึงไปรวมตัวกันที่เมืองสวรรคโลก กรมการเมืองคนใดไม่ร่วมมือด้วยก็จับฆ่าจับขัง สมเด็จพระนเรศวรจึงยกกองทัพหลวงมาตั้งล้อมเมืองสวรรคโลกไว้ ให้ ๒ พระยาออกมาสารภาพผิดเสียจะทรงยกโทษให้ แต่ ๒ พระยากลับตัดหัวกรมการเมืองที่ไม่ยอมเข้าด้วยโยนลงมาให้ข้าหลวงที่ไปบอก สมเด็จพระนเรศวรทรงพระพิโรธ ส่งทหารเข้าตีเมืองสวรรคโลก แต่ก็เข้าเมืองไม่ได้ เพราะป้อมปราการล้วนสร้างด้วยศิลาแลงมาแต่ครั้งยังเป็นเมืองศรีสัชนาลัยสมัยพระร่วง จึงรับสั่งให้ตั้งค่ายประชิด ปลูกหอรบให้สูงเท่ากำแพง แล้วเอาปืนตั้งระดมยิง เผาประตูเมืองจนเข้าเมืองได้ จับ ๒ พระยาผู้กระด้างกระเดื่องประหารชีวิต

เมื่อปราบกบฏครั้งนี้เสร็จ ขณะเตรียมเสด็จกลับพิษณุโลก พระบรมสารีริกธาตุก็สำแดงปาฏิหาริย์ให้ปรากฏอีกครั้งหนึ่ง พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ได้กล่าวไว้ว่า

“ถึง ณ วันพฤหัสบดี แรม ๖ ค่ำ เดือน ๘ เพลาสิบเบ็ดทุ่ม ๘ บาท ให้เรียกช้างพระที่นั่งประทับเกย เห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์แต่ตะวันตก ผ่านช้างพระที่นั่งมาตะวันออกโดยทางที่จะเสด็จมานั้น เท่าผลมะพร้าวปอกแล้ว ก็ยกทัพหลวงเสด็จคืนมาโดยทางน้ำขุ่นทางพิชัย เสด็จมาถึงเมืองพระพิษณุโลก”

กล่าวกันว่า พระบรมสารีริกธาตุที่สำแดงปาฏิหาริย์ครั้งนี้ เป็นพระบรมสารรีริกธาตุที่บรรจุอยู่ในพระปรางค์วัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมืองสวรรคโลกนั้นเอง ซึ่งพระปรางค์องค์นี้สร้างมาตั้งแต่สมัยยังเป็นเมืองชะเลียง ก่อนกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีหลายร้อยปี และพระมุนินทรานุวัตต์ เจ้าอาวาสวัดพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้เรียบเรียงไว้ในหนังสือ “ตำนานเมืองสวรรคโลก” มีความตอนหนึ่งว่า

“...พระนเรศวรมหาราชเสด็จปราบกบฏเมืองสวรรคโลกเสร็จแล้ว วันจะเสด็จกลับนั้น ได้ทรงตั้งสัตยาธิษฐานว่า ถ้าพระบรมธาตุยังมีอยู่และพระองค์จะได้เป็นผู้กู้ชาติได้สำเร็จแล้ว ขอให้พระบรมธาตุจงแสดงนิมิตได้เห็นทั่วกันทั้งกองทัพ เวลานั้นแสงสว่างก็ปรากฏทั่วองค์พระมหาเจดีย์ มีสีอันประหลาด มิช้าก็ลอยออกจากองค์พระมหาเจดีย์ขนาดโตเท่าผลมะพร้าวปอก ทำทักษิณาวัตรพระมหาเจดีย์ลอยสูงขึ้นพ้นยอดพระมหาธาตุ”

ส่วนที่ทรงเผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุเป็นครั้งที่ ๔ นั้น ก่อนจะเกิดเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทย คือทรงทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา

ในพระราชพงศาวดารกรุงเก่า ฉบับหลวงประเสริฐ ซึ่งได้บันทึกเรื่องราวที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงเผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุไว้เพียงเรื่องเดียว คือครั้งนี้ กล่าวไว้ว่า

“ณ วันพุธ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ เวลารุ่งแล้ว ๒ นาฬิกา ๙ บาท เสด็จพระยุหยาตราโดยสถลมารค อนึ่งเมื่อจะใกล้รุ่งขึ้นวัน ๑๒ ค่ำนั้น เห็นพระสารีริกธาตุปาฏิหาริย์ไปโดยทางซึ่งจะเสด็จนั้น ถึงวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำเดือนยี่ เพลารุ่งแล้ว ๕ นาฬิกา ๓ บาท เสด็จทรงช้างต้นพระยาไชยานุภาพเสด็จออกรบพระมหาอุปราชาตำบลหนองสาหร่าย..”

ส่วนพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ได้ให้รายละเอียดในครั้งนี้ไว้ว่า

“เมื่อเพลา ๑๐ ทุ่ม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสุบินนิมิตร์ว่า น้ำนองท่วมป่ามาฝ่ายประจิมทิศ ลุยชลธีเที่ยวไปพบกุมภีล์ตัวใหญ่ ได้สรรพยุทธนาการ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวประหารกุมภีล์ตาย ประทมตื่นขณะนั้นตรัสให้โหรทาย พระโหราธิบดีทูลทำนายว่าศึกครั้งนี้ใหญ่หลวง จะได้ถึงซึ่งมหายุทธหัตถี แต่ทว่าพระองค์จะมีชัย จะลุยไล่ประหารปัจจามิตรข้าศึก ดุจพระสุบินว่าเที่ยวลุยกระแสน้ำฉะนั้น”

ต่อจากนั้นก็ได้กล่าวถึงตอนได้ทรงเผชิญปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุไว้ว่า

“สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงฟังดีพระทัยนัก ทรงเครื่องสำรับราชรณยุทธสรัพเสร็จ เสด็จยังเกยคอยฤกษ์ ทอดพระเนตรเห็นพระสารีริกบรมธาตุเสด็จปาฏิหาริย์ ช่วงเท่าผลส้มเกลี้ยงมาแต่ทักษิณทิศ เวียนเป็นทักษิณาวัฏแล้วเสด็จผ่านไปอุดรทิศ ทรงพระปิติสร้านไปทั้งองค์ ยกพระหัตถ์ถวายทัศนัษสโมธาน อธิษฐานขอสวัสดิชัยแก่ปรปักษ์ พระโหราธิบดีก็ให้ประโคมแตรสังข์ดุริยางค์ดนตรีพร้อมกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงช้างต้นพญาปราบไตรจักร ติดน้ำมันหน้าหลังเป็นพาหนะ พร้อมด้วยช้างท้าวพระยาเสนามนตรีมุขทั้งปวง เสด็จพยุหยาตราทัพโดยแถวสถลมารค”

การสำแดงปาฏิหาริย์พระบรมสารีริกธาตุครั้งนี้ เกิดขึ้นก่อนหน้าเหตุการณ์สำคัญของชาติไม่กี่วัน หลังจากนั้นก็ทรงทำยุทธหัตถีมีชัยต่อพระมหาอุปราชา ทำให้พระเกียรติขจรขจายเลื่องลือไกล และทำให้พม่าไม่กล้าเข้ามาระรานไทยอีกเป็นเวลาถึง ๑๕๐ ปี.
พระบรมสารีริกธาตุ
ภาพปูนปั้นพระสุบิน บนพระบรมราชานุสาวรีย์ที่ทุ่งภูเขาทอง
กำลังโหลดความคิดเห็น