xs
xsm
sm
md
lg

จากเด็กที่พ่อแม่ใส่กัณฑ์เทศน์ถวายพระ! มาเป็นเจ้าพระยาที่รุ่งเรืองสุดในสมัย ร.๕ มีบทบาทถึงสมัย ร.๘!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค

เจ้าพระยายมราช
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) ไว้ว่า

“...ถ้าหากเจ้าพระยายมราชเกิดเป็นลูกหัวปลีที่จะเป็นทายาทของสกุล บิดามารดาก็คงถนอมเลี้ยงไว้ที่เมืองสุพรรณจนเติบใหญ่ ถ้าเป็นเช่นนั้น เมื่อถึงเวลาเจ้าพระยายมราชครอบครองบ้านเมือง บางที่จะได้เลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านเหมือนอย่างนายคล้ำพี่ชายเคยเป็นมาก่อน ถ้าสูงกว่านั้นก็ได้เป็นกรมการเมืองเช่นหลวงสุภาพี่ชายคนใหญ่ หรืออย่างดีที่สุดก็จะได้เป็นพระยาสุนทรสงครามฯ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุพรรณบุรี น่าที่จะไม่มีช่องได้เป็นเจ้าพระยายมราชจนตลอดชีวิต ข้อที่ท่านเกิดเป็นลูกสุดท้องไม่มีใครหวงแหน “ใส่กัณฑ์เทศน์” ถวายพระพาเข้ามากรุงเทพฯนั้น ควรนับว่าบุญบันดาลให้ท่านได้เข้าสู่ต้นทางที่จะดำเนินไปจนถึงได้เป็นรัฐบุรุษวิเศษคนหนึ่งในสมัยของท่าน...”

เจ้าพระยายมราชเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๕ ณ ตำบลบ้านน้ำตก ริมแม่น้ำฝั่งตะวันออก ใต้ตัวเมืองสุพรรณบุรี บิดาชื่อนายกลั่น มารดาชื่อผึ้ง เป็นบุตรคนสุดท้องในจำนวน ๖ คน บิดามารดาได้ยกให้พระครูใบฎีกาอ่วม แห่งวัดหงส์รัตนาราม จังหวัดธนบุรี ซึ่งนับถือกันมาก่อน ขณะไปเทศน์ที่บ้าน ซึ่งขณะนั้นเจ้าพระยายมราช หรือเด็กชายปั้น อายุได้เพียง ๖ ขวบ ในปีที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯเพิ่งขึ้นครองราชย์

พระครูใบฎีกาอ่วมได้สอนให้เด็กชายปั้นเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ตามธรรมเนียมของการศึกษาในสมัยนั้น จนเมื่ออายุครบกำหนดก็ได้บวชเณรและบวชพระให้ตามลำดับ พระภิกษุปั้นได้ศึกษาพระธรรมวินัยและภาษาบาลีอย่างแตกฉาน

ในปี ๒๔๒๖ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯโปรดให้ตั้งสนามหลวงสอบพระปริยัติธรรมขึ้นที่พระที่นั่งสุทไธสวรรย์ ปรากฏในการสอบ ๓ วันแรกในระดับ “มหา” นั้น พระภิกษุปั้นแห่งวัดหงส์รัตนาราม สอบได้เพียงรูปเดียวเท่านั้น นอกนั้นตกหมด

การสอบพระปริยัติธรรมสนามหลวงครั้งนี้ ทำให้ชื่อเสียงของพระมหาปั้นลือลั่นจนได้มีโอกาสพบกับพระเจ้าน้องยาเธอ พ.ต.กรมหมื่นดำรงราชานุภาพ ราชองครักษ์หนุ่มซึ่งอยู่ในวัยไล่เลี่ยกันและสนพระทัยในเรื่องเรียนรู้ จึงเกิดชอบพอไปมาหาสู่ พระมหาปั้นได้ปรารภว่าอยากจะสึกออกมาดำเนินชีวิตทางโลก ขอให้ช่วยหางานให้ด้วย กรมหมื่นดำรงฯก็ขอให้บวชต่อไปเพื่อจะได้ไต่เต้าขึ้นเป็นพระสังฆราช ประมุขฝ่ายสงฆ์ แต่ก็ยั้งมหาปั้นไม่อยู่

กรมหมื่นดำรงฯซึ่งขณะนั้นทรงเป็นอาจารย์ของโรงเรียนพระตำหนักมหาดเล็กหลวง ในพระบรมมหาราชวัง จึงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯขอบรรจุมหาปั้นซึ่งลาผนวชแล้ว เข้าเป็นครูในโรงเรียนพระตำหนักด้วย ซึ่งพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงรับเข้าเป็นครูภาษาไทย พร้อมกับพระราชทานบรรดาศักดิ์ให้เป็น ขุนวิจิตรวรสาส์น สังกัดกรมพระอาลักษณ์

ชีวิตขุนนางของเจ้าพระยายมราชจึงเริ่มขึ้น ณ จุดนี้

ต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงส่งพระเจ้าลูกยาเธอไปศึกษาที่ประเทศอังกฤษ ๔ พระองค์ ทรงคำนึงถึงว่าพระเจ้าลูกยาเธอยังทรงพระเยาว์เกรงจะลืมภาษาไทยเสียหมด จำจะต้องส่งอาจารย์ภาษาไทยไปถวายการสอนที่นั่นด้วย และตำแหน่งนี้คงไม่มีใครเหมาะเท่าขุนวิจิตรวรสาส์น

ด้วยเหตุนี้ ท่านขุนจึงถูกส่งไปดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเลขานุการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอน แต่หน้าที่อันแท้จริงก็คือพระอาจารย์ภาษาไทยของบรรดาพระเจ้าลูกยาเธอและเจ้าฟ้าทั้งหลาย

ท่านขุนหนุ่มเป็นคนแสวงหาความรู้อยู่แล้ว จึงถือโอกาสนี้จ้างครูมาสอนภาษาอังกฤษให้ตนเอง จนสามารถทั้งพูด อ่าน เขียนได้ดี พระเจ้าอยู่หัวทรงทราบความมานะพยายามของขุนวิจิตรฯ อีกทั้งตามรายงานของสถานทูต ท่านขุนก็ทำหน้าที่พระอาจารย์และพระอภิบาลของพระเจ้าลูกยาเธอได้เรียบร้อยมิได้ขาดตกบกพร่อง จึงได้โปรดเกล้าฯขุนวิจิตรวรสาส์น เป็น หลวงวิจิตรวรสาส์น มีตำแหน่งเป็นเลขานุการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนในปลายปี ๒๔๒๘

ระหว่างที่ใช้ชีวิตนักการทูตอยู่ในกรุงลอนดอนนั้น คุณหลวงหนุ่มได้พบรักกับ นางสาวตลับ ณ ป้อมเพชร ธิดาของพระยาชัยวิชิต ข้าหลวงเทศาภิบาลของมณฑลอยุธยา ขณะที่เจ้าคุณยังรับราชการเป็นหลวงวิเศษสาลี อยู่ในสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนด้วยกัน

ในปี ๒๔๓๑ ระหว่างที่คุณหลวงวิจิตรฯเดินทางมาราชการที่กรุงเทพฯ กรมพระยาดำรงฯ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทรงมีพระคุณแก่คุณหลวงมาตลอด จึงต้องรับภาระอีกครั้ง ขอร้องให้เจ้าจอมชุ่ม มารดาของท่าน ไปสู่ขอคู่ครองให้คุณหลวงวิจิตรฯ ซึ่งเจ้าคุณเทศาฯก็ยกให้แต่โดยดี เพราะรู้เห็นความประพฤติของว่าที่บุตรเขยมาแล้ว

งานสมรสของเด็กใส่กัณฑ์เทศน์ครั้งนี้ จึงเป็นงานใหญ่ของกรุงเทพฯ เจ้าภาพฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นถึงเจ้าจอมมารดาและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เจ้าภาพฝ่ายเจ้าสาวก็เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลอยุธยา ส่วนเจ้าบ่าวก็เป็นพระอาจารย์ของพระเจ้าลูกยาเธอหลายพระองค์ และยังมีตำแหน่งเป็นเลขานุการสถานทูตสยามประจำกรุงลอนดอนด้วย งานสมรสครั้งนี้จึงคับคั่งไปด้วยพระบรมวงศานุวงศ์และขุนนางแห่งราชสำนักสยาม

เสร็จจากงานสมรสแล้ว เจ้าบ่าวก็พาเจ้าสาวกลับไปประจำหน้าที่ในกรุงลอนดอนต่อไป ซึ่ง “ท่านผู้หญิงตลับ” ได้ทำหน้าที่ภรรยาที่ดีเสริมสร้างภาระหน้าที่ของสามีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งด้านการทูตแลพระอภิบาล ซึ่ง “ทูลกระหม่อมโต” หรือสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ มกุฎราชกุมาร ซึ่งทรงศึกษาอยู่ที่ลอนดอนก่อนขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ ๖ ก็ทรงโปรดท่านผู้หญิงตลับมาก

ในปี ๒๔๓๖ หลวงวิจิตรวรสาส์นได้รับโปรดเกล้าฯเป็น พระวิจิตรวรสาส์น ตำแหน่งอุปทูตประจำกรุงลอนดอน

เมื่อพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นปราจิณกิติบดี สำเร็จการศึกษาในปี ๒๔๓๗ คุณพระวิจิตรฯและภรรยาได้เดินทางมาส่งถึงประเทศไทย เลยไม่มีโอกาสได้กลับไปทำหน้าที่ในกรุงลอนดอนอีก เพราะได้รับโปรดเกล้าฯให้เข้ารับราชการในกระทรวงมหาดไทย ในตำแหน่งเลขานุการของเสนาบดีผู้มีพระคุณแก่คุณพระและภรรยามาตลอดนั่นเอง

ชีวิตนักการทูต อาจารย์ภาษาไทย พระอภิบาล ของมหาปั้นก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นนักปกครอง

ปฏิบัติราชการในกระทรวงมหาดไทยได้ไม่นาน ในปี ๒๔๓๙ พระวิจิตรวรสาส์น ก็ได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น พระยาสุขุมนัยวินิต ดำรงตำแหน่งข้าหลวงมณฑลนครศรีธรรมราช ซึ่งมีที่ว่าราชการอยู่ที่จังหวัดสงขลา

การที่กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เลือกส่งมหาปั้นคนสนิทคู่พระทัยลงไปเป็นข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนี้ นับว่าเป็นการมอบหน้าที่สำคัญยิ่งให้ เพราะการปกครองในขณะนั้น หัวเมืองภาคใต้และมลายู ต่างอยู่ในการปกครองแบบเมืองขึ้น มีเจ้าเมืองเป็นผู้สำเร็จราชการโดยเด็ดขาด เพียงแต่ส่งส่วยอากรประจำปีมายังเมืองหลวงเท่านั้น แต่การปกครองแบบใหม่ที่กรมพระยาดำรงฯนำมาใช้ ให้รวมเมืองปักษ์ใต้ มี นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง เปอร์ลิส และหนองจิก (ส่วนหนึ่งของมณฑลปัตตานี) มาเป็นมณฑลนครศรีธรรมราช เปลี่ยนฐานะผู้สำเร็จราชการเมือต่างๆเหล่านั้น มาเป็นข้าหลวงประจำจังหวัด ที่สำคัญคือภาษีอากรที่เคยเก็บเลี้ยงตัวเอง ที่เรียกว่า “กินเมือง” กลับต้องส่งให้รัฐบาลทั้งหมด เจ้าเมืองจะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือน

แน่นอนว่าเรื่องส่งรายได้ให้รัฐบาลนี้ จะทำให้เจ้าเมืองทั้งหลายขุ่นเคืองแน่ เพราะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่เคยได้ ดีไม่ดีอาจรวมหัวกันก่อการกระด้างกระเดื่องขึ้นได้ พระยาสุขุมนัยวินิตจึงใช้กุศโลบายให้เจ้าเมืองทั้งหลายส่งบัญชีที่เคยได้รับมาแล้ว จะให้รัฐบาลจ่ายเงินก้อนนี้เป็นโบนัสประจำปี แม้วิธีนี้จะทำให้รัฐบาลต้องขาดรายได้ไป แต่พระยาสุขุมฯก็เห็นว่า เมื่อทุกเมืองยอมรับระบบการปกครองใหม่ ต่อไปก็อาจปรับปรุงการเก็บภาษีอากรขึ้นใหม่ได้ อย่างน้อยก็จ่ายโบนัสเพียงชั่วอายุของเจ้าเมืองที่ปกครองอยู่นี้เท่านั้น

ส่วนทางด้านปกครอง เมืองใดที่มีคนเชื้อสายมลายูอยู่มาก เช่น กลันตัน ไทรบุรี ตรังกานู และเปอร์ลิส ก็ให้คนเชื้อสายมลายูขึ้นเป็นเจ้าเมือง ส่วนเมืองใดที่มีคนไทยอยู่มาก เช่นหนองจิก ก็ให้คนไทยเป็นเจ้าเมือง

ด้านการพิจารณาคดีในศาล ให้มีตำแหน่ง “ดะโต๊ะยุติธรรม” เข้าสมทบร่วมพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับครอบครัวของชาวอิสลามด้วยกัน เช่นคดีผัวเมียและคดีมรดกเป็นต้น หากคนไทยเป็นความก็ให้ขึ้นศาลธรรมดา ซึ่งวิธีนี้ยังใช้มาจนถึงปัจจุบัน

พระยาสุขุมฯอยู่ในตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลมณฑลนครศรีธรรมราชถึง ๑๒ ปี ระหว่างนี้ได้มีโอกาสติดตามพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯในคราวเสด็จประพาสอินเดียและชวาด้วย ทั้งเป็นผู้ทำพิธีส่งมอบรัฐกลันตัน ตรังกานู ไทรบุรี และเปอร์ลิสให้อังกฤษในคราวที่ไทยถูกบีบให้เสียดินแดนในปี ๒๔๔๙ หลังจากนั้นก็โปรดเกล้าฯให้กลับมารับตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงโยธาธิการ ซึ่งได้รับมอบหมายให้คุมการก่อสร้างพระที่นั่งอัมพรสถานและพระที่นั่งอนันตสมาคม

ในปี ๒๔๕๐ พระเจ้าอยู่หัวทรงเห็นว่าการเกณฑ์ทหารที่เพิ่งเอามาใช้ เสนาบดีกระทรวงนครบาลไม่สามารถปฏิบัติราชการได้เรียบร้อย จึงสับตำแหน่งให้พระยาสุขุมฯมาเป็นแทน ทั้งยังมอบงานกรมสุขาภิบาลซึ่งอยู่กับกระทรวงเกษตรมาสังกัดกระทรวงนครบาลด้วย ทั้งนี้เพราะได้รับการติเตียนจากชาวต่างประเทศว่าถนนหนทางและบ้านเรือนสกปรกมาก ต้องให้พระยาสุขุมฯรับไปจัดการ

วันแห่งประวัติศาสตร์ของเจ้าพระยายมราชและตระกูล “สุขุม” ได้เกิดขึ้นในวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน ๒๔๕๑ ขณะที่มหาปั้นมีอายุได้ ๔๖ ปี เมื่อสมเด็จพระปิยมหาราชได้มีพระบรมราชโองการสดุดี คุณงามความดีของท่านอย่างมากมาย และตอนหนึ่งจารึกไว้ว่า

“...พระยาสุขุมนัยวินิต เป็นผู้มีอัธยาศัยซื่อตรง มั่นคงต่อความคิดอันได้กำหนดไว้ว่าจะทำแล้ว มิได้ละเลยให้จืดจางเคลื่อนคลาย มีความรู้และสติปัญญาพอที่จะใช้ความตั้งใจนั้นให้ดำเนินไปได้ด้วยแยบคายและอุบายอันชอบ ประกอบด้วยความกตัญญูและกตเวที ทั้งเมตตาปรานีเป็นเบื้องหน้า มีความอุตสาหะและความเพียรเป็นกำลัง จึงอาจจะยังราชกิจทั้งปวงในหน้าที่ให้สำเร็จได้โดยสะดวกดีควรจะชม เป็นที่นิยมทั่วไปในหมู่ชนเป็นอันมาก ปรากฏมาเป็นลำดับ ทรงพระราชดำริว่า ผู้ซึ่งมีอัธยาศัยและความสามารถเช่นนี้ คงจะได้รับราชการในตำแหน่งหน้าที่ยืนยาว เป็นผู้สมควรจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมยกย่องไว้ในตำแหน่งเจ้าพระยา ให้เป็นตัวอย่างแก่ข้าราชการทั้งปวงสืบไปภายหน้า

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาพระยาสุขุมนัยวินิต ขึ้นเป็น เจ้าพระยา มีสมญาจารึกในหิรัญบัฏว่า เจ้าพระยายมราชชาติเสนางนครินทร์...”

หลังจากนั้นเมื่อเจ้าพระยายมราชป่วย พระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาเยี่ยมถึงบ้านที่บางขุนพรหม ทอดพระเนตรเห็นว่าบ้านเจ้าพระยายมราชซอมซ่อ ไม่สมเกียรติเสนาบดีผู้มีความชอบ จึงพระราชทานบ้านหลังใหม่ให้ที่ตำบลศาลาแดง ซึ่งเดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ซึ่งยกมาใช้หนี้หลวงและยังว่างอยู่ ทั้งยังพระราชทานของขวัญพร้อมมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานพรในวันเกิดของเจ้าพระยายมราชทุกปี

ในวันที่ ๒๓ ตุลาคม ๒๔๕๓ สมเด็จพระปิยมหาราชสวรรคต พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าฯซึ่งทรงเรียกเจ้าพระยายมราชว่า “ครู” ขึ้นครองราชย์ เจ้าพระยายมราชนับว่าเข้ามัชฌิมวัย แต่ก็ยังมีไฟแรง ได้จัดวางระบบตำรวจนครบาลขึ้นใหม่ให้เรียบร้อย ทั้งยังจัดการประปาโดยขุดคลองไปรับน้ำมาจากเชียงราก ตั้งโรงไฟฟ้าขึ้นอีกโรง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ง่ายเพราะมีโรงไฟฟ้าสยามของชาวต่างประเทศได้สัมปทานไว้ แต่เจ้าพระยายมราชก็ทำสำเร็จ อีกทั้งยังตั้งบริษัทปูนซีเมนต์ขึ้น โดยใช้ดินขาวที่ใกล้สถานีรถไฟบ้านหมอ ระหว่างสระบุรีกับลพบุรี ผลิตปูนซีเมนต์ได้วันละ ๔๐๐ ถังในครั้งแรก และเพิ่มปริมาณขึ้นเรื่อยๆ นับเป็นบริษัทแรกของคนไทยที่ลงทุนถึง ๑ ล้านบาท

ในปี ๒๔๖๕ รัชกาลที่ ๖ ทรงปรับปรุงระบบราชการใหม่ รวมกระทรวงนครบาลมาไว้กับกระทรวงมหาดไทย แล้วโปรดให้เจ้าพระยายมราชเป็นเสนากระทรวงมหาดไทยใหม่ที่รวม ๒ กระทรวงเข้าด้วยกัน

ในสมัยรัชกาลที่ ๖ เจ้าพระยายมราชยังได้รับมอบหมายหน้าที่ก่อสร้างพระราชฐานสำคัญอีกหลายแห่ง ทั้งกรุงเทพฯและหัวเมือง เช่น พระที่นั่งอนัตสมาคมที่เริ่มสร้างมาแต่รัชกาลที่ ๕ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชนิเวศมฤคทายวัน สวนสุนันทา วังปารุสกวัน พระตำหนักสวนกุหลาบ เป็นต้น

ปลายรัชกาล ทรงจัดงานแสดงสินค้าใหญ่ระดับนานาชาติ เนื่องในโอกาสครองราชย์ครบ ๑๕ ปี โดยพระราชทานที่ส่วนพระองค์ที่ทุ่งศาลาแดงใกล้บ้านเจ้าพระยายมราชเป็นที่จัดงาน และมอบให้เจ้าพระยายมราชเป็นผู้อำนวยการเตรียมงาน รวมทั้งสร้างเป็นสวนพักผ่อนหย่อนใจของประชาชนด้วย พระราชทานว่า “สวนลุมพินี” แต่น่าเสียดายที่ยังไม่ถึงกำหนดเปิดงาน ก็พลันเสด็จสวรรคต การจัดงานจึงล้มเลิกไป

ในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๔๖๘ สมัยรัชกาลที่ ๗ เจ้าพระยายมราชได้ปรารภถึงอายุสังขารที่ชราลง ขอพระราชทานกราบบังคมทูนลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย รวมเวลาที่รับราชการอยู่ถึง ๔๓ ปี โดยอยู่ในหน้าที่พระอาจารย์ภาษาไทย พระอภิบาล และสถานทูตสยามในลอนดอน ๑๑ ปี เลขานุการเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และข้าหลวงเทศาภิบาล ๑๒ ปี เสนาบดี ๓ กระทรวง ๒๐ ปี

แม้ออกจากราชการแล้ว เจ้าพระยายมราชยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้เป็นผู้กล่าวถวายพระพรในงานเฉลิมพระชนมพรรษาในนามข้าราชการและประชาชน ซึ่งหน้าที่นี้เจ้าพระยายมราชได้รับสืบต่อเจ้าพระยาภาสกรวงศ์ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๕๔ จนถึงเลิกพิธีนี้ในปี ๒๔๗๔ เป็นเวลาถึง ๒๑ ปี

หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง รัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลขึ้นครองราชย์ในขณะยังทรงพระเยาว์ สภาผู้แทนราษฎรจึงลงมติในวันที่ ๗ มีนาคม ๒๔๗๗ ตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งมีเจ้าพระยายมราชรวมอยู่ด้วย

ในวันที่ ๑๖ ธันวาคมปีนั้น ในวันพระราชพิธีสมโภช โดยที่เจ้าพระยายมราชได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดมาแล้ว จึงทรงพระราชทานเครื่องราชอิสริยยศถาดทองคำเป็นเกียรติยศ อันเคยมีตัวอย่างมาแล้วเมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ พระราชทานแก่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)

เจ้าพระยายมราชถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๔๘๑ เวลา ๑๕ นาฬิกา ในตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๘ สิริรวมอายุ ๗๕ ปี โดยสิ้นใจอย่างสงบที่บ้านศาลาแดง ท่ามกลางบุตรธิดา ญาติมิตร คณะผู้สำเร็จราชการ นายกรัฐมนตรีทั้งอดีตและปัจจุบัน พร้อมรัฐมนตรีหลายท่านที่มาเฝ้าดูอาการด้วยความเป็นห่วง

รุ่งขึ้น ทางราชการได้ประกาศให้ข้าราชการไว้ทุกข์ทั่วประเทศ มีกำหนด ๑๕ วัน สถานที่ราชการลดธงลงครึ่งเสา ๓ วัน ซึ่งบรรดาสถานทูตและสถานกงสุลให้เกียรติลดธงลงครึ่งเสาเป็นเวลา ๓ วันเช่นกัน

นี่คือเกียรติประวัติที่เด็กใส่กัณฑ์เทศน์จากเมืองสุพรรณได้รับ เพราะความดีและความสามารถโดยแท้
พระยายมราช ภาพล้อฝีพระหัตถ์ ร.๖
บ้านพระราชทานที่ศาลาแดง ปัจจุบันคือที่สร้างโรงแรมดุสิตธานี
กำลังโหลดความคิดเห็น