ยังไม่เข็ดอีกเหรอ? “บิ๊กป้อม - รัฐบาล คสช.” ดันทุรังซื้อเรือดำน้ำจีน 1.35 หมื่นล้าน ย้อนดู “จีที 200 - เรือเหาะ” กระสันอยากได้ แต่กลายเป็นไม้ล้างป่าช้าและซากผ้าใบ แถม “รถถังยูเครน” กะปริบกะปรอย หวั่นจริงๆ จะกลายเป็น “เศษเหล็กในทะเลไทย”
การจัดซื้อเรือดำน้ำจากสาธารณรัฐประชาชนจีน มูลค่า 13,500 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติงบประมาณ 13,500 ล้านบาท จัดซื้อเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา
สังคมต่างตั้งคำถามถึงความเหมาะสม เพราะเป็นการอนุมัติแบบ “ลักหลับ” ชนิดที่ว่า ไม่บอกไม่กล่าวอะไร
กระทั่งได้ยินจากปากของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ที่ระบุว่า เป็นการซื้อแบบรัฐต่อรัฐ หรือว่า จีทูจี จะซื้อทั้งหมด 3 ลำ มูลค่ารวม 36,000 ล้านบาท ใช้เวลาทั้งหมด 11 ปี เป็นการทยอยจ่าย
ที่ฟังแล้วคนไทยผู้เสียภาษีรู้สึกเหมือนตบหน้า ก็คือ คำพูดที่ว่า “รายละเอียดจะแบ่งจ่ายอย่างไรสื่อไม่จำเป็นต้องรู้”
ราวกับว่า เห็นประชาชนที่ติดตามการใช้งบประมาณจากภาษีประชาชนไม่มีความหมาย
ย้อนกลับไปในอดีต การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ของกองทัพ ล้วนแล้วแต่ไม่โปร่งใส อุปกรณ์หรือพาหนะที่ได้ไร้ประสิทธิภาพ ไม่สามารถใช้งานเพื่อป้องกันประเทศได้ตามที่กล่าวไว้ หรือบางอย่างเกิดผิดสัญญา
ไล่ตั้งแต่ “เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิด จีที 200” ที่ในยุค พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก จัดซื้อหลายร้อยเครื่อง เอาไปใช้ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีเหตุความไม่สงบในพื้นที่บ่อยครั้ง
แต่ก็พบว่า ในโลกอินเทอร์เน็ตยุคนั้น มีกระแสเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ กระทั่งปี 2553 คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดจีที 200
ฝั่งของกองทัพพยายามทดลองการใช้เครื่องโดยตัวทหารเอง หรือกระทั่งดึงเอา คุณหญิง พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ มาการันตีความบริสุทธิ์ เกิดเป็นวิวาทะทางราชการ
แล้วพบว่า ประสิทธิภาพของจีที 200 ตรวจหาวัตถุระเบิดซีโฟร์ได้ถูกต้องเพียง 4 ครั้ง จาก 20 ครั้ง โดยแต่ละครั้งมีตัวเลือก 4 กล่อง ซึ่งไม่มีนัยทางสถิติ รัฐบาลในตอนนั้นจึงยกเลิกการจัดซื้อเพิ่มเติม
ถูกขนานนามว่าเป็น “ไม้ล้างป่าช้า” ในที่สุด
แต่การสอบสวนของ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่สุดก็จับมือใครดมไม่ได้
ต่างจากอังกฤษ ที่ตัดสินยึดทรัพย์ “เจมส์ แมคคอร์มิค” มหาเศรษฐีชาวอังกฤษ ที่จำหน่ายเครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดปลอม ไม่สามารถใช้ได้จริงตามโฆษณาชวนเชื่อ
ไม่ต่างไปจาก “เรือเหาะฉาว” ยุค พล.อ.อนุพงษ์ โดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดซื้อด้วยวิธีพิเศษ 350 ล้านบาท ส่งมาจอดที่ กองพลทหารราบที่ 15 จ.ปัตตานี
ในตอนนั้นถูกตั้งข้อสงสัยว่า ราคาเรือเหาะที่กองทัพจัดซื้อน่าจะแพงเกินไป อีกทั้งสั่งซื้อและได้รับสินค้าอย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่กี่เดือน ทั้งๆ ที่หากเป็นของใหม่จะต้องใช้เวลาสร้างอีกร่วม 1 ปี
ไม่นับรวมเวลาเติมก๊าซฮีเลียม ที่เรือเหาะลำนี้เติมครั้งหนึ่งสูงถึง 3 ล้านบาท ทั้งที่ที่เรือเหาะลำใกล้เคียงกันเติมเพียงครั้งละ 7 - 8 แสนบาท
สุดท้าย ไม่เคยมีการนำเรือเหาะลำนี้ขึ้นปฏิบัติงานจริงในพื้นที่ เพราะขัดข้องตลอดเวลา หนำซ้ำเครื่องยนต์ที่ไม่สามารถบินสูงเกินกว่าระยะ 1,000 เมตร เสี่ยงต่อผู้ก่อความไม่สงบยิงทิ้งจากพื้นดิน
ต่อมาในปี 2555 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อครั้งรับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก อนุมัติงบประมาณในการซ่อม 50 ล้านบาท
หลังซ่อมเสร็จอยู่ระหว่างทดลองบิน ได้เกิดอุบัติเหตุเครื่องตกเมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2555 ทำให้เครื่องยนต์ และผ้าใบของเรือเหาะเสียหายอย่างมาก
ในที่สุด เมื่อเดือน ก.ค. 2556 ก็มีข่าวว่า กองทัพบกปลดระวางเรือเหาะออกจากการใช้งานของกองทัพ หลังพบความเสียหายภายใน รวมทั้งที่ผ่านมาเรือเหาะลำนี้ไม่เคยถูกนำไปใช้ปฏิบัติงานจริง
แม้จะดาหน้าปฏิเสธถึงกระแสข่าวว่าจะมีการจำหน่ายเรือเหาะว่า ไม่เป็นความจริง แต่สุดท้ายเรือเหาะที่กลายเป็นซาก ก็หายไปอย่างเงียบๆ
ไม่นับรวมเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับ “รถถังของยูเครน” เมื่อปี 2554 กองทัพไทยได้ลงนามในสัญญาการจัดหารถถังหลัก (OBT) กับทาง “Ukrspetsexport” แห่งยูเครน จำนวน 49 คัน มูลค่ากว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
แต่ปรากฏว่า เกิดส่งมอบล่าช้า สามปีที่ผ่านมาส่งให้เพียง 20 คัน และยังต้องเลื่อนเวลาส่งมอบไปถึงปี 2560 เหตุมีปัญหาเรื่องการส่งมอบ การส่งกำลังบำรุง และสายการผลิต จากปัญหาสถานการณ์ภายใน
มาถึงยุค พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ก็ซื้อรถถัง VT-4 จากจีน 28 คัน และจะจัดหาต่อในระยะ 2 จนครบ 1 กองพัน (กองพันละ 49 คัน) ในปีงบประมาณ 2560 โดยผูกพันงบประมาณ 3 ปี
ตัวอย่าง 3 กรณีในการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของกองทัพ จึงเป็นเรื่องที่สังคมหวั่นเกรงว่า การจัดซื้อเรือดำน้ำมูลค่ามหาศาลในวันนี้ ผลที่สุดจะจบลงเป็นเศษเหล็กในทะเลอ่าวไทยหรือไม่
เพราะปัญหาที่สำคัญที่สุดนอกจากการจัดซื้อก็คือ การบำรุงรักษา
ถ้าไม่นับเรื่องเรือเหาะที่พังจนยากจะเยียวยา ขนาดเรือหลวงจักรีนฤเบศร ที่จัดซื้อราว 7.1 พันล้านบาท ยังมีปัญหาเครื่องบินแฮริเออร์และเฮลิคอปเตอร์ที่หายไปนานแล้ว เพราะไม่มีงบประมาณ
ต้องมานั่งลุ้นกันว่า ผลที่สุดแล้ว ในอนาคตเรือดำน้ำจากภาษีประชาชนแบบไม่บอกไม่กล่าว จะกลายเป็นเศษเหล็กทะเลไทยหรือไม่ คงสุดแท้แต่จะคาดเดา
มรดกที่ บิ๊กป้อม และ คสช. ได้ทิ้งไว้ ประโยชน์ที่อ้างว่ามีไว้ไม่ให้น้อยหน้าชาติใดในอาเซียน คงจะเป็นเพียงแค่ “ของเล่นใหม่” ในวันเด็กแห่งชาติแค่นั้น