ว่าที่ทันตแพทย์เน็ตไอดอลคนสวยที่เห็นเธอแล้วจะทำให้เลิกกลัวหมอฟันไปตลอดชีวิต
“เตย-พริม ณ สงขลา” นักศึกษาคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชั้นปีที่ 5 ที่ก่อนหน้านี้อาจจะไม่ได้มีความฝันอยากจะเป็นหมอฟันสักเท่าไหร่ เนื่องจากว่าทางครอบครัวมีอาชีพหมอและเห็นว่าการจะเรียนคณะดังกล่าวเป็นสิ่งที่หนักหนาเอาการอยู่ไม่น้อย ทำให้เธอเบนเข็มอยากจะไปเรียนคณะอื่นบ้าง แต่ท้ายที่สุดแล้วนั้นชีวิตก็กลับพลิกผันให้มาเรียนคณะทันตแพทยศาสตร์จนได้
อีกไม่นานเราคงจะได้มีหมอฟันที่ทั้งสวยและน่ารักเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งคน และบทสัมภาษณ์นี้จะทำให้รู้ว่าหมอฟันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด หากใครได้อ่านแล้วกำลังเจ็บป่วยหรือมีปัญหาทางช่องปาก ต้องอยากรีบไปหาหมอโดยด่วนเป็นแน่
• เตย พริม ณ สงขลา เน็ตไอดอลว่าที่หมอฟัน
ไม่ขนาดนั้นค่ะ (ยิ้ม) เตยก็ยังทำตัวปกติ ตอนนี้ก็มีคนเดินเข้ามาทักเหมือนกัน ประมาณว่าสวัสดีค่ะพี่เตย เราก็งงมาก ก็สวัสดีค่ะตอบกลับไป หลังๆ เริ่มมีคนมาทัก ก็จะงงๆ นิดนึง เพราะว่ามีคนเอาไปลงข่าว จนมีคนแชร์กันเต็มไปหมดเลย ก็งงเหมือนกันค่ะ (ยิ้ม)
ก่อนหน้านี้ส่วนใหญ่เตยจะรับงานถ่ายรูป ออกทริป ก็จะมีรูปสวยๆ ลง เพราะมีพี่ตากล้องถ่ายให้ แล้วก็จะรับถ่ายแบบพวกเสื้อผ้า เหมือนเป็นนางแบบร้านเสื้อผ้าประมาณนี้ค่ะ เพราะส่วนตัวเตยอยากถ่ายงานโฆษณา ส่วนงานอย่างอื่นคงทำไม่ได้เพราะเวลาเรามีน้อยมากๆ เนื่องจากการเรียนด้วยค่ะ
• ถามเรื่องการเรียนหน่อยค่ะ เห็นว่าเรียนทันตแพทยศาสตร์ ความฝันคืออยากเป็นหมอฟันมาตั้งแต่เด็ก?
ตอนเด็กจริงๆ ไม่ได้อยากเป็นหมอฟันเลยนะคะ แต่มีความคิดว่าอยากเป็นหมอค่ะ เพราะที่บ้านทุกคนเป็นหมอกันหลายคน คุณพ่อเป็นหมอ คุณย่าเป็นหมอ คุณปู่ก็เป็นหมอ ซึ่งเขาจะบอกกับเราตลอดว่าอาชีพหมอมันหนักไป อย่าเรียนเลยไม่ไหวหรอก เป็นผู้หญิงมันเหนื่อยไป ซึ่งทางบ้านก็เฉยๆ เหมือนเขาไม่ได้บังคับว่าเราจะต้องเป็นหมอนะ ทั้งที่จริงคุณย่าก็เป็นนะคะแต่ท่านก็ไม่สนับสนุนให้เราเป็น (หัวเราะ)
ตอนแรกเตยอยากจะเป็นหมอผิวหนัง แต่พ่อก็บอกว่ามันหนักไปสำหรับผู้หญิง ไม่เอาก็ได้ แล้วอีกอย่างตอนม.4 ได้ไปดูที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาจะพาไปดูแผนกนิติเวช เรารู้สึกว่ามันไม่ใช่เรา น่าจะเรียนไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจว่าไม่เอา ไม่เรียนแล้ว
• ตัดสินใจว่าจะไม่เรียนแล้ว แล้วพลิกผันมาเรียนคณะนี้ได้ยังไงคะ
ความฝันอยากเป็นทันตแพทย์เริ่มมาตั้งแต่ตอนม.4 เราก็เริ่มอยากเป็นเรื่อยมาจนถึงม.5 จนกระทั่งม.6 แล้วเกิดเปลี่ยนใจ อยากเปลี่ยนไปเรียนบัญชีซึ่งตอนนั้นเราก็ไปสอบเข้าบัญชี เสร็จเรียบร้อยจนติดคณะบัญชีในที่สุด
ที่ตัดสินใจมาเรียนทันตแพทย์เพราะมีช่วงหนึ่ง ตอนนั้นติดช่วงน้ำท่วมประมาณเดือนนึงได้ค่ะ เตยก็ได้เริ่มอ่านพวกวิทยาศาสตร์ ทั้งหมดตอนนั้นเพื่อที่จะได้เอาไปลองสอบตรงกับเพื่อนดู เพราะเพื่อนที่โรงเรียนเขาสอบกันหมด สุดท้ายก็ติดคณะทันตแพทย์ด้วย (ยิ้ม)
ตอนนั้นได้สองคณะ เลยไปถามคุณแม่ว่าเอายังไงดี คุณแม่ก็บอกมาว่าทันตแพทย์ดีกว่าไหม เพราะน่าจะมั่นคงกว่า จบมามีงานทำ แถมมันก็เคยเป็นความฝันเราด้วย เราก็เลยโอเค เรียนทันตแพทย์ก็ได้ (ยิ้ม)
• แล้วคิดอย่างไรกับคำว่าอยากเป็นหมอฟันต้องเก่ง ถึงจะเรียนได้ มีคำแนะนำไหมคะเผื่อน้องๆ สนใจอยากจะเรียนคณะนี้บ้าง
เตยว่าเก่งอย่างเดียวไม่พอค่ะ ต้องขยันด้วย อย่างเตยก่อนสอบเข้ามา อ่านหนังสือเยอะมากนะคะ ช่วงจะสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็อ่านก่อนเลยปีนึง อ่านตั้งแต่ปิดเทอม ม.5 ขึ้น ม.6 ค่ะ อ่านมาเรื่อยๆ
ถ้าน้องๆ อยากเรียนคณะนี้ก็อยากให้อ่านหนังสือเยอะๆ ต้องเป็นคนขยัน แล้วก็ต้องอดทน มันไม่ได้ง่าย หรือสวยหรูแบบที่ทุกคนมอง ต้องขยัน เข้ามาแล้วก็อยากให้อดทน แล้วสุดท้ายทุกคนก็จะผ่านไปได้ค่ะ
• แล้วพอได้มาเรียนจริงๆ เป็นยังไงบ้าง เรียนหนักหรือเปล่า
หนักมากค่ะ ก็คิดนะคะว่าเฮ้ยไหนบอกมันไม่หนักไง โอ้โห!! พอกันกับแพทยศาสตร์เลย แค่ไม่มีเวรเท่านั้นเอง ตรงนี้คงน่าจะเป็นสิ่งที่เบากว่า
ถามว่าเรียนยากไหม เรียนยากนะคะ เหมือนมันมีสิ่งให้ท่องจำเยอะ วิชาเรียนก็เยอะ เคยมีเทอมนึง สอบ 18 วิชา 18 วิชานี้เฉพาะไฟนอลนะคะ แบบสอบไปเลยเช้าบ่าย สอบติดกัน 2 สัปดาห์ ร่างพังเลยค่ะ เรียนและสอบ 18 วิชา แม็กซิมั่มเท่าที่เทอมนั้นจะมีได้เลย (หัวเราะ)
การเรียนก็จะยากขึ้นเรื่อยๆ มันเหมือนจะเรียนหนักคนละแบบ ในแต่ละปีค่ะ ปี 1 สบายสุดแน่นอน เพราะเหมือนจะให้ไปเรียนตามคณะต่างๆ มันจะมีวิชาเลือกให้เราไปเรียนในคณะอื่นด้วย เหมือนวิชาคณะอะไรทำนองนี้ ก็จะมีเรียนวิทยาศาสตร์พื้นฐานด้วย
พอมาปี 2 ก็เริ่มเรียนร่างกายของมนุษย์จะเป็นการผ่าอาจารย์ใหญ่ พอปี 3 จะเริ่มเข้าสู่พื้นฐานของทันตแพทย์ เป็นเลคเชอร์เกี่ยวกับทันตแพทย์มากขึ้น จะเริ่มมีแลปที่เพิ่มขึ้น ก็เริ่มหนักมากขึ้นค่ะ
ส่วนตอนนี้เตยอยู่ปี 5 แล้ว ซึ่ง ปี 4 ปี 5 ปี 6 จะเริ่มฝึกงานของทันตแพทย์ ก็จะฝึกเป็นชั้นคลินิกคือให้เริ่มลงคลินิก เริ่มรักษาผู้ป่วยจริง ตอนปี 4 ก็จะเป็นแค่อุดฟันขูดหินปูน แล้วก็จะมีถอนฟันบ้างนิดหน่อย แต่ตอนนี้ปี 5 ก็จะมี ถอนฟัน ขูดฟัน ขูดหินปูน ผ่าฟันคุด ทำฟันเด็ก แล้วก็มีทำฟันปลอม รักษารากฟันที่เพิ่มเข้ามาค่ะ
• เรียนหนักแบบนี้ จัดตารางตัวเองยังไงบ้างคะ
ตารางเวลาในแต่ละวัน ถ้าเป็นช่วงนี้ก็จะมีเลคเชอร์บ้าง แต่ก็เหลือน้อยแล้วค่ะ จะมีแค่ 8 โมง - 9 โมงของทุกวัน พอ 9 โมง - 4 โมงเย็นก็จะเป็นคลินิกเลย ทำคลินิกเช้า บ่าย พีเรียดละ 3 ชั่วโมง
หลังจากนั้นตอนเย็นก็เป็นเวลาฟรีของเรา ก็อยู่ที่ว่าเราจะทำอะไร ถ้าช่วงที่มีแลป แลปฟันปลอมต้องทำก็อยู่ที่แลป แลปก็จะเปิดตั้งแต่ 4 โมง - 2 ทุ่ม ก็ทำกันไป มันก็จะมีบางช่วงที่ว่าง ไม่มีแลปให้ทำ เราก็ว่าง ก็จะไปหาอะไรกิน ดูหนังบ้าง ไปกับเพื่อนๆ วันหยุดว่างๆ เตยก็จะชอบไปนวด ถ้าช่วงไหนเครียดๆ ก็จะออกกำลังช่วยด้วย เพราะมันจะทำให้รู้สึกดีขึ้นได้ค่ะ
• ตอนนี้ฝึกงานจริงแล้ว แบบนี้เคยเจอเคสที่รักษายากๆ มาบ้างไหม ช่วยเล่าหรือยกตัวอย่างให้ฟังหน่อย
ใช่ค่ะ ตอนนี้เตยก็ฝึกงานอยู่ที่คณะทันตแพทย์จุฬาฯ ค่ะ ก็จะมีหลายภาค ซึ่งแต่ละภาคก็จะไม่เหมือนกันค่ะ ถ้าที่เตยประทับใจสุดก็จะเป็นของภาคศัลย์ค่ะ คือตอนเจอสัปดาห์แรก อาจารย์เขายังไม่ให้เราทำ เรายังทำไม่ได้หรอก มันเป็นของพี่บัณฑิต เหมือนเป็นเคสที่ต้องถอนฟัน ผ่าฟัน รากฟันกรามบนสามราก เหลือแต่รากค่ะ ตัวฟันหายไปหมดแล้ว ตอนนั้นที่เจอก็คือเขาให้ไปช่วยพี่บัณฑิตไปช่วยพี่เขามาก่อน พอผ่านไปอีกสัปดาห์หนึ่ง เราได้เจอเหมือนเคสนี้เป๊ะเลยเหมือนเดจาวูเลยค่ะ อาจารย์เขาก็จำได้ว่าสัปดาห์ที่แล้วเราเป็นคนดูเคสแบบนี้ อาจารย์เลยบอกว่าทำเลยไหม ลองทำดู ก็เลยได้ทำ เคสนี้บอกเลยค่ะว่าแอ๊ดวานซ์จริงใช้หัวกรอแบ่งรากฟัน 3 ส่วนแล้วค่อยๆ ดึงออกมา ซึ่งเราต้องทำจากคนไข้จริงๆ เลย ก็ค่อนข้างยากค่ะ
• เคสเด็กหรือผู้ใหญ่ที่ยากกว่ากันคะ เพราะได้ยินมาว่าการรักษาฟันเด็กนั้นยากมากเหมือนกันนะ
มันจะเป็นคนละอย่างค่ะ เพราะจะเป็นคลินิกเด็ก เขาเรียกไมเนอร์คือเวลาขึ้นเด็ก ก็คือจะขึ้นเฉพาะของเด็ก แยกไปเป็นคลินิกเลยของผู้ใหญ่ ก็จะแบ่งเป็นแต่ละภาพออกไป ก็จะมีภาค ปริทันตวิทยา คือโรคเหงือก พวกขูดหินปูน ภาคทันตกรรม หัตถการ อันนี้ก็จะเป็นอุดฟันกับรักษารากฟัน ภาคทันตกรรมประดิษฐ์อันนี้ก็จะเป็นทำฟันปลอมแล้วก็มีภาคทันตกรรมบดเคี้ยวอันนี้ก็จะทำเป็นเปลือกฟัน สำหรับคนนอนกัดฟัน หลักๆ จะมีประมาณนี้ค่ะ ซึ่งเตยก็จะได้ลงทั้งของเด็กและของผู้ใหญ่เลยนะคะ
การรักษาผู้ใหญ่ยากกว่าเด็กนะคะ เพราะเด็กจะไม่ได้ยากเลยแต่ความยากจะอยู่ที่การควบคุมเด็ก เพราะว่าเด็กอย่างที่รู้ๆ กัน เขาก็จะร้องไห้ ก็จะยากตรงที่ถ้าน้องร้องไห้แล้วจะมีวิธีจัดการยังไง ถ้าเด็กไม่ร้องไห้นี่คือง่ายเลยค่ะ ไม่ได้มีอะไร เพราะงานเด็กที่เจอจะมีแค่ ถอนฟัน อุดฟัน เคลือบฟลูออไรด์ รักษาราก ขั้นตอนของเด็กก็จะไม่เยอะเท่าของผู้ใหญ่ เพราะของผู้ใหญ่จะมีหลากหลายมากขึ้น มีการทำฟันปลอมด้วย กระบวนการก็เพิ่มขึ้นมากกว่า
วิธีรับมือกับเด็ก เวลาที่เตยเจอเด็กงอแงเหมือนต้องมีวิธีการพูดค่ะ พูดกับเด็กเหมือนพูดไปเรื่อยๆ เพื่อดึงความสนใจอย่างเวลาจะฉีดยาชา เขาก็จะห้ามใช้คำว่าจะฉีดยาชา ห้ามพูดว่าจะเจ็บนะ ให้พูดว่า เดี๋ยวหมอจะหยดยานะ ให้ฟันมันหลับ ให้หนอนมันไม่ตื่น เอามือกุมพุงไว้นะ เดี๋ยวหนอนมันจะหล่นลงไป ถ้าหนอนหล่นลงไป ต้องเข้าโรงพยาบาลนะ ไปผ่าท้อง เอามือกุมพุงไว้นะ เพื่อที่เราจะไม่ให้เด็กดิ้นเขาก็จะกุมไว้ ก็ต้องมีวิธีการพูดแตกต่างออกไปในเด็กแต่ละคน ถ้าพูดแล้วเด็กยังงอแงอยู่ เขาก็จะร้องของเขาไปเรื่อยๆ เขาก็จะแบบฮือๆ ไป แต่เขายังอ้าปาก ก็ยังโอเคอยู่ ก็จะแค่พูดไปเรื่อยๆ
เรามันต้องชมเด็กอยู่ตลอด ถ้าเด็กเขาร้องจะให้ชมทุก 5 นาทีต้องชมว่าเก่งจังเลย คนเก่ง คนสวย สุดหล่อ ที่คณะเขาก็จะมีลูกโป่งให้เราแจก ก็จะมีวิธีการแตกต่างกันไป
• แล้วกระแสตอบรับจากคนไข้ที่มาเป็นเคสให้เราเขาว่าอย่างไรบ้าง มีคนบอกมือเบาไป หรือมือหนักไปบ้างไหมคะ
มีนะคะ จะมีทั้งบอกว่ามือเบาแล้วก็บอกว่ามือหนักเลยค่ะ (หัวเราะ) คนที่บอกมือเบาก็จะเป็นพวกเคสอุดฟัน ทำฟันปลอม คนไข้ก็จะบอกว่ามือเบานะ หน้าตาน่ารักดีนะอะไรทำนองนี้ค่ะ
ส่วนเคสที่มือหนักก็จะมีอยู่คนนึง เป็นเคสขูดหินปูน เคสนั้นเขาเป็นปริทันต์อักเสบ หรือรำมะนาด ที่คนส่วนใหญ่ชอบเรียกกันว่า เหงือกอักเสบ ซึ่งอันนี้เวลาเราขูด เราจะเอาที่ขูดเข้าไปตรงรากฟันด้วย เหมือนเกลาที่รากฟัน เขาก็จะรู้สึกเจ็บ พอทำเสร็จเขาก็จะบอกเจ็บมาก มันก็ต้องเจ็บนะ คือไม่ไหวจริงๆ เขาก็จะให้ฉีดยาชา แต่ถ้าคนไข้ไหว ไม่ต้องฉีดก็ได้ คือคนไข้ไม่ได้บอกก่อนที่จะทำด้วย ก็เป็นเคสหนึ่งที่ทำคนไข้เจ็บค่ะ
• แต่ก็มีหลายคนที่ยังกลัวหมอฟัน ยังไม่กล้าพบหมอ แบบนี้เราจะมีวิธีการหรือทำอย่างไรให้คนไข้เข้ารับการรักษาบ้าง
ก็ไม่อยากให้กลัวหมอฟันนะคะ หมอฟันไม่ได้ดุอย่างที่คิด เตยเองก็ไม่ดุค่ะ ก่อนมาหาหมอฟันก็อยากให้เตรียมใจมาอย่างเดียวค่ะ อย่างอื่นเดี๋ยวหมอดูให้เอง (ยิ้ม)
เพราะถ้ามาหาหมอไว ถ้าเราเริ่มเจอปัญหาตั้งแต่เริ่มแรก มันก็จะสามารถจัดการได้รวดเร็ว และเราจะเจ็บตัวน้อยกว่าที่เราจะต้องไปทน เช่น สมมติว่าฟันผุ ถ้าเรารอจนผุเยอะๆ ผุมากๆ ซึ่งถ้าการที่เรามาตอนแรกก็อาจจะกรอแค่นิดเดียวแล้วก็อุดลงไป แต่กลายเป็นว่าเรามาช้า ก็อาจส่งผลให้ผุเยอะมากขึ้น จนไม่สามารถอุดได้แล้ว มันไปถึงโพรงประสาทแล้ว ก็ต้องรักษาราก กลายเป็นว่าต้องเสียเงินมากขึ้น แล้วก็ต้องมาหลายครั้งมากขึ้น ทั้งเสียเงิน เสียเวลา แทนที่ตอนแรกจะเป็นนิดเดียว ไม่เจ็บอะไร จะกลายเป็นเป็นเยอะไป ก็ไม่อยากให้มานั่งกลัวกันค่ะ
• ภาพลักษณ์ของหมอฟันในอุดมคติของเราเป็นยังไงบ้าง
หมอฟันที่ดีสำหรับหนูต้องมีจรรยาบรรณ มีความรู้ แล้วก็มีฝีมือค่ะ ไม่ใช่แค่มองแต่เงินเพียงอย่างเดียว ต้องมองถึงประโยชน์ของคนไข้ด้วย
เริ่มตั้งแต่คำพูดจาซึ่งมีส่วนสำคัญมาก ไม่ใช่พูดติดตลกไปวันๆ ต้องพูดให้ดูน่าเชื่อถือ มีหลักวิชาการ ไม่ใช่พูดแบบสุ่มสี่สุ่มห้า มั่วๆ
ส่วนตัวเตยตอนทำงานกับไม่ทำงานจะต่างกันเยอะเลยนะคะ เพราะปกติเตยจะเป็นคนที่ค่อนข้างรั่วมาก ต๊องเลยแหละ แต่เวลาที่เราทำงาน เราก็จะต้องขรึมขึ้น ต้องพูดชัดเจน ไม่ใช่ เอ๊ะ เอ๊ะ ยังไงนะ มันก็ไม่ใช่แล้ว คำไหนเป็นคำไหน ช้อยส์ของคนไข้มีอะไรก็ต้องบอกเขาไป วิธีการรักษาเป็นยังไง ผลการรักษาจะเป็นยังไงได้บ้าง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้มีอะไรบ้าง เราต้องชัดเจน
• ในฐานะที่เป็นว่าที่ทันตแพทย์ มีเคล็ดลับการดูแลฟันให้สวยสุขภาพดีบ้างไหม
ต้องแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้าและตอนเย็น หลังทานอาหารเสร็จทุกอย่างแล้วค่อยแปรง แล้วก็ใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อย วันละ 1 ครั้ง พบหมอทุกๆ 6 เดือนค่ะ
ที่บอกให้พบหมอทุก 6 เดือนเพราะบางคนไม่มีอาการก็จะชอบคิดว่าตัวเองไม่เป็นอะไร อย่างมีเคสหนึ่งเป็นเคสพี่เลี้ยงที่บ้านเตยเองค่ะ จะเป็นเคสที่ต้องรักษาโดยรวมทั้งหมด ก็เลยเอาพี่เลี้ยงที่บ้านไป เปิดปากมา ตอนแรกนี่เตยช็อคมาก เขาไม่เคยขูดหินปูนเลยตั้งแต่เกิดมา แล้วหินปูนเยอะมาก พอกขึ้นมา ก็จะมีภาคอื่นอีกแบบอุดฟันอะไรอย่างนี้ คือผุเยอะค่ะ 10 กว่าซี่ ไม่เคยทำเลย เพราะตอนแรกที่คุยกันพี่เขาบอกว่า พี่ไม่มีอะไรหรอก ไม่ได้เป็นอะไรเลย พอเปิดปากเท่านั้นแหละค่ะหลายอาการเลย
คือถ้ามาหาหมอแต่เนิ่นๆ ก็จะความเสี่ยงน้อย เหมือนกับระยะเวลานานเข้าก็จะเพิ่มขึ้นได้ บางทีมันไม่มีอาการ บางคนกว่าเขาจะมีอาการก็คือเป็นหนักมากๆ แล้ว กว่าเขาจะปวด ก็เลยอยากให้มาตั้งแต่เนิ่นๆ คอยเช็คเสมอจะโอเคกว่า ก็อยากให้มาให้คุณหมอประเมินอีกที พอหมอประเมินแล้วจากที่ต้องมาทุก 6 เดือน บางคนอาจจะมา ปีละครั้งก็ได้ หมอก็จะดูตามความจำเป็นแล้วแต่เคสไป
• ความฝันสูงสุดของอาชีพหมอฟันคืออะไรคะ หรือมีความฝันอื่นๆ อีกบ้างไหม
ความฝันสูงสุดจริงๆ คือไปเรียนต่อเฉพาะทาง อยากเรียนมากค่ะ ตอนนี้ก็ลังเลอยู่สองอย่าง คือรากเทียมกับด้านอุดฟันเพื่อความสวยงาม แต่เตยไม่ได้อยากเปิดคลินิกของตัวเองนะคะ อยากทำงานตามโรงพยาบาลมากกว่า
ส่วนตอนนี้ก็มีแอบกังวลเรื่องเก็บเคสไม่ทัน ประมาณว่าทางทันตแพทย์สภาเขาจะมีจำนวนเคสขั้นต่ำที่ทันตแพทย์ต้องเก็บก่อนจบปี 6 ของแต่ละภาคมาให้ บางทีก่อนจะจบแต่ละปี คณะก็จะมีเกณฑ์ขั้นต่ำเหมือนกันว่าจะจบปีนี้ได้ต้องได้เคส ตรงนี้ก็จะเป็นความกดดันที่เราจะต้องพยายามทำให้เต็มที่ค่ะ
ส่วนความฝันอื่นๆ ก็มีนะคะ คือเตยอยากเปิดร้านขนม แต่ก็รู้สึกว่าเราจะวางยาเขาหรือเปล่า เพราะว่ากินขนมเสร็จก็จะฟันผุใช่ไหมคะ เสร็จแล้วก็ต้องมาหาหมอฟันอะไรแบบนี้ (หัวเราะ) แต่ก็ยังอยากเปิดนะคะเพราะว่าเตยจะชอบทานและชอบทำขนมมากๆ
เรื่อง : วรัญญา งามขำ และ แพรวา คงฟัก
ภาพ : ปัญญพัฒน์ เข็มราช และ อินสตาแกรม toeyprim