xs
xsm
sm
md
lg

เปิดใจ “อัศวิน” 6 เดือนนั่งเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.แจงทุกปัญหา ลั่นเน้นซ่อมของเก่าปัดฝุ่นมาใช้ใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ผู้ว่าฯ กทม. เปิดใจ “คนเคาะข่าว” ช่องนิวส์วัน 6 เดือนหลังดำรงตำแหน่ง ระบุไม่ได้รับอาสาเข้ามาทำงาน รู้ตัวแค่ 2 ชั่วโมงถูกเรียกเข้าพบ ลั่นแก้ปัญหาทั้งตึก กทม. เจ็ดชั่วโคตร โรงฆ่าสัตว์ จ่อผุดเตาเผาขยะอีก 2 โรงให้เอกชน สร้างสตรีทฟู้ดเพิ่มที่ทองหล่อ ทางจักรยานเชื่อม 3 สวน เพิ่มอุโมงค์ระบายน้ำ และอีกสารพัด ไม่ใส่ใจเก้าอี้สั่นคลอน บอกนโยบายเน้นปรับปรุงของเก่าแทนการซื้อใหม่



รายการคนเคาะข่าว ทางสถานีโทรทัศน์นิวส์วัน ออกอากาศเมื่อคืนวันที่ 27 เม.ย. ได้สัมภาษณ์เปิดใจ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หลังจากได้รับการแต่งตั้งโดยคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้มาดำรงตำแหน่ง และปฏิบัติหน้าที่มาได้ 6 เดือน โดยระบุว่า 6 เดือนที่ผ่านมา พยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และเสียงวิจารณ์น้อยที่สุด ตนไม่ใช่นักการเมืองอาชีพ มาแบบตกกระไดพลอยโจน แต่เมื่อมาถึงขั้นนี้ก็ทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ปีที่แล้วจะรื้อของเก่ามา ปีนี้ทุกสำนักไม่ต้องเสนอจัดซื้อจัดจ้างของใหม่ แต่จะงัดของเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นใช้

ส่วนปัญหาอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร 2 ย่านดินแดง สูง 37 ชั้น ที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จนั้น ตนให้ดูหลักฐานทั้งหมดว่าติดขัดอย่างไร ได้รับคำตอบว่า ตามสัญญาจะแล้วเสร็จประมาณสิ้นปี 2560 ตนได้กราบทูลสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช ตั้งชื่อเป็นอาคารธานีนพรัตน์ เมื่อวันที่ 6 เม.ย. ได้นำพระเกจิอาจารย์ไปเปิดอาคาร ขณะนี้มีข้าราชการกรุงเทพมหานครกว่า 3 พันคนเข้ามาใช้พื้นที่แล้ว 20 ชั้น ซึ่งต่อไปจะนำหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ย้ายสำนักงานมาอยู่ ซึ่งจะประหยัดงบประมาณค่าเช่าสำนักงานและค่าน้ำ ค่าไฟกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ได้ระงับการก่อสร้างอาคารกลางเพิ่มเติม เพราะมองว่าไม่จำเป็น ส่วนงบประมาณที่ขอไปแล้วให้คืนสภากรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ในวันที่ 1 มิ.ย. กรุงเทพมหานครจะประชาสัมพันธ์ว่า หน่วยงานใดที่จะให้ไปติดต่อที่ กทม. 2 ดินแดง แต่หน่วยงานบางส่วนยังคงอยู่ที่ศาลาว่าการ กทม. หลังเดิม เนื่องจากที่ทำการไม่พอ ซึ่งไม่จำเป็นต้องทุบ สามารถอนุรักษ์ได้ 50 - 60 ปี ซึ่งสภาพห้องยังดีอยู่ อาจจะทำเป็นพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ก็ได้

เมื่อถามว่า ในการทำงานที่ผ่านมามีปัญหาอุปสรรคบ้างหรือไม่ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ที่ผ่านมา ได้มีการปรับย้ายตำแหน่งไปหลายตำแหน่ง ในส่วนที่ยังติดขัดหรือทำไม่ได้ และหาคนที่มีสามารถเข้ามา รวมทั้งกรณีสร้างแฟลต 2 แห่ง ที่เขตอ่อนนุช และ เขตหนองแขม ซึ่งแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2552 ก็ได้จับสลากให้ข้าราชการระดับ 6 ขึ้นไป เข้าไปอยู่อาศัยได้ 2 - 3 พันคน โดยเสียค่าใช้จ่ายส่วนกลางเดือนละ 100 บาท ค่ารักษาหม้อน้ำมิเตอร์เดือนละ 10 บาท ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟฟ้าฟรี เป็นจุดหนึ่งที่พยายามทำให้เสร็จไปแล้ว

และยังมีโรงฆ่าสัตว์ กทม. ที่เขตหนองแขม เนื้อที่ 40 ไร่ ที่ก่อสร้างเสร็จเมื่อ 15 ปีแล้ว งบประมาณ 900 ล้านบาท กำลังจะหาเกษตรกรรายย่อยรวมกลุ่มกัน ซึ่งโรงฆ่าสัตว์แห่งนี้มีขีดความสามารถรองรับสุกร 2,000 ตัว กระบือ 100 ตัว โค 100 ตัว และพื้นที่ฮาลาลสำหรับโค กระบือ อีก 50 ตัวต่อวัน ซึ่งวัตถุประสงค์ดีแต่ไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้ ซึ่งได้เชิญ นายพิสิษฐ์ ลีลาวัชโรภาส ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินมาดูด้วยกัน ซึ่งหลักการและเหตุผลดี เพราะการควบคุมการฆ่าสัตว์ไม่ทรมาน สามารถตรวจสอบคุณภาพเนื้อสัตว์ ดูเรื่องความสะอาดได้ด้วย ขณะนี้เหลือเพียงแค่ซ่อมแซมอุปกรณ์ต่างๆ ที่เสื่อมคุณภาพ คาดว่า ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะเปิดดำเนินการได้

ส่วนปัญหาขยะในกรุงเทพมหานคร พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ขณะนี้ขยะในกรุงเทพมหานครมีประมาณวันละ 10,000 - 10,500 ตัน ปัจจุบันใช้วิธีฝังกลบทั้งหมด บางส่วนใช้การเผาผ่านโรงงานเตาเผาที่เขตหนองแขม วันละ 500 ตัน และยังมีโรงงานขยะหมักวันละ 1,000 ตัน ที่กำจัดโดยไม่ได้ฝังกลบ ซึ่งกำลังศึกษาการสร้างเตาเผาขยะเพิ่มอีก 2 หลัง คาดว่า ใช้เวลา 3 เดือนจะแล้วเสร็จ ซึ่งพิจารณาค่าใช้จ่ายแล้วไม่ต่างจากการฝังกลบ แต่สามารถควบคุมได้ ซึ่งจะเปิดการประมูลให้เอกชนลงทุนสร้างเตาเผาขยะที่อ่อนนุช และ หนองแขม สัญญา 25 ปี ในราคาที่ถูกลงกว่าการฝังกลบ ก่อนที่จะยกให้เป็นของแผ่นดิน

เมื่อถามถึงเบื้องหลังการเข้ามาดำรงตำแหน่ง พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ตนไม่ได้รับอาสาเข้ามาทำงาน รู้ตัวก่อนที่จะมีคำสั่งออกมาเพียง 2 ชั่วโมง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เรียกเข้าพบที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งตนเห็นว่านายกฯ จะให้ตนดูแลเรื่องงานพระราชพิธีพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพราะไม่มีคนทำ แต่ทุกวันนี้ตนได้รับคำสั่งจากนายกรัฐมนตรีทุกวัน ตนก็พยายามทำ เช่น วันแรกๆ ชาวบ้านประท้วงการจัดระเบียบคลองหลอด ซึ่งก็ได้อธิบายว่าไม่เหมาะสม ซึ่งก็ได้จัดระเบียบไปใหม่ ขณะนี้กำลังของบประมาณจากรัฐบาล ปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างๆ แล้วต่อไปจะเป็นถนนคนเดินให้หมด

ส่วนการจัดทำสตรีทฟู้ดนั้น กำลังจะทำให้ 2 จุด เช่น ปากคลองตลาด แต่ก็ได้รับคำตอบจากผู้ค้าว่าไม่เอาแล้ว ที่อยู่แยกไปหลายที่ แล้วหาตัวเลือกให้เขาเยอะ แต่ยังจำเป็นที่จะต้องมีสตรีทฟู้ด ซึ่งกำลังคุยกันว่าจะให้เป็นในรูปแบบไหน ขอให้เป็นธรรมชาติ อย่างเช่น ถนนข้าวสาร จะทำรูปแบบหนึ่ง 6 โมงเย็น ก็ปิดถนนให้เลย และที่ถนนเยาวราช จะปิดการจราจรให้ 1 ช่องจราจร คุยกับตำรวจเรียบร้อยแล้ว ให้ขายตั้งแต่ 6 โมงเย็นถึงเที่ยงคืน วันหนึ่งขายหลายร้าน ซึ่งต่อไปอาจจะไปทำแถวทองหล่อ โดยตั้งเป้าจะทำให้ได้ 5 - 6 จุด นอกจากนี้ ยังแก้ปัญหาเรื่องลิฟต์คนพิการ ซึ่งเกือบจะแล้วเสร็จ และการซ่อมแซมสะพานไทย - เบลเยี่ยม ที่ในวันที่ 15 พ.ค. ก่อนวันเปิดภาคเรียนจะแล้วเสร็จ

เมื่อถามถึงกระแสข่าวเป็นระยะว่าเก้าอี้ผู้ว่าฯ ถูกสั่นตลอด พล.ต.อ.อัศวิน ถามกลับว่า ใครอยากจะเป็นแทน ซึ่งตนไม่ได้ใส่ใจเรื่องนี้ อะไรก็แล้วแต่ ถ้าไม่ชอบมาพากล ไม่ถูกไม่ต้องไปฟ้องเอา คนที่มีอำนาจที่จะไปฟ้องจะด่าคุณด้วย เพราะตนไม่ได้ผิด เราบั้นปลายแล้ว อะไรก็สมบูรณ์แล้ว รับราชการจนเกษียณ เกษียณโดยที่ไม่มีเรื่องไม่มีราว ไม่ต้องติดคุกติดตะราง ไม่ต้องอะไร ก็ดีแล้ว มาทำอย่างนี้ก็แทนคุณแผ่นดิน คือ ส่วนใหญ่เราก็อยากจะให้มันดี เมื่อต้นปีก็ได้พูดนโยบายไปแล้วว่า ของที่ไม่จำเป็น อย่าซื้อ ไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องเสนอมา เขาบอกแล้วการก่อหนี้ไม่มี แล้วเงินที่เหลือ ตนก็บอกว่าไปใช้หนี้เขา ยังเป็นหนี้เขาอีกหมื่นกว่าล้าน ทั้งนี้ งบประมาณ กทม. ปีนี้ 76,000 ล้านบาท แยกเป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ 30,000 ล้านบาท เหลืองบที่จะเอาไปซื้อจัดจ้างได้ 40,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ได้คิดงบที่รัฐบาลหนุนมาอีก 6 - 7 หมื่นล้านบาท ในรูปแบบเงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าครองชีพ ค่าบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล แต่ กทม. ยังมีหนี้สินจำนวนมาก

เมื่อถามถึงนโยบายการนำของเก่ามาใช้ หนึ่งในนั้นคือ กังหันน้ำชัยพัฒนา พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มอบกังหันชัยพัฒนาเอาไว้ กับโครงการแก้มลิง ที่เป็นบึง หนองน้ำ อย่างเช่น บึงหนองบอน บึงสวนรถไฟ ทั้งหมดให้มา 78 ตัว ใช้ได้เหลือ 11 ตัว เสียไป 67 ตัว พอไปดูเห็นว่ามันเสีย จึงขอร้องให้ทางเทคนิค วิทยาลัยที่เกี่ยวกับพวกช่างซ่อม เช่น เทคนิคมีนบุรี เทคนิคดอนเมือง เทคนิคราชสิทธาราม ให้เอานักเรียน นักศึกษา มาช่วย โดยเราซื้ออะไหล่ให้ ไม่ต้องมารับจ้างเรา ให้เด็กฝึกงานไปในตัว ก็มาทำให้เราฟรี แต่เด็กก็ได้ประสบการณ์ เขาก็เรียนเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็กำลังดำเนินการอยู่

ขณะที่ศูนย์เรียนรู้ ตรงสวนรถไฟกำลังจะรวม 3 สวน ทำเลนจักรยานใหม่ 3 สวนให้เป็นสวนเดียว จะได้เดิน ส่วนการปลูกต้นไม้ในเมือง ได้กำหนดให้ซื้อต้นรวงผึ้งมาปลูก ต้นรวงผึ้งจะออกดอกสีเหลือง สวยงามมาก ในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ที่หน้า กทม. ก็ปลูก ทุกสวนจะต้องปลูก เขตหนึ่งต้องปลูกต้นรวงผึ้งไว้อย่างน้อย 10 ต้น ส่วนการแก้ปัญหาน้ำทะเลกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน ได้สั่งระงับการก่อสร้างทีกรอย โดยให้ใช้วิธีปักไม้ไผ่เพื่อทำที่สำหรับดักทราย น้ำพัดทรายเข้ามา ขาออก ออกเฉพาะน้ำ ทรายไม่ให้ไป ขึ้นมาได้ประมาณเกือบ 30 เซนติเมตร คืนดินให้กับระบบนิเวศ ส่วนเกาะกลางถนน ที่จำเป็นต้องตัดต้นไม้ เพราะขึ้นไปโดนเสาไฟ แต่ในโครงการ 3 ปี จะนำสายไฟฟ้าลงดิน 2 สาย สายหนึ่งคือถนนราชดำเนิน โดยได้ให้การไฟฟ้านครหลวง และการประปานครหลวงมาพูดคุย

นอกจากนี้ กทม. กำลังจะได้ที่ดินใหม่ที่โรงงานยาสูบ ซึ่ง ครม. อนุมัติให้ไว้ตั้ง 7-8 ปีที่แล้ว จะเริ่มทยอยส่งให้เดือนสิงหาคมนี้ ทั้งหมด 300 กว่าไร่ จะค่อยๆ ส่งให้ 50 กว่าไร่ก่อน ทีแรกจะให้เงินมา รัฐบาลจะให้ปลูกด้วย แต่ได้ปฏิเสธเพราะไม่มีคน ขอให้ปลูกให้เรียบร้อยพร้อมกับทำแก้มลิง น้ำนั้นผันเข้าไปได้เพื่อจะลงอุโมงค์ จะเอาไปออกเจ้าพระยา ป้องกันเรื่องน้ำท่วมด้วย รวมทั้งยังได้ขอที่ดินของสวนลุมไนท์บาซาร์ 10 เมตรเจาะอุโมงค์ 2 ปี เพื่อสูบน้ำเข้าไป ระหว่างอุโมงค์กำลังก่อสร้าง ซึ่งจะช่วยให้น้ำรอการระบายจาก 3 ชั่วโมงเหลือไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนการแก้ปัญหาการตัดต้นไม้ไม่เหมาะสม ประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ขอให้เขาจัดอบรมรุกขกร เพื่อเป็นอาสาสมัครควบคุมการตัดต้นไม้ประสานงานกับสำนักงานเขต แต่ที่ผ่านมาคนที่ตัดต้นไม้เป็นพวกรับจ้าง เพราะมันขายได้

เมื่อถามว่า จากนี้ไปจะมีโครงการอะไรใหม่ๆ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะทำคือ ของที่มันเก่าเก็บ เก่าทิ้ง หาย เก่าไม่ได้ใช้ จะเอารื้อขึ้นมาใช้ จะได้ประหยัดเงินของ กทม. ไป เงินก็มาจากภาษีของประชาชน จะเอามาทำให้มันเกิดประโยชน์ ไม่ควรจะทิ้งก็เอามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้มันดีขึ้นยืนยันได้ว่า จะทำให้ดีที่สุด ตราบใดที่ยังอยู่ตรงนี้ ไปเมื่อไรก็จบเมื่อนั้น แต่ถ้าอยู่ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วก็พยายามบอกทุกคนว่า ข้าราชการไม่ต้องห่วง ตนไม่ใช่นักการเมือง เป็นข้าราชการเหมือนกัน รู้ชีวิตข้าราชการดี รับราชการตั้งแต่อายุ 19 ปี เห็นใจพวกนี้ แต่สิ่งไหนที่บอกให้ทำ แล้วทำไม่ได้ก็เห็นใจ สงสาร จะขยับไปอยู่ที่ๆ ไม่ต้องทำ จะเอาคนที่อยากทำมาทำแทน ถ้าทำไม่ได้ ไปบังคับจิตใจมันบาป เอาคนที่เขาอยากจะทำ มาทำ

“สิ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องแก้ไข ส่วนใหญ่ เรื่องจราจรไม่ใช่เรื่องของ กทม. แต่ผมเป็นตำรวจเก่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเก่า ผมรู้ปัญหาตำรวจ ผมก็จะคุยกับตำรวจ แล้วก็เอาอำนวยเข้ามาช่วยดูเรื่องการจราจร ปัญหาใหญ่ คนจะบอกว่าเป็นเรื่องของ กทม. จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของ กทม.หรอก แต่เราไม่ปฏิเสธ เรื่องน้ำท่วม ตกทีไร พอฝนตั้งเค้าปั๊บ ชาวบ้านได้กลิ่นน้ำแค่หัวเข่าแล้ว อันนี้ผมจะไม่ให้เกิด” พล.ต.อ.อัศวิน กล่าว

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อัศวิน กล่าวว่า ไฟฟ้าบนสะพานลอย สั่งเปลี่ยนหมดแล้ว ต่อไปสั่งทำ 3 เดือนต่อครั้ง ทาสีเก็บใหม่ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์เดือนละครั้ง พยายามทำให้มันดีขึ้น เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง เรื่องอะไรต่ออะไร จะทำให้มันดีขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องความปลอดภัย พร้อมกำชับผู้อำนวยการเขตทุกเขต ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม อาจจะเป็นตึกร้าง ต้องมาตีอาคารไม่ให้เข้า-ออกได้ ต้องตัดต้นไม้ รกร้างออกให้หมด ส่วนกล้องวงจรปิด ใช้ได้ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ต่อไปที่ปรึกษาจะแบ่งโซนดูแล แต่จะซื้อเพิ่มไม่เอาแล้ว อย่างไรก็ตาม ตนเป็นคนเปิดเผย ใครมาก็พบได้หมด เพราะเรามันง่ายๆ แล้วนอกจากจะไม่ต้องมาที่นี่ ยังเปิดเฟซบุ๊กให้แจ้งด้วย

คำต่อคำ คนเคาะข่าว เปิดใจ 6 เดือน “ผู้ว่าฯ อัศวิน” 27/04/2017

กมลพร- สวัสดีค่ะ ขอต้อนรับคุณผู้ชมเข้าสู่รายการคนเคาะข่าว ในค่ำคืนพิเศษคืนนี้นะคะ เราจะได้มีโอกาสคุยกับพ่อเมืองกรุงเทพมหานคร พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง กับการทำงานเกือบครึ่งปีที่ผ่านมา บริหารจัดการ อะไร ไปถึงไหนบ้าง ที่สำคัญ ข้อข้องใจ ข้อครหาต่างๆ มีเรื่องอะไร เดี๋ยวเราไปคุยกัน พร้อมกับพิธีกรรับเชิญพิเศษ ไปสวัสดีพร้อมๆ กันเลยค่ะ

กมลพร- สวัสดีท่านผู้ว่าฯ ค่ะ

โสภณ- ผมเป็นผู้ไม่ว่า

อัศวิน- นี่ผู้ไม่ว่าฯ นี่คือผู้ถูกว่า (หัวเราะ)

กมลพร- นั่งกลาง ไหว้เกือบไม่ทัน ไม่รู้จะไหว้ใครดี วันนี้เทปพิเศษ คุณโสภณ องค์การณ์ ก็จะมาอยู่ร่วมกับเราด้วย เพราะว่าเดี๋ยว มีหลายคำถามจะถามผู้ว่า กทม. ท่านผู้ว่าฯ ค่ะ ทำงานมา 6 เดือนที่ผ่านมา คำถามหแรกเป็นยังไงบ้างคะ ตอนนี้ยังสบายดีอยู่ไหมคะ

อัศวิน- ก็ 6 เดือนเศษ ที่มาอยู่นี่ ก็พยายาม จากใจข้อเท็จจริง ก็อยากจะทำให้มันดีที่สุด จะให้สังคมมันได้รับรู้ เพราะว่าถามว่า มันมีเสียงบ่นก่นด่าไหม มันก็มี แต่ผมก็พยายามให้มันมีน้อยที่สุด มันค่อยๆ ลดลง จะทำให้ค่อยๆ ลดลงก็ได้ เอ่อ สิ่งที่ทำก็คือ คือผมไม่ใช่นักการเมืองอาชีพซะด้วย มานี่ก็เหมือน เขาเรียกตกกระไดพลอยโจร

กมลพร- ค่ะ

อัศวิน- แต่ในเมื่อเรามาถึงขั้นนี้แล้ว พี่โสครับ เราก็ต้องทำให้มันดีที่สุด

โสภณ- เขามามีแผนอะไรหรือเปล่า

อัศวิน- ไม่มีอะไรติดตัวเลย

โสภณ- เข้ามาได้ทำงานหรือยัง หลังจากได้แก้ปัญหาที่เขาทำไว้ ของใหม่ๆ ได้ทำบ้างหรือยังครับ

อัศวิน- ของใหม่ๆ จริงๆ แล้ว ผมไปรื้อของเก่าขึ้นมา แล้วปีนี้ก็คุยกันแล้วว่า ทุกสำนัก คุณไม่ต้องเสนอซื้อของอะไรมาใหม่เลยนะ เดี๋ยวผมจะงัดของเก่าขึ้นมาปัดฝุ่นใช้ รถยี่ห้อนี้มันยังใช้ได้อยู่ ทำไมคุณต้องไปซื้อยี่ห้อใหม่ คันใหม่ คุณอาจจะเปลี่ยนครัช เปลี่ยนเบรก เปลี่ยนเกียร์ ก็ขับได้ แล้ว อะไรอย่างนี้

กมลพร- ค่ะ หรือย่างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้เป็นประเด็นใหญ่ เริ่มจากสิ่งที่ใหญ่ที่สุด โกรธล้านปีมากที่สุด แล้วเขาก็ว่ากันว่า นานเหลือเกิน ก็คือศาลาว่าการ กทม. 2 หรือว่าอาคาร กทม. 2 เจ้าหน้าที่ กทม. มักจะเรียกว่า อาคาร 100 ปี นะคะ อาคาร 7 ชั่วโคตร คำถามแรกก็คือ คตอนที่เข้าไปแล้วเราจะเอากลับมาใช้ ทำไม ถึงเอากลับมาใช้ได้และย้ายจากตรงนี้ไหม ตรงที่เป็นสัญลักษณ์จาก กทม. ไหม

โสภณ- ชาวบ้านเขารู้ยังว่าที่ไหน

กมลพร- ก็แหม พี่ก็แซวซะแรง

อัศวิน- เดี๋ยวฝากท่านผู้หลักผู้ใหญ่ ฝากพี่โส ไปด้วย ฝากเก๋ ด้วย ฝากด้วยว่า เชิญชวนเลยว่า ต่อไปการติดต่อประสานกับกรุงเทพมหานคร นอกจากที่เสาชิงช้า ส่วนใหญ่คนจะรู้จัก

กมลพร- ใช่

โสภณ- ใช่ ลานคนเมือง

อัศวิน- ที่ ลานคนเมือง ใครๆ ก็รู้จัก มันติดกับเสาชิงช้า ติดกับวัดสุทัศน์ ที่โน่น มัน ที่ดินแดง กทม. 2 เริ่มสร้างตั้งแต่ปี 2534 ปี 2533

กมลพร- 26 ปี โห ทำไมสร้างนาน

โสภณ- 1 ใน 4 ของ ศตวรรษ เอาอย่างนี้ดีกว่า

อัศวิน- ก็ ผมก็พอเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ เดือนแรกเลย อันนี้เป็นเรื่องที่ 3 ที่ทำ เรื่อง 1 เรื่อง 2 ทำแค่ว่าเรียกเอาหลักฐานมาดูว่ามันติดขัดอะไร สัญญาจะเสร็จเมื่อไหร่ ตกแต่งภายในประมาณสิ้นปี 60 จะเสร็จ ไม่ช้าไป ติดขัดอะไร ใครทำไม่ได้ก็ยกเลิกสัญญาไป ไม่เป็นไรก็ไปทำ

กมลพร- ค่า

อัศวิน- ผมก็ได้ไปกราบทูลฯ สมเด็จพระสังฆราช ขอให้ตั้งชื่อเลย ท่านก็ตั้งชื่อให้นะ อาคารธานีนพรัตน์ ท่านตั้งให้นะ ท่านตั้งเมื่อวันที่ 6 เมษายน ซึ่งเป็นวันจักรี สมเด็จพระสังฆราช บอกว่าเป็นวันดีนะ เดี๋ยวอาตมาจะไปเอาพระเกจิทั้งหมด ไปทำบุญ เปิดอาาคารให้ ท่านไปด้วยตัวเองเลยนะ สมเด็จพระสังฆราช ท่านไปทำบุญเปิดอาคาร ขณะนี้ทั้งหมดมัน 37 ชั้น ชั้น 37 มันอยู่ไม่ได้ มันที่จอด ฮ. ทำการ ใช้การได้ก็คือ 36 ชั้น แต่ขณะนี้ 20 ชั้นเศษๆ ใช้การได้ ก็เข้าไปอยู่กัน 3,000 กว่าคน แต่ตรงนี้ก็ย้ายไปไม่ได้ เพราะว่าตรงโน้นที่เราไม่พออยู่แล้ว ปัจจุบันที่นี่ก็คนอยู่ 5,000-6,000 คน ที่ไปเช่าเขาอยู่บ้างอะไรบ้าง ต่อไปผมก็จะไม่ให้เช่า เช่น กรุงเทพธนาคม เช่าเขาอยู่ เดือนค่าน้ำค่าไฟ บวกค่าน้ำค่าไฟ ประมาณล้าน ไปอยู่นั่น ผมยกให้ชั้น คุณช่วยออกค่าน้ำค่าไฟให้ อย่างนี้ คือมันก็เกิดประโยชน์ แล้วมันก็จะมีตึกแฝด จริงๆ มันมี 3 ทาวเวอร์ เขาเรียกเป็นทาวเวอร์ ขอเรียกทันสมัยนะ อันนี้ที่เสร็จแล้ว ทาวเวอร์กลาง ทาวเวอร์ซ้ายกับขวา จะเป็น 30 ชั้น เขาขอตั้งงบไว้แล้ว 8,000 ล้าน ผมบอกหยุด แค่นี้พอ จะเอาใครมาอยู่กันนักหนา ไม่ต้อง ค่าบริหารจัดการ น้ำ ไฟ ความสะอาด ยาม เดือนประมาณ 6 ล้านอยู่แล้ว ไม่ต้องสร้าง เขาบอกเงินขอมาแล้ว ขอมาแล้วก็คืนสภาไป เดี่ยวสภาเขาจัดสรร ไปทำอย่างอื่น เกินความจำเป็น

โสภณ- เลยไม่ให้สร้าง 2 ตึกนี้

อัศวิน- ไม่ให้สร้าง จริงๆ มันจะเริ่มสร้างแล้ว สัญญา จะทำประกวดเพื่อจะหาคู่สัญญา ผมบอกหยุดเลย เลิก

โสภณ- ผู้รับเหมาไม่หยุด ทำไง

อัศวิน- ผมไม่ให้สร้าง ผมคืนเงินแล้ว แต่ว่าเขาจะทำงบ เขาเรียกว่า ทำเชื้อ ตั้งงบไว้แค่ล้านเดียว เพื่อหาข้อผูกพันธ์ เหมือนมีไม่มียังไงก็ต้องให้ ผีไม่มีป่าช้า ยังไงก็ต้องเผา ใช่ไหม

กมลพร- ค่ะ

โสภณ- อย่างนี้ ผู้ว่าฯ ไม่ขาดวิสัยทัศน์ ไม่สร้างตึกอาคาร

กมลพร- เผื่อไว้หรือเปล่า

โสภณ- เดี๋ยวขาประจำเขาก็ขาดความต่อเนื่อง

อัศวิน- อย่างนี้พี่โส คุณเก๋ ตรงนี้มันพออยู่ เพราะว่าข้าราชการ และลูกจ้างใน กทม. มันเกิน 1 แสนคนไม่ได้อยู่แล้ว เพราะว่าเกี่ยวกับเรื่องระบบ กระทรวงต่างๆ มีงบประมาณเท่าไหร่ มันจะใช้ได้แค่ 40 เปอร์เซนต์ เกิดคุณเพิ่มไป 1 แสน 1 หมื่นคน เงินก็เกิน 40 เปอร์เซนต์ มันทำไม่ได้อยู่แล้ว

โสภณ- อย่างนี้เกษียณลูกจ้างเพิ่มไหม ต้องแทนไหมครับ

อัศวิน- แทน ตั้งและรับสมัครแทน ผมว่าข้าราชการเกษียณ ปีนี้เกษียณ 300 คน ค่อยๆ รับจากปริญญาตรีขึ้นมา แล้วค่อยลดลงไปเพื่อไปชดเชยกับบำนาญ

โสภณ- เงินเดือนที่เพิ่มขึ้น ก็เพิ่มเหมือนกัน

อัศวิน- ก็เพิ่ม พอพวกที่เกษียณไปแล้ว คำนวณ เพราะคนที่เกษียณไปเงินเดือน 70,000 รับใหม่ประมาณ 15,000-16,000 รับ 2 คนยังได้ พอพวกที่เกษียณไปกินบำนาญ พูดกันง่ายๆ

โสภณ- พูดกันง่ายๆ ไม่กี่ปีก็ตาย สถิติสูงทุกปีนะ

อัศวิน- พี่โส ใครจะไปอยู่ค้ำฟ้า

กมลพร- นี่ก็ไปคิดแทนผู้ว่า ฯ อีกแล้ว เขาต้องมีพนักงานเยอะ

อัศวิน- ดีๆ

กมลพร- แสดงว่าอาคารนี้ จะเข้าไปใช้แล้วส่วนหนึ่ง

อัศวิน- เข้าไป 3,000 คน

กมลพร- เข้าไป 3,000 คน จะย้ายเพื่อที่จะเข้าไปทำการตรงนั้น เป็นระบบแบบเป็นทางการเต็มแม็ก เมื่อไหร่ อย่างไร แล้วประชาชนจะสามารถติดต่อตรงนั้น ได้อย่างไรบ้าง

อัศวิน- วันที่ 1 มิถุนายน เดี๋ยวเราจะประชาสัมพันธ์ที่ว่า หน่วยไหนไปติดต่อตรงนั้น หน่วยไหนติดต่อที่นี่ แต่ที่นี่ก็ยังคงไว้

กมลพร- ไม่ไป ใช่ไหมคะ

อัศวิน- ไม่ไป เพราะว่า ที่ทำการมันไม่พอ

กมลพร- เพราะพี่โสภณ กังวลว่าต้องเอาเสาชิงช้าไปด้วย ถามอยู่หลายรอบละ

อัศวิน- ไม่เป็นไร เดี๋ยวผมหาเสาใหม่ไปตั้ง

กมลพร- แปลว่าผู้ว่าฯ จะยังอยู่ตรงนี้ คือทำงาน 2 ที่ แต่เขาแซวกันว่า ถ้าเข้าไปสักพักต้องทุบหรือเปล่าคะ ตึกนี้ ตกลงเรียบร้อยดีหรือยัง

อัศวิน- ผมว่านี่ ไม่จำเป็นต้องทุบเลย อาคารนี้อนุรักษ์ ไว้ 50-60 ปี ยังไม่เป็นไร พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้านก็อาจจะเป็นพิพิธภัณฑ์หรือศูนย์เรียนรู้ หรืออนุรักษ์ไว้เลยก็ได้ แต่ว่ามันยังดี เห็นไหมห้อง ดีๆ ทั้งนั้นแหละ

กมลพร- รีโนเวท ไงคะ ก่อนเข้ามานิดหนึ่ง

โสภณ- ไม่ใช่ ในต่างประเทศเขายังมีซิตี้ฮอลล์ ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่สุด ในเมืองอันดับแรก เพราะว่าใครจะเข้าเมือง ก็ต้องเข้ามาเอากุญแจที่ผู้ว่าฯ ก่อน ใช่ไหม เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีเท่าไหร่ มอบกุญแจเมืองให้ ท่านผู้ว่าฯ ยังได้ไปหาบ้านพี่เมืองน้อง เหมือนท่านก่อนๆที่ต้องไปหาเมือง

กมลพร- ใช่ กำลังจะถามเลยตั้งแต่เข้ามา

อัศวิน- ผมไปครั้งหนึ่ง ผมไปประเทศจีน ไป 4-5 เมือง ไปเมืองชิงเต่า ไปเนี่ย พี่โสผมคนหน้าด้าน ไปถึงขอเขาอย่างเดียว ไปขอเงินปลูกป่าในใจคน เขาก็ตกลงให้ 30 ล้าน กำลังทำเรื่องเอกสาร แล้วก็ไปที่เมืองขงจื้อ เมืองขงจื้อ ก็ไปคุยไปขอเขา เขาจะให้พวกตำราประวัติเมืองขงจื้อ แล้วจะให้มันทำห้องๆ หนึ่ง ให้เงินมา 20 ล้าน ก็ขอเขาไปเรื่อยๆ ได้ฟรี

โสภณ- ถ้าเขาให้มณฑล ขอสักมณฑล

อัศวิน- ผมไปกลับปักกิ่ง ตรงนี้เราเมืองพี่เมืองน้องขนาดนี้ ผมไปครั้งเดียว ไปเยี่ยมพวกที่เขาเป็นเมืองพี่เมืองน้อง กทม. ไป 3 เมือง

โสภณ- ตั้งแต่ที่เข้ามาเจอตอที่หนักๆ ที่พยายามจัดการและยังไม่สำเร็จบ้างไหม

อัศวิน- ไม่มี ผมเป็นคนลักษณะแบบพี่โส ผมเป็นคนขวานผ่าซาก ทำได้ไหม คุณทำไม่ได้ เดี๋ยวผมเอาคนอื่นมาทำแทน ตรงนี้ทำไม่ได้ จบเลย หยุดผมสงสารคุณ คุณขยับไปเดี๋ยวผมเอาคนใหม่มาทำ คุณทำไมได้ เราจะไปบังคับเขาทำไม เราก็หาคนที่ทำได้มา เขาจะได้สบายใจ คือสิ่งต่างๆ ผมเรียนพี่โสกับคุณเก๋ นะว่า อย่างกรณีผมไม่ได้ว่าใคร แต่มันเป็นทรัพย์สินซึ่งทำมาจากภาษี ผมก็เป็นคนเจ้าของด้วย ภาษีก็ภาษีผมด้วยนะ ไม่ใช่ภาษีคุณเก๋ พี่โส ภาษีผมด้วยนะ ถ้าข้างที่พักอาศัย เราเรียกกันว่าแฟลตละกัน 2 แห่ง อ่อนนุช 5 แท่ง 70 ห้อง หนองแขม 5 แท่ง 70 ห้อง

กมลพร- 350

อัศวิน- ทั้งหมด 10 แท่ง 700 ห้อง ไม่ได้สร้างเสร็จเรียบร้อยตั้งแต่ปี 2552 ผมก็เลยไปสำรวจ ทำไมไม่อยู่ ไม่อะไร

กมลพร- เขาเอาไปทำไมคะ

อัศวิน- ผมก็ไม่ถามว่าทำไม เรื่องอดีตไม่พูดถึงมัน เอาปัจจุบัน อนาคต ผมก็เลย เมื่อวันที่ 27 ผมก็เลยจัดการเรียบร้อย จับสลากเข้าไปอยู่อาศัย ก็ได้ 2,000-3,000 คน

กมลพร- จริงๆ สร้างมาเพื่อรองรับ

อัศวิน- ข้าราชการกับลูกจ้าง คนเก็บขยะ คือมันมีเกณฑ์ว่า ต่ำกว่าซี 6 ลงมา ก็ใหญ่นะ กว้าง 4 เมตร ยาว 10 เมตร 40 ตารางเมตร ใหญ่นะ

โสภณ- เล็กกว่าห้องผู้ว่า ฯ หน่อยเดียว

อัศวิน- เกือบๆ เท่าห้องนี้

กมลพร- ก็อยู่ได้นะ 1 ครอบครัว

อัศวิน- โอ้ย สบายเลย ผมก็เลยไปจัดการให้จับสลาก วันที่ 27 ธันวาคม ผมไปทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ให้เลย เอากุญแจมอบให้เลยคุณอยู่นี่ วันที่ 27 ธันวาคม จัดอาหารไปเลี้ยงอย่างดี ข้าวหม้อ แกงหม้อไปเลี้ยงเขาเลย ผมมาทำบุญขึ้นบ้านใหม่ให้คุณ แล้ววันที่ 28 ธันวาคม ก็ไปทำที่หนองแขม ก็เสร็จไป 700 ห้อง คนอยู่ตั้งเกือบ 3,000 คน

โสภณ- เขาจ่ายเงินยังไง มีค่าใช้จ่ายยังไง

อัศวิน- ก็เสียค่าส่วนกลาง ค่าบริหารจัดการเดือนละ 100 ค่ารักษาหม้อน้ำ มิเตอร์ เดือนละ 10 บาท ก็เพราะมันเสียได้ หม้อน้ำ มิเตอร์น้ำ คือสรุปแล้ว เดือนหนึ่งคุณต้องเสีย 110 บาท ส่วนค่าน้ำ ค่าไฟ อยู่ฟรีครับ

โสภณ- ฟรีให้

อัศวิน- ฟรีให้หมดเลย

กมลพร- บางทีพนักงานเก็บขยะเขาเงินเดือนน้อย ครอบครัวนี้ก็ช่วยเขาได้เยอะนะ

โสภณ- ให้เช่ายังไง ก็ไม่มีการประกาศ

กมลพร- ทำงานอยู่กรุงเทพฯ

อัศวิน- ตรงนี้ก็เป็นจุดหนึ่ง เสณ้จไปแล้ว ก็ยังมีเรื่องโรงฆ่าสัตว์ ที่หนองแขม ที่ 40 ไร่ สร้างเสร็จตั้งแต่ปี 2544 เอ๊ะ ไม่ใช่ ใช่ๆ 15 ปีมาแล้ว 900 กว่าล้านตอนนั้น ตอนนี้ 1,000 กว่าล้าน ยังใหม่เอี่ยมอ่อง ก็เลยกำลังจะทำหาเกษตรรายย่อย มารวมกลุ่มกันเป็นกรุ๊ปให้เกรดไปเลย กรุ๊ปนี้ทำ 200 ตัว ศักยภาพมันจะทำได้หมูวันละ 2,000 ตัว ควาย 100 ตัว วัว 100 ตัว ก็มีที่ฮาลาล วัว ควาย ต่างหาก 50 ตัวต่อวัน แล้วเราจะได้ควบคุม วัตถุประสงค์ดี แต่มันไม่ได้ทำ ไม่ได้ใช้

กมลพร- ทิ้งร้างไว้ 10 กว่าปี

อัศวิน- ผมสำรวจแล้ว วันนั้นเชิญผู้ว่ฯ กทม. ไปด้วย

กมลพร- ค่ะ

อัศวิน- เขาก็ทำหนังสือมาถามว่า ทำไม ไม่ใช้ ไม่เป็นไร ผมก็ไม่ตอบหนังสือ ก็ไปดูด้วยกันเลย พี่มาดู มาช่วยผมคิด

กมลพร- ถามแบบคนไม่รู้ ความจำเป็นของโรงฆ่าสัตว์ ที่มันอยู่ในพื้นที่ มันดีหรือไม่ดีอย่างไร แล้วทำไมมันต้องมี ทำไมเราต้องใช้งบประมาณไปกับมันด้วยคะ

อัศวิน- คือถ้าถามว่าหลักการและเหตุผลดีไหม ดีเพราะว่า 1.การควบคุมการฆ่าสัตว์ ไม่ทรมาน สมัยก่อนใช้มีดแทงคอหมู วัวควายใช้ฆ้อนทุบอะไรอย่างนี้ มันเป็นการทารุณกรรมสัตว์ แต่สมัยใหม่วิธีการควบคุมมันใช้วางยาสลบไปหยุดการเต้นของหัวใจอะไรต่ออะไรก็แล้วแต่ทางการแพทย์ เพื่อจะได้ไม่ทรมาน
2.เรื่องคุณภาพ สารปนเปื้อนมีไหมต้องตรวจก่อน แล้วเราจะมีใบรับรองให้ว่าของคุณผ่านแล้ว แม้กระทั่งตามตลาดผมกำลังออกคำสั่งสำนักอนามัยไปตรวจดูเลย แผงหมู แผงเนื้อ แผงไก่ ถ้าคุณได้คุณภาพเราจะได้เอาใบติดให้ ถ้าไม่ได้คุณภาพคุณห้ามขาย ไม่มีใบ เราจะประชาสัมพันธ์ว่าคุณอย่าไปซื้อนะ มึงอย่าไปซื้อนะไอ้นี่มันไม่ได้คุณภาพ ปนเปื้อนที่ไก่เหน็บยาที่ปีกเยอะ เนื้อหมูแดงใช้สารเร่ง แช่แข็งอะไรอย่างนี้

กมลพร- เราก็ปลอดภัยขึ้น ในฐานะผู้บริโภคที่ไปซื้อ

อัศวิน- แล้วก็เราจะดูเรื่องความสะอาดได้ด้วย พี่น้องชาวกรุงเทพมหานคร หรือใครก็แล้วแต่ที่ไปซื้อมาบริโภค จะได้บริโภคด้วยความสบายใจว่า ไม่มีอันตรายใดๆ การควบคุมตรงนี้ผมว่ามันเป็นหลักการและเหตุผลที่ดี แต่ว่ามันไม่ได้ทำง่ายๆ คงไม่เกินอีก 3 เดือน เปิดทำการได้

กมลพร- แล้วบริหารจัดการยังไง กรุงเทพฯ จะเป็นคนเชือดเอง หรือว่ายังไงคะ

อัศวิน- คือให้ผู้ประกอบการปกติ ผู้ประกอบการ สมมุติว่าผมทำหมูวันละ 30 ตัว ผมก็ให้ลูกน้องทำกันเอง แล่เนื้อ เชือดหนังกระดูกอะไรต่ออะไรเอง เขาก็มาของเขาเอง แต่เราจะมีมาตรการกรุงเทพทหานครเกี่ยวกับเรื่องสำนักฝ่ายสิ่งแวดล้อม ซึ่งดูแลความสะอาดสำนักอนามัยจะมีเข้าไปดูทุกวัน กลางคืนคุณจะทำตั้งแต่ 1 ทุ่มถึงเที่ยงคืน เราจะตรวจคุณภาพการทำความสะอาดพอไหม ตรวจตัวหมูตัวอะไรที่จะนั่นก่อนว่า คุณใช้สารเร่งเนื้อแดงหรือเปล่า

กมลพร- เราก็รู้สึกมั่นใจขึ้น ถ้าเราเป็นผู้บริโภคแล้วออกจากโรงฆ่าสัตว์ของ กทม. แล้วคนเอามาใช้ต้องเสียเงินไหมคะ ถ้าเก๋มีหมูซัก 5 ตัว อยากจะมาใช้ของ กทม.

อัศวิน- คือต้องไปรวมกลุ่มก่อน เพราะว่าเราคงจะแยกให้กลุ่มหนึ่งอย่างน้อยซัก 100-200 ตัว ถ้าคนละ 5 ตัว 10 ตัว ตอนนี้ไม่มีที่พอให้ แยกเป็นกลุ่มนู้นกลุ่มนี้เดี๋ยวทะเลาะกัน

กมลพร- แยกเป็นกลุ่มของเกษตรรายย่อย

อัศวิน- แบบเกษตรกรรายย่อยแล้วมารวมกลุ่มกัน มาจัดกรุ๊ปปิ้ง กลุ่มคุณ 3 คน มี 5 ตัวนะ 100 ตัวอะไรอย่างนี้ 150 ตัว และจริงๆ แล้วมันก็ต้องคิดค่าดำเนินการค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟอะไรอย่างนี้ แต่ขณะนี้มันไม่ได้ใช้นานแล้ว เครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ก็มีเสื่อมคุณภาพ ต้องเปลี่ยนบ้าง เราคงจะต้องทำสัญญากันว่า ตรงนี้เราจะเก็บค่าเช่าคุณเท่านี้ ต่อปีต่อเดือน แต่ว่าขณะนี้ยังไม่เก็บหรอก คุณมาทำตรงนี้ใส่ให้เต็ม เติมให้เต็ม

กมลพร- ซ่อมโซ่อะไรซะ เราให้คุณใช้ฟรี

อัศวิน- คิดราคากันไป สมมุติคุณเสียค่าเช่าปีหนึ่ง 3 หมื่น ถ้าคุณซื้อไอ้นี่ไป 3 หมื่น คุณจะทำได้ฟรีปี แต่น้ำไฟคุณต้องเสียเอง

กมลพร- ดีเนอะสำหรับพวกรายย่อยอย่างเรา

โสภณ- จะไปฆ่าเองหรอค้าหมู

กมลพร- ไม่ๆ จะไปซื้อไง จะได้รู้สึกปลอดภัย จะได้ไม่ต้องไปซื้อพวกที่เขาทำใหญ่ๆ อย่างนี้ เราก็ไม่แน่ใจ

โสภณ- ทุกวันนี้ใช้ชาวบ้านที่ไหน หรือว่าในตลาดอาหารทะเลแช่สารฟอร์มาลีนมาไหม

อัศวิน- แช่

โสภณ- นั่นแหละจะทำอย่างไรให้คนไทย เกษตรกรก็ได้ทั่วประเทศมีชีวิตดีขึ้น ไม่ต้องเสี่ยงกับสภาพตรงนี้ คือเราสุ่มตรวจ

อัศวิน- กทม.กำลังเริ่มแล้ว ผมเนี้ยะ.. คือตามสำนักงานเขต นอกจากมีอนามัยแล้ว มันยังมีฝ่ายรักษาความสะอาดของแต่ละเขต เราจะให้เข้าไปดู อย่างเช่นสมมุติตลาดวโรรส สมมุติๆ เราก็เข้าไปดูว่าไอ้นี่ขายหมูเป็นยังไง ขายไก่เป็นยังไง เนื้อเป็นยังไง ควายเป็นยังไง ลาเป็นยังไง ของทะเลเป็นยังไง กว่าจะเอาไปจากนี่ไปถึงเชียงใหม่ วโรรส มันแช่สารฟอร์มาลีนมาไหม อันตรายมากนะพวกนี้ เราต้องตรวจคุณภาพ และเราจะมีใบรับรองร้านนี้ผ่าน ถ้าร้านไหนไม่ผ่านการตรวจ เดี๋ยวจะประชาสัมพันธ์ว่า ถ้าไม่มีใบรับรองของ กทม. แสดงว่าร้านคุณไม่ได้มาตรฐาน คุณจะเสี่ยงซื้อก็เรื่องของคุณ

โสภณ- ผักสดด้วยนะ ผมสดทั้งหลายแหล่สุ่มตรวจดู

กมลพร- อันนี้ดีๆ อันนี้เก๋ชอบ อีกอันหนึ่งที่ผู้ว่าฯ ลงไปจัดการ คือเรื่องของการจัดการบริหารพวกโรงกำจัดขยะ และสามารถผลิตไฟฟ้า อันนี้ข้อเท็จจริงเป็นยังไงบ้างคะ

อัศวิน- คือขณะนี้ขยะในกรุงเทพมหานครมีประมาณวันละ 10,000-10,500 ตัน ไม่ถึง 11,000 ปัจจุบันใช้วิธีฝังกลบทั้งหมด เว้นอยู่นิดหน่อยอย่างเช่น โรงงานเตาเผาเพิ่งมีอยู่ 1 โรง ที่หนองแขมวันละ 500 ตัน และยังมีโรงงานขยะหมักวันละ 1,000 ตัน ที่กำจัดโดยไม่ได้ฝังกลบ สมมุติว่าผมอยู่สระบุรี อยู่ดีๆ จะเอามาเสาไห้ไปทำบ่อขยะให้ผม ไร่นาสาโทของผมมีค่าหมด ชาวบ้านชักเริ่ม... ข้างๆ น้ำซึมไป 5 กิโลฯ ทำนาทำไร่อะไรไม่ได้เลย

โสภณ- ขยะทิ้งก็มีมันก็เยอะ

อัศวิน- ครับ เราเลยพยายามจะทำด้วยเตาเผา 2 อัน กำลังเริ่มให้เขาศึกษาอยู่ ให้ค่าจ้างให้ทางมหา'ลัยศึกษาอยู่ คาดเขาคงใช้เวลาประมาณซัก 3 เดือน นี่ก็ผ่านไปเดือนหนึ่ง ศึกษาว่าความเหมาะสมความเป็นไปได้ ซึ่งผมดูแล้วราคามันก็น่าจะพอๆ กันกับไปฝังกลบ แล้วเราสามารถควบคุมกันได้ และทำประชาพิจารณ์ผ่านไปแล้ว แต่คราวนี้มันจะมีคนร้องเรียนว่า มันจะแพงกว่าฝังกลบไหม จริงๆ แล้วที่มันทำเปิดไปแล้วแพงกว่า ฝังกลบประมาณ 700 กว่าบาท แต่ว่าที่หนองแขม 970 แพงกว่ากันประมาณ 200 เศษ 250 บาท แต่ผมตั้งกติกาไว้แล้วว่า อันใหม่ที่จะทำที่อ่อนนุชกับที่หนองแขม ใครก็ได้เดี๋ยวจะเปิดโอเพ่นให้คนประมูล แต่คุณต้องมาลงทุนเองทั้งหมด เราจะจ้างคุณในราคาที่ไม่เกินเอาไปฝังกลบ จะถูกลงอย่างน้อย 200 บาท ทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ก็อย่าทำ แล้ว 25 ปี คุณต้องยกให้เป็นของหลวง

โสภณ- ท่านนายกฯ มีอะไรที่สั่งว่า ไปดูเรื่องนี้หน่อยได้ไหมโดนด่าเยอะเลย

อัศวิน- ไม่อยากจะบอกนี่โดนทุกวัน ผมก็พยายาม

โสภณ- เป็นผู้รับอาสามาทำงานใช่ไหม

อัศวิน- ไม่ได้รับอาสาเลย จริงๆ รู้ตัวก่อน 2 ชั่วโมงเอง โทรมาเรียกเลยพบที่ทำเนียบ บอก 9 โมง โทรมาบอก 11 โมงเจอกันที่ทำเนียบ ก็ไปเจอทีมเสือใหญ่นั่ง

โสภณ- แล้วไปรับปากเขาทำไม

อัศวิน- รับตอนนั้นมันปวดหัว แล้วก็มีงานพระบรมศพของ พระเจ้าอยู่หัว สวรรรคต แล้วใครจะทำล่ะ

โสภณ- งั้นแสดงว่านายกฯ คาดหวังไว้สูงใช่ไหมล่ะ

อัศวิน- ผมว่าเขาคงจะให้ดูเรื่องงานพิธีศพ ไม่มีคนทำ

โสภณ- แต่งานชาวบ้าน นายกฯ บอกชาวบ้านหรืออะไรบ้างหาบเร่

อัศวิน- หาบเร่อันเก่าเราก็ขอร้องว่า คุณกลับไป ใหม่ๆ ก็ตั้งแต่ผมมาครั้งแรกเลย ที่คลองหลอดก่อนเลย 2 วันมาประท้วงน่าดูเลย ผมบอกเฮ้ยโทษนะ คุณขี้เยี่ยวลงคลอง ทำส้วมหันก้นลงคลอง เดี๋ยวนี้หมดแล้วไม่มี คลองตำนาน เขาบอกอยู่มาเป็นตำนาน ลูกผมเรียนสวนกุหลาบ 3 คน บอกพ่อตรงนี้มันมีคลองด้วยหรอ เขาออกมาจากโรงเรียนมาก็มาซื้อของเล่นไงเด็กๆ

กมลพร- ไม่เคยเห็น

อัศวิน- เขาตกใจ นี่ไปดูใหม่เดี๋ยวนี้

กมลพร- สวยๆ เคยไป

อัศวิน- นี่ผมของบรัฐบาลและจะปรับปรุงภูมิทัศน์ข้างๆ แล้วต่อไปจะเป็นถนนคนเดิน รถราไม่ให้เข้าหมด 750 เมตร คลองๆ อยู่แค่นี้กว้าง 28 เมตร ฝั่งคลอง 2 ฝั่งๆ ละ 30 เมตร ทำให้เป็นถนนคนเดินให้หมดเลย

โสภณ- ที่จริงมีเยอะนะ ที่จะทำเป็นถนนคนเดิน กรุงเทพมหานครมีเยอะหลายจุด ทำให้เขาทำมาค้าขายได้

อัศวิน- สตรีทฟู้ดกำลังจะทำให้ 2 จุด อย่างปากคลองตลาด ใหม่ๆ ก็ขอร้องผมค่อยๆ คุย ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน เดี๋ยวนี้บอกให้กลับมาขาย เขาไม่เอาแล้ว เขาไปอยู่ดีแล้ว

โสภณ- ที่อยู่ใหม่แล้วใช่ไหมครับ

อัศวิน- ที่อยู่แยกไปหลายที่ แล้วหาตัวเลือกให้เขาเยอะ อย่างประตูน้ำคุณได้ที่อาจจะพอใจ ไม่พอใจก็แล้วแต่ แต่ว่ามันเกะกะเยอะ ขายของผมเข้าใจว่า คุณดึงดูดนักท่องเที่ยว แต่ว่าคุณเข้าไปดึงดูดในซอยได้ไหม ในซอยเขาก็มี เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว อย่างหน้าสยาม ถนนพระราม 1

โสภณ- อันนั้นเกะกะจริง

อัศวิน- ที่คนต้องลงมาเดิน รถจะชนตาย ไม่มีแล้ว แต่ว่าผมจำเป็นจะต้องเรื่องสตรีทฟู้ด นี่กำลังคุยกันว่าจะให้มันเป็นในรูปแบบไหน ขอให้เป็นธรรมชาติ อย่างเช่น ข้าวสารมันเป็นฝรั่งเยอะ จะทำรูปแบบหนึ่ง 6 โมงเย็นก็ปิดให้คุณเลย

โสภณ- สิงคโปร์มันมีฮอกเกอร์เซ็นเตอร์อยู่ครับ ว่ามันมีอาหารการกิน ก็ขับไปเป็นแหล่งเลย เหมือนตลาดนัด เหมือนตลาดโต้รุ่งของเขา คนไปกินไปขายอะไรก็แล้วแต่ ของเรา กทม.เหมือนกับเจเจ เจเจเต็มแล้วหรอ

อัศวิน- เต็มหมด คือเยาวราชผมกำลังจะทำฟู้ดสตรีท

โสภณ- 2 ทุ่มเร็วเกินไปเปล่าถ้าเขาจะปิด

อัศวิน- ผมจะปิดถนนให้เขา 1 เลน คุยกับตำรวจเรียบร้อยแล้ว ให้ขายถึงเที่ยงคืน ขายตั้งแต่ 6 โมงเย็น วันหนึ่งขายหลายร้าน

โสภณ- ขายซักแผงได้ไหม

อัศวิน- ที่เต็มหมดแล้ว คนจีนมากินแปะก๊วย มากินเกาลัด หูฉลาม

โสภณ- กุ้งเผา

อัศวิน- ทุเรียนมันกินคนละลูกๆ เลยนะ ตรงนี้เราจะทำฟู้ดสตรีท 2 แห่ง จะทำเริ่มต้น ต่อไปอาจจะไปทำแถวทองหล่อ หรืออะไรกำลังหาที่อยู่ ถ้ามันมีแค่ 2 จุดมันอาจจะน้อย เราอาจจะทำซัก 5-6 จุด

โสภณ- ลานคนเมืองทำได้ไหม

อัศวิน- มันไม่พอ มันไม่มีที่จอดรถ

โสภณ- ให้คนมาเดินๆ

กมลพร- แต่เวลาคนมาเอารถมาสิ

อัศวิน- แล้วจะจอดที่ไหน

โสภณ- จอดของ กทม.นั่นแหละ นั่งแท็กซี่มา นั่งรถเมล์มา

เอ๋- จะกินนมมนต์ยังยากเลยค่ะ จอดรถ

โสภณ- นี่ได้ไหมคลองเปรมได้ไหม คลองเปรมเก่าได้ไหม มาบริหารบางส่วน

อัศวิน- มันเล็ก

กมลพร- แต่ว่านอกจากเรื่องของการจัดการเรื่องของอาหาร สถานที่ และอีกอันที่เก๋ชอบมากเลยนะ คือเรื่องของลิฟท์คนพิการ หรือว่าแม้กระทั่งเลนที่คนพิการจะรู้ว่า โหมันไม่ชัด ใช้ไม่ได้มาตั้งนาน

อัศวิน- เขาไปแจ้งความนานแล้วแหละ ตั้งแต่สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส 19 สถานี ไม่มีลิฟท์ คุณอะไรอะ เขาไปแจ้งความร้องสำนักนายกฯ เลย ที่เป็นนักข่าวเก่า

กมลพร- กฤษณะ

อัศวิน- กฤษณะ ผมก็ไปเรียกเขามา เรียกบริษัทว่า ทำไมคุณยังไม่เสร็จติดขัดนู้นนี่ แล้วคุณไปรับประมูลทำไม ทำไม่ได้ คุณจะไปรับทำไม ผมว่าผมเอาเจ๊งเลยนะบริษัทคุณ ผมจะประกาศชื่อบริษัทนี้ๆ รับประมูลไป ไม่มีความน่าเชื่อถือเลย หุ้นคุณก็จะตก บริษัทคุณต้องเจ๊ง เพราะผมจะประจาน ผมให้เวลาคุณเดือนหนึ่ง ทำให้ผม 3 สถานี 7 ตัว เขาบอกทำไม่ได้ ถ้าทำไม่ได้พรุ่งนี้ผมประกาศ บริษัทนี้ๆ ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ บริษัทใหญ่ๆ อย่าไปเชื่อว่าใหญ่นะ ใหญ่ฟักแฟง

โสภณ- เขากลัวไหม

อัศวิน- กลัวทำเสร็จ พวกนี้เกลียดผม ผมไม่ว่าอะไรหรอก ก็เกลียดไป เพราะว่าคุณต่อมา 2 ครั้งแล้ว ผมเลยกำหนด 2 ครั้งแล้ว แต่อันนี้เกือบจะเสร็จแล้ว

โสภณ- ถ้าอย่างนั้นในรูปแบบที่ท่านบริหาร มันมีการประมูลงาน คุณสามารถทำงานให้เร็วที่สุดเมื่อไร ถูกที่สุดได้เท่าไร ไม่ใช่ว่าข้ามปีข้ามชาติ เมื่อวานกลับไปที่แยกวิทยุ มีคนนั้นโยนก้นบุหรี่ใส่ บุหรี่ก้อนเดียวทำให้คนลำบากไม่รู้กี่แสนคน ทุกๆ วัน 15 พฤษภาคมถึงจะซ่อมเสร็จ สะพานไทย-เบลเยียม

อัศวิน- เดี๋ยวก่อนเปิดเทอมเสร็จ

กมลพร- ผู้ว่าฯ ท่านไปเร่งเองนะ


โสภณ- การประมูลซ่อม หรือการประมูลอะไรทุกอย่าง ... เสร็จภายในกี่วัน ค่าใช้จ่ายเท่าไร ให้แข่งกันมา ทั้งระยะเวลา ทั้งราคาด้วย

อัศวิน- จริงๆ การประมูล การทำ TOR ทำอี-ออกชัน ก็ทำอย่างนั้นหมด แต่เขาไม่มีการเขียนค่าปรับไว้ สมมุติผมบอกว่า คุณเก๋ ประมูลทำเก้าอี้ให้ผม ซ่อมเก้าอี้ให้ผม ราคา 100 บาท ให้เสร็จภายใน 1 เดือน พอ 1 เดือนไม่เสร็จ คุณเก๋ก็มาขอต่อไปอีก 1 เดือน ต่อไปๆ ต่อไป 3-4 ครั้ง มันเป็นอย่างนี้ ก็คุณไม่เขียนไว้นี่ ถ้าคุณไม่เสร็จผมจะยกเลิกสัญญาและปรับคุณ ยกเลิกสัญญามันไม่กลัวครับ เพราะอะไรรู้ไหม มันเบิกเงินล่วงหน้าไปเกินกว่าที่เขาทำ

โสภณ- อย่างนี้ก็ต้องเริ่มต้นใหม่

อัศวิน- ไม่เลย คุณต้องทำมาก่อน คุณทำได้ 20 เปอร์เซ็นต์ คุณมาเบิก สมมุติว่าประมูลไป 100 บาท แบ่งเป็น 10 งวด พอคุณทำได้ 20 เปอร์เซ็นต์ คุณมาเบิกงวดที่ 1 ไป 10 บาท ผมไม่ให้คุณเบิก 20 ถ้าคุณทิ้งงานผม ผมไปจ้างคนอื่นทำได้ มันไม่อย่างนั้นสิ คุณเอาไปก่อนเลย 30 เปอร์เซ็นต์ ทิ้งก็ทิ้งไป เขาก็ โอ๊ย ทำไม่ไหว เวลาฟันราคากัน มันก็เอาไปทำปู้ยี่ปู้ยำอะไรก็ว่าไป ทิ้งก็ทิ้งไป ไม่ได้มีการฟ้อง ต่อไปผมก็จะทำให้รัดกุมหมด และผมจะทำเรื่องประจาน บริษัทพวกนี้กลัวประจาน

โสภณ- มาสิ จะช่วยประจานให้ด้วย

อัศวิน- เดี๋ยวผมจะบอก ผมจะให้คุณโสภณ องค์การณ์ ฟันคุณให้เละเลย

กมลพร- ประจานไปเลย แต่ว่าเพราะแบบนี้หรือเปล่า ผู้ว่าฯ ค่อนข้างจะเป็นคน คือเป็นขวานในตัวเอง คือถ้าเจอตอก็ฟัน ทำอะไรไม่ถูกใจ เดี๋ยวเอากฎหมาย ประจานก่อน เลยมีกระแสข่าวเป็นระยะๆ ว่าเก้าอี้ผู้ว่าฯ ถูกสั่นตลอดเลยนะ โดยเฉพาะช่วงนี้

โสภณ- จริงเหรอ ใครอยากจะเป็นแทนล่ะ

กมลพร- เอาน่า ได้ยินมา

โสภณ- งบเยอะ

กมลพร- งบเยอะ กลุ่มผลประโยชน์เยอะ

โสภณ- ผู้ว่าฯ ดีใจ จะได้พักผ่อน

อัศวิน- ไม่มีๆ เราไม่ได้ใส่ใจอยู่แล้ว

โสภณ- นายกฯ สั่งมา ใครจะมากล้า

อัศวิน- ไม่ได้ใส่ใจอยู่แล้วเรื่องนี้ เพราะผมก็บอกว่า อะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณไม่ชอบมาพากล ไม่ถูกไม่ต้อง คุณก็ไปฟ้องเอาเถอะ คนที่มีอำนาจที่คุณจะไปฟ้องจะด่าคุณด้วย เพราะผมไม่ได้ผิด คือพี่ เราบั้นปลายแล้ว อะไรก็สมบูรณ์แล้ว รับราชการจนเกษียณ เกษียณโดยที่ไม่มีเรื่องไม่มีราว ไม่ต้องติดคุกติดตะราง ไม่ต้องอะไร ก็ดีแล้ว มาทำอย่างนี้ก็แทนคุณแผ่นดิน

โสภณ- ถ้าฝีมือควบคุม กทม.ได้ดี เป็นนายกฯ ได้นะ

อัศวิน- ไม่ๆๆ พี่ อย่าเลย

โสภณ- กทม.นี่ยากกว่าเป็นนายกฯ นะ รับงานหนักๆ ทั้งนั้นเลย นายกฯ ไม่ต้องทำงานสัก 10 วัน ยังโอเคอยู่นะ กทม.หยุดสัก 3 วันสิ

อัศวิน- คือส่วนใหญ่เราก็อยากจะให้มันดี ผมนี่เมื่อต้นปีก็ได้พูดนโยบายไปแล้วว่า ของที่ไม่จำเป็น คุณอย่าซื้อ คุณไม่ต้องไปซื้อ ไม่ต้องเสนอมา เขาบอกแล้วการก่อหนี้ไม่มี แล้วเงินที่เหลือ ผมก็บอก เหลือ คุณก็ไปใช้หนี้เขาสิ คุณยังเป็นหนี้เขาอีกหมื่นกว่าล้าน

โสภณ- กทม.มีงบเท่าไร

อัศวิน- งบของเราเองปีนี้น่าจะ 76,000 แต่เป็นเงินเดือน บำเหน็จ บำนาญ ค่าอะไร 30,000 เลยนะ มันจะเหลืองบที่จะเอาไปซื้อโน่นซื้อนี่ได้ประมาณ 40,000 แต่ยังไม่ได้คิดงบที่รัฐบาลหนุนนะ รัฐบาลก็จะหนุนมาอีก 6-7 หมื่นล้าน

โสภณ- เท่ากับประมาณแสนสี่-แสนห้า

อัศวิน- มันจะเป็น อย่างเช่น เงินเดือน ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าครองชีพ ค่าบำนาญ ค่ารักษาพยาบาล

โสภณ- แล้วมีหนี้ หนี้หมื่นกว่าล้าน หรือเท่าไร

อัศวิน- หนี้เยอะแยะไปหมด ผมก็บอก คุณไม่ต้องกลัวหรอก เงินเหลือมันไม่บูดนะ ถ้าแกงใส่กะทิน่ะมันบูด เงินมันไม่บูด คุณเก็บไว้ได้ แล้วเอาไปใช้หนี้เขา

โสภณ- เขาบอกว่า มันเสียของ เสียโอกาส โอกาสที่จะหักแล้วอมเหลือ

กมลพร- อันนั้นมันไม่ใช่ค่าเสียโอกาสของประชาชน

อัศวิน- เงินทอน

โสภณ- ภาษาบัญชีเขาเรียก หักแล้วอมเหลือ

อัศวิน- บังเอิญผมเป็นเด็กบ้านนอก ผมถามแม่เมื่อก่อนผมกินอะไร แม่บอกกูก็เอาข้าวสุกบดกับกล้วยสุก บดให้มึงกิน ไม่ต้องอะไรมากมายหรอก กูไม่ได้เอาทองคำให้มึงกิน

กมลพร- ในช่วง 6 เดือนที่มีเรื่องการเอาของเก่ามาใช้ อันหนึ่งที่เก๋ชอบก็คือ กังหันชัยพัฒนา ด้วยใช่ไหมคะ

อัศวิน- กำลังบิลต์อยู่

กมลพร- ยังไงคะ เห็นว่าตอนที่ให้มามี 78 แต่เหลือใช้ได้จริงๆ แค่ 11

อัศวิน- คือพระเจ้าอยู่หัวท่านมอบกังหันชัยพัฒนาเอาไว้ กับแก้มลิง ที่เป็นบึง หนองน้ำ อย่างเช่น บึงหนองบอน บึงสวนรถไฟ ทั้งหมดท่านให้มา 78 ตัว มันใช้ได้เหลือ 11 ตัว มันก็เสียไป 67 ตัว พอผมไปดูเห็นว่ามันเสียก็เลยไปขอร้องให้ทางเทคนิควิทยาลัยที่เกี่ยวกับพวกช่างซ่อม เช่น เทคนิคมีนบุรี เทคนิคดอนเมือง เทคนิคราชสิทธาราม อะไรพวกนี้ ให้เอานักเรียน นักศึกษา มาช่วย โดยเราซื้ออะไหล่ให้ คุณไม่ต้องมารับจ้างเรา ให้เด็กฝึกงานไปในตัว ก็มาทำให้เราฟรีน่ะ แต่เด็กเขาก็ได้ประสบการณ์ เขาก็เรียนเรื่องนี้อยู่แล้ว ก็กำลังดำเนินการอยู่

โสภณ- บึงหนองบอนนี่ผมใช้บริการอาทิตย์ละ 3-4 วันนะ ผมเดิน 8 กิโลฯ สวย และดีมาก คือไม่มีอะไรขายเลย ไม่อย่างนั้นจะเป็นอะไรที่เลอะเทอะ

อัศวิน- ห้องน้ำสะอาดมั้ย ใช้ได้ใช่มั้ย นี่ๆ พี่ไปดูนี่ ที่ศูนย์เรียนรู้ ตรงสวนรถไฟ นี่ผมกำลังจะรวม 3 สวน ทำเลนจักรยานใหม่ 3 สวนให้เป็นสวนเดียว จะได้เดิน เดี๋ยวนี้วันเสาร์-อาทิตย์ ไปดูนะ ตรงบ่อบำบัดน้ำเสียที่สวนรถไฟ ตรงทางลงทางด่วน บางทีเสาร์-อาทิตย์เขาจะปล่อยน้ำตก พวกชาวต่างชาติ ประเทศเพื่อนบ้านเรา เสาร์-อาทิตย์เขาจะนัดพบกัน เขาบอกว่า เจอกันที่น้ำตกผาแดง พม่าเขาจะเรียกน้ำตกผาแดง น้ำที่เราบำบัดมาเราก็ปล่อย ผนังเป็นสีแดง ผนังกว้างประมาณสัก 70-80 เมตร เวลาปล่อยน้ำตกมาน้ำก็จะเป็นสีแดง เขาจะเรียกน้ำตกผาแดง นัดพบกันที่น้ำตกผาแดง

โสภณ- ไหนๆ พูดเรื่องนี้แล้ว ผมมีข้อเสนอให้ผู้ว่าฯ ปลูกป่าในเมือง แปลงเมืองให้เป็นอุทยาน ทั้งเมืองเลยนะ

กมลพร- เคลียร์เรื่องนี้ก่อนมั้ย ก่อนจะปลูกป่าในเมือง ทำไม กทม.ต้องตัดต้นไม้จนเหี้ยน ขอเคลียร์เรื่องนี้ก่อนได้มั้ย

อัศวิน- พูดต่อเนื่องไปเลย ปลูกป่าในเมือง ขณะนี้ ... ตั้งแต่ก่อนปีใหม่แล้ว ผมได้กำหนดเลยว่าให้ซื้อต้นรวงผึ้งมาปลูก ต้นรวงผึ้งจะออกดอกสีเหลือง สวยงามมาก เดือนกรกฎาคม

โสภณ- เหมือนคูนใช่มั้ย

อัศวิน- เหมือนคูน แต่ต้นไม่ใหญ่ เมื่อก่อนต้นละ 400-500 เดี๋ยวนี้ต้นละ 5,000-6,000

โสภณ- มีใครบวกหรือเปล่า

อัศวิน- ไม่มีใครบวกหรอก ขายหมด มันเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10

กมลพร- ช่วงนี้เขาซื้อกันเยอะ

อัศวิน- ที่หน้า กทม.ก็ปลูก ทุกสวนจะต้องปลูก เขตหนึ่งต้องปลูกต้นรวงผึ้งไว้อย่างน้อย 10 ต้น คุณจะไปปลูกที่ไหนก็ได้ ต้องมี 10 ต้น 50 เขต ก็ 500 ต้น

โสภณ- น้อยไปหรือเปล่า

อัศวิน- มันหาซื้อไม่ได้ ปราจีนฯ หมดตลาดเลย

โสภณ- ขนาดคูนก็เยอะแยะนะ

อัศวิน- คูนมันมีอยู่แล้ว แต่ผมอยากจะให้ปลูกต้นรวงผึ้งไว้ สวยด้วย กรุงเทพฯ ติดทะเลอยู่แค่ 4.7 กิโลฯ เท่านั้น คือที่เขาเรียกว่าทะเลบางขุนเทียน ฝั่งซ้ายมือเป็นพระประแดง สมุทรปราการ ขวามือเป็นสมุทรสาคร ในช่วงกลางนี่พี่รู้ไหมว่าเขตกรุงเทพมหานคร มันกัดเซาะเข้ามา ปัจจุบันนี้ 1,100 เมตร กว้าง 4.7 กิโลฯ ทั้งหมด 3,000 กว่าไร่ นี่ผมเริ่มปลูกสาธิตไปประมาณ 4-5 ไร่แล้ว เดี๋ยวปลูกโกงกง ปลูกอะไร คือมาใหม่ๆ ผมก็ไปเจอ เขาขอทำทีกรอย ทำเขื่อนกัน เพราะลมมันแรงมาก มันซัดน้ำ 5 พันกว่าล้าน เขาศึกษาไว้แล้ว ร้อยกว่าล้าน งบอะไรก็เรียบร้อยแล้ว ผมก็บอกว่าไม่ต้อง ทีกรอยไม่ต้อง เดี๋ยวผมทำ ทำอย่างนี้ดีกว่า ใช้วิธีโบราณซึ่งทำได้ ผมก็ไปดูที่ปากน้ำประแส ระยอง ผมเคยไปปลูกช่วยเขา ขณะนี้ผมก็เอาไม้ไผ่ ซื้อไม้ไผ่จากปราจีนฯ มาลำละร้อยกว่าบาท แล้วผมสั่งต้น ... ปลูกไปประมาณ 4-5 ไร่แล้ว วันที่ 15 นี้ เราจะปลูกประมาณสัก อย่างน้อย 10 ไร่ขึ้นไป ขณะนี้เอาไม้ไผ่ผูกมัดรวมกัน แค่สองเดือน ดิน ทราย เราจะทำที่สำหรับดักทราย น้ำพัดทรายเข้ามา ขาออก ออกเฉพาะน้ำ ทรายไม่ให้ไป ขึ้นมาได้ประมาณเกือบ 30 เซนฯ คือเราจะคืนดินให้กับระบบนิเวศ เดี๋ยวผมจะทำหนังสือเชิญ วันที่ 15

กมลพร- ขอตามไปด้วย เดี๋ยวคนเคาะข่าวไปกันนะ

โสภณ- เกาะกลางถนน เมื่อก่อนจะมีเอกชนเข้ามารับทำ ตอนหลังๆ มันหายไปแล้ว ตอนนี้ให้เอกชนเขาทำก็ได้ เขตเขานิยมตัดต้นใหญ่ๆ ทิ้ง แล้วเอาต้นเล็กๆ มาปลูก ตะโกดัด ข่อยดัด มันไม่มีความร่มไม้อะไรเลย ต้นใหญ่ๆ โตๆ แล้ว ไปตัดทิ้ง

กมลพร- ตกลงใครตัด

อัศวิน- คือการตัดต้นไม้ ส่วนใหญ่ที่เขาตัดเพราะมันขึ้นไปโดนเสาไฟ แต่ขณะนี้ผมบอกข่าวดีได้เลยว่า ในโครงการ 3 ปีนะ แต่ผมคงอยู่ไม่ถึงหรอก ยกเว้นถ้ามันไม่ปกติ ปีนี้ผมจะเอาถนนสองสาย เอาลงดิน คุยกับการไฟฟ้าฯ การประปาฯ เรามาขุดพร้อมกัน อย่ามาประปาขุดที ไฟฟ้าขุดที กทม.ขุดที ชาวบ้านก็ด่ากันขุดกัน 7 ชั่วโคตร ให้ขุดพร้อมๆ กันและทำพร้อมๆ กัน

กมลพร- สองสายคือเส้นไหนคะ

อัศวิน- ราชดำเนินเส้นหนึ่ง แล้วก็มีอีกเส้นหนึ่ง แล้วปีหน้า ปี 61 ก็ต้องอีกเส้น ต้องเอาลงดินนะไฟฟ้าบ้านเรา

กมลพร- สายไฟกับต้นไม้จะได้ไม่ทะเลาะกัน

อัศวิน- ต้นไม้จะได้โตขึ้น พูดถึงสิงคโปร์ คนสิงคโปร์เกิดมาคนนึงจะต้องมีต้นไม้ 3 ต้น ผมถามเขา เขาบอกเขามีต้นไม้ประมาณเกือบ 20 ล้านต้น

โสภณ- ในสนามบินเขาก็มี

อัศวิน- เขามีคน 6 ล้าน เขาบอกเขามีคนเท่าไหร่เอา 3 คูณไปเลย ผมก็อยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นอย่างนั้น

โสภณ- ทำไมไม่เอาเอกชนมาช่วยปลูก คือผู้ว่าฯ โปรโมตไปเลยว่าขอเอกชนมาช่วยดูแลเกาะ ของตัวเอง ใครจะทำอะไร ต้นไม้สวยๆ ผู้ว่าฯ เคยไปคุนหมิงใช่มั้ย เขาปลูกต้นมะพร้าว

อัศวิน- ถนนบ้านเขามันใหญ่ ถนนบ้านเรามันขยายไม่ออก

โสภณ- บางเส้นเขาก็ทำ อย่างเส้นแจ้งวัฒนะเขาก็ทำได้นะ ก็ปลูกได้หลายสาย แต่บางทีเอาต้นข่อยดัดมา มันน่าเกลียดมากเลย

กมลพร- เดี๋ยวผู้ว่าฯ จะค่อยๆ ทำ 6 เดือนเอง ได้ขนาดนี้ก็ดีแล้ว

โสภณ- ปลูกป่าในเมือง สร้างเมืองเป็นอุทยาน อย่างที่บอก

อัศวิน- นี่ๆ ผมเล่าให้พี่ฟัง ผมกำลังจะได้ที่ใหม่อีกที่นึง ที่โรงงานยาสูบ ซึ่ง ครม.อนุมัติให้ไว้ตั้ง 7-8 ปีที่แล้ว นี่ผมไปทวงแล้ว เขาจะเริ่มทยอยส่งให้เดือนสิงหาคมนี้ ทั้งหมด 300 กว่าไร่ จะค่อยๆ ส่งให้ 50 กว่าไร่ก่อน ทีแรกจะให้เงินมา รัฐบาลจะให้ปลูกด้วย ผมบอกให้ปลูกมาให้เรียบร้อยแล้วค่อยส่งมาให้ผม ผมไม่ปลูก ผมไม่มีคน ก็บอกไปเพราะขี้เกียจจะมามีปัญหา คุณปลูกมาให้เรียบร้อยก็แล้วกัน แล้วก็ทำเป็นแก้มลิงด้วย ที่ตรงนั้นที่เป็นน้ำ เดี๋ยวเราทำความสะอาดให้ดี น้ำนั้นผันเข้าไปได้เพื่อจะลงอุโมงค์ จะเอาไปออกเจ้าพระยา ป้องกันเรื่องน้ำท่วมด้วย ผมคิดหลายอย่าง

พี่ ผมไม่ได้คุยนะ ผมมานี่ยังไงก็ฝนไม่ตก เพราะมันหมดหน้าฝน

โสภณ- โชคดีนะ เอาอยู่มั้ย

อัศวิน- สบาย ผมไปขอที่ของสวนลุมไนท์บาซาร์ เขามาเช่าที่ตรงนั้น ขอผมเจาะอุโมงค์ตรงนี้ลงไป ขอที่สัก 10 เมตร เพราะท่อน้ำมันอยู่กลางถนน น้ำมันออกไม่ได้ ผมก็เลยไปขอเจาะที่ เขาให้ ผมขอเจาะประมาณสัก 2 ปีเท่านั้น เดี๋ยวอุโมงค์ผมเสร็จ ก็ไม่ต้อง แล้วก็สูบน้ำเข้าไป ฝนตกมาปั๊บ ผมเร่งเครื่องสูบน้ำเลย ท่านรอยลโทรมาบอกว่า วันนี้อาจจะตกหนัก ผมจะโทรบอกเลยว่าเครื่องสูบน้ำ คุณจะบอกว่าน้ำไม่มี น้ำหมด เตรียมให้พร้อมนะ ถ้าผมไปดู ฝนตกปั๊บ เครื่องสูบน้ำคุณทำไม่ได้ ผมเอาตายเลย บ้านอยู่แถวนั้นฝนตกประมาณสัก 50-60 มิลฯ ประมาณ 3 ชั่วโมงจะแห้ง เดี๋ยวนี้ไม่เกินชั่วโมง แห้ง

กมลพร- มั่นใจได้ หนูยังคาใจ ตกลงใครตัดต้นไม้ ผู้ว่าฯ ยังไม่ตอบหนูเลย

อัศวิน- หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จริงๆ แล้วถ้าในซอย ก็เป็นของ กทม.บ้าง แต่ถ้าบนถนนใหญ่ เป็นเรื่องของการไฟฟ้าฯ

โสภณ- แล้วเกาะกลางถนนล่ะ

อัศวิน- ของการไฟฟ้าฯ

โสภณ- เกี่ยวอะไรล่ะ

อัศวิน- เกาะกลาง ส่วนไฟฟ้ากลางก็มี

โสภณ- เสาไฟฟ้าตรงกลางไม่มี อย่างหน้าบ้านผมมีมะฮอกกานี ยาวเหยียดเลยนะ วันดีคืนดีเขาก็บอก กิ่งนี้น่าจะขายได้

กมลพร- ไม่ใช่ กิ่งมันบังสายไฟ เขาเลยต้องตัดออก

อัศวิน- ขณะนี้ ประมาณสัก 3-4 เดือน เราได้ไปประสานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ขอให้เขาจัดอบรม เราก็ตั้งชื่อว่า รุกขกร โดยให้พวกจิตอาสา อาสาสมัคร นักเรียน นักศึกษา พี่น้องประชาชน ข้าราชการ อะไรก็แล้วแต่ ทุกภาคส่วน ให้คนที่รักต้นไม้ สนใจในการตัดแต่งต้นไม้ มาลงชื่อแล้วไปอบรม แล้วก็บอกด้วยว่าคุณอยู่ที่ไหนๆ สมมุติว่า มันจะมีเขตประชาชื่น จะตัดต้นไม้ ก็จะดูว่าใครอยู่ตรงนี้บ้าง นาย ก. นาย ข. ต้นไม้ตรงนู้นนะ เดี๋ยวประสานกับเขตเลยนะครับ คุณไปควบคุมการตัดที เขาก็จะมาบอกเจ้าหน้าที่ กทม. คุณต้องตัดอย่างนี้นะๆ เพราะเขาอบรมมาแล้ว

โสภณ- ที่ผ่านมา พวกชุดเขียวเลยนะ ไม่เหลือเลย เหลือแต่ตอ

อัศวิน- พวกรับจ้าง

โสภณ- ตัดได้เยอะเลยนะ

อัศวิน- มันขายได้

โสภณ- ต้นไม้เลี้ยงคน รวยเลยนะนั่น หน้าบ้านผมมะฮอกกานีนะ ตัดไปทำเฟอร์นิเจอร์ได้

กมลพร- ผู้ว่าฯ รู้ปัญหาแล้ว เดี๋ยวจัดการ แล้วก็ประสานกันแล้ว อีก 5 นาทีสุดท้าย พี่โสคาใจอะไร ถามเลย เก๋สบายใจแล้ว เก๋เคลียร์แล้ว เรื่องต้นไม้

โสภณ- จากนี้ไปผู้ว่าฯ มีโครงการอะไรที่จะสร้างให้เห็นว่า นี่ล่ะฝีมือของอัศวิน ขวัญเมือง ให้ชาวบ้านใน กทม.รู้กันเลยว่านี่เป็นมรดกของอัศวิน ขวัญเมือง ที่ฝากให้ กทม.

อัศวิน- สิ่งที่ผมอยากจะทำคือ ของที่มันเก่าเก็บ เก่าทิ้ง หาย เก่าไม่ได้ใช้ จะเอารื้อขึ้นมาใช้ มันจะได้ประหยัดเงินของ กทม.ไป เงินเอามาจากไหน มันก็มาจากภาษีของพี่น้องประชาชนทั้งนั้นล่ะ จะเอามาทำให้มันเกิดประโยชน์ มันไม่ควรจะทิ้ง อันนี้ยังใช้ได้อยู่ จะทิ้งทำไม เสียดาย ก็เอามาปรับปรุง เปลี่ยนแปลง แก้ไข ให้มันดีขึ้น ผมยืนยันได้ว่า จะทำให้ดีที่สุด ตราบใดที่ผมยังอยู่ตรงนี้ มันจะ 3 วัน 5 วัน 7 วัน 1 ปี 2 ปี อะไรก็แล้วแต่ ผมไปเมื่อไรก็จบเมื่อนั้น แต่ถ้าอยู่ต้องทำให้ดีที่สุด แล้วผมก็พยายามบอกทุกคนว่า ข้าราชการ คุณไม่ต้องห่วง ผมไม่ใช่นักการเมือง ผมเป็นข้าราชการเหมือนคุณ ผมรู้ชีวิตข้าราชการ ผมรู้จักดี ผมรับราชการตั้งแต่อายุ 19 ผมเห็นใจพวกนี้ แต่สิ่งไหนที่ผมบอกให้คุณทำ แล้วคุณทำไม่ได้ ผมเห็นใจคุณ สงสารคุณ ผมจะขยับคุณไปอยู่ที่ๆ คุณไม่ต้องทำ ผมจะเอาคนที่อยากทำมาทำแทนคุณ ถ้าคุณทำไม่ได้ ไปบังคับจิตใจมันบาป ผมก็ว่า คุณมานั่งตบยุงนี่มา

โสภณ- ทำไม่ได้ ไปทำอย่างอื่นได้ไหม

อัศวิน- เอาคนที่เขาอยากจะทำ มาทำ สิ่งที่กรุงเทพมหานครจะต้องแก้ไข ส่วนใหญ่ เรื่องจราจรไม่ใช่เรื่องของ กทม. แต่ผมเป็นตำรวจเก่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเก่า ผมรู้ปัญหาตำรวจ ผมก็จะคุยกับตำรวจ แล้วก็เอาอำนวยเข้ามาช่วยดูเรื่องการจราจร ปัญหาใหญ่ คนจะบอกว่าเป็นเรื่องของ กทม. จริงๆ ไม่ใช่เรื่องของ กทม.หรอก แต่เราไม่ปฏิเสธ เรื่องน้ำท่วม ตกทีไร พอฝนตั้งเค้าปั๊บ ชาวบ้านได้กลิ่นน้ำแค่หัวเข่าแล้ว อันนี้ผมจะไม่ให้เกิด

โสภณ- ไฟฟ้าบนสะพานลอย ใครดูแล

อัศวิน- จริงๆ แล้ว บนสะพานลอย เอาว่า กทม.เป็นคนดูแลก็แล้วกัน ขณะนี้ผมสั่งเปลี่ยนหมดแล้วนะ ไฟ ไฟดับต่างๆ ที่มันไม่ค่อยติด สะพานสกปรก ต่อไปผมสั่งทำ 3 เดือน/ครั้งนะ ทาสีเก็บใหม่ บิ๊กคลีนนิ่งเดย์เดือนละครั้ง พยายามทำให้มันดีขึ้น เรื่องของไฟฟ้าส่องสว่าง เรื่องอะไรต่ออะไร จะทำให้มันดีขึ้น เพราะมันเป็นเรื่องความปลอดภัย ผมกำชับเลย ผู้อำนวยการเขตทุกเขต ที่ดินรกร้างว่างเปล่า เป็นบ่อเกิดแห่งอาชญากรรม เยอะแยะเลย อาจจะเป็นตึกร้าง อย่างเช่น เมื่อก่อนปีใหม่ที่ตุ๊กตุ๊กเอาฝรั่งจากข้าวสารไปข่มขืน ที่สระน้ำตรงเขตตลิ่งชัน ต่อไปใครมีอาคารร้าง คุณต้องมาตีอาคารไม่ให้เข้า-ออกได้ สมมุติว่าคุณมีที่ว่างอยู่ 1-2 ไร่ บางนาเมื่อสองปีที่แล้ว ที่ป้ายรถเมล์ ฉุดเข้าไปข่มขืน คุณต้องตัดออกให้หมด ต้นไม้ รกร้าง มันเป็นบ่อเกิด มันจะเป็นช่องทาง โอกาสให้เกิดอาชญากรรม เราก็ต้องดูแลตรงนี้ด้วย คุณต้องตัดให้หมด ถ้าตัดไม่หมด ฟืนไฟมันติดขึ้นมาจะทำยังไง ก็ลามไปติดที่อื่นด้วย ป่ารก คนชอบเอาขยะมาทิ้งไง ที่ใต้สะพานไทย-เบลเยียม คนเอาก้นบุหรี่ทิ้งไปทีเดียวก็ไหม้ ถามว่ามันไหม้เฉพาะที่ตรงนั้นหรือเปล่า มันติดบ้านข้างเคียง นี่คือปัญหา เราก็ต้องพยายามตรงนี้ เรื่องกล้อง ...

กมลพร- ใช้ได้ทุกจุดมั้ยคะ

อัศวิน- ขณะนี้ผมว่าประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เพิ่งประชุมไปเมื่อวันจันทร์ว่า ต่อไปพวกที่ปรึกษาจะแบ่งโซนกันเลย คุณรับผิดชอบไปเลย นี่ดูกล้องฝั่งธนฯ 2 คน ดูกล้องฝั่งพระนคร คุณต้องสำรวจทุกเขตเรื่องคุณ แล้วคุณรายงานผมว่าอันไหนไม่ติด แล้วคุณก็บอกเขตเขาไป ให้เขาเปลี่ยน บอกสำนักจราจรและขนส่ง กล้องตรงนี้มันเสียนะ ถามว่าเสียได้มั้ย เสียได้ แต่ไม่ใช่เสียครึ่งนึง 5 หมื่น เสีย 2 หมื่นห้า ไม่ได้

โสภณ- จะซื้อเพิ่มอีกไหม

อัศวิน- ไม่เอาแล้ว

โสภณ- เบอร์ 1 ปักกิ่งใช่มั้ย เบอร์ 2 ลอนดอน เบอร์ 3 กทม. ไม่ใช่เหรอ

อัศวิน- กทม.มากกว่าลอนดอน

กมลพร- แต่ส่วนใหญ่มันใช้ไม่ได้ไง ก็นี่ไงก็จะเอามาทำให้ใช้ได้

อัศวิน- คือขณะนี้เขาก็จะบอกว่า กล้องดัมมี่ ทำไมถึงดัมมี่ เขาก็บอกว่าประสานการไฟฟ้า การไฟฟ้าเขายังไม่ทำให้ ก็บอกคุณก็ยังไม่ต้องเอากล้องมาติด ก็ยังไม่เอาไฟฟ้ามาต่อ ยังไม่มาเชื่อมสัญญาณ เชื่อมไฟให้ คุณเอากล้องมา เขาก็บอกว่ากล้องคุณต้องดูได้ ถ้าดูไม่ได้คุณอย่าไปเชื่อม

โสภณ- ไว้หลอกโจร โจรรู้เลยว่ามันไม่มีไส้

กมลพร- นี่ถ้าคุยกันได้ คุยกันทั้งวันเลยนะวันนี้ เรื่องเยอะ คำถามสุดท้ายจริงๆ สำหรับส่วนตัว ในฐานะที่ยังเป็นวัยรุ่นอยู่ เขาว่ากันว่าผู้ว่าฯ กทม.เข้าถึงยาก จริงเท็จยังไงคะ

อัศวิน- โถ ไอ้คนบ้านนอกอย่างผมน่ะเหรอ รองเท้าก็ไม่มีใส่ไปโรงเรียน มันจะยากอะไร ผมนี่เปิด open ตลอด ใครมาก็พบได้หมด เพราะเรามันง่ายๆ แล้วนอกจากจะไม่ต้องมาที่นี่ เปิดเฟซบุ๊กให้แจ้งด้วย

กมลพร- ทางเฟซบุ๊กได้ด้วย?

อัศวิน- จะมีคนดูเลย ไฟฟ้า คนด่ามาเต็มเหยียดเลย ไฟฟ้าปากซอยบ้านฉันดับตลอดเลย บอกมา เดี๋ยวเราจะประสานการไฟฟ้าให้ ถนนนี่น้ำท่วมตลอด ขรุขระ ตกท่อ ขาเคล็ดอีกแล้ว บอกมา แก้ไขให้

กมลพร- แสดงว่าอ่านจริงๆ

โสภณ- ต่อไป กทม.ไม่ใช่เมืองที่คนตกท่อแล้วนะ

อัศวิน- แอ๊ด คาราบาว ... ไม่มีพี่ คือเราพยายามจะให้เขาเข้าถึง เพราะเราจะได้รู้ว่าเขาต้องการอะไร ความต้องการ ความพึงพอใจของพี่น้องประชาชนต้องการอะไร ผมเปิดหรือยัง อย่างทำดอกไม้จันทน์ ก็ลงเฟซบุ๊ก ทำตัวอย่างให้ดู เราสาธิตในนั้นเลย ขณะนี้กำลังเรียนอยู่ วันนี้วันที่สี่ มีห้าวัน ทำได้ 4,920,000 ดอก แล้วเราก็ทำอีก คนเข้ามาอ่าน 2 ล้านกว่า view

กมลพร- ทำได้เกินกว่าเป้าด้วย แต่ว่าสำหรับคนเคาะข่าวหมดเวลาแล้ว

โสภณ- ผมว่าอีก 3 เดือนเรามาคุยกันใหม่

อัศวิน- พี่โทรมาคุยก็ได้

กมลพร- แล้ว 15 พฤษภาคม ไปปลูกป่าใช่มั้ยคะ เดี๋ยวเราตามไปด้วย เราจะอยู่แถวนี้ล่ะ เราว่าศาลาว่าการ กทม.น่ามา เขามีข่าว gozzip อย่างอื่นด้วย แต่วันหลังค่อยไปเมาท์

โสภณ- อย่าย้ายไปดินแดงเลย มันไปยาก

กมลพร- อยู่นี่ล่ะ อาคารนี้เก่าแก่

อัศวิน- มีบางส่วนต้องให้ไป ไปอยู่ตรงนู้นบางส่วน สำนักระบายน้ำ ถ้ามาตรงนี้ ตรงนู้นน้ำท่วมไปไม่ทัน เดี๋ยวก็อัศวินไปไหน น้ำท่วมอีกแล้ว

กมลพร- ผู้ว่าฯ ก็จะอยู่สองที่ แล้วก็เข้าถึงได้ง่าย

อัศวิน- แน่นอนๆ

กมลพร- คุยในเฟซบุ๊กก็ได้ เอาล่ะค่ะ หมดเวลาของคนเคาะข่าววันนี้จริงๆ แล้ว เดี๋ยวไว้ 3 เดือนข้างหน้ามีอะไรเรามาอัปเดตและมีข้อมูลอะไรดีๆ จะเอามาฝากคุณผู้ชมกัน วันนี้ขอบคุณผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครมาก ขอบคุณพี่โสด้วยนะคะ ขอบคุณค่ะ ลากันไปก่อน สวัสดีค่ะ
กำลังโหลดความคิดเห็น