รู้จัก “วันคอยน์” สกุลเงินดิจิตอลที่แบงก์ชาติประกาศเตือน ก่อตั้งหลัง “บิตคอยน์” เอาเงินจริงไปซื้อเงินในอากาศ ยังไม่รับรอง ใช้ชำระหนี้ตามกฎหมายไม่ได้ ร้านค้าหรือบุคคลที่รับแลกรับความเสี่ยง พบในไทยจดทะเบียนเป็นบริษัททัวร์เท่านั้น ทนจดทะเบียน 1 แสน
โต๊ะข่าวโซเชียลมีเดีย MGR Online ...รายงาน
ธนาคารแห่งประเทศไทย ออกประกาศหัวข้อ “ข้อมูลเกี่ยวกับ Onecoin และหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ลักษณะใกล้เคียง” หลังพบว่ามีการเชิญชวนประชาชนให้ลงทุนในหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยอ้างว่าเป็นสกุลเงินดิจิตอลที่มีผู้นิยมใช้ทั่วโลก
ยืนยันว่า One Coin ไม่ใช่เงินที่สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย และในปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดยอมรับหรือรับรองว่า Onecoin เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย
ส่วนการถือครองหรือลงทุนในหน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ทางหน่วยงานราชการยังไม่ได้รับรองว่า สามารถใช้ชำระหนี้ได้ตามกฏหมาย ประชาชนควรระมัดระวัง ศึกษาข้อมูลและรายละเอียดให้เข้าใจอย่างถ่องแท้
เพราะมีความเสี่ยงที่มูลค่าของหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เหล่านี้จะผันผวน หรือปรับลดค่าลงได้อย่างรวดเร็ว และอาจใช้เป็นช่องทางในการหลอกลวงและฉ้อโกงประชาชนได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีการโฆษณาว่าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่จะให้ผลตอบแทนสูง หากมีการหาสมาชิกเพิ่มได้มาก
ผู้สื่อข่าว MGR Online ตรวจสอบพบว่า ในปัจจุบันได้มีสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ในการซื้อขายแลกเปลี่ยน สกุลดิจิตอลเกิดขึ้นครั้งแรกในชื่อ “บิตคอยน์” (Bitcoin) เมื่อปี 2009 หรือเมื่อ 8 ปีก่อน โดยผู้ใช้นามว่า ซาโตชิ นากาโมโต ก่อนที่จะมีสกุลเงินอื่นๆ ตามมาอีกจำนวนมาก
แม้ว่าบิตคอยน์และสกุลเงินดิจิตอลอื่นๆ จะอ้างว่าสามารถใช้แทนเงินสดได้ แต่ในความเป็นจริง ธนาคารแห่งประเทศไทย ก็เคยออกประกาศเมื่อ 18 มี.ค. 2557 แล้วว่า “ไม่ถือเป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย” และไม่มีมูลค่าในตัวเอง ผันแปรไปตามความต้องการของกลุ่มคนที่ซื้อขายหน่วยข้อมูล
มูลค่าจึงเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นสิ่งที่ไม่มีค่าได้เมื่อไม่มีผู้ใดต้องการแล้ว
นอกจากนี้ แบงก์ชาติเตือนว่า หน่วยข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งหมายถึงสกุลเงินดิจิตอลต่างๆ ไม่ถือเป็นเงินที่ใช้ชำระหนี้ได้ตามกฎหมายไทย หากนำไปใช้ชำระค่าสินค้าหรือบริการ อาจถูกปฏิเสธจากร้านค้าได้
ที่สำคัญ มีความเสี่ยงจากการที่สกุลเงินดิจิตอลผันแปรอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สัมพันธ์กับสภาพเศรษฐกิจจริง แต่เกิดจากความต้องการแลกเปลี่ยนในกลุ่มของผู้ใช้ด้วยกัน มีความเสี่ยงที่มูลค่าลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากการถูกขโมยข้อมูล และผู้ใช้อาจไม่ได้รับการคุ้มครอง หากถูกหลอกลวงหรือฉ้อโกง หรือเกิดปัญหาในการใช้งาน การติดตามข้อมูลเพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานอาจทำได้ยาก
พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ว่าจะมองไปทางไหนก็มีความเสี่ยงสูงเหมือนกันหมด จากการเอา “เงินจริง” ไปแลกกับ “เงินในอากาศ” หรือเงินที่จับต้องไม่ได้
ครั้นจะอ้างว่าเป็นกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-Wallet) ก็ไม่ได้ขออนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้องอีก
วันคอยน์ ก่อตั้งโดยผู้ใช้นามว่า “รูจา อิกนาโตว่า” อ้างว่านักกฎหมายและนักการเงิน เริ่มประกาศแผนธุรกิจเมื่อเดือนกันยายน 2014 มีการเปิดสำนักงานแห่งแรกที่ประเทศบัลแกเรีย
มีการเชื่อมโยงเข้ากับบัตรของธนาคาร โดยใช้เครือข่ายบัตรเครดิตชื่อดังในการใช้จ่ายและถอนเงิน ปัจจุบันเปิดสำนักงานไปแล้ว 9 ประเทศ
สำหรับประเทศไทย อ้างว่าจดทะเบียนเป็นธุรกิจ อี-คอมเมิร์ซ ในนามบริษัท ไทรเด้น สยาม โฮลดิ้ง จำกัด
นอกจากนี้ ยังมีการตั้งบริษัท Conligus เพื่อประมูลสินค้า เช่น ทองคำ สินค้าแบรนด์เนม โดยใช้วันคอยน์แลกเปลี่ยนอีกด้วย
สำหรับการถือครองสกุลเงินวันคอยน์ เริ่มต้นที่ 5,460 บาท สูงสุด 211,260 บาท โดยอ้างว่าจะได้รับผลตอบแทนตั้งแต่ 13,000 ถึง 1.68 ล้านบาท
แต่เมื่อถือครองไปแล้วจะต้องรอคอย 90 วันหลังลงทุน จึงจะสามารถแลกเหรียญมาเป็นเงินได้
MGR Online ตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุว่า บริษัท ไทรเด้น สยาม โฮลดิ้ง จำกัด พบว่า จดทะเบียนเมื่อวันที่ 31 ส.ค. 2552 ทุนจดทะเบียน 1 แสนบาท
สำนักงานตั้งอยู่เลขที่ 240/31 อาคารชุด อโยธยา ทาวเวอร์ ชั้นที่ 17 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กทม.
มี น.ส.กัณทิมา ศิริรัตน์ เป็นกรรมการบริษัท ระบุวัตถุประสงค์ คือ ธุรกิจจัดนำเที่ยว วัตถุประสงค์นำเที่ยว รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการนำเที่ยวทุกชนิดแลรับจองตั๋วเครื่องบิน
ปี 2557 มีรายได้รวม 433,486.70 บาท กำไรสุทธิ 394,885.88 บาท ปี 2558 มีรายได้รวม 2,764,979.08 บาท ต้นทุนขาย 1,311,626.02 บาท กำไรสุทธิ 164,798.57 บาท
สิ่งเหล่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสอบ ขณะที่ประชาชนต้องศึกษาข้อมูลบริษัท และความน่าเชื่อถือในการลงทุน มากกว่าตื่นเต้นกับผลตอบแทนสูงกว่าผลิตภัณฑ์ทางการเงินทั่วไป ก่อนตัดสินใจลงทุน