ในปี พ.ศ.๒๓๒๕ ที่องเชียงสือเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารและขอให้กองทัพไทยช่วยไปตีเมืองคืนจากพวกกบฏไกเซินให้นั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงพระกรุณาดำรัสให้ พระยานครสวรรค์ ยกทัพออกไปกรุงกัมพูชา เกณฑ์ทัพเขมรเข้าบรรจบด้วย แล้วมุ่งไปตีเมืองไซ่ง่อน ซึ่งเจ้าเมืองไซ่ง่อนก็ส่งทัพเรือออกมารับมือ พระยานครสวรรค์มีฝีมือเข้มแข็งตีทัพญวนแตกพ่ายไปหลายครั้ง แต่กลับส่งเรือรบและศัตราวุธกับไพร่พลญวนที่ยึดได้กลับคืนไปให้แม่ทัพญวน พระยาวิชิตณรงค์กับข้าหลวงหลายคนในกองทัพเห็นว่าพระยานครสวรรค์เอาใจเข้าข้างข้าศึก จึงรายงานเข้ามากรุงเทพฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรฯทรงพิโรธ ดำรัสให้เรียกกองทัพพระยานครสวรรค์กลับกรุงเทพฯ ไต่สวนได้ความเป็นจริงตามที่ร้อง จึงให้เอาตัวพระยานครสวรรค์กับพวกอีก ๑๒ คนไปประหาร
ในปีต่อมา มีพระราชดำรัสให้สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมขุนเทพหริรักษ์ ถือทหาร ๕,๐๐๐ คนยกทัพเรือไปตีเมืองไซ่ง่อน และโปรดให้องเชียงสือไปในกองทัพด้วย ส่วนทัพบกโปรดให้พระยาวิชิตณรงค์เป็นแม่ทัพยกไปทางเขมร เกณฑ์กองทัพเขมรร่วมไปด้วย เจ้าพระยาอภัยภูเบศรจึงเกณฑ์ทหารให้ไป ๕,๐๐๐ คน พระยาวิชิตณรงค์นำทัพไทย-เขมรรุกตีพวกไกเซินจนถอยกรูดไปหลายเมือง ส่วนทางด้านทัพเรือ องเชียงสือแยกไปเกณฑ์กองทัพเมืองบันทายมาศมาสมทบด้วย ยกเข้าคลองวามะนาวที่จะไปเมืองไซ่ง่อน พบพวกไกเซินมาตั้งค่ายสกัดไว้ สมเด็จพระเจ้าหลานเธอจึงขึ้นตั้งค่ายบนบก หวังจะตีค่ายไกเซินให้แตกก่อนป้องกันถูกตลบหลัง แต่พอน้ำขึ้นญวนก็เอาเรือรบเข้ามาปิดปากคลอง กองทัพไกเซินในคลองก็ตีออกมา กองทัพพระเจ้าหลานเธอจึงตกอยู่ในศึกขนาบ จำต้องทิ้งเรือรบแตกหนีขึ้นบก ยามนั้นเป็นเดือน ๑๒ น้ำนองไปทั่วทุ่ง ต้องลุยน้ำแค่เอวแค่อกหนีข้าศึก ข้าในกรมจับควายมาได้ตัวหนึ่ง จึงนำมาให้เจ้านายทรงควายลุยน้ำหนีเข้าแดนกัมพูชา กองทัพญวนก็มิได้ติดตาม ยึดเรือรบและปืนใหญ่ปืนน้อยกลับไปไซ่ง่อน
เมื่อรายงานการเสียทีแก่ข้าศึกมายังกรุงเทพฯ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระอนุชาก็ทรงพระพิโรธ ดำรัสสั่งให้มีตราไปเรียกกองทัพกลับพระนคร แล้วลงพระราชอาญาจำสมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงเทพหริรักษ์และแม่ทัพนายกองที่เสียทีแก่ข้าศึกนั้น
หลังจากนั้นองเชียงสือได้แอบส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากฝรั่งเศสที่เมืองพอนดิเชอรีในอินเดีย แต่ก็ไม่ได้ผล จึงไปถึงราชสำนักฝรั่งเศสที่กรุงปารีส ซึ่งฝรั่งเศสตกลงที่จะส่งเรือรบ ๔ ลำและทหารฝรั่งเศสกับอินเดียราว ๒,๐๐๐ คนให้ เพื่อแลกกับเมืองท่าและสิทธิในการผูกขาดสินค้า แต่เมื่อเมื่อเซ็นสัญญากันแล้ว เจ้าเมืองพอนดิเชอรีผู้ที่รับมอบหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้ก็มิได้มีการจัดการแต่อย่างใด คนขององเชียงสือจึงใช้เงินที่ระดมทุนมาได้จากปารีส ซื้ออาวุธและจ้างทหารรับจ้างที่เมืองพอนดิเชอรีได้หลายร้อยคน มีทั้งอังกฤษ ฝรั่งเศส และโปรตุเกส และเกลี้ยกล่อมผู้คนในญวนได้เป็นจำนวนมาก
จากนั้นในปี พ.ศ.๒๓๓๐ องเชียงสือซึ่งยังอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ปรึกษาพรรคพวกที่มาด้วยกัน เห็นว่า พระเจ้าอยู่หัวยังมีเรื่องที่ทรงกังวลด้วยการศึกพม่าที่ติดพันกันอยู่ เห็นจะช่วยธุระเรามิได้ ครั้นจะกราบทูลลาออกไป คิดเอาบ้านเอาเมืองด้วยกำลังตนเอง ก็เกรงพระราชอาญาอยู่ บางทีจะไม่โปรดให้ไป เห็นทีจะต้องหนีออกไป
ครั้นปรึกษาเห็นพ้องกันแล้ว ก็เขียนหนังสือกราบถวายบังคมลาไว้ที่โต๊ะบูชา สั่งให้คนสนิทเอาเรือใหญ่ของตนที่ใช้หนีมาไปคอยที่เกาะสีชัง ครั้นเวลาค่ำองเชียงสือได้พาครอบครัวทั้งญวนเก่าที่อยู่ในไทยและญวนใหม่ที่มาด้วยกัน รวม ๑๕๐ คน ลงเรือ ๔ ลำ แจวออกไปในเวลากลางคืน แต่ก็มีชาวบ้านซึ่งอยู่ใกล้เคียงทราบข่าว จึงนำความแจ้งแก่เจ้าพระยาพระคลังในคืนนั้น พระยาพระคลังนำความขึ้นกราบถวายบังคมทูลให้พระเจ้าอยู่หัวและกรมพระราชวังบวรสถานมงคลทรงทราบ กรมพระราชวังบวรฯทรงแค้นเคืองมาก เสด็จลงเรือพระที่นั่งเร่งฝีพายให้ตามไปโดยเร็ว พอสว่างก็เห็นเรือองเชียงสือที่ปากอ่าว
ฝ่ายองเชียงสือออกปากอ่าวเมืองสมุทรปราการแล้ว ลมก็เกิดหยุด ชักใบไม่ไป จึงจุดธูปเทียนเผากระดาษบูชาเทวดาแล้วอธิษฐานว่า ถ้าออกไปทำศึกคืนเอาบ้านเมืองได้สมปรารถนาแล้ว ขอให้มีลมพัดส่งไปโดยสะดวกเถิด แต่ลมก็ยังไม่พัดมา องเชียงเสือเห็นเรือพระที่นั่งกับเรือข้าราชการตามมาเป็นอันมากก็ตกใจ เร่งให้แจวเรือหนี เรือพระที่นั่งเป็นเรือพายก็กระชั้นใกล้เข้ามาทุกที องเชียงสือเห็นว่าถ้าหนีไม่พ้นก็คงโดนฆ่าแน่ หรือไม่ก็ถูกจองจำตายในคุก จึงว่าเมื่อไม่มีวาสนาแล้วจะอยู่ไปใยให้หนักแผ่นดิน ว่าแล้วก็ชักดาบออกมาจะเชือดคอตัวเอง องภูเวจึงโดดเข้าชิงดาบไว้ จนปลายดาบบาดปากองภูเว ซึ่งได้กล่าวว่า ท่านจะฆ่าตัวตายก่อนไม่สมควร เมื่อแรกจะหนีก็ได้อธิษฐานเสี่ยงทายดูแล้ว แจ้งชัดว่าจะไปได้สำเร็จสมความปรารถนา บารมีท่านก็ถึงที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ฤดูนี้เป็นลมว่าวพัด จะมีแต่พัดส่งออกไปอย่างเดียว ขณะนี้ก็ยังเช้านักลมยังสงบอยู่ สายสักหน่อยก็จะมีลม องภูเวพูดยังไม่ทันขาดตำ ลมว่าวก็พัดเอาเรือญวนทั้ง ๔ ลำแล่นใบทั้งแจวห่างเรือพระที่นั่งออกไป จนเห็นเรือพระที่นั่งและเรือข้าราชการหันหัวเรือกลับ
ฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯเสด็จตามองเชียงสือไม่ทัน จะขอพระราชทานเรือรบทะเลออกตามจับองเชียงสือให้จงได้ พอดีข้าหลวงไปพบหนังสือที่องเชียงสือเขียนกราบทูลลาไว้จึงนำมาถวาย ข้อความในหนังสือนั้นมีว่า
“ข้าพระพุทธเจ้าองเชียงสือ เข้ามาพึ่งพระบรมบุญญาภินิหาร ทรงกรุณาชุบเลี้ยงได้ความสุข บัดนี้มีความวิตกถึงบ้านเมืองนัก ครั้นจะกราบทูลถวายบังคมลากลับออกไป ก็เกรงพระราชอาญา จึงต้องคิดอ่านหนีไปด้วยเป็นความจำเป็น ใช่จะคิดอ่านกบฏกลับมาประทุษร้ายนั้นหามิได้ ขอเป็นข้าทูลละอองธุลีระบาทไปกว่าจะสิ้นชีวิต ซึ่งถวายบังคมลาไปในครั้งนี้ จะไปตั้งส้องสุมเกลี้ยกล่อมผู้คนเข้าตีเอาบ้านเมืองคืนให้จงได้ แม้ขัดสนปืน กระสุนดินดำ เหลือกำลังประการใด ก็จะบอกเข้ามารับพระราชทานปีนกระสุนดินดำ แลกองทัพออกไปช่วย กว่าจะสำเร็จการสงคราม คืนเอาบ้านเมืองได้แล้วจะขอเป็นเมืองขึ้นขอบขัณฑสีมาสืบไป”
เมื่อทรงทราบในหนังสือแล้ว จึงมีพระราชโองการตรัสห้ามสมเด็จพระอนุชาธิราชว่า
“อย่ายกทัพไปตามจับเขาเลย เขาเห็นว่าเราช่วยธุระเขาไม่ได้ด้วยมีข้าศึกติดพันกันอยู่ เขาจึงหนีไปคิดจะตีเอาบ้านเมืองคืน เรามีคุณแก่เขา เขียนด้วยมือแล้วจะลบด้วยเท้ามิบังควร”
กรมพระราชวังบวรฯจึงกราบทูลว่า
“องเชียงสือคนนี้แม้จะละไว้มิให้ติดตามเอาตัวให้ได้ นานไปภายหน้าเมื่อล่วงแผ่นดินนี้ไปแล้ว มันจะทำความลำบากเดือดร้อนแก่ลูกหลานเราเป็นแน่แท้อย่าสงสัยเลย เพราะองเชียงสือเข้ามาอยู่กรุงเทพฯก็หลายปี ได้รู้ตื้นลึกหนักเบาในการบ้านเมืองของเราทุกสิ่ง ที่เมืองสมุทรปราการก็ยังไม่มีสิ่งใดที่จะรองรับข้าศึกศัตรูฝ่ายทะเล ถ้าองเชียงสือกลับใจเป็นศัตรูแล้วจะรบยาก ถ้าไม่ทรงพระกรุณาโปรดให้ไปติดตามองเชียงสือแล้ว จะขอรับพระราชทานทำเมืองขึ้นที่ปากลัด”
ทรงพระกรุณาโปรดอนุญาตให้ทำป้อมขึ้นที่ใต้ลัดต้นโพธิ์
องเชียงสือหนีออกไปจากกรุงเทพฯก็ยังไม่กล้าเข้าไปในเขตแดนญวน เพราะยังมีกำลังไม่พอที่จะคุ้มกันตัวเอง จึงไปอาศัยอยู่ที่เกาะกูดซึ่งยังอยู่ในเขตไทย พวกไกเซินคงไม่กล้าตระเวนเข้ามา และเป็นเกาะที่มีน้ำจืด แต่เสบียงอาหารก็ขาดแคลน ต้องกินกันแต่เนื้อเต่ากับมันกลอย วันหนึ่งเห็นเรือเข้ามาใกล้เกาะลำหนึ่ง จึงให้ครอบครัวหนีเข้าไปซ่อนในป่า แล้วให้องจวงเอาเรือเล็กออกไปถามว่ามาจากไหน จีนฮุ่น สามีอำแดงโตด คนญวนเมืองจันทบุรี บอกว่าบรรทุกข้าวสารมาแต่เมืองจันทบุรี ๓๐ เกวียน จะเอาไปขายที่เมืองเขมา แต่ถูกพายุซัดมา องจวงจึงบอกแก่จีนฮุ่นว่าองเชียงสือหนีมาอยู่ที่เกาะนี้ ชวนให้ขึ้นไปเฝ้า องเชียงสือบอกว่าไม่มีข้าวจะกินกันนานแล้ว เมื่อจีนฮุ่นเอาข้าวสารมาก็ดีแล้ว ยังมีเงินที่พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานให้เราและมารดาเก็บไว้ ๑๗ ชั่ง ๑๐ ตำลึง จะขอเอาเงินนี้ซื้อข้าวสาร ได้มากน้อยเท่าไหร่ก็แล้วแต่จะให้ จีนฮุ่นก็ยกข้าวสารทั้ง ๓๐ เกวียนให้โดยไม่เอาเงิน องเชียงสือจึงเขียนหนังสือสัญญาประทับตรารูปมังกรให้ มีข้อความว่าถ้ากลับไปตีเอาบ้านเมืองคืนได้ ให้จีนฮุ่นไปหา จะทดแทนคุณให้ถึงขนาด
เมื่อทางกรุงเทพฯทราบว่าองเชียงสือไปอยู่ที่เกาะกูด จึงโปรดให้จัดเรือตระเวนหลายลำพร้อมด้วยปืนและกระสุนดินดำ ให้กรมการเมืองตราดส่งไปพระราชทานแก่องเชียงสือ และให้ช่วยลาดตระเวนปราบโจรสลัดให้ด้วย ครั้นองเชียงสือได้รับอาวุธพระราชทานแล้ว ก็พาสมัครพรรคพวกลงเรือไปตีเมืองเขมาและเมืองประมวนสอได้ แล้วยังลาดตระเวนสลัด จับสลัดญวนได้บ้าง เข้ามาสวามิภักดิ์เองบ้าง ที่ยังไม่ละพยศก็ตัดหัวให้เจ้าเมืองบันทายมาศส่งเข้ามากรุงเทพฯ
ระหว่างที่อยู่เกาะกูดนั้น องเชียงสือได้ส่งองจวงเข้าไปสืบเหตุการณ์ในเมืองไซ่ง่อน องจวงกลับมาบอกว่าเกลี้ยกล่อมผู้คนตามเมืองต่างๆได้มาก แล้วพาองเชียงสือย้ายไปตั้งหลักที่ปากน้ำเมืองปาสัก
ต่อมาองเชียงสือส่งคนถือหนังสือมาถึงพระยาพระคลังให้กราบทูลว่า มีพวกญวนที่หนีพวกไกเซินออกมาเป็นโจรสลัดมาก จะขอรับพระราชทานเรือตระเวน ปืนและกระสุนดินดำ ถ้าเสร็จศึกกับพวกไกเซินแล้วจะส่งคืนเข้ามาถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็โปรดพระราชทานตามที่องเชียงสือขอ
ในปี พ.ศ.๒๓๓๑ องเชียงสือมีหนังสือมากราบทูลอีกว่า ทราบว่าขณะนี้องโหเตืองดึกกับองทงยุงยาน ขุนนางขององเชียงสือที่ถูกไกเซินจับไป ได้หนีมาอยู่กรุงเทพฯแล้ว ทั้งสองคนเป็นผู้ที่รู้แยบคายการศึกดี จะขอพระราชทานตัวไปช่วยกู้บ้านกู้เมืองด้วย และรายงานว่าขณะนี้พวกไกเซินเริ่มระส่ำระสาย หลายกลุ่มได้หนีมาอยู่กับองเชียงสือ พร้อมกันนี้ก็ขอพระราชทานปืนและกระสุนดินดำให้องโหเตืองดึกกับองทงยุงยานคุมออกไปพระราชทานด้วย เมื่อทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงโปรดพระราชทานเรือรบพร้อมกระสุนดินดำให้ขุนนางญวนทั้งสองออกไปช่วยองเชียงสือที่เมืองญวน
เมื่อได้ทั้งอาวุธและขุนนางคู่ใจไปอีก องเชียงสือยังเกลี้ยกล่อมทั้งญวนและเขมรมาร่วมด้วยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะคนญวนที่ยังนับถือว่าเป็นเจ้านายของตัว จึงได้กรีฑาทัพเรือเข้าตีเมืองไซ่ง่อน พวกไกเซินไม่อาจต้นทานได้ องเชียงสือจึงตีเมืองคืนได้โดยง่าย
หลังจากนั้นองเชียงสือยังตีเมืองโลกนายและเมืองบาเรียได้อีก ๒ เมือง จึงได้ถวายรายงานมากรุงเทพฯ พร้อมทั้งส่งคนนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวาย แต่ก็ยังไม่หยุดขอ ทูลว่าอ้ายเชียงซำคนรักษาเมืองไซ่ง่อน หนีมายึดเมืองปาสัก จะขอพระราชทานยืมเรือรบอีก ๓๐ ลำ กับปืนหน้าเรือ ปืนท้ายเรือ พร้อมกระสุนดินดำ และขอกองทัพเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ๓,๐๐๐ คน จะให้ตัดผมเป็นคนไทยเข้าตีเมืองปาสัก พระเจ้าอยู่หัวโปรดให้คนถือหนังสือมาไปเลือกเรือรบเอาเอง มีแต่เรือชำรุด ได้เรือดีไปแค่ ๕ ลำ พระราชทานปืนนกโพรง ๗๐ กระบอก และมีตราออกไปให้เจ้าพระยาอภัยภูเบศรส่งกองทัพเขมรไปช่วย องเชียงสือยกเข้าล้อมเมืองปาสัก อ้ายเชียงซำก็ออกมาอ่อนน้อม องเชียงสือจึงให้พระยาจักรี (แกบ) ขุนนางเขมร รักษาเมืองปาสักไว้เป็นของเขมร
ใน พ.ศ.๒๓๓๒ องเชียงสือได้จัดข้าวสาร ๒๐๐ เกวียนเข้ามาถวาย ตามที่มีตราออกไป ในปีเดียวกัน พระยาพระคลังได้มีหนังสือออกไปถึงองเชียงสือ ใจความว่าถ้าองเชียงสือบอกข้อราชการศึกไปเมื่อใด พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะให้ยกกองทัพออกมาช่วย แต่จะไปทางบกก็ไกลกันนัก ครั้นจะไปทางน้ำ เรือรบก็มีแค่ ๗๐ ลำ ๘๐ ลำ ขนไพร่พลได้น้อย ถ้าองเชียงสือว่างการศึกแล้วก็ให้ต่อเรือกูไลให้สัก ๖๐ ลำ ๗๐ ลำ กับเรือกูไลสำหรับเป็นเรือพระที่นั่งเข้าไปถวายด้วย
ต่อมาในเดือน ๑ ปี พ.ศ.๒๓๓๓ องเชียงสือมีหนังสือบอกเข้ามาว่า เมื่อเดือน ๑๑ ปี พ.ศ.๒๓๓๒ รายาแขกเมืองปัตตานี ให้นักกุดาสุง ถือหนังสือพร้อมกับปืนคร่ำทอง ๒ กระบอก ดาบด้ามทอง ๒ เล่ม แหวนทองประดับเพชรเข้ามาให้ ในหนังมีความว่า รายาตานีมีความพยาบาทกรุงเทพมหานคร จะยกกองทัพเข้มาตี ให้องเชียงสือแต่งกองทัพมาช่วยตีกรุงเทพฯด้วย จึงไม่ได้รับของที่รายาตานีส่งมาให้ ส่วนคนถือหนังสือนั้นเป็นแต่นายเรือเล็กๆ ธรรมเนียมเมืองจีนและเมืองญวนมีกฎหมายห้ามทำร้ายผู้ถือหนังสือ เกรงจะเสียประเพณีจึงปล่อยไป ทรงพระราชดำริว่า รายาผู้นี้เป็นเทือกเถาเจ้าเมืองตานีเก่า มีใจกำเริบโอหังนัก ไม่เจียมตัวว่าเป็นผู้น้อย คิดจะมาตีเมืองใหญ่ จะละเว้นไว้ก็จะไปชักชวนเมืองแขกทั้งปวงพลอยเป็นกบฏขึ้น จึงส่งทัพเรือออกไปเมืองตานี รายาตานีสู้ไม่ได้ก็หนีไป กองทัพไล่ติดตามจับมาได้ในกุฏิพระสงฆ์ที่วัดหนึ่ง รับสั่งให้เอาไปจำคุกจนกว่าจะตาย
ในปีเดียวกันนี้ องเชียงสือได้ตั้งตัวขึ้นเป็น เจ้าอนัมก๊ก และส่งคนนำต้นไม้เงินต้นไม้ทองมาถวายอีก พร้อมตัวอย่างเรือพระที่นั่งที่จะต่อถวาย และมีหนังสือถึงพระยาพระคลังด้วยว่า ปีนี้ฝนแล้ง ไซ่ง่อนทำนาได้น้อย ถ้ามีเรือไทยจะออกไปค้าขายที่เมืองไซ่ง่อน ขอให้บรรทุกข้าวสารออกไปขายด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ให้ป่าวร้องบรรดาพ่อค้าให้ไปค้าที่เมืองไซ่ง่อนตามที่มีหนังสือบอกมา ทั้งยังโปรดให้จัดม้าขาว ม้าแดง พร้อมเครื่องม้าอย่างไทยคร่ำเงิน ๑ ชุด และอย่างฝรั่ง ๑ ชุด และเครื่องใช้ต่างๆ มี พรมผืนใหญ่ ศิลาปากนก ศิลาฝนหมึก หมึกหีบ พู่กัน กระดาษแพรมังกร กระดาษแพรสีต่างๆ รวมทั้งฆ้อง กลองญวน ธงมังกร พระราชทานให้เจ้าอนัมก๊กด้วย
ต่อมาเจ้าอนัมก๊กมีหนังสือเข้ามาขอซื้อปืนศิลา ๑,๐๐๐ กระบอก เหล็กท่าซุงหนัก ๑,๐๐๐ หาบ แล้วจัดเปลญวนเข้ามาถวาย ๓๐ สำรับ กับส่งเรือรบที่เกณฑ์ให้ต่อมา ๗๐ ลำ โปรดพระราชทานเหล็กท่าซุง ๒๐๐ หาบ ปืนลำกล้องเปล่า ๒๐๐ กระบอก ไปให้เจ้าอนัมก๊ก
ในที่สุด ในปี ๒๓๔๕ องเชียงสือ หรือ เจ้าอนัมก๊ก ก็ตีได้เมืองเว้และเมืองตังเกี๋ย ปราบดาภิเษกขึ้นเป็น จักรพรรดิยาลอง ซึ่งมาจาก ยาดิ่ง หรือไซ่ง่อน กับ ทางลอง หรือฮานอย เป็นสัญลักษณ์ของการรวมญวนเหนือและญวนใต้เข้าด้วยกัน สถาปนาราชวงศ์เหงียน
ในปี ๒๓๔๖ จักรพรรดิยาลอง พระเจ้ากรุงเวียดนาม ได้ส่งพระราชสาสน์ผ่านมาทางเวียงจันทน์ รายงานให้ทางกรุงเทพฯทราบว่า เมื่อเดือน ๗ ปี พ.ศ.๒๓๔๕ ตีได้เมืองเว้แล้ว ต่อมาในเดือน ๘ ก็ได้เมืองตังเกี๋ย ทั้งเมืองขึ้น ๑๓ เมืองของตังเกี๋ยก็มาขึ้นด้วย จึงได้สถาปนาขึ้นเป็นจักพรรดิยาลอง ต่อมายังได้ส่งทูตนำพระราชสาสน์เข้ามารายงานว่า เมื่อตอนที่ยกกองทัพบกไปตีเมืองตังเกี๋ยนั้น จับได้พวกกบฏที่ทำลายพระชนมชีพพระอัยกา พระชนก พระชนนี พระญาติวงศา เป็นอันมาก จึงนำมาเมืองเว้ แล้วแต่งเครื่องบูชาพลีกรรมสนองคุณพระญาติวงศ์ซึ่งสิ้นพระชนมชีพแต่ก่อน เอาพวกกบฏทั้งหลายมาประหารชีวิตที่หน้าโต๊ะเครื่องบูชา
ครั้นเสร็จสนองพระคุณพระญาติแล้ว ก็นึกถึงพระเดชพระคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระอนุชา กรมพระราชวังบวร ที่ได้พระราชทานสิ่งของต่างๆเป็นกำลังจนทำการศึกได้สำเร็จ ได้จัดสิ่งของมาทูลเกล้าฯถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทองคำ ๑๐ แท่ง เงิน ๑๐๐ แท่ง ง้าวเล่ม ๑ ขี้ผึ้ง ๖ หาบ น้ำตาลทราย ๖๐ หาบ แพรญวนต่างสี ๒๕๐ พับ ส่วนถวายในสมเด็จพระอนุชาธิราช ทองคำ ๕ แท่ง เงิน ๕๐ แท่ง ขี้ผึ้ง ๔ หาบ น้ำตาลทราย ๔๐ หาบ แพรญวนต่างสี ๑๕๐ พับ
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดส่งทูตเชิญพระราชสาสน์และคุมเครื่องสำหรับกษัตริย์ออกไปพระราชทานพระเจ้ากรุงเวียดนาม มี พระมาลาเบี่ยง พระภูษาปักลวดลายต่างๆหลายแบบ แพรลายมังกร และยังมี พระยานุมาศ ๑ พระกรดคัน ๑ เครื่องสูง ๑๐ บังสูรย์คัน ๑ บังแทรก ๖ พระเจ้ากรุงเวียดนามมีพระราชสาสน์ตอบขอบพระเดชพระคุณ ส่วนพระมาลานั้นเป็นของสูงไม่เคยสวม ขอถวายคืน
อีกเรื่องหนึ่งที่แสดงถึงความสัมพันธ์ของพระเจ้ากรุงเวียดนามกับราชวงศ์ไทยนั้น มีความห่วงใยเกินกว่าเป็นกษัตริย์ต่างเมือง เมื่อตอนที่กรมพระราชวังบวรสวรรคต นอกจากพระเจ้ากรุงเวียดนามจะส่งคนนำสิ่งของมาถวายพระเจ้าอยู่หัวและช่วยในการพระศพแล้ว ยังมีพระราชสาสน์เตือนพระสติเข้ามาด้วยฉบับ ๑ ว่า สมเด็จพระอนุชาธิราชซึ่งเป็นกรมพระราชวังบวรฯสวรรคตแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระชราลงทุกวัน ยังแต่พระเจ้าลูกยาเธอและพระเจ้าหลานเธอมีกำลังมากเสมอกันอยู่ การข้างหน้ากลัวจะไม่เรียบร้อย ขอให้ยกสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นดำรงที่เป็นกรมพระราชวังบวรฯ จะได้มีกำลังและพาหนะมากขึ้น บ้านเมืองจึงจะเรียบร้อย ซึ่งพระยาพระคลังได้ส่งข่าวไปถึงพระเจ้ากรุงเวียดนามว่า มีกำหนดจะสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร ขึ้นเป็นกรมพระราชวังบวรฯในปีหน้า
จักรพรรดิยาลองสืบทอดราชวงศ์มาเป็นเวลาถึง ๑๕๓ ปี จนถึงจักรพรรดิองค์ที่ ๑๓ คือจักรพรรดิเบาได๋ ซึ่งถูกนายกรัฐมนตรีโงดินเดียมขับไล่โดยการลงประชามติใน พ.ศ.๒๔๙๘ เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐมีประธานาธิบดี สิ้นสุดราชวงศ์เหงียน